ThaiPublica > เกาะกระแส > สองเวทีวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ คนใช้เน็ตประสานเสียง #เราไม่โอเค

สองเวทีวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ คนใช้เน็ตประสานเสียง #เราไม่โอเค

30 พฤศจิกายน 2016


ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทยเวลานี้ ถูกควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังแก้ไขร่างเดิม โดยเพิ่มเติมกฎหมายหลายเรื่องที่จะกระทบต่อวิถีการสื่อสารและเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายด้าน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดงานรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ พร้อมกันนั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหว ได้แก่ เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ไอลอว์ (iLaw) และ ซีปา (SEAPA) ก็จัดเวทีคู่ขนานเพื่อถ่ายทอดสดการประชุมพร้อมทั้งเสวนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้

ประเด็นสำคัญที่วงเสวนาจากทั้งสองเวทีสะท้อนตรงกัน หนีไม่พ้นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งกฎหมายนี้ ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับร่าง ใช้วิธีตีความอย่างกว้างเพื่อเอาผิดแก่ผู้โพสต์ข้อมูล โดยใช้หลักเรื่อง “ข้อมูลเท็จ” และมีแนวโน้มจะตั้งคณะกรรมการบล็อกเว็บไซต์ที่รวมอำนาจไว้จุดเดียวโดยสามารถควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ของเอกชนได้ อีกทั้งยังสร้างเงื่อนไขใหม่ให้ผู้ให้บริการต้องรีบเซ็นเซอร์เนื้อหาทันทีเมื่อมีคนรีพอร์ต

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดงานรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ พร้อมกันนั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหว ได้แก่ เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ไอลอว์ (iLaw) และ ซีปา (SEAPA) ก็จัดเวทีคู่ขนานเพื่อถ่ายทอดสดการประชุมพร้อมทั้งเสวนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดงานรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ พร้อมกันนั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหว ได้แก่ เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ไอลอว์ (iLaw) และ ซีปา (SEAPA) ก็จัดเวทีคู่ขนานเพื่อถ่ายทอดสดการประชุมพร้อมทั้งเสวนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528

ห้ามโพสต์ “ข้อมูลเท็จ” สร้างเงื่อนไขให้คนขู่ฟ้อง

นับแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศใช้เมื่อปี 2550 สิ่งที่พบเป็นประจำเมื่อมีคนพูดจาให้ผิดใจกันในโลกออนไลน์คือคำขู่กันว่าจะฟ้องคดี และซ้ำร้ายคือมีคดีจำนวนมากตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกิดขึ้นจริงๆ

“ถ้าวันนี้ ผมพูดว่าคนกรุงเทพฯ ทุกคนเป็นคนอกตัญญู ถามว่าจะฟ้องผมตามมาตรา 14 ได้ไหม ก็ฟ้องได้เพราะครบองค์ประกอบ มันเป็นข้อมูลเท็จ และเกิดความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก” รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น อธิบายถึงจุดอ่อนของการเขียนคำว่า “ข้อมูลเท็จ” ในมาตรา 14

“สมมติว่าเราโพสต์ในออนไลน์ว่า เราไปกินอาหาร แล้วพนักงานบริการไม่ดี ไม่ดูแลเลย บางคนอาจจะบอกว่า คุณพูดเท็จแล้วมาฟ้องได้ ขณะที่เราก็บอกว่า เราก็พูดตามที่เราคิด ตรงนี้เราจะพิสูจน์เรื่องความจริงเท็จและความบริสุทธิ์ใจอย่างไร” สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน และตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวตัวอย่างในทำนองเดียวกัน

หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาได้ 9 ปี การใช้มาตรา 14 คือจุดอ่อนข้อใหญ่ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าใช้ถ้อยคำให้ตีความได้กว้าง ปัญหาที่พบตลอดมาคือมักถูกตีความผิด นำไปใช้กับคดีหมิ่นประมาท ซึ่งในงานรับฟังความคิดเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา วิทยากรหลักในงาน คือ อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ประกาศชัดว่า การนำมาตรา 14 ไปตีความใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาทถือเป็นการตีความที่ผิด เพราะคำว่าข้อมูลเท็จในที่นี้ตั้งใจให้หมายถึงการหลอกลวง เช่น การฟิชชิง (phishing) และการปลอมตัวตนมากกว่า

อย่างไรก็ดี ทั้งในกฎหมายปัจจุบันและในร่างที่กำลังปรับแก้นั้น คำว่า “ข้อความเท็จ” ซึ่งเป็นถ้อยคำเจ้าปัญหา ยังคงอยู่ในตัวบท ไม่ได้ถูกแก้ไขออกไป

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่เน้นเนื้อหาเชิงสืบสวนสอบสวนสะท้อนปัญหาว่า ตัวเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีค้างคามาแล้ว 4-5 ปี ในมุมมองของเขา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กลายเป็นกฎหมายให้ผู้มีอำนาจกลั่นแกล้งคนที่เห็นต่าง ตัวอย่างเช่น กรณีหนึ่ง มีการโพสต์เรื่องการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตำรวจทุกคนรู้ดี แต่เมื่อมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้วิจารณ์ก็ถูกตอบโต้ด้วยคำขู่ว่าจะเล่นงานตามกฎหมาย

“เห็นได้ว่า มาตรา 14 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมาย ถ้ายังปล่อยมาตรานี้ไว้อยู่ เอะอะอะไรก็จะขู่ มันเป็นปัญหาหนักมาก” ประสงค์กล่าว

สุณัย ผาสุข ตัวแทนจากองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชน เช่น การฟ้องคดีนักเคลื่อนไหวที่เผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คดีญาติของนายทหารที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตแล้วออกมาเผยแพร่ข้อมูลจนถูกฟ้อง สุณัยเสนอคำถามสำคัญว่า จะทำอย่างไรไม่ให้รัฐใช้ข้อนี้มาเป็นการตอบโต้เอาคืนนักเคลื่อนไหว

“เวลาเราใช้พื้นที่อินเทอร์เน็ตคุยกัน มันเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวลาเราคุยปกติทั่วไปกับเพื่อน เราก็ไม่ได้ไปตรวจสอบทุกสิ่งก่อนที่จะพูด หรือแม้เราพยายามไปเช็ค วิกิพีเดียบางทีมันก็ยังผิดเลย ถ้าเราไปบัญญัติเรื่องข้อมูลเท็จ มันไม่มีทางที่เราจะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและคุยกันได้ เพราะทุกคนก็คิดว่าไม่พูดอะไรเลยดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าการพิสูจน์ว่าเท็จหรือจริงมันอยู่ตรงไหน” สฤณีกล่าว

แม้ผู้ที่มีส่วนร่างกฎหมายจะประกาศชัดว่า ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายมาจากการตีความผิดทาง แต่การแก้ไขรอบนี้ก็ไม่ได้ปรับปรุงถ้อยคำให้ลดความเสี่ยงในการเข้าใจผิด ในทางตรงกันข้าม ยังขยายนิยามความผิดเพิ่มเข้ามาอีกว่า การนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยทุจริตหรือหลอกลวง และเพิ่มคำว่า โดยประการที่น่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” [ร่างมาตรา 14 (2)]

รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528

รศ.คณาธิปแสดงความกังวลถึงคำว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งเพิ่งเพิ่มเข้ามาสองจุดในร่างกฎหมาย ส่วนหนึ่งคือการคุ้มครองระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ ซึ่งมีเหตุผลในฐานะที่เป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น การป่วนระบบทำไฟฟ้าดับ แต่อีกส่วนหนึ่งคือที่เกี่ยวกับการโพสต์ข้อมูลปลอมหรือเท็จ

“แต่ผมก็ยังไม่เห็นตัวอย่างในนานาอารยประเทศว่า การโพสต์ข้อมูลปลอมหรือเท็จมันจะกระทบต่อการบริการสาธารณะยังไง ฉะนั้น นี่จะมีปัญหาในการตีความการบริการสาธารณะ วิจารณ์อะไรที่จะกระทบต่อการบริการสาธารณะบ้าง” รศ.คณาธิปกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ที่มีส่วนร่างกฎหมายจะย้ำว่า “ข้อมูลเท็จ” ตามมาตรา 14 มีไว้ใช้สำหรับกรณีการฟิชชิ่งและปลอมแปลงตัวตน แต่ด้วยถ้อยคำที่กว้างและเปิดช่องให้ตีความได้ ตำรวจและศาลก็ย่อมตีความไปตามตัวบท ยิ่งกว่านั้น ช่องโหว่นี้ก็สอดคล้องกับความคาดหวังที่คนจำนวนหนึ่งอยากเห็นอินเทอร์เน็ตขาวสะอาดแทนที่จะมีข้อมูลที่ไม่จริงอยู่กลาดเกลื่อน แต่ความย้อนแย้งนี้ก็เกิดขึ้นบนคำถามใหญ่ว่า ในความเป็นจริง เราจะสามารถใช้กฎหมายมาสร้างโลกที่มีแต่ข้อมูลที่ไม่เป็นเท็จได้หรือไม่

“มันอยู่ที่ว่าเราอยากเห็นสังคมออนไลน์เป็นยังไง ถ้าเราอยากเห็นสังคมที่คนยินดีจะมาแลกเปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกันก็มีวิจารณญาณ เราก็ต้องสนับสนุนการกำกับดูแลกันเอง (self-regulation) ซึ่งวันนี้มันก็เห็นบางส่วนแล้ว สังเกตจากเฟซบุ๊กหลายๆ เพจ เวลามีข้อเท็จจริงที่ผิด เดี๋ยวนี้คนก็จะมาโต้แย้งแล้ว ยิ่งเนื้อหาที่มีคนแชร์เยอะ ก็จะยิ่งมีคนจะมาช่วยกันตรวจสอบ หากมันเป็นความเท็จในลักษณะนั้น ด้วยกลไกธรรมชาติ มันก็มีคนที่จะหยิบข้อมูลมาโต้เถียงกันอยู่แล้ว แล้วบรรยากาศของการโต้เถียงกันแบบนี้ล่ะที่จะพัฒนาสังคม”

สฤณีมองว่า กลไกธรรมชาติแบบนี้เองที่จะพัฒนาวัฒนธรรมของสังคมข้อมูลข่าวสาร รัฐก็ต้องคุ้มครองบรรยากาศแบบนี้โดยอย่าทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง หรืออย่าสร้างบรรยากาศที่คนไม่แน่ใจว่าจะพูดอะไรได้บ้าง เพราะเราคงไม่อยากเห็นบรรยากาศที่พูดอะไรนิดหนึ่งก็ถูกขู่ทันทีว่าเดี๋ยวเอาไปฟ้องนะ

“Notice and Take Down” มาตรการรองรับการเซ็นเซอร์ตัวเอง

เมื่อมีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางสำคัญที่ในด้านหนึ่งก็ต้องรักษาคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้า อีกด้านหนึ่งก็ต้องรับมือกับภาครัฐที่คาดหวังให้ช่วยจัดการถอดหรือปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ โดยกฎหมายกำหนดภาระส่วนนี้ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ ที่หากไม่ทำตามต้องได้รับโทษเท่ากับผู้ที่โพสต์ข้อความเหล่านั้นเอง

แล้วผู้ให้บริการจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรต้องลบหรือปิดกั้นเนื้อหา กฎหมายปัจจุบันไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ ทำให้ผู้ให้บริการถูกคาดหวังโดยปริยายว่าต้องลบหรือปิดกั้นอย่างไร้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน การไม่มีมาตรฐานที่ชัดทำให้มีผู้ให้บริการหลายรายแล้วที่ถูกดำเนินคดีจนต้องโทษจำคุก การแก้ไขร่างในครั้งนี้มีแนวคิดที่จะนำหลัก “Notice and Take Down” มาใช้ โดยให้กำหนดออกมาเป็นประกาศกระทรวงภายหลังจากกฎหมายประกาศใช้

“ระบบนี้ทำให้ความรับผิดชอบของตัวกลางสามารถพิสูจน์ได้ง่ายขึ้น และเพื่อยืนยันว่าถ้าผู้ให้บริการจัดการด้วยความระมัดระวังแล้วจะไม่ถูกฟ้องร้องภายหลัง วัตถุประสงค์มันควรไปในเชิงนั้น แต่เท่าที่อ่านในร่างประกาศแล้ว มีการกำหนดว่าให้แจ้งเตือนมาแล้วเอาออกเลย ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแรงจูงใจ (incentive) ให้ผู้ให้บริการเอาข้อมูลออกเสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำผิดกฎหมาย” ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกต

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528

“ในประกาศตัวนี้ มันไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมาแจ้ง take down ประชาชนทั่วไปก็แจ้งได้ ฉะนั้น มันกว้างมาก ถ้าใครเห็นว่าสิ่งนั้นน่าจะผิดกฎหมาย ก็สามารถแจ้งให้ระงับเนื้อหาได้โดยไม่ต้องผ่านศาล สิ่งนี้จะนำไปสู่จารีตประเพณีที่ผู้ให้บริการซึ่งกลัวจะมีความผิดรีบเอาเนื้อหาออกไปก่อน มาตรานี้จะไปสร้างสิ่งที่เรียกว่า self-censorship ขึ้นมา ที่บังคับให้ผู้ประกอบการที่กลัวโดนฟ้องต้องทำแบบนี้” รศ.คณาธิปกล่าว

ฐิติรัตน์ยังชี้ว่า หลักโดยทั่วไปต้องเปิดช่องทางให้เจ้าของเนื้อหาที่อาจจะถูกนำออก (take down) สามารถคัดค้านได้ แต่ร่างประกาศนี้ยังไม่มีช่องทางนั้น ในทางตรงกันข้าม ร่างประกาศเปิดให้ประชาชนทั่วไปรีพอร์ตและผู้ให้บริการต้องเอาเนื้อหาออกภายในสามวัน ซึ่งมีความน่ากังวลว่า หากนำเนื้อหาออกไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเนื้อหาไม่ได้มีความผิดอะไร ก็ไม่มีมาตรการอะไรมารองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเนื้อหาได้

บล็อกเว็บแบบ One Stop Service

ตามร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกองข้อมูล ชุดหนึ่งมีจำนวน 5 คน เพื่อพิจารณาเรื่องการบล็อกเว็บไซต์ ซึ่งร่างกฎหมายยังวางแผนไปถึงขั้นที่ว่า ให้หน่วยงานนี้สามารถควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการต่างๆ เพื่อบล็อกเว็บได้

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งนี้คล้ายกับ กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) ในสมัยโบราณ ซึ่ง กบว. จะกลับมาใหม่ในยุคคอมพิวเตอร์ ยิ่งกว่านั้นคือ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ สามารถบล็อกเว็บได้แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และในกรณีเร่งด่วน คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก็สามารถดำเนินการบล็อกเว็บได้เลยโดยไม่ต้องขออำนาจศาล

“ผมขอตั้งคำถามง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีลธรรมอันดีของประชาชนคืออะไร ระดับศีลธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มองแต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกัน ศีลธรรมมันเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่สามารถบังคับกันได้ทุกคน” จอมพลกล่าว

“ตัวอย่างเช่น บางคนไปโพสต์ปรึกษาปัญหาในเว็บบอร์ด เรื่องไปมีกิ๊ก ไปมีภรรยาน้อย สิ่งเหล่านี้จะถือว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีไหม หรือเกิดตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แล้วอยากจะไปทำแท้ง แทนที่จะได้ข้อมูลที่ปลอดภัยหรือกระทั่งข้อมูลที่อาจมีคนบอกว่าทำแท้งมันไม่ดียังไง แต่ถ้าคณะกรรมการกลั่นกรองมองว่าเรื่องเหล่านี้ผิดศีลธรรมแล้วสั่งปิดเสีย ปัญหาคือแล้วเราจะให้มันเป็นอย่างไร จะปิดทุกอย่างที่ขัดต่อศีลธรรม ไม่ต้องรู้มันเลย” จอมพลกล่าว

จอมพลทิ้งข้อคิดไว้ว่า “คำถามคือ ปัญหาเรื่องศีลธรรมมันมีอยู่ตรงนั้น เนื้อหามันมีอยู่ตรงนั้น ต่อให้ปิดให้ตายเรื่องมันก็ยังคงอยู่ มันไม่มีทางแก้ได้ เราสู้เปิดปัญหาแล้วมาดูรายเรื่อง หาวิธีแก้ปัญหาที่มัน constructive (สร้างสรรค์) จะดีกว่าหรือเปล่า”

“คณะกรรมการนี้มีอำนาจบล็อกในสิ่งที่อาจจะไม่ต้องผิดกฎหมายก็ได้ นี่กำลังไปไกลกว่ากฎหมายแล้ว เรากำลังจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีอำนาจบล็อกในสิ่งที่ไม่ได้กำหนดในกฎหมาย และแม้จะกำหนดให้ศาลพิจารณา แต่ศาลจะพิจารณาอย่างไรเมื่อมันไม่มีกฎหมายกำหนดไว้” สฤณีกล่าว

“คณะกรรมการกลั่นกรองที่มี 5 คน อันนี้เลวร้ายกว่า กบว. อีก กบว. ยังมีคนเยอะกว่านี้เลย นี่จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งมีแค่ 5 คนมากำหนดว่าประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลอะไรได้บ้าง แล้วก็มีคำถามต่อมาว่า ถ้าเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้แล้วมันจะเป็นภัยต่อใคร คุกคามใคร เป็นภัยต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือความมั่นคงของชาติอย่างไร นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ของชาติแน่นอน”

สฤณี อาชวานันทกุล ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
สฤณี อาชวานันทกุล ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528

สฤณีกล่าวว่า หากมองว่าการบล็อกเว็บเป็นเรื่องจำเป็น ก็จำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนเพื่อรับประกันด้วยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ใช้อำนาจเกินเลย แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดเหล่านี้ในร่างกฎหมายเลย

“รู้ต้องลบ” คนใช้เน็ตทุกคนต้องทำตาม

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดว่า ในกรณีที่มีคดีความแล้วศาลมีคำสั่งแล้วว่าเนื้อหานั้นเป็นความผิด ศาลก็อาจจะสั่งให้ผู้ใช้ทั่วไปลบข้อมูลนั้นได้ด้วย (ร่างมาตรา 16/2)

ตัวอย่างเช่น คดีในอดีตที่คนแปลข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทำให้เมืองไทยหุ้นตกแล้วโพสต์ในเว็บบอร์ด ต่อมาศาลบอกว่าข่าวที่แปลนั้นมีความผิด กระทบต่อความมั่นคง นอกจากตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับคู่ความแล้วนั้น ศาลยังอาจสั่งให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดลบข้อความดังกล่าวที่ตัวเองบันทึกเอาไว้ในเครื่องได้

“ตรงนี้จะกระทบกับคนทำงานสื่อมวลชน นักวิจัย และคนที่ทำงานที่ต้องเก็บข้อมูลแน่นอน ใครที่เคยเก็บข้อมูลเอาไว้โดยไม่ได้เผยแพร่ แล้ววันหนึ่งศาลพิพากษาว่ามีความผิด เราต้องลบข้อมูล คือเรากำลังจะลบประวัติศาสตร์หรือเปล่า” อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าว

นอกจากนี้ ความเท็จบางอย่างก็เป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง อาทิตย์ยกตัวอย่างว่า “ก่อนหน้านี้คุณสมัคร สุนทรเวช เคยบอกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีคนตายแค่คนเดียว แล้วถ้าสมมติว่ามีคนแย้งว่าข้อมูลที่คุณสมัคร สุนทรเวช พูดมันเป็นข้อมูลเท็จ ผิดตามมาตรา 14 แล้วสมมติศาลบอกว่าต้องลบข้อมูลนี้ สิบปีหลังจากนี้จะไม่มีใครรู้เลยว่า คุณสมัคร สุนทรเวช เคยพูดว่า หกตุลาฯ มีคนตายแค่คนเดียว เราคิดว่ามันสำคัญไหม”

บนหลักความคาดหวังเรื่อง “รู้ต้องลบ” นั้น ฐิติรัตน์เห็นว่า เป็นความคาดหวังของรัฐที่ยากจะใช้งานได้จริง ปัญหาคือต้องเป็นอย่างไรถึงเรียกว่า “รู้” ซึ่งลักษณะของอินเทอร์เน็ตต่างกับโลกทางกายภาพ มันไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ทั้งหมด มาตรการเรื่องรู้แล้วต้องลบไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ซึ่งหากเราเขียนกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ก็จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกฎหมาย

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pg/seapa/photos/?tab=album&album_id=1180763728680528