ThaiPublica > คอลัมน์ > จาก “สัญญาอัจฉริยะ” สู่ “องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์” (decentralized autonomous organization – DAO)

จาก “สัญญาอัจฉริยะ” สู่ “องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์” (decentralized autonomous organization – DAO)

12 กันยายน 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง “สัญญาอัจฉริยะ” หรือ smart contracts นั่นคือ การบริหารข้อตกลงอะไรก็ตามโดยให้โค้ดคอมพิวเตอร์ “คุยกันเอง” บนบล็อกเชน (blockchain) แบบกระจายศูนย์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่ต้องให้คนมาตัดสินใจ

นักไอทีจำนวนไม่น้อยคาดว่า สัญญาแบบนี้ในอนาคตอาจเป็นรากฐานของสัญญาส่วนใหญ่ในสังคมก็เป็นได้ ไม่เพียงแต่ถูกรับรองว่า “ถูกต้องตามกฎหมาย”

ในเมื่ออนาคตเราอาจได้เห็นโค้ดคอมพิวเตอร์คุยกันเอง ตกลงจัดการอะไรต่อมิอะไรให้เรา คำถามต่อไปก็คือ แล้วแบบนี้องค์กรอย่าง “บริษัท” จะบริหารกิจการเองได้โดยไม่ต้องมีเราได้หรือไม่?

เพราะถึงที่สุดแล้ว แก่นสารบริษัทคืออะไรกันเล่า หากมิใช่ชุดสัญญาและข้อตกลงระหว่างคนฝ่ายต่างๆ ?

ยกตัวอย่างเช่น สัญญาจ้างงานย่อมระบุเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงาน รวมถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่บริษัทคาดหวังจากพนักงาน สัญญาและข้อตกลงกับคู่ค้าและผู้บริโภคจำเป็นต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของธุรกิจ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาลิขสิทธิ์ครอบคลุมการใช้พื้นที่สำนักงาน พาหนะ เครื่องจักร รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจับต้องไม่ได้ ส่วนทางด้านเงินทุน หุ้นกู้ สินเชื่อ และหุ้นก็ล้วนเป็น “สัญญา” ชนิดหนึ่ง ซึ่งระบุว่าผู้ถือ (เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนเป็นเจ้าของ) จะมีสิทธิอะไรบ้างในรายได้หรือผลกำไรของบริษัท

เครือข่ายสัญญาและข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้วางอยู่บนระบบราชการ สังคม การเมือง และกฎหมายที่ช่วยให้มัน “บังคับใช้” ได้อย่างมีประสิทธิผล หรือพูดง่ายๆ คือ ให้คู่สัญญามีแรงจูงใจที่จะทำตามข้อตกลง ซึ่งก็รวมถึงบทบาทในการจัดการ “ลงโทษ” ผู้ที่ละเมิดสัญญา (ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษทางสังคม หรือทางกฎหมายก็ตาม)

ในเมื่อสัญญาอัจฉริยะไม่ต้องใช้ “คน” จัดการ (การลงโทษผู้ละเมิดหลายกรณีเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติได้ด้วยซ้ำไป เพียงแต่เขียนขึ้นเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์และตกลงกัน ดังที่ผู้เขียนอธิบายในตอนที่แล้ว) และในเมื่อแก่นสารของบริษัทก็เป็นเพียงเครือข่ายของชุดสัญญาต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชน กำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับการสร้าง “องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์” – Decentralized Autonomous Organization ย่อว่า DAO

ถ้า DAO ถูกตั้งขึ้นมาแสวงกำไร กรณีนั้นเราก็อาจเรียกมันว่า Decentralized Autonomous Corporation หรือย่อว่า DAC

ถ้าเราสามารถแปลงสัญญาและข้อตกลงทั้งหมดขององค์กรอะไรก็ตามให้เป็น “สัญญาอัจฉริยะ” หรือ smart contracts ด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ เราก็สามารถสร้าง DAO (ไม่ว่าจะเป็น DAC คือแสวงกำไรหรือไม่) ขึ้นมาได้ ในกรณีนั้นมันจะมี “ตัวตน” อยู่บนบล็อกเชนเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติมันก็จะเป็นองค์กรแบบกระจายศูนย์ เพราะบล็อกเชนคือเทคโนโลยีกระจายศูนย์

ความแตกต่างระหว่าง DAO, DA และ DO ที่มาภาพ: http://www.slideshare.net/wenyingng/bitcoin-20-47421199
ความแตกต่างระหว่าง DAO, DA และ DO ที่มาภาพ: http://www.slideshare.net/wenyingng/bitcoin-20-47421199

ในเมื่อ DAO เป็น “เพียง” ซอฟต์แวร์ หรือชุดโค้ดคอมพิวเตอร์ ในตัวมันเองมันไม่มีศักยภาพใดๆ ที่จะผลิตสินค้า เขียนโค้ด หรือกวาดถนน คำถามต่อไปคือ แล้ว DAO จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ในโลกกายภาพได้อย่างไร?

คำตอบคือ เราอาจเรียกคนจริงๆ ที่ DAO มีปฏิสัมพันธ์ด้วยว่า “ผู้รับเหมา” (contractor) ตัว DAO อาจเปิดให้ใครก็ได้ส่ง “ข้อเสนอ” (proposal) ที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการเข้ามา ข้อเสนอเหล่านี้ต้องอยู่ในรูปของสัญญาอัจฉริยะ แนบด้วยข้อเสนอในรูปภาษาธรรมดา จากนั้นข้อเสนอต่างๆ จะถูกตรวจสอบว่าขัดแย้งกับผลประโยชน์ของ DAO หรือไม่ มีคุณสมบัติครบตามที่ DAO ระบุหรือไม่ จากนั้นข้อเสนอของผู้รับเหมาที่ผ่านการพิจารณาจะถูกเติมเข้าไปในรายชื่อบัญชีที่มีสิทธิได้รับเงินจาก DAO

ความสัมพันธ์ระหว่าง DAO กับ "ผู้รับเหมา" ที่มาภาพ: https://slock.it/dao.html
ความสัมพันธ์ระหว่าง DAO กับ “ผู้รับเหมา” ที่มาภาพ: https://slock.it/dao.html

การระดมทุนของ DAO จะทำอย่างไร? ถ้า DAO นั้นเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร จะใช้วิธีระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) ธรรมดาๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทหรือ DAC (แสวงกำไร) ขั้นตอนระดมทุนก็จะยุ่งยากกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ในหลักการเข้าใจได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเช่น DAC อาจระดมทุนผ่านการขายหน่วย token (มีสถานะคล้ายกับ “หุ้น” ของบริษัทจดทะเบียน) บนบล็อกเชน ผู้ถือ token นี้ (ซึ่งเป็นนามธรรม คล้ายกับที่วันนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงแทบไม่มีใครถือ “ใบหุ้น” เป็นใบๆ อีกแล้ว) จะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกำไรของ DAC ในรูปปันผล และสามารถออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือ token เหมือนกับบริษัททั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถซื้อและขาย token ในตลาดรอง (บนบล็อกเชนเช่นกัน) เหมือนกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เราคุ้นเคย

ไมค์ เฮิร์น (Mike Hearn) โปรแกรมเมอร์ขั้นเทพและหนึ่งในทีมผู้พัฒนาบิตคอย์น (Bitcoin) เงินตราดิจิทัลชื่อดัง มองว่า DAO และ DAC อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และเชื่อว่ามันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อมองดูความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน ควบคู่ไปกับพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของวงการ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI)

Mike Hearn ที่มาภาพ: http://www.coinspeaker.com/
Mike Hearn ที่มาภาพ: http://www.coinspeaker.com/

เฮิร์นยกตัวอย่างเฉพาะวงการคมนาคมว่า รถยนต์ไร้คนขับจะไปรับผู้โดยสาร ซึ่งจะจ่ายมันเป็นเงินตราดิจิทัล เสร็จแล้วรถก็จะขับตัวเองไปเติมเชื้อเพลิง (เสียบปลั๊ก ถ้าเป็นรถไฟฟ้า) โดยจ่ายเงินตราดิจิทัลจากกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง (แน่นอนว่าสถานีบริการก็จะเป็น DAO เช่นกัน) เวลาที่รถเสียหรือต้องการคนจริงๆ มาบริการ เช่น เปลี่ยนล้อรถ รถคันนี้ก็สามารถจ้างคนจริงๆ มาเปลี่ยนยางให้ หรือแม้แต่จ้างโปรแกรมเมอร์เก่งๆ มาพัฒนาโค้ดคอมพิวเตอร์ของมัน

คำถามต่อมาคือ ใครเป็นเจ้าของรถคันนี้?

ในตัวอย่างข้างต้นของเฮิร์น รถคันนี้เป็นเจ้าของตัวมันเอง พูดอีกอย่างคือ มันเป็น “องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์” หรือ DAO นั่นเอง สามารถเปิดบัญชีธนาคารและทำธุรกรรมต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีบัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือเอกสารอะไรก็ตามที่มนุษย์ต้องพกเพื่อยืนยันตัวตน

เมื่อใดที่ DAO และ DAC แพร่หลาย เมื่อนั้นเครื่องกล (ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์) ก็จะกลายเป็น “ผู้เล่น” ในระบอบเศรษฐกิจของเรา ไม่ได้เป็นเพียง “เครื่องมือ” รับใช้มนุษย์อีกต่อไป ลองนึกถึงโลกที่โดรนขับตัวเองทำธุรกิจส่งสินค้า แอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ที่เป็นเจ้าของตัวเองทำธุรกรรมอย่างเช่นการซื้อและขายเวลาเซิร์ฟเวอร์ หลักทรัพย์ ฯลฯ ฯลฯ

วันหนึ่งในอนาคต มนุษย์อาจถูกเครื่องกล “จ้าง” ให้ไปทำงานให้ ตั้งแต่งานฟรีแลนซ์ ไปจนถึงงานประจำก็เป็นได้!

ภาพอนาคตแบบนี้ แบบที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่แต่ในนิยายไซไฟ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า อ้าว แล้วแบบนี้ “มนุษย์” อย่างเราๆ จะมีบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างไร จะทำงานอะไรในเมื่อสมองกลดูจะมา “แย่ง” งานเราไปเสียหมด?

โปรดติดตามตอนต่อไป.