ThaiPublica > คนในข่าว > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้บทบาทภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจ Speed เร็ว – ไม่เหมือนเดิม “ต้องเดินหน้า-ไม่สามารถซื้อเวลาอีกต่อไป”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้บทบาทภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจ Speed เร็ว – ไม่เหมือนเดิม “ต้องเดินหน้า-ไม่สามารถซื้อเวลาอีกต่อไป”

14 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม” จัดโดยสโมสรโรตารีธนบุรี
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม” จัดโดยสโมสรโรตารีธนบุรี

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม” จัดโดยสโมสรโรตารีธนบุรี มีรายละเอียดดังนี้

ขอบคุณท่านนายกสโมสรโรตารีธนบุรี และสมาชิกทุกท่าน ที่ให้โอกาสผมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประชุมสโมสรวันนี้ การพูดครั้งนี้ต่างจากทุกครั้ง เพราะเจ้าภาพให้ผมคิดหัวข้อเอง ซึ่งเป็นความท้าทายในการคิดโจทย์ที่โดนใจและเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

ในภาวะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจดูจะติดๆดับๆ จนเป็นความกังวลของหลายฝ่าย “การปฏิรูปภาครัฐ” เป็นหนึ่งในวาระที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญมาก เพราะภาครัฐเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้โดยไม่สะดุด อีกทั้งภาครัฐจะเป็นผู้ขับเคลื่อนแนวคิดการปฏิรูปต่างๆให้เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป แต่การผลักดันการปฏิรูปที่ต้องทำไปพร้อมๆ กับการเดินหน้านำเศรษฐกิจฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก นับเป็น “โจทย์ที่ยากและท้าทาย” ผมคิดว่ามุมหนึ่งก็ต้องให้กำลังใจกับภาครัฐ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นประเด็นอยากจะชวนกันมาขบคิดว่า บทบาทของภาครัฐน่าจะเป็นอย่างไร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม จึงเป็นที่มาของหัวข้อที่จะพูดในวันนี้ ผมขอนำเสนอเป็น 3 ประเด็นหลักคือ

1) ย้อนรอยบทบาทภาครัฐกับการพัฒนา
2) บริบททางเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่ง
3) บทบาทภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม และ ในช่วงท้าย ผมอยากใช้เวลาสักเล็กน้อยพูดถึงบทบาทของสโมสรโรตารีในบริบทเศรษฐกิจใหม่นี้

1. ย้อนรอยบทบาทภาครัฐกับการพัฒนา

ย้อนดูพัฒนาการของประเทศช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยแข็งแกร่งขึ้นจนปัจจุบันหลายแห่งสามารถไป “ปักธง” ในต่างประเทศ และหลายสินค้าสามารถ “เจาะ” ตลาดโลกได้สำเร็จ การลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาช่วยสร้างฐานเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นและคนส่วนใหญ่พ้นความยากจน พัฒนาการทางการแพทย์ทำให้คนไทยมีสุขอนามัยที่ดีและชีวิตยืนยาวขึ้น ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น เราต้องยอมรับว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐาน ขับเคลื่อน และพัฒนาประเทศในหลายด้านดังที่กล่าวมา

“สิ่งที่เคยทำในอดีต อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในปัจจุบันหรืออนาคต” ฉันใด “บทบาทภาครัฐดังเช่นที่เคยทำในอดีต ก็อาจไม่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจใหม่” ฉันนั้น

เราต้องไม่ลืมว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเกือบไม่มีที่ยืนในแผนที่โลก ตอนนั้นภาคเอกชนยังมีบทบาทจำกัด รัฐบาลจึงต้องตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคง อาทิ โรงกลั่นและปั้มน้ำมันซึ่งก็คือ ปตท.ในปัจจุบัน และเข้ามาเป็นผู้ให้บริการ “ในสิ่งที่ภาคเอกชนเห็นว่าไม่คุ้มค่า” อาทิ การให้สินเชื่อภาคเกษตร สินเชื่อบ้านแก่ผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นที่มาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธกส. ธอส. เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างสิ่งที่ภาครัฐทำในช่วงที่ประเทศกำลัง “ตั้งไข่” ทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความเจริญสู่ชนบท ภาครัฐขยายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า ประปา รวมถึงกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ไปเปิดสาขาในต่างจังหวัด และเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจ ภาครัฐขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่อย่าง Eastern Seaboard สำเร็จจนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง เหล่านี้เป็นการวางรากฐานปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีต้นทุนการดำเนินชีวิตต่ำลง และเกื้อหนุนให้เอกชนไทยเข้มแข็ง ช่วยคนไทยลืมตาอ้าปากได้

แต่ “สิ่งที่เคยทำในอดีต อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในปัจจุบันหรืออนาคต” ฉันใด “บทบาทภาครัฐดังเช่นที่เคยทำในอดีต ก็อาจไม่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจใหม่” ฉันนั้น

2. บริบททางเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่ง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างจากในอดีตมาก มองไปข้างหน้า ปัจจัยสำคัญหลายเรื่องจะทำให้บริบทเศรษฐกิจยังคงเปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง และผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระยะต่อไปจะเกิดขึ้นใน speed ที่เร็วกว่าเดิมด้วย กล่าวคือ

ปัจจัยแรก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้โลกเล็กลง และหลอมรวมประชาคมโลกให้เข้าถึงกันง่ายขึ้น ซึ่งมีนัยต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและประชาชน ที่สำคัญพวกเขามี Social Network เป็นตัวปกป้องสิทธิของตัวเอง และแน่นอนว่าเครื่องมือเหล่านี้ย่อมทำให้การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเอกชนเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า หากยิ่งปกปิดข้อมูลจะยิ่งเสียหาย แต่ยิ่งโปร่งใสจะยิ่งได้รับความเชื่อถือ เพราะวันนี้เราไม่สามารถปิดกั้นพลังของพวกเขาอีกต่อไป

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจัยที่สอง เศรษฐกิจการเมืองโลกที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ เราอยู่ในยุคสงครามเย็นเกือบ 50 ปี จนปี 1991 สงครามนี้ยุติ ปี 1992 จีนเริ่มนำเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมมาใช้ ซึ่งช่วยพัฒนาและมีความแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ และไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าเมื่อปลายทศวรรษ 2000 กลุ่มประเทศตะวันตกต้องเพรี่ยงพร้ำจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ตามด้วยวิกฤติหนี้ยุโรป จนหลายฝ่ายเชื่อกันว่า จีนจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกจะย้ายมาในเอเซียในอีกไม่ช้า พัฒนาการเหล่านี้ชี้ว่า โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จังหวะในการช่วงชิงโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ และต้องไม่ลืมว่า “โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ” แต่หากพลาดโอกาส ก็เหมือนตกขบวนรถไฟที่ยากจะไล่ตามคู่แข่งได้ทัน

ปัจจัยที่สาม กติกาและมาตรฐานสากลที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกติกาด้าน

“ธรรมาภิบาล” ที่สะท้อนการดำเนินนโยบายอย่างรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งทั่วโลกจับตามองและเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ โชคดีที่ภาคเอกชนไทยได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้มีการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลไปไกล ขณะที่ภาครัฐกลับแย่ลงทั้งในมิติความโปร่งใส ความสิ้นเปลืองใน การใช้จ่าย และความไว้เนื้อเชื่อใจที่สาธารณชนมีต่อนักการเมือง

นอกจากโลกที่ไม่หยุดนิ่งคอยกดดันให้เราต้องก้าวตามให้ทันแล้ว คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อยที่จำเป็นต้องแก้ไข ไม่ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ปัญหาคอรัปชัน การศึกษาที่คุณภาพแย่ลง และ ภาระการคลังที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากที่ประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า นั่นหมายความว่า “บทบาทภาครัฐ” จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับจังหวะ “การเดินหน้า” เคียงข้างภาคเอกชนภายใต้บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญเราไม่สามารถ “ซื้อเวลา” อีกต่อไป

3. บทบาทภาครัฐในบริบทเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม

ในบริบทที่ไม่เหมือนเดิม ภาครัฐจำเป็นต้อง “ปฏิรูประบบสถาบัน” เพื่อวางรากฐานที่จำเป็นให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพและมีการพัฒนาอย่างเหมาะสม ซึ่งหลายเรื่องเป็นวาระการปฏิรูปที่ภาครัฐกำลังผลักดันอยู่ มองไปข้างหน้า การปรับปรุงบทบาทภาครัฐควรคำนึงถึงกรอบวัตถุประสงค์ใน 4 มิติที่สำคัญ คือ (1) ประสิทธิภาพและความยั่งยืน (2) ความโปร่งใส (3)ความทั่วถึงและเป็นธรรม และ(4) การร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

มิติแรก ประสิทธิภาพและความยั่งยืน

ภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีผู้เล่น ผู้เกี่ยวข้อง การแข่งขันทั้งภายในและภายนอกที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับศักยภาพการเติบโตที่ถดถอย และภาระของภาครัฐที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ในการทำนโยบายต่างๆ ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปในเรื่องสำคัญดังต่อไปนี้

1. การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ ภาครัฐควรปรับบทบาทจาก “ผู้ควบคุม” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” โดยปรับกฎ กติกา ระเบียบต่างๆ ให้ “เอื้อ” ต่อการทำงานของระบบเศรษฐกิจ เพราะการ “ควบคุม” ที่มากเกินจะเป็นอุปสรรคและสร้างต้นทุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบรวมกว่า 1 แสนฉบับ ใบอนุญาตอีกกว่า 1,500 ประเภท ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า กฎระเบียบจำนวนมากนี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP

นอกจากนี้ เครื่องชี้อันดับความยาก-ง่ายในการดำเนินธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ของไทย ที่ค่อนข้างแย่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น จำนวนวันที่ใช้ในการขอใบอนุญาตก่อสร้างของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 103 วัน ขณะที่สิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 26 วัน หรือจำนวนวันที่ใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจไทยอยู่ที่ 28 วัน สิงคโปร์เพียง 3 วัน เป็นต้น

หรือการประเมินผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม (EHIA) แม้ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องดูแลผลกระทบอย่างรอบคอบ แต่ขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้เวลารวมไม่น้อยกว่า 405 วัน ก็ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้ให้สมเหตุสมผล เพราะจำนวนวันเหล่านี้ไม่เพียงเป็นต้นทุน แต่อาจทำให้ธุรกิจพลาด “โอกาสทอง” ที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ ขณะที่ปัญหาประเภทนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถทำให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้

2. การปฏิรูปการศึกษา ในแต่ละปีภาครัฐใช้งบประมาณ 1 ใน 4 หรือกว่า 5 แสนล้านบาทในเรื่องการศึกษา ทว่า คุณภาพการศึกษาที่ประชาชนได้รับกับแย่ลง ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อบริการที่ไม่ได้คุณภาพในราคาที่แพง กล่าวคือ ถ้าดูงบประมาณด้านการศึกษาพบว่าเกือบร้อยละ 80 (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) เป็นงบที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร นับว่าสูงมาก และในส่วนนี้ 2 ใน 5 เป็นงบบริหารจัดการที่ไม่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง

อีกตัวอย่างที่สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหาร คือ “ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้ชื่อจะเล็กแต่นัยของปัญหาไม่เล็กเหมือนชื่อ เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้เงินและคนจำนวนมาก กล่าวคือ ตามเกณฑ์ทั่วไปห้องเรียนหนึ่งต้องมีนักเรียน 20 คน เพื่อให้สามารถจัดการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ถ้าโรงเรียน มี 6 ชั้น (ประถม 1-6) หมายความว่าต้องมีนักเรียน 120 คน แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนในประเทศหรือประมาณ 15,000 แห่ง มีนักเรียนไม่ถึง 120 คน ถูกจัดเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และกว่า 80% ของโรงเรียนเหล่านี้สามารถเดินทางถึงกันได้

หนึ่งในปัญหาที่พบในโรงเรียนเล็กเหล่านี้ คือ ปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งทำให้ต้องยุบชั้นเรียน และส่งผลต่อเนื่องมาที่คุณภาพการศึกษา ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่ “พลางตัว” อยู่นี้ ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว การแก้ไขต้องอาศัยความเข้าใจ ความเสียสละและความร่วมมือของหลายฝ่าย อย่างไรก็ดี หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง การใช้งบประมาณอาจยิ่งบานปลายเพราะในอนาคตอัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง นั่นหมายความว่า จำนวนเด็กต่อโรงเรียนจะยิ่งลดลง

ถ้าการจัดการทรัพย์สินเหล่านี้(รัฐวิสาหกิจ)ไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับเป็น“การเสียโอกาสการพัฒนา” ของประเทศ เป็น “ต้นทุนที่แพงขึ้น” ของทุกคน

3.การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นงานปฏิรูปอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนอกจากขนาดรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่และนัยที่มากต่อภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว รัฐวิสาหกิจยังเป็นผู้ถือทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ หรือทางพิเศษต่างๆ ดังนั้น ถ้าการจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพ เท่ากับเป็น “การเสียโอกาสการพัฒนา” ของประเทศ และเป็น “ต้นทุนที่แพงขึ้น” ของทุกคน

บริบททางเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงทำให้รัฐวิสาหกิจต้องปรับตัว ตัวอย่างที่คลาสสิก คือ กรณี ธ.ก.ส. ที่ตั้งช่วงปี พ.ศ. 2500 โครงสร้างเดิมอาจจะตอบโจทย์ แต่ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไป โครงสร้างเดิมมีปัญหาการทับซ้อนของบทบาทของผู้มีอำนาจตัดสินใจ จนนำมาสู่ปัญหาเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวที่ใช้เงินจำนวนมากดังที่เราเห็น

ปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ถ้าสำเร็จจะมีนัยสำคัญ ดังนี้ (1) แยกบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาความทับซ้อนของบทบาท (2) นำหลักบรรษัทภิบาลที่ดีตามมาตรฐานสากลมาใช้ อาทิ การคัดเลือกกรรมการ หรือ มาตรการป้องกันไม่ให้รัฐวิสาหกิจถูกใช้ทำนโยบายประชานิยมอย่างไม่มีความรับผิดชอบ และ (3) จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ในฐานะ “หน่วยงานเจ้าของแทนประชาชน” ซึ่งจะทำหน้าที่หวงแหน ปกปักรักษา บริหารสินทรัพย์เหล่านี้ให้เพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า

มิติที่สอง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ในบริบทของโลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “ธรรมาภิบาล” บทบาทของภาครัฐจำเป็นต้องโปร่งใส และมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดช่องทางหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องทำให้ประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียหลักของประเทศ เกิด “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” (Public Trust) จึงจะทำให้การทำงานราบรื่น

บทเรียนจากประเทศกรีซ ที่ภาครัฐทำนโยบายประชานิยมอย่างขาดความรับผิดชอบ จนระดับหนี้สาธารณะสูง และที่แย่กว่านั้นคือ กลับตกแต่งข้อมูล ซึ่งก็หนีไม่พ้นการถูกตรวจสอบจนนานาชาติขาดความเชื่อถือ หรือบทเรียนของประเทศมาเลเซียที่ผู้นำมีปัญหาคอรัปชั่นและเป็นข่าวอื้อฉาว จนทำให้ประชาชนและนักลงทุนสูญเสียศรัทธาส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจ ทั้ง 2 กรณีเป็นอุทาหรณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาล สามารถถูกตรวจสอบ และอธิบายหลักการและเหตุผลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ โดยเรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างวินัยการเงินการคลัง 2. การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และ 3. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อการตรวจสอบ

มิติที่สาม ให้ความสำคัญกับความทั่วถึงและเป็นธรรม

แม้การพัฒนาที่ผ่านมาจะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและโอกาสของประชาชนยังมีอยู่มาก และเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภาครัฐพยายามปรับปรุงและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดเก็บภาษีที่ดิน การสร้างหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการให้ทั่วถึง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมเป็นธรรม มาตรการเหล่านี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ แต่ยังมี “ก้าวต่อไป” ที่สำคัญที่สามารถทำได้ คือ

1. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในหลายด้าน แต่อำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางอยู่มาก ซึ่งมีผลให้การแก้ปัญหามักมีสูตรเดียว (one size fits all) ทำให้ยากที่จะตอบโจทย์ของท้องถิ่นที่แตกต่างกันได้อย่างตรงจุด ภาครัฐจึงควรกระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ และ การทำเช่นนี้จะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน (accountability) บทเรียนการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศชี้ว่า การกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น ทั้งงบประมาณ การบริหารบุคคลและการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ช่วยเพิ่มคุณภาพของการศึกษาให้ดีขึ้น

2. การพัฒนาเขตเมือง เป็นอีกแนวทางที่สามารถสร้างความทั่วถึงให้มีมากขึ้น ไม่นานมานี้รายงานของธนาคารโลกแสดงภาพถ่ายดาวเทียมที่ดูอัตราการขยายตัวของเมืองในช่วงกลางคืนทั่วโลก สิ่งที่น่าตกใจคือ การพัฒนาเขตเมืองของไทยอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับลาว กัมพูชา ทั้งที่เราพัฒนามาก่อน และนี่คือเครื่องชี้ผลการพัฒนาที่กระจุกแต่ในส่วนกลาง นอกจากนี้ แนวทางนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจจีนที่โตอย่างก้าวกระโดดส่วนหนึ่งมาจากการสร้างหัวเมืองขนาดใหญ่กระจายในหลายพื้นที่

มิติที่สี่ การประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในด้านหนึ่งบริบทของโลกไร้พรมแดนทำให้โลกดูเล็กลง แต่ในอีกด้านก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาหรือโจทย์ของประเทศหลายเรื่องยากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมมือกัน เพื่อประสานจุดแข็งในการตอบโจทย์ที่ท้าทาย ภาครัฐจึงต้องปรับบทบาทให้มีการประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ กล่าวคือ

1.ระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่สร้างผลกระทบร่วม อาทิ โรคไวรัส Zika หรือ เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วม อาทิ การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเราต้องไม่มองข้ามว่า วันนี้แรงงานข้ามชาติมีส่วนสร้างความเจริญให้ประเทศเราไม่น้อย

2. ระหว่างส่วนราชการ ที่การทำงานยังมีลักษณะแยกส่วนตามหน่วยงานราชการ ทำให้การแก้ปัญหาในหลายเรื่องติดขัดไม่คืบหน้าเป็นคอขวด มีข้อท้วงติงจากประชาชนบ่อยๆ และเพื่อแก้ปัญหาเรามักจะได้ยินคำว่า one stop service หลังๆ จะได้ยินการใช้มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตัน

3. ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอกชนในด้านความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และระบบงานที่มีประสิทธิภาพคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น อาทิ การร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ประเทศไทยยังมีน้อย ถ้าสำเร็จจะลดภาระของภาครัฐได้มาก หรือการแข่งขันที่เท่าเทียม กล่าวคือ ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้น ในบริการที่เอกชนทำได้ดีและให้ประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ ตามแนวคิด Choice and Competition ที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และลดโอกาสที่งบประมาณจะบานปลาย

Rotary กับการปลูกฝังทักษะการร่วมมือ และ การเป็นผู้มีจิตสาธารณะ

ประสาร-โรตารี่ธนบุรี

ในช่วงท้ายนี้ ผมอยากจะกล่าวถึง การดำเนินงานของโรตารี่ที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างโรแทเรี่ยนเพื่อมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ ดัง Four-Way Test ซึ่งเปรียบเสมือน “ค่านิยมร่วม” ของโรแทเรี่ยนที่ว่า “เป็นความจริง อิงเที่ยงธรรม นำไมตรี ดีทุกฝ่าย” ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยสร้างทักษะและคุณลักษณะสำคัญที่จำเป็นสำหรับโลกในยุคใหม่ โดยเฉพาะด้าน การประสานความร่วมมือ ใช้จุดแข็งของทุกคนในการตอบโจทย์ที่ยากดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และ การเป็นผู้มีจิตสาธารณะ ซึ่งสำคัญและจำเป็นมากในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

อย่างไรก็ดี “จิตสาธารณะ” มักถูกตีความจำกัดอยู่ในมุมของการอยากให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่คำนี้สามารถกินความหมายกว้างถึง “การคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว” เพราะเมื่อมีหลักคิดเช่นนี้ จะทำให้สามารถดึงตัวเองออกจากการเป็นผู้มีส่วนได้เสียแล้วการตัดสินใจต่างๆ จะเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งผมเชื่อว่า “พลังแห่งจิตสาธารณะ” จะช่วยให้ทุกท่านสามารถก้าวข้ามโจทย์ที่ยากได้อย่างไม่น่าเชื่อ มิฉะนั้น โรตารี่คงไม่อยู่คู่โลกนี้มาถึง 111 ปี

ที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศในหลายเรื่องติดขัดไม่ก้าวหน้า ส่วนหนึ่งเพราะ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถมองข้ามประโยชน์ของตน หรือหน่วยงานของตน จึงไม่เห็นประโยชน์ของการปฏิรูปพัฒนาที่จะสร้างคุณูปการต่อส่วนรวมระยะยาว การเป็นผู้มีจิตสาธารณะเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะจะเอื้อให้โลกก้าวหน้าและพัฒนาต่อไปได้อย่างผาสุกร่มเย็น

ผมขอสรุปสิ่งที่เล่าสู่กันฟังในวันนี้ว่า ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ภาครัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทเพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ประเทศในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยกรอบวัตถุประสงค์ที่ควรให้ความสำคัญและคำนึงถึงคือ

(1) ประสิทธิภาพและความยั่งยืน (2) โปร่งใสและตรวจสอบได้ (3) ความทั่วถึงเป็นธรรม และ (4) การประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และปัจจุบันมีความพยายามปฏิรูปเพื่อเดินหน้าประเทศในหลายด้าน เพื่อวางรากฐานให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถดำเนินไปด้วยดี มีเสถียรภาพและการพัฒนา

อย่างไรก็ดี การผลักดันให้แนวคิดเกิดได้จริงยังเป็นเรื่องที่น่าท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือและเข้าใจจากทุกฝ่าย

ผมขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้ครับ