ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” ลั่นประชามติ รธน. ไม่ผ่านก็ไม่ออกอยู่เดินหน้าโรดแมป – ครม. เห็นชอบมาตรการพี่ช่วยน้อง หนุน SMEs

“ประยุทธ์” ลั่นประชามติ รธน. ไม่ผ่านก็ไม่ออกอยู่เดินหน้าโรดแมป – ครม. เห็นชอบมาตรการพี่ช่วยน้อง หนุน SMEs

3 สิงหาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุม ครม. ครั้งสุดท้ายก่อนวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

“ประยุทธ์” ขออย่าทำผิด กม. ช่วงโค้งสุดท้ายประชามติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า โค้งสุดท้ายก่อนวันประชามติ ตนได้กำชับให้ทุกฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยให้ได้มากที่สุด ใครที่ทำผิดกฎหมายก็จะต้องถูกดำเนินคดี ถ้าระหว่างนี้ยังดำเนินคดีไม่ได้ ก็ให้เก็บพยานหลักฐานไว้ก่อน แล้วค่อยดำเนินคดีหลังจากประชามติเสร็จสิ้น ทั้งในส่วนของกฎหมายปกติ คำสั่งหัวหน้า คสช. หรือ พ.ร.บ.ประชามติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะไม่ตั้งวอร์รูมเป็นเฉพาะในวันดังกล่าว เพราะทุกคนก็ติดตามผลผ่านทางโทรทัศน์อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบจุลสารการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากมีเนื้อหาหลายอย่างอาจคลาดเคลื่อนจากร่างรัฐธรรมนูญฯ ตนยังไม่เห็นและไม่ได้อ่าน เป็นเรื่องที่ กกต. จะไปพิจารณาเอง ว่าผิดหรือถูกอย่างไร

เมื่อถามว่า มีเสียงเรียกร้องให้ยุติการจัดรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ทุกๆ วันศุกร์ ก่อนวันประชามติ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็จะยังจัดรายการเหมือนเดิม เพราะตนไม่ใช่คนที่ไม่มีเหตุผล รู้ดีว่าอะไรควร-ไม่ควร ตนรู้ว่าจะพูดในรายการไปเพื่ออะไร ยืนยันว่าจะไม่ไปชี้นำให้ลงมติอย่างไรอยู่แล้ว ต่างจากคนที่ออกมาเรียกร้องที่ออกมาชี้นำโดยไม่เกรงกลัวว่าจะทำผิดกฎหมาย

“และขอเรียกร้องว่า อย่ามาบอกว่าประชามติจะเป็นตัวชี้วัดว่าใครแพ้-ใครชนะ ไม่เกี่ยว เพราะผมไม่เคยแพ้ใคร และผมก็ไม่ต้องการเอาชนะใคร ผมรักษาอำนาจผมเพื่อบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน แค่นั้นเอง” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ระบุ รธน. ไม่ผ่านก็ไม่ออก อยู่เดินหน้าโรดแมป – ยังไม่เปิดแผนสำรอง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ว่าผลประชามติออกมาอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน ตนก็จะยังอยู่ในตำแหน่ง ไม่ลาออก จะอยู่ไปจนสิ้นสุดโรดแมปที่วางเอาไว้ คือให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 เพราะนอกจากตำแหน่งนายกฯ ยังมีตำแหน่งหัวหน้า คสช. ที่มีหน้าที่สำคัญ 2 อย่าง คือ แก้ไขปัญหาในอดีตและยุติความขัดแย้ง ดังนั้น จะอย่างไรก็ยังลาออกไม่ได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. เพื่อพิจารณาผลประชามติว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่านหรือไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้ตามโรดแมป

“ผมไม่กังวลกับผลประชามติ เพราะไม่ว่าออกมาอย่างไร ผมก็จะยังทำหน้าที่ของผมต่อไป คืออยู่เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า จะเปิดเผยได้หรือยังว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่ผ่านประชามติ ก็จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ เพื่อให้นำไปสู่การเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า มีเสียงเรียกร้องว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่อยากให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมในจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้เข้าไปร่วมจัดทำเองตั้งแต่ต้น แต่เมื่อผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจงในจังหวัดต่างๆ ประชาชนก็มีโอกาสเข้าฟังและได้รับทราบความคืบหน้า คนที่ออกมาต่อต้านคือคนไม่เคยเข้าไปฟัง ไม่เคยให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้สื่อมวลชนเอามาตั้งคำถามในเวลานี้

เมื่อถามว่า หลังประชามติจะมีการปรับ ครม. หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยังไม่มี ทำไม จะให้ปรับใครหรือ”

ยันไม่ขัดแย้งกับ “บิ๊กป้อม” – “เปรมศักดิ์” สั่งสื่อแก้ผ้า มท. สอบอยู่

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองบางส่วนพยายามขยายความขัดแย้งกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ไม่มีหรอก อยู่กันมา 30-40 ปี ตนกับ พล.อ. ประวิตร มีความผูกพันมากกว่าที่ทุกคนคิด ทหารก็เป็นกันแบบนี้ เราไม่ได้คบกันด้วยผลประโยชน์ แต่คบกันด้วยความดี ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ ไม่ว่าจะยุอย่างไร ตนก็จะไม่มีวันทะเลาะกับ พล.อ. ประวิตร เพราะตนเคารพท่านในฐานะรุ่นพี่ ส่วนท่านก็เคารพตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

“จะมีใครให้ผมเชื่อใจได้มากกว่านี้ แล้วคุณก็ไปตีท่านอยู่นั่นแหละ ทั้งๆ ที่ปฏิเสธตั้งหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีคนพูดให้เสียหาย ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ปฏิเสธสื่อมวลชน เพื่อตอบโต้กรณีที่ถูกสื่อมวลชนประจำ จ.ขอนแก่น ยื่นฟ้อง กรณีสั่งให้จับนักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแก้ผ้า หลังไม่พอใจการนำเสนอข่าวภาพ นพ.เปรมศักดิ์แต่งงานกับนักศึกษาระดับมัธยมปลาย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่สนใจ ที่ นพ.เปรมศักดิ์ยกตนเป็นไอดอลก็ขอบคุณ แต่ตนไม่เคยมีพฤติกรรมแบบเขา ไม่เคยสั่งจับใครแก้ผ้า อย่าว่าแต่ให้ถอดกางเกง ขนาดถอดเสื้อก็ยังไม่เคยสั่งให้ถอดเลย กรณี นพ.เปรมศักดิ์ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ส่วนจะเสนอมาให้ตนใช้มาตรา 44 เพื่อโยกย้ายหรือไม่ ก็คงต้องรอผลการสอบสวนของ มท. ก่อน ส่วนที่เขามีเรื่องฟ้องร้องกันก็ต้องไปว่ากันในศาล ตนคงไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้

(จากซ้ายไปขวา) ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
(จากซ้ายไปขวา) ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับวาระประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้

ครม. ออกมาตรการ “พี่ช่วยน้อง” ใช้ภาษีจูงใจบริษัทใหญ่อุ้มบริษัทเล็ก

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ SMEs รวม 2 มาตรการ ประกอบด้วย

  1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) ที่จะส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานเกิน 200 คน ดำเนินโครงการที่จะช่วยเหลือบริษัทเล็กที่มีสินทรัพย์ไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ทั้งนี้ โครงการที่จะนำมาลดภาษีได้นั้นจะต้องเป็นการช่วยถ่ายทอดความรู้, การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม, การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, การส่งเสริมการตลาด และจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs โดยมีข้อแม้ว่าบริษัทใหญ่จะต้องไม่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเข้าไปมีอำนาจควบคุมดำเนินการบริหาร SMEs ค่าใช้จ่ายในโครงการที่ช่วยสนับสนุนจะต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือสภาหอการค้าไทย
  2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท จะให้สิทธิแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายสามารถนำรายจ่ายที่จ่ายไปในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษ หรือสัมปทานโทรคมนาคม หรือระบบชลประทาน และในด้านการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ อุทยาน โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ในกำกับดูแลของราชการ เป็นโครงการที่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการ

สำหรับบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือตามมาตรการที่กำหนดจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2561 คาดว่าจะทำให้รัฐเสียรายได้จากภาษีมาตรการละ 5 พันล้านบาทต่อปี

เห็นชอบ MOC ชวนญี่ปุ่นพัฒนาระบบรางในไทย

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation: MOC) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น จำนวน 2 ฉบับ คือ 1. ร่าง MOC ความร่วมมือด้านระบบราง ที่มีสาระสำคัญคือการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ โดยจะดำเนินการพัฒนาในช่วงบางซื่อ-พิษณุโลกก่อน ซึ่งทางญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อพัฒนาการขนส่งทางรถไฟซึ่งปัจจุบันไทยมีอัตราส่วนขนส่งสินค้าทางนี้เพียง 2% ทั้งนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีอื่นๆ ใน กทม.และปริมณฑลที่กำลังจะก่อสร้างเพิ่มเติม รวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟอื่นๆ ในไทย ทั้งเส้นทางรถไฟตามแนวเศรษฐกิจด้านใต้ และเส้นทางรถไฟตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

และ 2. ร่าง MOC ความปลอดภัยทางถนน ที่มีสาระสำคัญคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี

จัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม”

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม” และสนับสนุนงบประมาณ 750 ล้านบาท โดยสถาบันดังกล่าวมีภารกิจในการให้คำปรึกษาเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทาน นับตั้งแต่นักวิจัย เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ จนถึงนักลงทุน และจะนำงานวิจัยที่มีศักยภาพมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ช่วยอำนวยความสะดวกใบอนุญาตต่างๆ รวมไปถึงการขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ช่วยพัฒนาตลาด สร้างอุปสงค์ให้กับสินค้าเกษตร นวัตกรรม โดยจะเชื่อมโยงสินค้าที่มีอยู่กับตลาดต่างประเทศ

สำหรับคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ นี้ จะประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ

“คาดว่าสถาบันนี้จะสร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตรนวัตกรรมออกสู่ตลาดจำนวน 20,000 ล้านบาท ในช่วงเวลา 5 ปี และสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรม 10 รายการ โดยจะสร้างผลิตภัณฑ์ในปีแรกให้ได้อย่างน้อย 2 รายการ” นายณัฐพรกล่าว

เร่งผลักดันผลิตรถไฟฟ้าใช้จริงในไทย ในปี 2559

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้นำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริงภายในพฤศจิกายน 2559

โดยมีการส่งเสริมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถโดยสายไฟฟ้า ดังนี้

  1. รถยนต์นั่งไฟฟ้าภายในประเทศ เช่น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ควรมีลักษณะเป็นแผนงานรวม (Package)
  2. รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เช่น กรมขนส่งทางบกเสนอร่างประกาศ เรื่อง กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และแนวทางการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างปลอดภัย
  3. รถโดยสารไฟฟ้า เช่น การนำร่องการส่งเสริม โดยนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้งานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 200 คัน

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งรัดการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า (ขณะนี้ ขสมก. อยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์) 2. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เร่งการทำมาตรฐานของรถโดยสารไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสถานีชาร์จ (Charging Station) 3. กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดมาตรการด้านภาษีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศไทย และกำหนดพิกัดศุลกากรที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 2 ราย ที่ผลิตรถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) เพื่อจำหน่ายและส่งออก ได้แก่ บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมีแผนลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศไทย

ไฟเขียว อีก 3 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตามแนวทางประชารัฐ ในมาตรการ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน เพื่อเป็นเงินทุนชำระหนี้สินรวมถึงหนี้นอกระบบ 2. มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนภายใต้นโยบายรัฐบาล โดยให้ลูกค้าของธนาคารออมสินที่ใช้บริการสินเชื่อและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระคืนที่อยากจะขอพักชำระหนี้ชั่วคราวหรือขอขยายเวลาชำระหนี้ และ 3. โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยในชุมชนเมือง

แก้ไขประมวลรัษฎากร ผลักดันยื่นภาษีออนไลน์เป็น 100%

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) เพื่อเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร 4 เรื่อง ได้แก่

  1. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีอิเล็กทรอนิกส์
  2. การหักภาษีและนำส่งภาษีทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
  3. การจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์
  4. การนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% เป็น 100% ภายในปี 2565 เพื่อปรับเป็น e-government ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ลดขั้นตอนการเสียภาษี ณ ที่จ่าย จากเดิมที่ต้องกรอกแบบฟอร์มและส่งกรมสรรพากรในทุกๆ เดือน นอกจากนี้ ยังให้อำนาจกรมสรรพากรเรียกใบเสร็จจากหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ทั้งกองทุน LTF กองทุน RMG มูลนิธิต่างๆ ฯลฯ โดยไม่ต้องให้บุคคลธรรมดามายื่นเพิ่มเติมอีก

แจงสาเหตุที่ตัวเลข FDI ครึ่งปีแรกลดลงกว่าแสนล้าน

นายกอบศักดิ์ยังกล่าวชี้แจงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในครึ่งปีแรกของปี 2559 ว่าอยู่ที่ 347 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.22 หมื่นล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 4,203 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.41 แสนล้านบาท ว่า สาเหตุที่ตัวเลข FDI ในปีนี้ลดลง เนื่องจากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ของไทย ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มบริษัทคาสิโนจากประเทศฝรั่งเศส ด้วยมูลค่า 3,450 ล้านเหรียญ หรือราว 1.16 แสนล้านบาท ทำให้กิจการนี้เป็นของคนไทย

“การขายกิจการดังกล่าว ก็เหมือนกับการที่ต่างชาติถอนทุนกลับบ้าน แต่หากนำตัวเลขนี้ไปรวมด้วย ก็จะทำให้ตัวเลข FDI ของครึ่งแรกของปี 2559 ไม่ต่างจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขจากบีโอไอที่ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาก่อนหน้าถึง 2 เท่า รวมเป็นเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1.23 แสนล้านบาท สถานการณ์การลงทุนของต่างชาติในไทยจึงยังไม่น่ากังวล และไปได้ดีอย่างที่รัฐบาลวางเอาไว้” นายกอบศักดิ์กล่าว

ชวนเกาหลีใต้ร่วมแก้ประมง IUU

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation: MOC) ด้านการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย กับกระทรวงมหาสมุทรและประมงของเกาหลีใต้ โดยมีผลนับตั้งแต่วันลงนาม และใช้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นอาจต่ออายุไปอีก 5 ปี โดยได้รับการเห็นพ้องร่วมกันจากคู่ภาคี

สร้าง “รหัสสินค้ากลาง” หนุนอีคอมเมิร์ซ

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบ “การดำเนินงานด้านมาตรฐานรหัสสินค้าและบริการ” ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีการพัฒนามาตรฐานรหัสสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลและเปรียบเทียบข้อมูลสินค้าได้อย่างสะดวก ลดความผิดพลาดที่ผู้ขายจะโฆษณาสินค้าหรือบริการเดียวกันด้วยคำอธิบายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังมีมูลค่าสูงขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบ “การดำเนินงานเพื่อยกระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการปกป้องชื่อโดเมน” ตามที่ไอซีทีเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมามีการจดชื่อโดเมนเพื่อแอบอ้างเป็นเว็บไซต์ธนาคารและขโมยเงินจากบัญชีของลูกค้าเป็นจำนวนไม่น้อย รวมถึงแอบอ้างตัวตนเป็นบุคคลอื่นและการปลอมแปลงตัวตนเพื่อนำไปใช้ในการกระทำผิดบางอย่าง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างหนึ่ง

โดยมอบหมายให้ สพธอ. เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อเสนอแนะมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับเว็บไซต์ไปใช้ในการดำเนินงาน ใน 3 มาตรการ ทั้ง

  1. ประกาศรายชื่อหน่วยงานของรัฐที่เข้าร่วมโครงการระบบตรวจจับและวิเคราะห์การโจมตีผ่านเครือข่าย ThaiCERT Government Monitoring System) เป็นระยะต่อไป
  2. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้ง Sector-based CERT ในหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ต่อไป
  3. รวบรวมรายชื่อโดเมนที่สำคัญของประเทศไทยพร้อมเตรียมแนวทางในการดำเนินการปกป้องรายชื่อดังกล่าวในกระบวนการพิจารณาของ The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN)