ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุคคสช.กับคดีพิพากษาจำคุกนักการเมืองและคดีนักธุรกิจ – ม.44 ฟันบิ๊กข้าราชการ

ยุคคสช.กับคดีพิพากษาจำคุกนักการเมืองและคดีนักธุรกิจ – ม.44 ฟันบิ๊กข้าราชการ

5 กันยายน 2016


ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชะตากรรมของอดีตนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจหลายคนดูจะหนักหน่วงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีการเมืองและคดีทุจริตคอร์รัปชัน บ้างก็หมดอนาคตในชีวิตราชการ บ้างก็ถูกยึดทรัพย์ สาหัสที่สุดคือถูกศาลตัดสินจำคุกทันทีโดยไม่รอลงอาญา

ล่าสุดวันที่ 6 กันยายน 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าศาลฎีกา พิพากษาจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุลผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)และพวก ในคดีที่อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 ยื่นฟ้องนายสนธิ จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยนายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)จำเลยที่ 2 ,นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ จำเลยที่ 3 และ นางสาวยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ฯ จำเลยที่ 4 ฐานกระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3) , 313

จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2539 – ถึง 31 มีนาคม 2540 จำเลยทั้งสี่ เป็นกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ ฯ ได้ร่วมทำสำเนา รายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จว่า มีมติให้บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสนธิ ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท

ต่อมาวันที่ 30 เม.ย.2539 – 18 พ.ย.2541 จำเลยทั้งสี่ ยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ที่เป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสี่ ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา

ทั้งนี้มีคำพิพากษาให้นายสนธิ, น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 20 ปี ส่วนนายสุรดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีจึงถือที่สุดตามกฎหมายรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

รายงานข่าวระบุว่า หลังคำฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวสนธิและพวกไปที่ห้องควบคุมตัว เพื่อรอส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

จำคุก 1 ปี หมอเลี้ยบ

วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในยุครัฐบาลทักษิณ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีตกเป็นจำเลยอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียมภายในประเทศ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

การที่นายแพทย์สุรพงษ์อนุมัติให้แก้ไขสัญญา โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เป็นการอนุมัติโดยมิชอบ กระทบความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ ทั้งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีขณะนั้น (ทักษิณ ชินวัตร) มีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีส่วนได้ส่วนเสียในการแก้ไขสัญญา จึงมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

รายงานข่าวระบุว่า หลังศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายแพทย์สุรพงษ์ขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที

จำคุก“กำนันเซี้ยะ” 5 ปี

นอกจากนายแพทย์สุรพงษ์แล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2559 มีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงถูกตัดสินจำคุกในคดีต่างๆหลายราย เริ่มจากวันที่ 25 มกราคม 2559 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายประชา โพธิพิพิธ หรือ “กำนันเซี้ยะ” อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเวลา 5 ปี ในคดีฮั้วประมูล

คดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประชา, นางเขมพร ต่างใจเย็น ภรรยา, นางสาววรรณา ล้อไพบูลย์ คนสนิทนางเขมพร และนายถวิล สวัสดี (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่, กรรโชกทรัพย์, หน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า ในช่วงปี 2542-2544 จำเลยได้ร่วมกันฮั้วประมูลในโครงการก่อสร้างต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรีและเพชรบุรี รวมทั้งมีการจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกในกลุ่ม รวมทั้งขัดขวางผู้อื่นไม่ให้เข้าร่วมเสนอราคา

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกนายประชา 5 ปี ส่วนนางเขมพร ภรรยากับนางสาววรรณา ให้จำคุกคนละ 4 ปี แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหมด ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงพิพากษาแก้ให้จำคุกนายประชา 5 ปี และให้จำคุกนางเขมพรและนางสาววรรณาคนละ 4 ปี โดยให้ออกหมายจับจำเลยทั้ง 3 คนมารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ทุจริตโกง VAT “สาธิต รังคสิริ” พ้นจากตำแหน่ง

วันที่ 16 กุมภาพพันธ์ 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสาธิต รังคสิริพ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2559

หลังจากก่อนหน้านั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการคลัง (อ.ก.พ.) ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีมติไล่สาธิต อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กรณี อ.ก.พ. กระทรวงการคลังพิจารณาหนังสือตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่านายสาธิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเท็จ พัวพันโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กว่า 4 พันล้านบาท แม้จะไม่ได้ติดคุก แต่นับเป็นการเสียประวัติทางราชการไปในทันที

จำคุก 2 ปี “วาสนา เพิ่มลาภ-ปริญญา นาคฉัตรีย์”

วันที่ 3 มิถุนายน 2559 พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ นาย ปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการ กกต. ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ในคดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลานั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ. วาสนา และปริญญา เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 จากคดีเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ส่งผลให้ พล.ต.อ. วาสนา ในวัย 75 ปี และปริญญา วัย 76 ปี ถูกพิพากษาตัดสินจำคุก(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

คดีการเมือง_update1

จำคุก 6 ปี “ชูชีพ หาญสวัสดิ์-วิทยา เทียนทอง”

วันที่ 8 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุกนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุครัฐบาลทักษิณ และนายวิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนละ 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชูชีพและวิทยาเป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานความผิดร่วมกันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือฮั้วประมูล มาตรา 10 และมาตรา 12 และความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 คดีทุจริตประมูลจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เมื่อปี 2544-2545

ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และ 2 เร่งรีบในการพิจารณารับราคาที่มีการเสนอในการประกวดราคาจัดซื้อปุ๋ย และไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อพิรุธในการจัดซื้อที่น่าจะทราบมาตั้งแต่ต้น หลังจากมีหนังสือปลัดกระทรวงเกษตร และคณะกรรมมาธิการตรวจสอบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ ส.ส.

แต่จำเลยกลับประวิงเวลาจนกระทั่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนามทำสัญญากับชุมนุมเกษตรกรแห่งประเทศไทย จัดซื้อปุ๋ยมูลอินทรีย์ มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท จึงพิพากษาว่านายชูชีพกระทำความผิด ส่วนนายวิทยามีความผิดฐานสนับสนุนนายชูชีพกระทำความผิด จึงจำคุกคนละ 6 ปี

จำคุก 2 ปี “ขวัญชัย ไพรพนา”

วันที่ 28 มิถุนายน 2559 ศาลจังหวัดอุดรธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก “ขวัญชัย สาราคำ” หรือ “ขวัญชัย ไพรพนา”อดีตประธานชมรมคนรักอุดร กลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 350,000 บาท ในคดีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงเข้ารุมทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2551 ซึ่งขวัญชัยหลบหนีคดีในตอนแรก ก่อนจะกลับมามอบตัวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา

จำคุก 2 ปี“เบญจา หลุยเจริญ” ประกันตัวพร้อมอุทธรณ์

วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลอาญามีคำพิพากษาตัดสินโทษจำคุก 3 ปี อดีตผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากร ประกอบด้วยนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1 “จำรัส แหยมสร้อยทอง” อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย จำเลยที่ 2, “โมรีรัตน์ บุญญาศิริ” จำเลยที่ 3 และ “กริช วิปุลานุสาสน์” จำเลยที่ 4

นอกจากนั้น ยังตัดสินจำคุก 2 ปี “ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์” เลขาฯ ส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาทักษิณ จำเลยที่ 5 โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชัน จำกัด โดยไม่เสียภาษี

ศาลอาญาพิพากษาจำเลยที่ 1-4 มีความผิดข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีความผิดตั้งแต่มีการตอบข้อหารือจำเลยที่ 5 วินิจฉัยว่านายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ไม่ให้ต้องเสียภาษีอากร กรณีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ เมื่อปี 2549 คนละ 164 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาหุ้นในตลาด ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 49.25 บาท

ทั้งที่ข้อเท็จจริง นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทาถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องนำส่วนต่างของราคาหุ้น คนละ 7,941.95 ล้านบาท มาเสียภาษีกับกรมสรรพากร การกระทำดังกล่าวทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย

จึงตัดสินให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงสั่งให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสี่ได้นำหนังสือรับรองการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาคดีของกรมสรรพากรวงเงินไม่เกิน 420,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

จำคุก 1 ปี “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์”

นอกจากนี้ในช่วงปี 2558 มีผู้ถูกตัดสินคดีโทษจำคุกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส. และโฆษกพรรคเพื่อไทย และ “เกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ในคดีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นฟ้องฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

กรณีกล่าวหาว่านายวสันต์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรม และขาดความเป็นกลาง กรณีให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัว ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553

คดีนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายพร้อมพงศ์และนายเกียรติอุดมร่วมแถลงข่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จแก่สื่อมวลชน และมีเอกสารแจกแก่สื่อมวลชนด้วย โดยใช้ผู้สื่อข่าวเป็นเครื่องมือในการหมิ่นประมาทโจทก์

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการแถลงข่าวเป็นการแสดงความคิดนั้นฟังไม่ขึ้น ส่งผลให้พร้อมพงศ์และเกียรติอุดมติดคุกในที่สุด อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทั้ง 2 คนได้รับการพักโทษออกจากเรือนจำแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

จำคุก 1ปี 6 เดือน “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”

เช่นเดียวกับนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ บุตรชาย “วัฒนา อัศวเหม” ที่ตกเป็นข่าวใหญ่ติดคุกหลังศาลฎีกามีพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ในข้อหาทุจริตการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2542

จำคุกอดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย 18 ปี

อีกคดีที่ถูกตัดสินถึงที่สุดคือ คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับพวก รวม 27 คน เป็นจำเลย กรณีให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทในกลุ่มของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินกว่า 9.9 พันล้านบาท โดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย

คดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ให้จำคุกจำเลยรวม 19 คน แต่ผู้ได้รับโทษหนักที่สุดคือ ร.ท. สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ถูกศาลตัดสินจำคุกคนละ 18 ปี

จับตา”ยิ่งลักษณ์”คดีจำนำข้าว – บุญทรง เตริยาภิรมย์ คดีข้าวจีทูจี

ส่วน “ทักษิณ” หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของทักษิณไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวมา

นี่คือส่วนหนึ่งของคดีที่ถูกตัดสินถึงที่สุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ยังมีคดีสำคัญที่รอคำตัดสินจากศาลตามมาอีกหลายคดี เช่น คดีจำนำข้าว ซึ่งแยกเป็น 3 คดี ประกอบด้วย

1. “คดีจำนำข้าว” มีการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิตข้าวนาปี 2554/2555 และ 2555/2556 วงเงินงบประมาณกว่า 6.7 ล้านบาท

2. คดี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ละเว้นปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

และ 3. “คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” หรือจีทูจี ที่ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ “ภูมิ สาระผล” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมพวก ตกเป็นจำเลย

ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผ่านสื่อกรณีนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุประเด็นคดีจำนำข้าว ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องเร่งแก้ไขให้เกิดความชัดเจน

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ผมไปตรวจเช็คดูแล้ว เป็นเรื่องของตัวเลขในช่วงต่างๆ คงต้องมีการทบทวนอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยก็สร้างความขัดแย้ง

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทั้งหมดนี้ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือศาลเป็นผู้ตรวจสอบ โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้ในศาลได้ ทั้งหมดอยู่ที่ศาล ไม่ได้อยู่ที่ผม วันนี้ตัวเลขที่เกิดขึ้นเป็นการสำรวจทางบัญชีจากกระทรวงการคลังและส่วนต่างๆ เท่านั้น

“ตัวเลข 2.8 แสนล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังสรุปตั้งแต่ปี 2557 เป็นตัวเลขทางบัญชีในขณะนั้น ทั้ง 2 ตัวเลขอาจไม่ตรงกันก็ได้ แต่เมื่อนำเรื่องขึ้นศาลแล้ว ก็ต้องดูว่าทำไมตัวเลขถึงไม่ตรงกัน สิ่งที่ผมกังวลคือสิ่งที่มันพันกันอยู่ระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง และท้ายสุด ข้าราชการต้องมารับผิดชอบ คนที่ทำความผิดจริงๆ ก็คือตัวหัวๆ แต่ข้าราชการเป็นลูกน้อง เขาจะทำอย่างไร”

เมื่อนักข่าวถามต่อว่า สามารถสรุปตัวเลขในเดือนกันยายน 2559 นี้ได้หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องสรุปให้ทันก่อนหมดอายุความ ซึ่งผมรับผิดชอบเฉพาะเรื่องทางละเมิด ส่วนคดีแพ่ง คดีอาญา เป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คดีนี้มี 3 เรื่องและมีหลายกลุ่ม อย่านำมาพันกัน พร้อมย้ำว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ถูกดำเนินคดี รัฐบาล และประเทศ

กระนั้น หมอวรงค์โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตว่า จากนี้ไปถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน จะต้องตอบคำถามสังคม เพราะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ลดตัวเลขความความรับผิดชอบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก 2.86 แสนล้านบาท เหลือ 35,717 ล้านบาท

ดังนั้น สิ่งที่คณะกรรมการต้องชี้แจง คือ 1. ทำไมจึงให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบเพียงโครงการที่ 3 ถึง โครงการที่ 5 จากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด 5 โครงการ โดยอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รับทราบว่ามีความเสียหายในช่วงเริ่มโครงการที่ 3 เป็นต้นไป ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช. และฝ่ายค้านได้ท้วงติงไปตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว

2. ทำไมจึงคิดความเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียง 20% และอีก 80% จะคิดจากใคร ทั้งที่มีผู้ถูกชี้มูลความผิดเพียงคนเดียว ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. ซึ่งต่างจากคดีระบายข้าวแบบจีทูจี เพราะคดีนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกชี้มูลความผิดรวม 6 คน ความรับผิดชอบจึงแบ่งความรับผิดชอบได้

คดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร

นอกจากคดีจำนำข้าวแล้ว ยังมีคดี ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้อง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี, “พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตนายกรัฐมนตรี, “พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, และ “พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลย กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนในชั้นศาลฎีกา

รวมทั้งคดีนาง “จุฑามาศ ศิริวรรณ” อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตกเป็นจำเลยรับสินบนจำนวน 60 ล้านบาท จากนักสร้างภาพยนตร์ชาวสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้สิทธิ์การจัดนิทรรศการภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550 ซึ่งอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลอาญา

อีกคดีคือกรณีนาย “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลมีความร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 46 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ส่วนคดีอาญาพนักงานอัยการส่งฟ้องแล้ว

เช่นเดียวกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ปกิต กิระวานิช” อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมพวกอีก 2 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มูลค่ากว่า 23,700 ล้านบาท ระหว่างปี 2538-2546

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยพร้อมพวก คนละ 20 ปี โดยไม่รอลงอาญาเนื่องจากเห็นกระทำผิดจริงตามฟ้อง หลังคำพิพากษา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยคนละ 2 ล้านบาท และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อไป

คำพิพากษาคดีเหล่านี้ ถึงที่สุดเป็นเช่นไร อีกไม่นานคงมีคำตอบ แต่ที่แน่ๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คสช.

ม.44 ลงโทษบิ๊กข้าราชการ

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา คสช.ใช้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเจ้าหน้ารัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบกรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

ถึงวันนี้ หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 สั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว 7 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 จำนวน 45 คน, ครั้งที่ 2 วันที่ 25 มิถุนายน 2558 รวม 71 คน, ครั้งที่ 3 วันที่ 5 มกราคม 2559 รวม 59 คน, ครั้งที่ 4 วันที่ 21 กรกฎาคม 2559 รวม 60 คน, ครั้งที่ 5 วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 1 คน ครั้งที่ 6 วันที่ 25 สิงหาคม 2559 และครั้งที่ 7 วันที่ 2 กันยายน 2559 รวม 21 คน รวมทั้งสิ้น 259 คน

ผู้ที่ถูกพักงานมีตั้งแต่ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ไปจนถึงกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

งานนี้ บิ๊กข้าราชการหลายคนตกเก้าอี้โดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับอีกหลายคน ถูกสั่งพักราชการ ย้ายเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี ในชั่วข้ามคืน

คนล่าสุด คือ คุณชายหมู “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหมอเปรม “นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ” นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ก่อนหน้านี้ มีรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกพักงานที่น่าสนใจ เช่น “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” กรรมการ สสส. “สุเมธ แย้มนุ่น” รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ระดับซี 10 ไปจนถึงซี 11 อีกหลายคน อาทิ “สุวัตร สิทธิหล่อ” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ว่าที่ “ร.ต. อานุภาพ เกษรสุวรรณ์” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว, “พัฒนา ชาติกฤติบวร” อธิบดีกรมพลศึกษา

“สาธิต รังคศิริ” หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง, “ราฆพ ศรีศุภอรรถ” ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง, “บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, “แก่นเพชร ช่วงรังษี” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.), “พล.ต.ท. สุรพล ทวนทอง” จเรตํารวจ

นอกจากนี้ยังมี “ขวัญชัย วงศ์นิติกร” อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ,“นายแพทย์วินัย สวัสดิวร” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข “รังสรรค์ มณีเล็ก” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” นายก อบจ.สมุทรปราการ “พรชัย โควสุรัตน์” นายก อบจ.อุบลราชธานี ฯลฯ