ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (5): สตง. ทวงคืนภาษีจากเชฟรอน – ตั้งสอบ ขรก. ฟันทั้งอาญา-แพ่ง-วินัย

ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (5): สตง. ทวงคืนภาษีจากเชฟรอน – ตั้งสอบ ขรก. ฟันทั้งอาญา-แพ่ง-วินัย

4 ตุลาคม 2016


นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0042/3845 ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ ตผ 0042/3840 ส่งถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหนังสือด่วนที่สุดที่ สตง. ส่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งสองฉบับเป็นเรื่องการเรียกเก็บภาษีกรณีการค้าชายฝั่งซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

ตามที่กรมศุลกากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด จำนวน 2 ฉบับ ว่าการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากท่าเรือบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง ไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 60 ไมล์ทะเลขึ้นไป เพื่อนำไปใช้กับเครื่องจักรต่างๆ อันเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทในเครือ ถือเป็นการส่งออกนั้น

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ถือเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่ง ซึ่งต้องเสียภาษีอากร ตามความเห็นที่ประชุม 3 ฝ่ายระหว่างกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

ถึงแม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469จะไม่ได้นิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ แต่เมื่อประมวลรัษฎากร มาตรา 2 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ว่าหมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงควรจะใช้คำนิยามนี้ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ประกอบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 2899/2557 อีกประการหนึ่ง

หากไม่ตีความเช่นนี้ กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสีย แต่ภาษีสรรพสามิตกลับได้รับยกเว้น จะเป็นการตีความที่ลักลั่นกัน ทั้งๆ ที่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตต่างก็เป็นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) เหมือนกัน และด้วยประการสำคัญที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่บริษัทส่งไปขายนั้น เป็นพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย จึงเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย เมื่อเป็นพื้นที่ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย จึงเป็นพื้นที่ในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การขายดังกล่าวถือเป็นการขายในราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการค้าชายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออกที่จะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต และไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์แต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการดังนี้

1. สั่งการให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย นอกจากนี้ ให้เรียกเงินภาษีอากรที่มีการคืนให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ไปแล้วกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน

2. ให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยข้าราชการด้วย

ดังนั้น การขายดังกล่าวถือเป็นการขายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการค้าชายฝั่ง ไม่ใช่การส่งออกที่จะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต และไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราศูนย์แต่อย่างใด

อนึ่ง กรณีการตอบข้อหารือที่เป็นปัญหาสำคัญว่าได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษีหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรจะสั่งการให้กรมจัดเก็บภาษีที่ตอบข้อหารือนั้นหารือมายังปลัดกระทรวงการคลัง และให้ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเป็นไปโดยความถูกต้องและเป็นธรรม จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ลงชื่อ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

[scribd id=326344401 key=key-nqvIeu75v0aYy9uZSrBp mode=scroll]