ThaiPublica > คอลัมน์ > China 2030 หนังสือคู่มือของจีนเพื่อหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

China 2030 หนังสือคู่มือของจีนเพื่อหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

26 ตุลาคม 2016


ปรีดี บุญซื่อ

เอกสารของธนาคารโลก China 2030
เอกสารของธนาคารโลก China 2030

การก้าวกระโดดของจีนขึ้นมาเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและการส่งออก เป็นเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่เขย่าและสั่นสะเทือนโลกครั้งสำคัญในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

ในปลายทศวรรษ 1970 การผลิตทางอุตสาหกรรมและการส่งออกของจีนมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับโลกทั้งหมด แต่เมื่อสิ้นปี 2014 จีนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกและผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก มีสัดส่วนถึง 18% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในโลกทั้งหมด

ทุกวันนี้ จีนกลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการผลิตทางอุตสาหกรรมของโลก การออกแบบผลิตภัณฑ์และการทำการตลาดมาจากประเทศตะวันตก การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ มาจากประเทศในเอเชียและทุกอย่างมาจบลงที่จีน โดยการออกแบบและชิ้นส่วนต่างๆ ถูกนำมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วก็ส่งออกไปทั่วโลก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน คือตัวอย่างที่ดี ปัจจุบัน จีนมีสัดส่วนการส่งออก 40% ของโลก แต่จีนยังคงเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป ส่วนเทคโนโลยีสำคัญของสินค้าคือการออกแบบ การตลาด ตัวแผงวงจร และการผลิตซอฟต์แวร์ ยังอยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Samsung, Intel และ Microsoft

กลยุทธ์การพัฒนา

การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนนับจากปี 1978 เป็นต้นมา เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการ 2 อย่าง คือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่ควบคุมโดยรัฐไปสู่เศรษฐกิจแบบกลไกตลาด และการหันมาใช้กลยุทธ์การพัฒนาแบบประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน กระบวนการแรก ทำให้ทรัพยากรต่างๆ ถูกแบ่งปันมายังภาคเอกชนมากขึ้น ส่วนกระบวนการที่สองคือนโยบายการบริหารเศรษฐกิจของรัฐ เพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากที่สุด โดยการสนับสนุน “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” อย่างใดอย่างหนึ่ง และการควบคุมระบบการเงิน

ความสำเร็จของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วเกิดจากปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่าง ประการแรก คือ มรดกทางประวัติศาสตร์ ก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 จีนเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตหัตถกรรมและการค้าโลกมาก่อน เช่น ผ้าไหมและเซรามิก จีนในอดีตจึงมีระบบการผลิตและการค้าภายในประเทศที่เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เมื่อประเทศตะวันตกยกระดับสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม จีนกลับล้มเหลวในเรื่องนี้ จีนเองก็ได้บทเรียนจากยุคสังคมนิยมว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่มีการค้ากับต่างประเทศ ดังนั้น นับจากต้นทศวรรษ 1980 เมื่อจีนเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมและค้าขายกับประเทศต่างๆ ก็เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ตัวเองเคยได้เปรียบในอดีต

ทัศนียภาพของเซี่ยงไฮ้
ทัศนียภาพของเซี่ยงไฮ้

ประการที่ 2 ความสำเร็จของจีนมาจากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหลายอย่าง ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในเอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน กลายเป็นโมเดลที่ง่ายในการเอาเป็นแบบอย่าง ฮ่องกงที่มีท่าเรือทันสมัยและเป็นศูนย์กลางการค้าโลก ช่วยให้ผู้ผลิตของจีนสามารถเข้าสู่ตลาดโลก ในต้นทศวรรษ 1990 ไต้หวันที่มีการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวหน้าย้ายฐานการผลิตไปยังจีนในชั่วพริบตา

ประการที่ 3 คือ นโยบายเศรษฐกิจของจีนนับจากปี 1978 เป็นต้นมา ที่เติ้ง เสี่ยวผิง เรียกว่า “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” เติ้ง เสี่ยวผิง เห็นว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนเป็นไปได้ยากหากไม่มีการเปิดประเทศให้กับการค้าและการลงทุน ทำให้ในต้นทศวรรษ 1980 จึงมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และในปี 2001 จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO)

นโยบายสำคัญอีกอย่างของรัฐบาลจีนคือ การให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ถนน โรงงานผลิตไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคม ทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมตลอดแนวชายฝั่งทะเลของจีนเกิดความสะดวก นับจากปี 2000 เป็นต้นมา จีนเป็นประเทศที่มีค่าแรงแบบประเทศกำลังพัฒนา แต่มีโครงสร้างพื้นฐานแบบประเทศพัฒนาแล้ว องค์ประกอบ 2 อย่างนี้ ทำให้จีนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมโลก

“80% ของคุณภาพ 60% ของราคา”

การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ในช่วง 1985-2005 การลงทุนจากต่างประเทศ “โดยตรง” ของจีนมีสัดส่วน 3% ของ GDP ในช่วงการพัฒนาในระดับเดียวกันของเกาหลีใต้และไต้หวัน การลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วน 0.5% ของ GDP ส่วนญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของ GDP

จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมของจีนมีจุดอ่อนข้อจำกัดบางอย่าง ประการแรก ในเรื่องการส่งออก จีนอิงอาศัยสินค้าส่งออกที่ผลิตจากบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนในสัดส่วนที่สูงมาก ใน 2005 มีสัดส่วนถึง 58% ของการส่งออกทั้งหมด เปรียบเทียบกับการส่งออกของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน มาจากผู้ผลิตผู้ประกอบการในประเทศแทบทั้งหมด สัดส่วนการส่งออกสินค้า “ไฮเทค” ของจีนที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติสูงถึง 80%

สภาพการณ์ของจีนดังกล่าว เกิดจากสภาพแวดล้อมการเมืองระหว่างประเทศ จีนไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการส่งออกของตัวเองขึ้นมา และเข้าถึงตลาดสหรัฐอเมริกาโดยไม่ถูกกีดกัน แบบเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพราะ 3 ประเทศที่ว่านี้อยู่ใน “ระบบความมั่นคงทางทหาร” ของสหรัฐฯ

จุดอ่อนหรือข้อจำกัดการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนอีกประการหนึ่ง คือ การเป็นประเทศที่มีค่าแรงถูก มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยม และผู้บริโภคตลาดในประเทศอ่อนไหวในเรื่องราคาผลิตภัณฑ์ ทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าของจีนหันไปใช้ Business Model ที่เรียกกันว่า “80% ของคุณภาพ 60% ของราคา” บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เช่น Lenovo หรือ Huawei ล้วนใช้กลยุทธ์ธุรกิจแบบนี้ทั้งสิ้น คือไม่ได้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม แต่ผลิตสินค้าที่ใช้งานได้อย่างดีสำหรับคนทั่วไป และในราคาถูกกว่ายี่ห้อชั้นนำอื่นๆ

ตราสินค้าของบริษัทชั้นนำของจีน
ตราสินค้าของบริษัทชั้นนำของจีน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทของจีนยังอยู่ห่างไกลจากการจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับโลก ผู้บริหารของ Acer บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ของไต้หวันเคยกล่าวไว้ว่า ในอุตสาหกรรมไฮเทค บริษัทที่ได้กำไรสูงคือบริษัทที่อยู่ปลายสุดด้านข้างหนึ่งของไม้บรรทัด ที่ควบคุมการออกแบบเทคโนโลยีที่เป็นแกนของผลิตภัณฑ์ เช่น Intel และบริษัทที่อยู่ปลายสุดอีกข้างหนึ่งของไม้บรรทัด ที่ควบคุมการออกแบบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น Apple ส่วนบริษัทที่อยู่ตรงกลางไม้บรรทัดคือผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปในปริมาณมากที่จะมีกำไรต่ำ เช่น Acer หรือ Foxconn บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของจีนก็มีแนวโน้มการพัฒนาไปสู่ตรงกลางของไม้บรรทัด

เพราะฉะนั้น ปัญหาสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนในขั้นตอนต่อไปคือคำถามที่ว่า จีนจะสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมาได้หรือไม่ ที่ผ่านมา บริษัทของจีนมีความสามารถในเรื่องการนำนวัตกรรมที่มีอยู่มาปรับใช้ แต่ยังไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิต ที่ประเทศต่างๆ สามารถนำเอาแบบอย่างไปใช้ จีนในปี 2016 จึงต่างจากญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1970 ที่สร้างนวัตกรรม เช่น Total Quality Management (TQM) ที่หลายบริษัทในประเทศต่างๆ นำไปใช้ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น Toyota, Sony, Panasonic หรือ Nikon กลายเป็นผู้กำหนดคุณภาพและเทคโนโลยีระดับโลกของผลิตภัณฑ์หลายอย่าง

China 2030

ในหนังสือที่เป็นผลงานวิจัยของธนาคารโลกชื่อ China 2030: Building a Modern, Harmonious and Creative Society (2013) ได้กล่าวไว้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มี 101 ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วจนยกฐานะขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่เมื่อถึงปี 2008 มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ที่สามารถยกระดับขึ้นเป็นประเทศรายได้สูง ประเทศเหล่านี้ในเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน เป็นต้น แต่ประเทศส่วนใหญ่ติดชะงักอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” เพราะปัจจัยที่เคยสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจอันได้แก่ ค่าแรงถูกและการใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เริ่มสูญหายไป

ประเทศรายได้ต่ำสามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยการผลิตสินค้าต้นทุนต่ำที่ใช้แรงงานมากและอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เมื่อเศรษฐกิจยกฐานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้สินค้าที่ผลิตแข่งขันได้น้อยลง หากประเทศนั้นไม่สามารถอาศัยนวัตกรรมของตัวเองมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประเทศเหล่านั้นก็จะติดอยู่ในกับดักรายได้ ประเทศในลาตินอเมริกาเป็นตัวอย่างชัดเจน ประเทศในภูมิภาคนี้เป็นประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปีทศวรรษ 1960 และ 1970 แต่ก็ยังติดกับดักรายได้ปานกลางมาจนถึงทุกวันนี้

จากตารางของธนาคารโลก-เมื่อถึงปี-2008-มี-13-ประเทศที่ยกระดับจากรายได้ปานกลาง-เป็นรายได้สูง
จากตารางของธนาคารโลก-เมื่อถึงปี-2008-มี-13-ประเทศที่ยกระดับจากรายได้ปานกลาง-เป็นรายได้สูง

เอกสาร China 2030 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยศึกษาร่วมกันระหว่างธนาคารโลกกับ Development Research Center ที่สังกัดสภาแห่งรัฐของจีน กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจะเติบโตลดต่ำลง ในปี 2030 จีนก็จะพัฒนากลายเป็นประเทศรายได้สูง แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อประชากรจะยังไม่สูงเท่ากับประเทศตะวันตก ในปี 2015 รายได้เฉลี่ยประชากรต่อคนของจีนอยู่ที่ 7,925 ดอลลาร์ เท่ากับ 14% ของรายได้เฉลี่ยต่อคนของอเมริกัน แต่เมื่อถึงปี 2030 รายได้ต่อหัวของจีนจะสูงเป็น 16,000 ดอลลาร์ ขนาดเศรษฐกิจจะใหญ่โตเป็น 15 เท่าของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปัจจุบัน

แต่หลังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนจะเผชิญปัญหาใหม่ๆ คล้ายๆ กับปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ กลยุทธ์การพัฒนาแบบเดิมจะไม่สามารถทำให้จีนหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างจีนให้เป็นสังคมที่ทันสมัย มีความกลมกลืนสมานฉันท์ และมีนวัตกรรมการสร้างสรรค์

คำว่า “ทันสมัย” หมายถึงสังคมอุตสาหกรรม คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง และมีคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนคำว่า “กลมกลืนสมานฉันท์” คือสังคมที่คนทุกคนรู้สึกได้ถึงความยุติธรรมและเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และการเมือง เพราะสิ่งกีดขวางทางเศรษฐกิจการเมืองถูกรื้อถอนออกไป และ “สร้างสรรค์” คือสังคมที่เห็นว่า การสร้างความมั่งคั่งในอนาคต จะมาจากนวัตกรรม จากการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่จากปริมาณการผลิต และศักยภาพในทรัพยากรมนุษย์ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

China 2030 เห็นว่า การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จีนจะต้องใช้กลยุทธ์การพัฒนาแบบใหม่ ที่แตกต่างจากกลยุทธ์การพัฒนาในอดีต ที่ผ่านๆ มา ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีการดำเนินการที่เหมือนๆ กันอยู่ 5 ประการ เช่น นโยบายเปิดกว้างด้านการค้าและการลงทุน เพื่อเอาประโยชน์จากเศรษฐกิจโลก การรักษาเศรษฐกิจโดยรวมให้มีเสถียรภาพ ประเทศมีการออมและลงทุนสูง ปล่อยให้กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ และรัฐบาลที่มีนโยบายมุ่งมั่นในการดำเนินการดังกล่าว การพัฒนาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า จีนมีการดำเนินการที่สำคัญใน 5 ประการดังกล่าว

แต่ China 2030 เห็นว่า หลังจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา จีนได้เดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเส้นทางการพัฒนา คือเศรษฐกิจเดินมาถึงจุดที่เป็นข้อจำกัด เรียกว่า “พรมแดนเทคโนโลยี” ปัญหานี้คล้ายๆ กับปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางอื่นๆ กำลังเผชิญอยู่ กลยุทธการพัฒนาโดยเลียนแบบการพัฒนาของประเทศที่ “พัฒนาไปแล้วก่อนหน้านั้น” เมื่อดำเนินไประยะหนึ่ง ก็จะก้าวเดินมาถึงจุดที่เป็นพรมแดนเทคโนโลยีแบบเดียวกัน ถ้าก้าวข้ามไปไม่ได้ ก็จะยังเป็นประเทศ “กำลังพัฒนาที่ขาดเทคโนโลยี”

การจะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าว ต้องอาศัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ต่างจากเทคโนโลยีในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อไล่ตามเศรษฐกิจประเทศที่ก้าวล้ำหน้าไปแล้ว บทบาทของภาคเอกชนมีความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดังกล่าว เพราะนวัตกรรมไม่สามารถจะเกิดขึ้นจากการวางแผนของรัฐ แต่กระบวนการคิดค้นนวัตกรรมเกิดจากการลองผิดลองถูก ยิ่งภาคเอกชนมีส่วนมากเท่าใดในกระบวนการค้นหานวัตกรรม ก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งการแปรเปลี่ยนการค้นพบใหม่ไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางพาณิชย์

เอกสารธนาคารโลก China 2030 สรุปว่า จีนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นแกนสำคัญของกลยุทธ์ใหม่คือการปรับบทบาทของรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจกลไกตลาด และการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน รัฐบาลจำเป็นต้องถอนตัวจากเดิม ที่มีบทบาทโดยตรงด้านการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ แล้วหันมามีบทบาทเป็นผู้วางกฎระเบียบต่างๆ โดยปล่อยให้ภาคเอกชนมีอำนาจการตัดสินใจทางเศรษฐกิจแทน

สำหรับกลยุทธ์ใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาที่ท้าทายจีนมากที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดที่ทันสมัยและระบบการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น จีนต้องเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่ยึดมั่นใน “ระบบและกฎเกณฑ์” ไม่มีใครคาดหมายได้ชัดเจนว่า จีนจะพัฒนากลายเป็นประเทศแบบตะวันตกมากขึ้น หรือจะพัฒนารูปแบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของตัวเองขึ้นมา หากเป็นไปในแบบหลังนี้ จีนก็คงจะเป็นประเทศที่มีระบบการเมืองแบบสิงคโปร์ และมีระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบเยอรมัน