ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” วาระโลก วาระประเทศไทย “ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับ “คำสอนพ่อ” ทุกคนต้องฝึกหัดใจให้สุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบ

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” วาระโลก วาระประเทศไทย “ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับ “คำสอนพ่อ” ทุกคนต้องฝึกหัดใจให้สุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบ

18 ตุลาคม 2016


วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในงาน “The IA Insights: The Professional of Sustainable Development" จัดโดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : บนความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า”
วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในงาน “The IA Insights: The Professional of Sustainable Development” จัดโดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : บนความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า”

วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในงาน “The IA Insights: The Professional of Sustainable Development” จัดโดยสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: บนความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า” ว่า “ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทยมากล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาประจำปีในวันนี้ และเป็นโอกาสดีที่ผมได้ฟื้นประสบการณ์ในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาล อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่พวกเราจะได้ร่วมกันขบคิดว่า มองไปข้างหน้าเราจะขับเคลื่อนธรรมาภิบาลเพื่อสนับสนุนให้ประเทศสามารถพัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ทุกท่านนำไปต่อยอดความคิดต่อไป”

ในยุคแรกของการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในบริษัทจดทะเบียนของไทยหลังจากตลาดทุนไทยเผชิญทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติศรัทธา จนในปี 2541 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเปิดตลาดยุคแรกๆ เกือบยี่สิบปีก่อนหน้า เรียกว่าทุกอย่างแทบจะนับหนึ่งกันใหม่ และเพื่อให้บริษัทเหล่านั้นเข้มแข็งขึ้น ในด้านหนึ่งมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีมาตรฐานรัดกุมมากขึ้น และแน่นอนว่า งานหนักส่วนหนึ่งตกกับกลุ่มผู้ตรวจสอบภายในที่ทำหน้าที่ “ผู้คุมกฎ” ซึ่งทุกท่านก็ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจและทุ่มเททำงานด้วยจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ

จนทุกวันนี้ Asian Corporate Governance Association ประกาศให้ตลาดทุนไทยอยู่อันดับ 3 เมื่อเทียบกับภูมิภาคในเรื่อง “ธรรมาภิบาลที่ดี” เป็นรองเพียงสิงคโปร์และฮ่องกง และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “กลุ่มผู้ตรวจสอบภายใน” คือส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานธรรมาภิบาลที่ดีให้กับบริษัทต่างๆ ในประเทศ

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า ในบริบทของโลกปัจจุบันที่มีลักษณะไร้พรมแดน ซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก ประกอบกับปัญหาเฉพาะของประเทศเราก็มีอยู่ไม่น้อย ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก จึงเป็นที่มาของชื่อปาฐกถาครั้งนี้ โดยผมจะขอแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. ความสำคัญของธรรมาภิบาลกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. เหลียวหลังแลหน้าการพัฒนาธรรมาภิบาลของไทยและ
3. การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลบนความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

ส่วนที่ 1 ความสำคัญของธรรมาภิบาลกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกที่มุ่งสนใจกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมุมหนึ่งทำให้ประชากรส่วนหนึ่งมีความกินดีอยู่ดีขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งช่องว่างด้านรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนกลับกว้างขึ้นอย่างน่าใจหาย และเราต้องเสียสละทรัพยากรจำนวนมากเพื่อแลกมากับ GDP ระดับ X หรือ Y เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ เรายังเชื่อมั่นตามตำราว่า การแข่งขันโดยสมบูรณ์จะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็ถูกในส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ใครจะเอาเปรียบใครก็ได้” หรือ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เพราะไม่มีคำว่า “รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย” อยู่ในกติกา จึงไม่แปลกที่เราจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจจากภายในและต่างประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการขาดธรรมาภิบาลรวมถึงจริยธรรมที่บกพร่องของผู้บริหาร เช่น

วิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มต้นจากปัญหา Subprime ในสหรัฐฯ ก่อนจะมีผลกระทบไปทั่วโลก สาเหตุสำคัญมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายเกินตัว ไม่ว่านักการเมืองใช้จ่ายทั้งที่รัฐบาลไม่ได้มีเงิน ขณะที่คนซื้อบ้านแม้รู้ว่าไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้แต่ก็ยังจะซื้อ เพราะถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

วิกฤติหนี้ยุโรปที่ปัจจุบันยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดก็เริ่มสำแดงอาการเมื่อนักวิเคราะห์เริ่มทราบว่าบริษัทเอกชนรับจ้างรัฐบาลกรีซบิดเบือนข้อมูลหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

วิกฤติศรัทธาบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วงปี 2540 ก็สะท้อนปัญหาธรรมาภิบาลในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหารนำเงินบริษัทไปหาประโยชน์ส่วนตัว หรือตั้งบริษัทส่วนตัวรับช่วงผลประโยชน์สร้างหลักฐานเท็จบันทึกค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง หรือโยกของไม่ดีเข้าบริษัท จนบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทานพิษวิกฤติเศรษฐกิจและหลายบริษัท “ล้มหายตายจาก” หรือ “สิ้นชื่อ” ในที่สุด และพวกเราหลายคนในที่นี้คงจำช่วงเวลาที่เจ็บปวดและคงไม่ลืมว่าเราผ่านวันคืนเช่นนั้นมาด้วยความยากลำบากเช่นไร

หรือล่าสุด การที่พนักงานธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ในสหรัฐฯ เปิดบัญชีลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านบัญชี เพื่อจะเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน จนเป็นข่าวใหญ่ในตลาดการเงิน

บทเรียนจากวิกฤติเหล่านี้ได้ปรับกระบวนทัศน์ของนักพัฒนาและนักวิชาการทั่วโลกให้ตระหนักว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ (17 Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ เช่น การยุติปัญหาความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการศึกษาที่มีคุณภาพ

แม้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะมีหลายด้าน แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่า Good Governance หรือ “ธรรมาภิบาลที่ดี” เป็นปัจจัยที่ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทำไมเป็นเช่นนั้น

นั่นเป็นเพราะ Governance เป็นกรอบที่จะช่วย “ยกระดับจริยธรรม” ของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับและทุกภาคส่วน ผ่านหลักคิดที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้มีส่วนได้เสีย” หรือ Stakeholders ทุกกลุ่มอย่างครบถ้วนรอบคอบก่อนตัดสินใจกระทำการสิ่งใด เช่น ข้าราชการหรือนักการเมืองจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ Stakeholders ซึ่งก็คือประชาชนในประเทศไม่ว่าจะเป็น ชาวนา นักลงทุน ผู้เสียภาษี ซึ่งมีนัยว่า

“เมื่อใดที่ข้าราชการหรือนักการเมืองตัดสินใจบนพื้นฐานความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมและปฏิบัติตามกติกาแห่งรัฐ เมื่อนั้น ประเทศก็จะก้าวหน้าอย่างยั่งยืน”

ถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน ลูกค้า สิ่งแวดล้อม หรือชุมชนที่เราอยู่ด้วย รวมถึงรับผิดชอบจ่ายภาษีให้ถูกต้อง หากทำได้ย่อมทำให้ Stakeholders เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา ซึ่งจะทำให้บริษัทครองใจลูกค้าได้ในระยะยาว และในฐานะพนักงานก็ต้องทำงานโดยให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ เพื่อนร่วมงาน ภาพลักษณ์และสถานะขององค์กร เพื่อให้องค์กรเจริญมั่นคงอย่างที่ทุกคนภาคภูมิใจ

หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ พฤติกรรมและทัศนคติที่ให้เกียรติ ให้ความสำคัญ ระหว่าง Stakeholders ลักษณะนี้จะสร้าง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” หรือ “Trust” ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและ Trust นี้จะช่วยสร้าง “ภูมิต้านแรงเสียดทาน” จากการแข่งขัน และเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ได้

บางท่านอาจจะรู้สึกว่า “Governance” เป็นคำฝรั่งที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้และยากที่จะนำมาประยุกต์ใช้จริง และยิ่งยากขึ้นหากต้องการทำให้เกิด “Good Governance” แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า นัยที่แท้จริงกลับไม่ต่างจากสิ่งที่บรรพบุรุษเราเคยสอนว่า จะทำการสิ่งใด “ขอทำให้ถูกทำนองคลองธรรม” ซึ่งแปลง่ายๆ คือ เมื่อเราพิจารณาหรือทำอะไรด้วย “ความเป็นธรรม” กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างที่สุดแล้ว ความเจริญย่อมเกิดขึ้นกับเราเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Governance จึงเป็นเสมือนกรอบกติกาที่เชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้ประคับประคองและปฏิบัติต่อกันด้วยสายใยแห่งความรับผิดชอบและด้วยความสำคัญเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การขับเคลื่อนให้เกิด Good Governance ในระดับบุคคล องค์กร และประเทศได้กลายเป็น “วาระของโลก” ไปแล้วในวันนี้

ส่วนที่ 2 เหลียวหลังแลหน้า การพัฒนาธรรมาภิบาลของไทย

การพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องขับเคลื่อนธรรมาภิบาลที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐและเอกชน สำหรับประเทศไทย กระบวนการนี้เริ่มต้นอย่างจริงจังมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้วนับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ จึงต้อง “เหลียวหลัง” เพื่อทบทวนบทเรียนการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลที่ผ่านมา

และเมื่อ “แลไปข้างหน้า” ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงประกอบกับบริบทของไทยที่ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง จะเห็นว่าการพัฒนาปรับปรุงธรรมาภิบาลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีความสำคัญมากขึ้นในระยะต่อไป

เหลียวหลัง: ทบทวนบทเรียนการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลที่ผ่านมา

ขอเริ่มจากภาคเอกชน วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ภาคเอกชนเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาธรรมาภิบาล และในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา อาจจะกล่าวได้ว่าธรรมาภิบาลของภาคเอกชนไทยมีการพัฒนายกระดับอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลักดันของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย สถาบันกรรมการบริษัทไทย สมาคมนักลงทุนไทย องค์การต่อต้านคอรัปชัน และที่ขาดไม่ได้ คือ ผู้บริหารของบริษัทเอกชนที่ให้ความสำคัญและปรับปรุงกระบวนการภายในของตนเอง

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ความเพียรพยายามที่ผ่านมาส่งผลช่วยยกระดับธรรมาภิบาลของเอกชนไทยให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แม้ที่ผ่านมาเราได้ทราบข่าวการใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นของผู้บริหารของบางบริษัท แต่ปรากฏการณ์ที่ผู้ถือหุ้นร่วมกันออกเสียงคัดค้านการเสนอแต่งตั้งผู้บริหารดังกล่าวกลับเข้ามาเป็นกรรมการอีกครั้งก็สะท้อนถึงคุณภาพธรรมาภิบาลของภาคเอกชนไทยที่ดีขึ้น

ในขณะที่ภาคเอกชนมีการปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมาภิบาลของภาครัฐในหลายเรื่องกลับอ่อนแอลง ข้อมูล World Economic Forum ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ว่า เครื่องชี้ด้านสถาบันของภาครัฐในหลายด้าน ไม่ว่าจะในด้านความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย ความสิ้นเปลืองในการใช้จ่าย และความไว้เนื้อเชื่อใจที่สาธารณชนมีต่อนักการเมือง มีคะแนนต่ำลง

นอกจากนี้ ผลสำรวจทัศนคติผู้บริหารปีนี้ยังชี้อีกว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ และปัญหาคอร์รัปชัน ล้วนมาจากภาครัฐทั้งสิ้น

กรณีของภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านที่ยังไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี เช่น การทับซ้อนของบทบาทหน้าที่ต่างๆ จนนำมาสู่ปัญหาที่รัฐวิสาหกิจถูกใช้ทำนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ เช่น โครงการรับจำนำข้าว หรือการแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารที่มักถูกแทรกแซง

ท่านเชื่อหรือไม่ครับว่า ในปี 2555 มีรัฐวิสาหกิจกว่า 10 แห่ง ที่คณะกรรมการทั้งคณะถูกเปลี่ยนออกแบบยกชุด และรัฐวิสาหกิจอีกเกือบ 20 แห่ง เจอปัญหาไม่มีผู้บริหารสูงสุดเข้ามาจัดการองค์กร (เรามีรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่ง) ปัญหาเหล่านี้ฉุดรั้งทำให้รัฐวิสาหกิจไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และให้บริการที่ดีมีคุณภาพได้เต็มศักยภาพอย่างที่ประชาชนคาดหวัง

แลไปข้างหน้า: กับความจำเป็นที่ต้องพัฒนาธรรมาภิบาลให้ดีขึ้นต่อเนื่อง

มองไปข้างหน้า ภายใต้บริบทของโลกและบริบทภายในของไทย การพัฒนาธรรมาภิบาลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจะมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้มากขึ้นด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก บริบทของโลกปัจจุบันที่ไร้พรมแดนเชื่อมโยงถึงกัน ทำให้กติกาหลายเรื่องกลายเป็นกติกาสากลของโลก คำเตือนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เกี่ยวกับมาตรฐานการบินของไทย หรือ การที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองเนื่องจากไทยไม่มีการแก้ปัญหาในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมเป็นตัวอย่างที่สะท้อนพลังการกำกับดูแลที่ไร้พรมแดน เราจะยืนความคิดว่าจะทำแบบไทยๆ อยู่แบบไทยๆ โดยไม่พัฒนาอะไรก็คงไม่ได้ เมื่อเราเปิดประเทศเพื่อค้าขายกับผู้อื่นก็ต้องยอมรับกติกาสากลและการตรวจสอบจากทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ประการที่สอง ในภาวะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศประสบปัญหาติดๆ ดับๆ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอและผันผวน จึงมีความจำเป็นที่เราต้องพัฒนาธรรมาภิบาลของภาคส่วนต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของประเทศ

ในส่วนภาคเอกชน แม้ที่ผ่านมาเราเห็นพัฒนาการที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีโจทย์อีกหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้ดีได้ยิ่งขึ้นอีก เช่น การนำหลักธรรมาภิบาลที่ดีไปใช้ให้แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปสู่ธุรกิจ SMEs ในระดับครอบครัว รวมถึงองค์กรต่างๆ ของสังคม

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปรับปรุง คือ ธรรมาภิบาลของภาครัฐ เพราะนอกจากปัญหานี้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและต้นทุนของภาคเอกชนแล้ว ยังบั่นทอนขวัญและกำลังใจของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เคยกล้าหาญ เสียสละ และมุ่งมั่นทำดีให้ประเทศ สุดท้าย ข้าราชการดีๆ อาจต้องหันหลังให้กับระบบ หรือขาดพลังในการทำงาน หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหานี้อาจทำให้เศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าศักยภาพและจะเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่เราจะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง อุปมาคล้ายกับว่าเราอยากจะสร้างคอนโดมิเนียมหรู 100 ชั้น ต่อยอดจากโครงสร้างคอนโดมิเนียมเดิมที่มีอยู่เพียง 10 ชั้น และที่แย่กว่านั้น โครงสร้างเหล็กภายในกลับถูกสนิมกินจนผุกร่อน

ผมคิดว่าเราอาจจะโชคดีอยู่บ้าง ที่รัฐบาลปัจจุบันตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและพยายามผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้นหลายด้าน เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการปฏิรูปกระบวนการปรับปรุงกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี การทำแนวคิดให้เกิดผลจริงยังเป็นความท้าทายที่ต้องเอาใจช่วย

ผมเชื่อว่า ถ้าเราสามารถกอบกู้ธรรมาภิบาลภาครัฐกลับมาได้จะเป็นแรงหนุนให้ธรรมาภิบาลในภาคเอกชนยิ่งดีขึ้น ถึงวันนั้น เราจะสร้างคอนโดมิเนียมสูงกี่ชั้นก็ไม่เป็นปัญหา เพราะรากฐานเราพร้อมแล้ว

ส่วนที่ 3 การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลบนความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

มาถึงส่วนสุดท้ายของปาฐกถา การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลบนความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า งานขับเคลื่อนธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในประเทศเป็นเรื่องใหญ่และมีขอบเขตกว้าง แต่มีความสำคัญยิ่ง

ในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ผมเห็นว่ามีเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอยู่ 3 ด้าน ซึ่งเปรียบเสมือนการวาง 3 เสาหลัก ที่จะค้ำยันธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสังคมไทย กล่าวคือ

เสาแรกคือ การปรับปรุงกรอบกติกาของบ้านเมืองให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งหมายถึงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่กำหนดกติกาของสังคม ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ (Public Interest) โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าในขั้นตอนการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง

เช่น ดอกเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 15 ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกกำหนดมานานหลายสิบปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ชี้ให้เห็นว่ากฎระเบียบหลายเรื่องจำเป็นต้องถูกทบทวนให้สอดคล้องกับกาลสมัย

นอกจากนี้ การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องด้วย ท่านเชื่อหรือไม่ครับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบรวมกันกว่า 1 แสนฉบับ และในการประกอบธุรกิจบางประเภทภาคเอกชนต้องขอใบอนุญาตจากส่วนราชการต่างๆ กว่า 20 ฉบับ ผู้เชี่ยวชาญประเมินในภาพรวมว่ากฎระเบียบที่มากจนเกินความจำเป็นนี้สร้างต้นทุนร้อยละ 10-20 ของ GDP

อีกทั้งปริมาณกฎหมายที่มากมายนี้ มีความสัมพันธ์กับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ลองจินตนาการดูนะครับว่า เราจะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่กว่า 1 แสนฉบับให้ได้ผลจริงได้อย่างไร ท่านผู้มีเกียรติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกิจการภายในคงพอจะเห็นภาพ

ดังนั้น การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง ถ้าจะให้สำเร็จอาจต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการปรับลดจำนวนกฎหมายให้มีจำนวนเหมาะสม

ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์ ปันยารชุน กล่าวไว้อย่างลึกซึ้งว่า

“การปกครองด้วยหลักนิติธรรม หรือ Rule of Law นั้นต่างจากการปกครองด้วยกฎหมาย หรือ Rule by Law เพราะการปกครองด้วยหลักนิติธรรมไม่ได้คำนึงถึงแค่ตัวบท หากแต่คำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตรงนี้คือหัวใจ และเป็นความละเอียดอ่อนที่สำคัญ”

เสาที่ 2 คือ การบริหารจัดการเศรษฐกิจ ด้วยกลไกตลาดที่มีพลวัตและการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ปราศจากการผูกขาด มีการแข่งขันเท่าเทียมไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส รวมทั้งลดปัญหาคอรัปชัน

เป้าหมายของการพัฒนาจะไม่เน้นที่แค่เติบโตมากๆ ในระยะสั้น แต่จะให้ความสำคัญกับความทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นั่นหมายความว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระยะต่อไป

ในบริบทเช่นนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทเพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ประเทศในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยกรอบวัตถุประสงค์ที่ควรให้ความสำคัญและคำนึงถึง คือ (1) ประสิทธิภาพและความยั่งยืน (2) โปร่งใสและตรวจสอบได้ (3) ความทั่วถึงเป็นธรรม และ (4) การประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

เสาที่ 3 การส่งเสริมหลักจริยธรรม และบ่มเพาะความเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ให้มีมากขึ้นในสังคม เป็นแนวทางการขับเคลื่อนที่กลับมาให้ความสำคัญที่ “คน” ซึ่งถือเป็นด่านแรกของการสร้างธรรมาภิบาล ประสบการณ์ขององค์กรหรือประเทศที่มีความก้าวหน้าชี้ให้เห็นว่า จริยธรรมของผู้นำและวัฒนธรรมขององค์กรที่ให้น้ำหนักกับเรื่องความถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งบางท่านก็เรียกสิ่งนี้ว่า “ทุนคุณธรรม”

บทเรียนจากการปฏิรูปประเทศในช่วงที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญของการปฏิรูป คือ การที่ผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถมองข้ามประโยชน์ของตนหรือหน่วยงานของตน จึงไม่เห็นประโยชน์ของการปฏิรูปที่จะมีต่อส่วนรวมในระยะยาว พลังของจิตสาธารณะเป็นสิ่งที่ควรบ่มเพาะให้มีมากขึ้น ถ้าทำสำเร็จจะช่วยให้สังคมก้าวข้ามโจทย์ที่ยากอีกหลายเรื่อง รวมทั้งจะน่าอยู่และมีความผาสุกมากขึ้น

ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงที่ผู้ว่า ดร.วิรไท สันติประภพ เคยพูดไว้ว่า “เศรษฐกิจจิตใจแก้ไขพร้อมกัน”

“ผมขอจบปาฐกถาในวันนี้โดยขอยกข้อเขียนตอนหนึ่งของท่านองคมนตรี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ที่เขียนเกี่ยวกับพระจริยวัตร’พระมหาราชา’ในความประทับใจ’คณะองคมนตรี’ซึ่งตีพิมพ์เช้านี้ในหนังสือพิมพ์มติชน ดังนี้”

“ผมนับเป็นองคมนตรีรุ่นหลังที่ไม่ทันได้ถวายงานพระองค์อย่างใกล้ชิด แต่ผมจะติดตามอ่านพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญไปจัดพิมพ์ในโอกาสต่างๆ และใช้เวลาอ่านอย่างวิเคราะห์ รู้สึกได้ประโยชน์มาก เหมือนพระองค์ทรงสอนลูก

องก์ที่ผมชอบมากและคิดว่าน่าจะเหมาะกับยุคสมัยนี้คือ องก์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ความดี คนดี” ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือ “คำสอนพ่อ” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิพระดาบส ผมขอเชิญบางส่วนมาเป็นตัวอย่างดังนี้

1.เชื้อแห่งความดีในจิตใจของคนไทย “บรรพบุรุษของพวกเรามีเชื้อแห่งความดีในจิตใจ จึงได้สร้างบ้านสร้างเมืองจนมั่งคั่งก้าวหน้ามาถึงรุ่นเรา”

2.ให้ระวังใจของตนให้ดี หากอ่อนแอไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี ก็จะสร้างความเสียหาย ทั้งแก่ตนเองและแก่ส่วนรวม ต้องระวังใจ อย่าให้ความชั่วครอบงำ หากรู้ตัวก็ให้รีบกำจัดเสียทันที

3.การฝึกหัดทางใจ “ทุกคนต้องฝึกหัดใจให้สุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบ”

4. ความเข้มแข็งของคนดี คนดีทำให้เกิดความดีในสังคมและอาจชักนำให้เกิดคนดีเพิ่มขึ้น

5.ต้องตอบแทนคุณทุกฝ่าย คนไทยมีหน้าที่ ทดแทนบุญคุณของทุกฝ่าย การทดแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำได้โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตัว”