ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แบงกชาติชี้เศรษฐกิจไทย Q3 ดีกว่าคาด – “ส่งออก-ลงทุนเอกชน” ฟื้นตัว หนุนถึงสิ้นปี

แบงกชาติชี้เศรษฐกิจไทย Q3 ดีกว่าคาด – “ส่งออก-ลงทุนเอกชน” ฟื้นตัว หนุนถึงสิ้นปี

31 ตุลาคม 2016


ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2559 ดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว

“ภาคการท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อาจจะไม่ถึง 33.6 ล้านคนที่เคยประเมิน โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาติอื่นไม่ได้ลดลง ส่วนการระเบิดในช่วงก่อนหน้าไม่ได้ส่งผลกระทบมากเท่าที่คาด ในภาพรวมการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ 18.3% มีนักท่องเที่ยวในปีนี้ถึงปัจจุบัน 24.8 ล้านคน” ดร.รุ่งกล่าว

ส่งออกฟื้นตัวในรอบ 3 ปี แรงส่งเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ภาคส่งออกฟื้นตัวกลับมา 2 เดือนติดต่อกัน โดยมีความหลากหลายหรือ Broad-based มากขึ้น ที่ 3.5% ในเดือนกันยายน และ 2.7% ในเดือนสิงหาคม 2559 และหากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกไทยจะเติบโตที่ 5% และ 3.9% ตามลำดับ ทั้งนี้มาจากปัจจัย

1) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มูลค่าสินค้าหมวดที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมทรงตัวมากขึ้น จากก่อนหน้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง

2) อุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นในหมวดสินค้าที่หลากหลาย เช่น หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น และสินค้าหมวดรถยนต์ ยังขยายตัวแต่เริ่มแผ่วแรงลงบ้างจากกลุ่มตลาดในตะวันออกกลาง ขณะที่สินค้าเกษตรที่มีอุปทานของข้าวเพิ่มขึ้นจากภัยแล้งคลี่คลายไป ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวในเดือนนี้

3) ฐานต่ำในบางหมวดสินค้า เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์

monthly-sep-2016-bot

เอกชนเริ่มลงทุน-นำเข้าเครื่องจักร

ขณะที่การลงทุนของเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณขยับฟื้นตัวมากขึ้นในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการส่งออก ขณะที่หมวดก่อสร้างในระยะหลังที่แผ่วแรงลงไป ไม่ว่าจะยอดขายวัสดุก่อสร้างหรือจำนวนการขออนุญาตก่อสร้าง เนื่องจากเอกชนยังต้องระบายอุปทานที่มีก่อนหน้านี้ แม้ว่าภาครัฐจะมีโครงการที่สนับสนุนการลงทุนในหมวดนี้อยู่ก็ตาม ส่งผลให้โดยรวมการลงทุนเอกชนเริ่มทรงตัวและไม่ทรุดลงไปอีก

สอดคล้องกับการนำเข้าที่กลับมาเป็นบวกในรอบ 15 เดือน (หากไม่นับเดือนพฤษภาคม 2559 ที่เป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.3%) ที่ 1.7% โดยเฉพาะในหมวดสินค้าทุนที่ขยายตัวสูงถึง 9.4% หลังจากหดตัวในปี 2558 ที่ -3.5% และครึ่งปีแรกของปี 2559 หดตัวไป -5.7% ขณะที่วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางพบว่าพลิกกลับมาขยายตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 1.1% หลังจากหดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยหลายส่วนเป็นการนำเข้ามาผลิตและส่งออก

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะใน “กลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก” ที่เติบโตถึง 4.5% สูงกว่าทั้งกลุ่มการผลิตและขายในประเทศหรือกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกและขายในประเทศ โดยในรายอุตสาหกรรมพบว่าหมวดแผงวงจรรวม หรือ IC และเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตอย่างมาก สอดคล้องกับการส่งออกที่ดีขึ้น

“ในการลงทุนภาคก่อสร้างอาจจะเห็นแผ่วลงไปบ้าง อนาคตน่าจะฟื้นตัวได้ แต่การลงทุนจริงๆ ตัวที่ใหญ่กว่าก่อสร้างคือการลงทุนในอุปกรณ์กับเครื่องจักร ตัวนี้ ถ้ามา ขวัญและกำลังใจมามากกว่าก่อสร้างอีก ดังนั้น การลงทุนต้องรอดูต่อไปว่าอุปสงค์ของโลกจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะการลงทุนขึ้นอยู่กับตัวนี้” ดร.รุ่งกล่าว

บริโภคเอกชนแผ่วเล็กน้อย แต่ดีกว่าคาด

ส่วนบริโภคเอกชนโดยรวมยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะแผ่วลงเล็กน้อยแต่ถือว่าแผ่วลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยดัชนีการบริโภคเอกชนลดลงจาก 3.9 ในไตรมาสที่ 2 เป็น 3.1 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 โดยกลุ่มสินค้าที่แผ่วกลับเป็นสินค้าไม่คงทน ซึ่งแต่เดิมคาดว่าไม่น่าจะแผ่วลง ขณะที่สินค้าคงทนหรือกึ่งคงทนกลับยังขยายตัวได้ดีขึ้น สวนทางจากที่เคยคาดการณ์ไว้ ในแง่ของรายได้พบว่ารายได้ของภาคเกษตรยังฟื้นตัวค่อนข้างดีตามปริมาณผลผลิตที่ดีขึ้น แต่รายได้นอกภาคเกษตรยังทรงตัวและไม่ดีขึ้นและอาจจะเป็นตัวฉุดให้การบริโภคเอกชนโดยรวมอาจจะไม่ฟื้นตัวได้มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่แม้จะดีขึ้นบ้างแต่ยังมีแนวโน้มไปทางด้านต่ำ

“โดยสรุปในไตรมาส 3 ของปี 2559 ยอมรับว่าดีกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่ดีขึ้น 2 ใน 3 เดือนจากของทั้งไตรมาส การบริโภคของเอกชนที่แผ่วลงน้อยกว่าคาด การท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดมากเท่าที่คาด แต่อาจจะต้องประเมินผลกระทบของการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญใหม่ ส่วนในไตรมาสต่อไปข้างหน้าคิดว่าการส่งออกน่าจะเป็นแรงส่งต่อไปได้ แต่ภาพรวมอาจจะต้องดูก่อน เพราะหลายปัจจัยกำลังเปลี่ยนแปลง มีทั้งดีขึ้นและแย่ลง” ดร.รุ่งกล่าว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลตามรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง ประกอบกับเป็นรอบการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในไทย สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากการชำระคืนเงินกู้ในเครือ รวมทั้งการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยและการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนไทย อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง