ThaiPublica > เกาะกระแส > ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (13): ตั้ง “ลวรณ แสงสนิท” ประธานฯ สอบคดีเว้นภาษีเชฟรอน 3 พันล้าน ยัน “ทำตรงไป-ตรงมา-ไม่มีใบสั่ง”

ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (13): ตั้ง “ลวรณ แสงสนิท” ประธานฯ สอบคดีเว้นภาษีเชฟรอน 3 พันล้าน ยัน “ทำตรงไป-ตรงมา-ไม่มีใบสั่ง”

18 พฤศจิกายน 2016


นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ซ้าย)  นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขวา)
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ซ้าย) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขวา)

ข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ที่ยืดเยื้อมากว่า 5 ปี ยังไม่มีคำตอบสุดท้ายสำหรับเรื่องนี้ หลังจากกระทรวงการคลังสั่งการกรมศุลกากรทำหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา รอบ 2 ขอให้วินิจฉัย กรณีเชฟรอนฯ ส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นขายในประเทศหรือส่งออก เรื่องนี้ถูกโยนกลับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยอีกครั้ง ซึ่งคำตอบมีได้แค่ 2 ทางเลือก หากตีความแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ในราชอาณาจักรไทย ถือเป็นการขายภายในประเทศ กระทรวงการคลังต้องเรียกค่าภาษีคืนจากบริษัทเชฟรอนฯ 3,175 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าตีความเป็น “ส่งออก” เรียกเงินค่าภาษีคืนไม่ได้ บริษัทเชฟรอนฯ ได้ยกเว้นภาษีน้ำมันต่อไป เจ้าหน้าที่ที่ตีความถูกต้องไม่ต้องรับผิด

ระหว่างที่กรมศุลกากรกำลังยกร่างหนังสือถามคณะกรรมการกฤษฎีกาตามคำสั่งกระทรวงการคลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นครั้งที่ 2 ทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการเรียกเงินภาษีคืนจากบริษัทเชฟรอนฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตามที่ สตง. เคยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ พร้อมกับขอให้กระทรวงการคลังยุติการทำเรื่องไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากกรมศุลกากรได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจนได้ข้อสรุปแล้ว หากไม่ดำเนินการตามคำแนะนำของ สตง. อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

1 วัน ก่อน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมามอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งนายลวรณ แสงสนิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ลูกชาย พล.อ. วิโรจน์ แสงสนิท หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) อดีตลูกหม้อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชื่อเล่น “บั๊ด” สำเร็จศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นน้อง ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง

นายลวรณ ถือเป็นดาวรุ่งของกระทรวงการคลังอีกคน โดยที่ได้รับการสนับสนุนจาก ดร.สมชัยให้ขึ้นมาดำรงซี 10 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. และวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการในวัย 49 ปี เพื่อเตรียมขึ้นไปนั่งในตำแหน่งรองปลัดฯ หรืออธิบดีต่อไป

นายลวรณ แสงสนิท ผู้ตรวจราบการ กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้ตรวจราบการ กระทรวงการคลัง

หลังจากนายลวรณ แสงสนิท ได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีของบริษัทเชฟรอนฯ ได้สอบถามผู้สื่อข่าวถึงกำหนดกรอบการทำงานเรื่องนี้ว่า “ผมเพิ่งเห็นคำสั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 แต่งตั้งผมเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ส่วนกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร, ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพสามิต, ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร และนิติกร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เป็นเลขานุการคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่ามีที่มาอย่างไร มีเจ้าหน้าที่รายไหนเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยหรือตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอนฯ บ้าง เป็นการสอบสวนในเรื่องของกระบวนการ ไม่ได้ตรวจสอบว่าใครผิด ใครถูก เพราะตามระเบียบของข้าราชการมี 2 ขั้นตอน ขั้นแรก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หากคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีมูลความผิด ก็จะเสนอให้หน่วยงานต้นสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป คาดว่าในช่วงสัปดาห์หน้าผมจะเรียกประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนัดแรก เพื่อกำหนดกรอบการทำงาน”

นายลวรณกล่าวต่อว่า “ตอนนี้ผมยังไม่มีข้อมูลอะไร แต่หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ผมก็เริ่มหาข้อมูล และเอกสารต่างๆ จากสื่อออนไลน์ที่เกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำการบ้านก่อนล่วงหน้า ในเบื้องต้นพบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตีความกรณีของบริษัทเชฟรอนฯ อยู่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469, พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514, ประมวลรัษฎากร และคำพิพากษาศาลฎีกา 2899/2557 ซึ่งมีกำหนดนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” เอาไว้ชัดเจน ผมจึงเกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตีความกรณีนี้ ไม่นำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่เป็นปัญหา หลังการประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก ผมต้องเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบปากคำในประเด็นนี้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใช้เวลาในการสอบสวนนานแค่ไหน นายลวรณตอบว่า “ตามคำสั่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ แต่ถ้าดูจากพยานเอกสารหลักฐานตามที่สื่อมวลชนนำเสนอ คิดว่าไม่นาน น่าจะสรุปผลการสอบสวนนำเสนอกระทรวงการคลังได้ แต่ต้องขอฟังเหตุผลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตีความก่อนว่าจะแก้ต่างอย่างไร”

พร้อมกล่าวว่า“เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ ตามหลักการของการจัดเก็บภาษีนั้นต้องมีมาตรฐานเดียว มี 2 มาตรฐานไม่ได้ ในฐานะที่ผมได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ก็จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ยืนยัน ไม่มีใบสั่งจากใครทั้งนั้น”