ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องหลังเจรจาชดเชยค่าเสียหายข้อพิพาทขึ้นค่าทางด่วน 8,000 ล้าน – เผยเงินเดือนจนท.เก็บเงินเฉลี่ย 50,000 บาท/คน/เดือน

เบื้องหลังเจรจาชดเชยค่าเสียหายข้อพิพาทขึ้นค่าทางด่วน 8,000 ล้าน – เผยเงินเดือนจนท.เก็บเงินเฉลี่ย 50,000 บาท/คน/เดือน

27 กรกฎาคม 2016


ถึงแม้ “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” หรือ กทพ. ไม่ได้เป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่ต้องฟื้นฟูกิจการเร่งด่วน อีกทั้งยังถูกจัดอันดับล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้เป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอที่ไร้ปัญหา แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่า กทพ. มีข้อพิพาทจำนวนมากที่สุดในบรรดารัฐวิสหากิจ 56 แห่ง ซึ่งอาจจะก่อปัญหาทางการเงินในอนาคตได้

หนึ่งในข้อพิพาทที่อาจจะสร้างความเสียหายในระยะยาว คือข้อพิพาทกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากมิได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางในปี 2546 ให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานโครงข่ายในเขตเมืองและนอกเขตเมืองของระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งต้องปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี รวมถึงข้อพิพาทเรื่องการขึ้นค่าทางด่วนในปี 2551 และ 2556 อีก 14,000 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยผิดนัดสัญญา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากชี้ขาดให้ชดเชยค่าเสียหายกรณีที่มิได้ปรับขึ้นค่าทางด่วนในปี 2546 โดยให้ชำระเงินค่าเสียหายจากส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญาสัมปทาน พร้อมดอกเบี้ยเป็นมูลค่า 4,368 ล้านบาท รวมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดสัญญาจากเงินต้นอีก 3,776 ล้านบาท (และเป็นรายวันนับตั้งแต่ 1 เมษายน 2551 จนกว่าจะชำระค่าเสียหายแล้วเสร็จ) รวมเป็นเงิน 8,144 ล้านบาท

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กล่าวว่าในเบื้องต้น กทพ. ได้มีการเจรจากับ BEM เพื่อขอปรับลดค่าชดเชยดังกล่าว และได้มีการเจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย โดย BEM ยอมลดอัตราดอกเบี้ยการผิดนัดชำระหนี้ให้ โดยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากที่ BEM ได้รับจากสถาบันบันการเงิน ซึ่งเท่ากับลดหนี้ให้เกือบครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ต้องชดเชยความเสียหายทั้งหมด แต่สุดท้ายคณะกรรมการ กทพ. มีมติยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล

ที่มาภาพ  : เฟซบุ๊ก กทพ.หอกระจายข่าว
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก กทพ.หอกระจายข่าว

“ตอนนี้การทางพิเศษฯ มีคดีที่ฟ้องร้องเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าทางด่วนปี 2546 ซึ่งมีคำตัดสินแล้วให้ BEM ชนะ และยังมีคดีเดียวกันนี้กรณีขึ้นค่าทางด่วนของปี 2551 ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ และคดีขึ้นค่าทางด่วนปี 2556 รวมทั้งในปี 2561 ก็ต้องปรับค่าทางด่วนอีกเดิมทีบอร์ดการทางฯ ยอมเจรจา และ BEM ยอมลดวงเงินชดเชยค่าเสียหายเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งบอร์ดบางคนได้ยอมรับว่าต้องจ่ายตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการ เพราะหากไม่ดำเนินการบอร์ดชุดนี้จะต้องรับผิดชอบเนื่องจากทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเสียค่าโง่ให้กับเอกชน แต่เป็นคนทำให้รัฐเสียหาย ท้ายสุดการทางพิเศษบอกว่าถ้าไม่จ่ายเป็นเงินสด ก็ขอต่อสัญญาที่จะหมดอายุในปี 2563 แทน แต่ทางสหภาพฯ ร้องกับผู้ว่าการทางฯ ว่า หากต่อสัญญาเป็นการเอื้อให้เอกชน เพราะอีก 20 ปีต่อไป การทางพิเศษจะได้ประโยชน์เต็มๆ เป็นหมื่นล้าน ทาง BEM แจ้งว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต่อสัญญาและขอให้จ่ายเงินชดเชยเลย ซึ่งการทางพิเศษก็เดือดร้อน เพราะเขาไม่มีเงินจ่าย เมื่อหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้บอร์ดก็มีมติให้ฟ้องศาลปกครอง”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าตามข้อตกลงในการแบ่งผลประโยชน์จากค่าทางด่วนระหว่างการทางพิเศษกับ BEM ในช่วงแรก 10 ปีแรก 60:40 จากนั้น 10 ปีถัดไป 50:50 และ 10 ปีถัดไป 60:40 และตามสัญญาการปรับขึ้นทางด่วน จะปรับขึ้นทุก 5 ปี ปรับตามดัชนีเงินเฟ้อ โดยปรับขึ้นช่วงละ 5 บาท

“เรื่องนี้คนมักพูดว่าเสียค่าโง่ มันไม่ใช่ คุณทำให้เกิดค่าเสียหาย ไม่ทำตามสัญญาสัมปทาน ไม่ใช่ค่าโง่ หรือถ้าการทางพิเศษฯไม่ให้ขึ้นค่าทางด่วน เพราะกลัวประชาชนเดือดร้อน ก็เจรจาตกลงวิธีว่าจะชดเชยเอกชนอย่างไร ขยายสัมปทานก็ได้ ชดเชยเงินก็ได้ เอกชนก็ยอม แต่คุณไม่ทำอะไรเลย จะรับอย่างเดียว ถ้ารัฐจะสนับสนุนประชาชนให้ค่าทางด่วนถูกเป็นเรื่องที่ดีและเป็นหน้าที่ของรัฐด้วย แต่รัฐควรเป็นผู้รับผิดชอบในสิ่งที่รัฐต้องการสนับสนุน ไม่ใช่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน ไม่ใช่ปล้นผู้ลงทุนเพื่อสนับสนุนประชาชน การทางพิเศษฯอาจจะลดรายได้จากที่รับจากBEM 60% เหลือ 40% ที่เหลือไปอุดหนุนให้ทางด่วนถูกลงก็ได้” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ การทางพิเศษฯได้ร้องขอให้ทาง BEM จ้างพนักงานการทางพิเศษฯเก็บเงินค่าทางด่วน ที่ผ่านมาทาง BEM ยอมจ้าง โดยจ่ายเงินค่าจ้างให้การทางพิเศษฯปีละ 500-600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงิน หน่วยกู้ภัย เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานเก็บค่าทางด่วนมีผลตอบแทนเดือนละประมาณ 50,000 บาท แต่ถ้า BEM ว่าจ้างเองจะมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท

“การทางฯจะมีใบเรียกเก็บเงินแต่ละปีมาเลยว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ เหมือนประมาณว่าคุณให้งานฉัน ฉันก็จ้างคนของคุณทำงาน โดยคิดว่านี่คือสิ่งที่การทางพิเศษต้องได้รับ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ วงเงินดังกล่าวนี้รวมเงินเดือน สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล โบนัส 7 เดือน และเงินเดือนขึ้นปีละ 13% เฉลี่ยแล้วคนละ 50,000 บาท ทุกวันนี้การทางพิเศษรวย เพราะมีรายได้จาก BEM 60% และยังให้ BEM จ่ายค่าจ้างคนของเขาอีก เดิมทีทาง BEM ขอทำระบบจ่ายเงินค่าผ่านทางอัตโนมัติเพิ่มขึ้น แต่การทางพิเศษไม่ยอม บอกว่าคนการทางฯ จะตกงาน ซึ่งตรงนี้เป็นต้นทุนที่ BEM ต้องแบกภาระอยู่ และตอนนี้การทางพิเศษก็มีปัญหากับกรมทางหลวง เส้นทางวงแหวนใต้ มติ ครม. ระบุว่าให้กรมทางหลวงไปจ้างการทางฯ ดำเนินการ แต่กรมทางหลวงเขาไม่ยอมจ้าง เพราะการทางพิเศษคิดค่าดำเนินการอัตราเดียวกับที่คิดกับ BEM กรมทางหลวงไม่ยอม เพราะข้าราชการจ้างถูกกว่ารัฐวิสาหกิจ ก็เป็นเรื่องกันอยู่ ในส่วนของ BEM ที่ผ่านมาก็เจรจาขอยกเลิกไม่จ้าง ทางสหภาพฯ ก็ไม่ยอม ” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า “สมัยเริ่มแรกก็บอกว่ากลัวพนักงานจะตกงาน อยากให้ BEM ช่วยจ้าง แรกๆ ก็ช่วยจ้าง ตอนหลังส่งคนมาให้จ้างเยอะ ปีหนึ่งเป็น 100 คน เหมือนกับว่าอัฐยายซื้อขนมยาย ให้งานคุณแล้วให้จ้างงานกลับ โดยให้จ่ายเป็นเงินเข้าระบบของหน่วยงานตรงเลย ถามว่าทุกวันนี้ค่าทางด่วนราคานี้ใครได้ประโยชน์เยอะที่สุด ไม่มีใครพูดเลยว่า 60% ไปที่ กทพ. นะ ทุกวันนี้ขึ้นทางด่วนด่าเอกชน เพราะว่าต้องคิดค่าทางด่วนตามสัญญากับเอกชน แต่คุณเคยบอกว่าไหมว่าสัญญาแบ่งให้คุณเยอะที่สุด ทุกวันนี้ กทพ. ถึงรวยไง เพราะคุณได้รายได้ค่าผ่านทาง 60% คุณไม่เคยลดอะไรเลย ค่าใช้จ่ายคุณก็มาให้เอกชนจ่าย จ้างพนักงานคุณ โบนัสก็เลย 7 เดือน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานประจำปี 2558 ระบุว่าในปี 2558 มีพนักงาน 4,701 คน มีรายได้รวม 16,061 ล้านบาท เป็นรายได้ค่าผ่านทาง 13,795 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์พนักงาน 2,617 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 549,418 บาทต่อปี หรือ 45,785 บาทต่อเดือน มีกำไรสุทธิ 8,432 ล้านบาท มีเงินนำส่งเข้ารัฐ 3,373 ล้านบาท และมีกำไรสะสม 34,802 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายพนักงานและสวัสดิการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ปี 2558
ค่าใช้จ่ายพนักงานและสวัสดิการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ปี 2558

เปิดข้อพิพาท 26 คดี 40,869 ล้านบาท – กทพ. ไม่ลงบัญชี ชี้ยังไม่เสียหาย

สำหรับข้อพิพาทอื่นๆ จากรายงานประจำปี 2558 ระบุว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 จำนวน 26 คดี จำนวนเงิน 40,869.35 ล้านบาท (รวมคดีข้อพิพาทกับ BEM กรณีชดเชยปรับค่าผ่านทางในปี 2546 ซึ่งถูกชี้ขาดในช่วงต้นปี 2559) ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาล โดย กทพ. เชื่อว่าจะไม่เกิดความเสียหายจากผลของคดีอย่างเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น จึงไม่ได้บันทึกตั้งประมาณการหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ในบัญชี แบ่งเป็น

1) ข้อพิพาทที่ กทพ. ถูกฟ้องหรือถูกเรียกค่าชดเชยที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาข้อพิพาทชั้นคณะผู้พิจารณา จำนวน 1 คดี จำนวนเงิน 2,083.53 ล้านบาท

  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษฯ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2556 พร้อมดอกเบี้ย ตามสัญญาจำนวนเงิน 2,083.53 ล้านบาท จากการที่ปรับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนคณะผู้พิจารณากำหนดวันพิจารณา

2) ข้อพิพาทที่ กทพ. ถูกฟ้องหรือถูกเรียกค่าชดเชยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ จำนวน 7 คดี จำนวนเงิน 19,800.84 ล้านบาท

  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2543 เรียกร้องให้ กทพ. ชดเชยผลกระทบจาก “เหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น” ตามสัญญาข้อ 19 อันเนื่องจากการเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและสภาวะดอกเบี้ยสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จำนวนเงิน 5.12 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการกำหนดวันพิจารณา
  • บริษัท บิลฟิงเกอร์ พลัส เบอร์เกอร์ บาวอัคเตียนเกเซลชาฟท์ จำกัด บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทดิคเคอร์ฮอฟฟ์ แอนด์ วิดแมนน์ เอจี ในนามของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 เรียกร้องให้ กทพ. ชำระเงินค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่เพิ่มขึ้นในโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวนเงิน 17 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการกำหนดวันพิจารณา
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2551 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหาย (โครงข่ายในเขตเมืองและนอกเขตเมืองของระบบทางด่วนขั้นที่ 2) จากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษปี พ.ศ. 2546 จำนวนเงิน 4,368.00 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมืองตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทฯ เรียกร้อง จนกว่าจะมีการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2551 พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ ขณะนี้ข้อพิพาทรอศาลปกครองตัดสิน
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D จำนวนเงิน 1,048.24 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทเรียกร้องจนกว่าจะมีการดำเนินการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษ ให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31สิงหาคม 2551 พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนสืบพยาน
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมือง ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 9,091.79 ล้านบาท ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนการยื่นคำให้การพยานเป็นลายลักษณ์อักษรและซักถามพยานหมาย (ถ้ามี)
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาทจำนวนเงิน 4,062.83 ล้านบาท ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของคู่พิพาท
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในปี พ.ศ. 2546 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ทางพิเศษสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามอัตราค่าผ่านทางพิเศษในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 69 ล้านบาท ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของคู่พิพาท
ที่มาภาพ  : เฟซบุ๊ก กทพ.หอกระจายข่าว
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก กทพ.หอกระจายข่าว

3) ข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาลปกครองสูงสุด จำนวน 4 คดี จำนวนเงิน 8,647.28 ล้านบาท ดังนี้

  • บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างทางพิเศษเพิ่มเติมโครงการเชื่อมต่อทางยกระดับดินแดง–ดอนเมือง กับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จำนวนเงิน 52.04 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้เรียกร้อง ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและเรียกร้องค่าเสียหายจากการทางพิเศษฯ จำนวนเงิน 81.40 ล้านบาท โดยศาลแพ่งให้โอนคดีไปศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกคำร้องของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
  • บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องการทางพิเศษฯ ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชำระดอกเบี้ยจากการขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ (บางพลี-บางขุนเทียน) 2 ครั้ง จำนวนเงิน248 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด การทางพิเศษฯ ได้แจ้งอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2547 เรียกร้องให้การทางพิเศษฯ ชดเชยรายได้ค่าผ่านทางพิเศษส่วนที่ลดลงไปอันเนื่องมาจากการเปิดใช้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานถึงรังสิต) ซึ่งถือว่าเป็นทางแข่งขัน จำนวนเงิน 1,790.00 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินตามที่บริษัทฯ เรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งพร้อมออกคำบังคับให้การทางพิเศษฯ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีที่ชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินตามที่บริษัทฯ เรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญารวมจำนวนเงิน 3,296.72 ล้านบาท พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
  • บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้การทางพิเศษฯ แบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษของโครงข่ายในเขตเมืองที่บริษัทฯ พึงได้รับเป็นจำนวนเงิน 3,831.48 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนับวันเปิดใช้งานของพื้นที่ส่วนแรกที่แตกต่างกัน ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินตามที่บริษัทฯ เรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 การทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และต่อมา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งพร้อมออกคำบังคับให้การทางพิเศษฯ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการโดยคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มเติมจนถึงวันฟ้อง จำนวนเงิน 1,189.68 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 5,021.16 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกคำร้องของการทางพิเศษฯ ที่ร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 พนักงานอัยการผู้รับมอบอำนาจจากการทางพิเศษฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

4) คดีเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม และชดใช้ค่าเสียหายและผิดสัญญา จำนวน 14 คดี รวมเป็นเงิน 10,337.70 โดย 7 คดีอยู่ในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำนวนเงิน 37.58 ล้านบาท, 6 คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา จำนวนเงิน 10,038.65 ล้านบาท และ 1 คดีอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด จำนวนเงิน 261.47 ล้านบาท