ThaiPublica > คอลัมน์ > มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย: กรณีกฎหมายประชามติ

มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย: กรณีกฎหมายประชามติ

4 กรกฎาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้เขียนเคยเขียนเรื่อง “มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย” ไปแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (อ่านย้อนหลังได้ที่นี่) แต่เมื่อเห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ซึ่งลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า “พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2557 มาตรา 4” ก็เป็นเหตุให้ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเขียนว่า ““นิติรัฐ” กับ “กฎหมาย” นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน …ยิ่งผู้ใช้อำนาจไม่เข้าใจ และคนจำนวนมากตกอยู่ใต้มายาคติ การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ว่าเรื่องไหนไม่เพียงแต่จะเกิดยากเท่านั้น แต่สังคมยิ่งจะตกหล่มถอยหลังมากกว่าเดิม เพราะกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจ โดยขาดกลไกตรวจสอบและไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน”

ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนสะท้อนใจว่า แม้แต่ศาลก็อาจตกอยู่ใต้มายาคติเกี่ยวกับกฎหมายเช่นกัน

มาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ฉบับของคณะรัฐประหาร ระบุว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาล รธน. ยืนยันว่ามาตรา 61(2) ใน พ.ร.บ. ประชามติ ขัดต่อหลักเสรีภาพ โดยอธิบายอย่างชัดเจนดังนี้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

“การที่มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่น คำว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “ปลุกระดม” ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอน ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ “หยาบคาย” นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ต้องมีโทษทางกฎหมาย ขณะที่บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ก็เป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท หรือฐานทำให้หญิงแท้งลูกและถึงแก่ความตาย การบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร

“เราเห็นว่า บรรยากาศการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติทุกวันนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงาผิดปกติ ทั้งที่ใกล้ถึงเวลาลงประชามติแล้ว โดยที่ประชาชนที่มีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างไม่กล้าแสดงออก ถกเถียง หรือทำกิจกรรม ดังที่มีตัวอย่างการจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แจกเอกสารแสดงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 7 คนในปัจจุบัน บรรยากาศเช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และมีแต่จะทำให้ผลการลงประชามติไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก”

แถลงข่าวของไอลอว์
แถลงข่าวของไอลอว์

พูดง่ายๆ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับบอกเป็นนัยๆ ว่า “ประเพณีการปกครอง” ของไทยที่ผ่านมาไม่คุ้มครองสิทธิของเราที่จะ “ก้าวร้าว” หรือ “หยาบคาย” ฉะนั้นพฤติกรรมซึ่งเคยเป็นเรื่องของแรงกดดันทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเหล่านี้ จึงสามารถเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (!)

โดยปกติ การตีความกฎหมายตามตัวอักษร และตามเจตนารมณ์ เป็นสิ่งที่ต้องทำประกอบกันเพื่อหยั่งทราบถึงความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมาย แต่ถ้าการตีความทั้งสองวิธีนี้ขัดแย้งกัน ต้องถือเอาการตีความตามเจตนารมณ์เป็นใหญ่ เพราะเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายนั้นๆ ย่อมสำคัญกว่าลายลักษณ์อักษร

วิธีตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์นั้น ถ้าเป็นกฎหมายที่กําหนดความผิดและโทษ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด การกระทําการใดหรืองดเว้นกระทําการใดจะถือว่าเป็นความผิดและลงโทษได้ต่อเมื่อมีกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น และจะตีความให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลมิได้

หากมีตัวบทกฎหมายที่จํากัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดเช่นกัน และจะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษ หรือเพิ่มโทษให้หนักกว่าเดิมไม่ได้

ตัวอย่างการอุดช่องว่างทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคที่สอง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

ผู้เขียนยกตัวอย่างหลักกฎหมายเบื้องต้นบางประการมาข้างต้น เพื่อให้ทุกท่านลองพิจารณาว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณี พ.ร.บ. ประชามติ เป็นอีกกรณีใช่หรือไม่ที่พิสูจน์ว่า “นิติรัฐ” กับ “กฎหมาย” นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

อีกทั้ง “ความยุติธรรม” กับ “ศาล” ก็อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันอีกเช่นกัน.