ThaiPublica > เกาะกระแส > “อาชีวะ”กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขยับตัว ชูหลักสูตร Non Degree รับตลาดแรงงานยุคใหม่ – จับมือปั้นคนคุณภาพ 6 ด้าน

“อาชีวะ”กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขยับตัว ชูหลักสูตร Non Degree รับตลาดแรงงานยุคใหม่ – จับมือปั้นคนคุณภาพ 6 ด้าน

7 กันยายน 2016


”…การที่ประเทศจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ทรัพยากรมนุษย์ต้องมีความพร้อม และประเทศต้องสร้างเทคโนโลยีเป็นของตนเองให้ได้ ผ่านการวิจัยและการลงทุนด้านนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการลงทุนในระยะยาว ใช้เวลาอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 10-20 ปี จะหวังผลให้ได้ทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้ ไทยในตอนนี้เหมือนคนแคระบนบ่ายักษ์ที่รับองค์ความรู้ของคนอื่นมาใช้ ไม่มีความยั่งยืน” นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 8 (RMUTNC 8 th) และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 7 (RMUTIC 7 th) ภายใต้แนวคิด Creative Technology for All “ราชมงคลสรรค์สร้างเพื่อสังคม” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559

9 ราชมงคล

ในโลกยุคใหม่ พฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป จากการสำรวจของ PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เรื่อง NextGen: A global generational study 2013 ระบุว่า กำลังแรงงานผันเข้าสู่ยุคของ Gen Y ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล สื่อสารผ่านอีเมล เทคโนโลยีบนมือถือ อินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์ต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ซึ่งคนกลุ่มนี้แสวงหาการใช้ชีวิตอย่างสมดุล (Work-life balance) ดังนั้นการทำงานนั่งโต๊ะในออฟฟิศ การทำงานในระบบ Top-Down จะไม่สามารถดึงดูดกำลังแรงงานกลุ่มนี้ได้อีกต่อไป รวมทั้งบริบทสังคมที่โครงสร้างประชากรเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวให้พนักงานสามารถรับงานไปทำที่บ้าน ไปจนถึงการเกิด Co-working space

“อาชีวะ” ขยับตัว ชูหลักสูตร Non Degree รับตลาดแรงงานยุคใหม่

จากแนวโน้มข้างต้น สถาบันการศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตกำลังแรงงานที่มีคุณภาพให้ตอบสนองความต้องการตลาดจะมีการปรับตัวในเรื่องนี้อย่างไร สำหรับสถาบันการศึกษาอย่าง “อาชีวะ” ที่ในอดีตหลายคนอาจติดภาพลบ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการปรับตัวของอาชีวะรุดหน้าไปมาก ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวของอาชีวะในกลุ่ม “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” (มทร.) ต่างๆ

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวถึงแนวทางในอนาคตที่ มทร.กรุงเทพ เตรียมรับมือกับสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปว่า ประชากรน้อยลงอันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้ ต่อไปการคัดเลือกนักเรียนเข้ามาเรียนจะมีอัตราที่ลดลง ในปัจจุบัน Co-working space กำลังมาแรงมาก ประกอบกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การทำงานออฟฟิศแบบเดิมอาจน่าเบื่อ การทำงานก็อาจปรับตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับปรุง

มทร.กรุงเทพกำลังปรับตัวโดยเริ่มเน้นการศึกษาที่ไม่ใช่ปริญญามากว่าการศึกษาที่ได้ปริญญา เป็นพรีเมียมคอร์ส เบื้องต้นมีหลักสูตรที่วางแผนไว้ ได้แก่ หลักสูตรไทย-ฮาลาล ที่เป็นหลักสูตรนอนดีกรี คือ ไม่มีปริญญา แต่จะต้องทำให้ได้การรับรอง (Certified) จากคณะกรรมการอิสลามกลาง หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่มีความร่วมมือกับทางเยอรมัน ผู้ที่จบไปแล้วจะได้รับใบรับรองจากหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล รวมถึงสามารถต่อยอดไปสอบให้ได้ใบอนุญาตจาก EASA เพื่อทำงานในระดับสากลได้

หลักสูตรด้านสุขภาพและความงาม ที่ตอบสนองตลาด และรูปแบบการเรียนที่มหาวิทยาลัย แม้จะมีอาจารย์ที่มีศักยภาพ จบด้านเคมีวิทยาศาสตร์ หรือ Bio-Chem มา แต่เด็กๆ เองอาจไม่ได้อยากเรียนวิทยาศาสตร์โดยตรง เนื่องจากมีความยาก จึงปรับให้มีความน่าสนใจ เป็นการเรียนการสอนในเรื่องเคมีความงาม โดยร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเครื่องสำอางประเทศไทย หลักสูตรแฟชั่น ที่มีความร่วมมือกับแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำจากเกาหลีใต้ หลักสูตรโฮมแอนด์ลิฟวิ่ง ที่เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ตัวอย่างหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานที่ มทร.กรุงเทพ ศึกษาดูงานจากประเทศมาเลเซีย
ตัวอย่างหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานที่ มทร.กรุงเทพ ศึกษาดูงานจากประเทศมาเลเซีย

อธิการบดี มทร.กรุงเทพ ให้เหตุผลที่เปิดหลักสูตรนอนดีกรีในด้านนี้ว่า “วิถีชีวิตคนเปลี่ยน คนไม่ได้อยู่บ้าน อยู่คอนโด ดังนั้น เครื่องเรือนหรือที่ตกแต่งทั้งหลายก็เปลี่ยน ต้องเล็กกะทัดรัดพับได้หมด ซึ่งอาจต้องพึ่งพานวัตกรรมใหม่ๆ และองค์ความรู้จากต่างชาติที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ คือ ญี่ปุ่น”

พร้อมให้ความเห็นว่า“ในอนาคตที่คนน้อยลง และเด็กสามารถเก่งกว่าครูได้เพราะเรียนรู้ทุกอย่างได้ผ่านเทคโนโลยี เป็นยุคการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) การเรียนการสอนต้องปรับตาม และมหาวิทยาลัยไม่ใช่มูลนิธิ ดั้งนั้น มหาวิทยาลัยเองก็ต้องอยู่ได้ หลักสูตรพรีเมียมคอร์สนี้เป็นหลักสูตรที่การันตีเลยว่าหากจบไปแล้วคุณจะมีอาชีพ มีอนาคต ซึ่งทั้ง 5 หลักสูตรนี้จะเป็นตัวตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ให้เราอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพารายได้ภาครัฐ เป็นคำตอบว่าทำไมอากาศยานจึงต้องเก็บค่าเทอม 4.5 แสนบาท ทำไมเก็บค่าเทอมหลักสูตรทำเครื่องสำอาง 2 แสน เพราะคุณมีอนาคต” ดร.สาธิตกล่าว

อธิการบดี มทร.กรุงเทพได้กล่าวถึงแนวทางในอนาคตว่า ต่อไป มทร.กรุงเทพ จะทำหน้าที่เหมือนสะพานส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาครอบๆ แม้ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเทคนิคและเทคโนโลยีจากต่างชาติ แต่ประเทศไทยก็ถือเป็น Soft Landing เป็นผู้เรียนรู้จากเขาแล้วส่งต่อออกไป ดึงดูดนักเรียนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม ลาว หรือประเทศอื่นๆ เข้ามาเรียน ซึ่งการศึกษาจะเป็นตัวสร้างเครือข่าย และจะเป็นประตูที่จะต่อไปสู่ภาคธุรกิจต่อไป เมื่อเด็กรุ่นแรกกลับไปเติบโตในองค์กรใหญ่ ก็จะส่งเด็กรุ่นใหม่กลับมาเรียน ตัวอย่างที่เห็นผลคือ ประเทศติมอร์-เลสเต ที่ทางมหาวิทยาลัยเคยให้ทุนแก่เด็กประเทศเขาไป 2-3 คน ในวันนี้รัฐบาลเขาให้ทุนส่งเด็กกลับมาเรียนที่ มทร.กรุงเทพ อีกนับ 10 คน

“เพราะความรู้ หรือเรื่องของการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยเหลือแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่การศึกษาต้องช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนทุกชาติอย่างไม่จำกัด” ดร.สาธิตกล่าว

9 มทร.จับทางยุทธศาสตร์ชาติ ปั้นเมกะโปรเจกต์ 6 ด้าน

ระหว่างที่หลายประเทศทั่วโลกต่างปรับยุทธศาสตร์ แนวนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เช่น สหรัฐอเมริกา กับโมเดลเศรษฐกิจ A Nation of Makers อังกฤษ กับโมเดล Design of Innovation มหาอำนาจใกล้ไทยอย่างจีน กับโมเดล Made in China 2025 ตามด้วยอินเดีย กับโมเดล Made in India หรือเกาหลีใต้ ก็ได้ปรับโมเดลเศรษฐกิจเป็น Creative Economy ไทยเองก็ไม่น้อยหน้ากำลังก้าวไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม เป็น “Value-Based Economy” กับเป้าหมาย “ทำน้อย ได้มาก”

ดร.สาธิตให้ความเห็นว่า ทุกอุตสาหกรรมสามารถปรับให้เข้ากับไทยแลนด์ 4.0 ได้หมด ยกตัวอย่าง สิ่งทอหรือเสื้อผ้า ที่เคยเป็น 2.0 (อุตสาหกรรมเบา) เนื่องจากในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าคนเย็บผ้าอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป ทุกอย่างสามารถเข้าไปในสายพานการผลิตทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วย เพราะตอนนี้เสื้อไม่ต้องเย็บก็มีแล้ว พัฒนาแถบกาวสำหรับเสื้อผ้า แต่ในทุกๆ ด้านที่จะพัฒนาต้องเตรียมกำลังคนให้พร้อม

“4.0 ผมว่าเป็นทิศทางที่ดี แต่ว่าความพร้อมของคนอยู่ในระดับไหน ไม่ใช่ตั้งต้นแล้วทำได้เลยทันที แต่ต้องไปดูที่กำลังคน คือ Human Resource ของเราก่อน 1) มีคนพร้อมหรือยัง 2) ใช่เวลาหรือยัง เช่น บอกว่าจะทำอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สมมติว่าทำได้เลย ในปีหน้ารถเป็นไฟฟ้าทั้งหมด แล้วอุตสาหกรรมชิ้นส่วนจะไปทางไหน หรือเรื่องเสื้อผ้า ก็ต้องดูว่าตอนนี้เราขาดแคลนแรงงานตัดเย็บใช่ไหม จำเป็นแล้วหรือที่จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้น อาจวางแผนไว้ได้ แต่การปรับเปลี่ยนต้องดูเป็นรายเซกเตอร์ไปว่ายานยนต์จะทำอย่างไร สิ่งทอจะทำอย่างไร” ดร.สาธิตกล่าว

นอกจากนี้การปรับตัวตามกระแสใหม่ๆ จะทำให้สิ่งเดิมๆ ค่อยๆ หายไป อย่างเช่น การศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีภาควิชาเครื่องกล อุตสาหการ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้เป็นศาสตร์เดิมๆ ที่อาจหมดความสำคัญได้ในอนาคต ดั้งนั้น ก่อนจะไปถึงตัวนักศึกษา อาจารย์เองก็ต้องเปิดใจกว้างที่จะศึกษาต่อยอด เรียนไปให้ไกลกว่าศาสตร์เดิมที่จบมา เช่น อาจารย์คณะวิศวกรรมก็ปรับให้มาเรียนรู้ด้านอากาศยาน เป็นต้น และกว่า 70% ของนักวิจัยอยู่ในภาคสถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษาจึงเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือรัฐและเอกชนในด้านงานวิจัยค้นคว้า สร้างองค์ความรู้ให้กับประเทศ

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์
ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์

ดร.สาธิตกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ มทร.ล้านนา มทร.อีสาน มทร.รัตนโกสินทร์ มทร.ศรีวิชัย มทร.พระนคร มทร.ธัญบุรี มทร.กรุงเทพ มทร.สุวรรณภูมิ และ มทร.ตะวันออก กำลังสร้างเมกะโปรเจกต์ร่วมกัน 6 ด้าน ทั้งที่เป็น 4.0 และไม่ใช่ 4.0 แต่ทั้งหมดมุ่งเน้นที่จะตอบสนองนโยบายของชาติเป็นหลัก โดยแต่ละ มทร. จะเป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละเรื่องที่ตนมีความเชี่ยวชาญ และถ่ายทอดให้แก่ มทร. อื่นๆ

  • การพัฒนาโลจิสติกส์ และระบบขนส่ง ประกอบด้วย 1) อากาศยาน มี มทร.กรุงเทพ เป็นเจ้าภาพ 2) ระบบล้อและราง มี มทร.อีสาน เป็นแกนหลัก 3) ระบบขนส่งทางบก มรท.ตะวันออก เป็นเจ้าภาพ และ 4) ระบบขนส่งทางทะเล มทร.ศรีวิชัย จะเป็นแกนหลัก เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ติดทะเล
  • การพัฒนาและผลิตครูช่าง มี มทร.ธัญบุรี เป็นแกนหลัก สืบเนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เด็กไทยหันมาศึกษาต่อในสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่อนักเรียน ปวช. อยู่ที่จำนวน 4:2 (แสนคน) คาดว่าต้องใช้เวลา 10 ปีเป็นอย่างต่ำที่จะกลับข้างสัดส่วนดังกล่าวเป็น 2:4 (แสนคน) ระหว่างที่มีการปรับเปลี่ยนจึงต้องผลิตครูช่างเพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาในอนาคต นอกจากนี้ มทร.ธัญบุรียังรับผิดชอบเรื่องสมาร์ทฟาร์ม การทำกรีนโปรดักส์ ร่วมด้วย
  • เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล มี มทร.พระนคร เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเริ่มต้นจากการพัฒนาครูผู้สอน ตามด้วยการปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ให้สอดคล้องกับแนวทางนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจะตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • การจัดการน้ำ มี มทร.สุวรรณภูมิ เป็นเจ้าภาพในการกำกับดูแล นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยถ่ายทอดและสร้างความตระหนักแก่ชุมชน ทั้งนี้ เนื่องจาก มทร. แต่ละแห่งต่างอยู่ในพื้นที่หลากหลาย ทั้งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีกรณีน้ำเสียหรือน้ำท่วมเกิดขึ้น เช่น ปีนี้แล้ง ต่อไปในฤดูฝนจะเก็บกักน้ำอย่างไร ควรจะต้องมีบ่อเล็กๆ เยอะๆ หรือไม่ บางทีหากขุดบ่อดินน้ำก็ซึมหายไป แล้วจะทำอย่างไร เช่น การดีดปูนให้ปูนเกาะผนังบ่อไม่ให้น้ำหายไปเร็ว คือไปสร้างความตระหนัก ให้ความรู้แก่ชุมชนมากกว่าไปจัดการน้ำจริงๆ และเรื่องน้ำเสียจะทำให้เป็นน้ำดีอย่างไร อันนี้เราก็มีอาจารย์ที่เก่งมากเรื่องนี้ เนื่องจากเคมีสิ่งทอ เวลาชาวบ้านย้อมสี เทไปลานบ้าน สีก็ดูดกลับขึ้นมาที่พืชผัก เป็นพิษ
  • อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ราชมงคลรัตนโกสินทร์เป็นแกนหลัก เพราะเขาเก่งมากในด้านช่างศิลป์ ให้แต่ละราชมงคลเป็นพระเอกในแต่ละเรื่อง อาจจะไม่ใช่ศูนย์ทั้งหมด แต่เป็นอะไรที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งบังเอิญเป็นฐานที่ทั้ง 9 ราชมงคลมีอยู่ ซึ่งเราคุยกันเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 แล้วนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยใหม่ ตอนนี้เรื่องไปอยู่ ที่ กพอ. และ สกอ. แล้ว ก็จะเข้ากระทรวงศึกษาธิการ และขับเคลื่อนในระดับรัฐบาลในการที่จะจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาช่วยเหลือ
  • กิจการเพื่อสังคมและการช่วยเหลือสังคม สำหรับกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) มี มทร.กรุงเทพ เป็นแกนหลัก โดยใช้คณะบริหารธุรกิจ 9 ราชมงคลเป็นตัวตั้ง เริ่มต้นตั้งแต่ทำความเข้าใจ SE จากนั้นก็เริ่มสร้างรายวิชากิจการเพื่อสังคม ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ซึ่งจะเริ่มเปิดสอนในปี 2560 โดยมีเป้าหมายให้เด็กได้ตระหนักเรื่องของการทำธุรกิจอย่างไรที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนการช่วยเหลือสังคม มี มทร. ล้านนา เป็นกำลังหลัก ด้วยประสบการณ์การช่วยเหลือชุมชนผ่านโครงการต่อยอดจากโครงการพระราชดำริ และเป็น มทร. วิทยาเขตย่อยจำนวนมาก สามารถเข้าถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี

“ต่อไปนี้เราอยากจะปลูกฝังนักเรียนเรา ก็ให้แนวทางไปว่า หากจะทำธุรกิจก็ให้เอาสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งมากที่สุด อย่าไปเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แล้วทำธุรกิจต่อไป แต่ต้องกำไร ถ้าคุณเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง คุณจะคิดแต่เรื่องเศรษฐกิจ สังคมเป็นอย่างไรช่างหัวมัน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรช่างหัวมัน ก็เหมือนสตาร์ทอัพ แต่เป็นสตาร์ทอัพที่คิดจากสังคมและสิ่งแวดล้อม” ดร.สาธิตกล่าว