ThaiPublica > คอลัมน์ > เก็บตกการประชุม “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” (ตอนที่ 1)

เก็บตกการประชุม “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” (ตอนที่ 1)

31 สิงหาคม 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราคงได้ยินกระแสเรื่องความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ “ยาบ้า” ซึ่งเกิดจากการทบทวนความพยายามจัดการกับปัญหาเรื่องยาบ้าในเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่ล้วนเป็นไปในแนวทางของการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ไม่ว่าจะในรูปแบบของกฎหมายที่หากเทียบสัดส่วนกันแล้วถือว่ามีความรุนแรงกว่าการกระทำผิดเกี่ยวกับเฮโรอีน หรือทางสังคมที่ทำให้เห็นว่ายาบ้าเป็นยาเสพติดอันตรายร้ายแรง ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก “ยาม้า” มาเป็นยาบ้า หรือภาพข่าวของผู้ที่เสพยาบ้าต่อเนื่องเป็นเวลานานและมากเกินขนาดจนเกิดอาการ “หลอน” แล้วออกไปก่อเหตุวุ่นวายอันดูเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

ในเบื้องต้นนี้ ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดบางประการที่ได้จากการประชุม เรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด (Integrated Constructive (Meth) amphetamine Control And Innovative Justice in Draft Narcotics Code)” ซึ่งจัดโดย สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) วันที่ 29-30 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก ผมอยากขอทบทวนและสรุปถึงที่มาและแนวคิดพื้นฐานในความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนี้

1. เรื่องนี้เกิดจากความพยายามแก้ปัญหาคนล้นคุกเพราะคดียาเสพติด

ในขณะที่ความจุของเรือนจำทั้งหมดกำหนดไว้เพียง 100,000 ราย งานวิจัยของ รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ระบุว่า ปี พ.ศ. 2558 สถิติจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่ามีผู้ต้องขังทั้งหมด 325,361 ราย โดยในจำนวนนี้นั้นเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด 230,074 ราย ทั้งนี้ หากคำนวณโดยใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หรือคิดเป็น 260 วันต่อปี หมายความว่าคดียาเสพติดทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลิตภาพ (productivity) ไปปีละ 17,945,772,000 ล้านบาท (230,074x300x260) ยิ่งไปกว่านั้น ในจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติด ยังเป็นผู้ต้องขังด้วยคดีอันเกี่ยวกับยาบ้าถึงร้อยละ 90 ซึ่งหมายความว่า แม้จะมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับการจัดการกับยาบ้าสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง แต่คดีเกี่ยวกับยาบ้าก็ยังคงเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ และเยอะอยู่ในระดับที่เรียกว่า “เกือบจะทั้งหมด” เลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แนวทางการปราบปราม ที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ปริมาณกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับยาบ้า ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การขาย และการเสพ ลดลงแต่อย่างใด ทั้งยังสร้างปัญหาเพิ่มเติม นั่นก็คือ การสูญเสียศักยภาพการผลิตทางเศรษฐกิจเนื่องจากการที่คนไม่สามารถประกอบอาชีพเพราะต้องถูกจำคุก

2. นี่คือการพยายาม “ลดความเป็นอาชญากรรม” (decriminalize) ของยาบ้า ไม่ใช่การทำให้ยาบ้าถูกกฎหมาย (legalize)

การลดความเป็นอาชญากรรมนั้นแตกต่างอย่างมากจากการทำให้ถูกกฎหมาย การลดความเป็นอาชญากรรมของยาบ้านั้นหมายความว่ายาบ้าจะยังคงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ หากจะถูกกฎหมายก็คือถูกในบางบริบท เช่น ผลิต-จำหน่าย-ใช้ ด้วยวัตถุประสงค์ทางสาธารณสุขภายใต้การควบคุมของรัฐ (พูดให้เข้าใจผ่านการยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าจะซื้อได้ต้องมีใบสั่งจากแพทย์) แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคต ขณะที่เบื้องต้นนี้ หลักใหญ่ใจความคือจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของบทลงโทษ ที่จะมีการแก้ไขข้อกฎหมายให้สามารถพิจารณาโทษได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น แตกต่างจากปัจจุบันที่ข้อกฎหมายมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการลงโทษอย่างรุนแรงเกินสัดส่วนของการกระทำผิด เช่น กรณีของการพกยาบ้าข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพียง 1.5 เม็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาเสพเอง แต่ด้วยข้อกฎหมายที่มีอยู่กลับส่งผลให้การพิจารณาโทษเป็นไปได้เพียงความผิดฐานนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต และแม้จะยอมรับสารภาพทั้งหมดจนได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ก็ยังมีโทษจำคุกยาวนานถึง 25 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษที่ไม่ตรงกับเจตนาและพฤติกรรมการกระทำผิดที่แท้จริงของผู้ต้องหา และเกิดขึ้นโดยความไม่ยืดหยุ่นของกฎหมาย

หากพิจารณาจากที่มาทั้งสองประการดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า นอกจากแนวทางการปราบปรามด้วยความรุนแรงผ่านบทลงโทษที่เข้มงวดและเด็ดขาดของข้อกฎหมายจะไม่สามารถทำให้การกระทำผิดเกี่ยวกับยาบ้าลดลงหรือหมดไป ในทางกลับกัน ยังกลับก่อปัญหาอื่นๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องนักโทษล้นคุก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ที่อยู่ปลายน้ำของกระบวนกิจกรรมอันเกี่ยวกับยาบ้า หรือการกลายเป็นว่า กฎหมายที่มีเพื่อสร้างความยุติธรรม กลับกลายเป็นเครื่องมือในการลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมเสียเอง

เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนในระยะยาว ในการประชุมบูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนฯ จึงมีการเสนอว่า จะต้องทำพร้อมกันอย่างเป็นระบบใน 5 ด้าน ซึ่งพอจะสรุปได้ (ตามความเข้าใจของผม) ดังนี้

  1. ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด: ทักษะสังคมเพื่อลดอันตราย (Drug education: Social skills for harm reduction) เป็นลักษณะอย่างการให้ความรู้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นในทางเภสัชวิทยา หรือก็คือผลของยาเสพติดที่จะมีต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งด้านที่ดีและไม่ดีอย่างรอบด้านและเป็นจริง โดยเฉพาะกับเยาวชน เพื่อสนับสนุนให้เขาเลือกได้ด้วยตนเองอย่างมีความรับผิดชอบและอยู่บนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าจะไปแสดงมุมของการห้ามเพียงอย่างเดียว
  2. ด้านสังคม (Social impacts and connection) เป็นการกลับมาคำนึงถึง “ทุนทางสังคม” คือใช้ความเข้มแข็งของหน่วยต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือโรงเรียน ในการสร้างพันธะผูกพันต่อกันและกันที่ดีและเข้มแข็ง ป้องกันการตกไปอยู่ชายขอบของสังคม อันจะทำให้ถูกกีดกันออกจากความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
  3. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Medicalization and public health) สนับสนุนให้กระทรงสาธารณสุขโดยองค์การเภสัชกรรมผลิตสารที่สามารถทดแทนสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนอย่าง “โมดาฟินิล” หรือ “อาร์โมดาฟินิล” ไว้บริการผู้ที่จำเป็นต้องใช้ภายใต้ใบสั่งยาของแพทย์ ซึ่งยาสองชนิดนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 จึงไม่ฝ่าฝืนต่อพันธกรณีของประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท นอกจากนี้ ยังเสพได้ด้วยการกินแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่พบอันตรายจากการเสพติดดังเช่นที่พบในแอมเฟตามีน โดยเฉพาะแอมเฟตามีนจากตลาดยาเสพติดที่อาจมีการปลอมปนสารพิษอันตรายอื่นๆ นอกจากนี้ หากให้องค์กรภาครัฐผลิตเอง ก็จะสามารถผลิตยาดังกล่าวได้ในราคาถูก เป็นการลดแรงจูงใจของผู้ผลิตยาเสพติดในตลาดนอกกฎหมาย เนื่องจากมียาจากแหล่งผลิตและจำหน่ายถูกกฎหมายที่เข้าถึงได้ในราคาที่ถูกกว่าและปลอดภัยกว่า
  4. ด้านเศรษฐกิจ (Economic affairs) หากเราสามารถพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถสร้างวัฒนธรรมการใช้เมทแอมเฟตามีนอย่างมีความรับผิดชอบได้จริง กลยุทธ์การตลาดแบบ “4P” ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาในการใช้ กล่าวคือ
  5. – Product: ตัวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยรัฐจะต้องมีคุณภาพที่ดีและมีความปลอดภัยกว่าที่ขายโดยองค์กรยาเสพติด
    – Price: ราคา โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อกำไรสูงสุด แต่เพื่อช่วงชิงลูกค้าจากตลาดผิดกฎหมายมาอยู่ในตลาดถูกกฎหมาย ที่สามารถควบคุมปริมาณการเสพเพื่อไม่ให้ไปถึงจุดที่จะเกิดอันตรายได้
    – Place: สถานที่ขาย เพื่อให้ผู้ที่เคยหลบซ่อนใช้ยาในเงามืดกล้าออกมาเปิดเผยตัวเองต่อสังคม สถานที่จำหน่ายต้องมีความเป็นมิตร ทำให้ผู้ใช้บริการสบายใจว่าตัวเองก็เป็นมนุษย์เหมือนคนอื่น ไม่ถูกตีตราจากสังคม หรือกระทั่งตัวผู้ให้บริการ (ลองจินตนาการเทียบเคียงกับการทำให้คนกล้าซื้อถุงยางอนามัยโดยไม่ต้องอายน่ะครับ)
    – Promotion: มีการดึงดูดใจให้ผู้ใช้บริการรู้สึกอยากมาใช้บริการอีก

    อนึ่ง อย่าลืมนะครับว่า นี่คือข้อเสนอซึ่งกล่าวในบริบทที่ว่า หากวันหนึ่งเราสามารถไปถึงขั้นที่สามารถสร้างวัฒนธรรมการใช้เมทแอมเฟตามีนอย่างมีความรับผิดชอบได้จริง

  6. ด้านกฎหมายและการบังคับใช้ (Law and law enforcement) ข้อนี้ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วครับ คือการผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมมีการลงโทษที่ได้สัดส่วนต่อเจตนาและพฤติกรรมการกระทำผิด แยกผู้เสพผู้ขายออกจากกันให้ชัดเจน หรือแม้แต่ในส่วนของผู้ขาย ก็ต้องดูกันละเอียดถึงขั้นว่าค้าขายยาเสพติดเป็นอาชีพหลัก หรือเพียงขาจรที่หลงเข้ามาเพราะความจำเป็นชั่วครั้งชั่วคราว

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นการเล่าคร่าวๆ ถึงที่มาของเรื่องดังกล่าว และรายละเอียดบางส่วนจากการประชุมในวันแรก ส่วนที่เหลือนั้น จะขอเล่าต่อในคราวหน้าครับ

แต่อย่างไรก็ดี คำถามหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ จากวิทยากรท่านหนึ่งในการประชุมก็คือ ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะกำจัดยาบ้าหรือยาเสพติดที่มีส่วนประกอบของเมทแอมเฟตามีนให้หมดไปได้ คำถามที่น่าสนก็คือ เราควรจะให้การควบคุมยาเหล่านี้อยู่ในมือของใคร องค์กรยาเสพติดดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ หรือให้อยู่ในความควบคุมของรัฐ อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการควบคุมปริมาณการใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ให้ดำเนินไปสู่จุดที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้