ThaiPublica > คอลัมน์ > Sandbox: กล่องทรายกฎหมาย

Sandbox: กล่องทรายกฎหมาย

19 กันยายน 2016


พิเศษ เสตเสถียร

เรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินการธนาคารตอนนี้เห็นจะไม่มีอะไรดังเท่ากับเรื่อง FinTech

เพราะตอนนี้มีการพูดถึงเรื่อง FinTech กันมากมาย ว่ากันว่าในอนาคต FinTech จะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกการเงินไปเลยทีเดียว

เอาอย่างสั้นๆ เพราะมีคนพูดไปเยอะแล้ว FinTech ก็คือธุรกิจการเงินที่ผสมด้วยเทคโนโลยี ทำให้เกิด FinTech ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ระบบ “พร้อมเพย์” วิธีการจ่ายเงินจะจ่ายตรงไปยังผู้รับด้วยเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ก็คงนับได้ว่าเป็น FinTech อย่างหนึ่ง หรืออย่างการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ไปลงทุนในระบบชำระเงินระหว่างประเทศโดยใช้ Blockchain ของ Ripple ซึ่งก็ทำให้การโอนระหว่างประเทศทำได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีแทนที่จะเป็น 5 วัน

ที่น่าสนใจก็คือ มีหลายประเทศที่เห็นความสำคัญของธุรกิจนี้ ถึงกับออกกฎเกณฑ์ว่าใครที่อยากจะทำธุรกิจการเงินที่มีหรือใช้เทคโนโลยีหรือ FinTech นี้จะทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตทางการ แต่จะให้ทำได้เลย จะควบคุมก็แต่เช่น การคุ้มครองแก่ผู้บริโภค ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ดังนั้น ใครๆ ก็จะทำ FinTech ได้ถ้ามีเทคโนโลยีของใหม่ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสถาบันการเงินที่มีอยู่แล้วเท่านั้น

ที่เราเคยคุ้นกับระบบการขออนุญาต จะทำอะไรทีต้องไปขออนุญาตทางการ ไม่อย่างงั้นทำไม่ได้ การขออนุญาตแต่ละทีก็อาจจะต้องใช้เวลานาน รอแล้วรออีกก็ไม่ต้องรอแล้ว เพราะถ้าเป็น FinTech จะให้ทำได้เลย

การไม่ต้องขออนุญาตนี้ ทางการจะเป็นผู้กำหนดกรอบให้ว่าจะอนุญาตให้ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร และให้เป็นระยะเวลาเท่าไร (เช่น 6 เดือน) กรอบที่ไม่ต้องมาขออนุญาตนี้มีชื่อเรียกกันแบบย่อๆ ว่า “กล่องทราย” หรือ “Sandbox”

ตอนนี้ มีประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เป็นหัวหอกประกาศตัวให้การสนับสนุนแก่ FinTech ไปแล้ว แต่ละประเทศก็มีหลักเกณฑ์ของ “กล่องทราย” ที่ว่านี้ออกมา เราลองมาดูเป็นตัวอย่างว่า “กล่องทราย” ของเขาว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

ที่มาภาพ : http://www.financemagnates.com/wp-content/uploads/2015/04/Monetary-Authority-of-Singapor_880x400.jpg
ที่มาภาพ : http://www.financemagnates.com/wp-content/uploads/2015/04/Monetary-Authority-of-Singapor_880x400.jpg

อย่างของประเทศสิงคโปร์ Monetary Authority of Singapore หรือ MAS วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า กรณีจะถือว่าเป็น FinTech นั้นมีความเหมาะสมถ้า

1. รูปแบบรวมทั้งโปรแกรม (Solution) ของ FinTech เป็นการบุกเบิกทางเทคโนโลยี หรือใช้ในแนวทางที่เป็นการบุกเบิก

2. FinTech solution นั้นเป็นการแสดงถึงปัญหาหรือประเด็นที่สำคัญ หรือให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภคหรือธุรกิจ

3. ผู้ขอมีเจตนาและความสามารถในการใช้ FinTech solution นั้นในสิงคโปร์ ในขนาดที่ใหญ่ขี้นหลังจากที่พ้นภาวะของการที่อยู่ในกล่องทรายแล้ว

4. ลำดับการทดสอบและผลลัพธ์ของกล่องทรายจะต้องถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน และผู้ขอได้รายงานต่อ MAS ถึงความก้าวหน้าของการทดลองนั้นตามเวลาที่ตกลงกัน

5. ขอบเขตของเงื่อนไขที่เหมาะสมควรถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนสำหรับกล่องทรายที่จะถูกใช้ ในขณะเดียวกันก็มีการป้องกันผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเพียงพอ และรักษาซึ่งความปลอดภัยและการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรม

6. ความเสี่ยงที่พึงเห็นได้ที่สำคัญอันเกิดจาก FinTech solution ได้รับการประเมินและหาแนวทางป้องกันไว้แล้ว

7. ทางออกที่ยอมรับได้และแนวทางการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านควรมีการกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ในกรณีที่ FinTech solution จะต้องสิ้นสุดลง หรือสามารถที่จะทำต่อไปได้ในขนาดที่ใหญ่ขึ้นหลังจากหลุดพ้นจากกล่องทราย

แต่ทั้งนี้ MAS จะถือว่ากล่องทรายนั้นไม่เหมาะสมในกรณีดังต่อไปนี้

1. FinTech solution เหมือนกับของที่มีผู้ให้บริการอยู่แล้วในสิงคโปร์

2. ผู้ขอไม่ได้ทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะอย่างเพียงพอ (due diligence) เพื่อทำการทดสอบ และรับรองผลของความเป็นไปได้ของ FinTech solution เช่น การทดลอง FinTech solution ในบรรยากาศห้องทดลอง หรือ ได้รับการรับรองจากบุคคลภายนอก

3. ผู้ขอสามารถทดสอบอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับ FinTech solution ในสภาพแวดล้อมของห้องทดลองหรือการทดสอบ หรือ

4. ผู้ขอไม่มีเจตนาที่จะใช้ FinTech solution ในสิงคโปร์อย่างกว้างขวางหลังจากพ้นจากกล่องทรายแล้ว

ผู้ที่สนใจไปดูได้ที่นี่

ส่วนของประเทศออสเตรเลียนั้น คณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุน (Australian Securities & Investments Commission – ASIC) ก็ได้จัดทำข้อเสนอให้ทำ FinTech ได้เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 โดยมีข้อยกเว้นเป็น “กล่องทราย” ไว้โดยมีหลักการสำคัญว่า

1. จะยกเว้นใบอนุญาตแก่บริษัทออสเตรเลียที่จะทำการทดลองการให้บริการทางการเงินเป็นเวลา 6 เดือน

2. การให้การยกเว้นนี้จะจำกัดอยู่เพียงการให้คำปรึกษาทางการเงิน หรือจัดให้บุคคลอื่นเข้าทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์บางประเภทที่มีสภาพคล่อง

3. บริษัทที่ทำการทดลองนี้จะต้อง

  • ปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องข้อจำกัดของจำนวนของนักลงทุนรายย่อยและความเสี่ยงที่มี
  • ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การระงับข้อพิพาท การจ่ายค่าตอบแทน และหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล
  • มี “ผู้สนับสนุน” (sponsorship) จากองค์กรที่ได้รับความเห็นชอบจาก ASIC
  • แจ้งให้กับ ASIC ทราบเมื่อจะเริ่มดำเนินการทดลองทำธุรกิจ
  • ในข้อเสนอของ ASIC มีรายละเอียดมากมายหลายประการ ผู้ที่สนใจไปดูได้ที่นี่

    ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของประเทศที่เสนอให้มีกล่องทรายเพื่อการพัฒนาการทำธุรกิจ FinTech ว่ามีลักษณะอย่างไร ลักษณะที่สำคัญก็คือ การให้ทำ FinTech ได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตหรือมาขออนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแล หรืออีกนัยหนึ่งได้รับการยกเว้นทางกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายการธนาคารพาณิชย์ นั่นเอง

    ล่าสุด นาย Norman Chan ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารของ Hong Kong Monetary Authority หรือ HKMA ได้ประกาศแผนที่จะจัดตั้ง FinTech Innovation Hub เพื่อให้การสนับสนุนแก่ FinTech ในเรื่องของการทดลอง คำแนะนำทางด้านกฎหมาย และทรัพยากรของระบบ รวมทั้งการจัดตั้ง “กล่องทราย” หรือ “FinTech Supervisory Sandbox” ที่จะเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถทำการทดลองและทดสอบซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ๆ โดยผลิตภัณฑ์นั้นสามารถที่จะทำการทดลองได้โดยไม่ติดกฎระเบียบอันใดได้

    สำหรับประเทศไทยนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ข่าวอยู่เป็นระยะว่าจะสนับสนุน FinTech เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ก็ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ระบุว่า จะมุ่งสร้าง Ecosystem สำหรับ FinTech ลดภาระและข้อจำกัดด้านการกำกับดูแล และกำหนดกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยการให้ความสำคัญกับการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ส่งเสริมบทบาทของผู้ให้บริการกลุ่มต่างๆ โดยมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มการแข่งขันและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

    FinTech เป็นของใหม่ เราก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า “กล่องทราย” ของไทยจะออกมาเป็นอย่างไร