ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิษณุ” แจงกรณีสืบราชสมบัติ ชี้ทุกอย่างชัดเจนแล้ว ย้ำ รธน. ฉบับใหม่ยังคงเดินหน้าตามโรดแมป

“วิษณุ” แจงกรณีสืบราชสมบัติ ชี้ทุกอย่างชัดเจนแล้ว ย้ำ รธน. ฉบับใหม่ยังคงเดินหน้าตามโรดแมป

15 ตุลาคม 2016


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อค่ำวันนี้ถึงกรณีการสืบราชสมบัติ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559

นายวิษณุระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญได้มีการเขียนเอาไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งไปผูกกับกฎมณเฑียรบาลอยู่อย่างหนึ่งว่า การตั้งเจ้านายพระองค์หนึ่งเป็นพระรัชทายาทนั้นเป็นกฎมณเฑียรบาล ฉะนั้น การตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงได้มีประโยคหนึ่งที่ว่า “ตามโบราณราชนิติประเพณีนั้น เมื่อถึงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ใหญ่ ทรงเจริญพระชนมายุสมควรแล้ว ก็จะมีการตั้งเป็นพระรัชทายาทเพื่อจะสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป”

นอกจากนี้แล้วในกฎมณเฑียรบาลเองก็เขียนเอาไว้ในมาตรา 4 ว่า คำว่าพระรัชทายาท หมายถึง เจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สถาปนาโดยจัดการพระราชพิธีสถาปนาให้เป็นพระรัชทายาท มีกฎหมายเขียนเอาไว้ ทุกอย่างก็เดินไปตามกฎมณเฑียรบาล ทุกอย่างก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยไม่มีปัญหาใดๆ

“ปัญหาจะเกิดคือกรณีที่ไม่มีพระรัชทายาท ซึ่งขณะนี้ไม่เกิด เพราะเป็นกรณีที่มีพระรัชทายาท จึงไม่มีเหตุที่จะเลื่องลือเล่าขานคิดกันเป็นอย่างอื่นทั้งสิ้น ทุกอย่างจะเดินตามนี้ และรัฐบาลก็ตั้งใจที่จะเดินตามนี้ และจะทำตามนี้ เพียงแต่ว่าจะทำช้าหรือเร็วนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องรับสนองพระราชปรารภของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งก็รับสั่งอย่างเราต้องเข้าใจว่า”

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศจะสถิตในดวงใจหทัยราษฎร์ แต่ขณะเดียวกันท่านก็สถิตในหทัยราษฎร์ ในฐานะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นราษฎร แต่ท่านก็เป็นยิ่งกว่าราษฎร์ หรือราษฎร เพราะท่านเป็นลูกด้วย

“เรื่องที่ท่านรับสั่งเองว่าขอเวลาให้ท่านทำพระทัยร่วมกับประชาชนชาวไทย คนไทยวิปโยคอย่างไรท่านก็วิปโยคอย่างนั้น อาจจะมากยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำไปเพราะท่านเป็นลูกย่อมมีความผูกพัน อยู่ๆ ที่ต้องมาตั้งขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็เปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรกันทั้งหมด เพราะการเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างก็จะรวดเร็วกะทันหันจนเกินไป”

แม้กระทั่งเมื่อสักครู่กลับมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทุกคนก็สังเกตเห็นว่าเมื่อประกอบพระราชพิธีทางสงฆ์ สรงน้ำพระบรมศพนั้นก็โปรดให้ตั้งพระราชอาสน์แล้วก็มีพระภูษาคลุมเอาไว้เสมือนหนึ่งยังประทับอยู่ทุกประการ

เมื่อถามว่า ในขณะที่ราชบัลลังก์ว่างเว้นลง จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นเกิดขึ้นได้ 2 อย่าง คือ เกิดจากการที่พระมหากษัตริย์ หรือกรณีที่บุคคลอื่นที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง เช่น คณะองคมนตรีเสนอ เพราะว่าถ้าเกิดว่างเปล่าขึ้นมาจริงๆ อย่างนั้นเรียกว่าเป็นโดยการแต่งตั้ง ซึ่งถ้าเป็นโดยการแต่งตั้งจะต้องรีบไปปฏิญาณตนที่รัฐสภา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยการแต่งตั้ง เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จออกผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ต้องไปทำการปฏิญาณตนที่รัฐสภา เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ท่านก็เคยเป็นผู้สำเร็จราชการโดยการแต่งตั้ง ก็ต้องไปปฏิญาณพระองค์

การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน ซึ่งต้องเรียกเต็มเช่นนี้เลย แปลว่าเขาตั้งใจเป็นชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะไม่มีการแต่งตั้ง ไม่มีการประกาศ ไม่มีการสถาปนา แล้วก็ไม่มีการไปปฏิญาณตนที่ประชุมรัฐสภา เป็นทันทีในเวลาแรกสุด เมื่อเกิดเหตุที่ราชบัลลังก์ว่างลง เพราะว่าตั้งไม่ทัน ก็ต้องมีเพื่อที่ว่าอาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง ถ้าไม่มีอะไรปฏิบัติก็แล้วไป แต่ของอย่างนี้ต้องเผื่อเอาไว้ จะเกิดช่องว่างขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด

“เพราะฉะนั้น ก็อย่าไปเรียกให้เป็นภาษาพูดว่าอัตโนมัติอะไรเลย ถือว่าเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน” พลางจนถึงไหน รัฐธรรมนูญเขียนว่าพลางก่อนจนกระทั่งมีการอันเชิญพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ตรงนั้นจะเกิดช้าหรือเร็วก็เป็นช่วงเวลาที่เรารู้กันอยู่ว่าอยู่ระหว่างที่ต้องใช้เวลากันสักระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ไม่เกิดปัญหา ไม่มีอะไรเป็นช่องว่าง ซึ่งขณะนี้ก็คือกรณีนี้ (กรณีที่ 2)”

นายวิษณุกล่าวต่อว่าแล้วผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อนนั้นอย่าไปสนใจว่าเป็นใคร ชื่ออะไร ต้องสนใจว่าตำแหน่งอะไร เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า “ประธานองคมนตรี” เป็น และไม่มีทางที่จะไม่เป็น และไม่มีทางที่จะไม่รับเป็น คือต้องเป็น กรณีที่จะไม่เป็นมีกรณีเดียว คือ กรณีที่มีการประกาศอันเชิญพระรัชทายาทขึ้นทรงครองราชย์

เมื่อถามว่าแสดงว่าตอนนี้ทุกอย่างก็สมบูรณ์ นายวิษณุกล่าวว่า “ใช่ครับ ทุกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีช่องว่าง ทุกอย่างมันจึงเดินไป ขอร้องว่าข่าวลือที่ไปเผยแพร่กันเป็นที่สนุกสนาน เละกันไปหมด ยืนยันว่าไม่มีมูลความจริง ให้ฟังจากประกาศและแถลงของทางราชการเท่านั้น เพราะเรื่องพวกนี้ละเอียดอ่อน ราชการเองจะประกาศเองก็จะส่งเดชไม่ได้ ประโยคเดียวคำพูดเดียววรรคเดียวเท่านั้น ปรึกษากันตั้งแต่สำนักพระราชวัง สำนักพระราชเลขา รัฐบาล องคมนตรี อะไรก็ตาม จนกระทั่งออกมาได้”

“ที่ไปลือกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่มีทรงพระปรมาภิไธยว่าดังนี้ แล้วตั้งกันเป็นที่สนุกสนาน นั้นไม่เป็นความจริงและไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันด้วย เพราะพระปรมาภิไธยจะเกิดขึ้นช่วง เมื่อไปถึงขั้นบรมราชาภิเษก ซึ่งเราก็รู้ว่าเราจะเกิดในเวลาอันใกล้ไม่ได้ ปกติจะเกิดขึ้นเมื่อมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ในรัชกาลก่อนๆ การบรมราชาภิเษกอาจเกิดไม่ห่างจากการเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นเพราะมีการถวายพระเพลิงเร็ว แต่ในกรณีที่มีการถวายพระเพลิงล่าช้าออกไป ซึ่งบางทีก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องล่าช้า เช่น ติดฤดูฝน ตามธรรมเนียมแล้ว การถวายพระเพลิงจะไม่ทำในฤดูฝน เพราะการสร้างพระเมรุในฤดูฝนนั้นลำบากมาก เป็นธรรมเนียมที่จะให้เลยฤดูฝน”

ฉะนั้น ถ้าหากว่าพิธีการยาวออกไป การบรมราชาภิเษกก็จะยาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 นั้นท่านสวรรคตในปี 2489 โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลานั้น คือรัชกาลที่ 9 ท่านจะต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อ จึงเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่ได้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นเวลานานถึง 4 ปี จนกระทั่งถึงปี 2493 จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วจึงมีพิธีบรมราชาภิเษก เพราะฉะนั้น ท่านอยู่ในที่ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อยู่ถึง 4 ปี

เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 8 ในวันที่ท่านขึ้นครองราชย์ ท่านยังทรงพระเยาว์ ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วก็ติดสงครามโลกไม่ได้เสด็จกลับ จึงเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตลอดจนสิ้นรัชกาล ในระยะเวลา 12 ปี เพราะไม่มีการบรมราชาภิเษก แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษรคำหนึ่งถึงพระเชษฐาว่า ทรงเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อยู่เพียงพระองค์เดียวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ซึ่งท่านมีสิทธิ์ที่จะสถาปนา ให้เป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร”

เพื่อจะได้พระอิสริยยศ พระอิสริยศักดิ์ เหมือนกับพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีทุกประการ เพราะฉะนั้น ของอย่างนี้ต้องดูทั้ง 1) ในรัฐธรรมนูญ 2) กฎมณเฑียรบาล 3) ตามโบราณราชประเพณี ที่ไปออกคลิปอะไรนั้นส่งเดชไม่ได้ดูอะไรเลยสักเรื่องเดียวก็แต่งเองขึ้นมา

เมื่อถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะว่ารัฐบาลขณะนี้ก็มีเวลาอยู่แล้วในการเขียนลงในสมุดไทย กว่าจะเสร็จก็คงใกล้กับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้แล้ว 90 วัน ฉะนั้น เดิมเราก็คิดว่าจะเร็ว อาจจะพระราชทานกลับลงมาได้เร็จ แต่อาจพระราชทานกลับลงมาได้ผิดเวลาไปบ้างแต่ก็ไม่น่าจะนานมากนัก ก็ไม่ได้มีอะไรเดือดร้อน เพราะว่าโรดแมปก็ยังมีในส่วนของมันอยู่ ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญเกิดจะต้องออกช้าไปสักนิดสักหน่อยแล้วการเลือกตั้งจะล่าช้านั้นไม่เกี่ยว

เป็นกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขาก็ใช้เวลานี้ทำกฎหมายลูกไปพลางๆ ได้ พอดีพอร้ายกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็อาจทำกฎหมายเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ได้ เพราะเขาก็ทำอยู่ทุกวันเวลานี้ เขาไม่ได้หยุดรอรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่าไม่มีอะไรกระทบโรดแมปที่วางไว้ ตราบใดที่ท่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ประกาศอะไร โปรดเชื่อเถิดว่าไม่มีอะไรที่จะกระทบกระเทือน ถ้ามีอะไรรัฐบาลรู้ก่อนแล้วต้องบอกประชาชน แต่ตอนนี้ที่ไม่ได้บอกเพราะไม่มีอะไรที่จะกระทบ

“แล้วก็จะมานั่งย้ำกันอยู่ทุกวันๆ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม แล้วถึงเวลาถ้ามีอะไรขึ้นมาคนไทยจะเป็นคนบอกเองแหละครับว่าเกิดอะไรขึ้นมาอย่างนี้จะทำอย่างไรกันดี จะช้าไปสักนิดสักหน่อยหรืออาจจะขยับออกไปอย่างไรเอาไว้ค่อยพูดกัน”นายวิษณุกล่าว