ThaiPublica > คอลัมน์ > หกตุลาคมสองห้าหนึ่งเก้า วันอัปยศในประวัติศาสตร์ชาติไทย พงศาวดารเรื่องเล่าจากความทรงจำ…..ตอนที่ 1 ปฐมบทวันวิปโยค

หกตุลาคมสองห้าหนึ่งเก้า วันอัปยศในประวัติศาสตร์ชาติไทย พงศาวดารเรื่องเล่าจากความทรงจำ…..ตอนที่ 1 ปฐมบทวันวิปโยค

7 ตุลาคม 2016


บรรยง พงษ์พานิช

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/585145321688771
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/585145321688771

สี่สิบปีแล้วครับ ที่วันแห่งความอัปยศได้ผ่านพ้นมา วันที่คนไทยลุกขึ้นมาเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน วันที่ผู้บริสุทธิ์ที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจำนวนหลายสิบคนถูกเข่นฆ่าโดยที่ไม่มีความผิด เพียงแต่อาจมีอุดมการณ์ที่ต่างกัน มีความเชื่อในลัทธิการปกครองที่ไม่เหมือนกัน ประกอบกับความกลัวในเรื่องที่ถูกปลุกปั่นฝังหัวมานาน ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งถึงกับลุกขึ้นมาสังหารเพื่อนร่วมชาติได้อย่างเลือดเย็น โดยไม่รู้สึกรู้สาถึงความผิดชอบชั่วดี ถึงบาปกรรมที่ก่อได้ถึงเพียงนี้

ผมสามารถกล่าวได้เต็มปากว่า “ผมเป็นเยาวชนคนยุคเดือนตุลา” เนื่องจากผมใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยห้าปี 2515-2520 จึงผ่านเหตุการณ์สำคัญทั้ง 14 ตุลาคม 2516 ที่เหล่านักศึกษาและประชาชนสามารถรวมตัวกันทำการ “ปฏิวัติประชาชน” ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยได้สำเร็จ โค่นล้มระบอบเผด็จการทหารที่ครองประเทศเบ็ดเสร็จยาวนานถึง 16 ปีลงได้ กับได้เห็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ฝ่ายทหารและฝ่ายขวาเอาคืน สร้างสถานการณ์เข่นฆ่านิสิตนักศึกษาไปไม่น้อย แล้วดึงประเทศกลับไปสู่ระบอบเผด็จการได้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ผมเองจะไม่ได้มีบทบาทมากมายหรือเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็มีโอกาสได้เป็นผู้สังเกตการณ์ใกล้ชิดอยู่ไม่น้อย กับมีข้อมูลบางเรื่องที่ได้รู้ได้เห็นได้ฟัง ที่อยากจะเอามาเล่าให้ฟัง เผื่อจะมีส่วนทำให้ประวัติศาสตร์ดำมืดช่วงนั้นกระจ่างขึ้นมาได้บ้าง

ช่วงตอน 14 ตุลาคม 2516 นั้น ผมเรียนอยู่ปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ใช้ชีวิตเกเรไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่ได้ตั้งใจเรียนหรือมีอุดมการณ์อะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว วันๆ ก็เอาแต่เฮฮาไร้สาระ คนเขาประท้วงเดินขบวนก็แค่ไปร่วมไปดูเอาสนุก ไปป้อสาวตามโอกาส ตั้งแต่ประท้วงสินค้าญี่ปุ่นปลายปี 2515 ไปจนถึงประท้วงเรื่องล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ฮ.ตกกลางปี 2516 จนไปมีการประท้วงใหญ่ทวงหารัฐธรรมนูญจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พอเวลามีประท้วงกันทีก็สนุกดี เพราะมักจะไม่มีเรียน ไปดูเฮๆ เอามัน พอได้ยินเสียงปืนเราก็เผ่นกลับคณะที่จุฬาฯ ซึ่งอยู่ไกลสนามรบ มานั่งเล่นไพ่เล่นเลี้ยบตุ่ยกันตามปกติ พอได้ข่าวว่ามีคนเจ็บคนตายก็แห่กันไปบริจาคเลือดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้วก็อ้างได้ว่ากูก็มีส่วนร่วมโค่นล้มเผด็จการ ขอร่วมคณะเป็นวีรบุรุษไปด้วย

อย่างในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมก็ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ไปแข่งรักบี้ให้ทีมชาติไทยในเทศกาลเปสตาสุกันที่สิงคโปร์ เขาจัดฉลองการที่ถูกอัปเปหิออกมาจากมาเลเซียครบรอบสิบปี แต่ก่อนที่จะไป ก็ได้ไปตระเวณดูแถวธรรมศาสตร์ สนามหลวง และบางลำภู ที่เขาประท้วงกันเรื่องที่จอมพล ถนอม กิตติขจร แอบบวชเณร (ตอนอายุจวนเจ็ดสิบ) แล้วลอบกลับเข้ามาประเทศไทยไปจำวัดอยู่ที่วัดบวรฯ ตอนที่ได้ข่าวว่ามีฆ่ากันที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง จนมีการรัฐประหารที่มี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ซึ่งเป็นทหารเรือคนเดียวที่ได้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติในประวัติศาสตร์ (ซึ่งก็มีทหารแก่เล่าเกร็ดให้ฟังว่า จริงๆ เขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้แกเป็นหัวหน้าหรอก เพียงแต่แกทราบข่าวว่ามีการประชุมเตรียมการ แกเลยรีบเข้าไปร่วมแล้วถือว่าเป็น ผบ.สูงสุดอยู่ก็เลยปราดเข้าไปนั่งหัวโต๊ะ เขาเลยจำใจให้เป็นหัวหน้า คอยเซ็นชื่อในคำสั่งที่เหล่าทหารบกจัดเตรียม) ตอนนั้นพวกผมก็ยังอยู่ที่สิงคโปร์ห่างไกลเหตุการณ์ แต่ที่จะมาเรียบเรียงเล่าให้ฟังนี่ จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่าง 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีส่วนบ่มเพาะสถานการณ์ให้สุกงอมจนเกิดเรื่องเศร้าคราวนั้น และบางเรื่องผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเล็กน้อย

ขอเริ่มเรื่องด้วยการเกริ่นสถานการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 นะครับ พอเกิดเหตุการณ์นองเลือดจนจอมพลถนอม, จอมพลประภาส และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ยอมลงจากตำแหน่ง เดินทางออกนอกประเทศแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าพระราชทานให้ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งตรงนี้นับว่าไทยเป็นประเทศที่โชคดีมาก ที่เกิดการปฏิวัติประชาชนแล้วสามารถตั้งหลักเดินต่อไปได้โดยไม่มีความวุ่นวายฉิบหาย ไม่เหมือนกับเกือบทุกประเทศที่มักจะวุ่นวายยุ่งเหยิง เศรษฐกิจพังพินาศกว่าจะตั้งหลักได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ปฏิวัติรัสเซีย 1917 หรือพวกอาหรับสปริงส์ อียิปต์ อิรัก ลิเบีย ที่ผ่านมาหลายปีแล้วยังตั้งหลักไม่ได้เลย แต่ของเรามีการเปลี่ยนผ่านที่ค่อนข้างจะสงบเรียบร้อย ซึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว

รัฐบาลอาจารย์สัญญานั้นได้รับฉายาว่า “รัฐบาลมะเขือเผา” เพราะไม่สามารถควบคุมสภานิติบัญญัติที่ถูกเลือกมาจากสภาสนามม้าได้ และยังค่อนข้างอ่อนแอ ให้ผู้นำนักศึกษาเข้ามามีบทบาทแทรกแซงได้หลายอย่าง รัฐมนตรีหลายคนก็เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น นพ.บุญสม มาร์ติน จาก ม.เชียงใหม่ มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ จาก ม.เกษตร ศ.อรุณ สรเทศน์ จากจุฬาฯ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ จาก ม.มหิดล ด้านผู้นำนักศึกษาก็ค่อนข้างทำตัวกร่างไม่น้อย เข้าไปบงการนโยบายของทางราชการอยู่ไม่น้อย เพราะถือว่าตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความหมั่นไส้ทั่วไป

พอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ มีเลือกตั้งต้นปี 2518 แล้วประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ได้ ส.ส. มากสุดเกิดอ่อนหัดการเมือง ปล่อยให้หม่อมน้อง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มีแค่ 18 เสียง ชิงรวบรวมพรรคที่เหลือจัดตั้งรัฐบาล บริหารไปไม่ถึงปีดี ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ต้นปี 2519 ซึ่งคราวนี้ ปชป. ที่ได้เสียงมากสุดตั้งรัฐบาลได้ มี มรว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะคุมทหารแทบไม่ได้ พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รมต.กลาโหม ก็ถึงแก่กรรม (อย่างมีเงื่อนงำ) หลังรับตำแหน่งเพียง 8 วัน พล.อ. ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ที่รับตำแหน่งแทนก็ชิงลาออกช่วงที่มีการประท้วงถนอม-ประภาสแอบกลับเข้าประเทศ จนหม่อมพี่ต้องควบตำแหน่งกลาโหมเอง

ขอพักเรื่องสถานการณ์ในประเทศไว้ชั่วคราว ไปดูสถานการณ์โลก โดยเฉพาะในภูมิภาคแหลมทองรอบตัวเรา ช่วงปี 2516-2519 นั้นนับได้ว่าเป็นช่วงพีคของสงครามเย็น (Cold War) เลยทีเดียว ฝ่ายหลังม่านเหล็กคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลและขอบข่ายได้อย่างมาก โดยเฉพาะในแถบนี้ เขมรตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเขมรแดงตอนกลางเดือนเมษายน 2518 แล้วพอปลายเดือนไซ่ง่อนก็แตก อเมริกายอมแพ้ถอนตัวจากเวียดนาม พอมาต้นเดือนธันวาคม เจ้าสุวรรณภูมาของลาวก็โดนเจ้าน้องสุภาณุวงศ์ยึดอำนาจเปลี่ยนระบอบเป็นคอมมิวนิสต์ตามก้นเขมรญวนไป ทางด้านตะวันตกของเราก็ไม่ต้องพูดถึง นายพลเนวินเปลี่ยนพม่าเป็นคอมมิวนิสต์สมุนรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2505 เรียกได้ว่า รอบด้านเรายกเว้นทางใต้ ล้วนแล้วแต่เป็นคอมมิวนิสต์ค่ายหลังม่านเหล็ก ใครอยู่ช่วงนั้นก็คงจำได้ว่า ทฤษฎีโดมิโนค่อนข้างชัดเจนว่าไทยคงเป็นประเทศต่อไปที่จะต้องถูกแดงกลืนไป เรียกว่ากระแสกลัวคอมมิวนิสต์ระบาดไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนยุคนั้นล้วนเคยถูกกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อมายาวนานให้เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ขนาดหนัก อย่างผมตอนนั้น ความที่เป็นเด็กวชิราวุธ แถมบ้าคลั่งชอบอ่านสามเกลอของ ป. อินทรปาลิต ยิ่งเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์เข้าไส้ ผมรู้จักคนรวยอำมาตย์เก่าตั้งหลายคนที่ขายทรัพย์สินโยกทรัพย์ไปไว้เมืองนอกเตรียมอพยพหนีคอมฯ

ที่เล่ามายืดยาว เป็นภาวะการเมืองในประเทศ กับภาวะรอบประเทศ ขอตัดชะแว้บมาเล่าเรื่องตัวเองบ้างนะครับ อย่างที่เคยเกริ่นไว้ว่าผมเป็นนิสิตเกเรไม่เอาไหน ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรกับเขาหรอกครับ แต่ก็บังเอิญได้เข้าไปเกี่ยวไปยุ่งบ้าง

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตอนอยู่ปลายปี 3 ต้นปี 2518 ผมได้รับการชักชวนให้เล่นการเมืองในมหาวิทยาลัย เพราะเขาจะมีการเลือกตั้งกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ สำหรับปีหน้า โดยจะมีการเลือกตั้งฝ่ายบริหาร 8 ตำแหน่ง เช่น นายกฯ อุปนายกฯ 2 คน เหรัญญิก ประธานเชียร์ ประธานกิจกรรม สาราณียกร และประธานกีฬา ผมถูกโน้มน้าวจากกลุ่มนิสิตฝ่ายขวา ว่าสโมสรนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศล้วนแล้วแต่ถูกฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์ครอบงำได้เกือบทั้งหมด พวกเราน่าจะฮึดสู้ มิฉะนั้นประเทศไทยคงต้องล้มเป็นโดมิโนตามเพื่อนบ้านไป จะขอให้ไปร่วมพรรค “อนุรักษ์จุฬา” (Chula Conservatives) ลงสมัครเป็นประธานกีฬา (เพราะว่าผมเป็นนักกีฬาทีมชาติได้เหรียญทองซีเกมส์ แถมติดทีมมหาวิทยาลัยตั้ง 4 กีฬา คือ รักบี้ บาสเกตบอล วอลเลย์บอล และทศกรีฑา) ซึ่งตอนแรกผมก็ปฏิเสธ ว่าไม่รู้เรื่องซ้ายขวา และไม่ฝักใฝ่การเมือง ทำงานก็ไม่เป็น แถมกำลังจะผ่าตัดหัวเข่าไม่สามารถไปตระเวนหาเสียงได้ แต่พอถูกตื๊อหนักเข้า และบอกว่าไม่ต้องหาเสียงหรอก ทีมจะทำให้เอง ขอเพียงรูปถ่ายไปติดโปสเตอร์ก็พอ (เสียดายที่ไม่ได้เก็บรูปถ่ายนั้นไว้ เพราะเค้าจ้างมืออาชีพชั้นหนึ่งมาถ่าย และน่าจะเป็นรูปที่หล่อที่สุดในชีวิตผมเลย) ด้วยเลือดรักชาติกับแรงกลัวคอมมิวนิสต์ ผมก็เลยยอมเข้าร่วมทีม

พอผลเลือกตั้งออก ปรากฏว่า พรรคอนุรักษ์จุฬาชนะทุกตำแหน่ง เฉือนพรรคฝ่ายซ้ายคือ “จุฬาประชาชน” ขาดลอย คงเป็นเพราะชาวจุฬาฯ เป็นพวกอำมาตย์เยอะ กลัวคอมฯ กันทั่วหน้า แถมมีพวกอาจารย์คอยหนุนคอยเชียร์ (ตอนนั้น อาจารย์แม่ สุนีย์ สินธุเดชะ อยู่ฝ่ายกิจกรรมนิสิตจุฬาฯ) ตรงนี้ต้องขอโม้หน่อยหนึ่งว่า ในทุกตำแหน่งที่เลือก ผมได้คะแนนสูงสุดขาดลอยมากกว่าใครๆ โดยคู่แข่งก็คือ คุณพงษ์ ระวี ที่ภายหลังเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาชื่อดังของไทยรัฐ (ที่ล่วงลับไปแล้ว)

พอเข้าบริหารงาน ผมต้องยอมรับว่าทำอะไรไม่ค่อยเป็นสักเท่าไหร่ โชคดีที่มีทีมงานช่วย กับมีเลขาสาวอักษรที่เก่งมาก คอยจัดการภารกิจของประธานกีฬาให้แทบทุกเรื่อง ส่วนตัวผมก็ป้อไปป้อมาเหมือนเดิม ที่ชอบมากสุดก็ตอนที่ได้ไปเป็นกรรมการจัดบัลเลต์เทิดพระเกียรติ “ความฝันอันสูงสุด” ที่มีคุณอารีย์ สหเวชภัณฑ์ เป็นตัวเอก กับรวมดาวทุกคณะ ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตร มาร่วมแสดง ซึ่งผมแทบจะไม่เคยขาด ไปดูซ้อมดูแสดงแทบทุกรอบเลย

ในการเป็นกรรมการนิสิตที่เป็นฝ่ายขวาอยู่มหาวิทยาลัยเดียว ในช่วงที่สงครามเย็นฝ่ายซ้ายขวาเริ่มเข้มข้นนี่เอง ที่ทำให้ผมได้ร่วมมีประสบการณ์ในเหตุการณ์บางอย่างที่นำไปสู่วันวิปโยคสุดอัปยศ 6 ตุลาคม 2519 ที่จะมาเล่าให้ฟัง

เดิมตั้งใจจะเขียนเล่าสั้นๆ ในวันครบรอบสี่สิบปีหกตุลา แต่เขียนไปเขียนมาก็ลงละเอียดตามนิสัยเพราะอยากจะบันทึกไว้สำหรับตนเองด้วย กันลืมเลือน วันนี้คงต้องราตรีสวัสดิ์ก่อน ยกยอดไปต่อพรุ่งนี้ในตอน “คำสารภาพของฝ่ายขวา (คนหนึ่ง)” นะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 7 ตุลาคม 2559