ThaiPublica > คอลัมน์ > Brexit….มาถึงตรงนี้ได้อย่างไร?

Brexit….มาถึงตรงนี้ได้อย่างไร?

28 มิถุนายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

คนอังกฤษ 17.6 ล้านคนลงมติสวนทิศทางที่ผู้รู้ทั้งหลายทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ หรือนักการเมืองเห็นตรงกันว่าการออกจาก EU คือการทำลายตนเองโดยแท้ อะไรทำให้อังกฤษมาถึงตรงนี้ได้

ในการลงประชามติมีผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 46.73 ล้านคน แต่มาลงคะแนนเสียง 33.55 ล้านคน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 71.8 ในจำนวนนี้คนที่ต้องการออกจาก EU มี17.41 ล้านคน ต้องการอยู่ต่อ 16.14 ล้านคน ดังนั้นในจำนวนประชาชนที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มีวิจารณญานทั้งหมดจึงมีคนแสดงความต้องการออกจาก EU จริง ๆ ร้อยละ 37.3 (17.41 ÷ 46.73) x 100) ที่เหลือคือคนที่ไม่ต้องการออกและผู้ที่ไม่มาลงคะแนนเสียง

การเฉือนชนะกันด้วยคะแนน 1.27 ล้านคน (17.41 – 16.14) ในผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 46.73 ล้านคน ซึ่งมีคนแสดงความต้องการชัดเจนว่าต้องการออกจาก EU 17.41 ล้านคน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 37.31 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด เป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าตกใจ

ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งโลกเกือบร้อยละร้อยเห็นตรงกันว่า Brexit จะทำให้อังกฤษเสียหายครั้งใหญ่ อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นจะลดลงร้อยละ 2.9 และเลวร้ายกว่านี้ในระยะยาว การค้าระหว่างประเทศจะลดน้อยลง (อังกฤษส่งออกไป EU ร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะลดลง ค่าเงินปอนด์ลดลง ฯลฯ ทั้งหมดก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภาพ (productivity) ซึ่งเป็นหัวใจของความมั่งคั่งของเศรษฐกิจอังกฤษ

ไม่ว่าจะชนะกันด้วยคะแนนเท่าใด มีผู้มาลงคะแนนเสียงกี่คน กติกาของระบอบประชาธิปไตยก็คือเสียงส่วนใหญ่ทั้งนี้เพื่อให้มีคำตอบอย่างไม่ต้องใช้กำลังหรือความรุนแรง ซึ่งการมีคำตอบนี้มีราคาแพงมากในกรณีนี้ เพียงร้อยละ 37 ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดแสดงความประสงค์ชัดเจนว่าต้องการออก ระบอบประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้การแสดงเจตจำนงค์ลาออกของ David Cameron นายกรัฐมนตรีทันทีที่รู้ผลคือความงดงามของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบซึ่งสะท้อนเสียงของประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริงก็ตาม เมื่อ “เสียงส่วนน้อย” แสดงความเห็นชัดเจนก็ต้องเป็นไปตามกลไกนี้ ช่วยไม่ได้กับคนอีก 13.8 ล้านคนที่เขาให้โอกาสแล้วแต่ไม่มาลงคะแนนเสียง

ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2016/05/11/12/340824BA00000578-0-The_Vote_Leave_campaign_bus_pictured
ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2016/05/11/12/340824BA00000578-0-The_Vote_Leave_campaign_bus_pictured

Josep Carmona Coca สื่ออังกฤษให้เหตุผล 8 ข้อว่าเหตุใดฝ่ายต้องการออกจาก EU (Leave) จึงชนะฝ่ายต้องการอยู่ต่อ (Remain)

(1) การขู่ให้กลัวด้านเศรษฐกิจของฝ่าย Remain ไหม้มือตัวเอง สาธารณชนได้รับข้อมูลด้านลบจากแหล่งต่างๆมากมายเช่นจาก IMF /OECD /ธนาคารกลาง / นักวิชาการ / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรี / สารพัดผู้รู้ แม้แต่ประธานาธิบดี Obama ยังบินมาบอกว่าถ้าออกละก็อาจต้องไปเข้าคิวใหม่เพื่อให้ได้เงื่อนไขการค้าที่ดี ในที่สุดฝ่าย Leave ก็ไม่เชื่อ ทั้งหมดนี้มิได้เป็นแต่เพียงการปฏิวัติต่อกลุ่มคนหรือความเชื่อเก่า เดิม ๆ (Anti-establishment) เท่านั้น แต่ฝ่าย Leave ส่วนหนึ่งกลายเป็นเชื่อว่าพวกตรงข้ามคือพวกคนรวย พวกชนชั้นนำทางสังคมซึ่งมีผลประโยชน์จากการอยู่ใน EU การชนะของ Leave แสดงว่ามีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งมิได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเป็นสมาชิก EU ดังนั้นจึงไม่แคร์

(2) ในตอนต้นฝ่าย Leave อ้างว่าการออกจาก EU จะทำให้รัฐบาลมีเงินในมือเพิ่มขึ้นอาทิตย์ละ 350 ล้านปอนด์ฃึ่งสามารถเอามาช่วยด้านสาธารณสุขได้มาก แต่ต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวเลขที่เกินจริงอย่างไรก็ดีคนลงคะแนนได้ตัวเลขนี้ฝังลงไปในหัวแล้วดังนั้นจึงเห็นว่าทำไมจะต้องจ่ายเงินมากขนาดนี้ให้ EU

(3) การมีคนอพยพเข้าประเทศมากขึ้นทำให้ กลุ่ม Leave รู้ดีว่าคนอังกฤษกังวลที่มีคนอพยพเพิ่มมากขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนอังกฤษซึ่งเป็นคนอนุรักษ์นิยมโดยธรรมชาติจึงไม่พอใจ เมื่อมีคนมาบอกว่าตรุกีจะเป็นสมาชิก EUและจะนำไปสู่การอพยพเข้ายุโรปโดยเฉพาะอังกฤษด้วยอีกมากมายในอนาคตอันใกล้ตามเงื่อนไขของการเป็นสมาชิก EU (กว่า 1 ล้านคนในปีที่ผ่านมามีคนอพยพเข้าสู่ยุโรปจากซีเรีย ตุรกี และหลายประเทศ) ฟางเส้นสุดท้ายคือตัวเลข 100,000คนที่คนต่างชาติอพยพเข้าอังกฤษในปีที่ผ่านมา

(4) คนเลิกฟังนายกรัฐมนตรี David Cameron การยอมเสี่ยงเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของพวก Remain โดยการอ้างว่าขอให้เชื่อใจเขาเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้ผล การไปเจรจากับ EU เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขอังกฤษกับ EU ในเรื่องเพดานการจ่ายเงินและอื่น ๆ ก่อนลงประชามติเพื่อช่วยฝ่าย Remain ก็ไม่มีผลทางใจต่อสาธารณชน คนหมดศรัทธาในความสามารถของเขาในการขอการผ่อนปรนจาก EU จนเชื่อว่าการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่าง EU กับอังกฤษไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หนทางเดียวก็คือการออกมาจาก EU เสีย

(5) ถึงแม้กว่าร้อยละ 90 ของ ส.ส.พรรค Labour สนับสนุน Remain แต่ก็ไม่อาจโน้มน้าวแรงงานซึ่งเป็นฐานเสียงให้เห็นตามได้เนื่องจากแรงงานเหล่านี้กลัวถูกแย่งงานโดยพวกอพยพใหม่

(6) เมื่อ Michael Gove รัฐมนตรียุติธรรมของรัฐบาล และ Boris Johnson ส.ส.ของพรรครัฐบาล อดีตนายกเทศมนตรีลอนดอน (ลอนดอนแบ่งพื้นที่ทำให้มีนายกเทศมนตรี 2 คน) โดดลงช่วยสนับสนุน Leave ทำให้กลุ่มนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีเพราะความเป็นที่นิยมของทั้งสองคน และเมื่อรวมกับผู้นำกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจึงเกิดโมเมนตั้มขึ้น

(7) ผู้สูงอายุพากันไปลงคะแนนมากเป็นพิเศษ กลุ่มต่ำกว่า 35 ปีสนับสนุน Remain กันเกินครึ่ง แต่ในกลุ่ม 55 ปีขึ้นไปสนับสนุน Leave ถึง 3 ใน 5 เป็นที่ชัดเจนในการลงประชามติครั้งนี้ว่าเสียง Leave ส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจชั้นกลาง ในขณะที่คนหนุ่มมีทางโน้มที่จะอยู่กลุ่ม Remain

(8) อังกฤษไม่เคยมีความสัมพันธ์กับยุโรปแนบแน่น ในปี 1975 อังกฤษก็เคยมีประชามติเรื่องจะอยู่กับยุโรปใน EEC (ตลาดร่วมยุโรปก่อนที่จะพัฒนามาเป็น EU) หรือไม่ และกลุ่มอยู่ชนะท่วมท้น แต่กระนั้นความคลางแคลงในการเป็นสมาชิก EU ก็ไม่เคยหมดไป

กล่าวโดยสรุปได้ว่า Leave ชนะก็เพราะคนอังกฤษ “กลัวเสียเงิน” แบบไม่เข้าท่า “กลัวพวกอพยพ” ในรูปแบบของการก่อการร้ายและแย่งงาน และ “กลัวสูญเสียอธิปไตย” ต้องการกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้โดยไม่ถูกบังคับโดยกฎหมาย EU

เด็ดดอกไม้ดอกเดียวยังกระทบถึงดวงดาว แล้วอังกฤษอดีตมหาอาณาจักรผู้ยิ่งบารมีและมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของ EU ออกจาก EU จะไม่ให้ชาวโลกหนาวสั่นได้อย่างไร

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 28 มิ.ย. 2559