ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ” ยึดแนวพระราชดำรัส 3 มิติ เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน – “ต้องมากกว่ามิติด้านเศรษฐกิจ รวมถึง ความปลอดภัย ความเจริญ และความสุขของประชาชน”

“วิรไท สันติประภพ” ยึดแนวพระราชดำรัส 3 มิติ เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน – “ต้องมากกว่ามิติด้านเศรษฐกิจ รวมถึง ความปลอดภัย ความเจริญ และความสุขของประชาชน”

21 ตุลาคม 2016


ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ 21 ตุลาคม 2559 ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในหัวข้อ “Thailand’s Economic Outlook 2017 Towards Sustainability”

ดร.วิรไทกล่าวว่า “ขอขอบคุณที่ให้เกียรติเชิญผมมาพูดในเรื่องที่สำคัญยิ่งคือ “Towards Sustainability” หรือ
“เดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งสำหรับเศรษฐกิจและสังคมไทย การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เป็นความท้าทายของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศในโลก เรากำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจนั้น”

Christine Lagarde กรรมการจัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้กล่าวไว้ ในการประชุมสภาผู้ว่าการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญภาวะที่เรียกว่า

“Too low, for too long, and benefiting too few” หรือเป็นสภาวะที่ “เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำเกินไป ต่อเนื่องนานเกินไป และมีคนจำนวนน้อยเกินไปที่ได้รับประโยชน์” สภาวะเช่นนี้จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างเปราะบาง ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนส่วนใหญ่ของโลกได้อย่างยั่งยืน

สถานการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และกระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ประชาชนในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะแบ่งขั้วทางความคิดกันมากขึ้น เกิดกระแสต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์ต่อต้านสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบดั้งเดิม รวมทั้งต่อต้านชนชั้นผู้นำและธุรกิจขนาดใหญ่ เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่างกัน ระดับการศึกษาต่างกัน และกลุ่มอายุต่างกัน ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับต่ำ และผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี ประชาชนจะรู้สึกหวาดกลัวอนาคต และมองไม่ออกว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตของตนได้อย่างไร หรือจะสามารถยังชีพให้มั่นคงในอนาคตได้อย่างไร

นอกจากนี้ โลกยังเผชิญกับปัญหาทางกายภาพที่สำคัญอีกหลายด้านที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อน การขยายตัวของประชากรโลกในกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมือง การขาดแคลนน้ำสะอาด การลดพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร จนอาจทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ตลอดจนการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างไม่ระมัดระวังจนนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศมากขึ้น และวนกลับมาซ้ำเติมปัญหาโลกร้อนเป็นวงจรเสื่อมที่ไหลลงเรื่อย ๆ

สำหรับประเทศไทยนอกจากที่ต้องเผชิญกับปัญหาของโลกร่วมกับประเทศอื่น ๆ แล้ว เรายังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเฉพาะของเราเองอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการกระจายรายได้ และการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ปัญหาการลงทุนในระดับต่ำต่อเนื่อง ปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ตลอดจนปัญหาประสิทธิภาพของภาครัฐและการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ “เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเกินไป ต่อเนื่องนานเกินไป และมีคนจำนวนน้อยเกินไปที่ได้รับประโยชน์” เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก

ภายใต้ปัญหาและความท้าทายของโลกที่จะรุนแรงและซับซ้อนขึ้น หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะตระหนักว่า หากไม่รีบปรับตัวโดยเร็วแล้ว การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในภายหลังจะยากขึ้นมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย วงการวิชาการทั่วโลกกำลังค้นหาองค์ความรู้และตัวอย่างของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะนำมาใช้เป็นหลักคิดของการพัฒนาให้เกิดผลได้จริงในระดับต่าง ๆ

สำหรับประเทศไทยแล้ว เราไม่ต้องมองที่ไหนไกล คนไทยโชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับพระราชทานองค์ความรู้และหลักคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด องค์ความรู้และหลักคิดที่พระราชทานให้แก่พวกเรานั้นเป็นองค์ความรู้และหลักคิดที่ผ่านกระบวนการทดสอบจากการปฏิบัติจริงมาตลอด 70 ปี ที่สำคัญพระองค์ท่านไม่ได้พระราชทานเพียงแค่องค์ความรู้หรือหลักคิดไว้ให้แก่คนไทยเท่านั้น แต่ได้ทรงดำรงพระชนม์ชีพ และทรงงานพัฒนาไว้เป็นต้นแบบ ที่เราสามารถน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เคยพระราชทานนิยามของการพัฒนา ไว้ว่า

“การพัฒนา หมายถึง ทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคง มีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข”1

ประโยคสุดท้ายที่ว่า “ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” มีความหมายลึกซึ้งมากเพราะเป้าหมายของการพัฒนาไม่ควรวัดเพียงแค่ในระดับมหภาคให้ประเทศมีความมั่นคงและมีความก้าวหน้าเท่านั้น แต่ต้องทำให้ “ชีวิตของแต่ละคน” เจริญขึ้น มีความปลอดภัยและมีความสุข ซึ่งเป็นแนวทางของการพัฒนาที่จะต้องยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนทุกคนหรือ Inclusive Development และการพัฒนาต้องมีวัตถุประสงค์มากกว่ามิติด้านเศรษฐกิจ ต้องรวมถึง ความปลอดภัย ความเจริญ และความสุขของประชาชนด้วย จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง

สำหรับแนวทางของการพัฒนานั้น ได้ทรงแสดงไว้ในพระบรมราโชวาทอีกองค์หนึ่งว่า

“การสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ ควรอย่างยิ่งที่จะค่อยสร้าง ค่อยเสริม ทีละเล็กละน้อย ตามลำดับ ให้เป็นการทำไปพิจารณาไป และปรับปรุงไป ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่ เพราะความจริง สิ่งที่ใหม่แท้นั้นไม่มี”2

ประโยคสุดท้ายที่ว่า “ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่ เพราะความจริง สิ่งที่ใหม่แท้นั้นไม่มี” เป็นหลักคิดที่สำคัญและลึกซึ้งมาก สำหรับการวางแผนเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อได้มีโอกาสศึกษาองค์ความรู้ หลักคิด และต้นแบบการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 มิติสำคัญ ที่เราควรร่วมกันยึดถือเป็นแนวทางเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศไทย และพัฒนาให้สังคมและเศรษฐกิจไทยเจริญขึ้นอย่างยั่งยืน

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

มิติแรก คือ การยกระดับศักยภาพและผลิตภาพของเราให้สูงขึ้น ทั้งในระดับบุคคล สังคม และประเทศ โดยอาศัยพลังแห่งความเพียร ความอดทน ความร่วมมือกัน และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

“การดำรงชีวิตที่ดี จะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัว จะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทนก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ”3

“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า งานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”4

ในเรื่องของเทคโนโลยีนั้น ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ครั้งหนึ่งว่า

“เทคโนโลยีนั้นโดยหลักการ คือ การทำสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นเทคโนโลยีที่ดี สมบูรณ์แบบจึงควรจะสร้างสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความสูญเปล่าหรือความเสียหายน้อยที่สุด”5

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเป็นต้นแบบของการทรงงานพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความเพียร ความอดทน ความร่วมมือกันและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งเราเห็นตัวอย่างได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่ทรงใช้ เทคโนโลยีการถ่ายภาพทางอากาศและดาวเทียมในการวางแผนการใช้พื้นที่การเกษตรและการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ทรงพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่ช่วยบรรเทาภัยแล้งได้อย่างได้ผลจนได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในหลายประเทศ เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวาและกังหันน้ำชัยพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีด้านการประมงที่ช่วยขยายพันธุ์ปลานิลในแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญให้แก่คนไทย

มิติที่สองที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมี คือ เสถียรภาพ เพื่อให้การพัฒนาส่งผลให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข และไม่สะดุดขาตัวเอง เสถียรภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักที่จะพอประมาณ “ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่” รวมทั้งจะต้องคิดถึงการประหยัดเก็บสะสมทรัพยากรในวันนี้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันจากความผันผวนต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น คาดเดาได้ยากขึ้น

ในมิติที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพ ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทสามองค์ที่สะท้อนแนวพระราชดำริในเรื่องนี้

“ข้อสำคัญในการสร้างตัวและฐานะนั้น จะต้องยึดหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความรีบเร่ง เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้นตามต่อกันไปเป็นลำดับ”6

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มด้วยซ้ำไป”7

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”8

การพัฒนาโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันได้สร้างบทเรียนสำคัญให้แก่คนไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนไทยต้องถอยหลังไปหลายปี การสร้างภูมิคุ้มกันจะต้องมีรากฐานมาจากการประหยัด ในเรื่องการประหยัดนี้ได้ทรงเคยมีพระบรมราโชวาทไว้ว่า

“การประหยัดเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ ขอให้คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการประหยัดนี้ให้มาก การประหยัดนี้ควบคู่ไปกับหลักการพออยู่ พอกิน พอใช้ จึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยและเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตนตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้” 9

การพัฒนาอย่างยั่งยืนในความหมายของพระองค์ท่านนั้น จะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงความพอประมาณในการดำเนินชีวิตหรือการบริหารสินทรัพย์ของแต่ละคนเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่คนไทยรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

“ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า”10

“ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลและอากาศ ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งสวย ๆ งาม ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย”11

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

ถ้าจะพูดถึงการพัฒนาให้ยั่งยืนและมีเสถียรภาพแล้ว ผมคิดว่ามีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่งที่สรุปได้สั้นและลึกซึ้งมากคือ “คำว่า พอสมควร นี้เป็นคำที่สำคัญที่สุดแล้วอาจเป็นใจกลางของการปฏิบัติทุกอย่าง”12

มิติที่สามที่เราควรยึดถือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึงหรือการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้ “ชีวิตของแต่ละคน” เจริญขึ้น การพัฒนาอย่างทั่วถึงจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและสร้างพลังร่วมกันให้เราสามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ของประเทศได้ การพัฒนาอย่างทั่วถึง จะต้องเริ่มต้นจากพวกเราทุกคน ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญ ที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบัง มาจากผู้อื่น”13

นอกจากจะไม่เบียดบังมาจากผู้อื่นแล้ว การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึงได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลักของความเมตตา ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

“ความเมตตานั้น ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่กินไม่ได้ แต่ความเมตตานี้ ก็นำมาสู่ความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ความเอื้อเฟื้อกันทั้งในด้านความเป็นอยู่ ทั้งในความปลอดภัย ทั้งในความเจริญ ความก้าวหน้า และความสุขที่เพิ่มขึ้นได้”14

“สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้น ย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่”15

ดังที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น คนไทยโชคดีที่ได้รับพระราชทานหลักคิด องค์ความรู้ และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอด 70 ปี ที่ผ่านมาทรงแสดงให้เห็นความสำคัญของความเพียร ความอดทน ความร่วมมือกัน และการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพของคนไทย ทรงเน้นที่เรื่องความพอประมาณที่จะนำไปสู่เสถียรภาพและภูมิคุ้มกัน และทรงแสดงตัวอย่างของการพัฒนาอย่างทั่วถึงที่ตั้งอยู่บนหลักของความเมตตาอย่างแท้จริง พระบรมราโชวาทที่ผมได้อัญเชิญมาในวันนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าใครก็ตามที่ได้มีโอกาสศึกษาพระบรมราโชวาทและแนวทางการทรงงานของพระองค์ท่านจะพบองค์ความรู้และหลักคิดที่มีประโยชน์อีกมากมาย

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในวันนี้กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็จัดได้ว่ามีความมั่นคงมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยมีกันชนเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสามารถรองรับแรงปะทะจากความผันผวนภายนอกได้ ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลมีฐานะการคลังที่ดี และกำลังเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจหลายเรื่องซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการยกระดับศักยภาพ และผลิตภาพของประเทศ อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจและสังคมไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ความไม่แน่นอน และความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกมาก จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ “เติบโตต่ำเกินไป ต่อเนื่องนานเกินไป และมีคนจำนวนน้อยเกินไปที่ได้รับประโยชน์”

หลักคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้จะเป็นแนวทางสำคัญที่ “ทำให้ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” และเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลแต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

“ถ้าทุกคนยึดมั่นว่า เราต้องช่วยกันและต้องพยายามที่จะปฏิบัติงานของตน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตด้วยความตั้งใจดี ด้วยความเอาใจใส่ดีในหน้าที่ของตน เชื่อได้ว่า ส่วนรวมจะอยู่ได้ อย่างมั่นคงและถาวรแน่”16

หมายเหตุ :

1.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่เยาวชนจังหวัดปทุมธานี วันที่ 1 พฤษภาคม 2513
2.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 16 กรกฎาคม 2531
3.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา
วันที่ 27 มีนาคม 2523
4.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาส
วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2533
5.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 18 ตุลาคม 2522
6.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 9 กรกฎาคม 2530
7.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากวารสารชัยพัฒนา ประจำเดือนสิงหาคม 2542
8.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ 4 ธันวาคม 2541
9.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 30 ตุลาคม 2521
10.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี
เฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2529
11.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี
เฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2521
12.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงดนตรี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนาคม 2517
13.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองราชย์ครบ 50 ปี
14.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาส
วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2519
15.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี
ของสโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพ ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 31 มีนาคม 2538
16.พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 6 ตุลาคม 2512