ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังเตรียมจัดแพคเกจคุมเบิกค่ารักษา “ข้าราชการ” ดึงบริษัทประกันบริหารงบ 6 หมื่นล้าน-ยันไม่กระทบสิทธิเดิม

คลังเตรียมจัดแพคเกจคุมเบิกค่ารักษา “ข้าราชการ” ดึงบริษัทประกันบริหารงบ 6 หมื่นล้าน-ยันไม่กระทบสิทธิเดิม

26 กันยายน 2016


นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการว่า หลังจากกรมบัญชีกลางเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ข้าราชการและครอบครัว ทั้งในเรื่องของการเบิกค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์นำกลับไปใช้ที่บ้าน นอกเหนือจากการวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) รวมทั้งให้เบิกเงินค่าปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับจากผู้เสียชีวิต เช่น แก้วตา ไต และปรับปรุงค่าทันตกรรม ทำให้ยอดการเบิกจ่ายงบฯ รักษาพยาบาลขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากสิ้นปีงบประมาณ 2556 มียอดเบิกจ่ายจริงอยู่ที่ 62,000 ล้านบาท ล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 มีการเบิกจ่ายงบฯ ส่วนนี้ไปแล้ว 64,655 ล้านบาท คาดว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2559 ยอดเบิกจ่ายอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท

ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ
ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ

นอกเหนือจากการเพิ่มสิทธิสวัสดิการให้ข้าราชการแล้ว นายมนัสกล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นทุกปีว่า เกิดจากค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีราคาแพงขึ้น ขณะที่รัฐบาลจัดสรรงบฯ ค่ารักษาพยาบาลให้กรมบัญชีกลางปีละ 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราคงที่มาตั้งแต่ปี 2556 ส่วนการเบิกจ่ายจริงเป็นไปตามที่กล่าวมาในข้างต้น ประการที่ 2 เกิดจากโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องดูแลข้าราชการ 2 ล้านคน และผู้อาศัยสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลข้าราชการอีก 4 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งเด็ก คนชรา และข้าราชการเกษียณ

“และเนื่องจากงบฯ มีจำกัด ขณะที่ค่าใช้จ่ายจริงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้กรมบัญชีกลางต้องศึกษาหารูปแบบการบริหารงบฯ 60,000 ล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยดึงบริษัทประกันชีวิต ประกันภัย เข้ามาบริหารการเบิกจ่ายงบฯ ส่วนนี้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่กระทบกับสิทธิและสวัสดิการเดิมที่ข้าราชการและครอบครัวเคยได้รับ เพราะคนที่เข้ามารับราชการยอมรับเงินเดือนน้อยโดยหวังว่าตนเองและครอบครัวจะได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีไปจนเสียชีวิต ผมขอย้ำว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและเป็นการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แทนที่รัฐบาลจะไปลงทุนวางระบบการกำกับ ติดตามการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม ก็อาจจะเชิญชวนบริษัทประกันภัยเข้ามารับจ้างบริหารการเบิกจ่ายงบฯ ส่วนนี้ โดยที่ไม่มีการตัดสิทธิใดๆ ของข้าราชการ แต่อาจจะต้องมีการขจัดไขมันส่วนเกินออกไป เช่น การเบิกค่ายาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฟุ่มเฟือย หรือที่เรียกว่า ยิงยา รวมทั้งพวกที่ช็อปปิ้งยา ขณะนี้ตรวจพบ 11 ราย ในจำนวนนี้ส่งฟ้องศาลแล้ว 2 ราย ที่เหลือ 9 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นอัยการ” นายมนัสกล่าว

ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ
ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการต่อหัวมีราคาสูงกว่าประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิเบิกกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประกันสังคม (สปส.) หลายเท่าตัว

อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องไปดูโครงสร้างอายุ ข้าราชการในช่วงที่รับราชการไม่ค่อยได้เจ็บป่วย แต่พอหลังเกษียณอายุราชการไปแล้วมียอดเบิกจ่ายสูงมาก โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของชีวิตมีค่าใช้จ่ายต่อหัวหลายแสนบาท ส่วน สปสช. ดูแลคนจำนวนมากกว่า และครอบคลุมตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนชรา ส่วนแนวคิดในการรวมระบบประกันสุขภาพของประเทศ เพื่อรับรองสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ต้องทำความเข้าใจเข้าที่มาของกองทุนประกันสังคม (สปส.) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วย ก็อย่างที่กล่าวในข้างต้น ข้าราชการยอมรับเงินเดือนน้อยเพื่อแลกกับสวัสดิการส่วนนี้ไปจนกระทั่งเสียชีวิต ส่วนประกันสังคมเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในส่วนของกรมบัญชีกลางดูแลเฉพาะข้าราชการ ก็ต้องพยายามบริหารจัดการงบประมาณส่วนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับตัวแทนสมาคมประกันวินาศภัยไทยมาแล้วหลายครั้ง กรอบของการหารือคือ ภายใต้วงเงิน 60,000 ล้านบาท ทางสมาคมฯ สามารถจัดแพ็กเกจประกันสุขภาพให้ข้าราชการและครอบครัวในรูปแบบใดได้บ้าง แต่ที่สำคัญต้องไม่ไปตัดสิทธิประโยชน์เดิมที่ข้าราชการเคยได้รับ ทางกรมบัญชีกลางได้ให้ข้อมูลบริษัทประกันฯ ไปทั้งหมดแล้ว ตามกำหนดการสมาคมประกันวินาศภัยไทยต้องนำเสนอรูปแบบในการบริหารจัดการงบฯ รักษาพยาบาลต่อกรมบัญชีกลางภายในเดือนตุลาคม 2559 หากผลการหารือครั้งนี้ได้ข้อสรุปชัดเจน อาจเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้หรือต้นปี 2560

“การปรับปรุงวิธีบริหารเงิน ไม่จำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2518 เพียงแต่ยกร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 เท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ข้าราชการและครอบครัวไม่ต้องวิตกกังวล ยังคงได้รับสิทธิเหมือนเดิม หลักการคือ กรมบัญชีกลางเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันฯ เหมือนประกันหมู่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าบริษัทประกันจะรับบริหารเงินทั้งก้อนหรือรับไปบางส่วน รวมทั้งการบริหารความเสี่ยง กรณีเบิกจ่ายงบฯ เกินวงเงิน ส่วนเกินจะร่วมกันรับความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้คงต้องรอผลการหารือกับบริษัทประกันฯ ก่อน ตามกำหนดนัดหมายคือภายในเดือนตุลาคม 2559” น.ส.ชุณหจิตกล่าว
(อ่านเพิ่มเติม 3ชุดทางเลือกสวัสดิการผู้สูงอายุ)

%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%82%e0%b8%81%e0%b8%8f%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2