ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” ยันไม่คลายกฎเหล็ก คสช. คุมรณรงค์ประชามติ รธน. – ครม. ออก 4 มาตรการช่วยชาวสวนผลไม้ วงเงิน 35,000 ล้าน

“ประยุทธ์” ยันไม่คลายกฎเหล็ก คสช. คุมรณรงค์ประชามติ รธน. – ครม. ออก 4 มาตรการช่วยชาวสวนผลไม้ วงเงิน 35,000 ล้าน

6 กรกฎาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระหว่างให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระหว่างให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระหว่างให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” ไม่คลายกฎเหล็ก คสช. โค้งสุดท้ายประชามติ รธน.

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ที่จะมีการออกเสียงในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งมีผลโพลจากสื่อสำนักหนึ่งระบุว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่าจะมีการทำประชามติในวันดังกล่าว ว่า ตนพูดเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ อยู่ตลอด ครู ก. ครู ข. และครู ค. ก็มีอยู่ แต่เหตุที่ประชาชนไม่ทราบวันทำประชามติ ก็เนื่องมาจากคนส่วนใหญ่สนใจเรื่องปากท้องเป็นหลัก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดีอยู่ด้วย หลายๆ คนจึงต้องมุ่งทำงานหาเงินมาใช้เป็นหลัก

เมื่อถามว่าเหตุที่ประชาชนไม่ทราบ เพราะบรรยากาศไม่คึกคัก เนื่องจากการรณรงค์ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็มันผิดกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) แล้วจะรณรงค์อะไรกันหนักหนา เพราะคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็อธิบายถึงข้อดีข้อเสียไปแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องไปรับ ส่วนตัวมองว่าถ้าจะไม่รับมีประเด็นสำคัญอย่างเรื่องเดียว คือนักการเมืองทุจริตเข้ามาไม่ได้

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาการรณรงค์ของหลายๆ กลุ่มก็ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่กลับทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ระบุว่าผิดประกาศ คสช. แทน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รณรงค์คืออะไร คือการบอกว่าจะรับหรือไม่รับใช่หรือไม่ ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามมติ ถ้ามันวุ่นวายขึ้นมา กกต. ก็มาร่วมรับผิดชอบด้วย และตนก็สงสัยว่าทำไมจะไปรณรงค์กันเงียบๆ ไม่ได้

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะผ่อนคลายประกาศ คสช. เพื่อให้บรรยากาศก่อนทำประชามติดีขึ้นหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มี เพราะบรรดานักการเมืองหลายคนได้เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วหรือยัง ถ้าคิดว่าจะกลับไปให้เหมือนปี 2551 และปี 2553 ที่มีเหตุระเบิดกันโครมครามก็เอาสิ เพราะพวกท่านเป็นคนตัดสินอนาคตของบ้านเมือง ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน ตนก็มี 1 เสียง ถึงเวลาก็ไปเลือก เพราะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน แต่จะลงประชามติว่ารับหรือไม่รับ เป็นเรื่องของตน

แจง “ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย” มีอยู่แล้ว – ปัดตั้งใหม่กดดันรับรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงการจัดตั้ง “ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย” เพื่อสนับสนุนให้การจัดทำประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงว่า ศูนย์นี้เป็นของเก่าตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นมาใหม่ โดย คสช. ก็มีหน้าที่ดูแลความสงบ ส่วนกระทรวงมหาดไทย (มท.) ก็มีหน้าที่สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งและทำประชามติของ กกต. อยู่แล้ว หากใครทำผิดกฎหมายก็นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าผิด พ.ร.บ.ประชามติ ก็แจ้ง กกต. ดำเนินการ ถ้ามีคนตีกัน คสช. ก็จะเข้าไปจัดการ

“ผมไม่เชื่อว่าศูนย์ฯ นี้จะสร้างแรงกดดันต่อประชาชนในการทำประชามติ เพราะตนไม่เคยบอกให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่บอกว่าอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญฯ ถูกล้ม เพราะตนอยากอยู่ต่อก็ไม่เป็นความจริง เพราะมันมีโรดแมปอยู่แล้ว หรือที่กังวลว่าจะไม่มีการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คนที่อยากล้มไม่ใช่ตนอย่างแน่นอน แต่มีคนบางกลุ่มที่จ้องจะล้มอยู่ ซึ่งต้องบอกว่าถ้าอยากจะลองของ ก็ลองดู” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี เป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากนำเสนอเนื้อหาที่ขัดกับประกาศหรือคำสั่งของ คสช. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กสทช. ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำให้เหตุการณ์บานปลาย

เดินหน้าสร้างเชื่อมั่น e-payment – ปรับงบท้องถิ่นเป็น 30% เท่าเดิม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้ง e-payment, prompt pay และ e-bidding ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดการทุจริต เพราะอย่าง e-payment ก็เป็นการโอนเงินตรวจระหว่างบัญชีแล้วเงินจะไปหายที่ตรงไหน ส่วนการใช้ e-bidding ในการจัดซื้อจัดจ้างก็เพื่อสร้างความโปร่งใส แต่เบื้องต้นอาจจะยังมีความไม่เข้าใจบ้างเนื่องจากเป็นความเปลี่ยนแปลง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แสดงความไม่พอใจว่า อปท. จะได้รับงบประมาณในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ไม่ถึง 30% ของงบประมาณทั้งหมดตามปกติ ว่า ตนอยากชี้แจงว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีการปรับโครงสร้างภาษีซึ่งจะทำให้ อปท. หารายได้ได้เพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านบาท แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจก็จะให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ไปแปรญัตติให้ได้เกินกว่า 30% เท่าเดิม ทั้งนี้ อยากเรียกร้อง หาก อปท. มีอะไรไม่พอใจก็ควรจะแสดงความเห็นมาตามช่องทางปกติน่าจะดีกว่า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังเกิดขึ้นรายวัน แม้ในช่วงสุดท้ายของเทศกาลรอมฎอน ว่า เป็นปกติอยู่แล้วที่จะเกิดเหตุขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ ตนอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพราะจะให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ ตนอยากถามว่าทำไมคนอื่นๆ ไม่ร่วมรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้ คงจะไม่มีการออกมาตรการพิเศษอะไรมาเพิ่มเติม แต่จะเน้นไปที่การเพิ่มการตรวจตราหรือตั้งด่านตรวจแทน ซึ่งที่ผ่านมา สถิติการก่อเหตุในพื้นที่ก็ลดลง จะไม่ให้เกิดเหตุเลยคงไม่ได้

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่น่าสนใจ มีดังนี้

ครม. ออก 4 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ วงเงิน 3.5 หมื่นล้าน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ประสบภัยแล้งปี 2559 ใน 4 มาตรการ รวมวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

  1. มาตรการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เดิมของเกษตรกรไปอีก 2 ปีนับถัดจากงวดชำระเดิม และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรในอัตรา 3% ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี โดยเป้าหมายช่วยเกษตรกร 95,000 ราย
  2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนสร้างแหล่งน้ำสำรองและการบริหารจัดการน้ำ รายละไม่เกิน 130,000 บาท และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตรา 3% ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก โดยให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยเป้าหมายช่วยเกษตรกร 95,000 ราย ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้าน แหล่งน้ำที่ทางรายการดำเนินการมาก่อน
  3. มาตรการการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกทดแทนไม้ผลชนิดเดิมหรือปรับเปลี่ยนไม้ผลชนิดอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อัตราไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ให้เกษตรกรประเภทเสียหายสิ้นเชิง จำนวน 11,600 ราย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตรา 3% ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีแรก สำหรับกำหนดชำระคืนและหลักประกันเงินกู้ เป็นไปตามที่ ธ.ก.ส. กำหนด
  4. มาตรการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการผลิตไม้ผลคุณภาพดี การบริหารจัดการการผลิต และการตลาด ตลอดจนถึงระบบโลจิสติกส์ เป้าหมาย ช่วยเหลือเกษตรกร 95,000 คน ทั้งประเภทเสียหายสิ้นเชิงและประเภทได้รับผลกระทบ

โดยการดำเนินการประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 1. ขั้นเตรียมการระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559 2. ขั้นดำเนินการ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2559 3. การติดตามผลและประเมินผล ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 – เดือนธันวาคม 2562

ขยายระยะเวลาโครงการเงินกู้ช่วยชาวไร่อ้อย

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ตามโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 จาก “ให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี นับตั้งแต่กู้ยืม” แก้เป็น “กำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นตามโครงการ แยกตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน คือ หากเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ให้คืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ปี และหากเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ให้คืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี”

เห็นชอบ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ แก้ขั้นตอนขอใบ รง.4 – ตั้ง “มงคล” เป็นอธิบดีกรมโรงงาน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ เช่น แก้ไขบทนิยามคำว่า “โรงงาน” ให้หมายถึงโรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้า หรือมีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จึงจะเข้าข่ายการขออนุญาตใบ รง.4 โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะควบคุมดูแลกิจการที่มีขนาดเครื่องจักรตั้งแต่กำลัง 50 แรงม้าขึ้นไป ส่วนที่ต่ำกว่า 50 แรงม้ามอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำกับดูแล, ปรับปรุงวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้เร็วขึ้น คือถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรียบร้อย ก็จะให้ผู้ขออนุญาตยื่นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานให้เจ้าหน้าที่พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วจะไปตรวจสอบทำเลที่ตั้ง หากไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็จะออกใบอนุญาตกิจการโรงงาน รง.4 ให้ทันที, การขอต่อใบอนุญาตประกอบ คือ ในการต่ออายุใบอนุญาต ขอให้ผู้ขอยื่นและชำระค่าธรรมเนียมให้เรียบร้อย ก็จะต่อใบอนุญาตให้ทันทีโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติสลับตำแหน่งกัน ระหว่างนายพสุ โลหารชุน จากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายมงคล พฤกษ์วัฒนา จากอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ไฟเขียวค้ำประกันสินเชื่อช่วย Startup วงเงิน 1 หมื่นล้าน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรมผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดบประมาณการดำเนินโครงการไม่เกิน 1.7 พันล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 และปีต่อๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ บสย. ตกลงกับสำนักงบประมาณ ในรายละเอียดต่อไป

สำหรับเงื่อนไขโครงการก็เช่น อายุค้ำประกันโครงการไม่เกิน 10 ปี, วงเงินค้ำประกันต่อรายแบ่งเป็นกรณี ประเภทบุคคลธรรมดา คือ ผู้ประกอบการใหม่ ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย และผู้ประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย และกรณีประเภทนิติบุคคล คือ ผู้ประกอบการใหม่ ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย และผู้ประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย, ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1-2% ต่อปีของวงเงินค้ำประกันตลอดอายุค้ำประกันโครงการ ฯลฯ กำหนดระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ให้ รมว.ทส. นำทีมเคลียร์มรดกโลก ทั้งปม “เขาใหญ่-แก่งกระจาน”

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเอกสารแสดงท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 40 ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 10-20 กรกฎาคม 2559 โดยการประชุมครั้งนี้ มีวาระที่เกี่ยวข้องกับไทย 3 วาระ ประกอบด้วย

  1. วาระที่ 40 COM 7B.90 รายงานสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้ว แต่จะถูกเปลี่ยนสถานะให้อยู่ใน “ภาวะอันตราย” เนื่องจากปัญหาเรื่องการลักลอบตัดไม้พะยูง โดยตัวแทนรัฐบาลไทยจะไปชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหาการลักลอบต้นไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะไม้พะยูง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
  1. วาระที่ 40COM 8B.11 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งทางคณะกรรมการมรดกโลกมีความเป็นห่วงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยตัวแทนรัฐบาลไทยจะไปชี้แจงว่าไม่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น
  1. วาระที่ 40COM 8B.23 การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี จะขอถอนออกมาก่อน เพื่อไปเอกสารรายละเอียดประกอบการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลไทย และให้เป็นผู้กำหนดท่าทีในประเด็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยให้คำนึงถึงหลักการของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และข้อมูลด้านเทคนิคและวิชาการจากองค์กรที่ปรึกษา