ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธงชัย วินิจจะกูล” บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดและความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย

“ธงชัย วินิจจะกูล” บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดและความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย

11 ตุลาคม 2016


เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2559 มีการเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ “ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย” โดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในงานมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง แบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย หนึ่งในการนำเสนองานช่วงบ่ายเป็น “บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย” โดยนายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน โดยนายธงชัยพยายามทดลองตอบคำถาม สิ่งที่เรียกว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิดของไทยเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างไรว่า

“วันนี้ที่คนพูดมาแต่ละคนมีข้อมูลมากมาย ชัดเจน เป็นรูปธรรม ผมสารภาพว่าผมทำงานน้อยกว่า เพราะว่า คุณไปอ่านดู ถ้าเป็นนักวิชาการ จะเห็นว่าผมไม่มีข้อมูลมากเท่าไหร่ แต่ผมพยายามจะเสนอ อาศัยความเป็น seniority อะไรสักอย่าง ผมพยายามจะให้กรอบ พยายามจะสรุปว่า เราจะเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ impunity ที่อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ เรียกว่า วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ผมเผอิญใช้คำต่างออกไปแค่นั้นเองว่า อภิสิทธิ์ปลอดความผิด คือไม่ใช่แค่วัฒนธรรม แต่มันก่อให้เกิดเงื่อนไขทางกฎหมายในการปฏิบัติ ผมไม่ทราบว่าอะไรเล็กกว่าวัฒนธรรม ผมเลยคิดว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนิดหนึ่ง”

สิ่งที่ผมพยายามทำในบทความนี้คือพยายามจะเสนอกรอบความเข้าใจว่า อภิสิทธิ์ปลอดความผิดมันอยู่ในสังคมไทยได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บอกว่า นี่ไม่ใช่แค่สู้เรื่องรัฐนะ ต้องสู้เรื่องความที่ประชาชนก็เบียดเบียนกันเอง แล้วอีกหลายคนที่พูดมา ไม่ใช่แค่กรณีต่างๆ เท่านั้น 6 ตุลา เมษา พฤษภา 53 หรือ อื่นๆ กรณีทางภาคใต้ คือ ไม่ใช่แค่ภาวะของรัฐเท่านั้น แต่รวมถึงภาวะปกติ

“ผมเริ่มกลับไปดูว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิดมันอยู่ภายใต้วัฒนธรรมทางกฎหมาย พูดง่ายๆ อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างไร อภิสิทธิ์ปลอดความผิดอยู่ภายใต้นิติธรรม นิติรัฐของไทยที่บกพร่อง จะอธิบายความบกพร่องเป็นกรณีๆ ไป เป็นความฉ้อฉลเฉพาะกรณี หรือเอาเข้าจริงความฉ้อฉลนี้มัน institutionalize กล่าวคือ ความฉ้อฉลเหล่านี้มันเป็นเรื่องปกติอยู่ในรัฐและสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ใช่แค่รัฐกับประชาชน แต่มันอยู่ในเงื่อนไขการดำรงอยู่ที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย จนเราคุ้นเคยกับมันแล้ว”

ผมมองในสเกลแบบนี้ ผมจึงเขียนบทนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นบททดลองเสนอ เพราะผมไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมรู้สึกโดยเหตุผล โดยตรรกะ โดยเฟรมของการอธิบายมันน่าจะได้ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ผมต้องทำงานเพื่ออธิบายมันให้ชัดขึ้น ดังนั้น บทนี้ เอาเข้าจริงถ้าในทางวิชาการอาจจะเรียกว่าเป็นเค้าโครงวิทยานิพนธ์ ผมคงไม่มีสิทธิ์ตีพิมพ์ ก็ถืออภิสิทธิ์ของผมมาตีพิมพ์ที่นี่

อีกอย่าง เกริ่นนานเหลือเกิน อันนี้เป็นเฟรมนะ ไม่ใช่รายละเอียด ไม่ใช่ case by case ผมเริ่มอธิบายจาก… พอดีมีโชคดีได้อ่านต้นฉบับหนังสือของอาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ที่กำลังจะตีพิมพ์ ผมเริ่มต้นจากคำถามที่อาจารย์ไทเรลตั้งว่า รัฐบาลไทยยุคหลัง หรือหลายยุคด้วยนะ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นประจำ แต่เขากลับบอกว่าไม่ได้ละเมิด เราอาจตีความหรืออธิบายเรื่องนี้ได้ง่ายนิดเดียวแล้วจบเลย เขาโกหก เขาไม่รู้ตัว แต่เนื่องจากผมเป็นนักวิชาการ ก็ต้องหาเรื่องอะไรทำอยู่ดี

นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่มาภาพ :http://prachatai.com/journal/2016/10/68259
นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่มาภาพ :http://prachatai.com/journal/2016/10/68259

ผมยอมรับไม่ได้ง่ายๆ บวกกับคำอธิบายอีกหลายครั้งของเขา คือเขาโกหกในหลายๆ กรณี อันนี้แน่ๆ แต่ในหลายครั้ง มันสะท้อนว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ เขา…ผมหมายถึงรัฐหรืออาจจะรวมหลายท่านในที่นี้ คือรวมประชาชนไทยด้วย ไม่ใช่แค่รัฐเท่านั้น เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ ว่าสิ่งที่ทำอยู่บางครั้งก็ผิด แต่มีเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ผิด หรือบางครั้งที่เราดูว่าผิด ก็เพราะเรามีมุมมองต่างกัน เรามีมุมมองแบบหนึ่งจึงบอกว่าเขาผิด แต่เขามีมุมมองแบบหนึ่งจึงพูดอย่างจริงใจโดยเขาไม่คิดว่ามันผิด ผมพยายามจะเข้าใจส่วนหลังนี้ว่าเขาคิดอย่างไร หรือมีเงื่อนไขอะไรในสังคมไทยจึงไม่เห็นการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นความผิด แต่ไม่ได้แปลว่าผมจะ justify ว่ามันถูกนะ แต่งานของนักประวัติศาสตร์หรืองานที่ผมสนใจมักจะเป็นแบบนี้ พยายามเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม และถ้าเราไม่เห็นด้วย เราจะหักล้างอย่างไร

รัฐบาลไทยมักจะตอบประจำว่า ไม่จริง เราไม่ได้ละเมิด และยังจะตอบประจำว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ อีกอย่างหนึ่งก็บอกว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ต่างชาติไม่เข้าใจ อันสุดท้าย สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของฝรั่งตะวันตก ซึ่งประยุกต์ใช้กับประเทศไทยไม่ได้ 3 ประการหลังนี้ ผมคิดว่าเขาเชื่ออย่างนี้จริงๆ หรืออาจจะไม่จริง สักแต่ว่าอ้าง มันก็มีบางส่วน แต่ผมคิดว่าเขาบอกตัวเองว่าอย่างนั้น อย่าลืมว่าข้ออ้างทั้งสามข้อนี้ หลายคนในสังคมไทยรับฟังได้ นั่นแปลว่าเหตุผลของเขาจูนคลื่นได้ใกล้เคียงกับคนในสังคมไทย

ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนมาก ที่อาจารย์ไทเรลพูดถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผมมีอีกตัวอย่างในสมัยหลัง ให้เหตุผลแปลกๆ ชัดเจนเลย ที่สะท้อนว่าเขาไม่รู้ตัวว่าเหตุผลของเขาผิด ที่สะท้อนว่าเหตุผลที่เขาให้มันดี มันเหมาะสมแล้ว เป็นตัวอย่างเพื่อบอกว่าคนเหล่านี้คิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น เขาจะไม่ให้เหตุผลที่ตลกๆ นั่นคือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ออกมาให้สัมภาษณ์เกินหนึ่งครั้งเพื่อตอบโต้การตำหนิติเตียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากต่างชาติ นายดอนมักจะตอบโต้ว่า ก็คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นเดือดร้อนกับการใช้อำนาจปราบปราม จับกุม หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเลย การที่เขาใช้เหตุผลนี้เกินหนึ่งครั้งสะท้อนว่า นายดอนเชื่อว่าเหตุผลนี้ฟังดูดี ถ้าเหตุผลนี้ฟังดูห่วย เขาไม่พูดหรอก พวกเรา (คนฟังในที่นี้) ไม่ buy (ยอมรับ) แต่อย่างน้อยที่สุด เขารู้ว่าฝรั่งก็ฟังไม่ขึ้น แต่เขารู้ว่าคนไทยฟังเขาอยู่ มันคือ domestic consumption (ยอมรับกันเองภายใน) ไม่ใช่สำหรับฝรั่งที่จะมารับรู้เหตุผลนี้

ทำไมเหตุผลนี้จึงฟังดูดีในสังคมไทย คือผมเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับความคิด ความคิดวัฒนธรรมอะไรในสังคมไทยที่ทำให้ข้อแก้ตัวเหล่านี้มันฟังขึ้น แล้วไม่ใช่แค่ฟังขึ้นในคนไม่กี่คน เราต้องยอมรับว่าฟังขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อยทีเดียว ถ้าพวกเราในที่นี้ใครคนไหนฟังไม่ขึ้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่กรุณาตระหนักว่า เผลอๆ เราจะเป็นส่วนน้อย

ตัวอย่างที่ผมยกเรื่องนายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่บอกว่าเกิดการละเมิดขึ้น คนไทยไม่เห็นเดือดร้อนเลย แปลว่าเขามองสิทธิเป็นเรื่องอะไร

ผมยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง เวลามีคนฆ่าคนตาย คนอื่นเดือดร้อนด้วยไหม คุณก็ไม่เห็นถูกฆ่าใช่ไหม คุณยังต้องเดือดร้อน ตำรวจต้องจับ เวลามีการข่มขืน มีการลักทรัพย์ ก็บ้านนั้นก็โดนไปสิ บ้านผมไม่โดน ทำไมตำรวจไม่บอกว่าเรื่องเล็กๆ บ้านนั้นโดนบ้านเดียว บ้านอื่นไม่เกี่ยว คนนั้นโดนฆ่าคนเดียว คนอื่นไม่โดนฆ่าด้วย ไม่เคยมีตำรวจออกมาพูดอย่างนี้ เพราะพูดไม่ได้ เพราะสิทธิในทรัพย์สินและร่างกายเป็นเรื่องที่รับรู้ทั่วไป ในสังคมไทยก็รับมาแต่โบราณแล้วว่า สิทธิในทรัพย์สินและร่างกายละเมิดไม่ได้ หากละเมิด ต่อให้เราไม่เกี่ยวข้องเลย ตำรวจต้องจัดการ นี่แปลว่าเขาไม่มองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสิทธิในนัยยะแบบนั้น เขามองราวกับว่าเสรีภาพและสิทธิที่จะเป็นมนุษยชนมันเป็นความร่ำรวยเกินเหตุของคนบางคนเท่านั้นที่เรียกร้อง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนทั่วไป นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าเขาคิดเรื่องสิทธิไม่เหมือนเราแล้ว อย่างน้อยที่สุดไม่เหมือนผม

แต่ในการตอบคำถาม ผมเลยย้อนไปไกล พอดีมีสมมติฐานขึ้นว่า หรือว่าเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมของไทยในยุคสมัยใหม่มาเป็นเวลานานแล้ว ตรงนี้ต้องขออธิบายนิดหนึ่ง สังคมไทยเข้าสู่สมัยใหม่ครึ่งหลังรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าเราคงดักดานอยู่แบบเก่า ไม่ใช่เลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเรากลายเป็นสมัยใหม่เป๊ะ สิ่งที่ผมพยายามทำทั้งชีวิตคือการปรับตัวสู่สมัยใหม่นี้ มันเกินภาวะลูกผสมอย่างไร บางอย่างก็ฝรั่งมากหน่อย บางอย่างก็ฝรั่งน้อยหน่อย

ตัวอย่างเดียว วงการแพทย์ ชัดเจน คุณกินยาฝรั่ง เชื่อในยาฝรั่งก็มี แต่ยาไทยไม่เคยตาย ยังมีร้านขายยาแพทย์แผนไทย แต่ละสังคมในการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ละสังคมที่ถูกรุกรานจากต่างชาติตอนปลายรัชกาลที่ 5 มีการปรับตัวในเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่การปรับตัวไม่ได้เสมอกันทั่วด้าน เช่น การเป็นฝรั่งหมดหรือคงความเป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอก ทุกอย่างมันปนๆ เปๆ แล้วแต่ว่ากิจกรรมด้านใดในชีวิตทางสังคมนั้นจะเป็นฝรั่งมากน้อยหรือจะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมมากหน่อย แม้กระทั่งเรื่องยายังไม่เหมือนกันเลย

ถ้าคุณเลยไปเรื่องใหญ่กว่าเรื่องยา อย่างเรื่องวัฒนธรรม หรือเทคโนโลยี หรือความเชื่อทางการแพทย์ก็ยังมีแตกต่างกัน แล้วถ้าเลยไปถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ความรู้ทางการเมือง มีความแตกต่าง ไม่มีใครอีกแล้วที่คิดต่อชีวิตของเราแบบเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีใคร…เผลอๆ ยังไม่มีที่พวกเราคิดหรือกลายเป็นฝรั่ง ดังนั้น การที่ใครทั้งหลายที่คิดจะแอนตี้ฝรั่ง การถกเถียงว่าเป็นฝรั่งมากไป เป็นไทยมากไป จะไม่มีวันจบ เพราะสุดท้าย พวกเราเป็นลูกผสม

ผมมาดูตรงนี้ว่า การปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ของไทย เกิดการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ตอน ร.ศ. 128 ออกประมวลกฎหมายอาญาชุดใหม่ ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นระยะใหญ่ คือประมาณตั้งแต่ ร.ศ. 115 เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลง คือหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 แค่ 3 ปี ต่างชาติไม่พอใจมากกับวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ให้ชัดนะ เขาไม่ได้สงสัยกฎหมายอาญา เขาสงสัยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือมันไม่ยุติธรรมในสายตาเขา

รัชกาลที่ 5 บุกเบิกกฎหมายชุดแรกก่อนเปลี่ยนประมวลกฎหมายอาญาด้วยซ้ำไป คือเขียนกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาชั่วคราวขึ้นมา หลังจากนั้นใช้เวลาอีกหลายปีกว่าประมวลกฎหมายจะเสร็จใน ร.ศ. 128 และใช้เวลาอีกมาจนถึงประมาณปลายรัชกาลที่ 6 จึงพร้อมจะปรับระบบกฎหมายใหม่ทั้งหมด รวมถึงกลับไปเขียนวิธีพิจารณาความอาญาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมาย ปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงตกทอดมาจนถึงช่วงสุดท้ายในชุดที่มีการปฏิรูปทั้งหมด เสร็จเอาหลังปี พ.ศ. 2475 ใช้เวลาอยู่นานประมาณ 50 ปีในการปรับกระบวนกฎหมายทั้งชุด

โจทย์ของผม ปัญหาของผม ก็คือการปรับตัวทั้งชุดมันต้องเกี่ยวข้อง ต้องมีผลต่อสิ่งที่เราเรียกว่านิติรัฐ ถ้าเราเชื่อว่านิติรัฐคือระบบที่กฎหมายเป็นใหญ่เกิดขึ้นในช่วงนี้ สมมติฐานผมที่เอามาเป็นเฟรมสำหรับบทความนี้ก็คือ มันไม่มีทางหรอกที่เราจะกลายเป็นนิติรัฐแบบฝรั่ง เป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมไทยก่อตัวมาเป็นร้อยๆ ปี อยู่ๆ คุณจะมาเปลี่ยนปุ๊บเดียวเป็นฝรั่งหมด เป็นไปไม่ได้ และก็ไม่มีทางหรอกที่สังคมไทย ระบบกฎหมายไทย นิติรัฐของไทย จะยังคงเป็นนิติรัฐแบบดั้งเดิม ไม่มีทาง เห็นชัดๆ อยู่ว่าเราเปลี่ยน แค่ระบบประมวลกฎหมาย ระเบียบวิธีพิจารณาแบบสมัยใหม่ก็เห็นในตัวอยู่แล้วว่าเราไม่ได้เป็นอย่างเดิม แต่ลูกผสมอันนี้ มันเกิดความเป็นฝรั่ง เป็นไทย มากน้อยกว่ากันอย่างไร

นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่มาภาพ :http://prachatai.com/journal/2016/10/68259
นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่มาภาพ :http://prachatai.com/journal/2016/10/68259

สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ สิ่งที่เราต้องเข้าใจ เฉพาะในบทความนี้ผมเน้นประเด็นหลักๆ ไม่กี่ประเด็น เพราะยังเป็นช่องทางที่ผมเข้าไปเพื่อเข้าใจนิติรัฐแบบสมัยใหม่ ฐานของระบบกฎหมายสมัยใหม่ ถือว่าปัจเจกบุคคล ผมใช้คำนี้ย้ำแล้วย้ำอีก ผมไม่ทราบว่าเราจะเข้าใจไหม เพราะลึกๆ ความเข้าใจสังคมไทยเรื่องปัจเจกบุคลไม่เหมือนฝรั่ง เอาตามที่เราเข้าใจก่อนนะ แต่ขอบอกฟุตโน้ตไว้ว่า

“ความเข้าใจเรื่องความเป็นปัจเจกของไทยมันไม่เหมือนฝรั่งเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าสังคมไทยไม่มี สังคมไทยมีความคิดเรื่องปัจเจกบุคคลมานมนานกาเล แต่ไม่มีเหมือนที่ฝรั่งมี ไม่เหมือนกันอย่างไร ด้านตรงข้ามกับปัจเจกบุคคลคือรวมหมู่ กลุ่มบุคคล สังคมโดยรวม สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน ถ้าผมจะพูดอย่างหยาบที่สุด ทำให้ง่ายที่สุด ก็คือความสำคัญแก่สังคมโดยรวมในสังคมไทยมีมากกว่าปัจเจก ขณะที่ฝรั่งให้ความสำคัญกับปัจเจกมากกว่า นี่แค่แง่เดียว คือความสัมพันธ์ระหว่างสองขั้วตรงข้าม ทุกสังคมมีทั้งปัจเจกบุคคล มีทั้งการคำนึงถึงองค์รวมของสังคมร่วมกัน ไม่มีสังคมไหนเลยที่ไม่รู้จักปัจเจกบุคคล ไม่มีสังคมไหนเลยที่ไม่รู้จักองค์รวมของสังคม เพราะฉะนั้น กฎหมายสมัยใหม่ของฝรั่งอยู่บนฐานของปัจเจกบุคคล คำถามต่อมาคือ ปัจเจกบุคคลในสังคมไทยไม่มีแบบนั้น”

เลยไปนิดหนึ่ง เราเชื่อกันว่า เราท่องกันว่า เราถูกสอนกันมาว่า เรารู้มาว่า บุคคลเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนอย่างนั้น ก็ถ้าสังคมไทยถือว่าคนไม่เท่ากัน แล้วบุคคลจะเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายก็เกิดปัญหาแล้วนะ ใช่ไหม

คำถามคือว่าอันไหนชนะ บุคคลไม่เสมอภาคกันหรือบุคคลเสมอภาคกันตามกฎหมาย หมายถึงอันไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากันในคดีหนึ่ง ในปัญหาหนึ่ง นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง หลักสองอันนี้ ตอนนี้คนไทยเราสมัยใหม่พอจะรับแล้วว่า บุคคลเสมอภาคกันตามกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมไทยยังอยู่ สองอย่างนี้มันขัดกัน ในหลายกรณีไม่ขัดกันก็แล้วไป แต่เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกันขึ้นมาจะทำอย่างไร

อันต่อมา ยกตัวอย่างให้ฟัง เพื่อจะเห็นว่ามีปัญหาตลอด เรามักจะพูดภาษาฝรั่ง สำนวนฝรั่ง อำนาจที่สมบูรณ์ ฉ้อฉลอย่างสมบูรณ์ absolutely corrupt ความคิดนี้ไม่ใช่ไทย แสนจะฝรั่ง ฝรั่งสมัยใหม่ด้วย ลอร์ดแอ็กตัน เพราะความคิดปรัชญาการเมืองของฮินดู-พุทธในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ของไทยด้วยซ้ำ คนจะมีอำนาจ จะต้องมีบุญ เพราะถ้าไม่มีบุญ ขึ้นมามีอำนาจยาก พูดง่ายๆ อำนาจกับบุญสะท้อนซึ่งกันและกัน

คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องราวที่สะท้อนหลักคิดอันนี้ เรารู้จักกันดี แต่เราไม่เคยโยง

หนึ่ง ตอนพระพุทธเจ้าเกิด โหรทำนายว่าถ้าไม่เป็นศาสดาก็จะเป็นกษัตริย์ เพราะฉะนั้น สองอย่างนี้บุญใกล้เคียงกันเลย อยู่ที่เจ้าชายสิทธัตถะจะเลือกทางไหน ผมพูดเรื่องจริง ผมไม่ได้ล้อเล่น เรื่องราวนี้สะท้อนตามปรัชญาพุทธว่าบุญสองอันนี้ใกล้เคียงกัน อีกเรื่องหนึ่งคือพระเจ้าอโศก เป็นกษัตริย์ที่แผ่บารมีไพศาล ฆ่าคนไปทั่ว สร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่ แล้วพระเจ้าอโศกก็เป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย เห็นไหมว่า สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ไทยเรามีธรรมเนียมนี้ เราอาจจะสมัยใหม่จนเราลืม นั่นหมายความว่า อำนาจไม่ได้ฉ้อฉล อำนาจนั้นเป็นธรรม อำนาจอย่างสมบูรณ์จึงเป็นธรรมอย่างสมบูรณ์

ผมไม่ได้บอกว่าสังคมไทยมีความคิดโบราณอย่างนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณคิดว่าสังคมนี้โตมาหลายร้อยปี จู่ๆ เปลี่ยนเป็นสมัยใหม่จะกำจัดความคิดพวกนี้หมดไปหรือ ไม่มี ผลคืออะไร ผลคือคนไทยและคนแถวนี้จำนวนมากเชื่อในอำนาจ เราเชื่อมั่น เราเชื่อใจอำนาจ ฉะนั้น คนที่ท่องว่าอำนาจฉ้อฉลทั้งหลายเป็นหัวฝรั่ง คือคุณมีหัวฝรั่ง หรือไม่ก็คุณไม่รู้จักตัวเองหรอก เราไม่ได้มีความคิดอย่างนั้นง่ายๆ หรืออย่างน้อยสับสนปนเปกันอยู่ เวลาเกลียดใครเราก็ด่าทักษิณใช้อำนาจฉ้อฉล พอรัฐประหารขึ้นมาเราบอกพวกนี้มีบุญ (คนปรบมือ) เรามีความเป็นลูกผสม ลูกผีลูกคนปนๆ กัน หรือมีตัวเลือกให้เราใช้ในการทำความเข้าใจจำนวนมาก ซึ่งขัดแย้งกันอยู่ระหว่างอิทธิพลจากตะวันตกกับของไทย

ประเด็นเรื่องอำนาจของผมนำมาสู่อะไร สังคมไทยเข้าใจเรื่องสิทธิมาแต่โบราณของเอกชนซึ่งกันและกัน สิทธิในทรัพย์สิน นี่ว่าในทางแพ่ง แต่สังคมไทยในทางอาญาหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐมีสิทธิมากกว่าเราเสมอ กฎหมายสมัยโบราณ อีกอย่างที่เราชอบท่องกัน บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด อันนี้หลักสมัยใหม่

สมัยโบราณของไทยเขาไม่อายเลยนะว่า ถ้าเป็นความผิดทางอาญา คุณต้องผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ เช่นอะไร สิ่งที่เรารู้จักที่เรียกว่าจารีตนครบาลไง สันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหาทางอาญาคือผู้กระทำความผิดในการละเมิดอำนาจของรัฐ ต้องมีภาระในการพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์ นี่มันกลับกันเลย

อาจารย์ผู้ใหญ่ทางนิติศาสตร์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์บอกว่า ความคิดทางอาญาของไทยยังเปลี่ยนน้อยกว่าเรื่องอื่น เพียงแต่ท่านไม่ได้บอกออกมาเองว่า หลักที่ว่าต้องถือว่าผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ยังคงมีอยู่ เพราะมันไม่ถึงกับคงอยู่อย่างเหนียวแน่นแบบเดิม แต่วัฒนธรรมแบบนี้ยังอยู่ คุณดูสิ ความผิดทางอาญาตั้งแต่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เช่น ฆ่าคนหรือไปปล้น เวลาเอาตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบการรับสารภาพ ถ้าคุณถูกสันนิษฐานก่อนว่ายังบริสุทธิ์ คุณทำได้ไหม ไม่ได้ ข่าวดีนะ วัฒนธรรมนี้เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับไทย ไม่มีที่ไหนในโลกทำอีกแล้ว การทำแผนประกอบการรับสารภาพไม่มีที่ไหนในโลกทำอีกแล้ว เพราะมันมาจากมรดกว่าเดิมเราสันนิษฐานว่าเขาผิด เราจึงเอาเขาไปประจาน การประจานก็เป็นสิ่งที่อารยธรรมในโลกไม่ทำกันแล้ว มันมากับจารีตเดิม การประจานเป็นรูปแบบหนึ่งในการลงโทษ สมัยใหม่หรือจะเรียกว่าฝรั่งก็ได้ เขาไม่ประจาน เขาเอาตัวขังไว้ การประจานเป็นการลงโทษในแบบสมัยเก่า เรื่องนี้มีอิทธิพลกันหมด

เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ คุณคิดหรือว่าในความผิดทางอาญาที่ใหญ่กว่าเรื่องการไปปล้นชิง ฆ่าคน แต่เป็นอาญาต่อรัฐโดยตรง คือความผิดหัวข้อกบฏทั้งหมด เขาจะสันนิษฐานว่าคนเหล่านั้นบริสุทธิ์ก่อน ไม่มีทาง กฎหมายหมิ่นฯ จึงออกมาว่าคุณผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ เพียงแต่เขาไม่พูดออกมาชัดๆ แต่ถือไว้ก่อนว่าคนเหล่านั้นมีความผิดจึงถูกปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทรมาน คุณไปถามใครที่เคยติดคุก เราจะเจอการทรมานทั้งนั้น

คุณวันชาติ ศรีจันทร์สุข คนเสียชีวิตรายสุดท้าย ไม่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ผูกคอตายในคุก ผมไม่รู้จนบัดนี้ว่าเขาผูกคอตายเพราะอะไร แต่เท่าที่ได้ยิน เล่าลือระหว่างอยู่ในคุกด้วยกัน เขาถูกรังแกจากขาใหญ่ในคุกซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมาน ถูก sexual assault ผมไม่ทราบว่าเขาเป็นเกย์หรือถูกทำให้เป็นเกย์ เขาถูกทำร้ายในคุก เลยแขวนคอตาย การทรมานเหล่านี้ ถ้าเขาสันนิษฐานก่อนว่าคุณบริสุทธิ์ คุณต้องได้รับการประกัน หรือกรณีร้ายแรง ที่สุดแล้วเขาต้องปฏิบัติกับคุณอย่างดี แต่ของไทยการทรมานมักจะเกิดขึ้นในคดีร้ายแรง

คดีร้ายแรงแปลว่าอะไร แปลว่าคดีอาญาที่ร้ายแรง ความผิดที่ละเมิดต่ออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะละเมิดในแง่ว่าคุณฆ่าคนหรือละเมิดต่อตัวรัฐเอง เช่น กรณีกบฏ

ผมเขียนในบทนี้ว่า นิติวัฒนธรรมไทยมีหลายเรื่องมากที่เราต้องกลับมาทบทวนว่า เราอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น คำสั่งผู้ปกครองคือกฎหมายอันชอบธรรม อันนี้นักกฎหมายแทบทุกคนรู้ว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างนี้ ศาลถึงออกมาบอกว่าคำสั่งคณะรัฐประหารทุกครั้งถือว่าเป็นกฎหมายที่ชอบธรรม จนกลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากมีคนเขียนเรื่องนี้ไม่กี่คน เช่น อาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะอธิบายว่าอันนี้เป็นหลักกฎหมายหนึ่ง เป็นสำนักหนึ่งของกฎหมายฝรั่ง ที่เรียกว่า legal positivism แล้วเราลอกเลียนมา พูดง่ายๆ ว่าการเปลี่ยนกฎหมายสมัยใหม่ เราเป็นฝรั่งมากไป จึงทำให้คำสั่งของผู้ปกครองเป็นกฎหมายในตัวมันเอง

นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่มาภาพ :http://prachatai.com/journal/2016/10/68259
นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่มาภาพ :http://prachatai.com/journal/2016/10/68259

เขาไม่เคยคิดกลับกัน หลักกฎหมายเดียวกันนี้เป็นหลักเดียวกับหลักกฎหมายฮินดู-พุทธที่อยู่ในสังคมไทยมาเป็นร้อยๆ ปี ผู้ปกครองออกคำสั่ง ออกกฎหมายได้เอง เพราะฉะนั้น ขณะที่อาจารย์แสวงหรืออาจารย์กิตติศักดิ์บอกว่าเราเป็นฝรั่งมากไป เราควรนำระบบธรรมนิยมกลับมามากขึ้น ผมตั้งคำถาม ผมยังไม่ยืนยัน เอากลับไปคิดกันนะ อาจจะเป็นเพราะเป็นธรรมนิยมแบบเดิมๆ มากไปต่างหาก เรายังเปลี่ยนไม่พอ เรายังปรับไม่พอ

ความยุติธรรมแบบไทยๆ สั้นๆ เรื่องนี้ เพราะผมก็ยังไม่เข้าใจมาก คือ คำว่า justice รากของมันมาจากภาษาละตินว่า jus มันไม่ได้แปลว่าธรรมะ ธรรมะคือภาวะที่กลับสู่ภาวะปกติ ภาวะปกติคืออะไรของพุทธ คือภาวะที่สมดุล ภาวะสมดุลกับ jus ของละติน jus ต้องมีการลงโทษ คือผิดต้องถูกลงโทษ คนใดก่อกรรมต้องถูกลงโทษ ธรรมะกับ jus ไม่ค่อยเหมือนกัน นักวิชาการหลายคนจะรู้ว่า ศัพท์พวกนี้มันบอกอะไรเยอะแยะเลย พอเราทำให้คำว่า justice แปลว่ายุติธรรม เอาเข้าจริงไม่เหมือนกันเป๊ะ

ตอนปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ความยุติธรรมแปลว่าอะไร เป็นประเด็นหนึ่งที่ที่รัชกาลที่ 4 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ถกเถียงกันอย่างหนัก ทุกคนเหมือนกัน ลากเข้าพุทธหมด แต่การลากเข้าพุทธยังต่างกัน พระประยุทธ์ ปยุตฺโต เองก็เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ ก็ลากความยุติธรรม หรือ justice เข้าหาพุทธเหมือนกัน ผมไม่แน่ใจว่าความยุติธรรมในสังคมไทยเท่ากับ justice หรือเปล่า

มาตรา 112 ผมถือเป็นตัวอย่างของการละเมิดรัฐ แต่ไม่ใช่เสมอไป มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ผมอธิบายไว้ด้วยว่าก่อนหน้านั้นมาตรา 112 ไม่ได้ปฏิบัติกันขนาดนี้ เพราะการใช้มาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่เป็นสัญลักษณ์ของภาวะวิกฤติในระบอบการปกครองที่ผมเรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์เหนือการเมือง จึงต้องใช้มาตรา 112 และมาตรา 112 ได้รวบรวมเอาสิ่งที่เป็นจารีตธรรมเนียมปฏิบัติในกฎหมายโบราณไว้เต็มไปหมด ไม่ใช่สมัยใหม่นะ ตั้งแต่สันนิษฐานว่าคุณผิด ไม่ให้ประกัน หรืออะไรก็แล้วแต่ จนถึงวิธีการที่น่าสนใจ ซึ่งผมยังไม่เห็นใครเขียน คือการสารภาพ

วิธีการแบบโบราณกับความผิดอาญา เขาจะมีการบีบบังคับทรมานเพื่อให้สารภาพ การสารภาพไม่ได้เกิดจากความสมัครใจอยากจะสารภาพ บังคับทรมานเพื่อให้สารภาพให้ได้ การสารภาพในกรณีคนที่ทำความผิดตามมาตรา 112 เราอาจจะเชื่อว่าในทางปฏิบัติช่วยให้ติดคุกสั้นลง มีโอกาสได้อภัยโทษ แต่คุณเคยคิดไหมว่า นี่คือการทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่เชื่อแบบนั้น การทำลายความเป็นมนุษย์ชนิดนี้ไม่มีในกฎหมายโบราณ กฎหมายโบราณไม่ได้แคร์เรื่องความเป็นมนุษย์ แต่เราเป็นมนุษย์สมัยใหม่ เรามีความเชื่อ และในกรณีนี้มันเป็น thought crime เป็นความผิดทางอาญาเนื่องจากความคิด วิธีการที่เขาใช้คือใช้หลักโบราณ คือบังคับให้สารภาพ แต่ด้วยวิธีการสมัยใหม่ คือมีแรงจูงใจให้สารภาพว่าข้าพเจ้ายอมรับผิดแล้วนะ ผมใช้เทียบเคียงกับตัวอย่างชะตากรรมของวินสตัน สมิธ ในหนังสือ 1984 ที่ถูกบีบบังคับทรมานเพื่อให้สารภาพยังไง และเพื่อให้กลับออกไปมีชีวิตอย่างไร้ชีวิตในสังคมนั้น

สุดท้าย ทั้งหมดนี้ ผมเสนอว่าอภิสิทธิ์ปลอดความผิด impunity ก็เนื่องจากนิติรัฐของไทยไม่เคยเป็นนิติรัฐที่สถาปนาบนฐานปัจเจกบุคคล ไม่ใช่นิติรัฐที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าประชาชนทุกคนเสมอภาคเท่ากัน แต่ยังเป็นนิติรัฐที่ยังรองรับความเหลื่อมล้ำเป็นช่วงชั้น โดยเฉพาะความเป็นช่วงชั้นของไทย ไม่ใช่ชนชั้นแบบมาร์กซ์ (Karl Marx) มันเป็นสถานะและช่วงชั้นตามฐานะอำนาจ ชั้นของไทยเป็นชั้นตามฐานะอำนาจ

อำนาจในที่นี่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเช่น แม่บ้าน พ่อบ้าน ก็มีอำนาจเหนือลูก พ่อบ้านในความหมายหมู่บ้านก็มีอำนาจเหนือลูกบ้าน ไม่ได้ต้องเป็นรัฐ แต่อำนาจหมายถึงระดับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่ใช่รัฐอย่างเดียวที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมทั่วทั้งสังคม ความเหลื่อมล้ำของคนในทางเศรษฐกิจ ผมไม่พูดถึง ผมพูดถึงว่าความเป็นช่วงชั้นของคนมันจัดตามอำนาจ นิติรัฐชนิดนี้ยังไม่ได้ทำลาย หรือไม่ได้อยู่บน หรืออย่างน้อยที่สุดอยู่ควบคู่กับการที่สังคมมีช่วงชั้น ผมกระแดะพูดภาษาอังกฤษในที่นี้ว่า มันเป็น patrimonial rule of law

สำหรับฝรั่ง rule of law คือบุคคลเสมอภาคกัน เสมอภาคในระดับแนวราบ พอผมใส่คำว่า patrimonial rule of law มันจึงเกิดนิติรัฐอย่างลดหลั่นตามชั้นชน

อภิสิทธิ์ปลอดความผิดหรือ impunity จึงเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้วในวัฒนธรรมและนิติรัฐชนิดนี้ เพราะว่าใครยิ่งอยู่สูงยิ่งมีอภิสิทธิ์มาก ใครอยู่ต่ำอภิสิทธิ์น้อยหน่อย เช่น รวยแต่สถานะไม่สูงมาก อย่างมากก็ช่วยคุณเรื่องคุณขับรถชนคนตาย แต่ถ้าอยู่ในสถานะสูงมาก อำนาจมาก ถึงแม้จะไม่ได้รวยเท่าคนที่ขับรถชนคนตาย คุณอาจได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดต่อให้คุณสั่งฆ่าคน เพราะคุณทำในนามของรัฐ กล่าวอย่างนามธรรม รัฐได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดอย่างสมบูรณ์ เอาผิดรัฐลำบาก เมื่อทุจริต ต้องขอดูก่อน ผมว่าเป็นอภิสิทธิ์ปลอดความผิดชนิดหนึ่ง อย่างนี้ มันมีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ ผมถึงเรียกว่าเป็นอภิสิทธิ์

ในเมื่อนิติรัฐของไทยเป็นช่วงชั้น ความมีอภิสิทธิ์เป็นช่วงชั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของ patrimonial rule of law เช่นนี้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่เราเข้าใจสังคมไทยว่าประชาชนเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายต่างๆ นานา เราเข้าใจผิด

หรืออย่างน้อยที่สุด เราเข้าใจถูกเพียงครึ่งเดียว คือ มันมีสองภาวะดำรงอยู่ควบคู่กันตลอดเวลา ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สถาปนาด้วยการเขียนออกมาเป็นกฎหมายในแบบเดิมกับแบบใหม่ มันผสมปนเปกันอยู่ ผมไม่กล้าพูดไปไกลกว่านี้ว่าผสมปนเปแค่ไหน คงแล้วแต่กรณี

ทั้งหมดนี้คือเฟรมเพื่อจะเข้าใจว่าทำไม ไม่ใช่เพียงแต่กรณีต่างๆ ที่เราฟังในที่นี้ แต่ลึกๆ มันคือสังคมไทย มันยาก แต่ด้วยเหตุนี้ เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ผมพยายามพูดหลายครั้ง เรื่องอย่างนี้เรายังพออยู่กับมันได้ ไม่ถึงกับจะเป็นจะตายพรุ่งนี้มะรืนนี้ แต่ขณะเดียวกัน การต่อสู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ต่อให้คุณปฏิวัติทางการเมืองได้พรุ่งนี้ ซึ่งสำคัญนะ มันช่วยปลดล็อกไปเยอะ เหตุการณ์ในปี 2475 ต่อให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นตัวอย่างแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องนิติรัฐ เรื่องความคิดเหล่านี้ เรื่องวัฒนธรรมเหล่านี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ชั่วข้ามคืน เราหนีไม่พ้นที่จะต้องต่อสู้ในกรณีต่างๆ เพื่อหวังว่าการต่อสู้ในกรณีต่างๆ แม้ว่ากรณีต่างๆ จะสะท้อนภาพใหญ่อย่างที่กล่าวมา สมมติว่าบททดลองที่เสนอในวันนี้ของผมถูกนะ กรณีต่างๆ สะท้อนภาพใหญ่ที่เกิดขึ้น แต่การต่อสู้หนีไม่พ้นการต่อสู้ผ่านกรณีต่างๆ เหล่านั้น ต่อให้คุณจำที่ผมพูดได้หมดก็ไม่มีประโยชน์ ต้องต่อสู้ผ่านเคสรูปธรรมจำนวนมาก เพื่อจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ จุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่น่าจะมีวิธีการอื่น วันนี้ผมขอจบแค่นี้ครับ