ThaiPublica > คอลัมน์ > บันทึกหกตุลา…. วันอัปยศแห่งชาติ พงศาวดารเรื่องเล่าจากความทรงจำ…(ตอนที่ 2) คำสารภาพของฝ่ายขวา (คนหนึ่ง)

บันทึกหกตุลา…. วันอัปยศแห่งชาติ พงศาวดารเรื่องเล่าจากความทรงจำ…(ตอนที่ 2) คำสารภาพของฝ่ายขวา (คนหนึ่ง)

11 ตุลาคม 2016


บรรยง พงษ์พานิช

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich?fref=ts
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/banyong.pongpanich?fref=ts

อย่างที่ได้เกริ่นนำไว้เมื่อตอนที่แล้วนะครับ ว่าผมมีส่วนร่วมอยู่แค่นิดเดียว แถมเป็นเรื่องช่วงก่อนเหตุการณ์ร่วมปี และในความคิดอ่านช่วงวัย 22 ตอนนั้น ก็เป็นความคิดของเด็กเหลวไหล ไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่เป็นแก่นสารหนักแน่นอะไร ถูกชักจูงเฮไปทางนั้นทีทางนี้ทีได้โดยง่ายเหมือนอย่างเยาวชนทั่วไป แต่ก็ขอยืนยันนะครับว่าไม่เคยคิดว่าตนเองมีจิตใจชั่วร้ายอะไร ยังมั่นใจว่าตัวเองมีพื้นฐานด้านคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีอันเนื่องมาจากการอบรมสั่งสอนของบุพการีและครูบาอาจารย์ตลอดมา

ช่วงต้นปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของรัฐบาลมะเขือเผา สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ได้บริหารประเทศเพราะการปฏิวัติประชาชน 14 ตุลา 2516 …ตอนนั้นผู้นำนิสิตนักศึกษามีบทบาทมากเพราะเป็นผู้นำปฏิวัติ และค่อนข้างใกล้ชิดกับรัฐบาลเพราะรัฐมนตรีสี่ห้าท่านก็ยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อยู่ ซึ่งผู้นำนักศึกษานั้นส่วนใหญ่มักเป็น activist ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม เพื่อความเท่าเทียมกันของผู้ยากไร้ ซึ่งย่อมเป็นการง่ายที่จะกระทบกระทั่งกับกลุ่มอำนาจเก่า ทั้งอำมาตย์ศักดินา ทั้งพ่อค้านักธุรกิจที่ส่วนใหญ่รุ่งเรืองมาภายใต้ระบบพรรคพวกนิยมที่ย่อมมีความผูกพันธ์ลึกซึ้งกับฐานอำนาจเดิม และยังจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจรัฐช่วยในการประกอบการ

หันมาดูเรื่องภาวะเศรษฐกิจนิดนึงนะครับ (ตรงนี้ไม่ค่อยมีใครวิเคราะห์) ปี 2517 และ 2518 ภายใต้รัฐบาลสัญญาและคึกฤทธิ์นั้น เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยโตแค่ 4.5 และ 5.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบสิบห้าปี (ตอนนั้นเราโตเฉลี่ยเกือบ 10% ยกเว้นปี 2515 ที่โต 4.3% เพราะวิกฤติน้ำมันโลก แต่พอ 2516 ก็กลับมาโต 10.2% ไม่เคยโตต่ำสองปีติด ….นี่คือเหตุผลที่หลายคนยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีภายใต้ระบอบเผด็จการ ทั้งๆ ที่คนวางแผนวางระบบในช่วงนั้นหลายคนเกลียดเผด็จการ เช่น อาจารย์ป๋วย เป็นต้น) เรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่พ่อค้าบ่นว่า “ค้าขายฝืดเคือง” (ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าในประเทศไทยนั้น แทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เช่น มีปฏิวัติ เศรษฐกิจจะหยุดชะงักชะลอตัว การลงทุนเอกชนหด ซึ่งเป็นลักษณะของระบบที่ขับเคลื่อนโดย “พรรคพวกนิยม” พ่อค้านักธุรกิจจะสับสนต่อไม่ติดกับขั้วอำนาจใหม่ พอซื้อหาความได้เปรียบไม่ได้ก็ต้องชะงักรอ …แต่สักพักก็ต่อติดได้ใหม่ทุกที …อยากให้มีการวิจัยเรื่องนี้บ้างจัง)

ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ปี 2516 อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 15.5% พอปี 2517 ก็พุ่งขึ้นไปอีก 24.3% ต่อปี ทำลายสถิติในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่มีบันทึกมา ซึ่งสำหรับประชาชนทั่วไปแล้วนี่คือภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” อย่างแสนสาหัส …มิหนำซ้ำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ (ปราโมช) ท่านเกิดคิดนโยบายประชานิยมชุดแรกของไทยที่เรียกว่านโยบายเงินผัน พยายามกระจายงบประมาณและทรัพยากรออกไปให้ชนบท ให้พวกรากหญ้ามากขึ้น ซึ่งของมันไม่ได้หล่นจากฟ้านะครับ งบมันมีอยู่จำกัด พอบ้านนอกได้มากขึ้น ในเมืองมันก็ต้องลดลง ชาวชั้นกลางในเมืองก็เลยเดือดร้อน (ผมเคยวิเคราะห์ระบอบทักษิณที่มีบางส่วนคล้ายกันนี้ ซึ่งถ้าสังเกตดูฝ่ายขวาหกตุลา กับมวลชน กปปส. ก็จะเห็นว่ามีส่วนคล้ายกันอยู่บ้างนะครับ …วิเคราะห์ซื่อๆ นะคร้าบ อย่ามารุมตื้บ รุมเป่าหวีดใส่ผมนะ)

พอภาวะก็แย่ไปหมด แถมรอบประเทศก็เกิดแรงกดดันคอมมิวนิสต์ เขมรแตก สงครามเวียดนามจบ ลาวเป็นแดงเต็มตัว ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ ที่คนจะต้องหาแพะ ว่าอะไรวะทำให้มันวิกฤติขนาดนี้ ใครกันวะ (ที่ไม่ใช่กู) มันเป็นคนทำ ประกอบกับหลังสิบสี่ตุลา ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น พวกหนังสือฝ่ายซ้าย วรรณกรรมฝ่ายซ้าย วีรบุรุษชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเพื่อความเท่าเทียมกันก็เริ่มโผล่มากขึ้น สื่อและหนังสือที่เคยถูกแบนถูกเซ็นเซอร์ก็หาอ่านได้อย่างเสรี ผมรู้จักคารล์ มาร์กซ์ รู้จักฟรีดดริช เองเกลส์ แมกซิม กอร์กี้ รู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ นายผี อัศนีย์ พลจันทร์ สุภา ศิริมานนท์ ก็ในช่วงนี้เอง …แถมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็เริ่มขยายตัว เสาะหาเพิ่มสมาชิก ขยายปฏิบัติการ “ป่าล้อมเมือง” กับได้การสนับสนุนอย่างลับๆ ทั้งด้านทุนทรัพย์ ด้านอาวุธ และการจัดตั้งจากจีน ซึ่งยังอยู่ภายใต้เหมา เจ๋อตุง และกลุ่มฮาร์ดคอร์แก๊งออฟโฟร์อยู่

ขอบอกเลยว่า ภาวะในขณะนั้นสับสนวุ่นวาย เกิดความแตกแยกปั่นป่วนยิ่งกว่าเมืองกาลามะในสมัยพุทธกาลเสียอีก อย่างพวกที่เป็นซ้าย ก็มีทั้ง “ซ้ายจัดตั้ง” ที่หนุนโดย พคท. และจีน และ “ซ้ายอุดมการณ์” ที่มุ่งเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียม ซึ่งถ้าให้ผมเดา พวกหลังน่าจะมีมากกว่าเยอะ แต่ก็ถูกแทรกซึมชักจูงโดยพวกแรกอยู่ตลอด

พอฝ่ายซ้ายขยายบทบาท ก็เป็นธรรมดาที่พวกฝ่ายขวาจะต้องลุกขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็เหมือนกัน คือมีทั้งพวกชาวบ้านธรรมดาๆ ที่มีใจเอียงขวา ยังชอบระบบอุปถัมภ์แบบเดิมๆ กับพวกจัดตั้ง อย่างเช่น กองทัพ หรือหน่วยงานทางความมั่นคง รวมไปถึงกลุ่มองค์กรพิเศษต่างๆ เช่น กลุ่มกระทิงแดง ซึ่งรวบรวมเอานักเรียนอาชีวะ (ช่างกล) มาฝึกกันเป็นกระบวนการ นำโดย พ.อ. สุตสาย หัสดิน นายทหารนอกกองทัพที่ตอนหลังได้รับเลื่อนยศเป็นพลตรีได้) …หรือกลุ่มนวพล ที่จัดตั้งและได้รับการสนับสนุนจาก กอ.รมน. มีสมาชิกทั้งนักวิชาการอย่าง ดร.วัฒนา เขียววิมล องคมนตรี พล.ท. สำราญ แพทยกุล ทหารอย่าง พล.อ. สายหยุด เกิดผล ผู้พิพากษาอย่างธานินทร์ กรัยวิเชียร และแม้กระทั่งพระภิกษุอย่างกิตติวุฒโฑแห่งบางละมุง องค์ที่บอกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” นั่นแหละครับ ร่วมเป็นแกนนำ

อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยในฝ่ายขวา คือ อาสาสมัคร “ลูกเสือชาวบ้าน” ที่ตำรวจตระเวนชายแดนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2514 เพื่อช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมาขยายตัวมากในช่วงนี้ จนมีการรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานธงครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ อาวุธสำคัญอีกอย่างก็คือ ชมรมวิทยุเสรี ที่ใช้เครือข่ายสถานีวิทยุยานเกราะเป็นฐานสำคัญออกอากาศโจมตีฝ่ายซ้ายต่อเนื่อง โดยมีคู่หู อุทิศ นาคสวัสดิ์ และ พล.ท. อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยาเป็นหลัก สมทบด้วยสมัคร สุนทรเวช สส. ประชาธิปัตย์ ที่ตอนแรกได้รางวัลที่ล้มยักษ์ มรว.คึกฤทธิ์ได้ในการเลือกตั้งเขตดุสิต ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย แต่ความที่ออกขวาจัดโดนนักศึกษาต่อต้านมาก จึงหลุดจากชุดรัฐมนตรีเสนีย์ 2 มีเวลามาด่าคอมมิวนิสต์ออกวิทยุทุกวัน …และแน่นอนครับ ที่ขาดไม่ได้ ฝ่ายซ้ายมีจีนหนุน ฝ่ายขวาย่อมมี CIA คอยประสาน คอยหนุนทั้งการข่าว การเงิน ยิ่งตอนนั้น สหรัฐฯ ใช้ไทยเป็นฐานทัพสำคัญหนุนสงครามเวียดนาม และพอต้องถอนตัวจากเวียดนามใต้ ต้องลดกำลังทหารในภูมิภาค ไทยยิ่งเป็นปราการสุดท้ายในอินโดจีน จึงต้องแทรกแซงทุกด้าน

…มีคนเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้น CIA มีเจ้าหน้าที่ในไทยกว่าร้อยคน (ผมยังเคยเจอะเจอตั้งหลายคน) อย่างตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุด (librarian) ประจำสถานทูตสหรัฐฯ ยังมีเป็นสิบคน ผมเจอบางคนไม่เห็นจะมีวี่แววว่าอ่านหนังสืออะไรเลย

ขออนุญาตตัดฉากกลับมาเรื่องที่ผมเข้าไปเกี่ยวเล็กน้อย ได้รู้ได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างนะครับ

ตอนต้นปีการศึกษา 2518 พอทีม “อนุรักษ์จุฬา” เข้าบริหารสโมสรนิสิต เนื่องจากชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้ทุกตำแหน่ง แถมตัวแทนคณะต่างๆ ก็เป็นฝ่ายขวาเสียส่วนใหญ่ การบริหารงานก็ดูเหมือนจะง่ายๆ ราบรื่นดี การประสานกับเหล่าคณาจารย์ก็สะดวก เพราะล้วนแต่เป็นฝ่ายขวานิยมอำมาตย์เกือบทั้งสิ้น …แต่ปัญหามาเริ่มเกิดตอนเลือกตั้งสภานิสิต เนื่องจากหลงระเริงมัวแต่ลำพอง พรรค “อนุรักษ์จุฬา” ไม่ได้สนใจแม้จะส่งคนลงสมัครด้วยซ้ำ ขณะที่พรรคซ้าย “จุฬาประชาชน” ขยันขันแข็งทำงานการเมืองเต็มที่ ขยายสมาชิก โดยเฉพาะนิสิตเข้าใหม่ พอเลือกตั้งสภานิสิตก็เลยได้ที่นั่งร่วมสองในสาม …ระบบการเมืองจุฬาฯ ตอนนั้นคล้ายๆ กับสหรัฐฯ คือเลือกฝ่ายบริหารกับสภาแยกกัน ฝ่ายบริหารก็มีอำนาจบริหารใช้งบประมาณด้านต่างๆ กันไป ฝ่ายสภาก็มีหน้าที่ออกกฎกับคอยตรวจสอบ แต่ก็ไม่มีอำนาจปลด ทำได้แค่อภิปรายประจานกันไป กับร้องเรียนให้ทางมหาวิทยาลัยกำกับอีกที

ถึงแม้ผมจะเป็นกรรมการฝ่ายป้อไปป้อมา ไม่ค่อยได้ทำอะไรสักเท่าไหร่ แต่เจ็ดแปดเดือนในตำแหน่ง ก็ได้กลิ่นการเมืองเต็มที่ เพราะจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งเดียว ที่ฝ่ายขวาชนะเลือกตั้ง ขณะที่ปัญญาชนมหาวิทยาลัยอื่นเลือกฝ่ายซ้ายขึ้นเป็นผู้นำทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ถ้าใครเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า

“If a man is not a socialist before 30, he has no heart. If he still be socialist after 30, he has no brain.”

ก็จะเข้าใจได้ …เพราะถ้ามองในแง่คุณธรรม ความยุติธรรมแล้ว ปรัชญามาร์กซิสต์ดูดีกว่าทุนนิยมเยอะ โดยเฉพาะในบริบทสังคมยุคนั้น …จึงค่อนข้างชัดเจนว่าสโมสรจุฬาฯ เป็นแนวร่วมกับองค์กรฝ่ายขวาอื่นๆ ผมเคยตามพรรคพวกไปประชุมที่ กอ.รมน. เคยเจอ พ.อ. สุตสาย ตัวเป็นๆ ที่ห้อมล้อมด้วยเหล่าพลพรรคกระทิงแดง เคยเห็นมีฝรั่ง (บางทีก็แขก) เข้ามาป้วนเปี้ยน กลิ่น CIA โชยหึ่ง และยังเจอสมาชิกนวพลอื่นๆ …แต่จะว่าไป งานหลักที่ผมเห็น (แต่ที่ไม่เห็นน่าจะมีเยอะกว่านะครับ) ก็มีแค่การแต่ง การพิมพ์โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ แล้วก็มอบให้เหล่าม้าเร็วกระทิงแดงกระจายกันไปปิดตามแหล่งชุมชนต่างๆ เช่น แถวประตูนำ้ ราชประสงค์ เยาวราช สยามสแควร์ สนามหลวง โดยนอกจากไปปิดของเราแล้วยังต้องฉีกของฝ่ายซ้ายหรือไม่ก็ปิดทับไปเลยด้วย ซึ่งปฏิบัติการรอบแรกมักทำกันตั้งแต่ตีสี่ แล้วเวียนไปตรวจอีกทีตอนสว่าง ถ้าบังเอิญเจอกับทีมปิดโปสเตอร์ของฝ่ายซ้ายซึ่งมักเป็นเหล่านักศึกษาผอมแห้งแรงน้อย ทีมช่างกลของเราก็มักลุยแหลก ได้เปรียบด้านกำลัง (ของเรามีการฝึกการยุทธ์โดยทหารให้ด้วย)

ความที่หาผู้นำนักศึกษาฝ่ายขวาทำยาค่อนข้างยากนี่เองครับ พวกเราเลยได้รับการปรนเปรอค่อนข้างดี (เรื่องนี้ผมชอบมาก) มีนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่ล้วนกลัวคอมมิวนิสต์แวะเวียนกันมาเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีไม่ว่างเว้น และนั่นก็เลยทำให้เด็กบ้านนอกอย่างผม ได้เดินยืดเข้าภัตตาคารหรูๆ อย่างเทียร่า ชั้นบนสุดของดุสิตธานี อย่างห้อยเทียนเหลาสุดหรูแถวถนนเสือป่า เป็นครั้งแรกในชีวิต แถมได้สังสรรค์กับเหล่าเศรษฐีชั้นนำหลายคน (ขอสงวนนามนะครับ) อย่างท่านอธิการบดีซึ่งก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย ก็เมตตาเลี้ยงข้าวที่บ้านบ่อยๆ

พอบริหารมาได้ถึงปลายปี 2518 ก็เป็นช่วงที่มีการกระทบกระทั่งกับนักศึกษาฝ่ายซ้ายมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะใน “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” เพราะเราเป็นขวาอยู่เจ้าเดียว จึงโดนรุมโดนแอนตี้อย่างมาก ในที่สุดจุฬาฯ ก็ตัดสินใจลาออกจาก “ศนท.” อันทรงอิทธิพล (ในเวลานั้น) ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลทำให้ “ศนท.” อ่อนแอลงมาก ทางสภานิสิตก็เลยขอเปิดประชุมด่วน อภิปรายโดยเปิดให้นิสิตทั่วไปเข้าฟังด้วย มีคนมาฟังหลายร้อยซึ่งกว่าร้อยละแปดสิบเป็นพวกฝ่ายซ้าย

ผมนั่งฟังอภิปรายก็รู้สึกว่าฝ่ายซ้ายเขามีเหตุผลกว่าเยอะ (แถมมีกองเชียร์คอยปรบมือกับโห่ข้างเรา) ข้างเราได้แต่แถไปแถมา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเราเอาอำนาจอะไรไปลาออกจาก ศนท. ทำไมไม่ปรึกษาสภา หรือเรียกขอประชามติ ขอดูรายงานการประชุมกรรมการด้วย เพราะผู้แทน (ที่บางคนเป็นฝ่ายซ้าย) บอกว่าไม่มีการประชุมด้วยซ้ำ พอพักประชุมผมก็บอกพรรคพวกว่า “ก็จริงของเขา กูยังไม่ได้ถูกเรียกประชุมเลย ที่ไปมั่วว่าเรียกแล้วแต่จดหมายเรียกไม่ถึงน่ะ ถามจริงประชุมจริงป่าว ตัดสินใจกันกี่คน มีใครสั่งมารึเปล่า”

ผมเลยถูกด่าว่า “เฮ้ย ไอ้เตา เราพวกเดียวกัน ห้ามหักหลังกันนะ” ผมก็เลยบอกว่า “กูไม่หักหลังใครหรอก เดี๋ยวกูกลับบ้านก่อนเลยแล้วกัน พรุ่งนี้จะส่งจดหมายลาออกให้” แล้วผมก็กลับบ้าน รุ่งขึ้นก็ได้ข่าวว่าเค้าประชุมต่อไปได้สักพัก กรรมการสโมสรนิสิตชุดพรรคอนุรักษ์จุฬาก็ประกาศลาออกทั้งคณะ เป็นอันยุบพรรคไปโดยปริยาย มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนผมก็ยุติงานการเมืองในมหาวิทยาลัยตั้งแต่บัดนั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอีกเลย ที่เสียดายหน่อยก็เพราะต้องอดกินหรู กลับไปอุดหนุนเจ๊อี่ตลาดสามย่านทุกวันเหมือนเดิม

สถานการณ์ช่วงปี 2519 ดูจะพัฒนาเข้าสู่ภาวะแตกแยกรุนแรงของสังคม เงื่อนไขต่างๆ สุกงอมเต็มที่ นักศึกษาที่เคยกร่าง เคยได้รับบทบาทมากตอนรัฐบาลสัญญา ก็ถูกจำกัดบทบาทลงสมัยรัฐบาลหม่อมน้องหม่อมพี่จนผู้นำนักศึกษาหลายคนก็เข้าป่าไปร่วม พคท. ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์เดือนตุลา ความกลัวคอมมิวนิสต์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ฝ่ายทหารและกลุ่มฝ่ายขวาใช้ในการทำให้ได้อำนาจกลับมา

ถามผมว่าใครผิด ผมคงตอบว่า มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นไปเช่นนั้นเอง มันเป็นเรื่องการเมืองทั้งระดับโลกในเรื่องสงครามเย็น และในระดับชาติที่แย่งชิงอำนาจทรัพยากรกัน ฝ่ายซ้ายถึงจะเกิดเพราะมีอุดมการณ์ มีคุณธรรม ต้องการขจัดสิ่งไม่ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรม แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการจัดตั้ง มี พคท. มีจีนคอยชักใยวางแผน ฝ่ายขวา ถึงจะเกิดเพราะความกลัว เกิดเพราะความจงรักสถาบัน เพราะความรักชาติ ศาสนา แต่ก็มีการชักใยจากภายนอกเหมือนกัน และถึงที่สุดแล้วก็โหดเหี้ยมเกินมนุษย์ ฆ่าเพื่อนร่วมชาติไปตั้งหลายสิบคน (บ้างก็ว่ากว่าร้อย) ผมเห็นด้วยว่าเราควรจะชำระประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้กระจ่าง เพื่อจะได้ถอดบทเรียน ไม่ให้เรื่องอัปยศอย่างนี้เกิดขึ้นได้อีก ไม่ได้จะไปลงโทษใคร (เพราะสี่สิบปี น่าจะหมดอายุความไปแล้วนะครับ)

มีคนถามผมว่า ถ้าไม่มี 6 ตุลา 2519 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จะกลายไปเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโนไหม ผมตอบว่า “ไม่รู้ครับ” รู้แต่ว่ามันมีผลกระทบมาก แค่ผีเสื้อขยับปีกบางทียังทำให้โลกเปลี่ยนได้เลย เรื่องใหญ่ขนาดนี้เกิดขึ้นประเทศไม่เหมือนเดิมแน่นอนครับ แต่มันก็เหมือนกับทุกเรื่องแหละครับ พอมันเป็นไปทางหนึ่งเราก็จะไม่มีวันรู้อีกเลย ว่าถ้าไปอีกทางจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าไม่มีเหตุการณ์หกตุลา ก็อาจเป็นไปได้ว่าทหารก็หาเรื่องปฏิวัติได้อยู่ดี ไม่สร้างเรื่องอื่นก็คงหาเงื่อนไขได้ (ก็เตรียมการไว้ดีขนาดนั้น) หรือไม่อีกทาง ถ้าไม่มีปฏิวัติ แล้วมีรัฐบาลที่ถึงจะอ่อนแอแต่ก็พอถูไถไปได้เพราะทุกคนเคารพประชาธิปไตย เคารพเสียงประชาชน ถึงจะง่อนแง่น แต่ก็พัฒนาไปจนเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแรง ตอนแรกอาจห่วยอาจโกงมากหน่อย แต่ในที่สุดภาคสังคมเข้มแข็ง กลไกตรวจสอบทำงานได้กลายเป็นประเทศพัฒนา (อันนี้คงฝันไปน่ะครับ)

…ถามว่า จะเป็นคอมมิวนิสต์ไหม ผมว่าคงยาก เพราะเงื่อนไขเรายังไม่สุกงอมพอเหมือนเวียดนาม เขมร ลาว สงครามป่าล้อมเมืองยังต้องใช้เวลาอีกนาน ยิ่งถ้าไม่ต้อนนักศึกษาหลายพันเข้าป่าตอนหกตุลายิ่งต้องนานใหญ่ อย่าลืมว่าในวันที่ 6 ตุลา 2519 นอกจากเกิดเหตุการณ์สำคัญในไทยแล้ว ในจีนก็เป็นวันที่แก๊งออฟโฟร์ถูกจับกุมถูกล้มล้าง เติ้ง เสี่ยวผิง เข้าคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จหลังจากประธานเหมาถึงแก่อนิจกรรมในเดือนกันยายน และภายในสองปี เติ้งก็เปลี่ยนนโยบายอย่างกลับหลังหัน เลิกหนุนกระบวนการฝ่ายซ้ายนอกประเทศทั้งหมด แม้ระบบเศรษฐกิจยังเปลี่ยนกลับเป็นทุนนิยม (ที่เรียกว่าระบบตลาดแก้เก้อ) เลยครับ เรื่องนี้ผมขอกล้าฟันธงว่า มีหรือไม่มีหกตุลา ไทยก็ไม่เป็นคอมมิวนิสต์หรอกครับ

ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นเรื่องที่ผมได้รับรู้และเกี่ยวข้องเกี่ยวกับ 6 ตุลา 2519 ซึ่งก็ต้องขอบอกอีกทีว่า เป็นความรู้ความเกี่ยวข้องเพียงผิวเผิน การวิเคราะห์ก็เป็นไปอย่างตื้นๆ ไม่ได้เป็นวิชาการลึกซึ้งอะไรนะครับ เพียงขอมาบันทึกไว้กันลืมเท่านั้นครับ สวัสดีครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 9 ตุลาคม 2559