ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชี้นโยบายเศรษฐกิจยุค Big Data ข้อมูลคือ “ขุมทรัพย์ใหม่” ของโลก

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชี้นโยบายเศรษฐกิจยุค Big Data ข้อมูลคือ “ขุมทรัพย์ใหม่” ของโลก

15 กันยายน 2016


ดร.วิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ดร.วิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2559 (BOT Symposium 2016) ในหัวข้อ “มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล” รายละเอียดดังนี้

เมื่อนานมาแล้วมนุษย์เราเคยคิดว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก ความเชื่อนี้คงอยู่มานานจนกระทั่งเมื่อมีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้น และ Sir Isaac Newton ได้พัฒนาจนสามารถใช้ส่องดูวัตถุระยะไกลบนท้องฟ้าได้จริงในปี ค.ศ. 1668 จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าแท้จริงแล้วโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่โลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Robert Hooke นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษก็ได้ประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์ในการส่องดูสิ่งต่างๆ รอบตัวจนได้ค้นพบ ‘เซลล์’ ของสิ่งมีชีวิตเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1665 ซึ่งได้กลายเป็นจุดกำเนิดของศาสตร์ด้านชีววิทยามาจนถึงทุกวันนี้

การค้นพบหรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ บ่อยครั้งเกิดขึ้นเพียงจากการ ‘มอง’ หรือการ ‘ส่องดู’ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ โดยอาศัยเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นได้ไกลขึ้น ลึกขึ้น และละเอียดขึ้น ดังที่ Lord Kelvin (วิลเลียม ทอมสัน บารอนเคลวินที่ 1) นักฟิสิกส์ผู้ลือชื่อได้กล่าวไว้ว่า “science begins with measurement” หรือ วิทยาศาสตร์เริ่มต้นด้วยการวัด ความสามารถในการ ‘วัด’ สิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่จึงเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการค้นพบและการเรียนรู้

ในยุคปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่พิเศษยิ่ง เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่กระแสข้อมูลท่วมท้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งยกระดับความสามารถในการวัดสิ่งต่างๆ ได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากเทียบประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจโลกเป็นช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ร้อยละ 99 ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งหมดเกิดขึ้นในเพียงช่วง 20 วินาทีสุดท้ายเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจโลกเพิ่งจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา หากพิจารณาในแง่ของปริมาณข้อมูล อาจประมาณได้ว่าร้อยละ 99 ของข้อมูลทั้งหมดที่มีในปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 1-2 วินาทีสุดท้ายของช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของข้อมูลเท่านั้น ณ ขณะนี้จึงเรียกได้ว่าเราอยู่ในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล หรือยุค ‘Data Revolution’ อย่างแท้จริง

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการสื่อสารที่พัฒนาเป็นระบบดิจิทัลได้สร้างกระแสข้อมูลในรูปแบบที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน นอกจากจะมีข้อมูลจำนวนมหาศาลแล้ว ข้อมูลในมิติใหม่ยังมีความพิเศษทั้งในด้านความเร็ว ความลึก ความกว้าง และความหลากหลาย ทุกย่างก้าวบนโลกดิจิทัลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การอ่านข่าวดูหนังออนไลน์ การทักทายพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือจนเป็นเสมือนอวัยวะหนึ่งของเราไปแล้วนั้น ล้วนแต่ได้ฝาก ‘รอยเท้าดิจิทัล’ หรือ ‘digital footprint’ ที่แสดงถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและกระบวนการตัดสินใจของผู้คนอย่างละเอียดและรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทเอกชนทั่วโลกต่างสนใจที่จะดึงประโยชน์จากกระแสข้อมูลใหม่มาสร้างนวัตกรรมและช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจ และเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า ‘ข้อมูลคือขุมทรัพย์ใหม่’ ในโลกปัจจุบัน

BOT-Symposium-2016

ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางโลกดิจิทัลที่มีข้อมูลรูปแบบใหม่และหลากหลายนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ความครบถ้วน และความแม่นยำของข้อมูลสถิติที่เราพึ่งพามายาวนาน เช่น ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ที่นับวันจะยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้นในการวัดมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ การเกิดบริการรูปแบบใหม่ที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังบน YouTube หรือการโทรศัพท์ผ่าน Line หรือ Skype ซึ่งในอดีตกิจกรรมพื้นฐานลักษณะนี้เคยถูกนับรวมในตัวเลข GDP หรือการที่เส้นแบ่งระหว่างการประกอบธุรกิจกับกิจกรรมส่วนตัวที่เลือนลางลงเรื่อยๆ เช่น จากการให้เช่าห้องพักผ่าน AirBNB หรือการนำรถยนต์ส่วนตัวไปรับจ้างผ่าน Uber ทำให้การวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนปรับปรุงวิธีการจัดเก็บข้อมูลสถิติให้ทันต่อบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูลนี้ ผู้ดำเนินนโยบายต้องเผชิญกับความท้าทายหลักอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) การปรับปรุงข้อมูลสถิติของภาครัฐให้ครบถ้วนทันสมัย สามารถรองรับโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง และ 2) การใช้ประโยชน์ทั้งจากข้อมูลที่มีอยู่เดิมและข้อมูลรูปแบบใหม่อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแนวนโยบายให้ถูกต้องและเหมาะสม

ในการก้าวข้ามความท้าทายทั้งสองประการนี้ งานวิจัยมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง หัวใจของงานวิจัยคือการสังเคราะห์สิ่งที่เป็นแก่นสารออกมาจากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ การแยกแยะความสัมพันธ์ออกเป็นสิ่งที่เป็นเหตุและสิ่งที่เป็นผล งานวิจัยจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแปลงข้อมูลที่บางครั้งดูเหมือนจะท่วมท้นให้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายโลกทัศน์ของเราได้อย่างเท่าทัน ผมขอเน้นว่าเราไม่ได้สนใจข้อมูลด้วยตัวมันเองตามลำพัง ข้อมูลไม่ใช่ความรู้แต่เป็นเพียงทางผ่านสู่การเรียนรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น กระบวนการสกัดและสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลนั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวข้อมูลเอง เราต้องตระหนักถึงศาสตร์ทางสถิติรวมทั้งข้อจำกัดของข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่ข้อสรุปที่บิดเบือน ในยุคแห่ง Big Data เราต้องไม่ลืมว่า ‘ปริมาณข้อมูล’ ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ความครอบคลุมของกลุ่มตัวอย่าง ความสมบูรณ์ของข้อมูล รวมทั้งการตั้งโจทย์ที่ถูกต้องนั้นสำคัญยิ่งกว่า

ประเด็นเหล่านี้เป็นข้อเตือนใจว่าการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ท่วมท้นนั้นไม่ได้ง่ายเสมอไป และต้องทำอย่างระมัดระวัง การที่โลกก้าวสู่ยุคแห่งข้อมูลจะสร้างโอกาสมหาศาลในการรังสรรค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณประโยชน์นานัปการ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งโดยแก่นแท้แล้วคือศาสตร์แห่งการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อเราสามารถวัดพฤติกรรมมนุษย์อย่างที่ไม่เคยวัดได้มาก่อน ทั้งในแง่ความถี่ ความละเอียด และความรวดเร็วจาก digital footprint ที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น โอกาสในการที่จะเข้าใจระบบเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้และเท่าทันย่อมสูงขึ้นมาก

ดร.วิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ดร.วิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ในแง่ของนโยบายเศรษฐกิจ ผมมองว่าการปฏิวัติข้อมูลจะช่วยเสริมการดำเนินนโยบายในอย่างน้อย 3 มิติด้วยกัน คือ

strong>1) ช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การออกแบบมาตรการภาครัฐสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมได้รอบด้าน ครบถ้วน และรวดเร็ว

2) ความสามารถในการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น จากความเข้าใจโครงสร้างในระดับจุลภาค ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายในภาคปฏิบัติและลดจุดรั่วไหล

และ 3) การประเมินประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะละเลย ทั้งๆ ที่ ความสามารถในการประเมินประสิทธิผลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปรับปรุงนโยบายให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การลงทุนในการพัฒนาฐานข้อมูล การลงทุนในเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ การสร้างกรอบกฎเกณฑ์กำกับดูแลการใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การเปิดเผยข้อมูล หรือ‘open data’ สาเหตุหนึ่งที่สหรัฐอเมริกามีงานวิจัยจำนวนมากเป็นเพราะว่านักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าที่อื่น โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ แทนที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะเก็บข้อมูลของตนไว้เพื่อการทำวิเคราะห์วิจัยภายในเอง การเปิดโอกาสให้นักวิจัยภายนอกสามารถศึกษาข้อมูลดังกล่าวได้จะเพิ่มพลังแห่งการเรียนรู้ได้แบบเท่าทวีคูณ

นอกจากนี้ ข้อมูลภาครัฐจะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นหากสามารถเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐอย่างบูรณาการ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกซึ่งเป็นผู้นำในด้านนี้ ข้อมูลที่รัฐจัดเก็บ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลฐานภาษี ข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลสวัสดิการรัฐ หรือข้อมูลด้านการศึกษา ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกันและใช้ศึกษาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการให้บริการสาธารณะ วางแผนการพัฒนาประเทศในระยะยาวแบบตรงจุด รวมทั้งออกมาตรการที่ตอบสนองตามสถานการณ์ของบุคคลกลุ่มต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เป็นส่วนสำคัญของการเพิ่มประสิทธิผลของภาครัฐโดยรวม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐย่อมต้องมาพร้อมกับธรรมาภิบาลของการเก็บรักษาข้อมูลและการใช้ข้อมูลอย่างรัดกุมเหมาะสมเพื่อรักษาสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ต้องมีมาตรฐานการรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล มีการวางโครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลเพื่อป้องกันการโยงข้อมูลกลับไปสู่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และต้องมีการบริหารจัดการที่เคร่งครัดภายใต้ข้อกฎหมายที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎ กติกา และหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องไม่ปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์วิจัยสร้างสรรค์องค์ความรู้และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและเศรษฐกิจไทยดังที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น เพราะแท้จริงแล้วข้อมูลถือได้ว่าเป็น public good หรือสินค้าสาธารณะที่ทรงคุณค่าต่อส่วนรวม การเปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐให้สาธารณชนทั่วไปสามารถรับรู้และเข้าถึงได้เป็นบ่อเกิดแห่งพลังของประชาสังคมที่เข้มแข็ง ความโปร่งใสของข้อมูลภาครัฐจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ และเป็นเกราะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและการตัดสินใจด้านนโยบายที่ผิดพลาดหลงทาง

BOT-Symposium-2016

ในขณะเดียวกัน ความโปร่งใสและความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ ยังเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเป็นรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมขอยกตัวอย่างเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งประสบปัญหามลพิษฝุ่นควันทางอากาศขั้นรุนแรงมาเป็นเวลานาน หนึ่งในแอพพลิเคชั่นที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในเมืองปักกิ่ง คือ Air Quality Index ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลระดับคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆ ในประเทศจีนเทียบกับประเทศอื่นๆ การที่ประชาชนในวงกว้างได้รับรู้ถึงข้อมูลที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง จึงได้เกิดเป็นกระแสมวลชนซึ่งมีส่วนสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและทันที

โครงการ Smart City ทั่วโลกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการสาธารณะ เมื่อประชนชนได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นเกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง และสามารถแสดงความคิดเห็นไปยังหน่วยงานรัฐได้โดยตรงผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการหล่อหลอมพลังของประชาชนเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ของสังคม

งานสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้เป็นความพยายามหนึ่งที่จะสร้างความตื่นตัวในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยเฉพาะในภาครัฐ ซึ่งยังต้องลงทุน พัฒนา และปรับกระบวนการอีกมากในการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและเปิดกว้างมากขึ้น บทความวิจัยที่จะนำเสนอในสองวันต่อไปนี้มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายบนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่รังสรรค์มาจากข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ผ่านวิธีการใหม่ๆ โดยทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติข้อมูลในงานวิจัยด้านนโยบายของประเทศไทย ผมขอขอบคุณคณะผู้วิจัย ผู้วิจารณ์บทความ ผู้ทรงคุณวุฒิ และองค์ปาฐก ที่ให้เกียรติมาร่วมนำเสนอและแสดงความคิดเห็นบนเวทีแห่งนี้ ผมหวังว่างานสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันไปสู่

การยกระดับของการประยุกต์ใช้ข้อมูลในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศ เมื่อเราสามารถวัดได้ จับต้องข้อมูลที่สะท้อนข้อเท็จจริงได้ เราจะสามารถวิเคราะห์ วางแผนปฏิบัติ ติดตามผล และปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ที่ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจะร่วมกันยกระดับและสร้างความแตกต่างให้กับสังคมไทยและเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล