ThaiPublica > คอลัมน์ > พระทรงเป็นเสาหลักแห่งชาติไทย

พระทรงเป็นเสาหลักแห่งชาติไทย

16 ตุลาคม 2016


บรรยง พงษ์พานิช

dsc_4063_0

“พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง และไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” นี่เป็นหลักการที่ชัดเจนทั้งในกฎหมายและในทางปฏิบัติสำหรับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น ตลอดกว่า 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงยึดถือหลักการที่ว่าอย่างเคร่งครัด ไม่ทรงก้าวก่ายทางการเมืองใดๆ และไม่ทรงแทรกแซงการบริหารประเทศนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนดให้เป็นพระราชอำนาจ

อย่างไรก็ดี เมื่อใดก็ตามที่ชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤติ หรือภาวะสับสนอลหม่านที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะทรงชี้นำหรือปฏิบัติพระราชกรณียกิจบางอย่างที่พอเหมาะพอสม และหลายครั้งก็ทรงเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เราผ่านวิกฤติมาได้ และโดยเหตุเหล่านี้นี่เอง ที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะชาวต่างชาติหรือสื่อบางพวกบางสำนัก มักจะไปตีความว่าทรงแทรกแซงหรือทรงมีบทบาททางการเมือง

ผมจะขอยกเหตุการณ์ 4 ครั้งที่พระองค์ทรงมีบทบาทในการแก้ปัญหาในวาระวิกฤติของชาติ โดยที่ผมจะไม่สรุปว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ แต่อยากจะชวนให้วิเคราะห์ถึงผลที่เกิดมากกว่า โดยเฉพาะผลที่อาจจะเกิดหรือน่าจะเกิด อยากชวนให้คิดกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ซึ่งต่อไปนี้ขออนุญาตขานพระนามว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9” นะครับ) ไม่ทรงยื่นพระหัตถ์มาช่วยแก้ไขสถานการณ์เหล่านั้น ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เราจะมีวันนี้อย่างที่เป็นไหม

เหตุการณ์แรกที่จะขอยกมา คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทุกคนคงจำกันได้ดีว่า หลังจากความสับสนช่วงเช้ามืดที่เกิดการปะทะกันระหว่างขบวนนิสิตนักศึกษาประชาชน กับกองกำลังติดอาวุธของทางการข้างพระราชวังสวนจิตรลดา พระองค์ทรงเปิดพระราชวังให้นักศึกษาประชาชนเข้าไปหลบภัยและทรงเสด็จลงเยี่ยม ซึ่งนั่นก็เลยทำให้ฝ่ายทหารตำรวจรวนเร จนในที่สุด ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง และยอมเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ “การปฏิวัติโดยประชาชน” ครั้งเดียวในประเทศไทยประสบผลสำเร็จ

ถ้าเรามองไปในประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่เกิด “การปฏิวัติประชาชน” ในประเทศใดก็ตาม มักจะตามมาด้วยความจลาจลปั่นป่วนวุ่นวาย สถาบันต่างๆ ถูกรื้อถอน เศรษฐกิจมักจะปั่นป่วนถดถอยอย่างหนัก เกิดความเสียหายอย่างมากช่วงใหญ่กว่าจะตั้งหลักได้ อย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ปฏิวัติรัสเซีย 1917 ปฏิวัติจีน 1949 หรือพวกอาหรับสปริงส์ ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน ที่ผ่านมาหลายปีแล้วยังเละตุ้มเป๊ะปั่นป่วนวุ่นวายตั้งหลักไม่ได้สักประเทศ แต่ที่ประเทศไทยผ่านการปฏิวัติประชาชน 14 ตุลา 16 มาได้อย่างค่อนข้างราบรื่น ก็เพราะพระบารมีโดยแท้ ซึ่งพอทรงพระราชทานให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ ทุกฝ่ายก็น้อมรับ ทรงแต่งตั้งสภาสนามม้าเพื่อให้ไปคัดเลือกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นไปโดยเรียบร้อย จัดการเลือกตั้งได้ภายในเวลาแค่ปีเศษ ซึ่งใครจะว่าทรงทำงานการเมืองก็คงไม่ผิดนัก เพราะทรงตั้งทั้งนายกฯ ทั้งสภา แต่ถ้าไม่ทรงทำอย่างนั้น ลองคิดดูสิว่าประเทศจะวุ่นวายยุ่งเหยิงขนาดไหน ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใดกว่าจะตั้งหลักได้

เหตุการณ์ที่สองที่ผมขอยกมา คือ การที่ไทยไม่ต้องตกไปเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หลังม่านเหล็กตามทฤษฎีโดมิโน ในปี พ.ศ. 2518 กลางเดือนเมษายน เขมรแดงประสบชัยชนะในกัมพูชา พอวันที่ 30 เม.ย. เวียดกงก็ยึดเวียดนามใต้ได้ทั้งหมด และพอปลายปีต้นธันวา เจ้าสุภานุวงศ์ก็โค่นเจ้าพี่สุวรรณภูมาเปลี่ยนลาวเป็นคอมมิวนิสต์ไปอีกประเทศ ทางตะวันตกพม่าก็เป็นคอมฯ มาตั้งแต่ 2505 ตอนนั้นใครๆ ก็คาดว่าไทยต้องแตกตามตกเป็นคอมฯ ไปในไม่ช้าเป็นแน่ เศรษฐีกับอำมาตย์เก่าขายสมบัติย้ายสมบัติไปไว้นอกประเทศเตรียมเผ่นกันเป็นแถว

เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า ในช่วงเวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสหลายครั้งหลายคราวว่าทรงมีพระราชประสงค์แน่วแน่ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน จะไม่เดินทางออกนอกประเทศไทย” ซึ่งนับว่าทรงกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเป็นที่สุด เพราะตัวอย่างของคอมมิวนิสต์นั้นโหดร้ายกับราชวงศ์อย่างยิ่ง พระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซียถูกประหารทั้งครอบครัว จักรพรรดิปูยีโดนจับเข้าค่ายฝึกหนัก อย่างเขมรก็ฆ่าคนชั้นสูงทั้งหมด (แต่ไม่ฆ่ากษัตริย์สีหนุ เพราะทรงเป็นคอมฯ)

การที่พระองค์ทรงเด็ดเดี่ยวมั่นคงมากทำให้การต้านทานคอมมิวนิสต์ในไทยเข้มข้นมาก พรรคคอมฯ ก็ไม่สามารถขยายตัวได้รวดเร็ว เพราะประชาชนที่จงรักขัดขวาง พระองค์เองก็ทรงเสด็จทั้งเยี่ยมทหาร และทรงช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสและยากจนอย่างไม่ทรงรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่จะถูกโน้มน้าวได้ง่าย ทำให้เรารอดพ้นจากการต้องตกเป็นประเทศคอมฯ ไปได้

ทำไมผมถึงว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเรากลายไปเป็นพวกหลังม่านเหล็ก วันนี้เราจะทุกข์ยากกว่านี้มากมายแน่นอน ตรงนี้ต้องขอยืนยันด้วยตัวเลขนะครับ ในปี 2503 (1960) ซึ่งเป็นปีแรกที่ธนาคารโลกเก็บตัวเลขรายได้ประชาชาติของประเทศต่างๆ ในปีนั้นในภูมิภาคนี้ยังไม่มีใครเป็นคอมมิวนิสต์ ไทยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด มีรายได้ต่อหัวต่อปีแค่ $101 ขณะที่กัมพูชามี $125 พม่ามี $180 เวียดนามมี $220 ฟิลิปปินส์ $255 มาเลเซีย $285 สิงคโปร์ $390 (ลาวยังไม่มีการเก็บตัวเลข) พอปี 1962 พม่าเป็นคอมฯ ปี 1975 กัมพูชา เวียดนาม ลาว กลายเป็นคอมฯ แล้วในที่สุดทุกประเทศก็เลิกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ตามจีนกับรัสเซีย ในช่วงประมาณ 1992 มาวันนี้ ไทยกลายเป็นมีรายได้ต่อหัวต่อปี $6,000 ทิ้งพวกอดีตคอมฯ ไม่เห็นฝุ่น เพราะวันนี้ กัมพูชามีแค่ $800 พม่า $1,200 ลาว $1,800 เวียดนาม $2,100 ซึ่งถ้าเรากลายเป็นคอมฯ ในช่วงนั้นเศรษฐกิจก็ต้องพังเหมือนๆ เขา ถดถอยยาวนาน เพราะถึงคอมฯ จะมีอุดมการณ์ที่ดี ที่ต้องการให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าระบบที่ไม่ยอมให้มีแรงจูงใจนั้นมันไม่เวิร์ก มันไม่มีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิตไม่ได้ ทุกคนรอจะแบ่งมากกว่าที่จะทำ

การที่ประเทศไทยสามารถต้านทานการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์ได้นี้ สำหรับผมเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในที่สุดประเทศคอมมิวนิสต์เองก็เลิกเป็นคอมมิวนิสต์ (ทางเศรษฐกิจ) แทบทั้งหมด และก็ชัดเจนครับ สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทอย่างมากในการนี้ ทำให้เรารอดมหันตภัยนั้นมาได้

เหตุการณ์ที่สาม ที่ผมคิดว่าทรงช่วยประเทศได้อย่างมหาศาล ก็คือเหตุการณ์ “กบฏเมษาฮาวาย” ในปี 2524 ที่กลุ่มทหารยังเติร์กที่นำโดย พ.อ. มนูญ รูปขจร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมนูญกฤต รูปขจร) พ.อ. ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร พ.อ. สาคร กิจวิริยะ ฯลฯ โดยมีรอง ผบ.ทบ. พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้าคณะ ลุกขึ้นมาปฏิวัติ แล้ว พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ขณะนั้นฉวยโอกาสขณะที่หลอกให้ พ.อ. ประจักษ์ ไปรับโทรศัพท์ หนีออกหลังบ้านเข้าสวนจิตรลดา กราบบังคมทูลเสด็จไปประทับที่โคราช ซึ่งการที่ทรงตัดสินพระทัยเสด็จในครั้งนั้นทำให้ในที่สุดการปฏิวัติครั้งนั้นไม่สำเร็จ

ลองคิดดูสิครับว่า ตอนนั้นเราอยู่ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 มีบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกมากจนถึง 2526 (คล้ายๆ ฉบับที่กำลังจะใช้นี่แหละครับ) จริงๆ แล้วกลุ่มทหารพวกนี้ทุกคนต่างก็เป็นสมาชิกและมีอำนาจอิทธิพลมากอยู่แล้วในวุฒิสภา (ขนาดที่เคยบีบให้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องลาออกจากนายกฯ ได้สำเร็จมาแล้ว) แต่ก็ยังไม่พอใจ ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยเป็นรัฐทหารสมบูรณ์แบบ ซึ่งถ้าพวกเขาทำสำเร็จ เราก็คงต้องอยู่ใต้ระบบเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบไปอย่างยาวนาน ลองเปรียบเทียบกับประเทศที่มีนายทหารหนุ่มเป็นเผด็จการปกครอง อย่างมูอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย ซัดดัม ฮุดเซน แห่งอิรัก หรืออูโก ชาเบซ ของเวเนซุเอลา ดูสิครับ ถึงตอนจบเผด็จการพวกนี้มักจะไม่ได้ตายดี แต่ประเทศก็เละตุ้มเป๊ะได้อย่างยาวนาน ประชาชาติยากเข็ญกันเป็นหลายชั่วอายุคน ประเทศไทยโชคดีจริงๆ ที่รอดเงื้อมมือเผด็จการทหารหนุ่มมาได้เพราะพระบารมี

เหตุการณ์ที่สี่ เป็นเรื่อง “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 2535 ซึ่งเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่นำโดย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง กับ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร เพื่อคัดค้านการที่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเหตุการณ์ลุกลามจนมีการปะทะกับทางการ มีคนตายหลายสิบคน จนกระทั่งในที่สุด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกคู่กรณีเข้าเฝ้ารับพระราชทานพระบรมราโชวาทในคืนวันที่ 20 พ.ค. 2535 ถ่ายทอดสดทั่วประเทศจนนำไปสู่ความสงบของเหตุการณ์

เรื่องนี้ผมขอเล่าเบื้องหลังที่ผมเคยได้รับฟังจากการบอกเล่าของข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดท่านหนึ่งนะครับ (ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงและการนำมาเผยแพร่จะไม่ทำให้เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศแต่อย่างใด)

ความจริงการปะทะจนมีคนบาดเจ็บล้มตายเริ่มมีตั้งแต่คืนวันที่ 17 พ.ค. 2535 ซึ่งก็มีผู้กราบบังคมทูลให้ท่านทรงออกมาระงับเหตุ แต่ก็ทรงตอบว่า (จากคำบอกเล่า) “ยังไม่ได้หรอก เราเป็นด่านสุดท้ายแล้ว ถ้าเราออกไปแล้วไม่ได้ผล ก็จะเป็นเรื่องน่ากลัวมาก” ซึ่งหลังจากนั้นทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแทบจะตลอดเวลา (คงทราบกันดีนะครับว่าพระองค์ทรงพระปรีชาเข้าถึงเครือข่ายวิทยุสื่อสารอย่างกว้างขวาง) จนกระทั่งบ่ายวันที่ 20 จึงมีพระราชดำรัสให้ อ.สัญญา ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ไปตาม พล.อ. สุจินดา และ พล.ต. จำลอง มาเข้าเฝ้าตอนสองทุ่ม “ตอนนี้ทั้งสองคนกำลังงงกำลังกลัวกันแล้วทั้งคู่ กำลังหาทางออกกันอยู่ จึงเป็นจังหวะเวลาที่น่าจะได้ผล” นี่เป็นพระราชดำรัสที่ทรงอธิบายที่ผมได้รับการบอกเล่า หลังจากนั้น ตั้งแต่สี่โมงเย็น พระองค์ก็ทรงเสด็จลงมาที่ห้องที่จะใช้พระราชทานพระบรมราโชวาท ทรงบัญชาการจัดห้องจัดสถานที่ด้วยพระองค์เอง ทั้งการวางพระเก้าอี้ วางกล้องวางไมโครโฟน แล้วก็ทรงเตรียมพระองค์อย่างตั้งพระทัย

พอถึงเวลา อ.สัญญา และ พล.อ. เปรม พาทั้งสองเข้ามา และนั่งกับพื้น ทั้ง พล.ต. จำลอง และ พล.อ. สุจินดา ก็เลยต้องนั่งกับพื้นไปด้วย พอมีคนเข้ามากราบบังคมทูลว่าพร้อมแล้ว ก็ทรงประทับยืนขึ้น แต่ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินออกไป ทรงเอนพระองค์พิงข้างพระทวารและหลับพระเนตรนิ่งอยู่กว่านาที (เพื่อรวบรวมพระสติ) แล้วจึงเสด็จออก ถ้าใครดูการถ่ายทอดสดและจำได้ ก็จะเห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทที่เฉียบคมที่สุด ทรงชี้ให้เห็นว่าถ้ายังขัดแย้งยังเดินกันไปอย่างนี้ จะไม่มีใครชนะ แล้วทุกคนก็จะเป็นผู้แพ้ โดยเฉพาะประเทศ จะเป็นผู้แพ้ที่สุด ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง (ใครสนใจเข้าไปหาอ่านละเอียดได้นะครับ ผมคิดว่าเป็นพระราชดำรัสที่ยอดเยี่ยมที่สุดอันหนึ่งเลยทีเดียว) ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่ประมาณสิบห้านาทีแล้วก็ทรงเสด็จขึ้นเลย ไม่ทรงเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งหรือหารือใดๆ

หลังจากการถ่ายทอดสดออกอากาศทั่วประเทศ เหตุการณ์ก็สงบลง พล.ต.จำลอง ยุติการประท้วง และอีกไม่กี่วัน พล.อ. สุจินดา ก็ลาออก จนมีการตั้งรัฐบาลใหม่แล้วกลายเป็นรัฐบาลอานันท์ (ปันยารชุน) 2 นั่นแหละครับ ประเทศไทยก็เลยรอดพ้นเหตุการณ์นองเลือดกลับสู่ความสงบได้อีกครั้งด้วยพระบารมีและพระปรีชา

นั่นคือเหตุการณ์สำคัญทั้งสี่ครั้ง ที่ผมจำได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงช่วยให้ชาติไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติใหญ่ๆ มาได้ ซึ่งถ้าไม่มีพระองค์ท่าน หรือไม่ทรงยื่นพระหัตถ์มาช่วย ผมนึกไม่ออกเลยครับ ว่าประเทศไทยวันนี้จะเป็นอย่างไร (ที่แน่ใจคือ ไม่ดีขึ้นหรอกครับ น่าจะแย่ลงมากๆ) และแน่นอนครับ ที่ผมเล่ามานั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของพระราชกรณียกิจ ทั้งที่ทรงเป็นหลักให้ชาติ ทั้งที่ทรงพัฒนาชาติ ทรงช่วยเหลือผู้ยากไร้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ แต่แค่ส่วนเสี้ยวแค่นี้ ก็เพียงพอแล้วครับ ที่เราจะถวายพระนามท่านว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าจักขอเป็นข้ารองละอองธุลีพระบาททุกชาติไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 16 ตุลาคม 2559