ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ย้อนอดีต มองอนาคต – “คิดเป็น คิดถูก เติมเต็ม ต่อยอด”

เส้นทางปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ย้อนอดีต มองอนาคต – “คิดเป็น คิดถูก เติมเต็ม ต่อยอด”

5 ตุลาคม 2016


เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “เส้นทางปฏิรูปอุดมศึกษาไทย: ย้อนอดีต มองอนาคต” เนื่องในโอกาสเชิดชูเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ปูชนียบุคคลผู้ทําคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “เส้นทางปฏิรูปอุดมศึกษาไทย: ย้อนอดีต มองอนาคต” เนื่องในโอกาสเชิดชูเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ปูชนียบุคคลผู้ทําคุณประโยชน์ต่อสังคมไทย

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการถาวร 90 ปี ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ “กล้าคิด กล้าฝัน กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง” ที่หอสมุดปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานวันดังกล่าวได้มีการจัดเสวนา”ปฏิรูปอุดมศึกษาไทย: ย้อนอดีต มองอนาคต”และมีกิจจกรรมให้ประชาชนรับทราบ ขบคิด และเรียนรู้จากชีวิตและงานของอาจารย์อดุล ผ่านนิทรรศการและหนังสือชีวประวัติกับงานวิจัย

งานเสวนา “เส้นทางปฏิรูปอุดมศึกษาไทย: ย้อนอดีต มองอนาคต” มีวิทยากรได้แก่ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี (อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนักศึกษาศิลปศาสตร์รุ่น 1 หรือ “รุ่นหนูตะเภา”) นายกล้านรงค์ จันทิก (สมาชิกสภานิติบัญญัติและนักศึกษาศิลปศาสตร์รุ่น 2) ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล (อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนักศึกษาศิลปศาสตร์รุ่น 3)และรองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรกล่าวว่า “ผมขอย้อนไปปี 2505 เพราะวันนี้เป็นวัน ดร.อดุล ดร.อดุลมาสร้างมิติใหม่ให้ธรรมศาสตร์ ผมถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ เพราะก่อนนั้น ทุกคณะไม่มีการเรียนวิชาพื้นฐาน”

ดร.อดุล อายุ 36 ในปี 2505 กล้าที่จะเสนอสิ่งใหม่เพื่อที่จะปฏิรูปการศึกษา เท่ากับบังคับให้นักศึกษาทุกคนที่เข้าธรรมศาสตร์ ต้องมาเรียนวิชาพื้นฐานที่คณะศิลปศาสตร์ร่วมกันก่อน

ตอนนั้นผมยังไม่ได้เข้า ผมเข้าปี 2507 แต่อยู่ที่โรงเรียนก็อ่านข่าว ทราบว่า ดร.อดุลถูกนักศึกษารุ่นพี่ปี 2505 ประท้วง เดินไปถูกโห่ หนังสือพิมพ์ลง ผมก็ตามข่าว ผมก็คิดว่าต้องมีอะไรดีแน่ๆ ดอกเตอร์คนนี้ถึงกล้าทำ ผมอยากจะชื่นชมที่ว่ากล้าทำและใช้ความพยายามมาก

ผมมีอาจารย์ที่นับถือ 2 คน อีกคนหนึ่งคืออาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ท่านมาปฏิวัติคณะเศรษศาสตร์และธรรมศาสตร์ทีหลัง แต่ตอนที่อาจารย์ป๋วยมา อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแล้ว เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแล้ว เป็นผู้ที่สำเร็จมาแล้ว อาจารย์ป๋วยมา พูดอะไรคนฟัง แล้วทำหมด

แต่ ดร.อดุล อายุ 36 ยังไม่ได้ทำอะไรที่มีเครดิตมา ต้องมาผลักดันสิ่งที่ใหม่ที่สุด คือ บังคับให้ทุกคนมาเรียนรวมกันในปี 1 ในวิชาพื้นฐาน ผมถือว่าเป็นความกล้าหาญและใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะไม่มีต้นทุนอะไรมาก่อน

ผมเข้ามาเรียนปีเดียว ปีเดียวก็ใช้ได้แล้ว ผมคิดว่ามีประโยชน์มากถึงวันนี้ ประการแรก คือ มีประโยชน์สำหรับจะเรียนต่อคณะต่างๆ ด้วย วิชาอย่างตรรกวิทยา ที่เรียนทุกปี 1 ที่คณะศิลปศาสตร์

ตรรกวิทยานี้คือพื้นฐานสำคัญที่สุดของนิติศาสตร์ ถ้าใครไม่ผ่านตรรกวิทยาไม่มีทางเรียนนิติศาสตร์ได้ วิชาอย่างคณิตศาสตร์ก็เป็นพื้นฐานสำหรับคนที่ต่อ statics หรือจะต่อสถิติ ต่อบัญชี ถ้าคนไม่ผ่านคณิตศาสตร์ จะอุตริไปเรียนก็ไปไม่รอด

วิชาอย่างอารยธรรมตะวันตก เป็นวิชาพื้นฐานที่เวลาไปเรียนทฤษฎีการเมือง จะที่รัฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ก็ตาม เข้าใจง่าย เพราะเรารู้สภาพของบ้านเมืองในตะวันตกตอนทฤษฎีนั้นเกิดขึ้นแล้ว

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน การที่เรียนอารยธรรมตะวันตกทำให้เข้าใจทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้ง่าย คาร์ล มาร์กซ์ เกิดขึ้นมา มีลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เพราะว่ามันมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อน ฉะนั้น วิชาพื้นฐานที่ศิลปศาสตร์เป็นพื้นฐานสำหรับไปเรียนต่อคณะอื่นได้จริงๆ

อีกอันที่ ดร.อดุลมองได้ไกลคือ บังคับให้ทุกคนเรียนภาษาอังกฤษ เพราะในที่สุดภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำหรับหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งช่วยให้เรียนจนถึงชั้นปริญญาโทด้วยซ้ำไป

วิชาพื้นฐานที่พูดเหล่านี้ ยังช่วยเราชะงักคิดว่า เราพร้อมไหมที่จะไปเรียนต่ออะไร ผมยกตัวอย่างตรรกวิทยา ถ้าคุณยังเรียนตรรกวิทยาไม่เข้าใจแล้วดันสมัครอยู่นิติศาสตร์ เปลี่ยนเถอะ เปลี่ยนไปเรียนคณะอื่น แล้วตอนนั้นคนเปลี่ยนกันเยอะ หรือเรียนคณิตศาสตร์ยังไม่ได้ ไปเรียนบัญชีก็ต้องคิดให้หนัก

ฉะนั้น พวกนี้ 1 ปีแรกที่เราได้ ทำให้เรายับยั้งชั่งใจได้ เรารู้ว่าอะไรเหมาะ ไม่เหมาะ เรารู้ว่าเราจะเปลี่ยนคณะหรือไม่เปลี่ยนคณะอย่างไร

ผมเองก็เปลี่ยนคณะ เดิมจะเข้าเรียนบัญชี แต่ผมเข้ามาแล้ว ดร.ป๋วยจะมาเศรษฐศาสตร์ด้วย แต่ผมเรียนแล้วผมรู้สึกว่ามันง่ายไป บัญชี ขอโทษทีนะ (หัวเราะ) ฉะนั้น วิชาพื้นฐานทำให้เราฉุกคิดว่า เราพร้อมจะไปเรียนคณะนั้นคณะนี้หรือไม่

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล

อันถัดไปคือ วิชาพื้นฐานเหล่านี้มีประโยชน์ไปจนถึงทำงาน ตอนทำงานมีประโยชน์มากๆ อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมตะวันออก ตอนนั้นผมไปทำงานธนาคาร ผมคุมด้านต่างประเทศของธนาคาร ผมไปที่ไหนผมก็คุยกับเขารู้เรื่อง

ไปตะวันออก ไปญี่ปุ่น ไปจีน เพราะเราพอจะรู้ประวัติศาสตร์อารยธรรมของเขาอยู่แล้ว เรารู้ว่าในอดีตประเทศเขาพัฒนามาอย่างไร เขาคุยถึงสมัยเมจิ สมัยเอโดะ เราก็พอเข้าใจ เพราะอาจารย์สอนสมัยเมจิ เอโดะไว้

ของพวกนี้ทำให้เราคุยกับใครก็ได้ แล้วทำให้เครดิตเราดีด้วย ฝรั่งมังค่า มันฟังเรา นึกว่ามาจากประเทศไทย คนไทยโง่ๆ มา มันคุยอะไรมา เราคุยได้หมด

วิชาอย่างศาสนาเปรียบเทียบ เป็นวิชาที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับผมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเข้าใจศาสนาของทุกศาสนาตั้งแต่อยู่ปี 1 ธรรมศาสตร์ อาจารย์ท่านสอนดีเหลือเกิน พอเราเข้าใจ ในชีวิตเรา เราจะคบกันคนชาติไหน ศาสนาใด เรา handle เขาได้ เราเอาเขาอยู่

นี่คือประโยชน์ ของพวกนี้เป็นสิ่งซึ่งติดตัวมา หรืออย่างวิชาดนตรี ก็เปิดโลกทัศน์ให้เราเห็นว่าดนตรีไทยต่างจากดนตรีสากลอย่างไร พวกนี้มีประโยชน์มาก ทำให้เราเป็นคนครบเครื่อง

วิชาปรัชญาที่ ดร.อดุลสอน อันนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งยวดที่สุด อยากจะแนะนำให้ทุกคณะปัจจุบันเรียนด้วยซ้ำไป เพราะปรัชญาสอนให้รู้ว่า สิ่งหนึ่งที่เราตัดสินใจไป มันมีผลกับอีกสิ่งหนึ่งเสมอ

เราไม่สามารถตัดสินใจเรื่องเศรษฐศาสตร์โดยไม่นึกถึงสังคมได้ เราไม่สามารถจะพิจารณาเรื่องกฎหมายโดยไม่มีผลทางเศรษฐกิจได้ เพราะฉะนั้น ปรัชญาเป็นสิ่งที่ต้องเรียนด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ผมคิดว่า ดร.อดุลท่านได้ปฏิรูปให้ธรรมศาสตร์จริงๆ เพราะทราบว่าสิ่งที่ ดร.อดุลปฏิรูปไว้ แม้จะไม่สอนในคณะศิลปศาสตร์แล้ว แต่ปัจจุบันทางธรรมศาสตร์ทุกคณะก็ยังบังคับ (require) ให้ทุกคนต้องเรียนวิชาพื้นฐาน อย่างที่ผมพูดมาทั้งหมด อาจจะเปลี่ยนชื่อไปบ้าง

ผมถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งแต่ 2505 ซึ่งมีผลถึงปัจจุบัน ทำคนให้เป็นคนมากขึ้น ทำคนให้ครบเครื่องมากขึ้น

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรยังกล่าวว่า การเรียนการสอนวิชาปรัชญา ดร.อดุล ท่านเลคเชอร์ห้องนี้ (ปัจจุบันคือห้อง ศศ.202 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) เป็นห้องเลคเชอร์ใหญ่ ส่วนผมอยู่ห้องผม ผมก็ฟังทางทีวี

อาจารย์คนไหนสอนดี เราก็ไม่ซน อาจารย์คนไหนสอนไม่ดี ก็เล่นกันหนวกหูทั้งห้อง ฉะนั้น ไม่ได้มีปฏิกิริยากันหรอก คือถ้าสอนเก่งพวกเราก็เรียบร้อยดี แต่ถ้าสอนไม่เก่งเราก็เล่นกัน ส่วนการบ้านไม่เยอะครับ ธรรมศาสตร์ไม่มีการบ้าน ผมเรียนจบไม่เคยมีการบ้าน ธรรมศาสตร์สอนคนเรียนแบบผู้ใหญ่ ไม่ต้องมีใครมาจ้ำจี้

อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สมัยผมเรียกว่ารุ่นสายลมแสงแดด เป็นรุ่นที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร แล้วก็ถูกบีบลงมา พวกเราทำอะไรไม่ค่อยได้ เขาคุมเราหมด เราอยู่ในยุคสายลมแสงแดด วิทยากร เชียงกูล เขียนกลอนว่า เขามาธรรมศาสตร์เพื่อหาความหมาย แต่ 4 ปีแล้วไม่ได้อะไรนอกจากกระดาษใบเดียว

ผมค้านวิทยากร บอกว่าไม่ใช่ หลักสูตรอาจจะดี ไม่ดี ไม่รู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการเรียนธรรมศาสตร์ก็คือ ความรู้สึกที่ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม

เด็กธรรมศาสตร์สมัยนั้นอาจจะถูกกดจากรัฐบาลทหารมากก็ตาม แต่สิ่งที่เราคุยกันก็คือ เราอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น การพูดที่หอประชุมจะพูดแนวนี้หมด ฉะนั้น นี่คือบรรยากาศสมัยนั้น เมื่อเราจบไปแล้ว เราอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น

ผมอยากจะฝากว่า ธรรมศาสตร์จำเป็นต้องทำอะไรก็ตาม ที่จะสอนให้เด็กไม่ใช่แค่จิตอาสาเฉยๆ แต่ให้เด็กรักสังคมที่เป็นธรรมและต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม นั่นแหละคือธรรมศาสตร์ ถึงจะผลิตธรรมศาสตร์บัณฑิตที่แท้จริง

 ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

ดร.ไตรรงค์กล่าวว่า หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรเรียนปรัชญากับ ดร.อดุล ห้องนี้ผ่านทางทีวี เป็นรุ่น 3 ที่มีเทคโนโลยีมาประกอบการเรียนการสอน แต่รุ่นผมไม่มี ผมรุ่นแรกเรียนที่หอประชุมใหญ่ มีนักเรียนประมาณ 900 คน และต้องเรียนวิชาเบื้องต้นทั้งหมด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น คนสอนก็คือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ กฎหมายเบื้องต้นคือหลวงจำรูญ เนติศาสตร์ ปรัชญาเบื้องต้นคือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็พยายามอ่าน ค้นคว้า มีชีทพรรคพวกทำมา ก็มาอ่านกันประกอบ ฉะนั้น รุ่นผมลำบากมาก เพราะเทคโนโลยียังไม่มี นี่คือเหตุผลว่าทำไมรุ่นท่านปรีดิยาธรถึงฉลาดกว่ารุ่นผม (หัวเราะ)

เมื่อมาถึงเรื่องการปฏิรูปมันต้องตั้งหลัก ผมเห็น คสช. มีหนังสือไปถึงกระทรวงศึกษาว่าให้คนเรียนประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น เรื่องศาสนาให้มากขึ้น เขาก็ส่งให้ผมมาดู จริงๆ ผมเขียนตำราไว้ เรื่องมารยาททางการเมืองกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมไปเรียนมาจากเคมบริดจ์ ผมก็แนะนำไปในนั้นว่าจะต้องฏิรูปอะไรบ้างทั้งการศึกษาและศีลธรรม

ที่เราต้องตั้งหลักก็คือ ถ้าจะปฏิรูป ต้องตั้งเป้าหมายเสียก่อนว่า การศึกษา ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ (products) ออกมาเป็นลักษณะอย่างไร

ผมเห็นว่า อันแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือ คนที่ผ่านอุดมศึกษาเขาจะต้อง หนึ่ง มีวิชาชีพออกไปทำมาหากิน ข้อที่สอง คือ ต้องสอนให้คนมีปัญญา คิดเป็น มีโยนิโสมนสิการ คิดรอบคอบ คิดลึก ไม่คิดอะไรลวกๆ ตัดสินใจต้องมีสุขุมกบิลภาพ

คำว่าสุขุมกบิลภาพเป็นศัพท์ที่ ดร.อดุลใช้บ่อยที่สุดสมัยที่สอนพวกเรา การมีสุขุมกบิลภาพจะต้องมีหลักในการคิด ซึ่งมันจะอยู่ในศาสนา คิดเป็น คิดถูก รู้อะไรดี อะไรชั่ว ฉะนั้น เราถึงต้องสอนหลักศาสนา

วันนี้ระดับมัธยมถึงมัธยม 6 เขาสอนอะไรไปบ้าง วันนี้พัฒนาไปเยอะมาก เขาสอนเบญจขันธ์ สอนปฏิจจสมุปบาท แล้วก็เอาหลักที่ท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เขียนหลักพุทธธรรม อธิบายง่ายๆ เป็นเรื่องที่ดี สอนอริยสัจ 4 ก็นำมาเขียนหมด เขาก็เรียนกัน แต่ยังเรียนไม่ลึก ผมถึงบอกว่า ถ้าจะปฏิรูปต้องทำ 2 อย่าง คือ “เติมเต็ม” กับ “ต่อยอด”

เราต้องเติมเต็ม ถ้าขั้นมัธยมยังไม่ลึกซึ้งถึงที่ควรจะให้เขารู้มากกว่านี้ ก็ต้องปรับปรุง หรือไม่ก็มาเติมเต็มในขั้นอุดมศึกษา นี่คือสอนให้เขาคิดเป็น หลักศาสนาอื่นก็เหมือนกัน

ข้อที่สาม ต้องสอนให้เขามีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต การสอนหลักศาสนาต่างๆ ไม่เพียงพอ แต่ต้องแปลความหมายต่างๆ ออกมาให้เป็นจริยธรรมให้ได้ เช่น เบญจขันธ์ สอนเสร็จแล้ว ในแง่จริยธรรม เบญจขันธ์นำมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร กับชาติใช้อย่างไร แล้วไม่ใช่เป็นวิชาประกอบ ต้องบังคับให้เด็กเรียน เขาจะได้มีจริยธรรม มีธรรมะ

เป้าหมายข้อที่สี่ เมื่อออกไปสู่สังคมแล้ว ต้องมีความรู้รอบตัวมากกว่านั้น มีความรู้เรื่องต่างๆ เรื่องโลกก็ต้องเรียนอารยธรรมตะวันตก ตะวันออก เรื่องปรัชญา จะได้เป็นหลักคิดว่าเป็นมาอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราจะเป็นประชาธิปไตย ต้องรู้เบื้องหลังว่าพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยมันพัฒนามาอย่างไร วิชาพวกนี้จำเป็น ดร.อดุลวางแผนให้อย่างดีแล้ว จะทำให้คนสมบูรณ์ขึ้นเวลาไปทำมาหากิน เราต้องรู้อารยธรรมต่างๆ

ฉะนั้น ข้อสุดท้ายคือ ต้องสอนเรื่องประชาธิปไตย ถ้าเราฟันธงว่าประเทศนี้ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องรู้สิ่งที่เป็นหน้าที่ของตน เราต้องสอนด้วยว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงสร้างความหายนะกับประเทศอย่างไร

การใช้สิทธิ์ต้องควบคู่กับหน้าที่เสมอ หน้าที่คือจะต้องใช้ดุลพินิจไปเลือกคนที่ดีที่สุด มีคุณภาพ คุณธรรมที่สุดให้กับประเทศ เพราะเราเลือกผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทนราษฎรของอำเภอนั้น เขตนั้น

วันนี้ 50% ของประเทศไทย คนยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ประเทศที่เจริญแล้วเข้ามหาวิทยาลัย 73% สหรัฐอเมริกา 89% คนของเขาถึงมีคุณภาพ เขาถึงรู้เรื่อง เขาถึงเลือกผู้แทนไม่ผิด ไม่ใช่เลือกคนบ้าๆ บอๆ เข้าไปในสภา

ฉะนั้นจึงอยู่ที่คน คนเรา 100% แต่ 50% ไม่มีความรู้จริงในเรื่องประชาธิปไตย เพราะเราไม่ได้สอน หลักสูตรไม่พอ เมื่อไม่พอก็มาเติมเต็ม ให้เรียนหลักสูตรศิลปศาสตร์ ทุกคณะต้องเรียนจะต้องรู้ สิทธิคืออะไร หน้าที่คืออะไร ถ้าทำได้อย่างนี้ประชาธิปไตยจะดีขึ้น ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่กี่ปีมีรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจอีก เชื่อผม ไปไม่รอด

นายกล้านรงค์ จันทิก
นายกล้านรงค์ จันทิก

นายกล้านรงค์กล่าวว่า ผมเข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ปี 2506 เป็นศิลปศาสตร์รุ่น 2 ต้องเรียนศิลปศาสตร์ 2 ปี ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รู้สึกว่าทำไมต้องเรียน 2 ปี แล้วไปต่อคณะนิติศาสตร์อีก 3 ปี เป็น 5 ปี ไม่เห็นประโยชน์ตรงนี้

ดังนั้น พวกศิลปศาสตร์รุ่น 2 ก็ประท้วงหน้าลานโพธิ์ว่าไม่เรียน 2 ปี ขอเรียนเพียง 1 ปี ในที่สุดมหาวิทยาลัยก็แก้ไขข้อบังคับของคณะศิลปศาสตร์เป็นเรียน 1 ปี

สิ่งที่อยากจะเรียนก็คือ การเรียนศิลปศาสตร์ได้สอนหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือ เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนักศึกษาที่เข้ามาเรียน

ดังนั้น ไม่ว่าจะสร้างหรือวางหลักสูตรอะไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้นักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยแล้วออกไปทำงานด้วยจิตอาสา มีจิตที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม และรักชาติบ้านเมือง ฉะนั้น หลักสูตรอะไรก็ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือ จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์

นายกล้านรงค์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผมคาดหวังและต้องการต่อไปในอนาคตว่าทำอย่างไรให้สถาบันการศึกษาสอนคนในสิ่งที่อาจารย์ไตรรงค์พูด คือ เรื่องความเป็นประชาธิปไตย

84 ปี ที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เราไม่เคยสอนให้ประชาชนได้รู้ว่าคำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นคืออะไร เราไม่เคยสอนว่าให้เขาเลือกผู้แทนฯ เข้าไปในสภาไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ไปทำหน้าที่ในการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ประชาชนได้ประโยชน์อะไรเป็นรูปธรรม

แต่ในขณะเดียวกัน เขาเลือกคนที่เขารู้จัก เลือกคนที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลเขา เลือกคนที่เคยช่วยฝากลูกหลาน ฝากพี่น้องเข้าไปทำงาน เลือกคนที่สร้างถนนให้เขา เลือกคนที่ซื้อเสียง เขาเห็นเป็นรูปธรรมทันที นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยสอน

ผมอยากให้บัณฑิตทั้งหลายที่ออกไป ฝากท่านอธิการบดีว่า เราจะสอนเด็กออกไป ไปสอนประชาชนว่า ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ในการเลือกคนเข้าไปในสภา เพื่อไปทำหน้าที่สองอย่างคือ ออกกฎหมายกับควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล มันได้ประโยชน์มากกว่า

นี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้ คือ สอนให้ประชาชนเขารู้ว่าประชาธิปไตยคือ เลือกคนดีเข้าไปในสภา เข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติและควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล นั่นคือหัวใจของประชาธิปไตย และนี่คือภารกิจของบัณฑิตที่จะออกไปทำงานให้กับแผ่นดิน ด้วยความก้าวหน้าของแผ่นดินต่อไป

ในช่วงที่เป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2502-2507 ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ได้ปฏิรูปการเรียนการสอนในหลายๆด้าน ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ ตลอดจนปฏิรูปหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาทุกคนได้ศึกษาวิชาพื้นฐานรอบด้านก่อนที่จะศึกษาในคณะที่ตนประสงค์ ซึ่งเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศไทยนำไปใช้จวบจนปัจจุบัน
ในช่วงที่เป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2502-2507 ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ได้ปฏิรูปการเรียนการสอนในหลายๆด้าน ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ ตลอดจนปฏิรูปหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาทุกคนได้ศึกษาวิชาพื้นฐานรอบด้านก่อนที่จะศึกษาในคณะที่ตนประสงค์ ซึ่งเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศไทยนำไปใช้จวบจนปัจจุบัน

ดร.พิภพกล่าวว่า ดีใจมากๆ ที่เห็นศิษย์เก่ากลับมาในโอกาสรำลึกและเชิดชูอาจารย์อดุล ซึ่งเป็นคณบดีท่านแรกที่ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์เมื่อปี 2505 ศิลปศาสตร์ที่พูดเรื่องวิชาพื้นฐาน ปัจจุบัน สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) หรือระดับทบวงไปเรียกว่าวิชาศึกษาทั่วไป ผมคิดว่าท่านอาจารย์อดุลท่านเรียกวิชาพื้นฐานเป็นการเรียกได้ตรง เพราะเป็นพื้นฐานของการไปต่อยอดความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เป็นพื้นฐานที่บอกว่าเราจะเติบโตไปเป็นคนอย่างไร เราจะเป็นนักนิติศาสตร์แบบไหน จะเป็นนักบัญชีอย่างไร จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้เฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า หรือเราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ เข้าใจสังคม เข้าใจเรื่องความเป็นธรรม

เราจะเป็นนักกฎหมายที่รู้เฉพาะเนื้อหาของกฎหมาย หรือเข้าใจสภาพความเป็นไปในสังคม เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ ของคนในแต่ละชนชั้น แล้วทำให้การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นๆ ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานทำหน้าที่อย่างนั้น

ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างสแตนฟอร์ดหรือฮาร์วาร์ด ทุกคนต้องเข้าไป liberal arts 2 ปีเต็ม แต่ธรรมศาสตร์เรียน 1 ปี จริงๆ แล้วกี่ปีไม่มีความหมาย แต่สปิริตของการเรียนวิชาพื้นฐานต่างหากที่จะติดตัวเราไป

ปัจจุบันนักศึกษาธรรมศาสตร์เข้ามาแล้วเรียนอะไรในวิชาพื้นฐาน ขอเรียนว่ายุคนี้เป็นยุคการศึกษา 3.0 วิชาพื้นฐานเราเปลี่ยนมา 3 เวอร์ชัน เวอร์ชันแรกสมัยที่ท่านทั้ง 3 รุ่นเรียน เรียนอารยธรรมไทย อารยธรรมตะวันออก-ตะวันตก เรียนวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิชาอารยธรรม ปรัชญา จิตวิทยา

รุ่นที่ 2 ท่านอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ช่วงนั้นท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ก็ปรับวิชาเหล่านี้ เปลี่ยนเป็นสหวิทยาการด้านสังคมศาสตร์ สหวิทยาการมนุษยศาสตร์ สหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์

ซึ่งก็ยังสะท้อนสปิริตของวิชาพื้นฐานจะครอบคลุม 3 กลุ่มหลัก คือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เพื่อให้เราเป็นคนครบเครื่องอย่างที่คุณชายปรีดิยาธรว่า และทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจสังคม

จาก 2505 มาถึงปัจจุบัน ผ่านไป 50 ปี สังคมเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก รูปแบบการเรียนการสอนที่เราคุยกัน ที่อาจารย์เป็นเสมือนผู้ทรงความรู้ มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษา ได้เปลี่ยนไป

เพราะความรู้ปัจจุบันอยู่ที่ปลายนิ้วของเด็กหมดแล้ว เด็กเข้าเรียนในห้องนั้น ถ้าเราสอนในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว ค้นหาเองได้ เขาจะไม่สนใจเรียน หน้าที่ห้องเรียนที่ธรรมศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องการให้ความรู้ จึงเป็นหน้าที่ของการปลูกฝังทักษะคิด วิเคราะห์ คิดเป็น วิเคราะห์เชื่อมโยงเป็น นั่นคือสปิริตของวิชาพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน แม้ชื่อวิชาจะเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าดูวิชาพื้นฐานที่ธรรมศาสตร์ซึ่งเริ่มดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยแรกเช่นกัน เริ่มต้นจากการที่นักศึกษาต้องเรียนวิชาอย่างเช่น โลกอาเซียนและไทย แปลว่าเข้าใจบริบทของประเทศในบริบทที่ต้องเชื่อมโยงกับประชาคมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม

การเรียนรู้ไปในแนวบูรณาการมากขึ้น เราสอน social life skills ที่เด็กต้องฟังดนตรีเป็น ชื่นชมศิลปะ ดูแลสุขภาพกายใจ เราสอนเรื่องการจัดการกับความเครียดในการเรียน ผลการทดสอบของเรา เด็กปี 1 ทุกคนตอนนี้เข้าเรียนวิชานี้ ถูกจับประเมินความเครียดหมด

ธรรมศาสตร์พบว่า เกือบ 10% ของนักศึกษาปี 1 มีความเครียดในระดับสูง และทำให้เราสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาเหล่านั้นได้

ดร.พิภพ อุดร
ดร.พิภพ อุดร

นักศึกษาจะต้องเรียนวิชา Life and Sustainability เข้าใจเรื่องชีวิตและความยั่งยืน นักศึกษาที่เข้ามาใหม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่แท็กว่า ใช้ชีวิตทุกๆ วันสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์นับตั้งแต่ต้นเทอม พอถึงปลายเทอมนักศึกษารู้ว่า ตัวเองปรับปรุง ลดพฤติกรรมที่สร้างภาระให้กับโลก ใช้ทรัพยากรเปลืองเกินไปมากน้อยเพียงไร

นี่คือสิ่งที่เราต้องการปลูกฝังให้กับนักศึกษา ไม่ใช่เรื่องวิชาความรู้เพื่อไปทำมาหากิน เพื่อไปประกอบอาชีพ อุดมศึกษามีหน้าที่สร้างคน และวิชาพื้นฐานบอกว่า เขาจะเป็นคนอย่างไรต่อไปในอนาคต

ดร.พิภพกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ทำธรรมศาสตร์ได้ทำคือ การมองไปในอนาคตว่า โลกในศตวรรษที่ 21 หน้าตาไม่เหมือนเดิม อาชีพจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี เปลี่ยนในอัตราเร่งทวีคูณ ความรู้ที่มหาวิทยาลัยสอน อีก 2 ปี อาจจะล้าสมัย

ดังนั้น สิ่งที่ธรรมศาสตร์ได้ตั้งหลักและเดินหน้าโดยอาศัยสปิริตที่ท่านอาจารย์อดุลได้ตั้งไว้ตั้งแต่ 50 กว่าปีที่แล้วก็คือ ทำอย่างไรจะปลูกฝังการคิดอ่านและทักษะต่อยอดด้วยตัวเอง

ธรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบันจึงตั้ง 6 คุณลักษณะของบัณฑิต เพื่อรับกับศตวรรษที่ 21 โดยเรียกย่อๆ ว่า GREATS

G ย่อมาจาก Global Mindset หมายความว่า จะจบธรรมศาสตร์ได้ รู้เฉพาะเรื่องในรั้วประเทศตัวเองไม่มีทางพอ ต้องเข้าใจโลก เข้าใจสังคม หรือขั้นต่ำรู้อาเซียน เข้าใจเอเชีย แปซิฟิก เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในบริบทสังคม การเมือง

R คือ Responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคมและตัวเอง นักศึกษาจะจบจากธรรมศาสตร์ได้ต้องถูกปลูกฝังเรื่องจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อตัวเอง ต่อสิ่งแวดล้อม

E คือ Eloquence จะจบธรรมศาสตร์ได้ต้องสื่อสารชัดเจน ภาษาต้องได้มากกว่า 2 ภาษา ตอนเข้ารับภาษาอังกฤษและภาษาไทย ปัจจุบันยกระดับภาษาไทยไปเป็น Critical Thinking หมายความว่า วัดความคิดอ่านแบบมีวิจารณญาณ ก่อนจบธรรมศาสตร์ จะขอวัดทักษะพวกนี้อีกครั้งหนึ่ง

A คือ Aesthetic Appreciation จะรู้เรื่องวิชาชีพยังไม่พอ ต้องสามารถชื่นชมความงามที่อยู่รอบตัว ฟังดนตรี ชื่นชมศิลปะ ดูสถาปัตยกรรมเป็น

T คือ Team Leader เป็นคนธรรมศาสตร์ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นได้

และ S เป็นหัวใจสำคัญ Spirit of Thammasat มีจิตวิญญาณในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ต้องไม่ยอมให้ใครมากดขี่ข่มเหงคนอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะตัวเอง และสุดท้าย ต้องยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่น ต้องทนไม่ได้เมื่อเห็นความอยุติธรรมต่อหน้า

ภายใต้ GREATS ที่ว่านี้ ธรรมศาสตร์ได้แปร 6 คุณลักษณะออกมาเป็น 3 เสาหลัก คือ เสา Global Mindset, เสา Soft Skills, และเสา Spirit of Thammasat

เรานำ 3 เสาหลักนี้มาแปรเป็นรายวิชา และกำลังจะทำแบบทดสอบ เข้าธรรมศาสตร์ปีแรก ประเมิน 6 ทักษะนี้ และก่อนจบประเมิน 6 ทักษะนี้อีกรอบหนึ่ง เพราะต้องการสร้างบัณฑิตธรรมศาสตร์ให้เป็น Great Citizen ของโลก