ThaiPublica > คนในข่าว > “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” ความสำเร็จที่มาจากวิธีทำงานแบบ Very Target Oriented

“ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” ความสำเร็จที่มาจากวิธีทำงานแบบ Very Target Oriented

19 กันยายน 2016


ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า นับเป็น “ข้าราชการพันธุ์แกร่งและกล้า” จึงได้รับความไว้วางใจให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญ ตั้งแต่ผู้อำนวยการกองนโยบายภาษีอากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ผลักดันกฎหมายสำคัญให้ประเทศหลายฉบับ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร และปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนจะข้ามห้วยมาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งกับภารกิจกอบกู้เศรษฐกิจและสถาบันแห่งนี้ ถือเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนแรกที่มานั่งในตำแหน่งผู้ว่าการฯ (ถ้าไม่นับปลัดทูลฉลอง ที่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยเคยดำรงตำแหน่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ก่อนเกษียณจริงในตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

หม่อมเต่าจึงเป็น “ขิงแก่” ในแวดวงการเงินการคลังตัวจริงที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจ และแม้วันนี้ชีวิตหม่อมเต่าจะเดินทางมาเกิน 6 รอบแล้วก็ตาม แต่ประสบการณ์ต่างๆ กลับยิ่ง “เจียระไน” ความคิดให้ลุ่มลึกและแหลมคมขึ้น ซึ่งบางส่วนถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ “สดุดี (คนอื่น)” ที่นำหม่อมเต่าไปสู่นักเขียนที่ติดอันดับ Best Seller คนหนึ่ง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/momtau/photos/
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/momtau/photos/

หม่อมเต่าเล่าว่า หนังสือเล่มนี้เขียนสไตล์ “Shaggy Dog Story” ชนิดเจ้าตูบน้อยอยากเดินไปไหน หยุดตรงไหน สบายๆ ตามสัญชาตญาณ และเมื่อได้อ่านจริงๆ จะรู้สึกเหมือนผู้ใหญ่ที่มากด้วยประสบการณ์และชั้นเชิงมาเล่าเรื่องราวบนเส้นทางการทำงาน การเดินทาง และความคิดที่ทำให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ พร้อมกับสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจตลอดเส้นทาง

การพูดคุยกับหม่อมเต่าในวันนี้ก็เป็นสไตล์ “Shaggy Dog Story” แต่ก็ทำให้ทีมงานได้ข้อสรุปว่า “ผู้ชายคนนี้ Very Target Oriented”

ไทยพับลิก้า: ทำไมลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ

ผมเป็นคนชอบสังเกตว่าใครทำอะไร เห็นหลายคนที่ตั้งใจทำอะไรเพื่อประเทศชาติ ที่สำคัญ พวกเขารู้ว่าชาติต้องการอะไร และมีพลังที่จะผลักดันให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หลายเรื่องคนส่วนใหญ่ก็ลืมๆ กันไปแล้ว หรืออาจยังไม่เคยรู้ ผมก็อยากเล่าความดีที่พวกเขาทำให้ประเทศในมุมที่ผมเห็น แต่ผมเล่าให้ทุกคนฟังไม่ได้ก็ต้องทำเป็นหนังสือ และการจะเล่าอย่างนี้ได้ก็ต้องทำวิจัยนะครับ

ที่สำคัญ ถ้าใครทำดีกับประเทศผมก็ชื่นชมทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่สีไหน ผมเกือบจะเปลี่ยนชื่อเป็น “หนังสือนี้ความดีไม่มีสี” แล้ว

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้เห็นในสื่อบ่อยขึ้น

ผมเขียนในหนังสือว่า อยากจะทำอะไรใหญ่ๆ ประชาชนต้องเอา ไม่เอาทำไม่ได้หรอก ต้องสื่อ แล้วตั้งแต่เลิกจะทำอะไรใหญ่ๆ ระดับประเทศ ผมก็ไม่เคยออกสื่อเลยสักหน จนกระทั่งมาถึงหนังสือเล่มนี้ก็เลยมาพูดกับสื่อใหม่ แต่ทำธุรกิจไม่มีความจำเป็นเลย ค่อนข้างจำเป็นที่จะไม่พูดอะไรเลย

ถ้าคุณดูหนังสือที่คลาสสิกด้าน Management ปี 1990 ของ George Stalk และ Thomas M. Hout ชื่อ Competing Against Time เขียนไว้ชัดเจนว่า

“It’s not the big that eat the small, it’s the fast that eat the slow”

ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอย่างไทยๆ นะครับ แต่เป็นเรื่องธุรกิจปรับตัวเร็วหรือทำก่อนได้เปรียบ และ

“The most important thing is not to tell anybody anything”

อย่าบอกอะไรใครทั้งนั้น เพราะถ้าบอกไปแล้วเขาทำก่อนเขาก็ Fast เรา Slow เพราะฉะนั้น ทำธุรกิจพยายามไม่พูดอะไรเลย แต่ตอนทำเรื่องประเทศมันก็ต้องพูด ไม่พูดคนไม่เอาด้วย ไม่เข้าใจ ก็ไปไหนไม่ได้ เข้าสภาฯ ก็ตาย

ไทยพับลิก้า: เคยฝันเป็นนักเขียนมาก่อนหรือไม่

ไม่เคยคิดเลย แต่ฝันเล็กๆ น้อยๆ ของผมตอนเรียนหนังสือคือ อยากจะเป็นได้ “รางวัลโนเบล” คิดว่า “คงมันดี” (ยักคิ้วตามสไตล์) ด้านไหนก็ได้ จำได้ว่า ตอนเรียนหนังสืออยู่ที่ Harrow พอพี่สาวผมเรียนเสร็จพ่อแม่ก็กลับเมืองไทย ปีสุดท้ายเหลือผมอยู่คนเดียว ผมอยากเป็นวิศวะก็ไปสอบ MSQE ผมนึกว่าสอบตกแล้วนะ กลับมีหนังสือกลับมาบอกว่า Superlative กับ Excellent รับเลย ผมเลยมีสิทธิ์เข้าเรียนวิศวะที่เคมบริดจ์ได้โดยไม่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ แต่อายุผมยังไม่ถึงต้องรอ 1 ปี

ความที่อยากได้รางวัลโนเบล ระหว่างรอเรียน 1 ปี ผมไปหาซื้อหนังสือ Scholarship มาดู ปรากฏว่าอ่านไม่รู้เรื่อง หัวผมไม่ใช่พวก Academic คิดๆ เขียนๆ แต่ถ้าจะได้โนเบลหัวต้อง Academic ซึ่งผมไม่มีทางเลย ก็บอก House Master ที่ดูแลบ้านผม (Harrow จะอยู่กันเป็นบ้าน) ว่าขอลาออก House Master ก็ดูหน้า พ่อแม่ก็กลับแล้ว ก.พ. ก็ยังไม่ได้สมัคร เขาไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยต้องยอม ผมก็กลับมาอยู่เมืองไทยปีนึง แล้วก็กลับไปสอบเทียบเพื่อจัดชั้นวิชาไฟฟ้าอีกหนได้แค่ 2% เอง เพราะเราเป็นพวกท่องหนังสือ จำได้เมื่อสอบ ไม่สอบก็ลืม แต่สิทธิ์ที่เคยได้ก็ไม่หายไปไหน และเลิกคิดจะได้ “รางวัลโนเบล” ไปเลย

ไทยพับลิก้า: ทำไมมารับราชการ

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ไม่ได้อยากมาเป็นข้าราชการมาตั้งแต่แรกนะ

สมัยก่อน ข้าราชการเป็นตำแหน่งที่สบาย เป็นใหญ่ เงินเดือนดี คนเข้าราชการหลายคนเขาต้องการความมั่นคง พ่อแม่สมัยนั้นมีเยอะแยะเลยนะ จะแต่งงานกับลูกสาวเขาต้องเป็นข้าราชการ ข้าราชการเป็นคนที่เงินเดือนสูงสุดสมัยก่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดเงินเดือน 400 บาท สูงสุดในจังหวัด

แต่ผมไม่ได้เข้าไปเพราะเหตุนั้น ไม่ได้เข้าไปเพราะงานมั่นคง

ตอนที่ตัดสินใจรับราชการ ผมก็ดูแล้วว่าหน่วยงานเอกชนที่มีเกิน 2 พันคน มีปูนซีเมนต์ไทยกับแบงก์กรุงเทพเท่านั้น ซึ่งผมก็ไม่อยากทำงานให้เจ้าสัว แล้วก็ไม่อยากไปทำงานโรงปูน อยากทำงานตามสภาพงาน ก็เลยเข้าราชการ มันไม่มีนาย ผมไม่อยากมีนาย

“กฎมีอยู่ว่าอยู่ให้ได้ 4 ปี ยังไงนายเราไม่เกิน 4 ปี”

ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยมาเกือบ 10 ปี ก็ถามพ่อแม่ว่ารู้จักใครในราชการมั้ย อยากไปทำอะไรที่พัฒนาๆ เขาก็บอกว่ารู้จักอยู่คนเดียวคุณบัณฑิต (บัณฑิต บุณยะปานะ) ไปคุยสิ ทำงานอยู่ในกระทรวงการคลัง

คุณบัณฑิตก็ไปเล่าให้ ดร.ป๋วย (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ฟัง ดร.ป๋วยชวนให้มาอยู่กับท่าน เพราะตอนนั้น ดร.ป๋วยกำลังสะสมเด็ก ผมถึงได้เป็นลูกศิษย์ ดร.ป๋วยอย่างแท้จริง เพราะผมไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย ท่านเป็นคนขอว่ามาอยู่กับท่านมั้ย

“ผมยังถามคุณบัณฑิตว่า ใครอะ ดร.ป๋วย เพราะผมวิศวะไม่เคยได้ยินชื่อท่าน ตอนท่านไปเมืองนอก ท่านก็ไปเป็นที่ปรึกษาการคลัง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวิศวะ ตอนนั้นคิดว่าไปฝึกกับท่านสักพักจะกลับไปเรียนต่อ ก็เลยอยู่ติดมา”

ไทยพับลิก้า: ทำงานกับ ดร.ป๋วยเป็นอย่างไรบ้าง

สนุก ได้ความรู้ดี

ท่านไว้ใจเด็ก ทำงานกับท่าน ท่านจะถามว่าไหวหรือเปล่า ผมก็อายุ 23-24 ผมก็พูดคำเดียว “ไหวครับ” เช่น ผมทำงานไม่นานท่านก็ให้ผมไปเจรจาเงินกู้สร้างเขื่อนน่าน (เขื่อนสิริกิติ์) ที่ World Bank ท่านก็ถามคำเดียว “ไหวมั้ย” ตอนขึ้นเครื่องแอร์โฮสเตสยังมาถามว่า “จะไปเรียนต่อเหรอ”

ท่านสอนดี คุยกับท่านไม่มีเลยเรื่องปีนี้ปีหน้า มีแต่เรื่อง 10 ปี 20 ปีจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราต้องทำอะไรตอนนี้ เด็กเท่าไหร่ท่านก็ไม่สนใจ

ผมนึกถึงท่านบ่อยๆ นะ แต่จะให้ผมไปนั่งร่วมงานรำลึกถึงท่านผมไม่ค่อยชอบ ทั้งที่จริงๆ ในชีวิตผมทั้งชีวิตเคยไปหาคนที่บ้านคนเดียวคือ ดร.ป๋วย ไปหาท่านที่อังกฤษ ตอนที่ตัดสินใจรับตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ผมก็บินไปบอกท่านว่า ท่านทำสำเร็จแล้ว ท่านเป็นคนเอาผมมา วันนี้ก็เป็นผู้ว่าฯ แล้ว

ไทยพับลิก้า: อะไรทำให้เป็นเหตุให้อยู่ในวงราชการนานทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจแต่แรก

ผมเข้ามาในช่วงบ้านเมืองกำลังพัฒนาก็ได้ทำอะไรเยอะ ผู้ใหญ่ก็ไว้ใจ และก็ไม่รู้เป็นยังไงผมชอบได้งานยาก เรียกว่า พออะไรไม่ Work เขาก็จะส่งผมไปจัดการ มันก็ท้าทายและผมก็สนุกกับมันนะ ถือว่าเป็นสภาพชีวิตไม่ได้เลือก แต่ก็ Work ดี ก็ทำไปเรื่อยๆ ออกมาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มันก็ Just a Job พอคิดอย่างนี้ ก็จำไม่ค่อยได้ว่าทำอะไรบ้าง แต่คนจนแยะจัง ยังไงๆ ผมก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นคนจน เลยตั้งใจว่าจะช่วยเขาสักรุ่นชีวิตหนึ่ง (A Generation)

งานราชการส่วนหนึ่งเป็นงานที่ต้องทำให้งานเดิน

ที่พอจำได้คือ เรื่องซื้อที่ดินทำสนามบินสุวรรณภูมิ ปัญหาที่ติดอยู่ก็คือ มีชาวบ้านอยู่ 58 ครอบครัวบอกว่ายังไม่จ่ายเงินค่าที่ดินให้เขา ผมก็ขับรถไป เขาก็เดินขบวนกั้นไม่ให้เข้า เขาถามว่าทำไมไม่ซื้อที่ดินเขา ปัญหาคือเขาตกสำรวจ ผมก็บอกว่าคุณก็ไปเอา 7 คนมาซิ นายอำเภอ ตำรวจ คนแก่ ผู้ใหญ่บ้าน มาเซ็นว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วตอนสำรวจ 58 ครอบครัวนี้ไปตกปลาก็เลยไม่เจอ เลยตกสำรวจ ก็จบแค่นั้น

อีกปัญหาอันหนึ่งพูดไม่ได้คือค่าถมดิน ผมเพียงแต่บอกว่าผมติดต่อสมาคมทราย ผมก็รู้ว่าทรายคิวละเท่าไหร่ แล้วผมก็รู้ว่ารถมันขนได้กี่คิว แล้วผมก็คูณให้เขาโดยใช้ราคาคิวทางการด้วยนะ ไม่ใช่คิวที่มีป้ายติดอยู่บนรถ ผมคำนวณให้ดูได้ว่าเท่าไหร่สุดท้ายเขาก็เอา พอแก้ปัญหาเรื่องทรายได้ก็ 2 เดือนเสร็จ

Eastern Seaboard ใครซื้อที่ดินไม่ได้ ผมไปก็ซื้อง่ายนิดเดียว ที่เขามีเล้าไก่อยู่ด้วยก็บอกเขาไปว่า ให้ค่าเล้าไก่ 7,000 บาท “แต่อย่าบอกใคร” ตกลงไหม เขาตกลงก็ไปโอนกันที่ที่ดินอำเภอ

แรกๆ ก็คิดว่าเก่ง แต่พอกลับมาคิด ก็ไม่ได้เก่งอย่างที่ผมนึกหรอก คิดว่าคงตกลงกันไม่ได้หรือมีการตกลงต่อรองอะไรกันอยู่ แล้วผมทำเรื่องแตกมั้ง เรื่องก็เลยจบ

ส่วนเรื่องกู้เงินมาทำสนามบินก็ไม่มีปัญหา แต่ยังเสียใจอยู่ทุกวันนี้ที่ให้สร้างสนามบินรูปแบบนี้ แล้วเพื่อนหลายคนบอกว่า “รู้มั้ย นี่เป็นงานเลวที่สุดของลื้อ”

ผมก็ยอมรับ แต่ตอนนั้นนี่เป็นโครงการสุดท้ายแล้ว หลังจากนั้นเราแทบจะปิดประเทศเลย “เป้ามีอันเดียว ทำยังไงก็ได้ให้สนามบินมันเกิด” เพราะมันช้ามามากแล้ว ตอนนั้นไม่มีโครงการลงทุนเลย คุณลองบอกผมสักโครงการสิตอนนั้น “ล้มหมด” (วิกฤติปี 2540) แต่ประเทศมันต้องเดิน

อย่างไปที่แบงก์ชาติ (ในช่วงวิกฤติปี 2540) ไปอยู่ได้สักเดือนหนึ่ง ผมก็บอกเปิดไฟริมน้ำได้มั้ย เพราะเขาปิดหมดเลย เขาก็ถามผมว่าทำไม ผมก็บอกว่า เขาก็นึกว่าเราปิดประเทศอยู่ นักท่องเที่ยวตั้งเยอะแยะ คนมาคนไป ถ้าเราเปิดไฟเขาก็จะได้รู้ว่า อ้อ…เริ่มใหม่แล้วเหรอ

การจะแก้ปัญหา ต้องทำอะไรให้สำเร็จสักอย่างสองอย่าง คนเราชอบความสำเร็จ ถ้าสำเร็จสักอย่างสองอย่าง เดี๋ยวก็วิ่งกันมาช่วยหน้ามืดเลย ไม่มีใครอยากล้มเหลวหรอก ทุกคนอยากสำเร็จ เพียงแต่ทำให้เขาเห็นว่ามันน่าจะสำเร็จ

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

หลายอย่างก็เป็นเรื่อง กติกา

สมัยนึง ผมเป็นคนทำเรื่องต่อสัญญาโรงเหล้า ผมเชิญคุณเจริญ (เจริญ สิริวัฒนภักดี) มาบอกว่าเลิกสัญญาแล้วเปิดแข่งเสรี แกก็บอกว่าเอาสิครับ ผมก็ทำเสนอขึ้นไป ห้ามมีใครมีเกิน 30% ก็เข้าไป ครม. แต่มติออกมาไม่มีเงื่อนไขนี้ ก็เลยเปิดเสรีจริงๆ ใครใหญ่ได้หมด คุณเจริญได้ไป 8 โรง

แล้วตอนนั้นผมก็เห็นโรงเหล้าดึงก๊อกปล่อยอะไรลงในแม่น้ำเลยแทนที่จะวิ่งไปเกิน 12 ไมล์ทะเลแล้วค่อยทิ้งขยะ ผมก็เขียนเงื่อนไขไปว่า ห้ามเอาส่าเหล้าไปทิ้งในแม่น้ำ ต้องทำเป็นปุ๋ยหมัก

คุณเจริญก็ไปซื้อที่ 2 พันไร่ ตอนนั้นไร่ละ 3 พันบาท 5 พันบาท เพื่อทำปุ๋ยหมัก ซึ่งก็ยังไม่เคยทำเลยในชีวิต แรกๆ เขาก็คงต้องดิ้นรนไม่น้อย แต่พอตัดถนนวงแหวนมันก็ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทรไม่ได้ ก็เลยผ่านที่คุณเจริญ ตอนนี้สงสัยราคาเป็นล้าน และปกติแกเป็นคนไม่ค่อยพูดอะไรนะ แต่แกก็อดไม่ได้เวลาเจอผมก็บอกว่า “ขอบคุณนะที่ทำให้ผมรวย …” (หัวเราะ)

บุญรอดบริวเวอรี่ก็คล้ายกัน ผมไม่อยากให้ผูกขาด ผมใส่เงื่อนไขเข้าไปตอนต่อสัญญาว่าต้องปลูกข้าวบาร์เลย์เอง ซึ่งนึกว่าไม่มีทางที่จะปลูกได้ในเมืองไทย แต่เขาก็ไปซื้อที่เชียงรายแล้วปลูก ใครจะไปนึกว่าดันปลูกขึ้น ทำทัวร์รวยเลย ตอนนี้ไม่มีคนพูดถึงเบียร์เลย พูดถึงไร่บุญรอดฯ

“ผมเป็นคนทำงานซีเรียส ข้อดีของผมอย่างหนึ่งคือไม่ได้อยากจะเจริญ ก็ทำงานแบบนั้น แล้วก็เป็นคนซึ่งทำแล้วต้อง Very Target Oriented”

บางงานก็เป็นเรื่องการจับทุจริต เช่น

ไปช่วยงาน ดร.อำนวย (ดร.อำนวย วีรวรรณ) ที่ศุลกากร ท่านอยากได้คนเก่งปริญญาดีๆ ผมก็สมัครไปอยู่กับท่านสบายดี ที่กรมศุลฯ ก็บอกเขาว่าอยู่กระทรวง และที่กระทรวงบอกเขาว่าอยู่กรมศุลฯ

ท่านให้ไปดูสนามบินดอนเมือง กับไปรษณีย์

สนามบินดอนเมืองตอนนั้นก็มีทุจริตเยอะแยะเลยเรื่องเงิน ผมก็ไปดู ไปถึงเดินเตะกระเป๋าสะดุดหัวทิ่ม ก็รู้แล้วว่ามันขนของ ผมก็แอบสืบ ก็รู้ว่าเขาแบ่งเงินกัน แบ่งเงินตรงชั้นบนทุกวันอะไรก็ไม่รู้ แล้วผมก็ดูใครได้เท่าไหร่ ก็พบว่าหัวหน้าได้น้อยกว่าลูกน้อง ผมก็นั่งคิดว่า เป็นไปได้ยังไง ก็ดูไปแล้วก็อ้อ…เข้าใจแล้ว หัวหน้าเขาได้ทั้ง 3 ก๊ก ลูกน้องแบ่งเฉพาะก๊กของเขาเท่านั้นเอง

วิธีเช็คก็คือ Hypothesis (ตั้งสมมติฐาน) ถ้ามันลงตัวมันก็ใช่ นั่นเป็นงานใหญ่อันหนึ่ง

หรืออย่างทำเรื่องไปรษณีย์ ผมก็แอบไปนั่งที่ตึกส่องกล้องดูว่าทำอะไร เพราะว่ากฎหมายศุลกากร ถ้าไม่ถึง 5 พันบาทใช้ฟอร์มอันนึง เหมา ถ้าถึง 5 พันบาท ต้องยื่นแสดงคำนวณ

ผมก็นั่งดูเขาทำงาน ผมแอบส่องกล้องทำแบบในหนังเลย (หัวเราะ) ผมก็นั่งดูเขาแยกกอง กองใหญ่มีเงินหยิบไว้ทางนี้ ไม่มีเงินไว้ทางนี้ แล้วที่มีเงินเขาก็ตีเป็นไม่ถึง 5 พันบาทหมด ผ่านไม่ต้องดู แล้วที่ไม่มีเงินเขาก็ตรวจ

“ผมเป็นคนทำงานซีเรียส ข้อดีของผมอย่างหนึ่งคือไม่ได้อยากจะเจริญ ก็ทำงานแบบนั้น แล้วก็เป็นคนซึ่งทำแล้วต้อง Very Target Oriented”

ไทยพับลิก้า: ร่ำลือว่า “โหด” และ “ดุมาก”

ไม่มีอะไรอยู่ราชการ ผมเป็นพวก Very Target Oriented พูดอะไรก็ได้ให้ Effective เร็วที่สุด บางทีด่าก็จบเร็วดี ถ้ามัวแต่อธิบายก็เรื่องยาว ในเอกชนไม่มีเลย ลองถามลูกน้องผมดูสิ ไม่มีเลย เพราะรู้ว่าถ้าทำอย่างนั้นเขาไปหมด แต่ราชการไม่มีใครไปหรอก

ในหลักราชการเราถือว่าทุกคนทำยังไง ด่าว่าทำอะไร ไม่มีใครออก ในหลักใหญ่ๆ คนส่วนใหญ่อยากได้ Security ฉะนั้น บุกเบิก ลุยอะไรยังไงก็ได้ ในเอกชน เราลุย เขาก็ไปทำงานกับคนอื่น เราก็ตาย

เพราะฉะนั้น ผมไม่เคยว่าอะไรใครเลยในเอกชนสักคำ เพราะรู้ว่าเอกชนทำงานเพราะเขาอยากรวย เราก็แค่เปิดโอกาสให้เขารวยได้ แบ่งผลประโยชน์ให้แฟร์หน่อยเท่านั้น เขาก็ทำของเขากันเอง คนละสไตล์เลย

โอ้ย…รัฐมนตรีชอบผมมากเลย สมัยก่อนวันศุกร์เย็นเรียกมาสั่งๆ เดี๋ยววันอาคารจะเข้า ครม. นะ ไหวหรือเปล่า ไหวสิครับ ผมก็เรียกลูกน้องมา 6 คนจับคู่ช่วยกัน สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องเขียน ค่อยๆ แกะ ค่อยๆ คำนวณครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ ทำตาราง 2 วัน 2 คืน นั่งคำนวณทีละแผน

ผมก็วางแผนให้ บอกว่าคุณก็แบ่งกันไป 3 ทีม ทำคนละ 8 ชั่วโมง ที่กระทรวงนี่แหละ ไม่ต้องกลับบ้านหรอกแล้วผมก็ไปเที่ยว พอสักตี 2 ไนท์คลับปิด (หัวเราะ) ผมก็กลับไปดูว่าถึงไหนแล้ว พอวันจันทร์รัฐมนตรีมาก็ “เสร็จแล้วครับ”

อย่างวันก่อนผมไปพูดที่ ปตท. กับคุณทองฉัตร (ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์) อดีตผู้ว่าการคนแรกของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปตท. เขารักทองฉัตร เขามากันเยอะแยะเลย ตอนจบคนจัดงานเขาก็ถามผมว่า “มีอะไรจะฝากมั้ย” ผมเห็นเด็กแยะ ผมก็ฝากว่า คิดไว้เลยว่า “งานไม่เสร็จไม่ต้องนอน” ต้องมี Determination แบบนั้น เงินเดือนเท่าไหร่ไม่เกี่ยว งานไม่เสร็จไม่ต้องนอน

ไทยพับลิก้า: กลยุทธ์สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบ Target Oriented

สมัยผมเข้าไปเป็นปลัดฯ คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงาน ผมบอกว่า ให้ตำแหน่งซี 7 ที่จะเลื่อนขั้นเป็นซี 8 ส่งใบสมัครมาทางคอมพิวเตอร์ บางคนก็บอกว่าไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมก็บอกว่างั้นไม่ต้องเลื่อน อาทิตย์เดียวมีทุกคนเลย

ทำอะไรก็ต้องตั้งเป้าหมายให้ถูก เดี๋ยวอย่างอื่นก็ตามมาเอง

อย่างที่แบงก์ชาติ ลาป่วย ลากิจต่างๆ ก็บอกให้ลาทางคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่งั้นคุณก็ไม่ต้องลา คำขอนั่นแหละสำคัญ คำขอที่ขึ้นมาว่าจะให้ใครเป็นอะไร ถ้าไม่ส่งมาทางคอมพิวเตอร์ คุณก็ไม่ต้องเป็น ก็โหดดี เพื่อจะให้คนมัน Move

ถ้าเผื่อเราไม่หวังอะไรในชีวิต เราทำอะไรได้แยะ

ไทยพับลิก้า: งานที่เคยทำมีอะไรที่ยังติดใจหรือเปล่า

ผมเป็นคนตั้งอะไรก็ได้ ทำไมผู้ใหญ่ยอมหมดก็ไม่รู้ อย่างเรื่อง “เอาเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน” ผมก็เป็นคนตั้งเรื่อง เขาก็ยอม แต่พอเศรษฐกิจล้มละลายปี 2540 เรื่องก็เลยเงียบ ไม่ได้เลิกนะ ลืมไปเลย

เมื่อก่อนผมบอกลูกเสมอว่า “ตราบใดที่สายไฟยังไม่ลงใต้ดิน ผมจะไม่ยอมตาย” แล้วถ้าใครชวนเข้ารัฐบาลในตำแหน่งไหน รับทันทีมีเงื่อนไขอันเดียว คือผมขอเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน (หัวเราะ)

ผมเป็นคนทำสวนแล้วผมเดือดร้อน เลยหมกมุ่นกับเรื่องนี้ วันนี้ที่เห็นสายเยอะแยะไปหมดมีสายไฟอยู่ 3 สายเอง ที่เหลือเป็นสายโทรคมนาคม ทำยังไงให้คนที่ปักเสาคือการไฟฟ้านครหลวงคิดเงินคนอื่นได้ พอตอนอยู่ใต้ดิน เริ่มให้เขาคิดเงิน แทนที่จะขายไฟ กลายเป็นขายท่อติดสายโทรคมนาคม ก็ไปเอากับ กสทช. ที่เป็นคนกำหนดค่าบริการ

เวลานี้ก็อยากอยู่อย่างเดียวแล้วก็น่าจะสำเร็จ ถึงได้บอกว่าตายได้แล้ว

ไทยพับลิก้า : ข้าราชการรุ่นก่อนดูผลักดันอะไรได้มากกว่าสมัยนี้

ตั้งแต่ปี 2518 ระบบคัดคนเข้าทำงานราชการมีเปลี่ยนโครงสร้าง

แต่ก่อนนี้มันเป็น Functional Classification เป็นการคัดคนชนิดไม่ดีไม่ได้ขึ้น มันก็จะมีแต่คนดี แล้วถ้าดีพอเป็นปลัด ผมเป็นปลัดก็จะนั่งดูว่าใครจะขึ้นมาต่อ เราก็เลี้ยงเขาให้อยู่ แล้วก็หัดให้เขาไปให้ถูกที่ มันเป็นระบบแมนดาริน (Mandarin System)

จีนเวลานี้ก็เป็นระบบแมนดาริน พอเรียนจบได้ที่ 1 ที่ 2 ในมหาวิทยาลัยในเมืองจีน คุณก็ถูกคัดเข้าปักกิ่ง แล้วก็แข่งกัน พันคน สองพันคน ค่อยๆ คัด ใครทำได้ดีก็ค่อยๆ ขึ้นไป ไม่มีเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าคนที่เลือกคือคนก่อน ก็เหมือนสมัยไทยโบราณ ปลัดกระทรวงนั่นแหละเป็นคนเลือกเด็กเข้าไป

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/momtau/photos/

ถึงเขียนในหนังสือ อย่างปลัดบุญมา (วงศ์สวรรค์) ผมก็ไม่ได้เกี่ยวอะไร อยู่ๆ ท่านก็เรียกไป ท่านก็บอก “คนเซ็นเช็คผิดเสมอนะ” คอนเซปต์เป็นอย่างนั้น ผมถามว่าทำไม ท่านก็ว่า “คนเซ็นเช็คต้องรู้ว่าก่อนมาถึงเช็คควรเซ็นหรือเปล่า ฉะนั้น ต้องรู้กระบวนการหมด” ระบบของเราก็หัดมาเป็นระบบนั้น

พอมาถึงปี 2518 อเมริกันก็เอาระบบเขามา เป็นระบบ Post Classification ดูว่างานนั้นต้องการคุณสมบัติอะไร ใครก็เป็นได้ ไม่ใช่คนเก่ง คนไม่เก่ง

คนที่จะทำงานอะไรได้มันมีแยะ เพียงแต่ว่ามันได้ถูกคัดมาว่าเป็นคนดีหรือเปล่า พอมาอย่างนั้น Post กระโดด 2 ซียังได้เลย แต่จะว่าเป็นเพราะเหตุนี้จริงๆ 100% หรือเปล่า ก็คงไม่หรอก มันก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ ส.ส. ด้วย

ไทยพับลิก้า: งานที่ทำตอนนี้มีอะไรบ้าง

งานใหญ่ของผมตอนนี้คือ “ซื้อหุ้นแล้วก็ลงทุน” คิดว่าวันนี้เริ่มลงตัวมาก การทำเงินเป็นพันเป็นหมื่นล้านไม่ยากถ้าทำเป็น แต่ที่ยากคือ ไม่บริโภค (หัวเราะ) หมายความว่า ถ้าคุณทำเงินได้ล้านนึงแล้วคุณกินหมด มันก็ไม่เป็นสองล้าน แต่ถ้าคุณทำเงินได้ล้านนึง แล้วกินก๋วยเตี๋ยว 30 บาท คุณก็เอาล้านนึงไปลงทุนเป็นสองล้านแล้วเงินพวกนี้ก็งอกเงยไปเรื่อยๆ

อย่างอาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็น Value Investor เหมือนกัน ผมเคยเจอเขา เขาซื้อคอนโด แต่เขาไม่ซื้อรถ รู้มั้ยทำไม เพราะคอนโด Appreciate แต่รถยนต์ Depreciate ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้ผมอาจเก่งเท่ากับเขาแล้วล่ะ แต่ว่าผมบริโภคสูง (หัวเราะ)

ผมมีก๊วนนักลงทุนที่รู้จักหลายคน เรียกว่าเป็นพวกผู้มีความสำเร็จในชีวิต รวยขึ้นมาไม่ใช่เพราะมีพ่อแม่ให้เงิน แต่เป็นนักลงทุน

เสี่ยบางคนเริ่มจากแสนบาท ตอนนี้เขาบอกว่ามี 8 หลัก ทุกคนก็นับๆ คิดว่าเป็นร้อยล้าน แต่ผมนับว่าเป็นพันล้านนะ คือเขาตั้งใจพูดให้มั่ว เพื่อไม่อยากให้คนรู้ว่าเขามีเท่าไหร่ แต่ก็แหงแก๋ ทุกคนทำงานนี้ต้องอย่างนั้น

อีกคนหนึ่ง พ่อเป็นเจ้าของโรงสี เขาเห็นการซื้อขายข้าว โรงสีไม่ได้สีข้าวหรอก สีข้าวก็ค่าจ้างกินหมด ที่รวยคือซื้อข้าวเปลือกถูกแล้วขายข้าวสารแพง มันก็ต้องรู้ว่าวันไหนมันจะถูกหรือแพง นี่คือตลาดหุ้นแหละ ดู Demand-Supply พ่อให้เงินมา 30 ล้าน ตอนนี้มีอยู่ 3 พันล้าน ในชีวิต Trade ไปแล้ว 5 แสนล้านใน 30 ปี กำไร 0.6% จากยอด Trade เขา Big ส่วนผมมันแค่ High net worth individual (หัวเราะ) ผมก็ถือโอกาสถามต่างๆ นานา

ทุกวันนี้เวลาเลือกซื้อขายหุ้นจะเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง กูคนเดียว ตายของกูคนเดียว ซื้อกับขายไม่ต้องมีกรรมการอนุมัติ ผมเคยจะทำฟันด์ตั้งหลายหนแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะต้องไปหาเงิน ต้องไปอธิบายคน นี่อธิบายเราคนเดียว ตอนกลางคืนตื่นมาตี 2 ตี 3 ก็นั่งเปิดจอดูอยู่คนเดียว (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า: แนวทางการลงทุนอย่างไร

ผมเป็น Value Investor อย่างแท้จริง ผมไม่รู้ว่าดัชนีตลาดเท่าไหร่ ผมไม่รู้ว่าหุ้นที่ผมซื้อนั้นเปลี่ยนแปลงยังไง ดูว่าราคามันเคยเท่าไหร่เท่านั้นเอง รู้แต่ว่าซื้อบริษัท ไม่ได้ซื้อตลาด แล้วเขาทำอะไร โอกาสที่เขาจะโตเท่าไหร่ แต่ก่อนจะซื้อก็ต้องดูถึงระดับหนึ่ง ที่เขาวิเคราะห์แบบ Technical ไม่ต้องรู้ด้วยว่าเขาซื้อถั่วเขียวหรือซื้อหุ้น เพราะที่วัด Psychology ของคน ไม่ต้องดูอะไรเลย แค่ดูว่าคนคิดอะไร ไม่ใช่ไม่เชื่อนะ แต่ทำใจไม่ได้ ต้องขายทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าทำไมขาย หุ้นมันจะเป็นอะไรยังไง ทำใจไม่ได้เฉยๆ

ตอนนี้งานใหญ่คือซื้อหุ้นแล้วก็ลงทุน มันไปด้วยกันนะ ถึงได้ไปเรียนหนังสืออยู่เรื่อยเพื่อจะเจอคน และต้องติดตามความเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศ ก็เพราะต้องลงทุน

ไทยพับลิก้า: คิดเห็นอย่างไรกับประเทศขณะนี้

ผมก็ดูๆ อยู่นะ ดูเหมือนท่านนายกฯ ลุยเองทั้งนั้น แต่ไม่ต้องทำทุกอย่างหรอก ทำแค่ 2-3 อย่างก็พอ อย่างมาเลเซียทำได้ดีมากวันนี้คือสร้างโครงการใหญ่ๆ

บางคนบอกว่า โครงการใหญ่ๆ กว่าจะเสร็จ กว่าจะเห็นผลใช้เวลา แต่ความจริงพอเซ็นสัญญาปั๊บ เศรษฐกิจก็เริ่มเดินแล้ว เริ่มสั่งเครื่องจักรเข้าที่ สั่งปูน สั่งหิน สั่งเหล็ก คนเห็นออเดอร์ล่วงหน้า ใจก็มา แต่ที่ยากสุดคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีใครศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ก่อนที่จะทำหรอก มันเป็นร้อยล้านพันล้านที่ต้องทำ และคนที่ใส่เข้าไปว่า สิ่งแวดล้อมต้องเสร็จก่อนที่จะอนุมัติเสนอ ครม. คือ NGO พอท่านนายกฯ แก้ปั๊บ NGO ก็ร้องเลย แต่คนทั่วไปซึ่งเป็นพวกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเขาไม่เอา เขาจะตายอยู่แล้ว ไม่มีโครงการลงทุนเลย พอคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย NGO ก็ทำงานไม่ได้ คือผมไม่ได้ต่อต้าน NGO นะ ผมค่อนข้างเป็น Intellectual ดูแต่ละคนว่าเขาทำอะไร แล้ววิเคราะห์สถานการณ์

งานนี้ผมก็ว่าท่านเลือกเวลาที่จะใช้มาตรา 44 ได้พอดีเวลา เร็วไปก็จะมีข้ออ้างต่างๆ นานา ช้าไปเศรษฐกิจก็ไม่เดิน

ถ้าโครงการใหญ่ๆ ทำได้ตามแผนสิงหาคมปีหน้า GDP น่าจะโตเกือบๆ 5% ซึ่งผมว่าเกิดขึ้นได้ ผมไม่ได้มีโมเดล ไม่ได้เก็บตัวเลข แต่ผมดูวิธี Move โครงการใหญ่ๆ เรื่องพวกนี้มันมีกำลัง

แล้วเรื่อง Infrastructure ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะมีหนี้ทำประเทศเจ๊ง ถ้าทำถูกอันแล้วมันใช้ได้ มันก็จ่ายตัวมันเองได้ ก็ไม่เคยเห็นโครงการเมืองไทยที่ใช้ไม่ได้นะ ถนน สะพาน โรงไฟฟ้า มีแต่ไม่พอ พอมีแล้วก็สบายใจ นั่งรอจนมันเต็ม

ฟิลิปปินส์ที่เจ๊งสมัยก่อน เขาสร้างโรงปุ๋ยแห่งชาติ ไม่ได้มีปุ๋ยนะ สร้างมาแล้วก็ไม่รู้จะผลิตอะไร ไม่มีวัตถุดิบจะผลิต อย่างนั้นแหละเจ๊ง สร้างโครงการใหญ่ๆ แล้วไม่ใช้ ทำแล้วมีแต่หนี้ไม่มีรายได้ GDP ก็ไม่โต ถ้าใช้มันก็สร้างรายได้ขึ้นมา จีดีพีขึ้นไป หนี้มันก็ไหว แล้วก็สร้างทำต่อ

ผมดูๆ แล้วแพ็กเกจค่อนข้างดีมาก รถไฟมีรางอยู่แค่เมตรเดียวทำเป็น 2 รางก็บุญแล้ว แค่นั้นก็ไปได้ไกลแล้ว ก็ไม่ชนกัน ส่วนโอกาสที่เราจะทำรถไฟ 450 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ต้องฝัน เอาแค่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไปเชียงใหม่ ไปอีสเทิร์นซีบอร์ดได้เร็วขึ้นก็โอเคแล้ว เงินลงทุนน้อยกว่าแยะ แล้วมันชัวร์

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ส่วนข้อกังวลด้านฐานะการคลังหลังจากรัฐบาลใช้งบประมาณไปจำนวนมาก ผมคิดว่าไม่น่าห่วงนะ ไทยเรา Very Conservative เกณฑ์หนี้สาธารณะ 60% ของ GDP ถ้าคุยกับไอเอ็มเอฟถึงจุดนี้จึงจะถือว่าต้องระวังตัว แต่ถ้าเป็นการลงทุนที่จะสร้างรายได้ในอนาคตก็จำเป็น ก็ไม่ได้ใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่ายในทางที่ไม่สมควร

ผมว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลใช้ได้ ปัญหาอันเดียวคือไม่ Focus ถ้าวาง Target ให้ชัดแล้วจับเรื่องสองเรื่องแล้วผลักดันมันให้ได้เรื่องอื่นจะเกิดขึ้นเอง ตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็จะทำ ยังเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก ขยายอีสเทิร์นซีบอร์ดด้วย สนามบินก็จะทำ Digital Economy ก็จะเอา แต่พอไม่ Focus แล้วมันทำงานยาก

คนเราพอเวลาทำอะไรหลากหลายมันยาก เหมือนกับเรียนหนังสือ เดี๋ยวเรียนเศรษฐศาสตร์ เดี๋ยวเรียนวิศวะ เดี๋ยวเรียนศาสนา ก็ยากที่จะเก่งอะไร รู้จักเรื่องหนึ่งแล้วดันมันก็จะได้อย่างอื่นไปด้วย ผมว่าดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกับ Digital Economy ได้อย่างอื่นก็เดินเองเกือบทั้งหมดนะ

Digital Economy คอนเซปต์เขาดีนะ แต่ Execution มันโดดๆ คอนเซปต์เขาคือ ตัวใหญ่ที่สุดในดิจิทัลคือราชการ ซึ่งมีอยู่ 150 กรม ใช้คอมพิวเตอร์ของตนเอง ทำไมยอมให้ใช้คอมพิวเตอร์ ทำไมไม่ให้ใช้ Cloud ติดต่อทาง Cloud

Cloud คือคอมพิวเตอร์ซึ่งรับข้อมูลจากที่อื่นแล้วเปลี่ยนโปรแกรมได้ในเครื่องนั่นแหละ เปลี่ยนข้อมูลทั้งที่รันอยู่ แต่ก่อนนี้มันเปลี่ยนไม่ได้ มันต้องหยุดเครื่อง มันก็ค้าขายไม่ได้ ตอนนี้ไม่ต้องหยุด เครื่องสามารถบริหารให้ Efficient ได้ รับโปรแกรมใหม่ ย้ายโปรแกรมเก่า เอาข้อมูลใส่ทั้งที่มันเดินอยู่

แล้วเมื่อมันเดินดีก็บอกเอกชนว่าใครใช้ Cloud ของราชการก็ต้องถือว่าสุจริต มันก็จะเป็น Digital Drive Economy คือจับเรื่องนึงให้ได้ แล้วดันให้มันไปได้ ตอนนี้ทำอะไร กลับไปอีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว

ผมติดตามเรื่องพวกนี้ เพราะผมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เยอะ แล้วผมก็ไม่อยากรถไฟตกราง ผมก็ต้องดูว่ารางเขายังแล่นอยู่นะไม่ใช่เลิกไปแล้ว (หัวเราะ) เรื่องง่ายแค่นั้นแหละที่ทำให้ผมตามเรื่องนี้อยู่

นี่คือวิธีคิดและทำงานแบบ Very Target Oriented ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล