ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ก.ล.ต. กล่าวโทษ “ขุมทรัพย์ โลจายะ” อดีตผู้บริหาร ใช้ข้อมูลภายในขายหุ้น SUPER

ก.ล.ต. กล่าวโทษ “ขุมทรัพย์ โลจายะ” อดีตผู้บริหาร ใช้ข้อมูลภายในขายหุ้น SUPER

21 กันยายน 2016


วันที่ 21 กันยายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้กระทำผิดรายนายขุมทรัพย์ โลจายะ กรณีใช้ข้อมูลภายในขายหุ้นบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) (SUPER) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายขุมทรัพย์ อาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน เกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินทุกประเภทที่ใช้ในการประกอบธุรกิจอิฐมวลเบา ทั้งทรัพย์สินที่ใช้ในการผลิต ใบอนุญาตต่าง ๆ เครื่องหมายการค้า และสินค้าคงเหลือให้แก่บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC) ซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจหลักของ SUPER โดยนายขุมทรัพย์ เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ SUPER ได้ล่วงรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากได้รับมอบหมายจาก SUPER ให้เป็นผู้ติดต่อและประสานงานกับฝ่ายผู้ซื้อ

SUPER เปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการขายทรัพย์สินเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 แต่ตรวจพบว่าในช่วงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 นายขุมทรัพย์ได้ขายหุ้น SUPER ในบัญชีของนายขุมทรัพย์และในบัญชีของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ของนายขุมทรัพย์

การขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เป็นความผิดตามมาตรา 241 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

การกระทำผิดข้างต้น ผู้กระทำความผิดสามารถเข้ารับการพิจารณาการลงโทษปรับทางอาญาโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ดี นายขุมทรัพย์ไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ นายขุมทรัพย์ยังขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดีอีกด้วย

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม