ThaiPublica > เกาะกระแส > Thai-PAN แจงกรมวิชาการเกษตรยอมรับ ต้นตอสารตกค้าง ระบุ “เกษตรกร-ผู้รับซื้อ” สวมสิทธิ์ – ใช้ทะเบียน Q-GMP หมดอายุ – สินค้าไม่ผ่าน GAP

Thai-PAN แจงกรมวิชาการเกษตรยอมรับ ต้นตอสารตกค้าง ระบุ “เกษตรกร-ผู้รับซื้อ” สวมสิทธิ์ – ใช้ทะเบียน Q-GMP หมดอายุ – สินค้าไม่ผ่าน GAP

5 กรกฎาคม 2016


สืบเนื่องจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้เมื่อวันที่ 4 เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยพบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q พบสารเคมีตกค้างสูงถึง 57.1% ในขณะที่ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรพบสารเคมีเลยกลับพบการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง

ภายหลังการแถลงข่าว นายสมชาญ ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจรับรอง (certify) ผักและผลไม้ที่ได้รับตรา Q และ Organic Thailand ได้แถลงข่าวชี้แจง พร้อมระบุว่าเตรียมฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททำให้กรมวิชาการเกษตรเสียหาย

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนผู้บริโภคจากโครงการกินเปลี่ยนโลก
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนผู้บริโภคจากโครงการกินเปลี่ยนโลก

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แถลงสดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่า กรมวิชาการเกษตรได้ยอมรับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า พบปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังที่ไทยแพนแถลงจริง โดยสาเหตุที่ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างปนเปื้อนเกินมาตรฐานในผักและผลไม้ตรา Q และ Organic Thailand นั้นพบว่าเกิดจาก 3 กรณี คือ

1) ผู้ประกอบการใช้เครื่องหมาย Q-GMP หมดอายุ หรือเครื่องหมาย Q-GMP ไม่หมดอายุแต่ใช้ผักผลไม้ที่ไม่ผ่าน GAP

2) ผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ใช้เครื่องหมาย Q-GAP นำผักผลไม้แหล่งอื่นมาสวมสิทธิ์ ใช้รหัส GMP ซึ่งใช้สำหรับโรงคัดบรรจุมาแทน GAP และผลผลิตจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แต่พบสารตกค้างจริง

3) กรณีการตรวจพบสารตกค้างในผักผลไม้อินทรีย์ Organic Thailand เกิดจากเกษตรกรและผู้ประกอบการแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ Organic Thailand ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านการรับรอง มีการนำรหัสสินค้าเกษตรอินทรีย์ของพืชชนิดอื่นที่ได้รับการรับรองมาใช้ รวมไปถึงการเอาสินค้าอื่นมาสวมสิทธิ์แทน

สารเคมีตกค้างสารเคมีตกค้าง

“ผลการตรวจสอบดังกล่าวได้เสนอต่อที่ประชุมเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในผักผลไม้ของกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2553 ณ ห้องประชุมพระพิรุณ 111 อาคาร 1 สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งหากรัฐยังไม่ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วภาระก็จะตกกับผู้บริโภคที่ต้องตรวจสอบเลขทะเบียนการรับรองมาตรฐานบนฉลากสินค้าเอง ซึ่งสามารถดูเลขทะเบียนที่ถูกต้องได้จากเว็บไซต์ของ มกอช.” นางสาวปรกชลกล่าว

ทั้งนี้ได้มีกฎหมายที่ให้อำนาจผู้บริโภคที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ได้เลย สำหรับกรณีผู้นำสารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือถูกยกเลิกทะเบียนแล้วมาใช้ ซึ่งตามมาตรฐาน GAP กำหนดห้ามไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ถือว่ามีความผิด (การใช้สารเคมีผิดประเภทก็อาจเข้าข่ายนี้) โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถดำเนินการถอนใบอนุญาตได้เลย หรือดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 อีกทางก็ได้ เนื่องจากทุกแปลงเกษตรที่ได้รับมาตรฐานมีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว จึงไม่ยากที่จะหาตัวผู้ทำผิด

ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนผู้บริโภคจากโครงการกินเปลี่ยนโลก ได้เรียกร้องให้นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แสดงความรับผิดชอบอย่างมีวุฒิภาวะในฐานะผู้บริหารหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเป็นผู้ตรวจสอบออกใบรับรองมาตรฐานผักและผลไม้

“เราขอเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกเลิกใบรับรอง แจ้งความดำเนินคดีผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องหมายปลอม และสอบสวนหาต้นตอของผู้จำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดกฎหมาย โดยเร็วดังผลการตรวจสอบดังกล่าว” นางสาวกิ่งกรกล่าว

นางสาวกิ่งกรระบุว่า ไทยแพนและกลุ่มผู้บริโภคจะร่วมกันติดตามเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในผักและผลไม้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้เตรียมเอกสารเพื่อฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่งแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้