ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (11): รมต.คลังสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง – สตง.ยื่นหนังสือถึงคลังรอบสอง

ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (11): รมต.คลังสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง – สตง.ยื่นหนังสือถึงคลังรอบสอง

4 พฤศจิกายน 2016


นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ซ้าย)  นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขวา)
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ซ้าย) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ขวา)

ต่อกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 ส่งถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย และให้เรียกคืนเงินภาษีอากรที่มีการคืนให้บริษัทเชฟรอนฯ ไปแล้วกลับคืนมา และให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยราชการนั้น

เวลาผ่านไปเกือบ 1 เดือน ปรากฏว่า สตง. ยังไม่ได้รับแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวจากกระทรวงการคลัง รวมทั้งกระทรวงการคลังได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงการคลังจะส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นอีกครั้ง ทั้งๆ ที่กรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิง และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้จัดประชุมร่วมกันตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยที่ประชุม 3 ฝ่ายมีมติร่วมกันว่า การขนส่งของระหว่างชายฝั่งในราชอาณาจักรไทย และพื้นที่สัมปทานที่อยู่นอกทะเลอาณาเขต จะพิจารณาจากของที่มีการขนส่งเป็นหลัก หากเป็นของเพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณดังกล่าวเป็นราชอาณาจักรไทย ภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม

วันที่ 28 ตุลาคม 2559 สตง. จึงออกหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นครั้งที่ 2 ขอให้กระทรวงการคลังยุติเรื่อง เหตุใดกระทรวงการคลังยังส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความอีก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยส่งเรื่องไปแล้ว และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้กรมศุลกากรกลับไปประชุม 3 ฝ่าย และเมื่อที่ประชุม 3 ฝ่ายลงมติร่วมกันว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ถือเป็นการส่งออก กระทรวงการคลังจะส่งเรื่องไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากกระทรวงการคลังขอให้กรมศุลกากรส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีก กรมศุลกากรควรพิจารณาให้รอบคอบว่าเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่

ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐตามที่ สตง. เคยมีหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง การละเลยหรือละเว้นการดำเนินการให้ถูกต้องอาจเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามกฎหมาย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่อเรื่องนี้ว่า “เรื่องนี้ผมต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการตีความครั้งนี้ และบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน กรณีบริษัทเชฟรอนฯ ซื้อน้ำมันจากชายฝั่งไทยส่งไปขายที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการซื้อ-ขายในประเทศหรือส่งออก ยกตัวอย่าง สตง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งตีความกรณีนี้เป็นการซื้อ-ขายภายในประเทศ ต้องเสียภาษี แต่ก็มีบางกรมตีความว่าเป็นการส่งออก เมื่อยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดว่าใครถูกใครผิด หากกรมศุลกากรใช้อำนาจสั่งการให้บริษัทเชฟรอนฯ ปฏิบัติพิธีการในรูปแบบการค้าชายฝั่ง บริษัทเชฟรอนฯ ก็อาจไปร้องต่อศาลปกครองว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผมได้สั่งการให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการตีความกรณีบริษัทเชฟรอนฯ แล้ว พร้อมกับการทำหนังสือสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ได้ข้อยุติ เรื่องนี้เป็นเรื่องการตีความในประเด็นข้อกฎหมาย จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะนี้ยังขาดหลักฐานการทุจริต หากใครมีหลักฐานให้ส่งมาที่ผมได้”

ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เรื่องการตีความประเด็นข้อกฎหมาย กรณีบริษัทเชฟรอนฯส่งน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ต้องเสียภาษี หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ตนได้หารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็รับทราบเรื่องนี้ทั้งหมดแล้ว จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้ขาด กรณีนี้เป็นการขายในประเทศ หรือ ส่งออก ต้องตัดสินใจเลือกทางใดหนึ่งจะเลือก 2 อย่างไม่ได้ โดยพิจารณาตามข้อเท็จจริง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก