ThaiPublica > เกาะกระแส > กิจการร่วมค้า NVPSKG ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” กรณีเลิกสัญญาโครงการคลองด่านมิชอบ

กิจการร่วมค้า NVPSKG ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” กรณีเลิกสัญญาโครงการคลองด่านมิชอบ

14 กรกฎาคม 2016


ตัวแทนกิจการร่วมค้า NVPSKG ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนเอาผิด นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวก กรณีสั่งยกเลิกโครงการคลองด่าน เมื่อปี 2546 โดยมิชอบ
ตัวแทนกิจการร่วมค้า NVPSKG (ขวา) ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนเอาผิดนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวก รวม 7 คน กรณีสั่งยกเลิกโครงการคลองด่าน เมื่อปี 2546 โดยมิชอบ

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายไพสิฐ อิ่มเจริญกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกิจการร่วมค้า NVPSKG อดีตผู้ทำสัญญาดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ (คลองด่าน) กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านทางนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนเอาผิดกับนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดี คพ. และพวก รวม 7 คน ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 157 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณียกเลิกสัญญาโครงการคลองด่านกับกิจการร่วมค้า NVPSKG โดยมิชอบ เมื่อปี 2546

นายไพสิฐกล่าวว่า สำหรับพยานหลักฐานสำคัญที่มายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เอาผิดนายประพัฒน์กับพวก มีด้วยกัน 3 รายการ ประกอบด้วย

  1. คำให้สัมภาษณ์ของนายประพัฒน์ที่ระบุว่าการยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าวเพื่อต้องการเล่นงานอดีตรัฐมนตรีบางคน
  2. คำเบิกความของนายประพัฒน์ในชั้นศาลที่ระบุว่าการย้ายนายอภิชัยมาเป็นอธิบดี คพ. เพื่อมาทำให้สัญญาโครงการคลองด่านเป็นโมฆะ
  3. คำสั่ง คพ. ที่ 115-117/2259 ที่ให้เรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายประพัฒน์กับพวกเท่ากับจำนวนที่ คพ. ต้องชำระให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

“เหตุผลสำคัญที่กิจการร่วมค้า NVPSKG มายื่นคำร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เอาผิดนายประพัฒน์กับพวก ก็เนื่องมาจากที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนร่วมในการทุจริตโครงการคลองด่าน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติไม่ชี้มูลกิจการร่วมค้า NVPSKG ไปแล้ว หากผลการไต่สวนคำร้องล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่าจะทำให้สังคมได้เห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นคนที่กระทำผิดตัวจริง” นายไพสิฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจแค่ไหนว่าจะเอาผิดนายประพัฒน์กับพวกได้ เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดคดีที่เกี่ยวกับโครงการคลองด่าน ทั้งในส่วนการเสนอโครงการและในส่วนการรวบรวมที่ดินว่ามีการทุจริตจริง นายไพสิฐกล่าวว่า คดีคลองด่านในส่วนของการเสนอโครงการ เดิมมีผู้ถูกกล่าวหาถึง 36 คน ซึ่งรวมถึงกิจการร่วมค้า NVPSKG ด้วย แต่สุดท้าย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาเพียง 3 คนเท่านั้น คือนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดี คพ. กับพวก ส่วนกิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่ถูกชี้มูล แต่ในเมื่อสังคมยังตั้งข้อสงสัยกับกิจการร่วมค้า NVPSKG อยู่ จึงมายื่นเรื่องให้ไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อให้สังคมสิ้นข้อสงสัย

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 84 ได้กำหนดอายุความในการยื่นคำร้องให้ไต่สวนเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐคือไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเกินระยะเวลาดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะทำให้ถูกยกคำร้องเพราะขัดกับข้อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ นายไพสิฐกล่าวว่า ก็คงต้องอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เหตุที่เราเพิ่งมายื่นคำร้องก็เนื่องจากเพิ่งมีพยานหลักฐานบางอย่าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำคำร้องที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดีในกระบวนการต่างๆ หรือไม่ นายไพสิฐกล่าวว่า คงไม่ เพราะเราต้องการแค่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิสูจน์ว่าความจริงเป็นอย่างไร คงจะไม่นำไปใช้ประโยชน์ในทางคดีอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติอายัดเงินที่จะจ่ายให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามมติ ครม. ในงวดที่ 1 (บางส่วน) งวดที่ 2 และงวดที่ 3 รวมเป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท โดยอ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อปลายปี 2558 ที่ตัดสินให้จำคุกนายปกิตกับอดีตข้าราชการระดับสูงใน คพ. รวมจำนวน 3 คน ซึ่งส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่ากิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนร่วมในการทุจริตโครงการคลองด่านด้วย นายไพสิฐกล่าวว่า มติของ ปปง. ดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับกิจการร่วมค้า NVPSKG เนื่องจากเงินที่จะได้รับทั้ง 3 งวด เป็นเงินที่จ่ายตามมติ ครม. และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ใช่เงินที่เกิดจากการทำธุรกรรม นอกจากนี้ ในคดีดังกล่าว กิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่ได้เป็นจำเลยในชั้นศาล และเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะพยานที่เข้าไปเล่าความเป็นมาของโครงการเท่านั้น การเอาบางส่วนของคำพิพากษามาใช้จึงไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนมติ ปปง. กรณีสั่งอายัดเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ไปแล้ว ส่วนงวดที่ 1 (บางส่วน) ปปง. เพิ่งมีมติไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ตามกฎหมายยังมีเวลาให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ชี้แจงภายใน 30 วัน หากยังไม่ได้คืนมา ก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติ ปปง. ดังกล่าวต่อไป

“ตามกฎหมาย มติ ปปง. ที่ให้อายัดเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 จะครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน ในต้นเดือนสิงหาคม 2559 หลังจากนั้น ถ้า ปปง. ต้องการอายัดก็ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ซึ่งกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็คงจะต้องไปต่อสู้คดีทุกทางเท่าที่จะทำได้” นายไพสิฐกล่าว