ThaiPublica > คอลัมน์ > Disruptive Technology กับการลงทุน

Disruptive Technology กับการลงทุน

22 กรกฎาคม 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ที่มาภาพ : Optimise กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ที่มาภาพ : Optimise กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ช่วงหลังนี้เราคงได้ยินคำว่า disruptive technology กันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ disruptive technology คืออะไร และจะส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร?

disruptive technology คือนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (disrupt) ต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม รวมทั้งอาจจะทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ล้มหายตายจากไป ซึ่งต่างจากนวัตกรรมทั่วไปที่อาจจะเพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพของสินค้า หรือลดต้นทุนกระบวนการผลิตแบบเดิมๆ

เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ อาจจะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ล่าสุด อาจจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของตลาดบางอย่าง เช่น คุณภาพ ประสิทธิของกระบวนการผลิต ต้นทุน หรือราคา ที่ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีเงื่อนไขที่เหมาะสมจนเป็นที่นิยมของตลาด

กระบวนการที่เทคโนโลยีใหม่ “disrupt” เทคโนโลยีเดิมๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาในอดีต และจะเกิดขึ้นอีกต่อไปในอนาคต บางคนเรียกกระบวนการนี้ว่า creative destruction หรือการทำลายอย่างสร้างสรรค์ที่ทำให้โลกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและตอบโจทย์มากขึ้น

ตัวอย่างที่คลาสสิกมากอันหนึ่ง คือตัวอย่างที่คุณ Tony Seba ผู้เขียนหนังสือ “Clean Disruption of Energy and Transportation” ใช้ในการบรรยายหลายๆ ครั้ง

ในช่วงปี ค.ศ. 1900 รถม้าเป็นยานพาหนะที่สำคัญในการเดินทาง และปัญหาใหญ่ที่สุดในช่วงนั้นคือ จะทำอย่างไรกับอุจจาระม้าที่กองเกลื่อนอยู่เต็มเมือง เฉพาะใน New York City มีม้ากว่า 175,000 ตัว ผลิตอุจจาระกว่า 1,000 ตันต่อวัน ในปี ค.ศ. 1894 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในอังกฤษทำนายว่า ในอีกห้าสิบปี ทุกถนนในกรุงลอนดอน จะเต็มไปด้วยกองอุจจาระม้าสูงกว่าเก้าฟุต! จนมีคนเรียกวิกฤตินี้ว่า “The Great Horse Manure Crisis of 1894” ปี 1898 มีการประชุมการวางผังเมืองนานาชาติที่นิวยอร์กเพื่อหาทางออกของปัญหานี้ แต่ก็ไม่สามารถหาทางออกได้ ดูเหมือนอารยธรรมโลกกำลังจะถึงคราวสิ้นสุดเลยทีเดียว

แต่แน่นอนครับ อย่างที่เราทราบ ปัญหานี้ถูกแก้ไขไปอย่างรวดเร็วจากการที่รถยนต์เข้ามาแทนที่รถม้าเกือบจะทั้งหมดในเวลาไม่ถึงสิบห้าปีหลังจากนั้น ทำให้เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกไม่ต้องเผชิญกับปัญหานั้น (แต่มีปัญหาอื่นมาแทน)

และที่น่าสนใจคือ รถยนต์ไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะเพิ่งมีการคิดค้นรถยนต์กันในช่วงนั้น รถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีขายก่อนหน้านั้นกว่าสิบปีแล้ว (ไม่นับรถยนต์แบบอื่นๆ เช่น รถยนต์ไอน้ำ หรือรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ) และมีการจัดการแสดงรถยนต์เป็นครั้งแรกในปี 1900 ด้วย แต่มีราคาแพงและยังไม่เป็นที่นิยมนัก เทคโนโลยีหนึ่งที่ช่วยให้มีการใช้รถยนต์กันมากขึ้นคือการพัฒนาการผลิตแบบสายพานการประกอบ ที่ทำให้สามารถผลิต Ford Model T ได้ในปริมาณมากและต้นทุนถูกลง และทำให้บริษัทที่มีเทคโนโลยีการสร้างรถยนต์แต่ไม่ได้ใช้เทคโลยีแบบสายพานการประกอบก็ต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

ในยุคนั้น เทคโนโลยีการผลิตแบบสายพานจึงเป็น disruptive technology ที่ทำลายทั้งเจ้าของตลาดเดิม (รถม้า) และมีผลกระทบต่อคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีเทคโนโลยีสูง (รถยนต์แบบผลิตทีละคัน) และมีผลต่อการผลิตสินค้าอื่นๆ ที่รับเทคโนโลยีการผลิตนี้ไปใช้ด้วย

พาเรดเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในกรุงนิวยอร์ก ปี 1900 ลองสังเกตจะเห็นว่าตรงกลางภาพมีรถยนต์กำลังแล่นอยู่ ที่มาภาพ : http://mountaintownnews.net/2015/08/20/tony-sebas-startling-view-of-market-disruptions/
พาเรดเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในกรุงนิวยอร์ก ปี 1900 ลองสังเกตจะเห็นว่าตรงกลางภาพมีรถยนต์กำลังแล่นอยู่ ที่มาภาพ : http://mountaintownnews.net/2015/08/20/tony-sebas-startling-view-of-market-disruptions/
 พาเรดเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในกรุงนิวยอร์ก ปี 1900 ไม่มีม้าสักตัวปรากฏให้เห็นสายตา
พาเรดเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในกรุงนิวยอร์ก ปี 1900 ไม่มีม้าสักตัวปรากฏให้เห็นสายตา

ในอดีตที่ผ่านมา เราเห็นสินค้าหลายชนิดถูกเทคโนโลยีใหม่ทดแทนกันอย่างต่อเนื่อง สินค้าบางชนิดหายไปต่อหน้าต่อตาเราภายในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เอง ลองทวนความจำกันดีไหมครับ

ใกล้ตัวที่สุดคืออุตสาหกรรมเพลง ที่เราเห็นแผ่นเสียงถูกทดแทนด้วยเทป ซีดี และทั้งหมดกำลังถูกทดแทนด้วยเพลงดิจิทัลและการฟังเพลงออนไลน์ (จำผู้นำตลาดอย่าง Sony Walkman ได้ไหมครับ) และโมเดลธุรกิจก็เริ่มจะเปลี่ยนไปจากการขายแผ่น ขายเพลง กลายเป็นธุรกิจบอกรับสมัครสมาชิก บริษัทที่ไม่ปรับตัวก็อาจจะถูกกลืนไปได้ง่ายๆ หรือในอุตสาหกรรมหนังสือและสื่อ ที่สื่อออนไลน์ก็กำลังเข้ามาทดแทนการพิมพ์หนังสือกระดาษ หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศที่เคยได้รับความนิยมต้องปิดตัวกันไปหลายแห่ง ในขณะเดียวกันเราก็เริ่มเห็นการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เริ่มเข้ามาทดแทนการโฆษณาผ่านช่องทางแบบเดิม ๆ

ยังจำกล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มได้ไหมครับ ยี่สิบปีก่อนใครจะเชื่อว่าตลาดฟิล์มที่แข่งกันอย่างหนักจะหายไปเลยทั้งอุตสาหกรรม แล้วร้านขายฟิล์มและล้างฟิล์มในอดีตต้องปรับตัวอย่างไร หรือทราบไหมครับว่า Blackberry หรือโทรศัพท์มือถือ Nokia ที่เคยครองตลาดทั่วโลกเมื่อสิบปีที่แล้วหายไปไหน หรือร้านเช่าวิดีโอที่เคยมีอยู่ทั่วไปหายไปไหนกันหมด หรือยังจำเพจเจอร์ และ PDA (เช่น Palm Pilot) ที่เคยเป็นที่นิยม (แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม) ได้ไหมครับ หรือทีวีแบบหลอดภาพก็หายไปเกือบหมดแล้ว และถูกทดแทนด้วยทีวีแบบ plasma และ LED แม้ยี่ห้อของทีวีจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก แต่ถ้าธุรกิจเหล่านี้ (และผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง) ไม่ลงทุนในเทคโนโลยี ก็อาจจะกลายเป็นธุรกิจล้าสมัยและตกยุคเอาง่ายๆ หรือสายการบินต้นทุนต่ำก็กำลังค่อยๆ บีบให้ธุรกิจรถโดยสาร (หรือแม้แต่รถไฟ) ต้องปรับตัวอย่างหนัก

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเงื่อนไขของตลาดจึงเป็นเรื่องธรรมดาและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่สำคัญคือนักลงทุนและผู้ประกอบการจะปรับตัวอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถมองแนวโน้มของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องหรือไม่ บางบริษัทที่คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมผ่านเงื่อนไขของอุตสาหกรรมในขณะนั้นอาจจะพลาดจนแพ้การแข่งขันไปเลยก็ได้ เช่น ในปี ค.ศ. 1985 AT&T เชื่อว่าจำนวนคนใช้มือถือในสหรัฐฯ จะมีแค่ 900,000 คนในปี ค.ศ. 2000 ในขณะที่จำนวนจริงๆ คือกว่า 100 ล้านคน ทำให้ผู้นำในธุรกิจพลาดโอกาสไปได้เช่นกัน

แม้การรับเทคโนโลยีช้าเกินไปจะเป็นความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันการกระโดดเข้าไปใช้เทคโนโลยีก็มีความเสี่ยง หากธุรกิจรับเอาเทคโนโลยีที่สุดท้ายแล้วกลายเป็น “ผู้แพ้” ก็ได้ เช่น การแข่งขันในเรื่องมาตรฐานของ Bluray กับ HD-DVD หรือถ้าเราลงทุนในเทคโนโลยีที่ยังไม่พัฒนาถึงขั้นสุด และไม่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นต่อเนื่องไปได้ ก็อาจเป็นต้นทุนราคาแพง

มองไปข้างหน้า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น แนวโน้มเหล่านี้จึงน่าจะเกิดขึ้นเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น และมีโอกาสเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น Uber ที่เรียกตัวเองเป็นบริษัทเทคโนโลยีกำลังส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก และเปลี่ยนการแข่งขันในธุรกิจแท็กซีที่เคยได้รับการปกป้องไปอย่างรุนแรง การเข้ามาของ airbnb จะทำให้ผู้ประกอบการห้องพักรายย่อยสามารถแข่งกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม หรือ alibaba จากประเทศจีน ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก การค้าระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ การชำระเงิน หรือแม้แต่การให้สินเชื่อและการลงทุน และไม่เพียงแต่ในจีนเท่านั้น แต่อาจจะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันในอีกหลายอุตสาหกรรมในหลายประเทศทั่วโลก

แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพได้รับการปกป้อง และธุรกิจแบบตัวกลาง กำลังถูกเขย่าขวัญอย่างหนัก เพราะธุรกิจที่มีกำไรส่วนเกินจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม และการคุ้มครองธุรกิจจากรัฐแบบเดิมๆ จะทำได้pากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการแข่งขันจะเข้ามาในรูปแบบที่ป้องกันยากขึ้นเรื่อยๆ และผู้บริโภคอาจจะเป็นคนที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ในตอนถัดไป ผมจะเล่าให้ฟังถึงแนวโน้มของ disruptive technology ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และอาจจะมีผลต่อหลายอุตสาหกรรมที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Optimise กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร