ThaiPublica > คนในข่าว > “วิริยะ รามสมภพ” ประเมิน 2 ทศวรรษ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ รัฐไทยเปิดแค่ 60% แนะแก้ไขอุดจุดอ่อน ดีกว่ารื้อทั้งฉบับ

“วิริยะ รามสมภพ” ประเมิน 2 ทศวรรษ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ รัฐไทยเปิดแค่ 60% แนะแก้ไขอุดจุดอ่อน ดีกว่ารื้อทั้งฉบับ

31 สิงหาคม 2016


ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านการออกเสียงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา ในมาตรา 59 ได้กำหนดบทบัญญัติใหม่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านการออกเสียงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ในมาตรา 59 ได้กำหนดบทบัญญัติใหม่ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ฉบับที่เพิ่งผ่านการลงประชามติไป มีมาตราหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าด้วยการกำหนดให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ในการเปิดเผย “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ของภาครัฐ ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย

ความจริง ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐมากว่า 20 ปีแล้ว (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540) แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐบางอย่าง บางหน่วยงาน กลับเป็นไปได้อย่างยากลำบากยิ่ง กรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบก เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเวลาที่ผ่านมา

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้มีคนบางกลุ่มพยายามผลักดันกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐฉบับใหม่ (ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ….) ที่เชื่อว่า จะทำให้การบริหารงานของภาครัฐเกิดความโปร่งใสยิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

นายวิริยะ รามสมภพ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)
นายวิริยะ รามสมภพ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)

ในมุมมองของคนที่ทำงานผลักดันให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมานับสิบปีอย่าง “วิริยะ รามสมภพ” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) สถานการณ์การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร และร่างกฎหมายฉบับใหม่จะช่วยทำให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นได้หรือไม่

ไทยพับลิก้า: สถานการณ์การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐไทยเป็นอย่างไร และ สขร. จะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง

ตอนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายว่า อยากให้ภายในปี 2560 หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมี “ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร” ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 7 และมาตรา 9 โดยเรามีแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ เอาข้อมูลทั้งหมดขึ้นสู่เว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก

ขณะนี้ สขร. กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และเห็นว่าหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีความเข้าใจ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มากขึ้นแล้ว มีแค่บางหน่วยงานที่มีปัญหา อาจจะเป็นเพราะ “กลัวการตรวจสอบ” โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ทำให้ประชาชนต้องมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) หรืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.)

ผมกำลังให้เจ้าหน้าที่สรุปแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา อาจจะ 15-20 ปีย้อนหลัง เพื่อดูแนวคำวินิจฉัยในแต่ละเรื่อง เช่น จัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการทางวินัย การสอบข้อเท็จจริง-ละเมิด ข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ ที่ กวฉ. เคยมีแนวคำวินิจฉัยไปแล้ว เอามาสรุปสั้นๆ มาเป็น “คู่มือ” ให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน

ไทยพับลิก้า: ข้อมูลข่าวสารแบบใดที่ กวฉ. เคยวินิจฉัยไว้หมดแล้วว่าให้เปิดได้ แต่สุดท้ายหน่วยงานของรัฐก็ไม่ยอมเปิด

เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง พวกนี้ มันมีแนวคำวินิจฉัยไว้หมดแล้ว เพราะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็ใช้มาเกือบ 20 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมหน่วยงานของรัฐถึงไม่อยากเปิด เราก็เลยคิดว่าถ้าทำเป็นคู่มือ หน่วยงานของรัฐจะได้เข้าใจง่ายขึ้น และเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ส่วนใหญ่เรื่องที่ร้องเรียนหรืออุทธรณ์มักเป็นเรื่องเก่า แต่ก็วนมาอยู่นั่นแหละ ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการทางวินัย แบบแปลนโครงการการก่อสร้าง ฯลฯ หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่พอมาขอหน่วยงานของรัฐก็ไม่ให้ ทั้งที่มีแนวคำวินิจฉัยไว้พอสมควรอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: เรื่องร้องเรียนหรืออุทธรณ์ จริงๆมีเรื่อง “ใหม่” สักกี่เรื่อง

ส่วนใหญ่ซ้ำเดิมเกือบหมด เพราะมันวนแล้ว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 มันจะไม่ค่อยมีเรื่องใหม่

ไทยพับลิก้า: แล้วที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิด เพราะไม่รู้ หรือรู้อยู่แล้วแต่ไม่เปิดเอง

เขาน่าจะรู้อยู่แล้ว เพราะเรื่องเหล่านี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ชอง สขร. ไม่รู้กี่ปีแล้ว แล้วเราก็เวียนไปบรรยายตามหน่วยงานของรัฐต่างๆ แต่เขาไม่ทำเอง อาจจะเป็นเพราะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มันไม่มี “โทษ” กำหนดไว้ กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต้องเปิด แล้วอย่างหลายๆ เรื่อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง มันคือข้อมูลตามมาตรา 9 ที่ต้องเปิดให้ประชาชนตรวจสอบอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: การตั้ง “ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร” คำถามก็คือ กฎหมายมีมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่บางหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ตั้งศูนย์นี้อีกหรือ

ส่วนใหญ่เป็นพวกท้องถิ่น พวก อบต. จะยังไม่มี ท่านนายกฯ จึงมีนโยบายนี้ ส่วนใหญ่ส่วนกลางมีหมดแล้ว ยกเว้นบางกระทรวง บางกรม ที่ยังไม่มี

ไทยพับลิก้า: ความสำคัญและบทบาทของ สขร.ในการรักษาสิทธิ์ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างไรบ้าง

ในฐานะที่ สขร. เป็นฝ่ายเลขานุการของ กขร. และ กวฉ. เราก็พยายามจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9 (8) กำหนดข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐจะต้องเปิดเผยเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งในปี 2559 เราก็กำหนดเพิ่มเติมมาอีก 1 รายการ ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ความโปร่งใสของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตอนนี้ สขร. อยู่ระหว่างแจ้งเวียนไปยังหน่วยงานของรัฐต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม

นายวิริยะ รามสมภพ
นายวิริยะ รามสมภพ

ไทยพับลิก้า: มีข้อมูลข่าวสารรายการอื่นๆ ที่ กขร. จะประกาศให้ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติเพิ่มเติมขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

ใช่ เพราะเราไม่รู้ว่าต่อไปในอนาคตควรจะมีข้อมูลข่าวสารอะไรที่ควรจะเปิดเผยโดยอัตโนมัติเพิ่มเติมอีก ซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็เปิดช่องให้ใช้ ม.9 (8) กำหนดให้เปิดเผยเพิ่มเติมได้อีก

เหตุที่หน่วยงานของรัฐไทยมักไม่เปิดข้อมูล เพราะกฎหมายไม่มีโทษ และเขากลัวการตรวจสอบของภาคประชาชน เวลาไปขอข้อมูลเขาก็ไม่ยอมเปิดเผย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีมาตลอด ทำให้มีเรื่องร้องเรียนและเรื่องอุทธรณ์เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า: ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องเปิดโดยอัตโนมัติ หรือที่ กขร. กำหนดให้เปิดเผยเพิ่มเติมขึ้นมา จะมีโทษอย่างไรบ้าง

ไม่มีโทษ ถ้าจะมีโทษก็คือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 คือมีโทษทางวินัยเท่านั้น แต่ตัวของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เองไม่มีโทษ เพราะตอนที่ยกร่างกฎหมายนี้ เมื่อปี 2540 ผู้ร่างอยากจะให้ส่วนราชการให้ความร่วมมือ เลยไม่ได้กำหนดโทษเอาไว้ในตัวกฎหมาย

ไทยพับลิก้า: การไม่ได้กำหนด “บทลงโทษ” ไว้ ส่งผลอย่างไรบ้าง

หลายๆ ครั้งที่เรามีปัญหากับองค์กรอิสระ มักจะไม่ค่อยเปิด อ้างว่าเป็นเรื่องลับ เรื่องการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะมีปัญหากับเราตลอด มักจะไม่ยอมเปิด แม้จะมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่นายพิเชษฐ์ ไร่ขาว ฟ้องสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ตาม ที่ศาลชี้ว่าองค์กรอิสระก็ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ด้วย แต่ ป.ป.ช. เองก็พยายามที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลอยู่ เวลา สขร. เรียกข้อมูลอะไรไปก็จะอ้างว่าต้องใช้เวลาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่สามารถตัดสินใจให้ข้อมูลกับ สขร. ได้เอง

หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็เหมือนกัน ที่อ้างว่ามีกฎหมายของตัวเอง จึงไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลกับ สขร. ได้ นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารล่าช้า

ไทยพับลิก้า: ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบทุจริตเพื่อสร้างความโปร่งใส

แต่ กวฉ. บางชุดก็เคยเรียกตัวแทนจาก ป.ป.ช. มาพูดคุยทำความเข้าใจ หลังๆ ก็ดีขึ้น ส่วนองค์กรอิสระอื่นๆ ก็มีปัญหา เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่พอเราแนะนำไป เขาก็ปฏิบัติตาม

ไทยพับลิก้า: แล้วปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่พบ

ก็มี เพราะกฎหมายไม่มีโทษ และเขากลัวการตรวจสอบของภาคประชาชน เวลาไปขอข้อมูลเขาก็ไม่ยอมเปิดเผย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีมาตลอด ทำให้มีเรื่องร้องเรียนและเรื่องอุทธรณ์เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

แต่ สขร. ก็จะพยายาม ด้วยการสรุปแนวคำวินิจฉัยของ กวฉ. ที่อาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่อาจจะต้องใช้เวลา เพราะจากเดิมเราแค่เอาคำวินิจฉัยต่างๆ มารวบรวม แต่ไม่ค่อยได้ผล ยังมีเรื่องร้องเรียนและเรื่องอุทธรณ์เข้ามาอยู่ตลอด จนคนใน สขร. แทบไม่ได้ทำอะไร ต้องเขียนหนังสือประชุม การเดินหน้าเชิงรุกตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็เลยด้อยลงไปนิดหนึ่ง แต่ช่วงหลังๆ ก็เริ่มดีขึ้น ทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น

ไทยพับลิก้า: งานวิจัยทีดีอาร์ไอเคยระบุว่าเป็นเพราะสขร. มีสถานะเป็นแค่ “สำนักงาน” เวลาเชิญประชุม หน่วยงานต่างๆ ก็เลยส่งบุคคลระดับรองมา นอกจากนี้ ยังทำให้มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน

ผมว่าเรื่องนี้น่าจะคลาดเคลื่อน เวลาเราเรียกอะไรเขาจะมาตลอด เพราะเราอาศัยอำนาจตามกฎหมาย มีปัญหาแค่กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สมัยคุณหญิงจารุวรรณ (เมณฑกา) เป็นผู้ว่าฯ สตง. ที่ไม่ยอมมาชี้แจงกับ กวฉ. จนต้องไปดำเนินคดี แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นปัญหา เวลาเราเชิญอะไรไป ส่วนใหญ่เขาก็ส่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของเรื่องมา เพราะผู้ใหญ่มาเขาก็ไม่รู้เรื่อง

งานวิจัยของทีดีอาร์ไอหลายๆ อย่าง ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะเขาไม่ได้มานั่งดูการทำงานของ สขร. จริงๆ ก็เขียนตามความเข้าใจของเขา เพียงแต่โครงสร้างของ สขร. ที่ไม่เหมาะสม เพราะเจ้าหน้าที่ของเรามีน้อยไปหน่อย แค่ 38 คน แล้วส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานราชการ อันนี้ยอมรับ แต่การเดินหน้าของเราก็ไปได้พอสมควร เพราะประชาชนและหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีความเข้าใจ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ แล้ว มันสามารถเดินต่อไปได้ ถ้าไปกำหนดโทษเพิ่มเติม ถ้าไม่เปิดข้อมูลจะมีโทษนะ อาจจะทำให้ดีขึ้น

ไทยพับลิก้า: ตอนนี้การเปิดข้อมูลของหน่วยงานของรัฐไทยมีความโปร่งใสกี่เปอร์เซ็นต์

เท่าที่ดู คิดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 60% ส่วนกลางไม่ค่อยจะมีปัญหา ส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามามากๆ มักจะเป็นส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นมากกว่า สขร. ก็พยายามที่จะให้ความรู้กับท้องถิ่น เพื่อให้เขาจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารขึ้นมา แนวโน้มก็น่าจะดีขึ้น

ไทยพับลิก้า: แล้วถ้ากฎหมายใหม่อย่าง ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธาณะ พ.ศ. …. ออกมาจะทำให้เป็น 100% เลยได้หรือไม่

ตัวโครงสร้างตาม พ.ร.บ.ใหม่ สขร. ได้ประโยชน์ เพราะจะกลายเป็นองค์กรอิสระที่ไปขึ้นตรงต่อนายกฯ ดีกว่ามาเป็นแค่สำนักงานอยู่ใน สปน. อีกที แต่ถ้าดูในภาพรวม ผมมองว่า พ.ร.บ.เดิมไม่มีปัญหามาก และประชาชนรวมถึงหน่วยงานของรัฐเองก็มีความเข้าใจพอสมควรอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีความล่าช้าอยู่บ้าง จนทำให้คนต้องมายื่นร้องเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนก็เป็นข้อมูลตามมาตรา 7 มาตรา 9 ที่ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เพียงแต่หน่วยงานของรัฐเขาไม่ทำ ตัว พ.ร.บ.ใหม่ก็กำหนดข้อมูลที่ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติไว้ใกล้เคียงกัน มีเพิ่มจาก ม.9 เพียงบางเรื่อง ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจาก พ.ร.บ.เดิมมากนัก มันก็ต้องมีปัญหาเหมือนกันอยู่ดี

เพียงแต่ พ.ร.บ.ใหม่มีการกำหนดโทษ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ “ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต” ซึ่งส่วนตัวมองว่ามันไม่ควรจะมี เพราะการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สุดท้ายก็ต้องมาวินิจฉัยกันอีกว่า “ไม่สุจริต” คืออะไร แล้วการจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ คุณจะไปกำหนดบทลงโทษสำหรับประชาชนไว้ทำไม เขาจะใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่สุจริตก็เรื่องของเขา อย่างน้อยเขาก็ได้ข้อมูลที่เขาต้องการ ได้ไปแล้วจะทำอะไร จะไปแกล้งหน่วยงานของรัฐนั้นๆ หรือ ถ้าหน่วยงานของรัฐนั้นทำถูกต้องก็ไม่เห็นจะต้องไปกลัวอะไร นี่คือปัญหาที่ผมเห็นใน พ.ร.บ.ใหม่

นายวิริยะ รามสมภพ
นายวิริยะ รามสมภพ

เท่าที่เข้าใจ พ.ร.บ.ใหม่ก็ไม่ต่างจาก พ.ร.บ.เดิมมากนัก เพียงแต่อาจมี “คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ที่ดูเป็นอิสระมากขึ้น โดยตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งจริงๆ ตาม พ.ร.บ. เดิม กวฉ. ก็มีความเป็นอิสระอยู่แล้ว รับรองได้เลยว่า การเมืองไม่เคยเข้ามาแทรกแซง กวฉ. ได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า กวฉ. วินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแทบจะทุกเรื่อง 99.99% ด้วยซ้ำ มีอยู่เพียง 0.01% เท่านั้น ที่ไม่เปิดเผย นี่คือสิ่งที่ผมพบเจอตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ใน สขร.

อาจเคยมีปัญหาการตั้ง กวฉ. อยู่บ้าง สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่เอาคนนั้นคนนี้มาเป็น กวฉ. แต่พอเข้ามาทำงานแล้ว จะทำงานกันอย่างอิสระ ทั้งตั้งโรงงาน เหมืองแร่ ฯลฯ ที่หน่วยงานต้นสังกัดสั่งให้ปิด กวฉ. ก็สั่งให้เปิดหมด ดังนั้น ที่บางคนบอกว่า “การวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง” ในฐานะคนทำงานก็อยากจะบอกว่า ที่ผ่านมามันไม่เคยมีปัญหาอย่างนั้น ซึ่งไปดูได้จากแนวคำวินิจฉัยต่างๆ ของ กวฉ. ที่จะสั่งให้เปิดเผยทั้งหมด

ไทยพับลิก้า: ในมุมมองคุณวิริยะ การปรับโครงสร้าง สขร. ให้ไปอยู่ภายใต้นายกฯ โดยตรง รวมถึงการกำหนดให้มีข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย

มันไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่รู้ว่าบางเรื่องจะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นด้วยหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.ใหม่กำหนดให้ไปรวมถึงเอกชนด้วย โดยกำหนดในนิยาม “ข้อมูลสาธารณะ” ให้รวมถึงข้อมูลที่เอกชนซึ่งได้รับสัมปทานหรือสิทธิประโยชน์จากรัฐด้วย แล้วจะให้เขาเปิดข้อมูลอะไร ใช่ไหม แนวปฏิบัติจะให้เปิดอย่างไร เพราะถ้าเป็นสัมปทาน หน่วยงานของรัฐจะถูกบังคับโดย พ.ร.บ.เดิม มาตรา 9 อยู่แล้วให้ต้องเปิดเผย แล้วจะให้เอกชนเปิดเพิ่มเติมอีกทำไม จะไปเปิดข้อมูลความลับในการประกอบธุรกิจของเขาได้ไหม

นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาใน พ.ร.บ.ใหม่ เท่าที่ดูคร่าวๆ

ไทยพับลิก้า: พ.ร.บ.ใหม่จะพลิกโฉมการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐอย่างไร

แน่นอนว่ามันเป็นประโยชน์กับพวกผม ที่จะถูกยกระดับเป็น “กรม” ขึ้นตรงต่อนายกฯ ยิ่งได้คนทำงานเพิ่มขึ้นด้วยก็ยิ่งดี มันก็จะทำให้ทำงานได้ต่อเนื่อง

แต่ทุกครั้งที่มีการออกกฎหมายใหม่ ก็จะต้องไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนว่า พ.ร.บ.ใหม่มีความแตกต่างกับ พ.ร.บ.เก่าอย่างไร และอาจจะต้องไปทำความเข้าใจกับเอกชนที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนั้นๆ อีก มันจำเป็นต้องไปถึงเขาไหม

ไทยพับลิก้า: เหมือนกับต้องไปปรับกระบวนการใหม่ทั้งหมด

ใช่ เพราะตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่รู้แล้วว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารคืออะไร แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่…ถึงกับต้องยกเลิกกฎหมาย สามารถใช้การปรับปรุงแก้ไขบางส่วนได้ น่าจะดีกว่า

ไทยพับลิก้า: การแก้นิยาม “ข้อมูลข่าวสารราชการ” มาเป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐดีขึ้น ประชาชนจะมีสิทธิมากขึ้น หรือไม่

ก็ขนาด พ.ร.บ.เดิม หน่วยงานของรัฐยังไม่อยากจะทำเลย แล้ว พ.ร.บ.ใหม่เข้ามา กำหนดให้ต้องทำเยอะแยะมากมาย แล้วยังไปพันถึงเอกชน จะให้เขาทำอย่างไร เอกชนต้องจัดข้อมูลไว้ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบที่บริษัทเขาเหรอ มันจะไปเดือดร้อนเขาไหม

แต่สมมติถ้าอยากจะได้ข้อมูล เช่น การถือครองที่ดิน ซึ่งก็เป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ควรจะมีการกำหนดไว้ว่า เปิดเฉพาะนักการเมืองพอไหม หรือเฉพาะการถือครองที่ดินบางประเภท เช่น ยังไม่ได้เป็นเอกสารสิทธิ เป็นแค่ สค.1 อันนั้นมันน่าจะโอเคกว่า ไม่เช่นนั้นก็สุ่มเสี่ยงจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

ไทยพับลิก้า: ข้อเสนอที่ควรจะทำเพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานของรัฐมากขึ้นคืออะไร

สขร. มีโครงการในการผลักดันให้ทุกหน่วยงานของรัฐจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร และต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้มาประจำ ซึ่งอย่างที่บอกไว้แต่ต้นคือที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ขณะที่ส่วนกลางแทบจะไม่มีปัญหา เรื่องร้องเรียน เรื่องอุทธรณ์ จะเข้ามาค่อนข้างน้อย เว้นแต่บางกรณี เช่น การสอบสวนทางวินัยที่เจ้าหน้าที่ ส่วนกลางอาจจะไม่ค่อยกล้าเปิด เพราะกลัวมีความผิด ก็เลยอยากให้ กวฉ. สั่งให้เปิด

ถ้าเราสรุปแนวคำวินิจฉัยของ กวฉ. ที่ผ่านมาสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายๆ มีการอ้างอิง น่าจะทำให้ปัญหานี้มันดีขึ้นได้

ส่วน พ.ร.บ.ใหม่ ผมยังไม่เห็นภาพ แต่เท่าที่ดูเนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างจาก พ.ร.บ.เก่าเสียทีเดียว ปัญหาก็คงจะเหมือนๆ กัน เพียงแต่คุณมีโทษกำหนดไว้ เขาก็จะกระตือรือร้นมากขึ้น แต่ในช่วงแรกๆ หลังกฎหมาย ฃออกมาบังคับใช้ การจะทำความเข้าใจในแต่ละเรื่อง ที่ตัว พ.ร.บ.ใหม่เองยังมีความไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังไปพาดพิงถึงเอกชนอีก น่าจะสร้างปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา

โดยความเห็นส่วนตัว พ.ร.บ.เดิม ถ้านำไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนให้ทันสมัยขึ้น ให้ดีขึ้น น่าจะดีกว่ายกเลิกตัวเก่าไปและเอาตัวใหม่มาแทนเลย

นายวิริยะ รามสมภพ
นายวิริยะ รามสมภพ

ไทยพับลิก้า: พ.ร.บ.เดิมควรจะปรับปรุงเพิ่มเติมอะไรบ้าง

ในความเห็นของผมนะครับ ควรจะมีการกำหนดโทษไว้บ้าง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐกระตือรือร้น รวมถึงการกำหนดให้ข้อมูลบางอย่างที่แม้ไม่เข้ามาตรา 7 มาตรา 9 แต่ไม่ได้มีสาเหตุอะไรที่จะต้องไปปกปิด เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดา ก็น่าจะกำหนดให้เปิดเผยโดยอัตโนมัติได้

ไทยพับลิก้า: แล้วเรื่องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ที่ พ.ร.บ.เดิมไม่มี

ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะถ้าเจ้าหน้าที่คนนั้นมีอำนาจหน้าที่และเปิดเผยข้อมูลโดยสุจริต ก็จะได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะโยงกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดทางเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ว่าการเปิดเผยโดยสุจริต ก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว

เว้นแต่เจ้าหน้าที่บางคนกลัวว่าถ้าเปิดเผยไปแล้วจะกระทบกับคนนั้นคนนี้ก็เลยไม่กล้าเปิดเผย นี่คือการใช้ “ดุลยพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพอเป็นเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่า เปิดได้-เปิดไม่ได้ มันก็เลยเกิดปัญหาตามมา เขาถึงไม่กล้า เขาถึงตอบปฏิเสธไปก่อน ให้มาถึง กวฉ. ก่อน เพื่อให้สั่งเปิด ทีนี้ ถ้าเรามีตัวอย่างแล้วแจ้งเวียนให้เขารู้ ผมว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารน่าจะดีขึ้น

ไทยพับลิก้า: แล้วโครงสร้างที่อยู่ภายใต้ สปน. ยังดีอยู่ไหม หรือไปอยู่ใต้นายกฯ น่าจะดีกว่า

ในมุมผม ไปอยู่ใต้นายกฯ น่าจะดีกว่า เพราะเรายกฐานะเป็น “กรม” เจ้าหน้าที่ก็เจริญเติบโตพรวดเลย แต่อยู่ตรงนี้ก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซง ปล่อยให้ทำงานไปตามปกติ เพียงแต่อาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณเท่านั้นเองที่ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เลยไม่สามารถทำโครงการบางอย่างได้ หรือเวลามีโครงการมาใหม่ๆ ระหว่างปีงบประมาณ สขร. ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเงินหมดแล้ว ต้องไปขอเกลี่ยเงินจากหน่วยงานอื่นๆ มาช่วย ซึ่งถ้าเราไปขึ้นตรงต่อนายกฯ ปัญหานี้จะไม่เกิด เพราะสามารถตั้งงบประมาณได้ตามสบายเลย

แต่ในอีกด้านก็มีข้อเสีย เพราะต้องไปตั้งอัตรากำลังเพิ่มเติม เพราะต้องสร้างหน่วยใหม่ขึ้นมาทั้งหน่วยเลย อาจจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ ต้องเพิ่มงานใหม่ๆ ทั้งงานธุรกิจ งานคลัง งานเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งอยู่ตรงนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ไทยพับลิก้า: โดยสรุป ในมุมของคุณวิริยะ พ.ร.บ.เดิมดีอยู่แล้ว ถ้าจะทำให้ดีขึ้นก็แค่ปรับปรุงแก้ไข ไม่ควรจะถึงขั้นไปออก พ.ร.บ.ใหม่มาใช้ เพราะจะต้องไปเริ่มทุกอย่างใหม่หมด

ใช่ คือ พ.ร.บ.ใหม่ในมุมของผม ผมได้ประโยชน์ แต่ในความเห็นจริงๆ มัน “ไม่จำเป็น” ที่จะต้องไปยกเลิก พ.ร.บ.เดิมที่ยังพอบังคับใช้ได้ แน่นอนว่าอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ควรจะปรับปรุงแก้ไขเฉพาะตรงนั้น นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่รวมถึงประชาชนเข้าใจตัว พ.ร.บ.เดิมแล้ว ถึงมีการมาใช้สิทธิยื่นร้องเรียนหรือยื่นอุทธรณ์เยอะแยะมากมาย การที่จะไปยกเลิก พ.ร.บ.เดิมแล้วออก พ.ร.บ.ใหม่ อาจจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจ เพราะเหมือนกับต้องไป “เริ่มใหม่”

และแม้ พ.ร.บ.ใหม่จะไม่ได้ออก แต่ก็ยังสามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจทางบริหาร หรือให้ที่ประชุม กขร. ออกประกาศคำสั่งต่างๆ ออกมาแก้ไขปัญหาได้