ThaiPublica > คนในข่าว > นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาชี้คดีฟ้องหมอพุ่ง หวั่นอนาคตระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะเจ๊ง

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาชี้คดีฟ้องหมอพุ่ง หวั่นอนาคตระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะเจ๊ง

9 สิงหาคม 2016


“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ มักเป็นคำอวยพรหรือคำสอนหรือการเตือนสติให้ทุกคนหันมาใส่ใจ “สุขภาพ” ของตัวเอง เพราะการป้องกันไม่ให้เป็นโรค เป็นหนทางการรักษาที่ดีที่สุด

ปัจจุบันด้วยนโยบายที่ให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ไม่ต้องหมดเนื้อหมดตัวเพราะการรักษาพยาบาล การให้การรักษาฟรีตามนโยบายโครงการประกันสุขภาพถ้วน รวมถึงนโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิผู้ป่วย รวมทั้งนโยบายรัฐตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งระบุไว้ว่า “ให้คณะกรรมการ กันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่ง ของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการ ไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ให้กับผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการ ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับความเสียหาย ภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ทำให้มีการเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีการชดเชยผู้เสียหายเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาทต่อปี

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มีคดีการฟ้องร้องหมอเรียกค่าเสียหายมากขึ้นๆ และเหตุของการฟ้องร้องกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย แม้จะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขที่เคยแข็งแกร่งถูกบั่นทอนและอาจจะล้มได้ในที่สุด

แล้วปัญหาคืออะไร ทำไมถึงเป็นปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขไทย ต่อเรื่องเหล่านี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องนี้ว่า

“เราไม่ได้ขายโรค และโรคที่คนไข้เป็น เราไม่ได้เป็นคนสร้าง เราบริบาลผู้ป่วย เราไม่ได้บริการผู้ป่วย เรามีหอบริบาลผู้ป่วยหนัก ไม่เคยมีหอบริการผู้ป่วยหนัก เราไม่ได้ขายบริการ คนไข้ไม่ใช่ผู้บริโภค การบริโภคคือการซื้อขายของ แต่คนไข้มาด้วยโรค ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนทำให้เกิดโรคด้วย”

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา

ไทยพับลิก้า: ทำไมระยะหลังมีคดีที่คนไข้ฟ้องหมอมากขึ้นเรื่อยๆ

สมัยก่อนมีคดีฟ้องร้องน้อย จนกระทั่งเริ่มมีเรื่องสิทธิผู้ป่วย ผลจากการประชาสัมพันธ์ การระดมคดีที่มีปัญหามาพูดกัน ทำให้เกิดความสนใจ ชาวบ้านก็คิดว่าประชาชนต้องมีสิทธิ เคสอย่างนี้เราก็มีโอกาสฟ้องได้

สมัยก่อนไม่มีการฟ้องร้อง เมื่อคนไข้ตาย แค่มีการพูดคุยกันระหว่างคนไข้กับหมอก็รู้เรื่อง ชาวบ้านก็บอกโอเค ว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา ตอนนี้บอกว่าถ้าตายมีสิทธิเรียกร้องได้ คนเริ่มคิดอีกแบบหนึ่งว่าตายเมื่อไหร่เราได้เงิน สมัยก่อนคนไข้มักจะฟ้องว่าหมอคนนี้ตรวจเยอะ เสียค่าใช้จ่ายเยอะ เรื่องการรักษา เวลาคนไข้รอดจะขอบคุณหมอ อย่างกรณีเป็นไข้เลือดออก ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อก่อนจะตายเยอะ คนไข้จะเอาของขวัญมาให้ แต่เดี๋ยวนี้รักษาหาย เฉยเลย ถ้าตายเมื่อไหร่เอาเรื่องเลย ตรงข้ามเลย และมาหาหมอ(โรงพยาบาลรัฐ)เพราะไม่ต้องจ่ายเงิน รักษาฟรีหมด

“เมื่อก่อนคนไข้จะบอกว่าขึ้นอยู่กับแพทย์ คุณหมออธิบายก็โอเคหมด ตอนนี้เรื่องสิทธิผู้ป่วย บอกไม่ได้ จะรักษาอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้ป่วย คนไข้เป็นคนเลือก ไม่ใช่หมอเป็นคนเลือก ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะให้รักษาหรือไม่ให้รักษาก็ได้ คนไข้มีสิทธิที่จะเลือก”

ไทยพับลิก้า: เรื่องสิทธิผู้ป่วยมีที่มาอย่างไร

จริงๆ เป็นประกาศของแพทยสภา เมื่อก่อนแพทยสภามีหมอที่ไม่ใช่หมอจริงๆ คือไม่ได้รักษาคนไข้ เป็นหมอที่เป็นผู้บริหาร หมอกลุ่มนี้ต้องการให้ประชาชนรู้สิทธิของผู้ป่วย ขณะที่หมอรักษาผู้ป่วยจริงๆ ซึ่งรู้และเข้าใจปัญหา เมื่อหมอผู้บริหารบังคับหมอที่รักษา ต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้รักษาคนไข้ ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างหมอที่รักษาผู้ป่วยกับหมอที่ไม่ได้รักษาผู้ป่วย ซึ่งมองกันคนละมุม

“เราต้องยอมรับว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ของผู้ป่วย เราต้องช่วย แต่ว่าเราก็อยากให้ดูผลกระทบด้วย ต้องไม่มองมุมเดียว ต้องดูผลกระทบระยะยาว ถ้าไม่ดูก็จะมีปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ มีคนไข้ถามผมว่า ทำไมมีการให้กันง่ายจัง (ให้เงินชดเชยความเสียหายแก่คนไข้ที่เรียกร้อง) ต่อไปจะเป็นเยี่ยงอย่าง ทุกคนจะขอเงินหมด ประเทศจะอยู่ไม่ได้ และประชาชนเองจะเดือดร้อน ตอนนี้ทุกคนอยากได้เงินหมด ตอนนีเราสปอยล์ เอาใจคนผู้ป่วยมาก มันเหมือนจะดี แต่จริงๆ จะเป็นโทษระยะยาว เหมือนเลี้ยงลูก ตามใจให้ทุกอย่าง โตขึ้นอาจจะมีปัญหาแน่ เพราะตามใจมาก เด็กอยากได้ให้เขาหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ให้ก็จะหาว่าเรานิสัยไม่ดี การทำแบบนี้ดีระยะสั้นแต่มันสร้างปัญหาระยะยาว ซึ่งคนไม่ค่อยคิด เราอยากให้คนช่วยเหลือตัวเองมากที่สุด ดูแลสุขภาพตัวเอง ยอมรับความจริงให้มากขึ้น ไม่ใช่มีช่องทางแบบนี้ (ฟ้องร้อง) จะได้เงิน คนเอาเป็นแบบอย่าง ประเทศอยู่ไม่ได้”

“คดีที่มีปัญหาฟ้องร้องเพิ่มขึ้น คดีที่ดังๆ อย่าง คดีดอกรัก ที่ตาบอด ถามว่าหมอทำให้ตาบอด รักษาไม่ถูกต้อง จริงๆ หากไปดูตามวิชาการ การให้ยาแบบนี้ ใช้ได้เลย ศาลบอกว่าทำไมไม่ให้ยาตัวนั้น ตัวนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคนที่ให้การในชั้นศาล ทำให้ศาลบอกว่าผิดเพราะไม่ให้ยาตัวนั้นตัวนี้ ผมเสียดาย หากผู้พิพากษาได้อ่านในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษที่เขียนไว้ชัดเจน จะช่วยในการพิจารณาได้เยอะเลย เพราะคนที่ให้การตรงข้ามกับความจริงที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับการแพทย์ หากอยากรู้โรคไหนรักษาอย่างไร จะเขียนเอาไว้หมด ที่ตัดสินไม่ตรงกับมาตรฐานที่เขียนไว้ หากได้อ่านก็จะทราบว่ามาตรฐานเขารักษาอย่างไร”

ทีนี้ เวลาหมอขึ้นให้การในศาล ไม่มีความรู้วิธีการขึ้นศาล อาจจะพูดแล้วผู้พิพากษาไม่เข้าใจ ทำให้มีปัญหา แพทย์มองว่าหากรักษาถูกต้อง ไม่มีใครอยากให้ตาบอด ประชาชนต้องแยกเรื่องความสงสารกับความถูกต้องในการรักษาพยาบาล แต่ถ้าคุณไม่แยก คนไข้เสียหายคุณหมอต้องจ่าย หมอหมดกำลังใจ เพราะเรารู้ว่ารักษาจะต้องเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันสุดวิสัย หากถูกฟ้องมากขึ้นก็ไม่มีหมออยากรักษาคนไข้

คดีที่มีมากขึ้น อย่างกรณีผ่าตัดไส้ติ่ง โรงพยาบาลอำเภอร่อนพิบูลย์ คนไข้ส่งมาโรงพยาบาลนี้ ผู้ป่วยเสียชีวิต ศาลตัดสินว่าหมอผิดเนื่องจากหมอไม่ได้เป็นผู้ชี่ยวชาญดมยาแล้วไปทำได้อย่างไร จริงๆ นักเรียนแพทย์ทุกคนก็เรียนอยู่แล้ว อาจจะไม่เชี่ยวชาญมาก และไปฟ้องว่าหมอให้ยาน้อยไป ทำให้คนไข้ตาย แต่คำพิพากษาตัดสินว่าหมอให้ยามากขึ้น ตรงข้ามที่เขาร้องเรียน และอ้างว่าหมอที่ทำไม่ใช่หมอผู้เชี่ยวชาญดมยา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ไม่มีหมอดมยาทุกโรงพยาบาล เมื่อมีคำพิพากษาของศาลประเด็น “หมอไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ” หมอทุกคนจึงบอกว่าถ้าทำไปแล้วผิด คนไข้ฟ้อง ก็ติดคุก ต้องจ่ายค่าเสียหาย ก็เลยทำให้โรงพยาบาลชุมชนกว่า 800 โรงพยาบาลเลิกผ่าตัด มีบางโรงพยาบาลยังผ่าตัดอยู่ เมื่อถามว่าทำไมยังผ่าตัดอยู่ หมอบอกว่าไม่รู้ว่าเขาเลิกผ่ากันแล้ว เพราะโรงพยาบาลที่รู้เรื่องคำพิพากษา ก็เลิกผ่าตัดหมด ที่นี่พอรู้ก็เลิกบ้าง”

ไทยพับลิก้า: โรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่เป็นหมอเพิ่งจบ

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา

เป็นหมอที่เพิ่งจบมาทำงาน ยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือหมอที่ต้องใช้ทุน บางคนอาจจะอยู่นานกว่านั้น แต่ไม่ได้ไปฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นหมอทั่วไป จริงๆ หมอพวกนี้เขาก็ผ่าได้ โอกาสมีปัญหาน้อยมากประมาณ 2-5% ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนจริงๆ ช่วยชีวิตคนได้เยอะกว่านั้น แต่พอเอาเรื่องฟ้องร้องมาเป็นบรรทัดฐาน หมอเลยไม่ผ่า เหมือนคนไข้ที่ไส้ติ่งจะแตก ผ่าตัดโอกาสตายมันน้อย ถ้าไม่ผ่าแล้วส่งต่อ (ไปโรงพยาบาลที่มีหมอผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลศูนย์) มีโอกาสตายสูงขึ้น จากที่ไส้ติ่งไม่แตก กลับแตกเลย ในต่างประเทศเขาคุ้มครองหมอในภาวะฉุกเฉิน หมอเข้าไปช่วยห้ามฟ้อง เพราะถ้าช่วย ถ้าฟ้อง…คือคนกำลังจะตาย แล้วหมอเข้าไปช่วย กลายเป็นหมอตายแทน หมอก็ไม่อยากจะช่วย ก็ส่งไปให้หมอที่เชี่ยวชาญช่วย

“แต่อย่าลืมว่า กรณีไส้ติ่งที่ยังไม่แตก ผ่าตัดทันที 2 วัน กลับบ้านได้ โอกาสตายน้อยมาก แต่ถ้ามันแตกแล้วโอกาสตายสูงมาก เพราะเชื้อโรคกระจายไปทั่วช่องท้อง อาจจะเข้าไปในกระแสเลือดด้วย ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นอาทิตย์ โอกาสตายสูงขึ้น ถ้าทำเลย (ผ่าตัด) ผมว่าตายน้อยมาก เมื่อก่อนคนตายน้อยมาก อาจจะตายบ้างแต่น้อยมาก แต่เมื่อคนตายแล้วฟ้องร้องหมอ หมอเลยไม่ทำทั้งหมด ตอนนี้เลยตายมากขึ้น เพราะต้องส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นทำแทน”

“ผมไปดูที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ผ่าตัดไส้ติ่งอย่างเดียวปีละ 2,000 กว่าราย คนไข้รอผ่าตัดเยอะมาก ที่ไม่แตกก็แตกเลย ถ้าทุกคนช่วยทำ (โรงพยาบาลชุมชน) ก็ไม่แตก เมื่อเทียบกับให้รอแตกแล้ว แม้จะให้ผู้เชี่ยวชาญทำก็ตายเยอะขึ้น นี่คือผลเสียที่เกิดตามมาจากคำพิพากษา”

“ตอนนี้โรงพยาบาลชุมชนก็กลัวหมด ถ้าโรคอะไรเสี่ยงที่ต้องผ่าตัด หรือทำคลอด สมัยก่อนหมอทุกคนทำได้ ตอนนี้ไม่กล้าทำ ไม่มีหมอดมยาก็ไม่ทำ เพราะทำแล้วเดี๋ยวโดนฟ้อง หมออ้างเหตุผลเดี๋ยวกันว่าไม่มีหมอดมยาก็ผ่าไม่ได้ ตอนนี้ห้องผ่าตัดทุกโรงพยาบาลชุมชนมีหมด แต่กลายเป็นห้องเก็บเครื่องมือ ที่เคยผ่าเยอะแยะ ตอนนี้เลิกหมด เราเสียเงินสร้าง ฝึกพยาบาลสำหรับดมยามา พอไม่ได้ทำ เขาก็เลิกทำ แล้วหมอเองก็ไม่อยากทำ ทำก็งานหนัก งานหนักไม่ว่า แต่ต้องเสี่ยงกับติดคุกอีก เป็นผลเสียที่ทำให้หมอไม่ทำ จึงเกิดวิกฤติที่อัตราตายสูงขึ้น ซึ่งเราไม่เคยมีมาก่อน แทนที่จะดีขึ้นกลับแย่ลง”

“ถามว่าใครเสียหาย ประเทศชาติเสียหายไหม เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ต้องส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลศูนย์ ค่าใช้จ่ายคนไข้ก็แพงขึ้น และหมอที่โรงพยาบาลศูนย์ก็ทำก็งานหนักมาก เพราะต้องผ่าตัดเยอะ ก็ลาออก ไม่คุ้ม ลาออกจากโรงพยาบาลรัฐ ก็ขาดหมออีก ประเทศชาติฝึกหมอมาก็ลาออกไปอยู่เอกชนหมด ค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น ขณะที่ประชาชนก็เสียหาย เพราะเดิมทีอัตราการตายน้อย แต่แบบนี้อัตราการตายสูงขึ้น เพราะต้องเดินทางไปอีก แทนที่จะรักษาใกล้บ้าน ผู้ป่วยไม่มีเงินโรงพบาบาลชุมชนก็เอารถโรงพยาบาลส่งต่อให้ แต่หากเป็นต่างประเทศ อย่างเยอรมัน โรงพยาบาลไม่ออกให้ คนไข้ต้องออกเอง เมืองไทยออกให้หมด ไปรอคิวที่โรงพยาบาลใหญ่ โอกาสตายก็มากขึ้น”

“หมอเสียหายไหม ก็เสีย ไม่อยากทำ หมอเสียขวัญ ทำไปแล้วมีปัญหาโดนฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย ไม่มีใครอยากทำ ถ้าถูกบังคับให้ทำ ก็ลาออก ทำให้หมอเสียกำลังใจ เพราะช่วยคนแล้วเรากลับโดนฟ้อง ไม่ช่วยดีกว่า ทำให้ดูเหมือนว่าหมอใจร้าย ไม่ยอมเสียสละ แต่มองในแง่เป็นตัวเราเอง หากเราไปช่วยแล้วติดคุก เราต้องจ่ายเงินเป็นล้านๆ เพราะเราหวังดีไปช่วยคนไข้ ก็เลยทำให้หมอเปลี่ยนอาชีพไปเยอะ”

ไทยพับลิก้า: แล้วหมอที่โรงพยาบาลชุมชนทำอะไร

รักษาโรคปวดหัวตัวร้อน ดูโรคง่ายๆ โรคหนักๆ ก็ส่งต่อหมด

ไทยพับลิก้า: อย่างนี้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การรักษาโรคของหมอ ก็ไม่มี

ความเชี่ยวชาญของหมอก็ไปเรียนเอา หมอทั่วไปที่ควรจะทำอะไรได้เยอะแยะ ผลจากการฟ้องร้องก็จำกัดให้ทำอะไรได้น้อยลง ซึ่งจริงๆ หมอทั่วไป สามารถผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าได้เยอะแยะ แต่วันนี้ไม่ทำแล้ว เพราะไม่มีหมอดมยา เพราะหมอดมยามีไม่เพียงพอทุกโรงพยาบาล กฎหมายของไทยระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนต้องมีหมอดมยา แต่โรงพยาบาลรัฐมีหรือไม่มีหมอดมยาก็ได้ แบบนี้เอกชนก็เปิดไม่ได้ เขาก็ต้องจ่ายเงินซื้อตัวไป หมอดมยาของรัฐบาลเลยออกไปหมด

“ปัจจุบันหมอดมยารัฐมีแต่โรงพยาบาลใหญ่ๆ แต่เมื่อคนไข้ส่งต่อไปอยู่ที่เดียวกันหมด หมอก็งานหนัก หมอดมยาก็มีแนวโน้มจะลาออกอีก เพราะผ่าไปก็ไม่ได้เงิน ผ่าตัด 10 คน 100 คนก็เงินเท่าเดิม งานหนักขึ้น เสี่ยงมากขึ้น เพราะพักผ่อนไม่พอ ก็ไปอยู่เอกชน งานน้อยลง รายได้ดีกว่า บางคนที่เสียสละอยู่ก็มี แต่พอโดนฟ้อง เข็ดเลย

บางทีเรื่องที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องความผิดพลาด ไม่ใช่จากหมอทั้งหมด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่ สมมติ คนไข้ที่ผ่าตัดมดลูกบ่อย มักมีผังผืดเต็มเลย ถามว่าหมอเจตนาผ่าให้ถูกลำไส้ไหม ไม่มี แต่ผังผืดเยอะ หากเลาะๆ ก็มีโอกาสถูกลำไส้ พอถูกเข้าปั้บ คนไข้ฟ้องเลย จริงๆ เมื่อคนไข้เสียหาย ก็ต้องจ่าย หมอคิดว่าอย่างนี้ไม่ทำดีกว่า เพราะหมอรู้อยู่แล้วว่าหากทำไปแล้ว มีโอกาสเกิดปัญหาขึ้น ต้องเสี่ยงอยู่แล้ว อาจจะ 50% ที่จะมีปัญหา เป็นเราจะเสี่ยงไหม ทั้งที่เราหวังดีที่จะช่วยเขา พอช่วยเขามีปัญหา หมอก็คิดว่าไม่ทำก็ได้

ไทยพับลิก้า: ก่อนที่จะผ่าตัด โรงพยาบาลให้เซ็นเอกสารก่อน

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา

ใช่ แต่ศาลไม่นับ เขาบอกว่าเซ็นแบลงก์เช็ค อนุญาตให้เอามีดเฉือนเขาโดยไม่เอาเรื่อง แต่ไม่ได้บอกว่ามีโรคแทรกซ้อน อนาคตเราต้องแก้ไขเขียนให้ละเอียด ว่าอาจจะมีโอกาสเกิดอะไรบ้าง แม้โอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 10,000 ก็ต้องเขียนบอกไว้ก่อน แล้วให้คุณ (คนไข้) รับผิดชอบ ถ้าหากว่าจะเกิดขึ้น คุณรู้แล้วคุณยอมทำ จะฟ้องไม่ได้ แต่เอาจริงๆ เขาก็ยังฟ้องได้ หาว่าหมอสะเพร่า ประมาทเลินเล่อ คนไข้เสียหาย จะฟ้องหมด

จนกระทั่งบางโรค อย่างไวรัสขึ้นสมอง ถามว่าหายแล้วจะเป็นปกติไหม ไม่มีทาง ถึงรักษายังไง สมองบางส่วนโดนทำลายไปแล้ว จะให้ปกติ ไม่มีทาง ถ้าจะให้ปกติก็ต้องไม่ให้เป็นเลย ถ้าเป็นแล้วจะให้หายเป็นปกติ แทบเป็นไปไม่ได้ อย่างเป็นวัณโรคขึ้นสมอง ไม่มีทางจะหายเป็นปกติ สมองถูกทำลายหมดแล้ว หมอช่วยไม่ให้ตายได้ แต่อาจจะมีผลแทรกซ้อน ทางที่ดีต้องป้องกันไม่ให้เป็นตั้งแรก

อย่างกรณีน้องหมิว ที่พ่อเป็นวัณโรค เอ็กซเรย์แล้วมีผิดปกติ ไอเป็นเลือด หมอให้พ่อมารักษา ก็ไม่ได้มารักษา พอลูกไม่สบายมารักษา แม่ก็บอกหมอไม่ได้ว่าที่บ้านมีใครป่วยไหม จริงๆ หมอถาม แต่ไม่ได้บอกชื่อโรค เพราะคนไข้ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ทั้งที่พ่อ (สามี) ไอเป็นเลือด เขาบอกไม่มี ภรรยาบอกว่าไม่รู้

เมืองนอกต่างกับเรา นิวยอร์กไทมส์ลงข่าวว่า เด็ก 2 ขวบ เล่นปืนยิงถูกตัวเองตาย เขาจับพ่อเลย เอาเข้าคุก ถ้าเป็นคนไทยก็จะบอกว่า เขาสูญเสียนะ ลูกเขาตาย สงสาร เขาแย่อยู่แล้ว ทำไมเอาพ่อไปทำโทษด้วย เขาไม่อยากให้ลูกเขาตายหรอก ไปทำโทษเขาเรื่องอะไร แต่เมืองนอกเขามองว่าเป็นบทเรียน ต่อไปคุณต้องเก็บปืนให้ดีๆ คุณปล่อยให้ลูกเล่นได้อย่างไร เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้มีการเก็บปืนดีๆ แต่เมืองไทยไม่ใช่ สงสารเขาเสียหาย มองกันคนละมุม แถมเอาเรื่องหมออีก หมอรักษาอย่างไร ไปโทษหมอ

ไทยพับลิก้า: ในแง่ความพอดีของการรักษา ระหว่างคนไข้กับคุณหมอ จะมีอะไรมาชี้วัด

ตอนนี้ปัญหาใหญ่คือมีกลุ่มที่ยุให้ฟ้องร้อง ถ้าไม่มีคนยุก็มีปัญหาไม่มากหรอก ผมว่าส่วนมากคนไข้ดี เข้าใจ ถ้าหมออธิบายให้เข้าใจ และคนไทยก็เข้าใจเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเรื่องปกติ ชะตาถึงฆาตก็ตาย ก็รับได้ แต่ที่มีคนยุว่าทำแบบนี้แล้วได้เงิน ตั้งแต่รัฐบาลให้เงินง่ายๆ ตายทุกรายให้เงิน ทุกคนก็จะเอาเงิน

ตัวอย่างเช่น คนไข้ทำหมัน ทำมา 10 กว่าปี วันดีคืนดีเกิดท้องขึ้นมา ถามว่าเป็นความผิดของหมอหรือไม่ ถ้าทำไม่ดีปีเดียวก็ท้องแล้ว ไม่มีลูกมา 10 กว่าปี เพราะที่ผูกเอาไว้ ธรรมชาติมันซ่อมตัวมันเอง ร่างกายมันซ่อมแซมตัวเอง เรามัดไว้แน่นแล้ว ธรรมชาติเจาะรูมันเอง ไข่มุดเข้าไปได้ ท้องได้ คนไข้ก็ฟ้องให้หมอจ่ายว่าทำไม่ดี เมื่อผ่าตัดเปิดมาดู ท่อยังห่างตั้งโยชน์หนึ่ง ท่อก็ไม่ได้มาต่อกันเอง หมอตัดถูกอันแน่นอน แต่ธรรมชาติซ่อมแซมตัวมันเอง แต่กลายเป็นหมอผิดต้องจ่าย

หรือฉีดยาคุม เกิดท้องขึ้นมา หมอผิดต้องจ่าย ทั้งที่เมืองนอกก็บอกว่าเจอกรณีแบบนี้เหมือนกัน เพราะแต่ละคนการขับถ่ายยาไม่เหมือนกัน บางคน 3 เดือนฉีดครั้งหนึ่ง บางคน 2 เดือนครั้ง ร่างกายขับถ่ายไม่เหมือนกัน หรือบางทีกินยาบางอย่างเข้าไป ทำให้ขับถ่ายออกเร็วกว่าปกติ ก็ท้องได้ ก็โทษหมอ

ต่างประเทศจะระบุเลยว่าอะไรที่เกิดขึ้นได้ อย่างสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญทำก็เกิดได้ ถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เหมือนการผ่าตัด ที่เป็นผังผืดเยอะแยะ ผู้เชี่ยวชาญทำก็มีโอกาสจะไปโดนอวัยวะข้างเคียงได้ อย่างนี้เขาไม่จ่าย แต่ของไทย เสียหายต้องจ่าย คือมองแต่ผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ได้มองหมอที่เป็นคนทำจะเสียกำลังใจไหม คนไทยจะเดือดร้อนไหม คนที่ยุให้ฟ้องคิดมุมเดียวคือสิทธิผู้ป่วย แต่ไม่คิดถึงผลกระทบในภาพรวม(คุณภาพการรักษาในอนาคต)

“เราเห็นเด็กปัญญาอ่อน เราก็สงสาร ผลจากเป็นวัณโรคขึ้นสมอง อยากจะช่วย แต่จะเอาเงินที่ไหนช่วย ไม่มีโครงการสำหรับเงินช่วยเหลือพวกนี้ แต่ถ้าให้หมอผิด รัฐบาลจ่าย เขียนว่าไม่ประมาทร้ายแรง เพื่อไม่ไล่เบี้ยหมอ คือคนไข้ได้เงินไป หมอไม่ต้องจ่าย เงินที่จ่ายเป็นเงินภาษี เงินรัฐบาล แต่คนฟ้องไม่ได้คิดว่าผลจากการฟ้องร้องส่งผลกระทบต่อวิธีการรักษา มันสะเทือนเลย หมอทำถูกต้อง ทำทุกอย่างถูกตามขั้นตอน แต่กลายเป็นผิด จากคำพิพากษาหมอต้องเปลี่ยนวิธีรักษา ซึ่งมีผลตามมาต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะต่อไปนี้หมอจะให้ยาเกินความจำเป็น เมื่อคนไข้มาหาหมอ เป็นโรคอะไรมา เช่น เจ็บคอ ปวดหัว ให้ยาและตรวจเกินความจำเป็น อย่างปวดหัวข้างหน้า อาจจะเกิดจากความเครียดธรรมดา แต่อาจจะเป็นเนื้องอกก็ได้ ส่วนใหญ่จะมาจากการเครียด อาจจะมี 1 ใน 1,000 คน ที่เป็นเนื้องอก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อาจจะถูกฟ้อง โดนเรียกค่าเสียหายเป็นล้านเลย จะทำอย่างไร หมอก็ส่งตรวจทุกรายเลย ทำ CT สแกน ตรวจคอมพิวเตอร์ทุกราย เผื่อเกิดกรณี 1 ใน 1,000 ถามว่าต้องเสียเงินเยอะขึ้นไหม เยอะ”

หรือกรณีไส้ติ่ง ทำไมต้องเสียเงินเยอะขึ้น เป็นแสนบาท คนไข้ก็ด่าว่าทำไมแพงอย่างนี้ ผ่าตัดไส้ติ่ง 20% ที่เมืองนอก หรือในโรงเรียนแพทย์ ผ่าแล้วไม่ใช่ดีกว่าใช่แล้วไม่ผ่า เพราะถ้าใช่แล้วไม่ผ่า ถ้าไส้ติ่งแตกแล้วตายแน่ ถ้าผ่าก่อนเอาไส้ติ่งออกไป แต่เมืองไทยไม่ใช่ พอไม่ใช่ก็เรียกค่าเสียหาย บอกว่าหมอชดเชยอย่างไร ผมมีแผลหน้าท้อง นอนโรงพยาบาล 3 วัน ไปทำงานไม่ได้ เอาแล้ว… ทีนี้หมอเลยต้องให้ชัวร์ว่าเป็นแน่ ทำ CT สแกน MRI เลย จ่ายอีกหลายหมื่น นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมผ่าตัดมันแพง เพราะถ้าหมอไม่ทำ หมอต้องจ่ายหลายล้าน แต่ถ้าทำ คุณจ่ายหลายหมื่น

ไทยพับลิก้า: คนไข้ยอมจ่าย

คนไข้เอกชนก็ยอมจ่าย แต่ก็ด่าว่าทำไมแพง แต่คนไข้รัฐบาล เงินไม่ต้องเสีย หมอจะทำไหม ทำก็ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โรงพยาบาลรัฐบางแห่งขาดทุนอยู่แล้วก็ยิ่งขาดทุนหนักเข้าไปอีก แต่ไม่ทำก็ต้องเสี่ยงฟ้องร้อง แล้วเวลาฟ้องร้องหมอยิ่งเสียเปรียบ ยิ่งเงินกองทุนโรงพยาบาลหลายแห่งมีไม่พอ โรงพยาบาลไม่มีเงินจะตรวจเพิ่ม ก็เลยกลายเป็นว่าไม่ได้มาตรฐาน ก็จะโดนฟ้องมากขึ้น

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา

ไทยพับลิก้า: แต่ละโรงพยาบาลของรัฐ ฐานะการเงินแข็งแกร่งไม่เหมือนกัน

ใช่ บางโรงพยาบาลรัฐเขาไม่เป็นไร เปิดคลีนิกพิเศษ เมื่อก่อนเอาเงินรักษาข้าราชการมาชดเชยคนไข้ที่รักษาฟรี (ตามนโยบายรักษาทุกโรค) เพราะราชการเบิกได้เต็มที่ ตอนนี้ราชการเข้มงวดการเบิกจ่าย โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มแย่ ขาดทุน ไม่มีเงินจ่ายบริษัทยา บริษัทยาก็ไม่ยอมจ่ายยาให้โรงพยาบาล มีหลายโรงพยาบาลที่เป็นแบล็กลิสต์ของบริษัทยา ที่ไม่จ่ายยาให้ ไม่ขายให้ เพราะตั้งแต่เอายาไปไม่เคยจ่ายเงิน ไม่มีเงินจะจ่าย ซึ่งเป็นผลตามมาหมดเลย ไม่มียารักษาคนไข้ก็บอกว่าไม่ได้มาตรฐานอีก จะเอามาตรฐานอย่างดีต้องใช้เงิน แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาทำ ส่วนเอกชนไม่เดือดร้อน คนไข้ต้องการอย่างดีก็ทำให้คุณเลย แต่อย่ามาด่าว่าแพง

ไทยพับลิก้า: ต่อไปนี้ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้นผลจากการฟ้องร้องที่มากขึ้น

ใช่ แพงขึ้น อีกอย่างที่จะแพงขึ้นคือหมอต้องประกันการฟ้องร้อง ก็ต้องบวกราคาเข้าไปอีกจากค่าเบี้ยประกัน อย่างอเมริกา หมอทำคลอดเสียค่าประกัน ปีละ 800,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ถามว่าหมอจะตรวจคนไข้คนละ 200 บาท จะได้ไหม ไม่ได้ มันต้องบวกเงินเพิ่มเข้าไปให้มีกำไร จึงมีคำถามว่าทำไมแพงอย่างนี้ รวมทั้งการตรวจที่ป้องกันการถูกฟ้อง บวกเข้าไปหมด หากเป็นอย่างนี้ ประเทศจะล่มจม

แล้วการให้ยา จะเห็นว่าพอเกิดเรื่อง ศาลก็จะบอกว่าทำไมไม่ให้ยาตัวนั้นยาตัวนี้ตั้งแต่ต้น เรามีหลายคดีที่เป็นแบบนั้น ที่บอกว่าทำไมไม่ให้ยาตั้งแต่วันแรก ถ้าเป็นแบบนี้หมด ตาย… เช่น เจ็บคอมาหาหมอ อาจจะเป็นเพราะไวรัสก็ได้ แบคทีเรียก็ได้ หมออาจจะบอกว่ายังไม่ต้องให้ยา รอนิดหนึ่งว่ามาจากอะไรกันแน่ แต่เวลาถูกฟ้องศาลมักจะบอกว่ามาหาหมอทำไมไม่ให้ยา ดังนั้น ทำไมจากนี้ไปก็ให้ยามันทุกราย เป็นอะไรก็มาโทษเราไม่ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ใช้ยาเยอะ เชื้อก็ดื้อยา ดื้อยา พอป่วยจริงๆ ในตอนหลัง ไม่มียาจะรักษา เพราะดื้อยาไปแล้ว

เหมือนในอเมริกาตอนนี้ เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาใหญ่เลย เพราะหมอป้องกันตัวเอง ให้ยาไป พอท้ายสุดก็ดื้อยา ตอนหลังพอเชื้อดื้อยาก็รักษาไม่ได้ ไม่มียารักษาก็ตายมากขึ้น ตอนนี้ของเขาก็ตายมากขึ้น โอบามาก็ออกระเบียบว่าจะช่วยอย่างไร ให้แก้ปัญหา

ดังนั้น หากไม่แก้เรื่องการฟ้องร้อง หากแก้ไม่ได้ หมอจะป้องกันตัวเอง เอาตัวรอดก่อน และให้ยาเพื่อป้องกันการฟ้อง ถามว่ามันเหมาะสมหรือไม่ เราไม่อยากให้เกิดนะ แต่ตอนนี้สถานการณ์ของไทย ที่มีการฟ้องร้องมากขึ้น จึงเป็นวิถีทางที่เกิดขึ้น กำลังผลักดันให้หมอป้องกันตัวเอง

ไทยพับลิก้า: ในแง่คุณหมอที่รักษา หากไม่ได้รักษาคนไข้ หมอจะมีประสบการณ์น้อยลง

คนก็บอกว่าทำโทษหมอแล้ว หมอจะระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่เป็นความจริง การเอาหมอไปทำโทษเพื่อให้หมอทำดีๆ นั้นไม่เป็นความจริง เพราะหมอไม่มีเจตนาฆ่าคน เขามีเจตนาช่วยคน เมื่อมีเจตนาช่วยคน หากไปทำโทษหมอแล้วหมอจะช่วยมากขึ้นได้อย่างไร เขาจะอยากแย่ลง ไม่อยากช่วย มันจะตรงกันข้าม

คดีอาญาเราทำโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ก็เลยได้ผล แต่กรณีหมอ เลิกผ่า ไม่ทำอีก เพราะเขาไม่มีเจตนาทำไม่ดีตั้งแต่ต้น ในต่างประเทศ เขาเลิกทำโทษหมอ เพราะหมอไม่มีเจตนาตั้งแต่แรก หากคิดว่าทำโทษแล้วปัญหาจะหมด ปัญหาไม่ได้แก้ แต่เราไม่เข้าใจกัน มันเคียดแค้น เราตายหมอต้องตายด้วย แต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบ

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะอาชีพหมอแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ การรักษามันผิดถูกได้ไหม เพราะคนไข้ที่เป็นโรคเดียวกัน ก็รักษาได้ผลไม่เหมือนกัน

เราบอกว่า คนไข้ไออย่างเดียว อาจจะเป็นมะเร็งก็ได้ อาจจะเป็นวัณโรคก็ได้ อาจจะเป็นปอดบวมก็ได้ หลอดลมอักเสบก็ได้ เพราะมันมีตั้งหลายโรค จากการไอเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะบอกว่าดูปุ๊บ วินิจฉัยได้เลย หรือเอ็กซเรย์อย่างเดียวแล้วจะบอกได้เลย เป็นไปไม่ได้ คนที่ฟ้องและการพิพากษาไม่เข้าใจ

โรคอย่างเดียวกัน อาการไม่เหมือนกันในต่ละคน และโรคอย่างเดียวกัน ให้ยาอย่างเดียวกัน บางคนรักษาหาย บางคนไม่หาย บางคนหายเร็ว บางคนหายช้า เพราะฉะนั้น จะให้เป๊ะๆ เลยไม่ได้ การวินิจฉัยไม่สามารถบอกได้ตอนแรก มีโอกาสเป็นได้หลายโรค ต้องดูไประยะหนึ่งถึงจะรู้ ที่บอกว่าทำไมไม่รู้ตั้งแต่วันแรกก็เพราะบอกไม่ได้ ก็ต้องให้ยาทุกตัว ทุกโรคที่เป็นไปได้ ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เชื้อดื้อยา ทำให้ใช้ยาเยอะ โอกาสแพ้ยาก็เพิ่มขึ้น เหล่านี้คือคนไม่เข้าใจว่าผลกระทบเป็นอย่างไร

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา

ไทยพับลิก้า: ประเด็นนี้หมอต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ

ผมว่าคนเข้าใจ แต่มีคนยุว่าฟ้องแล้วได้เงิน มีบางกลุ่มที่ยุให้ฟ้อง อย่างกรณีน้องหมิว โรงพยาบาลจ่ายให้แล้ว 500,000 บาท แต่กลุ่มที่ยุให้ฟ้องเขาต้องการ 15 ล้านบาท โรงพยาบาลจ่ายให้ 5 แสนบาท เพราะเขาเป็นโรคอยู่ ทำให้เขาปัญญาอ่อน จริงๆ ต้องป้องกัน หากรู้ว่าคนในบ้านเป็นวัณโรค ถ้าพ่อแม่เป็นในบ้านต้องให้ยาป้องกันไว้ก่อน ต้องเอาเด็กมาตรวจ ขนาดเด็กไม่เป็นโรคเราต้องให้ยากินป้องกันไว้ก่อน ถ้าเป็นไปแล้วแก้ยาก ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว หากไม่เข้าใจแล้วไปโทษหมอรักษา มันสะเทือนทั้งประเทศเลย

ไทยพับลิก้า: อนาคตระบบสาธารณสุขไทยจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้ประชาชนโยนความรับผิดชอบเรื่องสุขภาพทั้งหมดไปให้รัฐบาล ไม่ดูแลตนเอง ให้หมอรักษา บอกว่าเป็นหน้าที่ของหมอตามนโยบายรัฐบาล สุขภาพตัวเองแต่ให้เป็นหน้าที่คนอื่นดูแล แล้วหมอจะรับผิดชอบอย่างไร ให้ยากินก็ไม่ทำตาม ถ้าหากประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ต้องจ่ายเงินบางส่วน ประชาชนก็ระวังดูแลตัวเอง ไม่ให้ป่วย แต่ปัจจุบันเขาไม่เดือดร้อนเพราะรักษาฟรี แล้วจะเรียกร้องมากขึ้น เพราะไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา บอกว่าคุณหมอมีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าทำไม่ดีเขาจะเล่นงานคุณ (หมอ) เพราะคุณมีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพเขา หากเขารับผิดชอบตัวเขาเอง เขาจะกล้าฟ้องใครไหม เขาจะกล้าฟ้องตัวเองไหม

ไทยพับลิก้า: หมอฟ้องคนไข้ได้ไหม ที่ไม่ดูแลตัวเอง

คนไข้ไม่ได้ทำตามที่หมอบอก เมืองไทยไม่มีทำโทษ จริงๆ หน้าที่ประชาชนต้องดูแลสุขภาพตนเองด้วย รัฐธรรมนูญยังไม่ใส่เรื่องนี้เลย เพราะการป้องกันไม่ให้ป่วยสำคัญที่สุด เมื่อป่วยมาแล้ว หมอมีหน้าที่ช่วย คือช่วยให้ตายช้าลง หรือให้เจ็บปวดน้อยลง แต่คุณต้องไม่เป็นอะไรเลย ปลอดภัยที่สุด แต่ของไทยไม่ใช่อย่างนี้ รัฐบาลบอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลดูแลให้หมด เป็นประเทศเดียวในโลกที่ให้ฟรีหมดทุกอย่าง

สหรัฐอเมริกา คนแก่อายุ 65 ที่บอกว่ารักษาฟรี ต้องจ่ายค่ายาร่วมด้วยอย่างน้อย 30% แคนาดา บอกว่ารักษาฟรี หมอรักษาให้ฟรี แต่ค่ายาต้องจ่ายเอง ของเราฟรีหมดทุกอย่าง เอายาไปทิ้งพรุ่งนี้มาเอาใหม่ได้

ไทยพับลิก้า: ทำไม สปสช. บอกว่าประเทศอื่นเขาเอาไทยเป็นตัวอย่าง

ต่างประเทศชม เพราะเขาบอกเราเก่งจริงๆ ทำได้อย่างไร เขารวยกว่ายังทำไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าเขารวยหรือเขาประชด อเมริกา อังกฤษ รวยกว่าตั้งเยอะยังทำไม่ได้ คนไทยทำได้อย่างไร หารู้ไม่ว่าเรากำลังเจ๊งอยู่

ไทยพับลิก้า: สรุปว่าระบบรักษาฟรีเรากำลังเจ๊ง

เราเจ๊งอยู่ และเราจะพังไปเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า: ผลกระทบจริงๆ อยู่ตรงไหน

โรงพยาบาลรัฐหลายโรงกำลังแย่ อีกไม่นานอาจจะพังทั้งระบบ ที่ฝรั่งชม เป็นมารยาทของเขา ชมแล้วทำให้เราหลงว่าเรื่องจริง คิดว่าเราแน่ แต่หารู้ไม่ว่าเรากำลังพัง ถามว่าที่เขาชม มีใครทำตามประเทศไทยไหม ไม่มีใครทำแบบไทย ประเทศจีนยังต้องจ่ายร่วม ไทยเข้าใจผิดไปอ้างว่าทั่วโลกชม แน่นอน ชมว่าทำได้ แต่ทำได้อย่างไรนั้น หากเขาชมจริง เขาคงต้องทำตามเมืองไทยแล้ว ตอนนี้คนเจ๊งคือโรงพยาบาลเจ๊งแทน ดูข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขได้

ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลเอกชนที่เคยเข้าร่วมรับคนไข้ สปสช. ที่เคยเข้าไปก็ออกหมดแล้ว เหลือแต่คลินิก โรงเรียนแพทย์ยังไม่เข้าร่วม สปสช. เลยทำให้โชคดีไปที่ยังมีโรงพยาบาลที่มีคุณภาพดีรักษาอยู่ ถ้าเข้าไปทั้งหมดก็เจ๊งทั้งประเทศเลย แต่นี่ก็ยังเหลือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์อยู่

ไทยพับลิก้า: คนต่างจังหวัดไม่มีทางเลือก

ตอนนี้โรงพยาบาลศูนย์ในจังหวัดต่างๆ ก็พยายามหารายได้จากการเปิดคลินิกนอกเวลา เพื่อหารายได้มาชดเชย ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ ที่เขาบอกว่าทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาล เขาเน้นคนยากจน คนห่างไกล คนที่เข้าถึงแล้วไม่ต้องไปยุ่ง แต่ของเราไปยุ่งทุกคน รวมทั้งเศรษฐีด้วย ให้เขาด้วย จริงๆ ต้องช่วยคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ห่างไกล ยากจน คนที่ช่วยตัวเองได้แล้วไม่ต้องช่วย นี่ให้ทุกคนเลย เศรษฐีเส้นสายก็เยอะ มาแย่งใช้ เพราะเป็นสิทธิของข้าพเจ้า ในเมื่อให้สิทธิเขา เขามีเงินซื้อเหล้า บุหรี่ได้ ซื้อเครื่องสำอางแพงๆ ซื้อได้ แต่ซื้อยาแก้ไข้ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของข้าพเจ้า

ดังนั้น หลักการต้องช่วยคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วย เราจะไม่ให้คนยากจนเพราะความเจ็บป่วย ทุกคนต้องร่วมจ่ายเริ่มต้น เพื่อจะได้ระมัดระวังตัวเอง แต่ก็มีกรอบอยู่ว่า ถึงแค่ไหนไม่ต้องจ่าย เพราะคุณไม่แกล้งป่วยอยู่แล้ว เมืองนอกให้จ่ายร่วม แต่มีเพดานอยู่ทุกคน และเขาจับให้ทุกคนเสียภาษีหมด เก็บมาก่อน สิ้นปีคืนให้หากไม่ถึงเกณฑ์ เพื่อจะได้มีข้อมูล ใครไม่เคยเสียภาษีก็เบิกไม่ได้ รายได้คุณน้อยก็คืนให้ แต่บ้านเราคนไม่เสียภาษีเยอะมาก ไม่มีข้อมูลคนรายได้น้อย

“คนไข้เองก็แย่ลง คุณภาพการรักษาจะลดลง แล้วหมอก็จะไม่ทำ อัตราตายก็จะสูงขึ้น จะมีการส่งต่อมากขึ้น แม้จะมีการส่งต่อแต่การไปเยี่ยมเยียนก็ลำบาก แทนที่จะอยู่ใกล้บ้าน รัฐบาลเสียเงินไปเยอะกับการสร้างห้องผ่าตัดตามโรงพยาบาลชุมชน ทำไปแล้วไม่ได้ใช้ สูญเสียทรัพยากร เป็นที่เก็บของ เสียหาย แล้วหมอที่ผลิตมาใช้เงินมหาศาล ลาออกไปก็เสียหาย เปลี่ยนอาชีพไปเยอะ”

“การผลิตหมอ 6 ปี ใช้เงินอย่างน้อยปีละ 300,000 บาท หลายคนบอกว่าเขายินดีจ่ายเอง อย่ามาบังคับเขา ตอนนี้บังคับ ให้ใช้ทุน คนก็ไปเรียนแพทย์เอกชนเยอะขึ้น จ่ายแล้ว อิสระ ไม่ต้องใช้ทุน ไม่มีใครอยากมีพันธะ ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด คนไทยเรียนแพทย์ 6 ปี ต้องไปใช้ทุน 3 ปี จึงจะมาเป็นแพทย์ประจำบ้าน ก็ 9 ปีแล้ว ถ้าไม่ใช้ทุนปรับ 400,000 บาท มาตรการนี้ทำไปแล้วหมออยู่ต่างจังหวัดเยอะขึ้นไหม พอใช้ทุนครบปุ๊บทุกคนลาออกหมด เราทำมา 40 ปี หมอออกหมดเหมือนเดิม แสดงว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล เอกชนทำไมมีหมอลาออกไปอยู่ หมอไปเอง เหมือนอเมริกัน เมื่อก่อนเกณฑ์ทหารไปรบ เอาเด็กที่เรียนไม่ดีไปรบ ตายเยอะแยะ ตอนหลังเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้อาสาสมัคร เพราะเงินเดือนดี มีการเทรนความรู้ด้านต่างๆ คนแย่งกันเข้า ใช้วิธีการทางบวก”

สมศักดิ์ โล่ห์เลขา5

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้ทางแพทยสภาทำอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้

ตอนนี้เราดูเรื่องการเรียนการสอน จากการฟ้องร้อง ปัญหาอันหนึ่งคือการสื่อสาร ไม่ได้มีการสอนหมอถึงวิธีการคุยกับคนไข้ หมออธิบายไม่เป็น ระหว่างหมอกับคนไข้ ญาติ ต้องคุยกันอย่างไร และต้องบันทึกเป็นหลักฐานอย่างไร ไม่อย่างนั้นฟ้องมาจะแพ้ ต่อให้คุณพูดทั้งชั่วโมงแต่คุณไม่ได้บันทึกไว้ คนไข้ก็บอกว่าไม่ได้พูด ไม่มีหลักฐาน เมืองนอก คุย 5 นาที แต่เขียน 15 นาที ฝรั่งคุยนิดเดียวเขียนเยอะ เพื่อเกิดเรื่องจะได้ป้องกันได้

แต่บ้านเราทำไม่ได้ เพราะคนไข้เยอะ เขียนไม่ทัน ของฝรั่งตรวจครบ 20 คนเลิกตรวจ แต่ของไทยต้องตรวจให้หมด มี 100-200 คนต้องตรวจให้หมด ไม่ตรวจเอาเรื่อง เราตามใจคนไข้ แต่ฝรั่งบอกคุณไปหาหมอเมืองนอก ถ้าไม่นัดไม่มีทาง ยกเว้นฉุกเฉิน ของไทยไม่ต้องนัดไปได้ตลอดเวลา ต้องได้ตรวจด้วย ถ้าไม่ตรวจเอาเรื่อง ซึ่งเราใช้วิธีเอาใจคนไข้ ทำได้ทุกอย่าง หมอต้องรับใช้

เวลาคุยจะน้อยลง ยิ่งคนไข้มาก คุณภาพก็ลดลง ปัญหายิ่งจะมากขึ้น เราก็ต้องสอนเรื่องการสื่อสาร การบันทึก

นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัย ที่จะทำให้ผู้ป่วยไม่มีปัญหาแทรกซ้อน จะเน้นพวกนี้มากขึ้น

รวมทั้งหมอต้องเรียนกฎหมายด้วย เมื่อก่อนไม่ต้องเรียน อบรมผู้เชี่ยวชาญให้มีมากขึ้น เพื่อปัญหาจะได้น้อยลง แต่สวนทางกับรัฐบาลที่อยากให้มีหมอทั่วไปมากขึ้น แต่เราดูแล้ว ประชาชนและศาลอยากให้มีหมอเชี่ยวชาญ เมื่อทุกคนต้องการความเชี่ยวชาญก็ต้องไปเชี่ยวชาญ

ส่วนเรื่องการฟ้องร้อง ถ้าหมอผิดเราก็ว่าตามการตัดสิน แต่ที่หมอไม่ผิด มาตัดสินผิด เดือดร้อน เราก็เจรจากับทางศาลให้อบรมผู้เชี่ยวชาญ อบรมหมอให้เป็นพยานศาล ให้ศาลปรึกษา เพราะมีมาตรฐานอ้างอิงอยู่แล้ว สามารถใช้ได้เลย มันเป็นเรื่องวิชาการ ต้องให้มีที่ปรึกษาให้ศาล ให้มีการแลกความรู้ระหว่างผู้พิพากษากับแพทย์ ให้รู้ว่าแพทย์คิดอย่างไร และเราก็อยากได้ศาลที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้วย

นอกจากนี้ แพทยสภากำลังจะให้การรักษาพยาบาลออกจากคดีผู้บริโภคไปเป็นคดีแพ่ง เหตุผลเพราะคนไข้ไม่ใช่ผู้บริโภค การบริโภคคือการซื้อขายของ แต่คนไข้มาด้วยโรค ซึ่งเราไม่ได้เป็นคนทำให้เกิดโรคด้วย และอย่างที่บอก สินค้าบริโภคเป็นการพูดถึงสิ่งไม่มีชีวิต รถยนต์ บ้าน อาการมันตายตัวเปลี่ยนอุปกรณ์ก็ใช้ได้ แต่คนไข้ ไออย่างเดียวสามารถเป็นได้ไม่รู้กี่โรค เป็นได้หมด โรคเดียวกันก็อาการไม่เหมือนกัน และเรามีเรื่องจริยธรรมควบคุมอยู่ ถ้าเป็นรถยนต์บอกว่ารุ่นเก่าไม่มีอะไหล่ ซ่อมไม่ได้ แต่คนไข้บอกว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ ไม่รักษา ไม่ได้ ก็ต้องรักษา หรือมากลางคืน ปิดร้านไม่ทำ แต่นี่คนไข้มากลางคืน เราต้องรักษา ถ้าไม่รักษาเราผิดจริยธรรม ไม่เหมือนกัน

และคดีผู้บริโภค คนไข้สามารถฟ้องได้ โดยไม่ต้องวางเงิน อายุความยาว หลังจากรู้แล้วยาว 10 ปี ถ้าเป็นคดีแพ่ง 3 ปี

คดีผู้บริโภค คนไข้สามารถฟ้องได้โดยไม่ต้องเสียอะไร ฟ้องแพ้ก็ไม่โดนปรับเงิน แต่หมอต้องเป็นคนอธิบาย จะบอกว่าได้อย่างไร เพราะมันไม่ใช่โรคของเรา มันเป็นโรคของคุณ คนไข้มีแต่เสมอตัวกับได้ หมอมีแต่เสียกับเสีย หากถูกฟ้องต้องเสียค่าทนาย ถึงคุณชนะก็ต้องเสียเงิน แพ้ก็เสียมากขึ้น คนไข้มีแต่ได้อย่างเดียว แล้วยุติธรรมไหม ไม่ยุติธรรมที่เอาเรื่องนี้มาใช้กับหมอ ทั่วโลกไม่มีใครใช้คดีผู้บริโภค มีแต่เมืองไทย

“คดีผู้บริโภคมาใช้ขายของ ขายบ้าน ขายอาหาร ขายรถยนต์ อาหาร เราทำอาหารดีอย่างไร มีระบบความสะอาดอย่างไร อธิบายได้ แต่หมออธิบายอย่างไร เราไม่ได้ขายโรค และโรคเราไม่ได้เป็นคนสร้าง เราไม่ได้ขายโรคคุณ เราบริบาลผู้ป่วย เราไม่ได้บริการผู้ป่วย เรามีบริบาลผู้ป่วยหนัก ไม่เคยมีหอบริการผู้ป่วยหนัก เราไม่ได้ขายบริการ ดังนั้น คดีผู้บริโภคมันไม่ใช่ ต้องเป็นคดีแพ่ง แต่ผู้พิพากษาบอกว่าคุณรับเงินก็ต้องเป็นบริการ การดูแค่รับเงินอย่างเดียวไม่ได้”

ไทยพับลิก้า: แก้กฎหมายนี้ยากไหม

รัฐบาลมองว่าต้องแก้ เราเสนอไปแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดต้องให้ความรู้ประชาชน ผู้พิพากษา ประชาชนไม่เข้าใจ เช่น กรณีบอกว่าหมอผ่าสมองแล้วลืมปิดกะโหลก ไม่ใช่ ถ้าเลือดออกในสมอง เขาไม่ปิด เดี๋ยวเลือดออกมันขยายออก ถ้าขยายไม่ได้ก็ตายเลย ต้องให้สมองยืดหยุ่นได้ เขาไม่ได้ลืม แล้วบอกว่าอย่า เดี๋ยวจิ้มไปโดนสมอง ไม่มีทาง เนื้อเราหนาจะตาย หากจำเป็นจริงๆ เอากระโหลกเทียมใส่ให้ ปลอดภัยกว่า แต่ชาวบ้านไม่รู้ก็ฟ้อง

บางทีก็มาฟ้องว่าหมอไม่ได้โกนขน เมื่อก่อนต้องโกน แต่เดี๋ยวนี้เขาเลิกโกน เพราะโกนแล้วถ้าถลอก ติดเชื้อได้ แต่คนไข้ไม่รู้ ก็ฟ้อง

หรือกรณีมีผังผืด กรณีคนไข้ผ่ามดลูก ถูกกระเพาะปัสสาวะ ถามว่าคนไข้เคยผ่าตัดมดลูกไหม เขาบอกว่าเคยผ่ามดลูกมาสองครั้ง ซึ่งคนที่เคยผ่าเวลาผ่าเสร็จ หายแล้วจะมีแผลเป็นยึดเต็มไปหมด พอเป็นเนื้องอกในมดลูก เลือดออกไม่หยุด หมอก็ต้องเอาออก แต่มดลูกมีผังพืดเต็ม ติดกระเพาะปัสสาวะแน่น เวลาเลาะก็มีโอกาสโดนกระเพาะปัสสาวะได้ คนไข้ไม่ยอม ซึ่งกรณีแบบนี้ อนาคตต่อไป หากคนไข้ไม่ยอม หากผ่าไม่ได้ จะได้ไม่ผ่า ซึ่งถ้าไม่ผ่าคนไข้ตายแน่ เพราะตกเลือดตาย ผ่าเพื่อช่วยคุณ แต่หมอตาย เรียกค่าเสียหาย 10 ล้าน หมอผ่าประกันสังคมได้หัวละ 2,000 บาท คุณรักษาผ่าตัดจ่ายหลายแสน คุณจะเอาอีก 10 ล้าน หมอโรงพยาบาลรัฐเลยลาออกกันหมด ไม่คุ้มแล้ว

นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นของระบบสาธารณสุขไทยในขณะนี้