ThaiPublica > เกาะกระแส > TDRI แนะใช้ ม.44 ระบายข้าว 2 ครั้ง/เดือน ประหยัดงบหลวง 1.8 หมื่นล้าน/ปี ปรับขาดทุน“จำนำข้าว” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5.49 แสนล้าน

TDRI แนะใช้ ม.44 ระบายข้าว 2 ครั้ง/เดือน ประหยัดงบหลวง 1.8 หมื่นล้าน/ปี ปรับขาดทุน“จำนำข้าว” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5.49 แสนล้าน

27 กรกฎาคม 2016


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จัดงานสัมมนา “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ” ณ ห้องเซี่ยงไฮ้ ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด โดยมีดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ (ขวา) และดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร ผู้วิจัย (ซ้าย) นำเสนอผลการศึกษา
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จัดงานสัมมนา “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ” ณ ห้องเซี่ยงไฮ้ ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด โดยมีดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ (ขวา) และดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร ผู้วิจัย (ซ้าย) นำเสนอผลการศึกษา

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จัดงานเสวนา “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ” โดยมีดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ และดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร ผู้วิจัย นำเสนอผลการศึกษา “โครงการการระบายข้าวในคลังของรัฐ” พร้อมข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุผลที่ต้องมาทำวิจัยในประเด็นนี้ ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีข้าวในสต็อกน้อยมาก แต่พอมาถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีสต็อกข้าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลประกาศนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ด โดยเฉพาะสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลมากถึง 34.5 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 53% ของผลผลิตข้าวทั้งหมด แต่ขายข้าวเพียง 18.07 ล้านตัน

ต่อมา ในสมัยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบสต็อกข้าว ตามบัญชีข้าว ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลมีข้าวสารคงค้างในสต็อก 18.70 ล้านตัน แต่เนื่องจากมีข้าวในสต็อกหาย,ข้าวไม่ได้ส่งเข้าโกดังและข้าวไม่ได้ออกรหัสประมาณ 0.67 ล้านตัน และข้าวที่ทำสัญญาขายล่วงหน้าอีก 0.75 ล้านตัน จึงเหลือข้าวสารจริงเพียง 17.28 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีข้าวเกรด c ข้าวผิดชนิด ข้าวเสีย กองล้มประมาณ 5.84 ล้านตัน

“ในช่วงเดือนสิงหาคม 2557-มิถุนายน 2559 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเร่งระบายข้าวจำนวน 17.28 ล้านตัน เพราะถ้าหากระบายข้าวช้า ก็ขาดทุนหนัก เนื่องจากรัฐบาลมีภาระต้นทุนในการเก็บรักษาข้าวรวมค่าดอกเบี้ยสูงถึง 18,300 ล้านบาทต่อปี หรือตันละ 1,570 บาท/ปี ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถระบายข้าวออกไปได้เพียง 7.5 ล้านตัน ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2559 รัฐบาลมีข้าวสารเหลือในสต็อก 9.7 ล้านตัน” ดร.นิพนธ์ กล่าว

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลระบายข้าวได้ช้า 1) ข้าราชการไม่ใช่พ่อค้า จึงไม่เข้าใจสภาพตลาดมากเท่าพ่อค้า 2)ตลาดข้าวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่การตัดสินใจไม่ทันต่อสถานการณ์ 3) เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ขายข้าว ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถขายราคาต่ำ หรือ ข้าวเน่าเสียได้ โดยเฉพาะข้าวเกรด C ปัจจุบันปริมาณมากถึง 4.59 ล้านตัน ส่วนข้าวเกรด P เกรด A และเกรด B มีประมาณ 1.2 ล้านตัน จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาดังนี้ คือ 1. แทนที่จะขายแบบทั่วไป รัฐบาลควรระบายข้าวในราคาเกรดอุตสาหกรรม หรือไม่ 2.รัฐบาลจะระบายข้าววิธีใด ทำให้เกิดผลขาดทุนและส่งผลกระทบชาวนาน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานำข้าวเสียปนกลับมาปนข้าวดีขายให้กับผู้บริโภค

ขณะที่ตลาดในประเทศมีความต้องการจำกัด และทุกปีก็มีผลผลิตข้าวใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้การระบายข้าวส่วนเกินไปสู่ตลาดโลกมีข้อจำกัด โดยปริมาณการค้าข้าวในตลาดโลกมีเพียง 8% ของผลิตทั้งโลก ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งการตลาดแค่ 1 ใน 4 นอกจากนี้ในช่วงปี 2557 ก็ยังมีปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดี ข้าราชการที่ทำหน้าที่ระบายข้าว ไม่กล้าขายข้าวราคาต่ำ จึงต้องรอจังหวะราคาข้าวขึ้นสูง ส่วนข้าวที่กองอยู่ในโกดัง ก็มีคุณภาพแตกต่างกันปะปนอยู่ หลายโกดังไม่สามารถขนข้าวกองที่อยู่ด้านในโกดังออกขายได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้วางระบบฐานข้อมูลบัญชีข้าวในโกดังให้เป็นระบบเดียวกัน การจัดเก็บข้อมูลไม่สมบูรณ์ จึงไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องได้(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รูปแบบการระบายข้าวในยุคต่างๆ

เปรียบเทียบการระบายข้าว

ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่า การระบายข้าวยิ่งเร็ว ยิ่งขาดทุนน้อย แต่การระบายข้าวเร็ว ก็จะมีข้าวจำนวนมากไหลเข้าสู่ตลาด ทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวบ่อยๆอย่างสม่ำเสมอจะขาดทุนน้อยกว่าขายเป็นช่วงๆ และลดการเก็งกำไรได้ ส่วนการขายข้าวคุณภาพต่ำในราคาถูก เพื่อนำไปทำเอทานอลหรืออาหารสัตว์จะทำให้รัฐบาลขาดทุนมาก แต่ยังคุ้มค่ากว่าการเก็บข้าวไว้ในสต็อก 4-5 ปี เพราะข้าวจะเสื่อมคุณภาพมากขึ้น และยังมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายรับลดลง 10,000 ล้านบาท/ปี

ประเด็นต่อมา การระบายข้าวมีผลกระทบต่อราคาอย่างไร ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาการระบายข้าวขาว จะมีผลทำให้ราคาข้าวขาวลดลงเล็กน้อย แต่ไม่มีผลกระทบกับราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ในทางตรงข้าม การระบายข้าวชนิดอื่นๆกลับมีผลกระทบต่อราคาข้าวขาวและข้าวเหนียว แต่ไม่มีผลกระทบราคาข้าวหอมมะลิ ส่วนการระบายข้าวในช่วงเก็บเกี่ยวจะมีผลกระทบต่อราคาข้าวอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

ระบายข้าวประยุทธ์

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การระบายข้าวมีผลต่อราคาไม่มาก เนื่องจากข้าวจำนวนมากที่เก็บไว้ในสต็อกได้ส่งผลกระทบทางลบต่อราคาตลาดในปัจจุบันไปแล้ว ทำให้การระบายข้าวมีผลกระทบต่อราคาเพียงเล็กน้อย ขณะที่ความต้องการข้าวมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำมาก ทำให้การระบายข้าวจำนวนมากเป็นไปได้ยาก ยกเว้นว่าจะมีการลดราคาขายลงมามากๆ

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า บทเรียนจากโครงการจำนำข้าว ทุกเม็ด ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 1.77 ล้านราย โรงสีจำนวน 826 ราย โกดัง 1,685 แห่ง ผู้ตรวจสอบคุณภาพกว่า 40 แห่ง และเนื่องจากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวสูงราคาตลาดเกือบ 50% เกษตรกรจึงนำข้าวมาจำนำกับรัฐบาล 54.35 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นสัดส่วน 53% ของผลผลิตรวม ใช้เงินซื้อข้าวไปทั้งสิ้น 8.57 แสนล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายรวมอีก 9.76 แสนล้านบาท เมื่อปี 2557 ตนเคยทำประมาณการผลขาดทุนของโครงการรับจำนำในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คาดว่าจะมีมูลค่า 542,800 ล้านบาท แต่การประมาณการเป็นแบบหยาบๆ เพราะขาดข้อมูลราคาขายข้าวจำแนกตามชนิดข้าว การคำนวณรายจ่ายใช้เพดานขั้นสูงของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งไม่ใช่รายจ่ายจริง แต่หลังจากที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจสต็อก พบว่ามีข้าวหาย ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานในการบริโภค รวมทั้งข้าวผิดชนิด คณะผู้วิจัยจึงคำนวณผลขาดทุนของโครงการใหม่ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 พบว่ายอดขาดทุนเพิ่มเป็น 5.49 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 1 ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คาดว่าจะมีผลขาดทุน 5.187 แสนล้านบาท ครั้งที่ 2 ปิดบัญชีในช่วงเดือนกันยายน 2558 พบว่าการขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 5.812 แสนล้านบาท

ผลขาดทุนจำนำข้าว-เก่า

จากบทเรียนในอดีต คณะผู้วิจัย “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐบาล” จึงทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้

1. รัฐบาลไม่ควรคิดแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยนำสินค้าเกษตรมาเก็บไว้ในสต็อกโดยเด็ดขาด เนื่องจากกฎระเบียบต่างๆของรัฐไม่เอื้อในการขายข้าว ทำให้เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก และที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่พ่อค้า จึงไม่กล้าเสี่ยงตัดสินใจขาย หากคาดว่าราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง เพราะไม่มีระบบบัญชีและฐานข้อมูล ทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในการระบายข้าว

2. รัฐบาลควรขายข้าวแบบสม่ำเสมอทุกเดือน เช่น เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อขายข้าวในสต็อกให้หมดเร็วที่สุด

3. ปรับรูปแบบในการขายข้าวให้มีทั้งแบบ ยกโกดัง และแยกกอง ในกรณีที่สามารถขนข้าวแต่ละกองออกได้

4. ควรเร่งขายข้าวในโกดัง ให้หมดภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจากนั้นข้าวจะเสื่อมคุณภาพลงมาก

5. หากไม่จำเป็น รัฐบาลไม่ควรขายข้าวทั้งโกดัง ในราคาเกรดอาหารสัตว์ หรือเกรดที่ใช้ทำเอทานอล เพราะจะทำให้ขาดทุนมาก ยกเว้นจะมีการตรวจสอบอย่างชัดเจนว่าข้าวทุกกองในโกดังที่จะขาย เป็นข้าวเกรด C ที่ต่ำกว่ามาตรฐานการบริโภคมาก หรือข้าวเก่าที่มีอายุ 4-5 ปี หรือ เป็นปลายข้าว

6. หากจำเป็นต้องลดราคาขายข้าวคุณภาพต่ำ ก็ต้องรีบขายให้เร็วที่สุด

7. การขายข้าวเกรด c ต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า ข้าวที่กองอยู่ในโกดัง 60-70% เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำจริง และขอให้ คสช.ใช้อำนาจในมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อขายข้าวดังกล่าวนี้ ในราคาเกรดอุตสาหกรรม และต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้กลับเข้าสู่ตลาดข้าวบริโภค

8. ควรสำรวจโกดังที่มีข้าวอายุ 5-6 ปี หากกลายเป็นฝุ่น หรือ เน่าเสีย ไม่คุ้มจะนำมาปรับสภาพ ก็ควรเร่งกำจัดให้หมด โดยการลดราคาขายตามสภาพ เพื่อนำขายไปทำอาหารสัตว์ หรือ พลังงาน

9.ควรแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้ครอบคลุมถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวของรัฐ โดยเพิ่มบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ปิดบังข้อมูล เพราะข้าวในโกดังกลางใช้เงินภาษีของประชาชน