ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (7): ปมร้าวปลัดคลัง-อธิบดีกรมศุลฯ ใครทำให้รัฐเสียหายกรณีการขอคืนภาษีของเชฟรอน

ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (7): ปมร้าวปลัดคลัง-อธิบดีกรมศุลฯ ใครทำให้รัฐเสียหายกรณีการขอคืนภาษีของเชฟรอน

25 ตุลาคม 2016


คืนภาษีสรรพสามิตเชฟรอน

จากประเด็นข้อพิพาทกรมศุลกากร-เชฟรอน กลายมาเป็นปมขัดแย้งระหว่างปลัดกระทรวงการคลัง-อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งมีความเห็นต่าง กรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ขนน้ำมันจากโรงกลั่นสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ไปขายให้ “เชฟรอน สผ.” บริเวณพื้นที่สัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ถือเป็นการซื้อ-ขายภายในประเทศหรือส่งออก

หลังจากนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ทำบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ กค 0503/13044 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ส่งถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งมติที่ประชุม 3 ฝ่าย (คำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 3 ให้กรมศุลกากรหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก่อน หากมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายให้ทำหนังสือมาสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป) มีมติร่วมกันว่า การนำสินค้าส่งไปใช้ในกิจการปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ถือว่าอยู่ในราชอาณาจักรไทย ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ดังนั้น กรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ขนน้ำมันดีเซลไปขายที่แท่นขุดเจาะ จึงไม่ถือเป็นการส่งออก และให้บริษัทเชฟรอนฯ กลับมาใช้พิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม รวมทั้งขอให้ปลัดกระทรวงการคลังสั่งการกรมสรรพสามิตชะลอคืนภาษีบริษัทเชฟรอนฯ

จากประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากร-เชฟรอน มาถึงตอนนี้ จึงกลายเป็นปมร้าวระหว่างนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงคลังกับนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กับประเด็นใครคือผู้ทำให้รัฐเสียหาย

วันที่ 9 กันยายน 2559 ด่านศุลกากรมาบตาพุด ทำหนังสือ กค 0502(9)/3391 แจ้งบริษัทเชฟรอนฯ ว่ากรณีขนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไปขายที่แท่นขุดเจาะ ขอให้บริษัทเชฟรอนฯ ปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่ง ตามมติที่ประชุม 3 ฝ่าย และในวันเดียวกันนั้น นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ทำบันทึกข้อความที่ กค 0503(ส)/618 แจ้งนายด่านศุลกากรมาบตาพุดว่า “แม้ที่ประชุม 3 ฝ่ายจะมีมติให้บริษัทเชฟรอนฯ กลับไปปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่ง มติดังกล่าวจะมีผลผูกพันก็ต่อเมื่อกรมศุลกากรได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทเชฟรอนฯ อย่างเป็นทางการแล้ว ระหว่างที่กรมศุลกากรยังไม่ได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทเชฟรอนฯ ขอให้ด่านมาบตาพุดปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบของการส่งออกไปจนกว่ากรมศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งบริษัทเชฟรอนฯ อย่างเป็นทางการ”

วันที่ 12 กันยายน 2559 นายซาลมาน ซาดัต ประธานและผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายผลิตภัณฑ์ประเทศไทย บริษัทเชฟรอนฯ ทำหนังสือ C&I 003/2016 ถึงอธิบดีกรมศุลกากร ขอให้สั่งการกรมศุลกากรส่วนกลางและด่านมาบตาพุดอนุญาตให้บริษัทเชฟรอนฯ ปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรในรูปแบบการส่งออก สำหรับการขนส่งน้ำมันดีเซลไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมันได้ ตามที่กรมศุลกากรเคยทำหนังสือตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอนฯ 2 ฉบับ คือ หนังสือที่ กค 0503/4649 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 และหนังสือที่ กค 0503/5351 ลงวันที่ 9 เมษายน 2558

วันที่ 16 กันยายน 2559 นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ 3 ชั้น 1 กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาการดำเนินการพิธีการศุลกากร กรณีขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปบริเวณทะเลอ่าวไทย

โดยนายประภาศกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า “ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อให้ที่ประชุมมีมติชี้ขาดว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นส่งออกหรือไม่ แต่เป็นการประชุมเพื่อร่วมปรึกษาและขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เคยวินิจฉัยความคำว่า ‘ราชอาณาจักร’ และ ‘นอกราชอาณาจักร’ ไว้อย่างไรบ้าง โดยกระทรวงการคลังจะนำความเห็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป”

ระหว่างที่กระทรวงการคลังกำลังรวบรวมประเด็น ยังไม่ทันได้สรุปผลการวินิจฉัย กรณีบริษัทเชฟรอนฯ ส่งน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการส่งออกหรือซื้อ-ขายภายในประเทศ

วันที่ 30 กันยายน 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับ ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจ้งให้รัฐบาลทราบว่าที่ผ่านมากรมศุลกากรอาจวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง แม้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” เอาไว้ แต่ในประมวลรัษฎากร มาตรา 2 ได้กำหนดนิยาม “ราชอาณาจักร” ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ไหล่ทวีป ตามหลักวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ควรนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใกล้เคียงมาประกอบการพิจารณา ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาที่ 2899/2557 ตัดสินให้กรมสรรพากรชนะคดี กรณีบริษัทเรือขนส่งน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะ 6 แห่ง ถือเป็นการขายในประเทศ ไม่ใช่ส่งออก ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต เรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยข้าราชการ

เวลาผ่านมาเกือบ 1 เดือน ปรากฏว่ากระทรวงการคลังยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามคำแนะนำของ สตง. แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรเปิดเผยถึงสาเหตุที่กระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการตามที่ สตง. แนะนำว่า ทางกรมศุลกากรได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังอย่างไม่เป็นทางการว่านายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ตรวจพบประเด็นข้อสงสัยใหม่ ระหว่างการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ขณะนี้กำลังรวบรวมประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ส่งให้กรมศุลกากรทำหนังสือไปสอบถามสำนักงานกฤษฎีกาอีกครั้ง รวมทั้งทำหนังสือชี้แจง สตง. ด้วย

หลังจากที่กรมศุลกากรได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่านายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ไม่เห็นด้วยที่จะให้กรมศุลกากรทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากกรมศุลกากรได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาครบถ้วน (ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร 0903/252 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2559) กรมศุลกากรไม่มีปัญหาข้อสงสัยใดๆ ที่ต้องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีก หากกระทรวงการคลังมีประเด็นข้อสงสัยใดๆ จะให้กรมศุลกากรทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้กระทรวงการคลังทำหนังสือสั่งการมาเป็นลายลักษณ์อักษร

จากนั้น นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ กค 0503/15507 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แจ้งรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่กระทรวงการคลังได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาผลการประชุมร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งมีมติร่วมให้การขนส่งน้ำมันจากชายฝั่งไปขายที่แท่นขุดเจาะ ปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งโดยอนุโลมนั้น ต่อมา สตง. ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0042/3842 ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 มาถึงกรมศุลกากร โดย สตง. มีความเห็นสอดคล้องกับมติที่ประชุม 3 ฝ่าย ทาง สตง. ได้ขอสำเนาใบขนสินค้าขาออกของบริษัทเชฟรอนฯ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ในการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร ทั้งนี้ ทางกรมศุลกากรเห็นว่า ผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะใช้ประกอบการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ สตง. ทางกรมศุลกากรจึงขอทราบผลการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งให้ สตง. รับทราบโดยเร็ว หากเห็นชอบ ขอให้นำเสนอต่อปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

วันที่ 17 ตุลาคม 2559 นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ กค 0503/15507 แจ้งกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทเชฟรอนฯ กรณีบริษัทเชฟรอนฯ ส่งน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการขายในราชอาณาจักร ให้เชฟรอนปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม

ถามว่าทำไมนายกุลิศต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้โดยไม่เกรงกลัวว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังหลายคน แหล่งข่าวใกล้ชิดอธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า นายกุลิศเชื่อมั่นว่าตนกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากตนตรวจสอบพบแล้วเพิกเฉย ไม่แก้ไขให้ถูกต้องเหมือนที่ผ่านมา ในอนาคตข้างหน้า อาจมีอธิบดีกรมศุลกากรคนใหม่มาตรวจสอบพบ เกรงตนจะต้องร่วมรับผิดชอบ ฐานปล่อยปละละเลย และทำให้รัฐได้รับความเสียหาย