ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประวิตร” ยันเลือกตั้ง หน้าที่ กกต. ไม่เอี่ยวมหาดไทย – ครม. เห็นชอบให้ กทม. ดูโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีทอง”

“ประวิตร” ยันเลือกตั้ง หน้าที่ กกต. ไม่เอี่ยวมหาดไทย – ครม. เห็นชอบให้ กทม. ดูโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีทอง”

6 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน แทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ติดภารกิจในต่างประเทศ

 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

ประวิตร ยันเรื่องเลือกตั้ง หน้าที่ กกต. ไม่เอี่ยวมหาดไทย

พล.อ. ประวิตร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต.

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ผู้ปฏิบัติเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย ส่วนผู้ดำเนินการเลือกตั้งคือ กกต. พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่น่าเป็นอย่างนั้น แต่ กกต. อาจจะขอยืมกำลังคนที่เป็นนักศึกษาวิชาทหาร มากกว่าจะเป็นข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง กกต. จะใช้แบบไหนส่วนนี้ต้องให้ กกต. เป็นผู้สรุปตอบ เพราะตนไม่ใช่ กกต. ส่วนเรื่องแนวทางการเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง พล.อ. ประวิตร ระบุว่า คสช. ไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้

ยอมรับเหตุระเบิดตากใบกระบวนการข่าวล่าช้า

พล.อ. ประวิตร กล่าวถึงเหตุระเบิดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ว่า ตนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วันนี้ตนได้โทรศัพท์สั่งการไปยังแม่ทัพภาค 4 ให้บูรณาการการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และราชการ ในการป้องกันไม่ให้มีเหตุเกิดขึ้นอีก และในด้านการข่าวต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“ยอมรับว่ามีช่องว่างด้านการข่าว ซึ่งก็อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนให้ได้ ที่ผ่านมีเหตุเกิดขึ้น 2 ครั้งนั้นไม่ถือว่ารุนแรง และไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย การข่าวไม่ได้มีการคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด แต่อาจติดปัญหาที่กระบวนการส่งข่าวล่าช้าทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันท่วงที กรณีเหตุระเบิดรถไฟหรือเหตุระเบิดหน้าโรงเรียนบาตาเราก็รู้ก่อน เจ้าหน้าที่แจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 ผมเตือนไปตั้งแต่เมื่อวาน แต่ก็อย่าไปพูดว่า เป็นความบกพร่องของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามทำงาน อย่าไปซ้ำเติมเขา” พล.อ. ประวิตร กล่าว

เมื่อถามว่า พื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงเป็นพื้นที่เซฟตี้โซนหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าพื้นที่ใดเป็นเซฟตี้โซน และก็ไม่ใช่พื้นที่สีแดง ประเทศไทยไม่มีพื้นที่สีแดง ทุกคนเข้าออกได้ทั้งหมด ตอนนี้ประชาชนในพื้นที่ยังสนับสนุนฝ่ายรัฐเหมือนเดิม ด้านกลุ่มเห็นต่างในพื้นที่ยังคงเป็นกลุ่มเดิม ไม่มีกลุ่มใหม่

มติ ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

ผังแสดงเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง
ผังแสดงเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง

ครม. เห็นชอบหลักการ มอบ กทม. ดูโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีทอง” 

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการสำหรับดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) เพื่อแก้ปัญหาจราจรในฝั่งธนบุรี โดยให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ทำการศึกษาเพิ่มเติม และให้นำเสนอรายละเอียดรูปแบบการก่อสร้างโครงการ แนวทางการร่วมทุน ก่อนให้ ครม. เห็นชอบต่อไป

โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ระยะ รวม 2.68 กิโลเมตร คือ 1) ช่วงถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร วัดสุวรรณาราม แยกคลองสาน และสิ้นสุดที่โรงพยาบาลตากสิน จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี-เจริญนคร-คลองสาน ระยะทาง 1.72 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2561 และ 2) ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยาและสิ้นสุดบริเวณหน้าวัดอนงคารามวรวิหาร ก่อนถึงถนนประชาธิปก จำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีประชาธิปก ระยะทาง 0.96 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2566 โดยโครงการดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าอื่นๆ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ บริเวณสถานีสะพานพุทธ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย บริเวณสถานีคลองสาน

มีประมาณการว่า หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะมีผู้โดยสารระยะแรกในปี 2561 ได้จำนวน 47,300 คนต่อวัน และในปี 2566 ที่เปิดให้บริการระยะที่ 2 จะมีผู้โดยสาร 81,800 คนต่อวัน หลังจากนั้นผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 94,200, 113,300 และ 126,500 คนต่อวัน ในปี 2571 2581 และ 2591 ตามลำดับ

ด้าน พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง แต่เนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ห้ามสร้างรถไฟฟ้าบนดินช่วงบริเวณ 25 ตารางกิโลเมตรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากจะบดบังทัศนียภาพ จึงได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้ศึกษารายละเอียดถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมในการดำเนินโครงการทั้งรูปแบบบนดินและใต้ดิน แล้วนำเสนอ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ครม. เห็นชอบปรับเกณฑ์การเวนคืนที่ดิน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน) โดยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปใช้ประโยชน์อื่นเพิ่มเติม

ตามกฎหมายฉบับใหม่ที่จะออกมานั้น หน่วยงานรัฐที่ประสงค์จะนำที่ดินที่ได้จาการเวนคืนจะต้องเสนอแผนงานหรือโครงการให้คณะกรรมการระดับชาติตรวจสอบ และมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ และผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มากเกินความจำเป็น

“เนื่องจากรัฐธรรมนูญหลังจากปี 2521 กำหนดไว้ว่า การเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ หากหน่วยงานรัฐไม่เข้าใช้ประโยชน์ในเวลาที่กำหนดจะต้องคืนให้กับเจ้าของเดิมหรือทายาท ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานติดปัญหาไม่สามารถนำที่ดินที่เหลือมาใช้ประโยชน์อื่นนอกจากโครงการเดิมที่เคยทำได้ เช่น ที่ดินจำนวน 9 ไร่ บริเวณสะพานตากสิน เป็นพื้นที่เหลือจากคำสั่งเวนคืนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษจึงแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการออกกฎหมายเป็นแนวทางให้หน่วยงานรัฐสามารถทำคำสั่งเวนคืนใหม่ พร้อมเสนอแผนงานเพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อื่นตามสมควรได้” นายกอบศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่เวนคืนที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นระยะเวลา 10 ปี เจ้าของเดิมหรือทายาทสามารถขอคืนพื้นที่ดังกล่าวจากหน่วยงานรัฐได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ขวาสุด) พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวาสุด) พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

SCG สนองประชารัฐ พัฒนาที่ดิน 61 ไร่ รองรับผู้มีรายได้น้อย ขอที่ รฟท. ทำทางเข้า-ออก

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยขอความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพื่อเป็นทางเข้า – ออก และพื้นที่จอดรถของโครงการของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

“โดยได้ยกพื้นที่บริเวณบึงบางซื่อจำนวน 61 ไร่ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเป็นอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน จะมีการจัดเก็บค่าเช่าผ่านสหกรณ์ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ของประชาชน ซึ่งผู้อยู่อาศัยไม่สามารถขอทะเบียนราษฎร์และเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ รวมทั้งทางเข้า-ออก ไม่ได้ขอนุญาตอย่างถูกต้องจาก รฟท.” นายณัฐพรกล่าว

ครม. อนุมัติ 3,000 ล้าน เยียวยาผู้รับผลกระทบด้านเสียงสนามบินภูเก็ต

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบค่าชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ในวงเงิน 3,069 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากรายได้ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบปานกลางมีจำนวน 1,022 หลังคาเรือน ให้เอาเงินค่าชดเชยไปปรับปรุงอาคารที่พักอาศัย และผู้ได้รับผลกระทบสูงมีจำนวน 448 หลังคาเรือน ให้เอาเงินค่าชดเชยในอัตราที่เวนที่คืน หรือหากไม่ต้องการออกจากที่อาศัย ให้เอาเงินไปปรับปรุงที่พักอาศัย

“งบประมาณเดิมที่ ครม. อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 จำนวน 5,791 ล้านบาท ไม่ได้รวมถึงค่าชดเชยผลกระทบด้านเสียง เมื่อรวมกับค่าชดเชยผลกระทบแล้วจะเป็น 8,861 ล้านบาท” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

อนุมัติ 250 ล้านบาท สร้างทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการก่อสร้างทางหลวง 2136 หมายเลข 3 เพื่อเป็นทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภาของกรมทางหลวง เพื่อสนับสนุนเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในวงเงิน 250 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยดำเนินการระยะเวลา 3 ปี

พบพิรุธ สั่งระงับโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ 395 โครงการ

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยถึงโครงการตรวจสอบการปรับปรุงแหล่งน้ำ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และภาคประชาชน ได้ร่วมกันตรวจสอบ นำไปสู่การสั่งยกเลิกการดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำประจำปี 2559 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 9  ซึ่งดูแลพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน รวม 6 จังหวัด จำนวน 395 โครงการ วงเงิน 182 ล้านบาท ไว้ก่อน

“โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำต่างๆ  เป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานด้วยความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตและการเอื้อประโยชน์จากการเข้าร่วมประมูลของภาคเอกชน รวมไปถึงการก่อสร้างที่ผิดแบบหรือไม่ตรงตามสัญญาต้องมีการดูแลควบคุมไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วย เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทางราชการและประชาชน จึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำกับดูแล ส่วนโครงการใดที่เห็นว่ามีความผิดปกติก็ขอให้ชะลอโครงการเหล่านี้ไว้ก่อน” พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าว

ไฟเขียวยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ 20 ปี – ยกระดับการค้าไทยสู่การค้าโลก

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ ระยะ 20 ปี (กรกฎาคม 2559 – พ.ศ. 2579) ตามชื่อ “การค้าก้าวหน้า ประชาสุขใจ” (Advancing trade for people’s happiness)

โดยมีเป้าหมาย 3 ข้อ ดังนี้

  1. ยกระดับการแข่งขัน โดยสร้างลูกค้าเพิ่ม นอกเหนือไปจากที่เดิมมีเพียงผลิตสินค้าในชั้นต้น แต่ต่อไปจะให้เพิ่มเรื่องงานออกแบบ และส่งเสริมงานด้านบริการ
  2. ผลักดันความเชื่อมโยงกับโลก (Demand Driven) เน้นการบูรณาการด้านภูมิภาค ประสานความร่วมมือ โดยเฉพาะกับประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)
  3. สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ

โดยกำหนดให้ 4 ยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายข้างต้น เป็น Quick Win ที่จะดำเนินการในระยะที่ 1 (กรกฎาคม 2559 – ธันวาคม 2560) ดังนี้

  1. พัฒนาผู้ประกอบการให้ครบวงจร ยกระดับ เกษตรกร ให้เป็น SMEs และ ให้ SMEs พัฒนามากขึ้น อาจส่งเสริมให้เกิดการค้าในต่างประเทศ
  2. พัฒนาระดับการค้าให้มีประสิทธิภาพ ปรับบทบาทการควบคุมเป็นอำนวยความสะดวก เช่น ปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานต่างด้าวและกฎหมายการแข่งขัน ที่กำลังจะออกมา
  3. เสริมสร้างบทบาทผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกันและมีเหตุผล
  4. บูรณาการกับระบบการค้าโลก โดยเน้นที่ประเทศกลุ่ม CLMV และอาเซียน