ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกปรับจีดีพีไทยจาก 2.5% เป็น 3.1% ติงรัฐถือไม้วิ่งผลัดแต่เอกชนยังไม่ขยับตาม รับเห็นสัญญาณแผ่ว

ธนาคารโลกปรับจีดีพีไทยจาก 2.5% เป็น 3.1% ติงรัฐถือไม้วิ่งผลัดแต่เอกชนยังไม่ขยับตาม รับเห็นสัญญาณแผ่ว

5 ตุลาคม 2016


ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก
ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก

ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2559 จะฟื้นตัวกลับมามากกว่า 3% มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาปรับจีดีพีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3.3% อย่างแน่นอน แต่เมื่อดูในรายละเอียดของการฟื้นตัว หลายสถาบันมองในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบกระจุกตัวจากการอัดฉีดของภาครัฐและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืนและเป็นการเติบโตเพียงตัวเลขเพราะมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และภาครัฐไม่สามารถใช้นโยบายการคลังไปได้ตลอด ขณะที่การลงทุนและบริโภคของเอกชนถือเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีกว่ากลับยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ธนาคารโลกเผยแพร่ “รายงานประมาณการเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (EAP update)”โดยปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขึ้นจาก 2.5% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 3.1% เนื่องจากปัจจัยการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวจีนและภาครัฐที่ยังคงผลักดันเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ว่าเป็นการฟื้นตัวที่ไม่กระจายตัวและพึ่งพิงภาครัฐค่อนข้างมาก ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าภาครัฐจะสามารถลงทุนและใช้จ่ายได้ต่อเนื่องหรือไม่ รวมไปถึงส่งผ่านออกไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างการบริโภคและการลงทุนของเอกชนได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีหลายโครงการยังล่าช้า ขณะที่การบริโภคและการลงทุนของเอกชนกลับไม่ได้ฟื้นตัวตามภาครัฐ ประกอบกับความเสี่ยงในปีหน้าที่มีการเลือกตั้งอาจจะสร้างความไม่แน่นอนในภาครัฐบาลและอาจจะทำให้ภาครัฐชะงักลงจนกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมได้

“การที่ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วทั้งเศรษฐกิจจะส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มคนรายได้น้อยที่จะมีปัญหามากขึ้นแน่นอน แล้วตัวเลขไตรมาส 3 ก็เห็นว่าการเบิกจ่ายภาครัฐแผ่วลงบ้าง ดังนั้น ตอนนี้มันเหมือนการวิ่งผลัดที่ภาครัฐถือไม้วิ่งอยู่ แต่ภาคเอกชนอาจจะยังไม่ค่อยขยับ ประเด็นคือภาครัฐจะส่งไม้ต่อได้ตอนไหน ให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกระจายตัวออกไป แล้วภาครัฐจะหมดแรงก่อนหรือไม่ แต่ ณ เวลานี้ต้องบอกว่าด้วยหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำ ที่ 46% ต่อจีดีพี ทำให้รัฐบาลมีช่องว่างการคลังให้ดำเนินนโยบายต่อไปได้ ต่างจากหลายประเทศที่ใช้การกระตุ้นการคลังมาตลอดและประสบปัญหาหนี้สาธารณะที่สูง” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ จากการสำรวจของธนาคารโลกพบว่าการลงทุนของเอกชนมีอุปสรรคหลัก 2 ด้าน 1) คุณภาพของแรงงานที่ไม่ตอบโจทย์ของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากระบบการศึกษา และ 2) รอดูทิศทางและความชัดเจนของนโยบายของภาครัฐ ขณะที่การบริโภคถึงแม้จะฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นสัดส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจและน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป ส่วนรายละเอียดอื่นๆ สำหรับประเทศไทย ธนาคารโลกจะออกรายงาน Thailand’s Economic Monitor ในเดือนพฤศจิกายน 2559 อีกครั้ง

กังวลเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากกว่าคาดยังคงส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย โดยการชะลอตัวดังกล่าวเกิดจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนจากการพึ่งพิงการส่งออกและลงทุนเป็นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้ความเสี่ยงโดยรวมของระบบเศรษฐกิจลดลงด้วย หรือเรียกได้ว่าเป็นการชะลอตัวอย่างยั่งยืน และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 6.7 และชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2560 และร้อยละ 6.3 ในปี 2561 รายงานคาดการณ์ว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเติบโตที่ร้อยละ 4.8 ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 ในปี 2560 และร้อยละ 5.1 ในปี 2561 โดยรวมแล้วคาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเติบโตที่ร้อยละ 5.8 ในปี 2559 และร้อยละ 5.7 ในปี 2560-2561

รายงานฉบับนี้ยังได้นำเสนอผลการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอย่างครอบคลุมทุกด้าน ภายใต้ความท้าท้ายของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงภาวะเศรษฐกิจซบเซาในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และภาวะชะงักงันของการค้าโลก และคาดการณ์ว่าการบริโภคภายในประเทศจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ประเทศที่นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จะได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคที่อยู่ในระดับต่ำ

นายชูเดีย แชตตี้ (ซ้าย) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
นายชูเดีย แชตตี้ (ซ้าย) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

“เศรษฐกิจของจีนจะยังคงเติบโตในระดับปานกลางเนื่องจากการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การบริโภค การบริการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งการปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การตึงตัวของตลาดแรงงานจะช่วยสนับสนุนการเติบโตด้านรายได้และการบริโภคจากภาคเอกชน”

ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ รายงานนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะแข็งแกร่งที่สุดโดยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 ในปีนี้ ในขณะที่เวียดนาม ที่เผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรงในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 6.3 ในปี 2560 สำหรับอินโดนีเซีย คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.8 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 5.5 ในปี 2561 หากอินโดนีเซียยังคงลงทุนในโครงการลงทุนของภาครัฐ และประสบความสำเร็จในความพยายามปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มรายได้ต่อไป สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศมาเลเซียนั้น คาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 5 ในปีผ่านมา เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2559 นี้ เนื่องจากความต้องการน้ำมันของโลกและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่ากลุ่มที่แล้ว รายงานคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มประเทศส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของมองโกเลียปีนี้จะเติบโตเพียงร้อยละ 0.1 จากร้อยละ 2.3 เมื่อปี 2558 อันเนื่องมาจากการส่งออกแร่ที่อ่อนตัวลงและความพยายามในการควบคุมหนี้สาธารณะ ขณะที่ปาปัวนิวกินีคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2559 ลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2558 ทั้งนี้ เนื่องจากการลดลงของระดับราคาและผลผลิตจากทองแดงและก๊าซธรรมชาติเหลว ขณะที่เศรษฐกิจในกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ยังคงเติบโตอย่างสดใส

“นอกเหนือจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในด้านบวกแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเงินโลกที่อาจตึงตัวอย่างฉับพลัน เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวเพิ่มขึ้น หรือการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเร็วเกินไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ ล้วนเป็นบททดสอบความสามารถในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ต้องปรับตัวรับมือ โดยความไม่แน่นอนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการลดความไม่สมดุลทางการเงินและการคลังซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้” นายชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนสำหรับภูมิภาคนี้คือการเร่งดำเนินการปฏิรูปภาคธุรกิจและการควบคุมยอดการปล่อยกู้ของธนาคารในจีน การลดการสร้างความเสี่ยงทางการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การรักษากันชนด้านการคลังและการขยายแหล่งรายได้ของภาครัฐในทุกประเทศทั่วภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ มองโกเลีย และติมอร์-เลสเต ควรให้ความสำคัญเรื่องความเสี่ยงในด้านความมั่นคงทางการคลัง

eap_2016_2_worldbank

ในระยะยาว รายงานนี้ได้เน้นความสำคัญกับมาตรการทางนโยบาย 4 ประการ ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ประการแรก เสนอให้จีนยังคงนโยบายลดความยากจนผ่านการเพิ่มการเข้าถึงบริการพื้นฐานของภาครัฐให้แก่ประชาชนในชนบท และการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานจากชนบทสู่เมืองต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ความยากจนลดลงได้เป็นผลสำเร็จ

ประการที่สอง ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องลดช่องว่างในด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยการปรับสมดุลของการใช้จ่ายภาครัฐ เพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ

ประการที่สาม รายงานเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับภาวะทุพโภชนาการที่ยังคงมีอยู่ทั่วภูมิภาค หลายประเทศยังมีเด็กที่มีภาวะโภชนาการต่ำแม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและการรับรู้ที่บกพร่องและไม่สามารถแก้ไขได้อีกเมื่อเด็กเติบโตขึ้น รายงานแนะนำมาตรการที่ประสานสอดคล้องกันในด้านต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการเข้าแทรกแซงโดยการให้ธาตุอาหารเสริม

ประการสุดท้าย รายงานนี้ได้แนะนำว่าประเทศต่างๆ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเปลี่ยนรูปแบบบริการทางการเงินและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีซึ่งมีการใช้โทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง แต่กลับยังขาดการเข้าถึงบริการทางการเงิน ประเทศต่างๆ จึงควรจะสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎระเบียบและปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลประโยชน์จากนวัตกรรมทางการเงินอย่างเต็มที่