ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ประสงค์ พูนธเนศ” ประธานบอร์ด ทอท. ยันลงทุนอาณาจักรดิวตี้ฟรีไม่ถึง 1,000 ล้าน – “เจิมศักดิ์” โต้ ชี้ไม่เคยสั่งหยุดเชื่อม POS

“ประสงค์ พูนธเนศ” ประธานบอร์ด ทอท. ยันลงทุนอาณาจักรดิวตี้ฟรีไม่ถึง 1,000 ล้าน – “เจิมศักดิ์” โต้ ชี้ไม่เคยสั่งหยุดเชื่อม POS

15 สิงหาคม 2016


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอรายงานการประชุมบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ครั้งที่ 7/2559 ชี้แจงข้อกล่าวหาตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.),สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาทุกประเด็น โดยยืนยันว่า โครงการลงทุนร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์ของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการต่อสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 รวมทั้ง ทอท. ได้เชื่อมต่อระบบตรวจสอบยอดขาย (Point Of Sale: POS) กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2549

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. หลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง ถึงกรณี ทอท. ทำรายงานชี้แจงข้อกล่าวหาของ สปท. เสนอที่ประชุมบอร์ด ทอท. มีที่มาและข้อเท็จจริงอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่า ทอท. และกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ทั้งที่โครงการลงทุนที่สนามบินสุวรรณภูมิมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท

นายประสงค์กล่าวว่า “ผมเป็นคนสั่งให้เจ้าหน้าที่ ทอท. ที่รับผิดชอบ จัดทำรายงานชี้แจ้งข้อกล่าวหาของสปท.เสนอให้ที่ประชุมบอร์ด ทอท. รับทราบทุกประเด็น เริ่มจากประเด็นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ เจ้าหน้าที่ ทอท. ได้รายงานวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. เสนอที่ประชุมบอร์ด ยืนยันโครงการลงทุนของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 800 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่จริง ส่วนประเด็นปล่อยสินค้าปลอดอากรออกมาขายในประเทศ ขอชี้แจงว่า ทอท. ไม่มีหน้าที่ควบคุมสินค้าปลอดอากร การซื้อสินค้าปลอดอากรทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบศุลกากรและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทอท. มีหน้าที่ตรวจสอบยอดการซื้อ-ขายสินค้าปลอดอากร และทุกวันนี้ก็มีการเชื่อมต่อข้อมูลการตรวจวัดยอดขายแบบเรียลไทม์ (Real-time) ผู้ซื้อสินค้าปลอดอากรต้องมีหนังสือเดินทางออกนอกประเทศมาแสดงต่อผู้ขาย ส่วนข้อกล่าวหาว่าไม่ได้ติดตั้ง POS มานานกว่า 9 ปี ยิ่งตลก เพราะบริษัทคิงเพาเวอร์เริ่มติดตั้ง POS ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ประเด็นที่ สปท. และ สตง. ตั้งเป็นข้อสังเกต คือ บริษัทคิงเพาเวอร์ติดตั้งระบบ POS ฝ่ายเดียว แต่ ทอท. ไม่ได้ดำเนินการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบใช่หรือไม่?

นายประสงค์ตอบว่า “ไม่ใช่ คำว่า POS อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพากร ทุกเครื่องต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมสรรพากร และมีการอนุมัติตามหมายเลขเครื่อง คนที่เขียนเรื่องนี้ไม่รู้เรื่อง เขียนอย่างเดียว ไม่เข้าใจว่าเป็นเครื่องที่วางอยู่ตามร้านปลอดอากร ลูกค้าไปจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ร้าน นั่นแหละคือเครื่อง POS และตามสัญญาอนุญาตให้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่ทำกันไว้ตั้งแต่เริ่มกิจการ ไม่ได้กำหนดให้ ทอท. ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้รับอนุญาตแบบเรียลไทม์ สมัยรัฐบาลชุดที่แล้วเพิ่งจะมาบอกให้ ทอท. เชื่อมต่อข้อมูลการขายแบบเรียลไทม์ และตอนนี้ ทอท. ได้ทำการเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ทุกสนามบินแล้ว เมื่อปี 2554 ที่ประชุมรัฐสภาก็เคยถามผมว่ากรมสรรพากรอยู่ในความควบคุมหรือเปล่า ผมตอบไปว่าเครื่องนี้มีใช้มาตั้งนานแล้ว และเครื่องที่วางอยู่ในร้านเวลาจ่ายเงินซื้อสินค้าปลอดอากรก็คือเครื่อง POS เครื่องนี้แก้ไขตัวเลขไม่ได้”

ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่ามีการปล่อยสินค้าปลอดอากรออกมาขายในประเทศ นายประสงค์กล่าวว่า “ประเด็นนี้ผมขอถามหน่อย หน่วยงานไหนมีหน้าที่ดูแลช่องทางเข้า-ออกของสินค้าปลอดอากร ก็ต้องไปถามหน่วยงานนั้น ทอท. ไม่เกี่ยวข้องเลย ไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุม แต่ทุกครั้งที่มีการขายต้องบันทึกหมายเลขพาสปอร์ตและตั๋วเครื่องบิน สินค้าปลอดอากรถูกนำออกไปบริโภคนอกประเทศหรือไม่ ใครมีอำนาจจับกุม ไม่ใช่ ทอท. ภายหลังเจ้าหน้าที่รายงานต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท. ผมได้สั่งให้ทำหนังสือไปชี้แจง สปท., สตง. และ ป.ป.ช. แล้ว ซึ่งตอนนี้ สตง. กำลังตรวจสอบ ทอท. อยู่เป็นระยะๆ”

ถามว่าทำไมภาคเอกชนไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ นายประสงค์กล่าวว่า สาเหตุที่ภาคเอกชนไม่อยากเข้าสู่กระบวนการ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ เพราะกลัวคำว่าช้าอย่างเดียว กว่าจะผ่านกระบวนการของกฎหมายต้องใช้เวลานาน ขณะที่การประกอบธุรกิจรอไม่ได้ แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รับการแก้ไขให้มี Fast Track แล้ว จึงไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป ถามว่าทำไมถึงกลับมาเป็นประเด็นอีก ผมก็ไม่ทราบ แต่ก่อนที่ผมมานั่งเป็นบอร์ด ทอท. ป.ป.ช. ได้ลงมติว่าไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ แล้ว ที่ผ่านมาผมเคยนั่งเป็นกรรมการที่ ทอท. มา 1 วาระ อยู่ได้ประมาณ 2 ปี หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ยื่นใบลาออก ปัจจุบันเพิ่งได้รับการแต่งตั้งกลับมาเป็นประธานกรรมการ ทอท. อีกครั้ง

นายทวีศักดิ์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการส่วนงานปฏิบัติการ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ที่มาภาพ : www.facebook.com/
นายทวีศักดิ์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการส่วนงานปฏิบัติการ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์
ที่มาภาพ : www.facebook.com/

ล่าสุดผู้จัดการ ออนไลน์ ระบุแหล่งข่าวจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งร่วมขยายผลการตรวจหาสายสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์กับข้าราชการและกรรมการรัฐวิสาหกิจ ในเอกสารกล่าวถึงนายประสงค์ว่ามีความสนิทสนมกับนายวิชัย ศรีวัฒนประภา และยังเป็นน้องชายของนายทวีศักดิ์ พูนธเนศ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการร้านค้าท่าอากาศยานภูมิภาค กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ด้วย

ประเด็นนายประสงค์ชี้แจงว่านายทวีศักดิ์เป็นน้องชาย และเป็นพนักงานคนหนึ่งของคิงเพาเวอร์ นายทวีศักดิ์จบปริญญาตรีและโทด้านการตลาด เปลี่ยนมาหลายอาชีพ เริ่มทำงานบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และย้ายมาทำงานบริษัท ซี.พี.พลาซ่า จำกัด ซึ่งอยู่ในแวดวงของนักการตลาด นายประสงค์ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร เพราะเป็นอาชีพของนายทวีศักดิ์

ขณะที่ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตกรรมการ ทอท. ได้ให้ความเห็นต่อกรณีเจ้าหน้าที่ ทอท. ทำรายงานเสนอที่ประชุมบอร์ด ครั้งที่ 7/2559 ระบุสาเหตุที่ ทอท. ไม่ได้เชื่อมต่อระบบ POS กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์มา 9 ปี เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้หยุดการติดต่อกับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์

ดร.เจิมศักดิ์กล่าวว่า “เท่าที่จำได้ ช่วงที่ตนเป็นบอร์ด ทอท. ไม่เคยรับรู้ว่าศาลมีคำสั่งให้หยุดการเชื่อมต่อกับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ และบอร์ด ทอท. ก็ไม่เคยสั่งการให้หยุดเชื่อมต่อระบบ POS เท่าที่จำได้ ทอท. ไม่ได้เชื่อมต่อระบบ POS บอร์ด ทอท. ขณะนั้น จึงเร่งรัดให้ ทอท. ดำเนินการอยู่ตลอดเวลา เพราะอาจจะทำให้ ทอท. เกิดความเสียหาย ซึ่งในขณะนั้นบอร์ด ทอท. มอบหมายให้ตนเป็นโฆษก ทอท. ตนไม่เคยแถลงข่าวหรือได้ยินบอร์ดมีคำสั่งให้หยุดการเชื่อมต่อระบบ POS และเท่าที่จำได้ หลังจากบอร์ด ทอท. แต่งตั้งตนเป็นคณะทำงานตรวจสอบสัญญาสัมปทานของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ พบว่าโครงการลงทุนก่อสร้างร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จึงสรุปรายงานเสนอที่ประชุมบอร์ด ทอท. จนมีมติให้ยกเลิกสัญญาฯ ทางกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์จึงไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้คุ้มครองชั่วคราว ต่อมาบอร์ด ทอท. มีมติหรือคำสั่งให้นำเงินที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนตามสัญญาให้กับ ทอท. ไปฝากไว้กับศาล ไม่ให้นำเข้ามารวมเป็นรายรับของ ทอท. นายคัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นบอร์ด ทอท. ขณะนั้น เพราะอาจจะถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างว่าบอร์ดเห็นชอบกับสัญญาดังกล่าว

“เท่าที่จำได้ บอร์ด ทอท. สั่งการว่าให้นำค่าตอบแทนที่คิงเพาเวอร์ต้องจ่ายให้ ทอท. ไปฝากไว้กับศาล ไม่เคยสั่งให้หยุดเชื่อมต่อระบบ POS กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ คำสั่งดังกล่าวส่งผลทำให้กำไรของ ทอท. ปีนั้นลดต่ำลง เวลาคำนวณเงินโบนัสกรรมการและพนักงานก็ไม่ได้นำกำไรส่วนนี้มารวม เพราะไม่ถือเป็นรายรับของบริษัท” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ดร.เจิมศักดิ์กล่าวต่อว่า หลังจากเรื่อง POS กลายเป็นประเด็นขึ้นมา ด้วยความอยากทราบข้อเท็จจริง ตนได้โทรศัพท์ไปสอบถามพนักงาน ทอท. ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนาม ซึ่งบอกกับตนว่า ทอท. ได้ทำระบบที่เชื่อมต่อกับระบบ POS ของระบบไม่ได้สักที ทำให้สูญเสียเงินงบประมาณไปหลายสิบล้านบาท

ถามว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ มีความสำคัญอย่างไร ทำไมบอร์ด ทอท. ขณะนั้นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ ดร.เจิมศักดิ์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เจตนารมณ์คือต้องการปิดช่องโหว่ไม่ให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจไปทำสัญญาสัมปทานกับภาคเอกชนที่มีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ โครงการลงทุนที่มีขนาดเกิน 1,000 ล้านบาท จึงต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐหลายแห่ง เช่น กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ กรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่พิจารณา และต้องนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีออกเป็นมติก่อน จึงทำสัญญากับภาคเอกชนได้ แต่ก็มีหลายหน่วยงานทำให้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ผ่านการตรวจสอบ

“และเท่าที่จำได้ บอร์ด ทอท. ขณะนั้นมอบหมายให้ผมคำนวณมูลค่าการลงทุนตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาที่ระบุว่า การคำนวณมูลค่าเงินลงทุนไม่ใช่คำนวณเฉพาะเงินลงทุนที่ปรากฏเห็นชัด เช่น ตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ให้คำนวณส่วนที่เอื้อให้กิจการนั้นสามารถดำเนินกิจการได้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงต้องนำสินค้าคงคลังมารวมคำนวณด้วย เพื่อเป็นส่วนที่เอื้ออำนวยให้ร้านค้าปลอดอากรขายสินค้าได้ หากไม่มีสินค้าในสต็อกคงคลังจะขายได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ก็ต้องนำทางเดิน ซึ่งเป็นส่วนควบเอื้ออำนวยให้ผู้โดยสารเดินไปซื้อสินค้าทั้งในส่วนของร้านปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์มารวมด้วย โดยคำนวณหาสัดส่วนเฉพาะที่เดินมาซื้อสินค้าปลอดอากร” ดร.เจิมศักดิ์กล่าว

ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ร้านค้าปลอดอากรควรมีสินค้าคงคลังเท่าไหร่ ดร.เจิมศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่ตนจำได้ ในรายงานของ พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ได้นำสินค้าคงคลังของร้านค้าปลอดอากรในสนามบินดอนเมืองและสนามบินอื่นๆ มาคำนวณหาสัดส่วนสินค้าคงคลัง หลังจากคำนวณเสร็จก็นำสินค้าคงคลังเข้ามารวมในสูตรคำนวณ พบมูลค่าเงินทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จึงเสนอที่ประชุมบอร์ด ทอท. ขณะนั้น

หลังจาก พล.ต.อ. ประทิน สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอแล้วที่ประชุมบอร์ด ทอท. ดำเนินการอย่างไร ดร.เจิมศักดิ์ บอกว่า ตนนึกไม่ออกว่าใครส่ง ป.ป.ช. ไม่มั่นใจว่าเป็น พล.ต.อ. ประทิน หรือ เป็นบอร์ด ทอท. ขณะนั้น เพราะเรื่องนี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่จำได้ว่าส่ง ป.ป.ช. ด้วย หากสนใจประเด็นนี้ให้ไปสอบถาม พล.ต.อ. ประทิน, ดร.ต่อตระกูล ยมนาค, นายยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ และอีกคนที่ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี คือนายคัมภีร์ แก้วเจริญ แต่เสียดายท่านเสียชีวิตแล้ว