ThaiPublica > เกาะกระแส > “อัศวิน ขวัญเมือง” ยันรื้อป้อมมหากาฬอีก 38 หลัง ต้องเสร็จปี ’59 – ระบุที่ดิน 21 แปลงเป็นของ กทม. ตาม กม.

“อัศวิน ขวัญเมือง” ยันรื้อป้อมมหากาฬอีก 38 หลัง ต้องเสร็จปี ’59 – ระบุที่ดิน 21 แปลงเป็นของ กทม. ตาม กม.

24 กันยายน 2016


จากดีเดย์เมื่อวันที่ 3 กันายายน 2559 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการดำเนินการรื้อถอนบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ หรือเรียกว่า ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ ตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535

จากนั้น มีการเคลื่อนไหวเรื่อยมาจากชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬและกลุ่มต่าง ๆ ที่คัดค้านการกระทำของ กทม. กระทั่งวันที่ 8 กันยายน 2559 ชาวบ้านชุมชมฯ และเครือข่ายที่สนับสนุน ได้ยื่นข้อเสนอ ให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการหพุภาคี เพื่อหารือร่วม พร้อมทั้งขอให้หยุดการไล่รื้อทั้งสิ้น (ดูข้อเสนอ)(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%ac_update1

ล่าสุดวันนี้ 23 กันยายน 2559 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีการแถลงข่าว “แนวทางการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์บริเวณป้อมมหากาฬ” โดย พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วย นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษารองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, นายยุทธพันธ์ มีชัย ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายโสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และนายอัครพล รามโกมุท ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวถึงการให้ความร่วมมือในการรื้อย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ เพื่อยืนยันความความชอบธรรมในการดำเนินการ และแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬในอนาคต

โดย กทม. ชี้แจงว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ที่ดิน 21 แปลงตกเป็นของ กทม. เพื่อใช้เป็นประโยชน์สาธารณะ คนในชุมชนได้ทยอยย้ายออกไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2559 เหลือบ้านจำนวน 56 หลัง ล่าสุดเมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2559 กทม. ได้รื้อย้ายจำนวน 16 หลัง ปัจจุบันถึงเหลืออีก 38 หลัง

สำหรับจุดประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่ คือ ทำสวนสาธารณะบางส่วน ที่เหลืออาจจะเป็นอุทยาน พิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เข้าชมฟรี

ยืนยันมีชาวบ้านต้องการย้ายออก

นายวัลลภ สุวรรณดี กล่าวว่า การรื้อนั้นเป็นส่วนที่ประชาชนได้ตกลงไว้แล้ว ฉะนั้น ตามที่สาธารณชนเข้าใจว่า กทม. ไปไล่รื้อ ขออนุญาตเรียนด้วยความเป็นธรรมว่า กทม. มิบังอาจไปรื้อบ้านชาวบ้านได้ การเข้าไปดำเนินการเป็นการขอร้องของเจ้าของทรัพย์โดยแท้ และการขอร้องนั้นก็มีเอกสารชัดเจนว่ายินยอมให้เข้าไปรื้อ

“แต่ชาวบ้านก็ยังไปร้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ซึ่งศาลปกครองไม่รับฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์พึงจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่เป็นผู้รับเงินทดแทนไปจากกรุงเทพมหานคร พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อน นอกจากนั้นแล้ว พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ กทม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ แล้ว ป.ป.ช. ก็บอกให้เรารื้อด้วย มีการไปเร่งรัด บอกว่า กทม. ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย” นายวัลลภกล่าว

นายวัลลภกล่าวว่า ที่ดินทั้งหมด 11 แปลงนั้นเป็นของรัฐเรียบร้อยแล้ว โดยสาระสำคัญของ พ.ร.ฎ.เวนคืน ปี 2535 สิ่งที่สำคัญคือเจ้าของทรัพย์ขอให้เข้าไปรื้อ จึงได้ดำเนินการรื้อ 12 หลัง และยังมีหลังที่ 13 ที่เจ้าของทรัพย์ให้เข้าไปรื้อ แต่ว่ารัฐไม่สามารถเข้าไปรื้อได้

นายวัลลภกล่าวถึงจุดประสงค์แนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬต่อว่า นอกเหนือจากเป็นพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งการเรียนรู้แล้ว ด้านหลังชุมชนมีคลองโอ่งอ่างซึ่งยาวตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ขนานกับคลองผดุงกรุงเกษม ก็อาจใช้เป็นเส้นทางสัญจรต่อไปโดยนโยบายของรัฐบาลและ กทม.

ก่อนสิ้นปี 2559 ต้องรื้อแล้วเสร็จ – ชาวบ้านอีก 10 รายเต็มใจย้ายออก

นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่มีความเต็มใจ ยื่นความประสงค์มาพอสมควร ขอให้เราช่วยรื้อย้ายบ้าน หรือแจ้งว่าจะรื้อย้ายออกไปเอง แต่ก็มีอยู่บ้างที่ยังอยู่ที่เดิม เราเองก็มีเป้าหมายว่าก่อนสิ้นปี 2559 น่าจะดำเนินโครงการนี้ได้สำเร็จ ต้องขอแจ้งว่าจุดประสงค์ของการทำงาน คือ การอนุรักษ์ป้อม ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงป้อมได้ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมป้อม ได้มีการหารือรูปแบบกับคณะกรรมการฯ แล้ว

โดยรูปแบบเราจะทำให้บริเวณรอบๆ เกิดกิจกรรมต่างๆ ของสังคม เช่น การเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจ หรือการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นจุดสำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์

ด้านนายยุทธพันธ์ มีชัย ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้เจรจากับชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า เราไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม ไม่ได้มองพี่น้องในป้อมเป็นศัตรู ยืนยันชัดเจนว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย เหตุการณ์ในวันที่ 3 กันยายน คือกระบวนการทำงานตามกฎหมาย เมื่อมีการร้องขอจากชุมชนว่าขอเจรจาในวันนั้น เราก็ยุติ ไม่มีกระบวนการทำงานต่อ ขอเรียนด้วยว่า 12 หลังที่เราดำเนินการไปนั้นมีความประสงค์ของเจ้าของบ้าน ขณะนี้มีชาวบ้านที่มีความประสงค์ย้าย เอาทรัพย์สินออกจากพื้นที่อีก 10 ราย

ทั้งนี้ กระบวนการทำงานต่อไปของ กทม. ได้ยึดถือตามหลักกฎหมาย หลักรัฐศาสตร์ และสิทธิมนุษยชน แต่ในขณะเดียวกันพี่น้องในชุมชนที่เห็นต่างก็ต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของพี่น้องที่อยากย้าย อยากออกจากพื้นที่เช่นกัน

“ต่อไปการทำงานของ กทม. ก็จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ผมเองก็จะทำงานให้ดีที่สุดในการเจรจากับชาวบ้าน ลดความรุนแรง ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ตามที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ให้แนวทางไว้” นายยุทธพันธ์กล่าว(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ลำดับเหตุการณ์ป้อมมหากาฬ

ชาวบ้านเสนอตั้ง คกก. พหุภาคี – “อัศวิน”ยันรื้อต่อ

ภายในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. ชุมชนป้อมมหากาฬและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ได้เข้าติดตามทวงถามความคืบหน้าในเรื่องจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี โดยนายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร ผู้อำนวยการส่วนนิติการ เข้าพูดคุย โดยระบุว่าขณะนี้จดหมายได้ยื่นต่อผู้ช่วยของ ม.ล.ปนัดดา และ ม.ล.ปนัดดาเซ็นจดหมายนี้ แล้วส่งไปยัง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า นอกจากนั้น มีการทำจดหมายเพิ่มเรื่องขอให้หยุดการไล่รื้อ ซึ่งทางการรับเรื่องฯ เพื่อให้นำเรียนนายกฯ ผ่านทาง พล.อ. ประวิตร ให้เร่งสั่งการ

ขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ได้ตอบถึงประเด็นการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี และจดหมายที่ชาวบ้านยื่นดังกล่าวนี้ว่า ยังไม่ได้รับจดหมาย ถ้าภาครัฐประสานมาเราก็ยินดี แต่ขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดสั่งการมายัง กทม. จึงต้องเดินไปตามครรลองของมัน ถามว่าจะรอให้หนังสือถึงก่อนได้ไหม เราคงรอไม่ได้ แต่ถ้าหนังสือมาถึงเราเมื่อไหร่ เราก็ปฏิบัติตามนั้น

“ผมไม่ดำเนินการโดยพลการ ถ้าไม่เต็มใจ เขากลัวจะไปรื้อหมด ผมจะรื้อแค่ 12 หลังเท่านั้น มีมาประสานแล้ว เซ็นมอบเอกสาร ให้อีก 10 หลัง แต่เขาบอกว่าเพื่อป้องกัน กลัวเกิดข้อขัดแย้ง ผมเลยขอร้องว่า รื้อเองได้ไหม แต่เดี๋ยวจะเอารถมาจอดข้างนอกช่วยขนของให้ เจ้าของบ้าน 10 หลังที่เซ็นมอบนั้นยินดีที่จะรื้อเอง แต่ขอร้องให้ กทม. มาบรรทุกของ เรายินดี ไม่อยากให้มองว่า กทม. เข้าไปรื้ออีกแล้ว ไม่อยากให้มองว่าไล่รื้อ เป็นคำพูดที่เราเจ็บปวดมาก คำว่าไล่รื้อ เราไม่สบายใจเลย เราไม่ได้คิดจะทำเช่นนั้นเลย เราไม่ได้มีความคิดว่าจะไปไล่รื้อบ้านของประชาชนเลย เราก็พี่น้องคนไทยด้วยกัน มันเป็นความปวดร้าวของพวกผมที่ได้ฟัง” พล.ต.อ. อัศวิน กล่าว

เมื่อถามถึงแผนการดำเนินการการรื้อย้าย และกระบวนการ กรณีกลุ่มชาวบ้านสุดท้ายไม่ยอมย้ายออก พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า ขณะนี้มีคนมายื่นความจำนงแล้ว 10 ราย วันไหนจะไปรื้อก็บอกไม่ได้ หากฝนตกก็รื้อไม่ได้ ขนของลำบาก แต่เร็วๆ นี้ เราจะรีบดำเนินการในส่วนที่มายื่นความจำนงไว้ โดยจะดูจังหวะ ความเหมาะสม โอกาส ความเป็นไปได้ และจะเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เร็วที่สุด แต่ที่ถามว่าจะไม่ไปจะทำอย่างไร ผมก็คงต้องลงทุนไปกราบเขา ว่าเราอยู่ในประเทศไทย ต้องเคารพกฎหมายไทย อย่าไปดื้อดึงกันเลย แต่ผมคงไม่ทะเลาะ ให้ผมกราบผมก็ยอม ถือว่าเป็นญาติเราทั้งนั้น ผมเชื่อว่าด้วยจิตสำนึกของความเป็นคนไทย ผมว่าเขาเข้าใจ และท้ายที่สุดเขาก็ไป เชื่อผมเถอะ คนไทยคุยกันรู้เรื่อง”

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไร หากมีชาวบ้านบางกลุ่มยังคัดค้าน พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า “ก็ต้องแจ้งความ ทรัพย์ของเขา เขาแจ้งแน่ จริงๆ เขาบอกจะไปแจ้งแล้ว แต่ผมบอกว่าอย่าเพิ่ง ใจเย็นๆ ค่อยๆ เขาอาจจะไม่ทัดทานก็ได้ แต่ทัดทานก็แจ้งความแน่นอน เพราะเขาเป็นผู้เสียหาย ทรัพย์ของเขา จะเอาทรัพย์ของเขา ไปห้ามเขาไม่ได้”

พล.ต.อ. อัศวิน ได้ชี้แจงต่อว่า ขณะนี้ที่เหลือ 38 หลัง ปัจจุบัน ที่มาเซ็นยื่นความจำนงไว้ 20 กว่าหลัง แต่ที่เซ็นมอบให้เรียบร้อยแล้ว อยู่ในมือแล้ว 10 หลัง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการกับ 10 หลังนี้ก่อน แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการเมื่อใด

“ตอนนี้ฝนฟ้ามันตก ก็ไม่กล้าบอกว่า ถ้าบอกพรุ่งนี้ เสาร์อาทิตย์นี้ ถ้าฝนยังตกแบบนี้ ก็ไม่สะดวก เอาเป็นว่าฝนหยุดเมื่อไหร่ รื้อเมื่อนั้น”

เมื่อถามว่า ยืนยันจะรื้อภายในปี 2559 นี้เลยหรือไม่ พล.ต.อ. อัศวิน ตอบว่า “ต้องเลย ต้องไป ยังไงก็ต้องไป ผมบอกแล้ว อยู่ในเมืองไทยต้องเคารพกฎหมายไทย มันเป็นไปไม่ได้ ภายในธันวาคมนี้แน่นอน”

ข้อเสนอชุมชนป้อมมหากาฬ Co-create

การประชุมของชุมชนป้อมหมากาฬ

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2559 ชุมชนป้อมมหากาฬได้มีการจัดงาน Co-create Mahakan เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อ “พื้นที่สาธารณะเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง” โดย “สมาคมสถาปนิกสยาม”, กลุ่มสถาปนิกผังเมืองจิตอาสา, ชาวบ้านตัวแทนจากชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์, ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ, และอาสาสมัคร

นายภัททกร ธนสารอักษร สถาปนิกอาสา และกลุ่มมหากาฬโมเดล กล่าวว่า งานนี้ได้หาข้อมูลจากความต้องการในมุมมอง 4 มุมมอง ได้แก่ ชาวบ้านป้อมมหากาฬ นักท่องเที่ยว คนในชุมชนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และ กทม. โดยสรุป แบ่งความต้องการเป็น 4 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ที่ชาวบ้านทำได้เอง เงินลงทุนต่ำ คือทำแปลงผักสวนครัว ทำทางเดินริมน้ำ พื้นที่ออกกำลังกาย และลานกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น
2. ระยะกลาง ทำทางสัญจรหลักใหม่เพื่อเป็นทางจักรยาน มีที่จอดจักรยานในชุมชน ห้องสมุดชุมชน และพิพิธภัณฑ์
3. ระยะยาว ต้องพึ่งปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ คือ ทำห้องน้ำสาธารณะ
4. ระยะยาวมาก ให้เป็นแผนเสนอ กทม. บอกถึงศักยภาพชุมชน คือ ทำระบบระบายน้ำสาธารณะ ให้ไหลลงคลอง จัดให้มีโซนโฮมสเตย์ ให้มีการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน ซึมซับประวัติศาสตร์

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ได้กล่าวว่า “กทม. มีแผนจะรื้อบ้านอีก 9 หลัง ในวันที่ 27-28 กันยายนนี้ ซึ่งทางเรายังมองว่า กทม. ไม่เคยทำประชาพิจารณ์ ไม่มีส่วนร่วมของชาวบ้าน และชุมชนนี้เป็นชุมชนที่แข็งแรงมาก และมีศักยภาพที่จะทำได้อีกหลายอย่าง”

ข้อเท็จจริงการเวนคืนที่ดินป้อมมหากาฬ

จากข้อเท็จจริงที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ ได้ถูก กทม.เวนคืน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนด เขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงบวร นิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535โดย กทม.ได้นำค่าทดแทนที่ต้องจ่ายไปทำการวางทรัพย์ไว้ที่ธนาคารออมสิน ตั้งแต่ปี 2538 ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ในมาตรา 31 ประกอบมาตรา 18

ทั้งนี้เรื่องค่าทดแทนที่ต้องจ่ายตามกฎหมายเวนคืนฯ มาตรา 18 ระบุถึงผู้ที่หน่วยงานรัฐที่ทำการเวนคืนที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ต้องจ่ายค่าทดแทนให้ ได้แก่

  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน
  • เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้น
  • ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
  • เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดิน
  • เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนได้ ซึ่งมีอยู่ในดินที่ต้องเวนคืนนั้น
  • บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้น
  • และในกรณีที่มีปัญหาในการจ่ายค่าทดแทนหน่วยงานรัฐสามารถ “วางทรัพย์” เพื่อจ่ายค่าทดแทนได้ตามกฎหมายเวนคืนฯ มาตรา 31

    “ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ถ้าจะต้องมีการวางเงินค่าทดแทนไม่ว่าเนื่องในกรณีใด ๆ ให้กระทำโดยการนำเงินไปวางต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยแยกฝากเป็นบัญชีเฉพาะราย…”

    ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจาก กทม. ระบุว่าเจ้าของที่ดินดังกล่าวได้รับเงินจากธนาคารไปแล้ว ส่วนชาวบ้านที่เช่าที่อยู่อาศัยภายในป้อมฯ ก็มิได้ชำระค่าเช่ามาตั้งแต่ปี 2535

    ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการวางทรัพย์ (มาตรา 331 ประกอบมาตรา 339) กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อลูกหนี้(กทม.)ได้ทำการวางทรัพย์ที่วางไว้ ถือว่าหลุดพ้นจากการชำระหนี้ และหากใน 10 ปี ไม่มีการมารับทรัพย์ เจ้าหนี้(เจ้าของที่ดินป้อมมหากาฬ)จะหมดสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าว และลูกหนี้สามารถนำทรัพย์กลับคืนไปได้