ThaiPublica > เกาะกระแส > สปสช.โต้ยันไม่ได้ยกเลิกโปรแกรมตาต้อกระจก VISION2020 รอแก้ปัญหาเชิงเทคนิคอ้างไม่ต้องการเพิ่มภาระ รพ. – หมอตาแย้งหวั่นเอื้อรพ.เอกชนเมินคนไข้เคส “วีซ่า”

สปสช.โต้ยันไม่ได้ยกเลิกโปรแกรมตาต้อกระจก VISION2020 รอแก้ปัญหาเชิงเทคนิคอ้างไม่ต้องการเพิ่มภาระ รพ. – หมอตาแย้งหวั่นเอื้อรพ.เอกชนเมินคนไข้เคส “วีซ่า”

11 กันยายน 2016


เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 ที่โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส สถาบันพระปกเกล้า และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจังหวัดนราธิวาส จัดโครงการผ่าตัดต้อกระจกให้ประชาชน โดยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งในทุกพื้นที่ ทำการคัดกรองบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาอันเนื่องมาจากการเป็นต้อกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตให้กลับคืนมาสู่สภาวะปกติ โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระต่อสมาชิกในครัวเรือน ที่มาภาพ :http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC5902200010031
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 ที่โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส สถาบันพระปกเกล้า และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและจังหวัดนราธิวาส จัดโครงการผ่าตัดต้อกระจกให้ประชาชน โดยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งในทุกพื้นที่ ทำการคัดกรองบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาอันเนื่องมาจากการเป็นต้อกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตให้กลับคืนมาสู่สภาวะปกติ โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระต่อสมาชิกในครัวเรือน ที่มาภาพ :http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC5902200010031

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ส่งเอกสารข่าวชี้แจง กรณีที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้ตีพิมพ์บทความจากหมอตาอีสานเรื่องวันที่หมอตาต่างจังหวัดหมดศรัทธา สปสช.!! โดยนพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 ในส่วนของการให้บริการรักษาผ่าตัดตากระจกพร้อมเลนส์แก้วตาเทียม นั้น สปสช.ดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ปัญหาตาบอดและปัญหาสายตาเลือนราง มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วย (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง) ต้อกระจกชนิดบอดและชนิดสายตาเลือนรางระดับรุนแรง ส่งเสริมและสนับสนุนการตรวจคัดกรองและลงทะเบียนเพื่อจัดลำดับความสำคัญของการผ่าตัด เพื่อค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว และให้มีการติดตามประเมินผลการให้บริการทุกไตรมาส นำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป

ในปี 2560 ได้กำหนดเป้าหมายผ่าตัดต้อกระจกในผู้ป่วย 112,200 ดวงตา ซึ่งกำหนดเป้าหมายรายเขตจากหลักเกณฑ์อ้างอิงตามอัตราความชุก ข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองและขึ้นทะเบียนในโปรแกรม VISION2020Thailand ตามแนวทางของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาจักษุวิทยา กระทรวงสาธารณสุข และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

นพ.จักรกริชกล่าวว่า ในปี 2559 สปสช.สนับสนุนการคัดกรองผู้ป่วยตามโปรแกรม VISION2020Thailand ตามนโยบาย Service Plan กระทรวงสาธารณสุข ที่มีวีซ่าผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองและเข้าเกณฑ์ต้องได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว ซึ่งหน่วยบริการที่ให้การผ่าตัดตาต้อกระจกจะบันทึกข้อมูลลงในโปรแกรมนี้ ในปี 2559 มี รพ.บันทึกข้อมูลในโปรแกรมนี้ 145 แห่ง จากจำนวน รพ.ทุกสังกัดที่ให้บริการผ่าตัดต้อกระจก 360 แห่ง ซึ่งยังพบปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูล และข้อจำกัดเชิงเทคนิค รวมทั้งความครอบคลุมของการดำเนินงานในหน่วยบริการสังกัดอื่น ดังนั้นในการดำเนินการปี 2560 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.จึงได้ประสานงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้สามารถใช้ประโยชน์จากโปรแกรมได้สูงสุดและไม่เพิ่มภาระให้หน่วยบริการ ไม่ได้ประกาศยกเลิกแต่อย่างใด

นพ.จักรกริช กล่าววว่า สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยบริการในทุกสังกัด ในส่วนของการบริการผู้ป่วยตาต้อกระจกนั้น มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดว่าสถานพยาบาลที่จะสามารถดำเนินการผ่าต้อกระจกได้นั้น ให้เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่มีคุณสมบัติและศักยภาพตามแนวทางในประกาศแนวทางปฏิบัติการให้บริการผ่าตัดต้อกระจกของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเป็นการกำหนดตามมาตรฐานสถานพยาบาล การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของบุคลากรทางการแพทย์ และแนวทางเวชปฏิบัติทั้งในภาครัฐและเอกชน

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากวงการจักษุแพทย์ โรงพยาบาลรัฐให้ความเห็นว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นของโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกตามนโยบายคือ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับสปสช.ผ่าตัดคนไข้ที่ยังไม่จำเป็นมาก (มากกว่า 70%) เนื่องจากมีการลงทุน จึงต้องการผ่าตัดให้ได้ปริมาณมาก แต่คนไข้ที่จำเป็นจริงๆ ต้องเข้าไปค้นหาและโน้มน้าวให้มารักษา ทำให้เสียเวลาในการผ่าตัด ในขณะที่งบประมาณบัตรทองที่ใช้มีจำกัด

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้ออกแนวทาง เน้นการคัดกรองหาคนที่จำเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ ลงทะเบียบในโปรแกรม vision2020 และได้รับรหัส วีซ่า แสดงว่าคนไข้รายนี้จำเป็นต้องรับการผ่าตัด กำหนดให้การคัดกรองโดยภาครัฐ แต่การผ่าตัดให้ภาคเอกชนมาร่วมด้วย โดยเน้นผ่าตัดในรายที่มี วีซ่า แล้ว แสดงว่า จำเป็นต้องผ่าจริงๆ ไม่ใช่โฆษณา ชักชวนให้คนที่ไม่จำเป็นมาผ่าตัด

“แต่สปสช.และโรงพยาบาลเอกชน พยายามบ่ายเบี่ยงมาตลอด ไม่อยากให้ใช้วีซ่า ประกอบในการเบิกจ่ายเงินค่าผ่าตัด ด้วยเหตุผลที่อ้างมาตลอด คือ ระบบยังไม่พร้อม เช่น อ้างว่า มีโรงพยาบาลมีออกวีซ่า 145 แห่ง จากโรงพยาบาลที่ผ่าตัดทั้งหมด 340 แห่ง ซึ่งถูกต้องตามแนวทาง เพราะโรงพยาบาลของรัฐที่มีจักษุแพทย์ประจำ หรือจักษุแพทย์ไปช่วยตรวจคัดกรองประมาณ 145 แห่ง ส่วนโรงพยบาลที่ผ่าตัดนั้นรวมโรงพยาบาลเอกชนต่างๆด้วย ทำให้มีจำนวนมากกว่าและไม่ได้มีปัญหาผิดพลาดใดๆ”แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้”มีอีกหลายข้ออ้างที่ว่า ระบบวีซ่า ยังไม่พร้อม แต่พอถาม สปสช.กลับไป ก็ไม่ยอมให้รายละเอียดใดๆ อ้างแต่ว่า ยังไม่ถูกต้อง ทั้งที่ได้มีความพยายามประสานหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไม สปสช.ที่อ้างตลอดว่า เห็นด้วยกับแนวทางของกระทรวงฯ แต่ในทางปฏิบัติกลับอิดออด ไม่รีบช่วยกันแก้ปัญหา ที่อ้างว่ายังมีอยู่ หรือเพียงแต่ อ้างว่ามีปัญหา จึงยังไม่ใช้ ระบบวีซ่าในการเบิกจ่าย จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเอื้อเอกชนหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว

ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเอกชนในโครงการผ่าตัดต้อกระจก ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มาภาพ : http://www.bangpakok8.com
ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเอกชนในโครงการผ่าตัดต้อกระจก ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มาภาพ : http://www.bangpakok8.com
ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเอกชนในโครงการผ่าตัดต้อกระจกผ่านเว็บไซต์ ที่มาภาพ : http://www.kasemrad.co.th/Rattanatibeth
ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเอกชนในโครงการผ่าตัดต้อกระจกผ่านเว็บไซต์ ที่มาภาพ : http://www.kasemrad.co.th/Rattanatibeth