ThaiPublica > เกาะกระแส > นับถอยหลังประชามติ รธน.: เลือกตั้ง ส.ส. “จัดสรรปันส่วนผสม” …ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ?

นับถอยหลังประชามติ รธน.: เลือกตั้ง ส.ส. “จัดสรรปันส่วนผสม” …ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ?

10 กรกฎาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. เดินทางไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 ที่มาภาพ : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1309676928
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. เดินทางไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 ที่มาภาพ : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1309676928

ในขณะที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน อ้างว่า ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ฉบับที่จะลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะทำให้ “ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย”

แต่นักวิชาการรวมถึงผู้ติดตามการเมืองจำนวนหนึ่งกลับมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ อาจทำให้ “การเลือกตั้งด้อยความหมายลงไป”

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” เป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจ

ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ได้นำระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่มาใช้ ซึ่งถือเป็นการทดลองระบบเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 4 ในรอบ 20 ปี หลังจาก

  1. การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน+บัญชีรายชื่อ 100 คน (รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540)
  2. การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน+แบ่งสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัด 125 คน (รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550)
  3. การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน+บัญชีรายชื่อ 125 คน (รัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2554)
  4. การเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 250 คน+บัญชีรายชื่อ 200-220 คน โดยนำคะแนนบัญชีรายชื่อมาคิดเป็น % เพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้ แล้วมาหักลบกับจำนวน ส.ส. เขตที่พรรคนั้นได้ไปแล้ว โดยส่วนต่างจะได้รับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่าระบบเลือกตั้ง “สัดส่วนผสม” (ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ)

โดยข้อแตกต่างสำคัญระหว่างระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่ กับอีก 4 ระบบข้างต้นก็คือการใช้บัตรเลือกตั้งเพียง “ใบเดียว” แทนที่จะเป็น “2 ใบ” อย่างที่หลายๆ คนคุ้นเคย

สำหรับหลักการของระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ซึ่งกำหนดให้มี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน (เขตเดียวเบอร์เดียว 350 คน+บัญชีรายชื่อ 150 คน) ก็คือ การนำคะแนน ส.ส. เขตทั้งที่ชนะและแพ้การเลือกตั้งทั่วประเทศ มาคำนวณเป็น % เพื่อหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรค “ควรจะได้” โดยส่วนต่างจากจำนวน ส.ส.เขตที่ชนะการเลือกตั้ง จะถูกเพิ่มเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ

อาทิ พรรค ก. ได้รับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ทั่วประเทศ รวม 40% ทำให้พรรคนั้นมีจำนวน ส.ส. ที่ “ควรจะได้” เป็น 200 คน จากทั้งหมด 500 คน แต่ปรากฏว่าพรรคนี้ได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 180 คน ทำให้จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม เพียง 20 คนเท่านั้น

โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งจะปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 83, 85-87, 90-103 และ 105

นายมีชัย ฤชุพันธู์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาภาพ : http://cdc.parliament.go.th/
นายมีชัย ฤชุพันธู์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาภาพ : http://cdc.parliament.go.th/

“มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. เคยกล่าวชี้แจงถึงข้อดีของระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อโต้แย้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไว้ถึง 7 ข้อ โดยสรุปก็คือ นอกจากจะไม่ทำให้คะแนนของประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. นี้ยังเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และจะทำให้ทุกพรรคคัดเลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.

  1. การเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องเริ่มต้นที่เราจะเคารพเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหนที่จะไม่ให้คะแนน ประชาชนสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่ผ่านมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่อีกใบหนึ่งนับเพียงส่วนเดียว ส่วนที่แพ้จะถูกทิ้งน้ำไปหมด
  2. กรธ.คิดเรื่องนี้ ไม่ได้คิดถึงพรรคใด หรือจะเกิดประโยชน์โทษอะไรกับพรรคการเมือง คิดให้คะแนนประชาชนมีน้ำหนักในการออกเสียงเลือกตั้งเท่าที่จะมากได้
  3. วิธีคิดเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่ง คือให้คะแนนเฉลี่ยกันไป ทุกพรรคจะได้รับคะแนนตามสมควร
  4. วิชาการหรือสื่อ ที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศไหนทำนั้น ต้องเข้าใจว่า คนไทยมีสติปัญญาที่คิดออกเอง ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เรียนเมืองนอกไม่ใช่จำตำรามาใช้ ต้องปรับให้เข้ากับประเทศของเรา ในอดีตเคยบมีใครกินส้มตำ และต้มยำกุ้งหรือไม่ แต่คนไทยกินจนคนทั้งโลกก็ชอบ
  5. ถ้า จะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้กับพรรคตัวเอง แต่ประเทศไทยมีเรากำลังแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอย่างนั้นขึ้น ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรคการเมือง จนสามารถพูดได้ว่า คนทั้งประเทศสนับสนุนพรรคการเมืองมากน้อยต่างกัน
  6. การเลือกเช่นนี้พรรคจะคัดเลือกคนดีที่สุดไปลง แม้จะรู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่มีความหวังจะได้คะแนนเพื่อคำนวณในบัญชีรายชื่อ
  7. ใน การเลือกตั้งปี 2554 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มี 120 เขต ที่คนได้รับเลือกน้อยกว่าคนอื่นโดยยังไม่นับ โหวตโน เท่ากับเราไม่รับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนใช่หรือไม่ ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ในเมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน ก็ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรค คิดถึงประชาชนให้มากขึ้น

แต่ “สิริพรรณ นกสวน” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้เกิดการเลือกตั้ง “กำมะลอ”

“(เพราะจะ)ทำให้ประชาชนรู้สึกขาดกำลังอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะคะแนนเสียงของประชาชนจะไม่ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแท้จริง จะถูกบิดเบือน เจตนารมณ์จะถูกยำใหญ่ เพราะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง อาจไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล”

สิริพรรณ กล่าวอีกว่า การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจะทำให้เกิดปัญหาการซื้อเสียงสูงขึ้นด้วย และตัวบุคคลจะสำคัญกว่านโยบาย บั่นทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง

“จึงทำนายได้ว่า การซื้อเสียงจะสูงขึ้น การกว้านซื้อตัวผู้สมัครจะเข้มข้น นโยบายพรรคจะลดความสำคัญลง กลุ่มอิทธิพลในท้องที่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่จะกลับมา พรรคขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะไม่มี ส.ส. เขตมากพอ ทั้งหมดนี้ล้วนบั่นทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ดีกว่า

“สรุปอย่างซื่อๆ ว่า การให้กาบัตรใบเดียว และให้พรรคส่งสามชื่อเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคขนาดกลางผงาด สุ่มเสี่ยงต่อการเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เรียกกันติดปากว่า คนนอก” สิริพรรณระบุ

บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แยก 2 ใบจะกลายเป็นแค่อดีต หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ผ่านการทำประชามติ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308470430&grpid=03
บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แยก 2 ใบจะกลายเป็นแค่อดีต หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ผ่านการทำประชามติ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308470430&grpid=03

ขณะที่ “เกษียร เตชะพีระ” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความลงในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระบุว่า ปัจจัยต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ทั้งการกำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม, การกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้แก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างยากลำบาก, การประกันความต่อเนื่องของระเบียบอำนาจต่างๆ ของ คสช. ไว้ด้วยมาตรการต่างๆ ฯลฯ มีจุดยุทธศาสตร์อยู่ที่การทำให้อำนาจของ “ฝ่ายแต่งตั้ง” มากกว่า “ฝ่ายเลือกตั้ง” เสมอ

เกษียรยังระบุว่า หากเชื่อมโยงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย กับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะผลักดันการเมืองไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ “ระบบไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยในระบอบใหม่แม้จะยังมีการเลือกตั้งอยู่

“เพียงแต่ในระบอบนี้ เหล่า “สถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย” (elected majoritarian institutions เช่น สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภาจากการเลือกตั้ง, พรรคการเมืองใหญ่ ฯลฯ) ล้วนตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมชักเชิดของเหล่า “สถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” (unelected non-majoritarian institutions เช่น ตุลาการ, องค์กรอิสระ, กองทัพ, ข้าราชการประจำ, วุฒิสภาจากการแต่งตั้งหรือสรรหา ฯลฯ)

“พร้อมทั้งยักย้ายถ่ายโอนอำนาจสำคัญๆ บางประการของสถาบันเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ไปให้แก่สถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง เช่น อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ, อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี, อำนาจกำหนดแนวนโยบาย, อำนาจจัดสรรงบประมาณ, อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่ เป็นต้น” เกษียรระบุ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จะเคยมีการจัดทำโพลว่าเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัยหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นการตั้งคำถามว่า เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้ง “ใบเดียว” หรือไม่ มากกว่าถามไปที่ตัวหลักการเลือกตั้งแบบ “จัดสัดปันส่วนผสม” โดยตรง ซึ่งทุกโพลล์ออกมาตรงกันว่าประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ “เห็นด้วย”

  • สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็น 1,156 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 2-7 พฤศจิกายน 2558 พบว่า 60.98% เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพราะสะดวก เข้าใจง่าย นับคะแนนง่าย ฯลฯ
  • กรุงเทพโพล สำรวจความคิดเห็น 1,229 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2558 พบว่า 86.9% เห็นด้วยกับการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดย 61.9% ระบุว่าชอบแนวคิดของระบบเลือกตั้งแบบ “จัดส่วนปันส่วนผสม” มากกว่าระบบเลือกตั้งแบบเดิม
  • นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็น 1,250 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2558 พบว่า 80.56% เห็นด้วยกับกับการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพราะทำให้ง่ายและสะดวก

ขณะที่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดของสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็น 1,326 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2559 ประชาชนได้แสดงทั้งความเห็นด้วยและเป็นห่วงต่อการเลือกตั้งระบบใหม่ โดยผลดี มีอาทิ ประหยัดงบประมาณและกำลังคน (70.86%) สะดวก เข้าใจง่าย กาบัตรใบเดียว (62.4%) และ นับคะแนนเร็ว ตรวจสอบง่าย (59.2%) ส่วนผลเสีย มีอาทิ จำกัดสิทธิประชาชน บังคับให้เลือกได้อย่างเดียว คนอาจชอบพรรคกับผู้สมัครไม่เหมือนกัน (70.1%) เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการซื้อเสียง (68.9%) ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อมีโอกาสได้รับเลือกตั้งน้อย (54.0%)

เชื่อได้ว่า ข้อดี-ข้อเสีย ทั้งหลายของระบบเลือกตั้งแบบใหม่ จะต้องถูกนำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการลงมติว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย