ThaiPublica > คนในข่าว > “ศักดิ์ชัย บุญมา” ผอ.กองจัดการกรรมสิทธิ์ กทม. กางทะเบียนราษฎร์จาก 2499 – ปัจจุบัน ใครตัวจริงตัวปลอม “คนป้อมมหากาฬ”(ตอน1)

“ศักดิ์ชัย บุญมา” ผอ.กองจัดการกรรมสิทธิ์ กทม. กางทะเบียนราษฎร์จาก 2499 – ปัจจุบัน ใครตัวจริงตัวปลอม “คนป้อมมหากาฬ”(ตอน1)

4 ตุลาคม 2016


การประท้วงการรื้อถอนบ้านของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณป้อมมหากาฬ ซึ่งขณะนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเพียงผู้อาศัยบนที่ดินของกรุงเทพมหานคร ยังคงดำเนินอยู่เพราะกทม.มีแผนจะรื้อถอนสิ่งปลุกสร้างให้เสร็จภายในปีนี้ แม้ว่าเจ้าของบ้านที่ปลูกบ้านบนที่ดินกทม.ซึ่งรับเงินค่ารื้อถอนและเซ็นยินยอมให้กรุงเทพมหานครเข้ารื้อถอนได้ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่ โดยคนในชุมชนบางส่วนไม่ยอมให้เจ้าของบ้านรื้อถอน เพราะต้องการให้คงสภาพบ้านไว้เพื่อให้ยังดูเป็นชุมชนอยู่

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 กรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้แถลงข่าวแนวทางการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์บริเวณป้อมมหากาฬ โดยระบุว่าขณะนี้มีชาวบ้านที่มีความประสงค์ย้าย เอาทรัพย์สินออกจากพื้นที่แล้วจำนวน 10 ราย (https://thaipublica.org/2016/09/pommahakan-23-9-2559/) แต่ กทม. จะให้ชาวบ้านเป็นผู้รื้อเอง กทม. ทำหน้าที่ช่วยขนย้ายสัมภาระเท่านั้น

ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา กทม. ได้ลงพื้นที่ที่ป้อมมหากาฬอีกครั้ง นำโดย นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และ พล.ต.ต. ภาณุรัตน์ มีเพียร ที่ปรึกษาฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของบ้านเลขที่ 195 คือ นางอำพร สำเภาเงิน ที่แจ้งขอย้ายออกจากชุมชนฯ และต้องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนเอง แต่ทางชุมชนไม่ยอม และได้มีการเจรจาระหว่างชุมชนกับ กทม. ได้ข้อสรุปว่า “หากวันที่ 5 ต.ค. เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ วันที่ 6 ต.ค. ขอให้นางอำพรนำพนักงานเข้ามารื้อย้ายได้เลย” ทั้งนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของ”ที่ดิน” “บ้าน”สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้ง”คน” ที่อาศัยอยู่ที่ป้อมมหากาฬจากปี 2499 จนถึงปัจจุบัน ยังมีผู้สืบทอดที่แท้จริงมากน้อยแค่ไหน สำนักข่าวไทยพับลิก้า สัมภาษณ์นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ และเป็นผู้ทำเรื่องนี้มาเป็นเวลา 20 ปี ได้รวบรวมข้อมูลรายชื่อของบ้านทุกหลังและคลุกคลีจนคุ้นเคยว่าใครคือคนเก่าคนใหม่ หรือใครคือเจ้าของตัวจริงหรือแค่ผู้เช่า หรือผู้บุกรุก รวมทั้งผู้ที่อ้างว่าอยู่มาดั้งเดิม และเมื่อสำรวจทะเบียนราษฎร์แล้ว ต่างมีบ้านเป็นของตัวเองแล้วเกือบทั้งหมดทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.)
นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.)

ไทยพับลิก้า: เล่าที่มาที่ไปของการเวนคืนที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ

เรื่องที่ดิน สืบเนื่องจากปี 2492 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเป็นโบราณสถาน (ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64)

ในสมัยรัชกาลที่5 มีการพระราชทานที่ดินรอบๆกำแพงให้คนอยู่นอกกำแพง ในช่วงนั้นมีการสร้างถนน คนที่ได้รับพระราชทานที่ดินที่อยู่นอกกำแพง แต่ละคนขอพระบรมราชานุญาตว่าขอรื้อกำแพงเพราะบังหน้าบ้าน พระองค์ท่านอนุญาต เพราะเมืองกำลังเจริญ

แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการออกโฉนด พระราชทานที่ดินให้เฉยๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการออกโฉนด ทะยอยออกโฉนดให้ เฉพาะบริเวณป้อม และออกโฉนดทั้งหมดในสมัยรัชกาลที่ 6 จำนวน 21 แปลง ในสมัยนั้นมันมีกระบวนการ เงื่อนไขว่าใครที่จะขอออกโฉนดได้ ต้องมีคุณสมบัติ 1.เป็นข้าราชการที่ทำงาน มีคุณประโยชน์กับประเทศชาติ 2.เป็นราษฎรที่ไม่มีที่ไป การออกโฉนดจะต้องขอพระบรมราชานุญาตในการพระราชทานที่ดิน ก็ต้องมีคณะกรรมการในวังมาตรวจสอบว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เช่น เป็นข้าราชบริพาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชบริพารหัวเมืองที่เข้ามาแล้วไม่มีที่พัก หรือบางคนที่พ่อแม่เคยอยู่ แล้วตัวเองมาอยู่แล้วไม่มีที่ดิน ก็ขอพระราชทานที่ดินตรงนี้ ตอนนั้นออกโฉนด 21 แปลง

ในนี้จะมีคนหลากหลาย อาทิ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ได้มา 1 แปลง นอกนั้นก็มีลูกหลานของข้าราชบริพาร พ่อค้า ผู้พิพากษา เป็นต้น

ไทยพับลิก้า: 21 แปลง คิดเป็นพื้นที่เท่าไร

4 ไร่ 3 งาน 50 กว่าตารางวา รวมแล้วเกือบ 5 ไร่ หลังจากได้รับพระราชทานที่ดินมา คนก็ไปจำนอง จำนำ ขายฝาก เปลี่ยนมือไปเรื่อยตลอด ตั้งแต่ชุดแรก กลายเป็นว่าเจ้าของเดิมที่รับพระราชทานมา ก็มีการโอนกรรมสิทธิ์ไปหลายมือ ยกเว้นที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เลย คือที่ดินของวัดราชนัดดา

ที่ผ่านมาป้อมต่างๆ 14 ป้อมมีการรื้อไป แต่ป้อมมหากาฬตั้งแต่ พ.ศ.2454-2455 จนกระทั่งมาถึงปี 2492 ไม่มีการขอพระราชทานที่จะรื้อกำแพง รื้อป้อม เหมือนป้อมที่อื่นๆที่รื้อ เหลือป้อมพระสุเมรุ และกำแพงเมืองหน้าวัดบวรนิเวศน์

ผมเข้าใจว่า…เหตุที่ไม่มีการขอพระบรมราชานุญาต เพื่อขอรื้อกำแพง เนื่องจากว่าคนที่ได้รับพระราชทานที่ดิน ไม่ได้อยู่ตรงนั้น มีการโอนต่อๆกันมา คนที่ซื้อมาก็ไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ค้าขายที่ต้องใช้หน้าร้าน และไม่ค่อยได้อยู่ จึงโชคดีที่ไม่มีการรื้อกำแพงและป้อม อย่างที่ดินแปลงหนึ่งตกมาเป็นของตระกูลนานา เขาไม่ได้อยู่ในบริเวณป้อมอยู่แล้ว อีกแปลงก็เป็นของวัด ก็ไม่ได้ประกอบธุรกิจ ที่เหลือเป็นแปลงเล็กๆน้อยๆ เป็นที่อยู่อาศัย

ปี 2492 ขึ้นทะเบียนโครงการนี้ พอปี 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศ ทรงทอดพระเนตรเห็นกำแพงเมืองต่างๆ ดูสวยงามเป็นประวัติศาสตร์ จึงทรงมีพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ป้อมและกำแพงพระนครที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ก็เลยเป็นที่มาให้รัฐบาลสมัยนั้น คือจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มอบให้เทศบาลนครกรุงเทพ หรือ กทม. ในปัจจุบัน ให้ดำเนินการปรับปรุงตรงนี้ อนุรักษ์โบราณสถานไว้ กลัวคนจะมารื้อ แล้วทำให้สะอาดเรียบร้อย

เทศบาลนครกรุงเทพ จึงเริ่มทยอยจัดซื้อที่ดิน ตั้งแต่ปี 2503 แต่ยังไม่ได้ออกกฎหมายเวนคืน แต่ซื้อได้ไม่กี่แปลง พร้อมกับสำรวจพบว่าบ้านในนั้นมี 28 หลัง ซึ่งก็สอดคล้องกับจำนวนที่ดิน 21 แปลง บ้าน 28 หลังโดยเฉลี่ยที่ดินแปลงละหลัง ยกเว้นที่วัดเป็นที่ให้เช่า(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

แผนผังที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ

ไทยพับลิก้า: ปี 2513 ได้ที่ดินทั้งหมด 21 แปลง

ตั้งแต่ปี 2503 ได้มา 1 แปลง มาถึงปี 2513 ได้มา 1 แปลง แต่ปี 2513 เกิดไฟไหม้ คนบางส่วนย้ายออก บางคนย้ายเข้า จากนั้นปี 2515 ก็เข้าไปสำรวจใหม่จาก 28 หลัง เพิ่มมาเป็น 44 หลัง ก็เฉลี่ยแปลงละ 2 หลัง และปี 2515 กทม.ตั้งคณะกรรมการเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเรื่อยๆ ได้มาอีก 8 แปลง กลายเป็น 10 แปลง และกระทรวงการคลังยกให้อีก 1 แปลง รวมเป็น 11 แปลง

ไทยพับลิก้า: คนยังอาศัยอยู่ในที่ดินที่กทม.ซื้อหรือออกไปแล้ว

ส่วนหนึ่งออกไป เพราะว่ามีหลักฐาน ปี 2515 ทำสัญญาโดยมีเงื่อนไข คือรื้อบ้าน ก็จ่ายค่าบ้าน ส่วนเรื่องเอกสาร”บ้าน”ไม่ค่อยมีปัญหา สมมติบ้านเลขทื่ 1 ไฟไหม้ เจ้าของไม่ได้มาแจ้งว่าไฟไหม้ หรือแจ้งย้ายทะเบียนบ้าน คือคนย้ายออกไป แต่เลขที่บ้านยังอยู่ คนเข้ามาปลูกใหม่ ก็ใช้เลขที่บ้านเดิม แต่ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั่วคราว เพราะฉะนั้น จำนวนบ้านในช่วงนี้ไม่ชัดเจนผลจากไฟไหม้ บ้านหายไป แล้วมีคนมาปลูกใหม่ ใช้เลขที่บ้านเดิม ก็วนกันอยู่อย่างนี้

ไทยพับลิกา: เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว กทม. เข้าไปทำอะไรไหม

ตอนนั้นยังไม่ทำอะไร เพราะมันได้ที่ไม่ทั้งหมด เลยกลายเป็นว่ามีที่ว่าง ก็มีคนเข้ามาปลูกบ้าน ก็ปลูกมั่วเลยไปหมด ในปี 2525 กทม.มาคุยเพื่อซื้อที่ดินอีก ส่วนใหญ่ที่กทม.ซื้อได้แปลงเล็กแปลงน้อย เพราะแปลงใหญ่ของคนรวย อย่างตระกูลนานา ตระกูลเลขะวณิช ที่ดินของวัดก็เป็นแปลงใหญ่ๆ ก็เจรจามาเรื่อยๆ สุดท้ายไม่ได้ ปี 2535 เลยต้องออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ก็ได้ที่ดินมาทั้งหมด

“ที่ดินแปลงใหญ่ๆตอนนั้นเจรจาซื้อ เขาเสนอมา 16,000 บาท กทม. ให้ 11,000 บาทต่อตารางวาในตอนนั้นปี 2525 เขาก็ไม่ขาย พอเวนคืนก็ได้มาทั้งหมด นี่คือประวัติการซื้อที่ดิน”

ส่วนเรื่อง”คน” ช่วงไฟไหม้ ที่ดินในส่วนไฟไหม้มีคนย้ายเข้าย้ายออกเยอะ รวมทั้งที่ดินวัด ก็จะพันกันอยู่ตรงนี้ เป็นแปลงเล็กๆ และตรงนี้(ที่ดินไฟไหม้และที่ดินวัด)สมัยก่อนที่จะขายให้กทม.เดิมเป็นตลาด ตระกูลเลขะวณิชย์รับโอนมาปั้บก็ทำเป็นตลาด ช่วงนั้นโรงหนังเฉลิมไทยยังอยู่ ตอนนั้นปี 2525 มีตลาดค้านก อู่ซ่อมรถ ตลาดขายพระ และสุดท้ายคนที่อยู่ตรงนี้ เห็นกทม.ซื้อที่ดินโซนนี้ไว้ พอเป็นที่ว่างๆเขาก็มาบุกรุกเข้ามาอยู่

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะกทม. ไม่เข้าไปกั้นอะไรเลย

กทม.ซื้อที่ดินมาแล้วไม่ได้เข้าไปดูแล เป็นที่ว่าง แล้วสภาพพื้นที่มันอยู่หลังกำแพง ใครทำอะไรก็ไม่มีใครรู้ ประกอบกับเป็นตลาด คนเยอะ มีพ่อค้าแม่ค้า พอเห็นเป็นที่ว่าง ก็ไปปลูกบ้าน เลยกลายเป็นว่าหลังจากที่เราได้ที่ดินมาแล้ว คนชุดนี้ก็เลยกลายเป็นผู้มีชื่อขึ้นมาในทะเบียนราษฎร์

ไทยพับลิก้า: ทำไมมีทะเบียนราษฎร์ได้

ทะเบียนราษฎร์เนื่องจากเป็นบ้านชั่วคราว จากเดิมตรงนี้เมื่อเวนคืนเขารื้อบ้านไปแล้ว พอคนเข้ามาปลูกใหม่ก็ใช้เลขที่บ้านเดิม เช่นมาขายกรงนกมาจากภาคใต้ ขายพลุ ดูตามทะเบียนราษฎร์ พวกนี้ย้ายมาอยู่ประมาณปี 2532 ก็เลยกลายเป็นปัญหา ทั้งที่จริงๆ เป็นที่ของ กทม.

ไทยพับลิก้า : สรุปว่ากทม.ได้ที่ดินมาทั้งหมดแล้ว

“ที่ดิน” กทม.ได้มาทั้งหมด ส่วน “บ้าน” ในปี 2535 ในตอนที่เราเวนคืน ที่ผมเล่าว่า ปี 2503 มีบ้าน 28 หลัง ปี 2516 เป็น 44 หลัง พอปี 2535 เป็น 102 หลัง บ้านเพิ่มขึ้นเร็วมาก พอเราเข้ามาดูปั้บ เราก็เจรจากับ 102 หลัง ก็มีการรื้อไปเองบ้าง แต่ทุกคนทำสัญญาหมด

ไทยพับลิก้า : ทำสัญญาอะไร

เป็นสัญญารับเงิน รับเงินไป 75% รื้อเสร็จเมื่อไหร่ก็มารับอีก 25% โดยทุกคนทำสัญญาในปี 2538-2539 หลังจากทำสัญญา 60 วัน ต้องรื้อถอนตามสัญญา แต่ชุมชนที่เหลือได้ทำหนังสือถึงกทม.ขอผ่อนระยะเวลาการรื้อถอนบ้าน บอกว่ายังไม่สะดวก รอเด็กปิดเทอมก่อน ก็ขอผ่อนผันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2538-2542 แต่ในช่วงปี 2538-2542 ยังคุยกันว่า พร้อมจะรื้อ และรอปิดเทอมก่อน จนถึงปี 2543 มันเปลี่ยนไป คือจากที่บอกว่าจะย้ายตอนปิดเทอม มาบอกว่าขออยู่เลย มันเลยกลายเป็นประเด็น กทม. บอกเดิมไม่ได้คุยกันแบบนี้ ทำไมอยู่ๆ มาพลิกเป็นแบบนี้ เราให้โอกาสมาพอสมควร กลายเป็นการให้โอกาสของเราทำให้ชุมชนมาเสนออย่างนี้ ก็มีปัญหาขัดแย้งกันเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : มีเอกสารหลักฐานชัดเจน

ที่พูดมามีหลักฐานทั้งหมด

หลังจากนั้น ปี 2546 กทม. ปิดประกาศ จะเข้ารื้อ ชุมชนก็ไปฟ้องที่ศาลปกครอง บอกไม่ให้รื้อ บอกว่ากทม. ไม่มีอำนาจรื้อ อะไรประมาณนี้

แต่ว่าสุดท้าย ปี 2547 ศาลปกครองสูงสุดก็ตัดสิน โดยศาลแบ่งกลุ่มคนออกมา 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 คือ เจ้าของบ้าน ศาลบอกว่า กลุ่มนี้ทำสัญญาแล้ว รับเงินแล้ว ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือต้องรื้อ
กลุ่มที่ 2 คือผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของ ไม่มีสิทธิ์จะรับเงินตรงนี้ พวกนี้ไม่มีอำนาจฟ้อง
กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้อาศัย กลุ่มนี้ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

ดังนั้น ศาลจึงพิจารณายกฟ้อง นี่ก็เป็นที่มาว่าหลังศาลตัดสิน ทางชุมชนก็ร้องไปหลายที่มาก ร้องไปทุกที่เหมือนตอนนี้ ไม่ว่าเป็นกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ นายกรัฐมนตรี ถวายฎีกา ฯลฯ ร้องไป เราก็ชี้แจงไป

ป้อมมหากาฬ

บ้านในป้อมมหากาฬ

ในสมัยผู้ว่า กทม. “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” เข้ามา ผู้ว่าฯ อภิรักษ์พยายามลดข้อขัดแย้ง โดยหลักการเห็นด้วยที่จะให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่ เลยให้ทางศิลปากรมาศึกษาความเป็นไปได้ แต่ศึกษาในมุมของเขาคือในเชิงผังเมืองโบราณคดี ไม่ได้ศึกษาในเชิงข้อกฎหมายโดยละเอียดชัดเจน เพราะฉะนั้น เขาบอกว่าอยู่ได้ แต่เผอิญว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาของข้อกฎหมาย เพราะที่ดินตรงนี้ไม่ได้เป็นที่สาธารณะทั่วไป คือถ้าเป็นที่สาธารณะโดยสภาพ เช่น บึง ห้วย หนอง ทั้งหลาย การที่จะให้ใครไปอยู่มันง่าย ตามกฎหมายก็คือถอนสภาพจากที่สาธารณะ ประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เปลี่ยนเป็นที่สาธารณะทั่วไป ให้คนเข้าไปอยู่ ทำได้ ซึ่งใช้แก้ปัญหามาหลายจุด เช่น กรณีออกโฉนดชุมชน ก็ทำได้

“แต่ที่ตรงนี้มันได้มาจากการเวนคืน มันมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ คือถ้าหน่วยงานที่เวนคืนมาแล้ว ไม่ทำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เวนคืน ต้องคืนที่ดินให้แก่เจ้าของเดิม หรือทายาท อันนี้คือข้อกฎหมายที่ กทม. ปฏิเสธไม่ได้ สมมติว่า กทม. จะไม่ทำ หรือบอกว่าทำไม่ได้แล้ว แปลว่าชุมชนอยู่ได้หรือเปล่า ก็ยังอยู่ไม่ได้ เพราะกระบวนการ กทม. ก็ต้องคืนที่ดินให้กับเจ้าของเดิม ก็คือตระกูลนานา คืนให้วัด แล้วชุมชนก็ว่ากันไป ซึ่งจะมาบังคับให้ กทม. ให้ชุมชนอยู่ กทม. ก็ทำไม่ได้ เพราะ กทม. ก็จะมีความผิด คือโดยรัฐธรรมนูญ เขาคุ้มครองสิทธิของเจ้าของที่ดิน ถ้าเอามาแล้วไม่ทำประโยชน์ก็ต้องคืนเจ้าของที่ดิน คุณจะไปเปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้คนนั้นคนนี้อยู่ก็ไม่ได้ มันเหมือนไปรอนสิทธิของเจ้าของเดิม ตรงนี้เราก็คุยกับชาวบ้านนะ ว่ากระบวนการอย่างนี้มันไปไม่ได้ คุณต้องไปเปลี่ยนกระบวนการ หรือแม้กระทั่งกรรมการสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เราพยายามชี้แจง เขาก็จะบังคับให้ กทม. ไปออกกฎหมาย ผมก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ คือกฎหมายรัฐธรรมนูญมันใหญ่สุดแล้ว อยู่ๆ จะไปออกกฎหมายเอง ไปออกกฎกระทรวง เป็นไปไม่ได้หรอก คือเรื่องนี้คุณต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ”

กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนว่า ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ทำ ต้องคืนให้เจ้าของเดิม คุณจะไปแก้กฤษฎีกา มันคนละประเด็น ผมก็ชี้แจงไป อยู่ๆ มาบีบให้ กทม. ต้องทำอย่างนั้น มันไม่ใช่ ถ้าจะเดิน ต้องเดินให้ถูก ไม่ใช่เดินแบบนี้ เดินแบบที่ให้ กทม. เป็นจำเลยตลอดเวลา มันไม่ถูก นักกฎหมายก็มี ลองไปศึกษาดู ถามว่ามันได้หรือเปล่า ถ้าจะแก้ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย มันต้องถึงขนาดนั้น มันไม่ได้คุยกันง่ายขนาดนี้ ตอนนี้ไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรเลย ผมบอกให้แก้อย่างเดียว คือให้สั่งมาว่า เลิกโครงการนี้เสีย

ไทยพับลิก้า : ถ้ามีคำสั่งให้เลิกโครงการก็จบใช่ไหม

หากมีคำสั่งเลิกโครงการก็จบ กทม. ก็มีหน้าที่ไปคืนที่ดินแก่เจ้าของเดิม ส่วนชุมชนที่อยู่ตอนนี้ก็ไปเช่า หรือจะรวมเงินกันไปซื้อยังได้เลย คือปัญหามันแก้ง่าย แต่เขาไม่ได้มองในมุมนี้ไง เขาจะมองว่า ทำไม กทม. ไม่ให้อยู่ มันคนละเรื่อง

ไทยพับลิก้า : แค่ว่ามีมติคณะรัฐมนตรีใหม่ ใช่ไหม

ทำอะไรก็ได้ ก็คือยกเลิกโครงการ ก็จบ ไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรให้ยุ่ง เป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่เรื่องนี้มันอยู่ที่นโยบาย

ไทยพับลิก้า : กทม. มีรายชื่อที่จะคืนที่ดินแก่เจ้าของเดิมให้ใช่ไหม

มีรายชื่ออยู่แล้ว 21 แปลง เขาก็คืนเงินที่รับไป แค่นี้ แก้ปัญหาก็แก้ง่าย แต่เรื่องนี้ ผมถึงบอกว่ามันไม่ใช่ในระดับ กทม. ที่จะมาคุย เพราะ กทม. เป็นแค่ผู้รับมอบงานให้มาดำเนินการ เรื่องนี้มันมีที่มาจากรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องไปดูมติครม. แล้วไปแก้ มติ ครม. แค่ยกเลิกโครงการก็จบ แต่ถามว่ารัฐบาลจะกล้าทำขนาดนั้นไหม เพราะว่าเรื่องนี้ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพล สฤษดิ์ ไม่ใช่รัฐบาลนี้คิดเอง แล้วมาแก้เอง โครงการนี้ทำมาตั้งเยอะแล้วและเป็นพระราชดำริด้วย

กำแพงป้อมมหากาฬ

ไทยพับลิก้า : เป็นพระราชดำริ เพื่อการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์

ใช่ เพื่อทำให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานเรื่องป้อมและกำแพงเมือง ส่วนวิธีการอนุรักษ์เดิมเขาบอกว่า “อนุรักษ์โบราณสถาน” แล้ว “อนุรักษ์คน”ด้วยไหม ซึ่งเราก็พยายามจะบอกว่าถ้าคนเป็นเจ้าของที่ ที่อยู่ในเขตโบราณสถานมันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ตัวเอง(ประชาชน)ต้องเป็นเจ้าของก่อน แล้วตัวเองก็อยู่ เขาก็อาจจะให้อยู่ได้ อย่างเช่นที่อยุธยาก็เหมือนกัน คนที่อยู่เขาเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เขาไม่ได้อยู่ติดกับกำแพงอย่างนี้ คืออยุธยาเขาประกาศเขตกว้างๆ แล้วเขาก็ให้อยู่ในบริเวณ แต่ว่าที่นี่อยู่ติดกำแพง คือบริบทของพื้นที่มันไม่เหมือนกัน

การอนุรักษ์ ถามว่าแค่เราจะไปขุดกำแพง ขุดรากกำแพงดู เพื่อดูประวัติศาสตร์การก่อสร้าง ยังทำไม่ได้เลย เพราะว่าต้องขออนุญาตกรมศิลปากร ยากมาก แล้วเรื่องนี้ถามว่ากรมศิลปากรมีข้อมูลชัดเจนไหมตอนขึ้นทะเบียนป้อมและกำแพงเมืองเป็นโบราณสถาน ถามว่าขึ้นขนาดไหน(พื้นที่) ขึ้นเฉพาะตัวป้อมกับกำแพง หรือขึ้นทะเบียนโดยมีรัศมีของป้อมและกำแพง กรมศิลปากรก็ไม่ชัดเจน

ไทยพับลิก้า : ถามกรมศิลปากรไปหรือยัง

วันนั้นรองอธิบดีกรมศิลปากรมาชี้แจงที่กรรมการสิทธิมนุษยชน เขาก็ไม่ชัดเจน เขาก็พูดอยู่อย่างนี้ว่า “ป้อมกับกำแพงเมือง” ซึ่งป้อมต้องมีรัศมีของป้อม ถ้าพูดว่าขึ้นทะเบียนป้อม ผมก็ไปขุดข้างป้อมได้สิ ซึ่งกรมศิลปากรเองก็ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ว่าก่อนหน้านี้ ที่เป็นศิลปากรเก่า บอกว่าเวลาขึ้นทะเบียนมันต้องมีรัศมี แต่บังเอิญตรงนี้ไม่มีรัศมี

ไทยพับลิก้า: ที่นี่เป็นกรณีพิเศษ

ไม่มีรัศมี อาจจะตอนขึ้นทะเบียนมีการคลาดเคลื่อน คือกำแพงเมืองมีอยู่แถบเดียวจะขึ้นอย่างไร รัศมีมันไม่ได้ ก็อาจจะไม่เขียน เลยกลายเป็นปัญหาว่า “โบราณสถาน” นั้นพื้นที่แค่ไหน ที่ชุมชนพยายามจะบอกว่าที่ขึ้นทะเบียนเฉพาะตรงนี้ เขาอยู่ได้ ไม่เกี่ยวกับโบราณสถาน แต่พูดในอีกมุมหนึ่งของการพัฒนา การซ่อมแซม การบำรุงรักษา มันทำไม่ได้หรอก บ้านอยู่ติดกำแพงขนาดนั้น จะเอาอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรเข้าไปยังไม่ได้เลย

“ถึงได้บอกว่า จริงๆ ชุมชนไม่ได้ดื้อหรอก เดิมก่อนหน้านี้ก็คุยกันมาตลอด แต่เหตุผลว่าทำไมเขาถึงมาเปลี่ยนแผน ก็คือคนพูดกันเยอะ นักวิชาการทั้งหลายไปพูด ไปเอาความเป็นโบราณของชุมชนมาคุยกัน ว่าเป็นชุมชนโบราณ ถึงได้บอกว่า ประวัติศาสตร์ของ กทม. ที่ กทม. เข้าไปสำรวจ มันมีบ้านอยู่ 20 กว่าหลังในปี 2503 บอกว่าเป็นชุมชน มันก็ถือว่าเป็นได้ว่าเป็นชุมชน แต่มันแค่ 28 หลังไง ต่อมามีบ้าน 102 หลัง ทำสัญญา รับเงิน และรื้อไป เหลือประมาณ 56 หลัง

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมบอกในปี 2547 ที่ศาลปกครองตัดสิน และสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ถ้าจำไม่ผิด หมอเพ็ญศรี พิชัยสนิธ รองผู้ว่าฯ เห็นว่าเดิมคนเช่าไม่มีสิทธิรับเงิน ท่านเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด กำหนดเป็น“ค่าสิทธิการเช่า” หมายถึงว่า เดิมเจ้าของบ้านอาจจะอยู่ข้างนอก ได้รับเงินค่าบ้านจากการลงทุนสร้างบ้าน แต่คนที่อยู่ ควรจะได้รับเงินอะไรบ้าง ก็เลยกำหนดเป็นค่าสิทธิการเช่า แปลว่าใครที่อยู่ในบ้าน ถ้าจะย้ายออก ก็จะได้เงินอีกก้อนหนึ่ง ก็กำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือขึ้นมา”

หลังจากกำหนดตัวนี้ขึ้นมา ก็เรียกบ้าน 56 หลังนี้มาคุย ทั้งเจ้าของและผู้เช่าก็มาทำความตกลง เจ้าของบ้าน เดิมเงื่อนไขคือต้องรื้อ ตอนนี้บอกว่าไม่ต้องรื้อแล้ว ให้โอนบ้านให้ กทม. เลย เดี๋ยว กทม. เข้าไปรื้อเอง และใครที่อยู่ในบ้าน มารับเงินค่าสิทธิการเช่า แล้วออกไป ทำข้อตกลงในลักษณะนี้ เจ้าของก็มาโอนบ้านให้ กทม. จาก 56 หลัง โอนให้ กทม. ประมาณ 40 กว่าหลัง

นายศักดิ์ชัย บุญมา
นายศักดิ์ชัย บุญมา

ไทยพับลิก้า : เกือบหมดเลย

เกือบหมด เรามีเอกสารการโอนทั้งหมดว่ามีบ้านหลังไหนโอนบ้าง กลายเป็นว่าจริงๆ แล้วคือ ชุมชนอาจจะไม่สื่อกัน อาจไม่ได้รู้กันเอง ว่าตกลงใครโอน ใครทำอะไร เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ว่าทุกคนพร้อมจะอยู่ คนที่อยู่ปัจจุบันนั้นไม่ใช่เจ้าของ เราก็พยายามจะอธิบายกับสังคมว่า คนที่อยู่ปัจจุบันไม่ใช่เจ้าของ ฉะนั้นสิทธิต่างๆ ที่จะขออยู่ในพื้นที่ มันไม่ใช่ แล้วคุณมาจากไหนก็ไม่รู้ บางคนมาจากต่างจังหวัด บางคนก็อยู่ในพื้นที่อื่นของกรุงเทพ อยู่ๆ จะมาอยู่ฟรี แถมได้สิทธิในการอยู่ในพื้นที่ตลอดไป มันไม่ใช่ เราก็พยายามอธิบาย แต่นักวิชาการก็จะบอกว่าชุมชนนี้มีพลวัต หมายถึงมีวิวัฒนาการจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้แต่ละรุ่นจะไม่เกี่ยวกันก็ตาม ชุมชนที่ดินมันอยู่ตรงนี้ โบราณ คนเข้าคนออก เขาเรียกว่าเป็นชุมชนอยู่ ซึ่งชุมชนที่มาใหม่ก็รับวัฒนธรรมของชุมชนเดิม ก็กลายเป็นชุมชนใหม่ เป็นคนใหม่ แต่วัฒนธรรมชุมชนเดิมก็ถือว่าเป็นชุมชนเดิม ก็อธิบายกันอย่างนี้ เลยตั้งประเด็น ถ้าในนี้มีเขมร พม่า เข้ามา แล้วรับวัฒนธรรมตามเงื่อนไขตรงนี้ เราจะยอมรับไหมว่าเป็นชุมชนที่มีพลวัต ยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่จะอนุรักษ์ไว้ให้อยู่แทนมั้ย คือถ้าอธิบายอย่างนี้ต้องอธิบายที่ผมว่าให้ได้ก่อน

“ถ้าจะไม่เลือกคนเลย คนไม่เกี่ยวข้องก็ได้ แปลว่าเขมร ลาว มาก็ได้หมด ตามที่เขา(นักวิชาการ)อธิบายกัน ผมว่ามันไม่ถูก สุดท้าย ก็บอกว่า ณ วันนี้ หลังจากที่เราเข้าไป เรามีข้อมูล 56 หลัง อย่างวันที่ 3-4 ก.ย. 2559 ที่กทม.เข้าไป ตั้งเป้ารื้อถอนบ้าน 12 หลังที่พร้อมจะไป จากข้อเท็จจริงที่เขามาโอนให้รื้อถอน และที่เซ็นเอกสารให้หมดแล้ว 40 กว่าหลังด้วยซ้ำ 12 หลังที่พร้อมจะไปก่อน มีป้าคนหนึ่งอยู่ที่ตรัง บ้างก็อยู่โคราช ชลบุรี ชะอำ ก็มี หากดูทะเบียนราษฎร์จะรู้ว่าแต่ละคนที่เข้ามาอยู่มาจากที่ไหนกันบ้าง เขาบอกจะไป ก็นัดกันจะเข้ารื้อวันที่ 3 ก.ย. 12 หลัง”

ในขณะที่เข้ารื้อ ก็มีบ้านอีกหลายหลังที่เจ้าของรู้ข่าว เขาก็บอกให้กทม.ช่วยรื้อบ้านเขาด้วย มันเลยทำให้ดูว่ากทม.มั่ว ชุมชนบอกว่า 12 หลังก็แค่ 12 หลังสิ หลังอื่นไม่ให้ มันเลยกลายเป็นประเด็นว่า กทม. มั่วรื้อเกิน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ คือเจ้าของเขาอยู่ในพื้นที่ตอนที่รื้อ แล้วบอกว่าช่วยรื้อหน่อย นั่นคือข้อเท็จจริง

“เหตุที่เขาไม่รื้อเพราะว่า ก่อนหน้านี้มีบางรายที่อยากรื้อแต่ชุมชนไม่ยอมให้รื้อ ชุมชนบอกให้ไปแต่ตัว บ้านเอาไว้ ก็ทำให้เขารื้อไม่ได้ เวลาเราบอกจะรื้อ เขาเลยให้เราช่วยรื้อ แล้วไปดูจริงๆ มีบ้านบางหลังที่พังไปตามกาลเวลา เหมือนเจ้าของไม่อยู่แล้ว แต่เลขบ้านยังอยู่ บางหลังเจ้าของก็แอบรื้อไปเอง กลายเป็นว่าเรารื้อ 12 หลัง แต่เวลาไปเช็กจำนวนแล้ว จาก 12 หลัง กลายเป็น 18 หลัง ที่รวมกับที่เขารื้อไปเองด้วย เพราะฉะนั้น บ้านจาก 56 หลัง ณ วันนี้เหลือแค่ 38 หลัง เพราะหายไป 18 หลัง แล้วใน 38 หลัง เราไปเช็กจากเอกสาร มีบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ให้ กทม. เข้ารื้อ 31 หลัง มันเหลือจริงๆ แค่ 7 หลัง ซึ่ง 7 หลังนี้ ไปดูจริงๆ เจ้าของบ้านก็ไม่อยู่แล้ว แต่เป็นใครไม่รู้ที่อยู่ในพื้นที่ บอกไม่ให้รื้อ อันนื้คือข้อเท็จจริงในพื้นที่จริงๆ เลย”

ไทยพับลิก้า : เขาจ่ายค่าเช่าให้ใคร

จ่ายค่าเช่าใคร ไม่รู้

ไทยพับลิก้า : จริงๆ ต้องจ่ายที่ กทม. ใช่ไหม

กทม. ให้เช่าไม่ได้ มันผิดกฎหมาย พื้นที่สาธารณะ ไม่ให้เช่า คือ มันก็มีคนเก็บเงินแหละ ดูตอนฟ้องคดี ศาลถามว่าคุณเช่าจากใคร คนเช่าก็บอกไม่รู้ เช่าจากใครยังไม่รู้เลย… ศาลถามว่าจ่ายค่าเช่าทุกเดือน จ่ายที่ใคร เช่าจากใคร จากใครไม่รู้ แต่จ่ายค่าเช่าทุกเดือน จ่ายให้กับใครไม่รู้

ไทยพับลิก้า : คนรับค่าเช่ามีตัวตนใช่ไหม

ก็มี แต่เขาไม่บอก คือคนไม่รู้ก็มองว่า กทม. โหดร้ายมากเลย แต่ดูข้อเท็จจริงสิ มันไม่ใช่ มันมีบ้านที่ตรวจสอบมาแล้ว และอยู่ก่อนปี 2499 ตอนนี้เหลือไม่เกิน 5-6 หลัง ที่สืบทอดต่อกันมา และใน 5-6 หลังนี้ก็พร้อมจะไป 3-4 หลังแล้ว คือเขารู้ว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเขา คนที่อยากจะมีอะไรเป็นของตัวเอง เขาก็ไปซื้อบ้านอยู่ข้างนอก แต่เขายังอยู่ตรงนี้นะ ถึงเวลาเขาก็ไป แต่บางคนอยู่จนคิดว่าเป็นของตัวเอง ก็ไม่มีความคิดจะไปซื้อเป็นของตัวเอง ไม่คิดว่าลูกหลานของตัวเองจะอยู่อย่างไร อนาคตลูกหลานจะมีทรัพย์สินไหม ก็ไม่คิด แล้วจะอยู่ตรงนี้ พวกนี้ดื้อ พูดยาก คนกลุ่มนี้ที่มีปัญหา

ไทยพับลิก้า : สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทุกอย่างแล้ว กทม. จ่ายไปเท่าไร

จำตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้หรอก เพราะทยอยจ่ายกันมาเรื่อยๆ ค่าที่ดิน 200 กว่าล้านบาท ค่าบ้านอีกราว 20 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จประมาณเกือบ 300 ล้านบาท เพราะว่าบ้านที่ไม่พอใจ ฟ้องคดี ศาลให้กทม.จ่ายเพิ่ม

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้ว 21 แปลง ค่าใช้จ่ายทุกอย่างประมาณ 300 ล้าน

ประมาณนั้น

บ้านในป้อมมหหากาฬ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้เหลือจ่ายค่ารื้อถอนบางส่วน

เหลือค่ารื้อถอน ค่าสิทธิการเช่าบางส่วน รายหนึ่งประมาณ 50,000-60,000 บาท สำหรับบ้านประมาณ 30 หลัง เพราะบางรายก็รับเงินไปแล้ว ยังไม่ออกเพราะบ้านยังรื้อไม่ได้

“วันก่อนมีมาติดต่อ จะรื้ออีก 4 หลัง เขามาเอง เข้าไปพบ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ด้วยซ้ำ ประเด็นคือเขาอยากรื้อ แต่ชุมชนไม่ให้รื้อ ชุมชนบอกให้ออกไปแต่ตัว เจตนาจะเอาบ้านไว้ให้เยอะ เพราะว่ามันจะได้ดูเป็นชุมชน”

ไทยพับลิก้า : คนนอกที่เข้าไปในป้อมมหากาฬ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบ้านร้าง

ก็เอาบ้านไว้ แล้วคนออกไป ทีนี้เขาก็บอกว่าเขาจะรื้อ บางคนก็อยากขายบ้าน เขาก็อยากจะรื้อ แต่รื้อไม่ได้ ก็เลยบอกเขาว่า เดี๋ยว กทม. เข้าไปช่วยขนแล้วกัน แล้วคุณก็ไปจ้างคนรื้อ ถ้ารื้อไม่ได้ก็แจ้งตำรวจ ถ้าเขาไม่ให้รื้อก็ต้องทำอย่างนั้น คือตอนนี้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างชาวบ้านที่จะไปกับชาวบ้านในชุมชนแล้วกัน เราแค่ช่วยขนของ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้กังวลอะไรไหม

ถ้าเข้าไปจะรื้อ จะทะเลาะกัน ตอนนี้นโยบายของ กทม. คือ ใครพร้อม ก็ให้มาแจ้งความประสงค์ ไม่ได้ผิดข้อตกลงนะ แต่ชุมชนแปลหลักการผิด พล.ต.อ. อัศวิน บอกชัดเจนว่า ต่อไปนี้ถ้าใครจะรื้อให้มาแจ้ง แต่ กทม. จะไม่เข้าไปรื้อ ไม่ใช้กำลังเข้าไปรื้อโดยพลการ บ้านหลังไหนพร้อมถึงจะรื้อ ตอนนี้มี 31 หลังที่พร้อมให้เข้าไปรื้อ แต่คนที่อยู่ คนที่เช่าไม่ยอมให้รื้อ เพราะคนที่อยู่กับเจ้าของบ้านคนละคน

ทางกทม.มีแผนชัดเจนอยู่แล้ว ว่าเดือนละประมาณ 10 หลัง ถ้าไม่ได้ก็ทยอยไป แต่เป้าหมายรื้อหมดในธันวาคม 2559

ไทยพับลิก้า : คุยกับเจ้าของบ้านแล้ว แล้วเจ้าของบ้านไปคุยกับผู้เช่าหรือไม่

เขาคุย แต่ประเด็นคือคนเช่า เขาคุยกับทางกลุ่มที่ไม่ยอมออกไป ทางกลุ่มนี้ บอกว่าอยู่นี่แหละ จะได้อยู่ฟรี อยู่ไปด้วยกัน เขาก็เอาสิ อยู่ๆได้อยู่ฟรี ได้ที่ดินอีก เขาก็ไม่ไป คือมีวิธีดึงคนไว้ ตอนนี้ถึงบอกว่าให้ตำรวจเข้าไปดู เพราะการเช่าจริงๆ ไม่ได้มีหลักฐาน เช่ากับใครก็ไม่รู้ พูดง่ายๆอยู่ฟรีมา 20 กว่าปี แม้แต่บ้านคุณธวัชชัย (ประธาน)ก็ไม่ต้องเสียค่าเช่า เพราะวัดโอนที่ดินให้กทม.นานแล้ว

ตอนนี้เหลือ 7 หลังและมีบุกรุกต่อเติมใหม่มาอีก 5 หลัง คือบ้านประธานชุมชนเองก็ต่อเติม บ้านรองประธานก็ไปยุบรวมบ้านเลขที่ 107/4-5 รวมกันหลังเดียวเป็นบ้านหลังใหญ่ ส่วนรองประธานอีกคนก็ปลูกบ้านหลังใหม่ตรงที่ดินที่เขารื้อไปแล้ว รองประธานอีกคนก็ไปปลูกตรงริมชายคลอง สภาพบ้านของคนที่อยู่ที่นี่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องฐานะความเป็นอยู่

นอกจานี้ยังมีบ้านเลขที่ 113 อยู่หลังบ้านประธานชุมชน เข้ามาปลูกใหม่ใหญ่โตแทนบ้านหลังเดิมเขาย้ายออกไป แล้วยังไง…เรื่องนี้ผมเคยบอกประธานชุมชนเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา คุณทำอะไรในที่ของคุณให้ดี แต่อย่าไปต่อเติม ก็รับปาก แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ปลูกบ้านใหม่ ต่อเติมใหม่ นี่คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่…ที่ดินก็ไม่ใช่ของตัวเอง ปลูกบ้านก็ไม่ขออนุญาต ทุกอย่างผิดหมด จากผิดน้อยก็สะสมความผิดไปเรื่อยๆ จากที่ๆอยู่ก็ไม่ถูกแล้ว ต่อเติมบ้านก็ไม่ถูก แต่สังคมไม่เข้าใจ ก็บอกว่าเนี่ย..บ้านโบราณ ชุมชนโบราณ ไม่ได้ดูแต่ละคนเลยว่าโบราณจริงหรือเปล่า(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายชื่อบ้านเลขที่ 155
รายชื่อบ้านเลขที่ 155

155-1

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าจะทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต คนที่อยู่จะเล่าเรื่องราวได้ถูกไหม

ผมจะยกตัวอย่างให้ดู อย่างบ้านเลขที่ 155 สมัยก่อนปี 2499 หากดูรายชื่อตามทะเบียนบ้าน(กางรายชื่อให้ดู)เป็นคนไทย ปี 2513 ตอนไฟไหม้ก็เปลี่ยนคนอื่นมาอยู่ เป็นบ้านชั่วคราว ออกเลขบ้านใหม่ทับเลขบ้านเดิม ชุดที่เข้ามาอยู่ใหม่คนละสกุลเลย สุดท้ายเป็นบ้านว่าง ไม่มีคนอยู่ นี่เป็นตัวอย่าง

อย่างบ้านเลขที่ 191 เป็นพื้นที่วัดให้เช่า ปี 2499 มีรายชื่อในทะเบียน 22 คน ปี 2526 เหลือ 10 คน ตระกูล”อาปะนนท์” ล่าสุดตอนนี้เป็น อภิวัฒน์ ทองนาก ย้ายมาจากบ้านเลขที่ 193 จากในป้อมฯเข้ามาปี 2532

บ้านเลขที่ 203 ตระกูลปาละวัฒน์ ไล่มาเรื่อยๆจนปี 2526เป็น”เฉลิมขวัญ ภักดีผล” มาจากบ้านเลขที่ 253 ถนนมหาชัย ตอนนี้กลายมาเป็นตระกูลภักดีผล และตระกูล “รามโกมุท”

บ้านเลขที่75 ตระกูลทับเมฆา ตอนนี้ตระกูลนี้ไปซื้อบ้านและย้ายทะเบียราษฎร์ไปอยู่บางบัวทองหมดแล้ว แต่ตัวไม่ออกทั้งที่บ้านก็ไม่ใช่ของตัวเอง เช่าเขาอยู่ บ้านหลังนี้มรดกตกทอดเป็นของอดีตผู้ว่าราชการเชียงราย

บ้านเลขที่ 121 บ้านรองประธาน อยู่ในที่วัด ไม่ได้เช่า ปี 2499 รายชื่อทะเบียนบ้านเป็นคนจีนล้วนๆ แซ่หลู่ มาจากถนนนครไชยศรี พอมาปี 2515 ยังเป็นแซ่ลู่ จากนั้นชุดนี้ย้ายออกไปบางกอกน้อย ชุดต่อมาเป็น “พยอม บุญมี และนายอ๋า แซ่จิว” ซึ่งเป็นพ่อแม่ รองประธานเดิมสกุลแซ่จิว ย้ายมาจากเสาชิงช้าในปี 2516 ปัจจุบันแม้จะมีอยู่ที่ 121 ไปปลูกใหม่ในบริเวณใกล้กันๆ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายชื่อผู้ที่เคยอยู่บ้านเลขที่ 121
รายชื่อผู้ที่เคยอยู่บ้านเลขที่ 121
รายชื่อบ้านเลขที่121
รายชื่อบ้านเลขที่121
รายชื่อบ้านเลขที่121
รายชื่อบ้านเลขที่121

บ้านเลขที่ 129 บ้านประธานชุมชน ต่อเติมเป็นหลังใหญ่ ปัจจุบันประธานชุมชนมีทะเบียนบ้านอยู่ที่ทวีวัฒนา พุทธมณฑลสาย2 ตั้งแต่ในปี 2531 สำหรับบ้านหลังนี้ที่ผ่านมามีลายเซ็นต์ของนางนงลักษณ์ แม่ของประธานชุมชนที่ขอผ่อนผันว่ายังไม่รื้อ เพราะบ้านที่ซื้อยังไม่เสร็จ โดยในปี 2538 กทม.จ่ายเงินงวดแรก(75%)ไปแล้ว 180,000 บาท ต่อมานางนงลักษณ์ไม่สบายประมาณปี 2549 ให้ลูกสาวซึ่งรับมอบอำนาจจากแม่มาติดต่อกทม.เพื่อขอเงินส่วนที่เหลือ 25% และโอนบ้านให้กทม.แต่ยังไม่ทันมารับก็เสียชีวิตก่อน นี่คือเรื่องราวของบ้านเลขที่ 129

129%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99

“เราสำรวจทะเบียนบ้าน เพื่อต้องการคำตอบว่าบ้านแต่ละหลังเขาสืบต่อกันมาอย่างไร แต่ละคนแจ้งย้ายเข้าย้ายออก ชุมชนเขาบอกว่าทะเบียนราษฎร์ไม่ใช่เอกสารหลักฐานแสดงถึงถิ่นที่อยู่ของคน ต้องดูตามข้อเท็จจริง ผมว่าหากคุยกันแบบนี้ ก็คุยกันยาก เพราะเวลาเอาหลักฐานอะไรมาแสดง ก็ไม่ฟังกัน”

นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษา อย่างคุณพรเทพ บุรณบุรีเดช รองประธานชุมชน บ้านเลขที่ 121(เช่าที่วัด) ไปขึ้นศาลแล้วบอกว่าแม่ซื้อมา ซื้อบ้านมาจากนางอะไรสักอย่าง ศาลก็ถามว่าหลักฐานการซื้อมีไหม บอกว่าไม่มี ศาลเลยไม่เชื่อ ศาลบอกว่าไม่ใช่ เป็นคนเช่า เพราะว่าที่วัด จะมีข้อมูลบอกว่าใครเป็นคนเช่าอยู่ในทะเบียนของวัดบ้าง ตอนที่ผมไปยื่นศาลแล้วไม่ได้เอากลับมา คือบ้านแต่ละหลังที่เป็นของวัด วัดจะบอกเลยว่าคนไหนเช่า และตอนที่เราจะจ่ายเงิน คุณพรเทพบอกว่า กทม. จ่ายเงินผิด ไม่เคยไปคุยกับเขาเลย เพราะไม่ใช่เขาเจ้าของบ้าน ทำไมต้องไปคุย เราคุยกับวัด เพราะบ้านหลังนี้เป็นของวัด เช่าบ้านวัดอยู่ เราก็จ่ายให้วัด เลยงงว่าจะไปซื้อได้ไง จะไปซื้อจากใครยังไง ศาลถึงไม่เชื่อ มีประเด็นพวกนี้เยอะ”
(อ่านต่อตอนที่2)