ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมคิด” เผยผลงานรัฐบาล 2 ปี ชู 4 แนวทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ – ทุ่ม 3 แสนล้าน อุ้มเศรษฐกิจฐานราก

“สมคิด” เผยผลงานรัฐบาล 2 ปี ชู 4 แนวทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ – ทุ่ม 3 แสนล้าน อุ้มเศรษฐกิจฐานราก

16 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการแถลงผลงานครบรอบ 2 ปี การดำเนินงานของรัฐบาล โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นผู้กล่าวสรุปภาพรวมการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ

นายสมคิดกล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยด้วยปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ความมั่นใจหายไป ความสามารถแข่งขันของไทยนั้นลดน้อยถอยลง และตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดเสถียรภาพ ซึ่งในปี 2557 นั้น การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 0.8% เป็นตัวเลขที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ รัฐบาลใช้เวลา 2 ปี ก้าวจาก 0.8% มาเป็น 2.8% ในปี 2558 เป็น 3.2% ในไตรมาสแรกปี 2559 และเป็น 3.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ในขณะที่โลกทั้งโลกค่อยๆ ถดถอยลงตามลำดับ

และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ 3.2% และจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 3.4-3.5% ดัชนีหลายอย่างดีขึ้นโดยลำดับ

“แต่สิ่งที่สำคัญที่ผมอยากจะย้ำคือ เราพ้นจากจุดต่ำสุดไปแล้ว และเราไม่ได้หลงทาง เรามาถูกทาง และถ้าไม่เดินทางเช่นนี้ต่อไปข้างหน้า ที่โตมา 3.5% จะไม่ยั่งยืน”

นายสมคิดกล่าวต่อไปถึงกรณีที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่า ที่บอกว่าดีขึ้นโดยลำดับ แล้วทำไมจึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีพอ ก็เพราะการเติบโตขึ้นมาโดยลำดับนั้นยังไม่สามารถแผ่อานิสงส์ไปถึงประชาชนที่อยู่ในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ต้องเผชิญกับราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เผชิญภาวะน้ำท่วม และภัยแล้ง ทำให้พวกเขายังลำบากอยู่ เงินที่หมุนอยู่ในระบบจึงไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบไปถึงในระดับกลาง และระดับบน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ตนได้นำประเด็นปัญหาทั้งหมดไปหารือร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะหาทางเข้าไปช่วยให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้แก่เกษตรกรในภาวะที่ราคาสินค้านั้นยังไม่ดี ลดรายจ่ายโดยเฉพาะภาวะหนี้สินของเกษตรกร โดยเฉพาะ “การปรับโครงสร้างหนี้” และจะรีบออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำแล้วเงินหมุนในระบบมาเพียงพอ สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ หรือ ธปท. ได้แถลงไว้มันก็จะเป็นจริง

รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการปฏิรูปเศรษฐกิจ หากย้อนกลับไปดูตัวเลขจีดีพีในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรก จีดีพีของไทยมีอัตราเฉลี่ย 5-7% จากนั้นถดถอยลงมาอยู่ที่ 3-5% และปรับตัวลดลงมาเหลือ 0.8% กรณีนี้ไม่ใช่ผลจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยเจอ “ลมต้าน” (Headwind) ที่ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว โดยเริ่มเห็นอาการจากการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีโอกาสปฏิรูปเศรษฐกิจ ขณะที่การเมืองก็มีปัญหา เปรียบเสมือน “ลมต้าน” ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เช่น การศึกษา ความเหลื่อมล้ำของไทย ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 300 บาท แต่ความสามารถทางการแข่งขันแทบจะไม่เหลือ เพราะนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่มี

“เราเคยภูมิใจในโครงสร้างพื้นฐานของเรา แต่โครงสร้างพื้นฐานที่มีนั้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอดีต ไม่เข้ากับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง ลมต้านเหล่านี้ หากไม่แก้ไข ท่านคิดหรือว่าจีดีพี 3.5% จะอยู่ได้ คิดว่าจำนำข้าว 15,000-20,000 บาท จะอยู่ได้กี่วัน”

4 แนวทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ – ทุ่ม 3 แสนล้านช่วยเกษตกร อุ้มเศรษฐกิจฐานราก

นายสมคิดระบุว่า การปฏิรูป (reform) จึงต้องเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งจำเป็น ต้องใช้ทุกส่วนของประเทศ โดยสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำก็คือ การพยายามสร้างใหม่ทางเศรษฐกิจของไทยใน 4 ประเด็น

  • การทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหากเศรษฐกิจเริ่มขยับ แต่ข้างล่างไม่ขยับ ข้างบนขยับได้ไม่นาน อำนาจซื้อจะไม่มี ซึ่งสิ่งที่ตามมาอีกคือ การเติบโตต้องพึ่งการส่งออกตลอดเวลา ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดดุลยภาพ เศรษฐกิจเอียงไปข้างเดียว การที่เศรษฐกิจ 70% พึ่งพิงอยู่กับการส่งออก ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ เพราะเศรษฐกิจไม่สมดุล นี่คือสิ่งที่ต้องแก้

“ที่ผ่านมาหากท่านดูให้ดีๆ นอกเหนือจากการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากไร้ ผมนั่งนับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้านอื่นๆ ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีไม่ต่ำกว่า 15 โครงการ หมดเงินไปกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมโครงการที่พยายามพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในชนบท กองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท รวมกันแล้วประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และโครงการอื่นๆ อีก กว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนสินค้าชุมชน สร้างตลาด และผลักดันการท่องเที่ยวเข้าไปสู่ชุมชน ทำให้เกษตรกรเข้มแข็งขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ”

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • Thailand Connect คือการเชื่อมโยงประเทศไทยด้วยระบบคมนาคม มาตรการดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การขนส่งสินค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การสร้างเมืองใหม่ เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ผ่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ระบบคมนาคมขนส่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือจากเมียนมาไปยังอินเดีย หากไทยเชื่อมจุดนี้ได้จะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ เกิดการกระจายรายได้ลงไปในทุกภาคส่วน ตั้งแต่คนรวยไปจนถึงชาวบ้าน และเกษตรกร ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท

สิ่งที่รัฐบาลทำออกมาแล้ว เช่น รถไฟทางคู่เส้นทาง จิระ-ขอนแก่น รถไฟฟ้าที่ผ่าน ครม. ออกมาแล้ว ได้แก่ สายสีส้ม สีเหลือง สีชมพู และสีแดง ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการรุถไฟฟ้าทุกสายให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในปี 2559 เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า รวมทั้งเร่งรัดโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และสนามบินดอนเมือง รวมทั้งโครงการลงทุนอื่นๆ เช่น โครงการมอร์เตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด คาดว่าภายในสิ้นปี 2559 นี้จะมีเส้นทางพิเศษระหว่างผ่านความเห็นชอบจาก ครม. อีก 3 เส้นทาง

“เรามีเวลาเหลืออีกประมาณ 1 ปี จะพยายามเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ออกมาให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าโครงการรถไฟฟ้า มอร์เตอร์เวย์ โครงการลงทุนเรื่องน้ำ จะทยอยออกมาตามลำดับ ไม่ต้องใจร้อน ออกมาแน่นอน หากรัฐบาลชุดต่อไปสานต่อโครงการลงทุนเหล่านี้จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะ AEC จะมีรถไฟไทย-จีนเชื่อมโยงเส้นทางจากกรุงเทพฯ-หนองคายแน่นอน ส่วนภาคใต้ทางญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจโครงการดังกล่าว เชื่อว่าระบบคมนาคมของไทยจะเกิดการเชื่อมโยงกันอย่างแน่นอน”

  • Thailand 4.0 ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว เฉพาะปี 2559 มีนักลงทุนกลุ่มใหม่ๆ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประมาณ 1 แสนล้าน ซึ่งทีมเศรษฐกิจเตรียมพร้อมออกไปโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อดึงเอกชนเข้ามาลงทุน และในเร็วๆ นี้จะเดินทางไปประเทศเยอรมันและฝรั่งเศส เพื่อชักชวนกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 4 กลุ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ความสำเร็จในอดีตเริ่มผ่านพ้นไป กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมเริ่มล้าหลัง มีข่าวออกมาทุกวันว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอปิดโรงงาน ฉะนั้น เราต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ แต่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ไม่ใช่แบบในอดีต ไม่ใช่เอาต่างชาติหรือญี่ปุ่นมาสร้างฐานลงทุนแล้วจบแค่นั้น เราต้องการสร้างคลัสเตอร์ขึ้นมา หมายความว่า ผู้ประกอบการ นักวิจัย โรงงาน มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสายพานการผลิตทั้งหมด และไม่ใช่ต่างประเทศ ต้องมาจากคนไทย”

เรื่องประชารัฐ ในขณะนี้กำลังมีการรวมกลุ่มกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย จับกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1) กลุ่มอาหาร-เกษตร 2) พลังงาน 3) ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ 4) ท่องเที่ยว สปา เฮลท์แคร์ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ และ 5) สินค้านวัตกรรม หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้มีแกนหลักคือเอกชน เข้ามากันกลุ่มหนึ่งหลายบริษัท และจะเริ่มทำงานเชื่อมกัน โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี 300% ทั้งนี้ รัฐบาลจะเป็นผู้จับกลุ่มนำมหาวิทยาลัยมาทำงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาเป็นคลัสเตอร์ เกิด Startup เกิดนักรบเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้นมาในอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศ

คลัสเตอร์จึงเป็นตัวสร้าง Startup ซึ่งประเทศไทยต้องไม่อยู่กับบริษัทแค่ 500 บริษัท หรือ 20 บริษัทใหญ่เท่านั้น แต่ต้องมีบริษัทใหม่ๆ แห่งอนาคตเกิดขึ้น โดยคนรุ่นใหม่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามออกนโยบายมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อ กองทุนร่วมลงทุน ขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่ทิ้ง SMEs มีการทำศูนย์ช่วยเหลือ SMEs เกิดกองทุนฟื้นฟู SMEs ที่มีปัญหา และทุกๆ ธนาคารก็เติมทุนให้ SMEs เพื่อให้เขาสามารถขยายลงทุนได้

  • Reclaim คือการปรับจุดยืนของไทยใหม่ในเวทีโลก ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในอาเซียน แต่หลังจากนั้นก็ถดถอย หลังจากรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ เราสามารถสร้างสมดุลและวางตำแหน่งของประเทศไทยในเวทีระดับโลกให้ได้

ปัจจุบันมีเมืองท่าใหม่ๆ เกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำต่อไปนี้คือความพยายามต่อยอดโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) เพื่อสร้างฐานแห่งอนาคตใหม่อีก 30 ปีข้างหน้า ตรงนี้คือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development: EEC) ควบคู่ไปกับการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการเชื่อมเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ แหลมฉบัง มาบตาพุด ไปถึงระยอง สนามบินตั้งแต่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ไปที่อู่ตะเภา ท่าเรือ ซึ่งเป็นท่าเรือชายฝั่งไปจนถึงท่าเรือใหม่ที่อู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ-ระยอง ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองในแถบนี้เป็นแหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรมทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งขณะนี้พระราชบัญญัติเศรษฐกิจภาคตะวันออกกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในเร็วๆ นี้

“ที่สำคัญคือ พอร์ตตรงนี้จะไม่เป็นเพียงพอร์ตการส่งออกของไทยไปสู่ตลาดโลก แต่จะเป็นพอร์ตแบบรอตเทอร์ดาม คือเป็นประตูของสินค้าที่เข้าและออกจากไทยมายัง CLMV ฉะนั้น การออกแบบพอร์ตทั้งหลาย เส้นทางต่างๆ แม้กระทั่งสนามบิน จะช่วยทำให้ไทยสามารถเป็น ‘เกตเวย์’ ที่แท้จริงของภูมิภาคนี้ได้ ตรงนี้ใช้งบประมาณมาก แต่ขอให้วางใจ ช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 ปีนับจากนี้ ว่าเราจะไม่ทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย และเราจะผ่านพ้นจากจุดต่ำสุด เพียงแต่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างทำให้นักลงทุนยังไม่มั่นใจ เช่น ชาวนายังรายได้ไม่ดี ซึ่งเราจะพยายามแก้ตรงนี้ แล้วนักลงทุนจะตามมา ถ้าทำตามสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าเราจะค่อยดีขึ้นโดยลำดับ และถ้าเราทำได้ดี ประเทศก็จะมีอนาคต ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงแแห่งการพลิกผัน จะดีก็ได้ จะเลวก็ได้ แต่ผมหวังว่าจะดี” ดร.สมคิดกล่าว