ThaiPublica > คอลัมน์ > เร่งสานฝันคนไทยไร้ตาบอด ทำดีที่สุด เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9

เร่งสานฝันคนไทยไร้ตาบอด ทำดีที่สุด เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9

20 พฤศจิกายน 2016


หมอตาอีสาน

ที่มาภาพ : https://i.ytimg.com/vi/lJGLb9VF-aQ/maxresdefault.jpg
ที่มาภาพ : https://i.ytimg.com/vi/lJGLb9VF-aQ/maxresdefault.jpg

หลังจากบทความ“วันที่หมอตาต่างจังหวัดหมดศรัทธา สปสช.!!”ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจง และได้นัดประชุมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อตกลงร่วมกันชัดเจน เรื่องการคัดกรอง และออกวีซ่าผ่าตัดให้คนไข้ เพื่อระบุกลุ่มเป้าหมายหลักว่าจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดก่อน

เสียงขานรับจากหมอตาทั่วประเทศเห็นด้วยกับการออกวีซ่าแก่ผู้สูงอายุที่มีสายตาย่ำแย่เกือบบอด เพื่อให้ได้คิวผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งโรงพยาบาลก็จะได้ค่าตอบแทนในการผ่าตัดชนิดที่ยากนี้สูงกว่าการผ่าตัดตาต้อกระจกที่ยังไม่สุก(ยังไม่รีบด่วน) ก็รู้สึกมีความหวังว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ประชาชนชาวไทยคงไร้ตาบอดกันเสียที เพราะในฐานะเป็นหมอตาทำงานอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดมาร่วมยี่สิบปี ได้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพพร้อมๆกับประชาชนคนไทย ได้ผ่าตัดตาต้อกระจกมาก็หลายพันตา เห็นความทุ่มเทตั้งใจของผู้ใหญ่จากราชวิทยาลัยจักษุ กระทรวงสาธารณสุข และจากสปสช.ผู้ดูแลค่ารักษาให้กับประชาชนบัตรทอง

ด้วยนโยบายเร่งผ่าตัดต้อกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของตาบอด แก้ปัญหาลดชาวไทยตาบอดลงได้จริงหรือไม่ จากข้อเท็จจริงของผลการสำรวจปี 2556 พบคนไทยยังคงตาบอดจากต้อกระจกอยู่ 70,000 ราย จากเมื่อสิบปีก่อนคาดว่ามี 98,000 ราย ซึ่งสปสช.ได้ทุ่มเทเงินกว่าหมื่นล้านบาทจ่ายให้แก่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในการเร่งผ่าตัดต้อกระจกราว 1 ล้านดวงตาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าแม้ทุ่มเทเงินไปมากมาย แต่กลุ่มเป้าหมาย(ต้อกระจกที่ตาเกือบบอด) กลับลดลงไปเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับยอดผ่าตัดทั้งหมด อาจารย์จากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเล่าว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการตื่นตัวจากราชวิทยาลัยฯและกระทรวงสาธารณสุขในการขอร่วมกำหนดเงื่อนไขกับสปสช.ในการจ่ายค่าตอบแทนแก่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนตามความยากง่ายของการผ่าตัด(ต้อที่ทำให้การมองเห็นเกือบบอด เลนส์จะแข็งมากทำให้ผ่าตัดยากกว่าต้อที่อ่อนหรือการมองเห็นยังดี) เพื่อจูงใจให้มีการผ่าตัดต้อที่เลนส์แข็งมากจนทำให้เกือบตาบอด

โดยโรงพยาบาลภาครัฐยินดีออกตรวจคัดกรองการมองเห็นของกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อพบว่าใครมีสายตาเกือบบอดก็จะออก “วีซ่า” ให้ทันที เพื่อให้ผู้ป่วยรับคิวผ่าตัดที่รวดเร็วภายในประมาณ 30 วัน

ข้อตกลงการจ่ายตาม “วีซ่า” เป็นเกณฑ์หลักผ่านไปด้วยดีในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุขถึงกับกำหนดเป็นตัวชี้วัดหลัก อัตราการผ่าตัดต้อกระจกที่เลนส์แข็งมากจนทำให้เกือบตาบอดภายใน 30 วัน มากกว่า 80%

อย่างไรก็ตามหลังจากประชุมหารือและมีข้อตกลงที่ชัดเจนในวันนั้น ปรากฏว่าล่าสุดมีร่างประกาศการบริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2560 ออกมาในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2559 โดยสปสช.เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลหลายรายการ รวมทั้งการผ่าตัดต้อกระจก โดยใช้เกณฑ์ “วีซ่า” เป็นเกณฑ์รอง (ไม่สำคัญ) ในการจ่ายเงิน นั่นคือถ้าโรงพยาบาลที่ผ่าตัดเพียงแค่แจ้งสรุปรหัสเป็นโรคต้อกระจกที่ตาเกือบบอด สปสช.ก็จะจ่ายค่าผ่าตัดที่สูงกว่าให้ทันที โดยไม่สนใจว่ารายนั้นมี “วีซ่า” หรือไม่

คำถามมีอยู่ว่ามีการตรวจสอบการสรุปรหัสโรคเพื่อจ่ายค่าตอบแทนมากแค่ไหน ที่ผ่านมาสุ่มเพียงนิดหน่อย และพบความผิดปกติในการสรุปรหัสโรคเป็นเกือบบอดในบางรพ.มากผิดปกติ

แล้วเหตุใดสปสช.จึงไม่ใช้ “วีซ่า” เป็นเกณฑ์หลัก ทั้งๆที่จักษุแพทย์ทั่วประเทศขานรับการออกวีซ่านี้

เมื่อสอบถามกลับไปใน สปสช.ส่วนกลางให้คำตอบว่า ปีนี้ขอเขียนเป็นเกณฑ์รองไปก่อน แต่ให้สปสช.แต่ละเขตไปทำความเข้าใจกันในเขตเอง

เมื่อสอบถามไปยังคณะกรรมการบริการสุขภาพตาแต่ละเขต ได้คำตอบที่หลากหลายไม่ตรงกัน บางเขตแจ้งไม่สนใจใช้ “วีซ่า” เพราะอยากให้มีการผ่าตัดยอดมากที่สุด หรือเกรงใจรพ.เอกชนบางแห่ง มีเพียงบางเขตใช้ “วีซ่า” เป็นเกณฑ์หลัก

หมอตาในบางเขตถึงกับสิ้นหวังในระบบ จนอาจเป็นเหตุพาลให้หมดกำลังใจในการทำงาน เนื่องจากในเขตตนเองไม่สนใจเกณฑ์ “วีซ่า”

และมีนโยบายจากสปสช.บางเขตให้โรงพยาบาลชุมชนเขียนหนังสือส่งตัวผู้ป่วยไปผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลเอกชนได้เลยโดยไม่ต้องมี “วีซ่า” เกรงว่าด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อไม่ใช้ “วีซ่า” ก็ไม่ต้องคัดกรองผู้ที่ตาเกือบบอด ผู้ที่ตาเกือบบอดก็ไม่ได้รับการผ่าตัดที่รวดเร็ว ความหวังที่คนไทยไร้ตาบอดจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า

ในยามที่ทุกหมู่เหล่าต่างมุ่ง…ทำความดีที่สุด…เพื่อถวายในหลวงอันเป็นที่รัก อยากให้ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชิงนโยบาย เร่งปรับปรุงนโยบายโดยเร็วเพื่อสานฝันคนไทยไร้ตาบอดด้วยเถิด

(ดูเพิ่มเติม)