ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช แจงการร้องขอเงินคืนย้อนหลังจาก “ภักดี โพธิศิริ” กรณีขาดคุณสมบัติกรรมการ ป.ป.ช.

ป.ป.ช แจงการร้องขอเงินคืนย้อนหลังจาก “ภักดี โพธิศิริ” กรณีขาดคุณสมบัติกรรมการ ป.ป.ช.

11 ตุลาคม 2016


นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.
นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ชี้แจงกรณีปรากฏข่าวว่ามีการร้องขอให้เรียกเงินคืนจากนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะในทำนองว่ามีการยื่นคำร้องและติดตามผลไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ดำเนินการเรียกคืนเงิน, เงินเดือน และผลตอบแทน จากนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อันเนื่องจากขณะรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด ภายในกำหนด 15 วัน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 ข้อ 5 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 11 วรรคสอง จึงไม่มีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ต้นนั้น

สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนั้น ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยทั้งทางวุฒิสภาและทางศาลยุติธรรม ดังนี้

1. ด้านวุฒิสภา การกล่าวอ้างที่ปรากฏขึ้นมานี้ เป็นเอกสารเรื่องเดียวกับที่นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ใช้แถลงต่อวุฒิสภาว่า นายภักดี โพธิศิริ ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด เกินกว่า 15 วัน นับแต่วันดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 11 เพื่อให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดี โพธิศิริ พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเอกสารที่ได้ปรากฏต่อที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว ซึ่งในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2555 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติไม่ให้นายภักดี โพธิศิริ พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าวุฒิสภาผู้มีอำนาจลงมติถอดถอนกรณีกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนนี้จนได้ข้อยุติไปแล้ว

2. ด้านศาลยุติธรรม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต พล.อ.อ. พฤณท์ สุวรรณทัต นายปลอดประสพ สุรัสวดี และนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่า นายภักดี โพธิศิริ แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. โดยเข้าประชุมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่นายภักดี โพธิศิริ เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อันเนื่องจากมีการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรเกิน 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง

ต่อมา โจทก์ทั้ง 5 คน ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1066/2558 หมายเลขแดงที่ 10431/2558 ซึ่งศาลอาญาได้พิเคราะห์ไว้ในคำพิพากษาโดยสรุปว่า เมื่อนายภักดี โพธิศิริ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีอำนาจตามกฎหมาย ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า นายภักดี โพธิศิริ ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และให้เพิกถอนพ้นจากการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด นายภักดี โพธิศิริ จึงยังคงมีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 การเข้าประชุมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น การกระทำของนายภักดี โพธิศิริ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

สรุป จะเห็นได้ว่า นายภักดี โพธิศิริ มีสถานะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น มีผลให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนในตำแหน่งดังกล่าว