ThaiPublica > คอลัมน์ > ความลับสุดท้ายของตุตันคามุน ประตูลับสู่สุสานเนเฟอร์ติติ

ความลับสุดท้ายของตุตันคามุน ประตูลับสู่สุสานเนเฟอร์ติติ

5 สิงหาคม 2016


ปรีดี บุญซื่อ

อียิปต์โบราณเป็นดินแดนที่สร้างแรงดลใจทำให้เกิดวิทยาการที่เรียกว่าโบราณคดี เป็นอารยธรรมแรกๆ ของมนุษยชาติที่หายสาบสูญไปพันกว่าปี แต่กลับฟื้นพลังมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ เพราะอักษรภาพอียิปต์ที่เคยเข้าใจกันผิดๆ ว่าแต่ละคำมีความหมายลึกลับศักดิ์สิทธิ์ ในที่สุดก็ถูกถอดรหัสความหมายออกมาได้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบภาษาเขียน ทุกวันนี้ การขุดหาโบราณวัตถุในอียิปต์ก็ยังคงเป็นข่าวที่สร้างความตื่นเต้นมากที่สุดกว่าการขุดพบโบราณวัตถุในดินแดนอื่นๆ ดังนั้น เมื่อมีข่าวการค้นพบร่องรอยประตูลับในสุสานตุตันคามุน (Tutankhamun) ที่อาจนำไปสู่สุสานของราชินีเนเฟอร์ติติ (Nefertiti) สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้ว ข้อมูลที่อยู่ในสุสานของนาง จะช่วยไขความลึกลับสำคัญหลายอย่างของอียิปต์โบราณ ข้อมูลพวกนี้จะมีคุณค่ามากกว่าทองคำหรืออัญมณีใดๆ ที่เก็บไว้ในสุสานของนาง

บรรดาโบราณสถานต่างๆ ในอียิปต์ที่ถือกันว่าเป็นผลงานชิ้นเอก ไม่ว่าจะเป็นมหาพีระมิด ตัวมหาสฟิงซ์แห่งกิซ่า วิหารคาร์นัก หรือสุสานต่างๆ ใน “หุบเขากษัตริย์” แทบจะอยู่ในสภาพแบบเดิมๆ ทั้งนี้เพราะสภาพอากาศที่ร้อนแห้งของอียิปต์ การปล้นโบราณสถาน อาชีพที่เก่าแก่อย่างหนึ่งของโลกไม่ได้เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ซากๆ จนกลายเป็นการทำลายล้างต่อสถานที่เหล่านี้ และที่สำคัญสุด ทรายที่ทับถมมากขึ้นตามกาลเวลา ช่วยทำหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ดีมากจนคนในปัจจุบันที่ไปเที่ยวชมโบราณสถานเหล่านี้แทบไม่ต้องใช้จินตนาการอะไรมากก็พอจะมองเห็นเลาๆ ถึงสถาปัตยกรรมต้นแบบดั้งเดิมเหล่านี้ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

ในอีก 6 ปีข้างหน้า คือ ค.ศ. 2022 จะครบ 100 ปีของการขุดพบสุสานของตุตันคามุน แต่ดูเหมือนว่าความลี้ลับต่างๆ ก็ไม่เคยหมดไปจากเรื่องราวเกี่ยวกับฟาโรห์หนุ่มองค์นี้ และกับสุสานของพระองค์ ที่ขุดซ่อนอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “หุบเขากษัตริย์” (Valley of the Kings) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ของเมืองลักซอร์ (Luxor) ในปัจจุบัน ในอดีตเมืองนี้มีชื่อว่าธีบส์ (Thebes) ชื่อที่พวกกรีซโบราณเรียกเมืองที่เคยเป็นนครหลวงทางศาสนาและจิตวิญญาณของอียิปต์โบราณในยุคราชอาณาจักรใหม่

ในปีแรกของการขุดพบ เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “คำสาปมัมมี่” เพราะเอิร์ลแห่งคาร์นาวอนเสียชีวิตกะทันหัน คาร์นาวอนเป็นขุนนางอังกฤษที่ออกเงินทุนให้นักโบราณคดีชื่อโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) ขุดหาจนพบสุสานตุตันคามุน หนังสือพิมพ์ทั่วโลกรายงานข่าวว่า การตายของคาร์นาวอนเกิดขึ้นเพราะไปลบหลู่สุสานตุตันคามุน

เมื่อฤดูร้อนปี 2015 ก็เกิดเรื่องราวลี้ลับที่โด่งดังไปทั่วโลกขึ้นมาอีก เมื่อนักอียิปต์วิทยาชื่อดัง Niclolas Reeves ได้ตีพิมพ์บทความที่เขียนว่า จากการสังเกตภาพถ่าย HD ของผนังกำแพงสุสานตุตันคามุน เห็นร่องรอยประตูลับ 2 ประตู ที่เขาเองคาดว่าจะนำไปสู่ห้องสุสานของ “สุภาพสตรีหมายเลข 1” อียิปต์โบราณ พระนามว่าราชินีเนเฟอร์ติติ

สุสานตุตันคามุน

หน้ากากทองคำของตุตันคามุน ที่มาภาพ : wikicommons
หน้ากากทองคำของตุตันคามุน ที่มาภาพ : wikicommons

ชื่อ “ตุตันคามุน” นั้น นักเขียนบางคนอ่านออกเสียงว่า “ตุตันคาเมน” (Tutankhamen) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะภาษาอียิปต์โบราณมีแต่พยัญชนะล้วนๆ ไม่มีตัวสระ การอ่านข้อความภาษาอียิปต์ จึงขึ้นอยู่กับว่า นักประวัติศาสตร์แต่ละคนจะใส่สระตัวไหนลงไประหว่างพยัญชนะ แต่ถ้าเราเรียกชื่อเทพเจ้าที่ตุตันคามุนเคารพศรัทธาว่า “อามุน” (Amun) เราก็ต้องเรียกชื่อฟาโรห์องค์นี้ว่า “ตุตันคามุน” เพราะชื่อของพระองค์มีความหมายว่า “ภาพลักษณ์ที่มีชีวิตของ(เทพ)อามุน”

ตุตันคามุนเป็นฟาโรห์องค์ที่ 12 ราชวงศ์ที่ 18 ในช่วงสมัยที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่า ราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 18 คือผู้ที่ปูทางให้อียิปต์โบราณเข้าสู่ยุคทองที่เจริญรุ่งเรือง วิลิศมาหรา และเป็นมหาอำนาจ ผู้ปกครองอียิปต์ในยุคนี้เป็นผู้นำแบบนักรบ และนักสร้างอนุสรณ์สถานที่ใหญ่โตมโหฬาร อียิปต์ในช่วงสมัยนี้

หากมองย้อนกลับไปในอดีต พีระมิดก็มีอายุเก่าแก่กว่าพันปีมาแล้ว ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อไม่นานมานี้ชื่อ Exodus: Gods and Kings เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์โบราณ ยุคราชอาณาจักรใหม่ ที่โมเสส (Moses) เป็นผู้นำพวกทาสลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของฟาโรห์รามเสสที่ 2 แห่งราชวงศ์ที่ 19 แล้วเดินทางอพยพครั้งประวัติศาสตร์หนีออกจากอียิปต์

แต่ตุตันคามุนไม่ใช่ฟาโรห์ที่มีบทบาทสำคัญใดๆ ขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 8 ปี และสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 17 ปี ที่มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลกเพราะในปี 1922 คาร์เตอร์ขุดพบสุสานของพระองค์ที่ซ่อนอยู่ในหุบเขากษัตริย์ แต่สุสานตุตันคามุนแตกต่างจากสุสานฟาโรห์องค์อื่นๆ คืออยู่ในสภาพแทบจะเหมือนเดิมกับในอดีตเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว เพราะสามารถรอดพ้นจากน้ำมือพวกโจรปล้นสุสานมาได้อย่างยาวนาน แต่คาร์เตอร์ก็พบหลักฐานว่า ในช่วงแรกๆ พวกโจรปล้นสุสานเคยบุกเข้าไป 2 ครั้ง แต่ไม่ได้เข้าไปในห้องฝังพระศพ คงจะถูกเจ้าหน้าที่ดูแลสุสานหลวงจับได้เสียก่อน เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงร่องรอยการปิดผนึกทางเข้าสุสานใหม่ที่ไม่สนิทเหมือนของเดิม

สุสานตุตันคามุนขุดซ่อนอยู่ในหน้าผาบริเวณหุบเขากษัตริย์ พื้นที่แห่งนี้เดิมเป็นทางน้ำไหลแต่ว่าเหือดแห้งหมดแล้ว ปัจจุบันขุดพบสุสานแล้วทั้งหมด 65 สุสาน นักอียิปต์วิทยาใช้ตัวย่อเรียกสุสานต่างๆ ว่า KV (Kings’ Valley) สุสานตุตันคามุนมีตัวย่อว่า KV-62 สุสานประกอบด้วยห้องขนาดเล็ก 4 ห้อง ทางเข้าสุสานเจาะเป็นบันไดลาดลงไป 16 ขั้น จากนั้นเป็นเฉลียงทางเดินไปสู่ห้องที่คาร์เตอร์เรียกว่าแอนตี้แชมเบอร์ (Antechamber) มีเตียงนอนและรถม้าศึกที่ถอดออกตั้งวางอยู่ ทางตะวันตกของห้องนี้เป็นห้องเล็กเรียกว่าแอนเน็กซ์ (Annex) มีของวางกระจัดกระจาย เช่น โถเหล้าองุ่น และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ทางเหนือของห้องแอนตี้แชมเบอร์คือห้องฝังพระศพ (Burial Chamber) ทางเข้าถูกปิด ในห้องฝังพระศพเท่านั้นที่มีการตกแต่งด้วยภาพวาดตามผนังกำแพงเป็นภาพงานพิธีศพ ภาพวาดเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่นิโคลัส รีฟส์ (Nicholas Reeves) จะใช้พิสูจน์ว่ามีสุสานของเนเฟอร์ติติที่ซ่อนอยู่ถัดไปอีกไม่กี่ก้าว ทางเหนือของห้องฝังพระศพคือห้องสุดท้าย เรียกว่าห้องพระคลังสมบัติ (Treasury) ทางเข้ามีรูปสลักอะนูบิส เทพเจ้าหมาไน เฝ้าอยู่

ทุกวันนี้ คนที่ไปเที่ยวอียิปต์ และเลยไปเมืองลักซอร์ โปรแกรมทัวร์ภาคบังคับคือต้องเข้าไปดูสุสานตุตันคามุน แบบเดียวกับคนที่ไปเที่ยวนิวยอร์กต้องไปดูอนุสาวรีย์เทพีสันติภาพ แม้ทรัพย์สมบัติในสุสานส่วนใหญ่ รวมทั้งหน้ากากทองคำที่โด่งดัง ใช้คลุมหน้ามัมมี่ตุตันคามุน จะถูกย้ายไปตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์ไคโร แต่ในสุสานก็ยังมีโลงศพชั้นใน และมัมมี่ตุตันคามุนตั้งแสดงอยู่

นักอียิปต์วิทยาตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า สุสานตุตันคามุนมีอะไรที่แปลกๆ ผิดปกติ เช่น สุสานมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับของฟาโรห์องค์อื่นๆ ตัวสุสานตั้งอยู่ทางด้านขวาของเฉลียงทางเดินที่จะเข้าไป ลักษณะแบบนี้เป็นสถาปัตยกรรมสุสานของราชินีอียิปต์มากกว่าของฟาโรห์ ทรัพย์สมบัติในสุสานก็จัดวางเรียงกันอย่างลวกๆ สมบัติในสุสานส่วนใหญ่เป็นของมือ 2 เช่น ในห้องสมบัติมีเหล้าองุ่นทั้งหมด 26 โถ อียิปต์โบราณจะระบุตัวเลขการผลิตไวน์ตามปีการครองราชย์ของฟาโรห์ มีเหล้าองุ่นโถหนึ่งเขียนตัวเลขว่า ปีที่ 31 แต่ตุตันคามุนครองราชย์ไม่ถึง 10 ปี คำอธิบายมีได้หลายอย่าง คือ เป็นเหล้าไวน์เก่าของฟาโรห์องค์ก่อนหน้านี้ หรือไม่ก็เป็นโถเหล้าไวน์เก่าที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือ “รีไซเคิล” แต่คงจะลืมลบตัวเลขเดิมออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เหล้าไวน์เหล่านี้ในสุสานทำให้คนในปัจจุบันรู้สึกว่า ตุตันคามุนเป็นคนมีรสนิยม “ร่วมสมัย” กับคนในศตวรรษที่ 21

เนเฟอร์ติติ “ผู้มีความงามมาปรากฏ”

รูปหินปูนสลักของเนเฟอร์ติติ ที่มาภาพ :  wikicommons
รูปหินปูนสลักของเนเฟอร์ติติ ที่มาภาพ : wikicommons

ทุกวันนี้ คนทั่วไปได้ยินเรื่องราวของราชินีเนเฟอร์ติติจากภาพถ่ายรูปหินสลักครึ่งตัวของนาง ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน รูปสลักนี้ถือเป็นผลงานศิลปะที่งดงามชิ้นหนึ่งของอียิปต์โบราณ คณะสำรวจโบราณคดีของเยอรมันขุดพบรูปสลักนี้ในปี 1912 ในบริเวณที่ครั้งหนึ่งเป็นราชธานีใหม่ ปัจจุบันเรียกว่าอามาร์นา (Amarna) เมื่อนำมาตั้งแสดงให้คนทั่วไปได้เข้าชมครั้งแรกในปี 1924 รูปสลักชิ้นนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ความงามของสตรีทันที เพราะสัดส่วนต่างๆ บนใบหน้าจัดวางอย่างมีดุลยภาพ ไม่ว่าจะเป็นคาง ปาก จมูก หรือสัญลักษณ์งูเห่าที่มงกุฎ

อียิปต์โบราณช่วงปลายราชวงศ์ที่ 18 ก่อนจะเข้าสู่ราชวงศ์ที่ 19 ที่เป็นต้นกำเนิดราชวงศ์รามเสสที่โด่งดังนั้น เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวตื่นเต้นมากสุด มีหนังสือที่เขียนเรื่องราวในช่วงนี้ออกมามากพอๆ กับหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพีระมิด คำว่า “เนเฟอร์ติติ” มีความหมายว่า “ผู้มีความงามมาปรากฏ” เนเฟอร์ติติคือราชินีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของอียิปต์โบราณ รูปสลักตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จะเห็นภาพของนางที่ยืนสง่างามเคียงข้างสามี คือฟาโรห์ “อเคนาเตน” (Akhenaten) ที่นักอียิปต์วิทยาเรียกว่า “ฟาโรห์คิดนอกกรอบ” เพราะทำการปฏิวัติทางศาสนา เปลี่ยนอียิปต์จากดินแดน 1 พันเทพเจ้า ให้มานับถือรังสีสุริยะของเทพเจ้าองค์เดียวชื่อว่าอาเตน (Aten) ย้ายเมืองหลวงจากนครธีบส์มาที่อามาร์นา ตั้งอยู่ตอนกลางของอียิปต์ เพื่อให้ไกลพ้นจากเทพเจ้าอามุน เทพเจ้าแห่งชาติ และพวกนักบวชที่ทรงอิทธิพล แต่แล้วในปีที่ 13 แห่งการครองราชย์ของอเคนาเตน เนเฟอร์ติติก็หายสาบสูญไปจากราชสกุล ราวกับว่าไม่เคยมีสตรีผู้สูงศักดิ์คนนี้มาก่อน ไม่มีบันทึกใดเกี่ยวกับการตายของนาง จุดจบของนางยังเป็นปริศนาลี้ลับมากสุดเรื่องหนึ่งของอียิปต์โบราณ และมัมมี่ร่างของนางยังไม่เคยถูกค้นพบ

เนเฟอร์ติติเป็นใครมาจากไหนไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ที่แน่ๆ คือนางไม่ได้เป็นสตรีที่มาจากราชสกุลของอียิปต์ นักอียิปต์วิทยาบางคนคิดว่า คำว่า “ผู้มีความงามมาปรากฏ” แสดงว่า นางอาจเป็นธิดาที่มาจากอาณาจักรมิตานนี (Mitanni) ที่ในเวลานั้น กำลังช่วงชิงอำนาจกับอียิปต์ ในดินแดนที่ปัจจุบันคือซีเรียและอิรัก แต่นักอียิปต์วิทยาส่วนใหญ่เห็นว่า นางเป็นธิดาของอาย (Ay) มหาเสนาบดีของอเคนาเตน นางมีบุตรกับอเคนาเตนเป็นธิดาทั้งหมด 6 คน ธิดาคนที่ 3 ชื่อ อันเคเซนามุน (Ankhesenamun) สมรสกับตุตันคามุน

ส่วนตุตันคามุนเป็นโอรสของอเคนาเตนกับมเหสีรอง คือ คิยา (Kiya) ช่วงปลายสมัยของอเคนาเตน เนเฟอร์ติติอาจขึ้นมาเป็นผู้ปกครองร่วม เมื่ออเคนาเตนสิ้นพระชนม์ นางก็ขึ้นเป็นฟาโรห์ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยมีพระนามว่า “เนเฟอร์เนเฟอรูอาเตน” (Neferneferuaten) ก่อนที่ตุตันคามุนจะขึ้นเป็นฟาโรห์องค์ต่อไป

ในช่วงรัชสมัยปีที่ 5 อเคนาเตนได้ย้ายเมืองหลวงจากธีบส์มาที่อามาร์นา เมื่อเนเฟอร์ติติสิ้นพระชนม์ลง ร่างของนางคงถูกฝังในสุสานของนครใหม่แห่งนี้ แต่เมื่อตุตันคามุนขึ้นครองราชย์ ก็ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่ธีบส์ มัมมี่ของเนเฟอร์ติติคงจะถูกย้ายมาฝังในหุบเขากษัตริย์ ทางตะวันตกของธีบส์ เพราะนครอามาร์นากลายเป็นเมืองร้าง จึงเป็นไปได้มากที่สุสานของตุตันคามุนนั้นเดิมจะเป็นสุสานของเนเฟอร์ติติมาก่อน ในสมัยราชวงศ์ที่ 19 จึงจะมีการแยกสร้างสุสานของราชินีออกไปอยู่ยังบริเวณที่เรียกว่า “หุบเขาราชินี” (Valley of the Queens)

นิโคลัส รีฟส์ เจ้าของแนวคิด “สุสานร่วม”

ห้องฝังพระศพจำลอง สร้างจากภาพถ่าย HD โดย Factum Arte
ห้องฝังพระศพจำลอง สร้างจากภาพถ่าย HD โดย Factum Arte

ในปี 2014 บริษัทสเปนชื่อ Factum Arte ที่เชี่ยวชาญการสร้างห้องจำลองจากภาพถ่ายคมชัดสูง ได้สแกนถ่ายภาพผนังกำแพงสุสานตุตันคามุนในขนาดเท่าของจริง เพื่อนำมาสร้างสุสานจำลองของตุตันคามุน ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับสุสานจริง ต่อมาได้นำภาพห้องสุสานจำลองนี้ขึ้นไปอยู่ในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดูได้โดยไม่ต้องเดินทางไปดูสุสานจริงของตุตันคามุน นิโคลัส รีฟส์ นักอียิปต์วิทยาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ใช้เวลาหลายเดือนดูภาพสแกนนี้บนจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาเห็นร่องรอยของประตู 2 บานที่ซ่อนอยู่ในผนังกำแพงห้องฝังพระศพของตุตันคามุน ประตู 2 บานนี้ถูกปกปิดด้วยการฉาบปูนปลาสเตอร์

รีฟส์เชื่อว่าประตูลับนี้คือทางเข้าไปยังห้องฝังพระศพของเนเฟอร์ติติ เหตุผลที่เขาอธิบายก็คือ ทั้งเนเฟอร์ติติและตุตันคามุนอยู่ในราชสกุลเดียวกัน คือราชวงศ์ที่ 18 ของยุคราชอาณาจักรใหม่ หลังจากฟาโรห์อเคนาเตนสิ้นพระชนม์ลง มีฟาโรห์องค์ต่อมาใช้พระนามว่าเนเฟอร์เนเฟอรูอาเตนและสเมนคารา (Smenkhkara) ซึ่งรีฟส์เชื่อว่าเป็นคนเดียวกัน คือเนเฟอร์ติติ เมื่อเนเฟอร์ติติสิ้นพระชนม์ลง ตุตันคามุนก็ขึ้นมาเป็นฟาโรห์องค์ต่อไป

Microsoft Word - ARTP_PUBLISHED_FINAL_PRELIMS3.docx

แต่ตุตันคามุนสิ้นพระชนม์หลังครองราชย์แค่ 10 ปี เนื่องจากยังไม่มีการเตรียมการสร้างสุสานไว้ในหุบเขากษัตริย์ และการเตรียมสุสานให้กับตุตันคามุนก็มีระยะเวลาแค่ 70 วัน เท่ากับระยะเวลาการทำมัมมี่ ตามที่เฮอรอโดทัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์กรีซโบราณเคยเขียนไว้ ทำให้ต้องเปลี่ยนห้อง Antechamber หรือห้องรองของสุสานเนเฟอร์ติติ ให้กลายเป็นห้องฝังพระศพของตุตันคามุน สุสานแห่งนี้ในหุบเขากษัตริย์จึงกลายเป็นสุสานร่วมของเนเฟอร์ติติกับตุตันคามุน

รีฟส์กล่าวอีกว่า ภาพวาดกำแพงสุสานในห้องฝังพระศพตุตันคามุนคือหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ภาพวาดกำแพงห้องทางทิศเหนือเป็นรูปตุตันคามุนกับอาย มหาเสนาบดี ที่ต่อมาขึ้นเป็นฟาโรห์ต่อจากตุตันคามุน ในภาพวาด อายกำลังทำพิธีเปิดปากมัมมี่ให้กับตุตันคามุน รูปภาพของอายกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ทั้งๆ ที่เป็นคนมีอายุมากแล้ว ส่วนรูปภาพของตุตันคามุนกลับมีใบหน้าคนมีอายุ ทั้งๆ ที่สิ้นพระชนม์ในช่วงวัยรุ่น รีฟส์เชื่อว่า เมื่อเนเฟอร์ติติสิ้นพระชนม์ ตุตันคามุนเป็นคนทำพิธีเปิดปากมัมมี่ให้กับเนเฟอร์ติติ จริงๆ แล้ว รูปภาพตุตันคามุนนั้น ภาพเดิมตอนแรกคือเนเฟอร์ติติ ส่วนรูปภาพของอาย จริงๆ แล้ว ภาพเดิมคือตุตันคามุน อักษรภาพระบุพระนามก็ถูกลบด้วยการทาสีใหม่ เปลี่ยนจากชื่อเนเฟอร์ติติกับตุตันคามุน เป็นตุตันคามุนกับอายแทน

หลังจากที่นิโคลัส รีฟส์ เปิดเผยการค้นพบร่องรอยในสุสานตุตันคามุน ในเดือนกันยายน 2015 นักอียิปต์วิทยาที่เป็นชาวอียิปต์และต่างชาติได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าวในสุสานตุตันคามุน หลังจากนั้น รัฐมนตรีกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ก็แถลงยืนยันว่า พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีห้องอีก 2 ห้องซ่อนอยู่ทางกำแพงทิศเหนือและตะวันตกของห้องฝังพระศพตุตันคามุน นักอียิปต์วิทยาชาวอียิปต์เองก็กล่าวว่า ปูนที่ฉาบรอบๆ นอกบริเวณที่คิดว่าเป็นประตูมีลักษณะราบเรียบ ส่วนพื้นที่คาดว่าเป็นเป็นประตูลับ กลับฉาบแบบหยาบๆ

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ก็แถลงอีกว่า จากการสแกนด้วยเรดาร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 พบว่ามีห้องลับอีก 2 ห้องซ่อนอยู่หลังกำแพงห้องฝังพระศพตุตันคามุน และพบว่ามีวัตถุที่เป็นทั้งโลหะและสารอินทรีย์ หากเป็นเช่นนี้จริง จะเป็นการค้นพบสุสานของราชวงศ์เป็นแห่งที่ 2 ในยุคสมัยใหม่ ที่ยังมีสภาพแบบเดิมๆ แต่แล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การสแกนด้วยเรดาร์ของคณะทำงาน National Geographic กลับไม่พบหลักฐานที่แสดงว่ามีห้องลับซ่อนอยู่ในสุสานตุตันคามุน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเรื่องนี้ ยังคงต้องใช้เวลาการพิสูจน์ด้วยเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 ต่อไปอีก

 บริเวณผนังกำแพงที่คาดว่าเป็นประตูลับ ที่มาภาพ :  Factum Arte
บริเวณผนังกำแพงที่คาดว่าเป็นประตูลับ ที่มาภาพ : Factum Arte

รีฟส์เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากการตรวจสอบจากการสแกนด้วยเรดาร์ว่ามีอะไรซ่อนอยู่หลังประตูลับหรือไม่ กระทรวงโบราณคดีอียิปต์จะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่การดำเนินการนับจากนั้นต่อไปจะเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด เพราะประตูลับที่ซ่อนอยู่ถูกปิดทับด้วยภาพวาดกำแพงสุสานที่ไม่อาจจะประเมินคุณค่าได้เลย เป็นไปได้ที่อาจเจาะเป็นรูเล็กๆ เพื่อเอากล้องไฟเบอร์ออปติกเข้าไปส่องดู หรืออีกวิธีหนึ่งที่นักอนุรักษ์ชาวญี่ปุ่นเคยทำสำเร็จมาแล้ว คือการย้ายภาพวาดผนังกำแพงโดยไม่มีความเสียหายใดๆ เลย

แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่ง เรื่องราวการค้นหาห้องลับในสุสานตุตันคามุน กลายเป็นละครการเมืองของอียิปต์ไปแล้ว นับจากเกิดเหตุการณ์ Arab Spring ในปี 2011 เป็นต้นมา กระทรวงโบราณคดีมีรัฐมนตรีมาแล้ว 5 คน แต่ข่าวการพบร่องรอยที่จะนำไปสู่การค้นพบสุสานอีกแห่งในสุสานตุตันคามุนได้สร้างความตื่นเต้นและสนใจของคนทั่วโลกไปแล้ว ต้องขอบคุณคนอียิปต์โบราณ ที่ทำให้คนในปัจจุบันยังคงตื่นเต้นกับเรื่องราวของพวกเขา แม้ว่าเนเฟอร์ติติและตุตันคามุนจะมีชีวิตอยู่เมื่อ 3 พันปีมาแล้วก็ตาม

สำหรับอียิปต์ หากสุสานลับดังกล่าวเป็นของเนเฟอร์ติติ สิ่งนี้จะมาช่วยฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ ข้อมูลในสุสานลับ ไม่ว่าจะเป็นของเนเฟอร์ติติหรือคิยา ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นมารดาของตุตันคามุน จะช่วยตอบปัญหาที่ยังลึกลับหลายอย่าง เช่น ฟาโรห์และมเหสีองค์ไหนคือบิดามารดาของตุตันคามุน ใครคือฟาโรห์ที่ครองอำนาจก่อนหน้าตุตันคามุน หลังจากอเคนาเตน ฟาโรห์องค์ต่อมาที่มีพระนามว่าเนอเฟอร์เนเฟอรูอาเตนและสเมนคาราคือฟาโรห์องค์เดียวกันหรือไม่ และใครคือเจ้าของที่แท้จริงของสุสานตุตันคามุน เป็นต้น

และปริศนาสุดท้าย ตุตันคามุนสิ้นพระชนม์อย่างไร ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ลึกลับสุดของอียิปต์โบราณ เดิมเคยมีนักอียิปต์วิทยาบางคนเชื่อว่าตุตันคามุนถูกสังหารโดยอาย มหาเสนาบดี เพราะเวลาต่อมา อายคือคนที่ขึ้นมาเป็นฟาโรห์องค์ต่อไป แต่จากการทำ CT Scan ในปี 2005 ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ตุตันคามุนเสียชีวิตจากความรุนแรงใดๆ แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อของบาดแผลกระดูกที่เท้า ที่เป็นไปได้ว่าเพราะอุบัติเหตุรถม้าศึกคว่ำ ทำให้ทราบว่าตุตันคามุนพิการที่เท้า การเดินต้องใช้ไม้เท้าช่วย พระองค์คงไม่มีโอกาสที่จะนำทัพออกรบกับศัตรูใดๆ ในสุสานของตุตันคามุนก็มีไม้เท้าอยู่หลายอัน

tutankhamun6

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นำภาพยนตร์ชื่อ Tut มินิซีรีย์ 3 ตอน ความยาว 6 ชั่วโมงออกแพร่ภาพ มีคนอเมริกัน 2.6 ล้านคนติดตามชมภาพยนตร์เรื่องนี้ Tut เป็นชื่อที่สื่อมวลชนทั่วโลกเรียกตุตันคามุน ทำให้ตุตันคามุนกลายเป็นฟาโรห์องค์เดียวที่มีชื่อเล่น ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ตุตันคามุนเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองอาภัพ ซึ่งอาจมาจากการพิการที่เท้า ในตอนท้ายของภาพยนตร์ ก่อนสิ้นพระชนม์ ตุตันคามุนพูดกับอเคเซนามุน มเหสี ว่า ตัวเองคงไม่มีโอกาสได้เป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่ได้สร้างอนุสรณ์สถานใหญ่โตใดๆ ไว้เลย ไม่ได้นำทัพออกไปพิชิตต่างแดน อเคเซนามุนกล่าวตอบว่า ชาวอียิปต์จะจดจำพระองค์ไปตลอด ในฐานะฟาโรห์ผู้มีประชาชนอยู่ในดวงใจ