ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤติการบินปีครึ่ง “กรมการบินพลเรือน – กพท.” เปลี่ยนผู้นำ 5 ครั้ง แก้ “ธงแดง” ยังไม่คืบ – ICAO-APAC ชี้คนไม่พร้อม ข้อมูลไม่อัปเดต

วิกฤติการบินปีครึ่ง “กรมการบินพลเรือน – กพท.” เปลี่ยนผู้นำ 5 ครั้ง แก้ “ธงแดง” ยังไม่คืบ – ICAO-APAC ชี้คนไม่พร้อม ข้อมูลไม่อัปเดต

22 สิงหาคม 2016


จากข้อมูลสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ระบุว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา ใน 31.5 ล้านวินาที มีเที่ยวบินออกจากท่าอากาศยานทั่วโลกถึงจำนวน 37.6 ล้านเที่ยว เฉลี่ย 1 เที่ยวบินต่อ 1 วินาที

ท่ามกลางวิกฤติที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของไทยสอบตกมาตรฐาน ทั้งยังถูกองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปักธงแดงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ตามด้วยการประกาศผลว่าไทยตกจาก Category 1 มาอยู่ Category 2 โดยองค์กรการบินพลเรือนแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA)

แต่การบินไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่ายังคงเป็นสายการบินที่ได้มาตรฐานสากลแม้ต้องเผชิญการตรวจสอบ ณ ลานจอดอย่างหนักหน่วงกว่า 6 เท่า เมื่อลงจอดที่สนามบินปลายทางต่างๆ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (EASA) ทำให้ไทยไม่ถูกแบนจากยุโรป ยังคงสามารถทำการบินและเพิ่มเที่ยวบินได้ในประเทศต่างๆ รวมทั้งผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน (IOSA) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างทาง (IATA) และได้รับรางวัลสายการบินที่มีพัฒนาการมากที่สุดใน 12 เดือน จาก Skytrax World Awards

ข้อมูลจากการบินไทยระบุว่า การบินไทยพยายามปรับตัวด้านมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มข้น โดยปกติมาตรฐานขั้นต้นที่สายการบินทุกแห่งต้องปฏิบัติคือ มาตรฐานของ ICAO ตามด้วยกฎ-ข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศ และลำดับสุดท้ายคือมาตรการและข้อบังคับที่สายการบินกำหนดขึ้น เมื่อกฎ-ข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศไม่สามารถนำมาใช้ได้เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานสากล การบินไทยจึงปรับตัวด้วยการนำข้อกำหนดจาก EASA เข้ามาใช้แทนที่ในโครงการมาตรฐานความปลอดภัยเหนือระดับ (Safety Beyond Compliance)

ประเทศโดนธงแดง แต่การบินไทยฝ่าวิกฤติการบินได้

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

และเมื่อต้นปี 2559 การบินไทยได้ปรับระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินใหม่ โดยการบูรณาการฐานข้อมูลความปลอดภัยร่วมกับสายการบิน SAS และองค์กรที่ทำการจัดระบบข้อมูลให้สายการบินต่างๆ อย่าง Enplore จัดทำระบบ Safety Intelligence System ที่รวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัย ข้อมูลด้านการใช้พลังงาน การจัดการเที่ยวบินและการทำงานของลูกเรืออย่างเหมาะสม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาด้านการบินร่วมกันและเฝ้าระวังกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนหรือกฎเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกเล่าถึงช่วงเวลา (พฤศจิกายน 2558) ที่ต้องเดินทางไปรายงานข้อมูลของการบินไทยให้กับ EASA เนื่องจากเป็น 1 ใน 2 สายการบินที่ทำการบินเข้าน่านฟ้ายุโรป ว่า เมื่อตนกับทีมได้รายงานด้านการตรวจสอบคุณภาพให้ทาง EASA ฟังจบก็ถูกถามกลับมาว่า ความเสี่ยงสูงสุดในการทำการบินตอนนี้คืออะไร ซึ่งทีมงานได้ตอบอย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเจอเมฆ หมอก และได้แสดงข้อมูลที่รวบรวมเป็นสถิติ ทั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ผู้บาดเจ็บ วิธีแก้ไข ทำให้ได้รับความเชื่อมั่น ได้รับใบรับรองสำหรับสายการบินนอกยุโรปให้ทำการบินเข้าน่านฟ้ายุโรปได้ (Third Country Operators: TCO) และในเดือนนั้นประเทศไทยก็ไม่ถูกแบนจาก EASA

“หากประเทศไทยโดนแบน การบินไทยไม่รอดแน่ การบินไทยลงทุนในการเก็บข้อมูลสถิติพื้นฐานต่างๆ และนำมาปรับใช้จริง การที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ไม่ใช่คิดอย่างเดียวหรือแนะนำหรือวิจารณ์อย่างเดียว มันอยู่ที่เราทำหรือไม่ ง่ายๆ คือ เขามีมาตรฐานมา แล้วเราปฏิบัติตาม ยึดเป็นหลัก แล้วทำมาตรฐานของเราให้ดีพอ เจอปัญหาแก้ไขไหม ถ้าคุณไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่โชว์ให้เขาเห็น แต่เท่านั้นไม่พอ ในด้านความปลอดภัยเราก็ต้องมีกฎระเบียบและกำลังคนที่สอดคล้องและเพียงพอตามมาตรฐาน ทำให้วางใจได้ระดับหนึ่งว่าเราค่อนข้างเข้มข้นเรื่องนี้” นายจรัมพรกล่าว

ทั้งนี้ นายจรัมพรระบุว่า การบินไทยมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินไปยังสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างการเลือกเมืองซานฟรานซิสโกหรือเมืองซีแอตเทิล แต่การที่ไทยยังคงติดอันดับ Category 2 จาก FAA อาจเป็นอุปสรรค ดังนั้น หากรัฐสามารถปลดธงแดงของ ICAO ออกได้ภายในปลายปี 2559 ก็อาจส่งผลต่อการปรับอันดับจาก FAA ได้เช่นกัน(ดูบทเรียนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)

วิกฤติการบิน บพ./กพท. เปลี่ยนผู้นำ 5 ครั้ง ในช่วง 1 ปี 6 เดือน

ICAO

ขณะที่การบินไทยปรับตัวอย่างหนักให้ผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้น ด้านหน่วยงานภาครัฐอย่าง “กรมการบินพลเรือน” ที่รับผิดชอบด้านการบินของไทยก็ปรับตัวครั้งใหญ่ไม่แพ้กัน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

โดยใน 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาด้านการบินของไทยเริ่มตั้งแต่ในเดือนมกราคม 2558 ที่ ICAO เดินทางมาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานด้านการบินของประเทศไทย ซึ่งเป็นปกติที่ประเทศที่เข้าร่วมในภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศต้องได้รับการตรวจสอบเป็นระยะ ในอดีตไทยเคยถูกตักเตือนแต่แก้ไขได้ตามกำหนดจึงไม่เคยถูกปักธงแดง การตรวจสอบปี 2558 ICAO ตรวจพบข้อบกพร่องของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบินของไทยในขณะนั้นอย่าง “กรมการบินพลเรือน” ถึง 572 ข้อ ในส่วนนี้เป็นข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ 33 ข้อ โดยให้เวลาไทยแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนติดธงแดงให้ไทยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558

  • 17 มิถุนยน 2559 ก่อนหน้าการประกาศธงแดง 1 วัน นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือนขณะนั้นถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม โดยให้นางปาริชาต คชรัตน์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม เป็นอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) แทน
  • 22 มิถุนายน 2558 ได้มีการพิจารณาแล้วว่าจะทำการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. .… ทั้งฉบับ
  • 11 กรกฎาคม – 11 ตุลาคม 2558 ดำเนินการตรวจและออก AOC ใหม่ (แผนแรก)
  • 13-17 กรกฎาคม 2558 FAA เข้ามาตรวจสอบหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบินของไทย
  • 11 สิงหาคม 2558 ดึงกองทัพอากาศเข้าช่วย ตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (ศบปพ.)
  • 22 กันยายน 2558 ออกพระราชกำหนด (พรก.) 3 ฉบับแก้ไขปัญหาการบิน
  • 1 ตุลาคม 2558 รื้อโครงสร้าง บพ. ใหม่ จัดตั้งสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยมีนายจุฬา สุขมานพ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ กพท.
  • ตุลาคม 2558 – พฤษภาคม 2559 ดำเนินการคัดเลือกและบรรจุบุคลากร กพท.
  • 17 พฤศจิกายน 2558 ครม. เห็นชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการทําบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับ Cooperation Framework Agreement on Aviation Safety กับองค์การกํากับดูแลความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ภายในวงเงิน 5 ล้านยูโร หรือไม่เกิน 100 ล้านบาท พร้อมตั้งคณะทํางานพิเศษหารือกับผู้แทนสหภาพยุโรปและสํานักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
  • 22-27 พฤศจิกายน 2558 คณะทำงานพิเศษเดินทางไปหารือกับผู้แทนสหภาพยุโรปและสํานักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

แผนแก้ปัญหาการบินพลเรือน

  • เดือนพฤศจิกายน 2558 EASA – กพท. ทำ MOU ร่วมมือกัน ยกระดับความปลอดภัยด้านการบิน
  • 1 ธันวาคม 2558 FAA ประกาศลดอันดับประเทศไทย
  • 11 ธันวาคม 2558 EASA ประกาศคงสถานะไม่แบนสายการบินไทยเข้าน่านฟ้ายุโรป
  • 26 มกราคม 2559 เห็นชอบแผนพัฒนาคุณสมบัติผู้ตรวจสอบ 69 คน วงเงิน 86 ล้านบาท และจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้คำปรึกษาในการออก AOC ใหม่ 185 ล้านบาท
  • 23 กุมภาพันธ์ 2559 เสนอแผนแก้ปัญหาการบิน ครม. วางกรอบเวลาในการออก AOCs แก่สายการบินระหว่างประเทศ ในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2559 และออก AOCs แก่สายการบินภายภายในประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2560 (แผนที่สอง)
  • 2 พฤษภาคม 2559 EASA เดินทางมาประเทศไทย
  • 10 พฤษภาคม 2559 น.ต. อลงกต พูลสุข ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ กพท. อย่างเป็นทางการ ได้เพียง 99 วัน
  • 16 มิถุนายน 2559 EASA ประกาศคงสถานะ ไม่แบนสายการบินไทยเข้าน่านฟ้ายุโรป
  • 21 มิถุนายน 2559 ครม. ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาการบิน วงเงิน 5 ล้านยูโร หรือราว 100 ล้านบาท รวมทั้งขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรจาก EASA 7 ราย
  • 18 สิงหาคม 2559 นายจุฬา สุขมานพ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ กพท. สมัยที่ 2 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยก่อนหน้านี้ นายจุฬา ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ กพท. (สมัยแรก) ได้เคยระบุว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งการออก AOC จะมีความพร้อมพอที่จะเชิญ ICAO ตรวจสอบได้ในช่วงต้นปี 2560 เป็นอย่างเร็วที่สุด แม้จะวางกรอบเวลาความพร้อมเพื่อรอรับการตรวจสอบไว้ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 – มีนาคม 2560 ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม น.ต. อลงกต ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ว่าการแก้ไขปัญหาด้านการบินยังคงดำเนินการตามแผนเดิมที่เคยเสนอ ครม. ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 แต่ยืนยันความพร้อมรับการตรวจจาก ICAO ได้ภายในสิ้นปี 2559 แน่นอน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ICAO ว่าเมื่อแจ้งความพร้อมไปแล้วจะเข้ามาตรวจสอบเลยหรือไม่

กพท. ปัญหารุม คนไม่พร้อม ข้อมูลไม่อัปเดต

แหล่งข่าวจากกพท. เปิดเผยว่า กพท.ยังมีปัญหาใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะกำลังคนที่ไม่พร้อม ข้อมูลการแก้ไขปัญหาด้านการบินของไทยไม่ได้อัปเดตรายงานให้ ICAO ตั้งแต่กลางปี 2558 การดำเนินงานที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง สอดคล้องกับรายงานจากกระทรวงคมนาคมที่ระบุว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2559 องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICAO-APAC) ที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยได้รายงานผลการติดตามเพื่อช่วยเหลือไทยในการแก้ปัญหาด้านการบินที่เกิดขึ้นพบข้อบกพร่อง โดยให้ความเห็นว่าไทยกำลังมุ่งแก้ปัญหาเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ หรือ SSC เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นข้อบกพร่องเพียง 33 ข้อ จากข้อบกพร่องทั้งหมด 572 ข้อ ซึ่งทุกปัญหาสำคัญทั้งหมด จึงควรถูกจัดการให้ได้มาตรฐานตั้งแต่แรก

หน้าเว็บไซต์ กพท. ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559
หน้าเว็บไซต์ กพท. ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2559

ทั้งนี้ในรายงานองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รายงานตัวอย่างปัญหาที่ถูกพบคือ กำลังคนที่ กทพ. มี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านกฎระเบียบด้านการบินไม่มีความรู้ในด้านดังกล่าวอย่างแท้จริง กำลังคนในหลายๆ หน่วยอยู่ในสภาวะขาดเสถียรภาพเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ยังไม่ถูกบรรจุ ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน โดยที่กำลังคนกว่าครึ่งอยู่ระหว่างสรรหา (เข้าตรวจสอบในเว็บไซต์ของหน่วยงานพบว่ากระบวนการสรรหาบุคลากรยังไม่เสร็จสิ้น ขณะที่กรอบระยะเวลาตามแผนระบุว่าการสรรหาจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม 2559) หน่วยงานถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ต้องนั่งในหลายเก้าอี้จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร อาทิ นางอัมพวัน วรรณโก ที่ขณะนั้นต้องดำรงตำแน่งควบ 3 ตำแหน่ง ทั้งตำแหน่งใน กพท. ตำแหน่งในกรมท่าอากาศยาน และตำแหน่งในศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยข้อมูลแห่งชาติ

นอกจากนี้มีรายงานถึงการแก้ไขปัญหาในข้อพกพร่องด้านต่างๆ เช่น ด้าน “กฎหมายระเบียบต่างๆ” ที่นำมาใช้ในแผนแก้ปัญหานั้นยังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของ ICAO หรือด้าน “สนามบินและการช่วยเดินอากาศภาคพื้น” ตามข้อมูลคือไทยมีสนามบินที่ยังใช้งานทั้งหมด 38 แห่ง (28 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน ในจำนวนนี้ 6 แห่งเป็นสนามบินนานาชาติ มี 9 แห่งที่เป็นสนามบินของเอกชน ในจำนวนนี้ 6 แห่งเป็นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด อีก 3 แห่งเป็นของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และมี 1 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ) แต่มีเพียง 12-13 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ของกพท. ที่อาจจะเป็นปัญหาความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติได้ อาทิ ระบบการจัดเก็บข้อมูลยังคงเป็นรูปแบบ “ฐานข้อมูลกระดาษ” (paper-based system) และการขาดการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน โดยได้มีการประกาศยุบองค์กรเก่า เปลี่ยนจาก “กรมการบินพลเรือน” เป็น “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” แต่การเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.aviation.go.th/ ยังเป็นเว็บไซต์ของ “กรมการบินพลเรือน” รวมทั้งโครงสร้างองค์กรยังถูกระบุในรูปแบบขององค์กรเก่า เป็นต้น