ThaiPublica > คนในข่าว > “ศานนท์ หวังสร้างบุญ” ชูโมเดลป้อมมหากาฬ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต กับแนวคิด mutual benefits ธุรกิจ-ชุมชนที่ต้องเกื้อกูลกัน

“ศานนท์ หวังสร้างบุญ” ชูโมเดลป้อมมหากาฬ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต กับแนวคิด mutual benefits ธุรกิจ-ชุมชนที่ต้องเกื้อกูลกัน

23 สิงหาคม 2016


วันที่ 3 กันยายน 2559 เป็นเส้นตายในการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬของกรุงเทพมหานครเพื่อนำพื้นที่ไปทำสวนสาธารณะ ซึ่งเครือข่ายป้อมมหากาฬ เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ นักธุรกิจ ต่างพยายามเสนอทางออกต่อกรุงเทพมหานครทั้งในข้อกฏหมายและรูปแบบการดำรงอยู่ของชุมชนป้อมมหากาฬที่ยั่งยืน

หนึ่งในนั้นมี“ศานนท์ หวังสร้างบุญ” สมาชิกกลุ่ม Trawell และผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel จากความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน มาสู่การชนะเลิศ One Young World ปี 2558 รวมกันเป็นกลุ่ม จับมือระดมความคิดจนเกิดเป็น Trawell ด้วยเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลอย่างไรระหว่างธุรกิจกับชุมชนให้ win win ไปด้วยกัน เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวกระจายไปถึงมือคนในชุมชน ไม่ใช่ให้เพราะสงสาร แต่เพราะเขามีศักยภาพ

เช่นเดียวกับปัญหายืดเยื้อของชุมชนเก่าแก่อย่างป้อมมหากาฬ ที่กำลังจะถูกรื้อถอน พลัง urban movement จะเป็นทางออกที่หาข้อยุติร่วมกันได้หรือไม่ กับ “มหากาฬโมเดล พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”

การใช้ชีวิตที่ตกตะกอนจากการทำงานจิตอาสาของ “ศานนท์” ชีวิตที่ไม่แยกส่วนงานกับส่วนตัว ชีวิตที่เป็นวันหยุดทุกวัน นั่นทำให้ชีวิตของเขามีความหมายจากสิ่งที่ทำในแต่ละวัน

“ศานนท์” เล่าถึงเรื่องราวที่ทำให้เขาเข้ามามีส่วนผลักดัน ขับเคลื่อนชูโมเดล “ป้อมมหากาฬพิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ว่า “จริงๆ ต้องเล่าถึง One Young World ปลายปี 2558 พอดีจับพลัดจับผลูเข้าไปเป็น 1 ใน 100 คน ทีนี้เขาให้จับกลุ่มกันว่าแต่ละคนสนใจประเด็นไหน ก็มีคนที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวอยู่ประมาณ 4-5 คน ก็รู้จักกันอยู่แล้ว อย่างผมก็เคยทำมาก่อน และยังมีเพื่อนที่ทำ Local Alikeที่เป็นการท่องเที่ยวชุมชนเหมือนกัน มีคนทำที่เชียงรายก็เป็นการท่องเที่ยวชุมชน อีกคนหนึ่งทำอยู่ที่เชียงใหม่ พอต้องจับกลุ่ม ก็เลยมารวมกัน มาสุมหัวกันว่าจะทำอะไรกันดี”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ตอนนั้นเขาให้โจทย์เป็นเรื่องความยากจน แล้วพวกผมก็คิดว่าการท่องเที่ยวช่วยได้หลายมิติอยู่แล้ว ความยากจนก็เป็นหนึ่งในนั้น หรือการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม แต่พอดีมันธีมเดียวคือความยากจน เราก็ทำเรื่องนี้ พอดีโปรเจกต์โฮสเทลของผมก็กำลังจะเกิด เป็นธุรกิจเกื้อกูลกับชาวบ้าน เลยมีพื้นฐานของชุมชนที่อยู่แถวนี้(ป้อมมหากาฬ)ที่รู้จักอยู่พอสมควร ก็สรุปกันในวงว่ามาเริ่มวางฐานกันตรงนี้ไหม ในส่วนโฮสเทลก็ทำเรื่อง hospitality อยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องการท่องเที่ยวก็มาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มกัน เหมือนกับว่าที่นี่เป็นธุรกิจที่พัก ในขณะที่อีกบริษัทก็เป็นธุรกิจท่องเที่ยว พาไปเที่ยว

“สมมติว่ามีฝรั่งมาถามเราว่าควรไปเที่ยวที่ไหนดี แล้วเราจะตอบให้ไปเที่ยวที่ไหน ปรากฏว่าพอเราไปถามทุกคนจริงๆ คือมันมีคำตอบซ้ำๆ กัน ส่วนใหญ่เราก็บอกว่า วัดพระแก้ว วัดบวร วัดโพธิ์ วัดอรุณ หรือไม่ก็สยามพารากอน เอเชียทีค ท่ามหาราช ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกนั้นคืออะไร พวกนั้นมีสตาร์บัคส์ หรืออะไรก็ตาม ที่ทุกอย่างก็เหมือนประเทศเขา หรือแม้กระทั่งวัดพระแก้ว เวลาเข้าไปแล้วมันก็เหมือนเป็นครั้งเดียวจบ (one time) ไม่ได้มีอะไรให้กลับมาซ้ำๆ (repeat) …ผมก็รู้สึกว่าจริงๆแล้วเราอยากจะนำเสนอสิ่งพวกนี้แค่นี้เหรือ หรือเรามีดีแค่นี้เหรอ”

หรือถ้าแนะนำเรื่องกิน เราแนะนำเยาวราช สตรีทฟูดส์ หรือทองหล่อ 53 ซึ่งสตรีทฟูดส์เป็นการใช้ทางเท้า มันมีการจัดระเบียบ มีมุมมองคนละด้าน แต่ในแง่การท่องเที่ยวเองมันทำให้สิ่งที่เราคิดว่าดี มันหายไป แต่มองกันจริงๆคนที่มาใช้ทางเท้า เขาเอาเปรียบมานาน ก็เป็นมุมมองที่หลากหลาย

“ผมก็คิดว่าถ้าการท่องเที่ยวไม่ได้พูดถึงแค่ชุมชนอย่างเดียว เป็นการท่องเที่ยงที่นำเสนอสิ่งที่เราภูมิใจ เราสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่าไปเที่ยว “ที่นี่สิ” แต่ผมยังรู้สึกว่าทุกวันนี้มันยังไม่มี “ที่นั่น””

ผมเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราทำให้ชุมชนหรือที่ๆพร้อมอยากจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวดีไหม ผมเห็นศักยภาพของบ้านบาตร ที่ทุกวันนี้เขาไม่สามารถสู้กับอุตสาหกรรมที่ทำบาตรได้ เขาใช้เวลา 2 อาทิตย์ เพื่อทำบาตร 1 ใบ แล้วขายแพงมาก กับบาตรปั๊มที่ทำโมลด์มาแล้ว ปั๊มทีเดียวได้เลย จบ มันสู้กันไม่ได้อยู่แล้ว ถึงแม้เขาจะอ้างเรื่องพระธรรมวินัยที่พระจำเป็นจะต้องใช้บาตรที่ต่อจากเหล็ก 8 ชิ้น แต่ไม่มีใครสนใจ ทุกคนก็แค่เห็นบาตรเป็นของเก็บ เราบอกว่า ถ้าบ้านบาตรจะอยู่ได้ ก็ต้องจัดที่ทาง (position) ตัวเองใหม่ ถ้ามองในแง่ธุรกิจนะ ว่าไม่ใช่คนผลิตให้กับคนที่ใช้ อาจจะเป็นของประดับซึ่งดีมานด์ไม่ได้เยอะแต่คุณสามารถทำเป็นการท่องเที่ยวแทน แล้วก็ได้รายได้

พิพิธภัณฑ์ฒีชีวิต4

“มันน่าทึ่งตรงที่ชุมชนนี้เหมือนกับเป็น… ผมเรียนวิศวอุตสาหการ ผมรู้ว่ามันเป็นขั้นตอนที่หนึ่งคนทำหนึ่งอย่าง มันเป็นซัพพลายเชน เช่น คนนี้ต่อบาตร อีกคนเอาบาตรไปเชื่อม อีกคนตี.. เหมือนโรงงานที่เป็นหัตถกรรม ผมคิดว่านี่คือสเน่ห์ ผมก็คิดว่าตรงนี้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ หรือเข้าไปในป้อมมหากาฬ ก็เหมือนอีกโลกหนึ่ง ข้างหน้าป้อมจะมีรถจะวิ่งเร็วมาก แต่พอเข้าไปในป้อมแล้วจะกลายเป็นทุกอย่างช้า ต้นไม้ใหญ่มาก คนตัวเล็กมาก เทียบกับสเกลที่เราไปอยู่ในห้าง ตึกใหญ่มาก ต้นไม้เล็กนิดเดียว ทุกอย่างมันคอนทราสต์ไปหมด เราก็คิดว่านี่คือแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถทำได้ แล้วคิดต่อไปว่า จะดีกว่าไหมถ้าเป็นเอเชียทีคเหมือนกัน หรือถ้าเป็นท่ามหาราชๆ ที่ทำโดยชุมชน โดยชุมชนมาเปิดร้านกาแฟ ร้านกระเพาะปลา แล้วกลายเป็นตลาดหรือที่ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนจริงๆ แล้วรายได้กระจายในชุมชน”

ผมก็เห็นภาพประมาณนั้น ก็เลยคิดกันว่าถ้าเราทำ Trawell เราอยากนำเสนอการท่องเที่ยวที่ดีในเมืองไทย แล้วก็เป็นการท่องเที่ยวที่ 1.สามารถแก้ปัญหาความยากจน กระจายรายได้ถึงฐานราก 2.รักษาวัฒนธรรมที่กำลังจะตายไป เช่น บาตร ถ้าไม่ทำก็จะหายไป หรือแม้กระทั่งฟื้นฟูด้วยซ้ำ อะไรที่มันตายไปแล้วก็ให้กลับมาใหม่ อย่างตอนที่เราไปทำป้อมมหากาฬ มันมีลิเกที่ตายไปแล้ว มีอะไรที่ตายไปแล้ว ชาวบ้านก็มีไอเดียว่าฟื้นมันขึ้นมาใหม่ไหม ก็กลายเป็นว่าไม่ใช่แค่รักษา ก็อาจจะฟื้นได้ในอนาคตด้วย ก็เลยกลายเป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่ Trawell กำลังปั้นกันอยู่ เพิ่งเริ่มกัน อย่างที่เราลงพื้นที่ป้อมมหากาฬก็จะมีเพื่อนๆ ไปถ่ายรูป ป้าๆ ลุงๆ ถ่ายยังไงให้ป้าๆ ลุงๆ ดูแบบ… คือ การรับรู้ (perception) ของเรา คือ ป้าโบราณ น่าสงสาร แต่วันนี้ไม่ใช่ เราเอาชุดเสื้อผ้าที่ฮิปมากไปให้เขาสวม ก็คงจะมีคลิปวิดีโอออกมาหลังจากนี้

ไทยพับลิก้า: ในชุมชนมีเรื่องราวเยอะแยะ มีวิธีหยิบอะไรขึ้นมาที่คิดว่าขายได้

เหมือนต้องไปสำรวจพอสมควร จริงๆ ก่อนเริ่มทำโฮสเทล Once Again ซึ่ง Once Again เป็นคอนเซปต์ประมาณว่ามาจากการสำรวจชุมชนรอบๆ เราอยากจะเกื้อกูลกับชุมชน กระจายรายได้จากฝรั่งที่มาเที่ยว 100 กว่าคน ต้องกระจายเงินมาอย่างไรให้ถึงชุมชน เราก็ไปสำรวจชุมชนรอบๆโฮสเทล แต่ปรากฏว่า เราดูแล้วมันกลายเป็น…ชุมชนที่ดีๆ ที่เราเห็นในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ก่อน มีห้องหนึ่งชื่อว่าดื่มด่ำวิถีชุมชน จะบอกหมดเลยว่าในเกาะรัตนโกสินทร์ มีชุมชนอะไรบ้าง แล้วพอเข้าไป ผมก็จดๆ ไว้ พอไปเดินดูจริงๆ รายละเอียดที่ว่ามันไม่มีแล้ว คือแบบว่า เช่น น้ำอบ น้ำอบก็เป็นร้านน้ำอบนางลอยร้านเดียว นอกนั้นก็ไม่มีแล้ว หรือดินสอพองก็เป็นถนนดินสอ ก็ไม่มีแล้ว ตีทอง ก็ถนนตีทอง ใบลานก็เลิกผลิตแล้ว คือไปถามใคร…ก็ไม่มีแล้ว ที่เหลืออยู่..ผมก็เลือกไปแค่ 4 ที่ มี 1. บ้านบาตร 2. วังกลม ที่ทำเย็บจีวร สบง 3. ป้อมมหากาฬ และ 4. นางเลิ้ง

พอไปสำรวจก็พบว่า เฮ้ย… ดราม่ามาก เราทำไงให้โฮสเทลซัพพอร์ตได้ ก็เลยตั้งชื่อโฮสเทลว่า Once Again คืออยากให้ชุมชนเหล่านี้ กลับมามีชีวิตอีกครั้งผ่านการท่องเที่ยว ผ่านการพักที่นี่ ก็เป็นจุดเริ่มต้นตรงนั้น

ก็ตอบคำถาม คือไปสำรวจครับ แล้วก็พยายามดูว่าที่ไหนมีอะไรบ้าง ใช้เหมือน design thinking คือเริ่มสำรวจก่อน วิเคราะห์แล้ว เริ่มทำตัวต้นแบบ (prototype) ก็คือเอาเพื่อนไปเที่ยวดู สนุกหรือเปล่า เป็นอย่างไรบ้าง แล้วพอบอกว่าเหมือนชุมชนทั่วไป บางทีก็แบบชุมชนเมือง ไม่เหมือนไปต่างจังหวัดที่ไปเห็นต้นไม้เขียวๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นคือง่ายมาก แทบไม่ต้องใส่ซอฟต์แวร์อะไรเลย คือฮาร์ดแวร์ดีอยู่แล้ว แต่อันนี้ฮาร์ดแวร์..ไม่ใช่ คือชุมชนเมืองยากจริงๆ ครับ ก็เลยต้องคิดเยอะมาก

ไทยพับลิก้า: หลังจากมีข้อมูลแล้ว เข้าไปแล้วจะทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ใช่ ต้องคุยนานมาก เบื้องต้นเราก็บอกว่าเราต้องการอะไร คือพอไปคุย ประธานชุมชนจะไม่ใช่คนที่ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นเลย เราก็ไปเจอคนที่เป็นประธานจริงๆ ที่ทุกคนรู้จัก คนนั้นก็จะเป็นคนที่สำคัญที่สุด เวลาเราคุยเขาก็จะ…ด้วยความที่บางชุมชนเป็นชุมชนที่ดังอยู่แล้ว มีคนเข้าไปอยู่แล้ว การที่เราเข้าไป ก็เป็นรายที่ร้อยหรือสองร้อย ที่เข้าไปคุยกับเขา แล้วเราทำอะไร แล้วเราจะมายังไง บางคนก็คิดว่าเราเป็นนักศึกษา มาทำรายงานแล้วก็จบ อย่าง วังกลม ก็จะมีนักศึกษาศิลปากรมาบ่อย ถามตรงนี้คืออะไรครับป้า ทำรายงานเสร็จก็จบ เขาก็คิดว่าเราเป็นอย่างนั้นในตอนแรก

แต่ผมว่า หนึ่งคือเราต้องไปบ่อยมาก ใช้วิธีไปแล้วไปอีก เป็นเรื่องความต่อเนื่อง อย่าง บ้านบาตร ผมไปทำบาตรมาใบหนึ่ง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้ว่ามีอะไร วันนี้ผมทำได้เท่านี้ ฝากป้าไว้ก่อน พรุ่งนี้มาใหม่ ก็ไปทำอย่างนี้เป็นเดือนกว่าจะเสร็จ เพราะเราไม่ได้ไปทุกวันด้วย สุดท้ายป้าก็ช่วย ดังนั้นผมคิดว่าต้องมีความต่อเนื่องในการลงพื้นที่

เสร็จแล้วพอ One Young World เราเป็นกลุ่มที่ชนะเลิศ สื่อก็เลยลงข่าวเยอะมาก พอสื่อลง คุณป้าก็เริ่มเห็นว่าแก๊งนี้ออกทีวี แล้วพอเราชนะใน One Young World มีรายการคนค้นคนมาถ่ายทำรายการ ชาวบ้านก็แบบว่า เห็นว่าได้ออกทีวี ทำให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น ชุมชนก็รู้สึกว่าเราทำจริง แล้วเราก็ทำจริงๆ เราพานักท่องเที่ยวไป เราไม่ได้ทำแค่มุมของท่องเที่ยว อย่างที่ป้อมมหากาฬ ก็ไปสอนลูกเขา ผมก็มีเพื่อนที่ทำ Saturday School เป็นอาจารย์จาก Teach for Thailand จัดสอนวันเสาร์ ผมก็ชวนเพื่อนว่ามาสอนชุมชนบ้างไหม เพื่อนก็สนใจ ทำอาสาสมัครครู แล้วมาสอนกันในชุมชน เพิ่งสอนไปประมาณ 2 เดือน คือทุกวันเสาร์ แล้วชุมชนก็เห็นว่าเด็กๆติดครู อย่างวันเสาร์อาทิตย์ ก็จะมานั่งกันที่โฮสเทล Once Again บ้าง ก็ทำให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้มาเฉยๆ ผมก็อยู่ตรงนี้ ก็เลยกลายเป็นการทำงานร่วมกันจริงๆ เวลาทำอะไรก็ง่ายขึ้น

ไทยพับลิก้า: ให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร

ถ้าเป็นที่โฮสเทลก็จะร่วมโดยเรียกว่า สนับสนุนธุรกิจกับจ้างงาน อย่าง บ้านบาตรก็จะมีพี่คนหนึ่ง มาเป็น front ให้ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดี หรือเป็นแม่บ้าน แต่เราก็ไม่ได้จ้างเยอะ อย่างมากก็ 8 คน ที่เหลือเป็นชุมชนแถวนี้ มีสนับสนุนธุรกิจ เช่น ซักอบรีด ปกติโฮสเทลจะมีบริการซักอบรีดอยู่แล้ว เราก็คิดว่าแทนที่จะซื้อตู้มาให้นักท่องเที่ยวหยอดเหรียญ เราเอามาชั่งกิโล แล้วไปส่งให้กับชุมชน เดือนหนึ่งก็ได้หลายหมื่นนะครับ แล้วอาหารเช้าก็ให้ชุมชนทำ ก็มาเสิร์ฟ ผมไปดีลกับร้านแถวนี้ ว่าอันนี้น่าขาย มาให้ส่งโรงแรมไหม งบประมาณยังไง กี่หัวก็บอกเขา แต่มันจะมีเรื่องคุณภาพ คือเราไม่ได้มาแบบ เขาน่าสงสาร เราช่วย แต่เป็นลักษณะว่ามาทำธุรกิจร่วมกัน ถ้าไม่ดีก็ต้องบอกกันตรงๆ เขามีศักยภาพ ไม่ใช่ว่าเราไปช่วย ไปเอื้ออาทร มันไม่ใช่ อย่างพี่ๆแม่บ้านก็รู้ว่าเราจ้างเขา แต่เขาต้องได้มาตรฐาน เพราะว่าเป้าหมายของการทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด (inclusive business) จริงๆ คือเรื่องของการได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเกื้อกูล (mutual benefits) โอเค ก็อาจจะเป็นการกระจายรายได้ แต่ว่าแก่นจริงๆ คือการได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเกื้อกูลทางธุรกิจ

ไทยพับลิก้า: การเน้นเรื่องคุณภาพ เป็นการช่วยยกมาตรฐานบริการชุมชนขึ้นมา

ใช่ อย่างเขาส่งผลไม้ให้ผม ผมเห็นผลไม้ไม่ดี ก็ไปบอกเขา เขาก็บอกว่า วันนี้ไม่ค่อยดีเลย เขาก็รู้ ผมก็บอกว่า ถ้าพี่รู้ พี่ก็ต้องช่วยผมนิดหนึ่ง เลยทำประกวดราคา (bidding) ระหว่างร้าน เราก็เริ่มมีกระบวนการทางธุรกิจจริงๆ เขาก็จะถีบตัวขึ้นมา หรือว่าตั้งแต่ตอนเริ่มเลย พวกก่อสร้างหรือของตกแต่ง ก็มีฝาบาตร

หรือว่าแท็กซี่ ก็มีกลุ่มที่ขับแท็กซี่อยู่แล้ว ตอนนี้เรามีอยู่ 5 คัน ก็จะโทรเรียกได้ เป็นคนในละแวกนี้ หรือ Cooking Class ทำข้าวต้มเป็ด ของคนในชุมชน ครัวเราไม่ต้องทำแล้ว เพราะเขาขายอยู่แล้ว ทุกวันเสาร์ก็ให้มีคอร์สสอนทำอาหาร เขาก็ยินดี มีพี่คนหนึ่งไปเรียนออสเตรเลียพูดภาษาอังกฤษได้ เราแล้วก็ส่งลูกค้าไปเรียน

ไทยพับลิก้า: ก็จะมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนไปเรื่อยๆ

พิพิธภัณฑ์ฒีชีวิต

ป้อมมหากาฬ2

ใช่ ก็จะเสริมกันทั้งซอย ช่วยเหลือกันไป แล้วที่โฮสเทลเราไม่ทำอาหารเหมือนที่ชุมชนทำ เราไม่ขายผัดกะเพรา เราก็จะขายอาหารฝรั่งไปเลย หรือว่ากาแฟ เราก็จะขายกาแฟแบบเอสเพรสโซไปเลย เราไม่สู้กับคนในชุมชน ที่ขายกาแฟโบราณ โอเลี้ยง เขาทำอร่อยอยู่แล้ว เราก็ทำอีกแบบหนึ่งไปเลย ก็จะสนับสนุนในเชิงนี้

เราก็รู้ว่าทำแค่นี้ก็ไม่ได้ช่วยเยอะนะ เราเลยคิดว่าต้องมีการพาคนไปเที่ยวด้วย Trawell เป็นอีกบริษัทที่มองเรื่องผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น เพราะโฮสเทล Once Again เรามองแค่เป็น inclusive business เราไม่ได้มองถึงขั้นว่าต้องช่วยทุกๆ คน เราอยากจะสร้างโมเดลที่คนอื่นมาใช้โมเดลเดียวกับเราได้ คือพยายามนำเสนอโมเดล inclusive เพื่อที่จะให้ทุกๆ คนมองเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปฆ่าชาวบ้านตลอด การทำธุรกิจมันช่วยคนอื่นได้

โปรเจกต์แรกของ Trawell ที่ไปช่วยป้อมมหากาฬ ก็มาจากว่าเราทำกับชุมชนเริ่มแน่นแฟ้นแล้ว ทีนี้เขามีปัญหา เราก็คิดง่ายๆ ว่าวันที่มีความสุขเรายังอยู่กับเขา วันที่เขาทุกข์เราก็ต้องช่วยเขาด้วย ก็เลยตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ช่วยเขาเต็มที่ แล้วดูว่าปัญหาคืออะไร เราไปค้นคว้าก่อน

“ผมเริ่มจากความไม่รู้จริงๆ ผมรู้ว่าชุมชนป้อมมหากาฬน่าเก็บรักษา เราไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าข่าวเรื่องชุมชนเคยรับเงิน เราไม่ได้สนใจอะไรเลย พอเราจัดกิจกรรมเสร็จ คนมาค่อนข้างเยอะ รู้สึกจะวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา อยู่ๆ กทม. ก็โทรมาเรียกผมไปคุยที่ กทม. เลย ฝ่ายโยธาฯ เขาก็เอาเอกสารมาปึกหนึ่งให้ผมว่าเขาจำเป็นต้องทำจริงๆ ตามกฎหมายต่างๆ ผมก็เลยอึ้งไปประมาณ 2 สัปดาห์ ว่าต้องทำอะไรต่อ”

ตอนนั้นมันได้ข้อมูลครบสองด้านจริงๆ เราก็เอาเอกสารมาอ่านดู แล้วก็พยายามถามเพื่อนๆ หรือรุ่นพี่ ผมไปถามที่สามชุกเคยเกิดประเด็นประมาณไหน ท่าเตียนเกิดประเด็นประมาณไหน ที่เขาไล่รื้อกัน เราก็ได้ข้อสรุปว่าจริงๆ แล้วกฎหมายเวนคืนมีหลายระดับมาก มีตั้งแต่พระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ แล้วก็เป็นคำสั่งนั่นคำสั่งนี่ ของป้อมมหากาฬเป็นพระราชกฤษฎีกา ในแง่ของชั้นกฎหมายที่ต่ำที่สุด ชาวบ้านก็ยินยอม ณ ขณะนั้น ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องยอมก็ได้

แต่ก็ต้องเข้าใจว่าปี 2535 รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดเรื่องสิทธิชุมชน ก็มาดูตัวกฎหมายที่กทม.อ้าง ปรึกษาพี่ๆ นักกฎหมาย แล้วเอาจริงๆ เราดูศักยภาพของคนในชุมชน ก็กลับมาคิดว่าเราอยากเห็นอะไรกันแน่ เลยเป็นที่มาว่า จริงๆ แล้วที่นี่ไม่เหมือนการไล่รื้อที่อื่น ป้อมมหากาฬไม่ได้บุกรุก ที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของเขา เขาอยู่กันตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว กทม. หรือว่ารัฐเองที่อยากได้ที่นี่เป็นสวนสาธารณะ ก็เลยมีกฎหมายนี้ขึ้นมา ไม่เหมือนการรื้อถอนสะพานเหล็กที่ไปบุกรุกพื้นที่

“เราเลยมองว่า หนึ่ง มันไม่ใช่บุกรุกพื้นที่ สอง เรามองว่าแล้ว กทม. จะทำอะไร ผมก็เลยไปขอเข้าพบอีกที ถามว่ากทม.จะทำอะไร เขาก็บอกว่าก็ยังไม่รู้ ยังไม่มีแผน เพราะว่าเขาต้องทำเป็นสเตป สเตปแรกคือเอาที่มาก่อน เวนคืนก่อน ผมก็เลยนำเสนอว่า กทม.ทำแผนให้ครบดีไหม เพื่อที่ว่าจะได้เห็นภาพว่าการไล่คนที่มีศักยภาพออกจากพื้นที่ มันมีสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นจริงๆ คุณจะได้ไล่อย่างสบายใจ เขาก็บอกว่าคนละส่วน เขาทำโยธาฯ เขาไม่ได้ดูกองสวน ผมก็เลยรู้สึกว่า…ไม่ใช่แล้ว เหมือนกับว่าแค่อยากจะไล่ออกไป”

…เวลาผมก็ผ่านสะพานเหล็ก ผ่านอะไรที่ๆเขารื้อ ผมก็รู้สึกว่ารื้อเสร็จแล้วไม่ทำอะไรจริงๆ ก็เลยรู้สึกว่ามารื้อที่นี่แล้วไม่ทำอะไรอีกก็ไม่ใช่ เลยมองว่าเราทำข้อเสนอที่เป็นตรงกลางแล้วกัน เราบอกว่าควรเป็นอะไรแล้วกัน เราไม่ได้บอกว่าชาวบ้านต้องไม่ออก หรือเราไม่ได้บอกว่ารัฐต้องไม่รื้อ เราบอกว่ามันต้องพัฒนา ผมไปคุยกับ กทม. แล้วว่าจะทำอะไร เขาไม่บอก ผมก็เลยมาคุยกับชาวบ้านว่าถ้าชาวบ้านอยู่ ชาวบ้านจะทำอะไร อยากได้อะไร เขาก็บอกว่ามี 5 ข้อเสนออยู่แล้วตั้งแต่ตอนนั้น ว่าจะช่วยดูแลสวน คือเป็นข้อเสนอที่แฟร์มากๆ แล้วเขาเองก็พร้อมที่จะปรับทุกอย่าง

พิพิธภัณฑ์ฒีชีวิต2

หรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (living museum) จะมีประเด็น public-private ว่าอันไหนคือสาธารณะ อันไหนคือส่วนตัว เขายอมในเรื่องส่วนตัวน้อยลงมากๆ ผมเลยมองว่าแฟร์มากๆ แล้วที่จะเป็นข้อเสนอนี้ คือ หนึ่ง การอยู่อาศัย ไม่ได้อยู่ฟรีๆ อยู่เพื่อดูแลสวน จัดเวรยาม ทำความสะอาด เป็นเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐ สอง คือต้องผูกกับความเป็นไกด์ชุมชน ต้องสามารถพาเที่ยวได้ เล่าประวัติศาสตร์ชุมชน แล้วผมมองว่าสิ่งที่เขาพูด เขาทำอยู่แล้ว

ผมก็เลยชวนเขาว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาทำได้จริงเลยไหม เราเปลี่ยนภาพลักษณ์ของที่นี่ไหม จากแต่ก่อนมีป้ายห้ามเข้า เวลาคนเข้ามาก็จะถูกถามว่าไปไหน ถ้าบอกว่าไปภูเขาทอง ก็จะชี้บอกทางให้ออกไป หรือถ้าไม่มีกิจอะไร ก็ห้ามเข้า เพราะชุมชนเขากลัวโดนว่ามาจุดเพลิงไล่รื้อ

“เราก็เสนอว่าเอาใหม่ไหม เราเปิดเป็นพื้นที่เที่ยวเลย แล้วให้คนในชุมชนเป็นไกด์ ดูแลสวน ซึ่งคนในชุมชนเขาก็ทำอยู่แล้ว เราก็พิสูจน์ให้เห็นเลยว่าเราทำได้ ก็เลยช่วยเขาคิด ก็บอกว่านี่คือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตก็แล้วกัน ก็เพิ่งไปทำไปเมื่อวันที่ 10 เดือนที่แล้ว(กรกฎาคม) แล้วก็ผลตอบรับฝั่งชาวบ้านค่อนข้างดี ชาวบ้านเริ่มลุกขึ้นมา มีคนเข้ามา 200 คนต่อสัปดาห์ ทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นปรากฏการณ์เลยนะ ทำไมคนเข้ามาเยอะขนาดนี้ เขาก็รู้ว่าที่เป็นอยู่นั้นไม่ดี(ชุมชน) สกปรก เขาก็เข้ามาช่วยกันจัดเก็บกวาดกัน ผมงงเลย ที่ที่รกร้าง ก็ปรับใหม่ เทปูน ทำอะไรๆใหม่ คือทำให้เขาลุกขึ้นมาเอง จากกระบวนการข้างนอกที่เข้ามากดดัน”

ขณะที่จากภาคประชาชนก็เข้ามามากขึ้น ตอนนี้เราก็คิดว่าเราทำได้ดีกว่านี้นะ เพราะว่าฮาร์ดแวร์มันต้องลงทุนเยอะ เราทำอะไรมากไม่ได้ เราก็ต้องยุ่งกับซอฟต์แวร์ เช่น ทำแผนที่ เล่าเรื่องราวยังไงให้น่าสนใจ ก็มีน้องคนหนึ่งมาช่วยคิดอยู่ว่าจะดึงคอนเทนต์ส่วนไหนที่น่าสนใจออกมา ที่นี่ไม่เหมือนกับชุมชนอื่นที่มีภูมิปัญญา เช่น บ้านบาตร ก็คือทำบาตรจริงๆ แต่ที่นี่โดนแช่แข็งมา 20 กว่าปี ไล่รื้อ สิ่งที่มีอยู่ก็มีแต่บ้าน กับคนเล่า ซึ่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับที่อื่น เราก็ต้องช่วยเขาคิดว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ก็เป็นสิ่งที่ทำอยู่กับป้อมมหากาฬ

ไทยพับลิก้า: จุดแข็งของชุมชนป้อมมหากาฬคืออะไร

พิพิธภัณฑ์ฒีชีวิต3

จุดแข็งของเขาคือความเป็นชุมชน และน่าจะเป็นเรื่องกายภาพ ที่ที่เป็นบ้านเก่า จะเป็นบ้านที่ก่อสร้างติดกัน คือ setting ของบ้าน เหมือนเป็นชุมชนที่ไม่มีรั้ว เพราะรั้วก็คือกำแพง คนที่อยู่ข้างในคือคนกันเองทั้งนั้น เป็นชุมชนใหญ่ๆ บ้านก็จะเป็น setting เป็นแบบติดๆ กัน ลานตากผ้าก็ไม่ต้องตากบ้านใครบ้านมัน มาตากร่วมกัน ก็จะเป็นแบบวิถีชุมชนเดิม มีต้นไม้ ที่เขาบอกว่าเป็น 4 ต้นที่ทุกๆ ชุมชนแต่ก่อนต้องมี คือ โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ก็จะเป็นต้นใหญ่ที่ประจำจุด มีพิธีสมาพ่อปู่ บูชาพ่อปู่ป้อมมหากาฬ มีวิถีชีวิตที่เป็นชุมชน

เวลาเราเดินไป ผมยังไม่เห็นชุมชนลักษณะนี้จากที่อื่น ผมเลยคิดว่าจุดเด่นของที่นี่น่าจะเป็นชุมชนบ้านไม้โบราณ ที่ยังมีคนอาศัยอยู่จริงๆ แต่ว่าในแง่ท่องเที่ยวก็อาจจะต้องคิดอะไรเพิ่ม

ไทยพับลิก้า: เห็นมีป้ายบอกว่าเป็นห้องน้ำ หรือป้ายต่างๆ ติดอยู่ด้วย

ป้ายพวกนั้นคือเราไปช่วยเขา คือทำเหมือนว่าให้เขาอยู่ปกติ ไม่อยากไปเปลี่ยนอะไรพวกเขามาก แต่ว่าอะไรที่เขายอม คนอื่นเข้าได้ เราก็จะไปติดสัญลักษณ์ไว้ ตรงไหนเป็นเรื่องเล่า บ้านไหนเคยทำอาชีพอะไรมาก่อน เช่น หลอมทอง มีบ้านทำน้ำประปาขาย สามารถบอกเล่าได้ว่าที่นี่แม้จะติดคลองก็ตาม แต่ว่าเอาน้ำประปามาขาย เพราะที่นี่ต้องมีศักดิ์ทางสังคม ว่าไม่ได้อาบน้ำคลอง เพราะที่นี่ก็ใกล้กับประปาแม้นศรี ประปาแห่งแรก ก็มีเรื่องเล่าของชุมชน

พอมีปัญหา ผมว่ามันเป็นวิกฤติที่เป็นโอกาสจริงๆ ผมมองอย่างนั้นนะ ชุมชนรวมตัวกัน เรียกประชุมเลย ผมไม่เคยเห็นการประชุมอะไรที่เรียกง่ายขนาดนั้น ประชุมชุมชนวันนี้ปุ๊บ มานั่งกันเต็มลานเลย ประธานชุมชนก็บอกว่าวันนี้คุยเรื่องอะไรบ้าง คือเอากำแพงป้อมเป็นบอร์ด แล้วก็มีฟลิปบอร์ด โห… โคตรเจ๋งเลย ผมชอบมากเลย

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต5

ป้อมมหากาฬ1

คืออย่างวันนี้ ผมไปคุยกับประธานชุมชน ว่าเราจะมีเรื่องที่เราต้องแก้อีก เช่น ความสะอาด พลุไฟที่ขายมันผิดกฎหมาย เราจะทำอย่างไรดี คุยกันในที่ประชุมใหญ่ว่า มีคนหนึ่งที่ขายอยู่ แต่เขาก็รู้ว่าผิดกฎหมาย เขาก็บอกว่าถ้าให้เขาเลิกเลย เขาเลิกไม่ได้ เขาจะไม่มีกิน เขาขอว่าขอโละสต็อก ไม่ซื้อเพิ่ม แต่ขอขายตรงนี้ให้หมด แล้วเขาจะเตรียมตัวหาอาชีพใหม่ เขาก็อยากให้ประธานช่วยยืนยันว่าเราจะได้ที่ใหม่จริงๆ ไม่อย่างนั้นเหมือนเขาหมดอาชีพ คือถ้าที่ใหม่จะทำอะไรจริงๆ เขาก็พร้อมจะพัฒนาร่วม แต่ถ้าให้เขาเลิกเลย ลูกและเมียเขาจะอยู่อย่างไร ก็เข้าใจได้

ก็แก้ปัญหา ก็จะพูดร่วมกัน หรือว่ามีกิจกรรมอะไรเพิ่มก็จะมารายงาน มาคุยกัน ก็มีแบบปลุกระดมนะ ผมชอบมาก คือผมพูดเรื่องความสะอาดบ่อยมาก แต่ว่าไม่เคยได้ผลเลย แต่การประชุม เหมือนปลุกระดม แบบว่า…. เขา(ประธานที่ประชุม)ไปคุยกับกทม.มาแล้วนะ และบอกที่ประชุมว่าผมเถียงได้หมดเลย ประวัติศาสตร์ของเรานั่น-นี่ แต่ผมเถียงไม่ได้สองข้อคือ ความสะอาดกับพลุ บ้านเราก็สกปรกจริงๆ เขาพูดแล้วผมรู้สึก..เออ เขาเจ๋ง แล้วทุกคนบอกว่าพรุ่งนี้มาทำความสะอาด บ้านใครสกปรกไม่ต้องอยู่

“ผมก็ไปรีเสิร์ชมาว่า สวนสาธารณะต้องมีกี่หน่วย อะไรบ้าง ก็มีแค่ 4 หน่วย คือหน่วยดูแลสวน หน่วยข้อมูล อะไรแบบนี้ แล้วบอกให้ทุกคนในชุมชนนี้ต้องมีหน่วยงานหนึ่ง เหมือนกับว่าเราอยู่เพื่อแลกกับการทำงานใช่ไหม ระดมสมองกัน ก็แบ่งกลุ่ม แบ่งโซน ทุกคนไปนั่งตามโซน มีฟลิปบอร์ดแจก มีคุยกัน ใครจะทำอะไร เฮ้อ.. มึงดูแลสวนได้ กูเป็นไกด์ได้ กูพูดเก่ง แบ่งๆ กัน แล้วเอามารวมกันตรงกลาง พอรวมกันเสร็จ เหมือนบางคนไม่ยอมทำ บอกไม่ว่าง นั่นนี่ พี่คนนี้ที่เป็นแกนนำก็บอกว่า ต้องทำทุกคน! อารมณ์ว่า เราไม่ได้อยู่ฟรีๆ”

ต้องบอกว่า ที่มาประชุม 30 หลังคาเรือน แต่ทั้งหมด 57 หลังคาเรือน อีก 27 คือครึ่งหนึ่งเลย ไม่ได้อยู่ต่อ ซึ่งครึ่งเดียวผมก็มองว่าเป็นข้อดี คืออยู่เฉพาะคนที่อยากอยู่และอยากทำ ซึ่งก็จะมีประโยชน์กับการเปลี่ยนที่นี่ในอนาคต

ไทยพับลิก้า: กทม.เห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอไปหรือยัง

ยังไม่โอเค คือ กทม. ตอนนี้โอเคแล้วในแง่ที่ว่าจะให้ชาวบ้านมาบริหาร เพราะเห็นประโยชน์

คือเขาคิดว่า หนึ่ง ไม่มีใครหรอกที่จะดูแลได้เท่าคนที่อยู่มาก่อน สอง ไม่มีใครดีในการเล่าเรื่องได้เท่ากับคนในชุมชนหรอก แต่เขา(กทม.)อยากให้เข้าใจเขาด้วยว่า เขาต้องเอาคนออก เพราะว่ามีกฎหมาย แล้วเขาก็ยื่นข้อเสนอว่าให้ออกไปได้ไหม เพื่อให้เขาปรับพื้นที่แล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ ทีนี้ การกลับเข้ามาใหม่ ทางชาวบ้านก็คิดว่าจะจริงหรือ จะทำได้จริงๆ หรือ หรืออยากให้ออกไปเลย ตอนนี้ก็เลยไม่ลงรอยกันด้วยเหตุนี้ครับ

คณะกรรมการสิทธิเขาก็ยื่นมือเข้ามาช่วยแล้ว เขาก็ถามว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร เราก็เล่าให้ฟัง ก็โอเค ติดที่กฎหมายใช่ไหม เดี๋ยวเขาจะไปคุยมาให้ ผมก็ไปประชุมมา ก็มีกทม. มี ป.ป.ช. สตง. นักกฎหมายก็มาด้วย ก็ให้ กทม. เล่าว่าติดอะไรบ้าง เหมือนกับว่าติดที่ ป.ป.ช. ตอนนี้ป.ป.ช. ก็โอเค สตง. โอเค ทุกคนโอเคหมด แล้วติดอะไรอีก

แต่ยังยืนยันที่จะรื้อ จากเหตุผลของกฎหมายเดิม ผมก็เลยรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นเหตุผลที่เคยอ้างก็ไม่จริงแล้ว อาจจะเป็นเรื่องอื่นแล้วที่คุณจะรื้อ อาจจะเป็นภารกิจที่ต้องทำให้บรรลุจริงๆ หรือด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ก็ไม่รู้ ตอนนี้เลยเหมือนกับเร่งสองทาง กทม. ก็เร่งรื้อ เราก็เร่ง โดยกรรมการสิทธิฯก็เดินหน้าต่อ เพื่อให้เรื่องไปถึงนายกรัฐมนตรี ประมาณนั้น ในแง่ของการขับเคลื่อนเรื่องพิพิธภัณฑ์ก็ทำต่อไป

ไทยพับลิก้า: กทม. ไม่มีคำตอบให้ว่าจะทำอะไร อย่างไร

คือถ้ากทม.มีภาพว่าจะทำอะไรกับป้อมมหากาฬจะดีมากเลย คือผมจะเลิกเลยนะ ผมจะไม่ยุ่งเลยนะ ถ้ามาเป็นแบบว่า…ที่มันดี ว่ากทม.จะทำสิ่งนี้ คุณอย่ามาขวางได้เปล่า เออ.. ถ้าอย่างนี้ โอเค แต่นี่ไม่มีอะไรเลย แล้วผมเห็นสิ่งที่คุณรื้อทั้งหมดยิ่งน่าเศร้าใหญ่เลย อย่างสะพานเหล็ก ผมไปเห็นศักยภาพคลองแล้ว โคตรสวย หรือสะพานหัน ที่เขารื้อไป คือทางเดินสวยๆ ไปทำตรงนั้นสิ ไปทำให้ดีเลย สะพานหัน..ต่อไปอีกนิดก็เป็นปากคลองตลาดแล้ว ตอนนี้คือทำไปยาวเลย ทำทั้งเส้นให้ดีๆ เพราะถ้าทำตรงนั้นสวยนะ จะรื้อที่อื่นนะ คนก็แหยงแล้ว เพราะเมืองดีขึ้น ตรงนี้แออัด แต่นี่…ไม่ใช่

ไทยพับลิก้า: ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร

เหมือนกับว่าเราอยากตั้งคำถามกับรัฐมากกว่าว่าคุณจะทำอะไร เวลาจะรื้ออะไรควรมีมาสเตอร์แพลน จริงๆ ไม่ได้ขัดขวางกับความเจริญของประเทศ ผมไม่ใช่นักอนุรักษ์อะไรอยู่แล้ว แต่พอมาทำงานกับนักอนุรักษ์ ก็พอจะเข้าใจทำไมเขาถึงอนุรักษ์ เพราะว่าฝ่าย modernized เป็นแบบนี้ คือถ้าฝ่ายโมเดิร์นเราดีเท่ายุโรปก็ว่าไปอย่าง

ไทยพับลิก้า : พอมาทำเรื่องขับเคลื่อน มันยากใช่ไหม

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต7

คือพออย่างนี้ก็เลยทำให้เราเริ่มสนใจเรื่อง urban movement ที่เป็นภาคประชาชนมากขึ้น อย่างเคสอาจารย์วราพร สุรวดี ที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ก็เป็นเคสที่น่าสนใจ เป็น urban movement ที่ไม่ต้องพึ่งรัฐจริงๆ ผมว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นอันหนึ่งเลย คือไม่ต้องไปทำกลไก ยุ่งอะไรกับรัฐ แต่ว่าใช้กลไกภาคประชาสังคม บอกว่า 100 บาท จาก 100,000 คน 10 ล้านแล้ว เรามา make it happen เป็นอะไร คือผมไปดูโมเดลนี้ มันมี national trust ที่อังกฤษ เวลาเห็นตึกเก่า ถ้าเป็นประเทศเรา เดี๋ยวธุรกิจใหญ่ๆในบ้านเรามาซื้อไปแล้ว แต่ national Trust คือการไปซื้อที่นี่เพื่อที่จะทำอะไรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็อาจจะเป็น urban movement ใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมก็ได้ ประชาชนมีเสียง เราพึ่งรัฐไม่ได้แล้ว รัฐธรรมนูญก็ไม่ให้เสียงเราเข้าไปอยู่ในนั้นเลย หรือนักการเมืองก็ทำอะไรกันเอง

เพราะฉะนั้น ต้องมี urban movement ที่วัดเสียงคนได้จริงๆ ผมก็มองว่าวิธีแบบ trust นั้นวัดเสียงคนได้ เหมือน crowd funding วัดเสียงคนได้ อย่าง change.org จริงๆ ก็วัดเสียงได้ประมาณหนึ่ง แต่เราว่าในโลกออนไลน์… ผมเห็นการรณรงค์อะไรก็ตาม ในเฟซบุ๊ก หรืออะไรก็ตาม อย่างมากมีแค่ 200,000 คน ไม่เคยเกินกว่านั้นเลย แล้วเรากำลังสื่อสารกับคนที่เหลืออีกเท่าไหร่กว่า 60 ล้านคนที่เหลือ มันไม่มีทางที่แคมเปญในเฟซบุ๊กจะเป็นไปได้ ผมเลยมองว่า trust คืออนาคต

หรือการรณรงค์อะไร ผมว่ามันไม่เคยมีเยอะกว่านี้ ยกเว้นอย่างแม่วงก์คือมาจากเรื่องที่อยู่ข้างนอก ถ้าเรื่องในเมืองยังไงก็ไม่มีทาง ในมุมผม เฟซบุ๊กได้อย่างมาก 2 แสนคน ดูทุกแคมเปญรณรงค์ จริงๆ ต้องเข้าถึงคนที่อีกที่หนึ่ง ผ่านช่องทางอื่น

ที่ใช้คำว่า “มหากาฬโมเดล” ที่ใช้คำว่าโมเดลเพราะก็รู้ว่าเดี๋ยวมีภัยคุกคามจาก BTS หรือ MRT ที่จะมาขึ้นแถวนี้ ผมเองจริงๆ อย่างที่บอกว่าไม่ใช่สายอนุรักษ์อะไร แต่ไม่น่าจะเอาเรื่องนี้ไปคิดแน่เลย ดูเขาจะวัดอะไรที่มันจับต้องได้ แต่พวกวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งสัมผัสไม่ได้ (intangible) เขามองไม่เห็นหรอก เราจำเป็นต้องไปสร้างภูมิคุ้มกันอะไรบางอย่าง ผมยังมองว่าถ้าเคสป้อมมหากาฬจบ เราจะทำทั้งเกาะเลย พอมีเครือข่าย 19 ชุมชน เราวาดเลยว่าประชาชนอยากได้อย่างนี้ แล้วเราส่งมาสเตอร์แพลนออกมาว่าชุมชนบางลำพูอยากเห็นคลองของเขาเป็นเหมือน คลอง Nyhavn ที่เดนมาร์กมีภาพแบบนี้ ผมเลยคิดว่าเราจะมหากาฬโมเดล ก็เป็นแค่โมเดล ไม่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราสามารถถอดบทเรียนนี้ไปสวมในชุมชนอีก 19 ชุมชนได้ ว่าคุณต้องมีส่วนร่วมนะ ต้องพัฒนาจากชุมชนก่อน รวมตัวกัน แล้วสร้างมันขึ้นมา เสียสละอะไรหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนจน อาจแก้ได้โดยที่สังคมมาช่วยขับเคลื่อนให้ชุมชนแข็งแรง

จริงๆ มีหลายเครือข่ายที่ทำเรื่องเหล่านี้อยู่ อย่างกรณีป้อมมหากาฬ ผมก็ชักชวนคนที่รู้จักมาช่วย เราอยากให้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในป้อมมหากาฬ แบ่งกันเลย ทีมนี้เอาไปสัปดาห์นี้ ทีมนี้สัปดาห์นี้ ก็เกิดการร่วมไม้ร่วมมือ การท่องเที่ยวเป็นแค่กระบวนการ เป้าหมายสุดท้ายมันคือการพัฒนาชุมชน ผมว่าเป็น urban movement อย่างที่ผมเห็น การท่องเที่ยวเป็นแค่แกนเดียว พอเปิดพิพิธภัณฑ์ มันเห็นจริงๆว่าชาวบ้านออกมาทำความสะอาดบ้านตัวเอง เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พาคุณป้าประมาณ 30 คน มาอบรมวิธีการเล่าเรื่อง เพื่อเป็นไกด์ ผมว่าการท่องเที่ยวสามารถสร้างอิมแพคประมาณนี้

ถ้าให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ไอเดียผมคือ ผมยังไม่อยากสเกลมาก เราอยากจะลงลึกให้ได้ แล้วผมคิดว่าต้องใช้เวลา ผมไม่รู้ใช้เวลาทั้งชีวิตหรือเปล่า ยังไม่รู้เลย เราเห็นแล้วงานเยอะมาก ผมเห็นว่ายังไม่มีใครทำ เราอยากให้ตรงนี้เกิด อย่างที่บอกว่าป้อมมหากาฬเสร็จ เราก็จะดู 19 ชุมชน ทำให้เกิด แล้วการท่องเที่ยวแบบนี้มีเสน่ห์อยู่แล้ว แต่ว่าเราอยากจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาที่เป็นใช้ชุมชนเป็นฐาน community-based คิดถึงขั้นว่าตอนนี้ปัญหาหลักๆที่เกิดกับนักท่องเที่ยว คือการเดินทางลำบาก คือตุ๊กตุ๊ก 100 บาทตลอด ไปวัดพระแก้วก็ร้อยหนึ่ง กลับจากวัดพระแก้วไปข้าวสารอีก 200 บาท บ้าไปแล้ว ก็เลยคิดว่าจะทำรถแบบ hop-on hop-off ในนี้ วิ่ง แต่ว่าต้องใช้คอนเนคชั่นจาก One Young World

คือ One Young World กทม.ให้เงินทุนผมมา ก็ใช้ทุนจาก กทม. มาสู้กับ กทม. นี่แหละ (หัวเราะ) คือผมมองว่าถ้าเป็นที่เที่ยวแล้ว คือตอนนี้เราทำคล้ายๆ ทริปแล้ว ประกาศขายทริป ฝรั่งสมัคร แล้วเราพาไป ถ้าเรามีรถนี้ มันเหมือนกับเราไปลงลึกให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้ามองง่ายๆ ก็เหมือนให้เป็นท่ามหาราช แล้วรถนี้ไปผ่านเพื่อจะส่งนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจ นั่นคือเป้าหมายที่น่าจะเป็นลักษณะนั้น

ไทยพับลิก้า : กทม.ก็มีรถรางอยู่

ใช่ ก็มีอยู่ ถ้าเขาทำก็อยากจะบอกเขาให้เปลี่ยนเส้นทางให้แวะชุมชน

ไทยพับลิก้า: ได้ประสบการณ์อะไรบ้าง จากการทำงานแบบนี้

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

จริงๆเป็นเรื่องตัวเองเยอะ ตอนแรกผมก็ทำงานบริษัท ผมจบวิศวะ ผมทำโรงงาน ก็เป็นแนวอยากรวย หรูหรา แนวอยากขับรถสปอร์ต พอเสาร์อาทิตย์ก็อยากไปเที่ยว ตอนนั้นน้ำท่วมพอดีปี 2554 ก็ตั้งกลุ่มชื่อ ปลาจะเพียร ด้วยความที่ทีมของปลาจะเพียรไม่มีทีมบริหารอะไรเลย ตั้งเสร็จก็จบ แล้วทำอะไรต่อดีวะ.. ก็ได้ไปทำอะไรเยอะ มีที่นั่นน่าทำก็ไปทำ ก็เลยทำให้เรา explore เยอะ แล้วมันก็เปลี่ยนโลกผมไปเยอะพอสมควร ตอนแรกไปด้วยธงว่า กูแม่งเก่งมาก กูต้องช่วยเขาได้แน่นอน พอไปถึงทำอะไรไม่เป็นเลย ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ เหมือนเป็นแค่คนละด้านกัน เหมือนเราอาจจะเก่งเรื่องสื่อสาร เขาเก่งงานของเขาอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขาเลย เขาโคตรเก่งอยู่แล้ว เช่น ปลูกข้าว ผมดูว่ามันเวลาปักดำนา ผมดูว่าต้องห่างกี่เซ็น ปักดำนา แต่ลุงเดินมาบอกว่า หนึ่งฝ่าตีน ผมก็โอ้…แล้วเป๊ะเลย สุดท้ายเลยรู้ว่าเราไม่ได้เก่งอะไรเลย

คือผมก็รู้สึกว่า เหมือนความต้องการทางพวกนั้นน้อยลงไปเอง มันเปลี่ยนชีวิตประมาณหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราลึกซึ้งกับทุกอย่างมากขึ้น เราไม่ได้คิดแค่ว่าเราจะรวย แต่เราคิดว่าเราอยากใช้ชีวิตอย่างไร คือมันก้าวข้ามไป แล้วเราก็พยายามจะใช้ชีวิตแบบนั้น

มันเหมือนเวลามาทำกับชุมชน เราก็จะเห็นว่า คือส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่ อย่างน้อยๆ ก็ห้าสิบขึ้นไป เราก็จะรู็สึกว่าแล้วชีวิตป้าเขาเป็นอย่างไร เหมือนเราได้เรียนรู้กับคนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ เราก็รู้สึกว่าจริงๆ มันไม่ได้มีอะไร เขาก็สบายๆ ชีวิตเขาสบายกว่าเราด้วยซ้ำ เรามาทำอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด ก็เลยรู้สึกว่าบทเรียนสำคัญ เหมือนกับทำให้การใช้ชีวิตของเรา… คือผมเลิกขับรถเลย ผมมาขี่จักรยาน ไปไหนก็ขี่จักรยาน โลกผมกลายเป็นสโลว์ไลฟ์จริงๆ ไปเลย มันไม่รู้ฮิปสเตอร์หรืออะไรนะ มองว่าชีวิตก็แค่นี้ พื้นฐานจริงๆ แล้วทุกอย่าง เรามองที่ความหมายของการทำอะไรบางอย่างมากกว่า การที่เราจะได้นั่นได้นี่ แล้วทุกอย่างมันได้เอง เรื่องเงินผมก็ไม่ได้ติดขัดอะไร คือธุรกิจอะไรก็โอเค ผมมีธุรกิจอาหารอีก ธุรกิจที่นี่(โฮสเทล)ก็โอเค

แล้วพอสนุกกับสิ่งที่ทำ ผมลืมไปแล้วว่าผมไปฮอลิเดย์เมื่อไหร่ เหมือนกับทุกวันได้ฮอลิเดย์ตลอด คือตื่นมา เรารู้ว่าเราจะทำอะไร เราจะทำไอ้นี่ให้เกิด พรุ่งนี้ชุมชนหนึ่ง วันนี้ไปคุยเรื่องนี้ มันมีความหมายของการไปทำนั่นทำนี่

พอมีคนบ่นเรื่องงาน เรารู้สึกว่าเราไม่ได้บ่นเรื่องนั้นแล้ว หรือเราผิดอะไรหรือเปล่า เพื่อนบางคนบ่นว่าอยากไปพักไกลๆ แต่ผมไม่รู้สึกว่าต้องพัก คือผมเพิ่งไปเดนมาร์กมา ผมก็ยังไปทำงานเรื่องเมือง ส่งเมลไปสัมภาษณ์ ไปดูบริษัทที่ทำเรื่อง urban planning คือกลายเป็นว่าทุกอย่างเป็นคอนเทนต์ไปหมดเลย ก็ได้จากการไปทำจิตอาสา แต่พอเปลี่ยนมาเป็นงาน มันก็เป็นชีวิตของเราไปเลย

ไทยพับลิก้า: จริงๆ เป็นเรื่องเดียวกัน เราไปแยกส่วนมันเอง

มีคนบอกว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ก็ได้ ก็เหมือนกับว่าเราอยู่ได้และได้ทำ คือตอนนี้ผมทำเต็มเวลาเลย มันก็เลยเกิดนั่นเกิดนี่ได้ มีเว็บไซต์ มีกิจกรรม รันได้ แล้วผมคิดว่ากิจกรรมีที่มีคนขับเคลื่อนแบบนี้ เขาก็น่าจะคล้ายๆ กันมั้ง เขาน่าจะได้ทำอะไรเต็มเวลาเพื่อสังคม มันไมได้แยกส่วนว่ารวยก่อนแล้วค่อยมาบริจาคหรือตั้งมูลนิธิอะไรนี้ มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ก็จะชวนเพื่อนมา ใครอยากมาช่วย ถามทุกคนเลย ลาออกไหม มีน้องคนหนึ่งมาสัมภาษณ์แบบนี้เลย คุยกันไปคุยกันมา เขามาทำงานที่นี่เลย มี 2-3 คน แล้วเราพอมีความสามารถในการจ้างได้ประมาณหนึ่ง เราก็ถามมาทำไหม แต่ต้องทำให้เกิดนะ ก็เริ่มฟอร์มกันขึ้นมา

ไทยพับลิก้า: จุดคลิกของตัวเอง จุดที่ทำให้เปลี่ยนวิธีคิด

ผมก็รู้สึกว่าอย่าง Trawell ที่ทำ ผมก็ไม่รู้มันจะสำเร็จนะ แต่ผมแค่รู้ว่า เอาให้สุดๆ ไปก่อน เดี๋ยวต้องมีสักทางที่ไปได้ เหมือนกับว่าวันนี้ถ้าให้ผมเล่าวันที่ผมฝัน ผมก็จะเล่าได้เรื่อยๆ เลย ผมอยากจะสร้างให้เป็นนั่นเป็นนี่ คือความฝันมันใหญ่มาก ผมเลยรู้สึกว่าแค่ทำได้สักนิดหนึ่งของอันนั้นมันก็โอเคแล้ว สมมติเราฝันไปร้อย แล้วมันทำได้แค่ 20 แต่ 20 มันก็หาเลี้ยงทีมหาเลี้ยงคนอื่นได้แล้ว แล้วมันก็ยังมีพื้นที่ให้เราทำอะไรเพิ่มไปอีก อีกตั้ง 80 มันก็จะถีบไปเรื่อยๆ ทีมเราเล็กๆ ตอนนี้ มันอาจจะใหญ่ขึ้นก็ได้