ThaiPublica > คอลัมน์ > โดรนสังหารและสร้างสรรค์

โดรนสังหารและสร้างสรรค์

10 มิถุนายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

ไม่มีใครไม่รู้จักโดรน (drone) ในปัจจุบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับโดรนดูจะไปในทางไล่สังหารศัตรู แต่ในความเป็นจริงแล้วโดรนมีบทบาทที่กว้างขวางกว่านั้น โดรนมีบทบาทที่สำคัญในอนาคตของโลกพราะเป็นเทคโนโลยีของยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0

UAV หรือ Unmanned Aircraft System คืออากาศยานที่มีพลังขับเคลื่อนโดยปราศจากคนขับ คอมพิวเตอร์ช่วยบินโดยอัตโนมัติหรือมีการบังคับจากระยะไกล อาจใช้แล้วเสียหายไปเลยหรือเอากลับมาใช้อีก และอาจใช้ขนส่งสินค้าที่ทำลายล้าง หรือสินค้าปกติก็ได้

เมื่อเห็นคำจำกัดความนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่าโดรนที่เราคุ้นเคยว่าเอาไว้ใช้เพื่อสังหารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ UAV เท่านั้น

โดรนที่ทำลายล้างมิใช่เป็นเพียงแค่เครื่องบินลำเล็กที่ขนระเบิดวิ่งเข้าใส่รถยนต์ หรือตึกรามบ้านช่องดังที่เห็นกันในภาพยนตร์เท่านั้น หากมีทั้งชนิดระเบิดแล้วกลับเอามาใช้ใหม่ได้ด้วยและมีทั้งขับเคลื่อนด้วยการบังคับตนเองและโดยการบังคับระยะไกล

UAV มี 6 ชนิดซึ่งได้แก่ (1) ใช้เป็นเป้าซ้อมยิงจากพื้นดินหรือเอาไว้บินลวงข้าศึก (2) ใช้ลาดตะเวนเพื่อหาข้อมูลสำหรับการสงคราม (3) ใช้สำหรับบินโจมตีสร้างความเสียหายในกรณีที่ การบินมีความเสี่ยงสูง (4) ใช้สำหรับโลจิสติกส์ เช่น ในการขนส่งสินค้า อาหาร ยุทธภัณฑ์ ฯ (5) ใช้สำหรับการค้นคว้าวิจัยเช่น ในเรื่องอวกาศ ภูมิศาสตร์ พัฒนาการบินฯ และ (6) ใช้สำหรับการพาณิชย์เพื่อเก็บภาพ ข้อมูล การเกษตรฯ

โดรนที่เราคุ้นเคยและนึกว่ามีชนิดเดียวคือชนิด (3) และโดรนที่ใช้สำหรับหาข้อมูลประกอบอาการอาพาธคือชนิด (6)

โดรนของเล่นที่มีขายกันในราคาตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 60,000 บาทอาจบินไม่ได้สูงนักเนื่องจากไม่มีความจำเป็น เช่น สูงไม่เกิน 2,000 ฟุตและระยะที่ไปได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร แต่เทคโนโลยีปัจจุบันนั้นไปไกลมาก ชนิด (3) ที่ใช้สำหรับการสงความนั้นบินได้สูงถึง 18,000 ฟุต รัศมีทำการ 160 กิโลเมตร และยังมีชนิดที่มีความสามารถสูงสุดบินได้สูงถึง 30,000 ฟุต โดยมีรัศมีทำการไม่มีจำกัด

ที่มาภาพ : http://i2.cdn.turner.com/cnnnext/dam/assets/120928065558-01-drones-dod-horizontal-large-gallery.jpg
ที่มาภาพ : http://i2.cdn.turner.com/cnnnext/dam/assets/120928065558-01-drones-dod-horizontal-large-gallery.jpg

นอกจากนี้ยังมีโดรนที่บินด้วยความเร็วชนิดที่เรียกว่า hypersonic (ความเร็วเกินกว่า 5 Mach หรือ 5 เท่าของความเร็วของเสียง โดยเสียงเดินทางได้เร็วประมาณ 340 เมตรต่อวินาที หรือ 1,236 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และบินได้สูงถึง 50,000 ฟุต ในรัศมีทำการ 200 กิโลเมตร

เมื่อโดรนมีความสามารถสูงถึงขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดจึงถูกใช้บินแทนเครื่องบินที่มนุษย์ขับ ซึ่งมีต้นทุนในการฝึกฝนคนขับสูง และหากตกก็ทำให้เกิดความสูญเสียด้านจิตใจได้มาก นับวันเราจะเห็นโดรนถูกใช้เป็นเครื่องมือในสงครามและในการใช้ประโยชน์อื่น ๆ มากขึ้นทุกที

มนุษย์มิได้เพิ่งนึกออกว่าเหตุใดจึงไม่ใช้เครื่องบินที่ไม่มีคนขับเข้าไปทิ้งระเบิดแทน ที่จริงมีมานานแล้วแต่ยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่จะทำการแทนนักบินได้ ในปี ค.ศ. 1849 ออสเตรียส่งบัลลูนที่บรรจุระเบิดให้ลอยตัวไปทิ้งลงเมืองเวนิส(โชคดีที่ไม่ได้ผล จึงยังมีอาคารที่งดงามและมีเรือให้นักท่องเที่ยวนั่งทั้งๆที่คนเวนิสหันไปใช้การคมนาคมวิธีอื่นกันนานแล้ว) นวตกรรม UAV เริ่มปรากฏตัวจริงจังในตอนเริ่มต้นทศวรรษ 1900 โดยใช้เป็นเป้าซ้อมมือสำหรับทหาร

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918) มีความพยายามพัฒนา UAV และใช้อยู่บ้างประปรายอย่างไม่เป็นผล ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) มีการใช้ UAV ในการฝึกฝนทหารอเมริกันที่ยิงต่อสู้อากาศยานและในการโจมตี กองทัพนาซีของเยอรมันผลิต UAV หลายรูปแบบเพื่อใช้โจมตีฝ่ายพันธมิตร และสามารถสร้างความเสียหายได้มาก

กองทัพสหรัฐอเมริกาพัฒนา UAV อย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และมีการใช้ในสงครามเวียดนาม อย่างลับ ๆ ถึงกว่า 3,000 เที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียนักบิน มิใช่เพื่อการทำลายเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงสงคราม Yom Kippur War ในปี 1973 ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งนำโดยอียิปต์และซีเรีย ถึงแม้อิสราเอลจะเป็นฝ่ายมีชัยยึดครองพื้นที่ได้กว้างขวางแต่ก็สูญเสียเครื่องบินไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในเวลาต่อมาอิสราเอลจึงพัฒนา UAV อย่างประสบความสำเร็จ และสามารถนำมาใช้อย่างได้ผลในทศวรรษ 1980

ในช่วงเวลาเดียวกันและต่อมากองทัพสหรัฐอเมริกาจึงร่วมมือกับอิสราเอลในหลายโครงการเพื่อพัฒนา UAV ในส่วนของ EU นั้นก็มีโครงการพัฒนา UAV เช่นเดียวกับจีน รัสเซีย อิหร่าน ฯลฯ มีประมาณการว่า ในปี 2013 ไม่ต่ำกว่า 50 ประเทศใช้ UAV

สำหรับกิจการพลเรือนก็มีการพัฒนา UAV อย่างกว้างขวางขึ้นเช่นเดียวกันเพื่อใช้ในการสำรวจการผลิตสินค้าเกษตร ใช้ตามหาการหลงทาง ตรวจสอบท่อและสายไฟ ดูแลจัดการสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ จัดส่งยาและวัสดุการแพทย์ไปในพื้นที่ยากลำบากต่อการเช้าถึง ดูแลสิ่งแวดล้อม ประสานงานความช่วยเหลือในกรณีพิบัติภัย สำรวจที่ดินและการออกโฉนด ป้องกันไฟป่า ตรวจสอบหลักฐานไฟไหม้ ป้องกันปัญหาดินถล่ม แก้ไขน้ำท่วมฉับพลัน ฯลฯ หรือแม้แต่ตรวจสอบกิจกรรมและอารมณ์ของผู้ชุมนุมจำนวนมาก

โดรนสำหรับการสงครามโด่งดังอีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้เมื่อโดรนสหรัฐที่เรียกว่า “รีพเพอร์” ทิ้งระเบิดใส่รถยนต์นั่งคันหนึ่งบนถนนสายเชื่อมต่อระหว่างอิหร่านและปากีสถานสังหารผู้นำตาลีบัน มุโมฮัมหมัด มานซูร์ ได้สำเร็จพร้อมกับคนขับ

สหรัฐไล่สังหารมานซูร์ หลังจากที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งแทนมูฮัมหมัด โอมาร์ผู้นำคนที่แล้วซึ่ง เสียชีวิตในปี 2013 จากการป่วยด้วยวัณโรค (การตายของเขาถูกปิดบังอยู่ถึง 2 ปี) โอมาร์เองก็ถูกสหรัฐตามไล่สังหารเพราะเชื่อว่าช่วยเหลือนายบินลาเด็นและกลุ่มอัลกออิดะห์ก่อนเหตุการณ์ 9-11

มานซูร์เป็นหัวหน้าได้เพียงปีเศษก็หนีโดรนไม่พ้น สาเหตุของการเป็นเป้าหมายก็คือสหรัฐและอาฟกานิสถานพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพสำหรับอาฟกานิสถาน โดยหวังว่าปากีสถานผู้ก่อตั้งตาลีบันแต่แรกจะสามารถชักจูงให้ผู้นำคนใหม่คือมานซูร์ร่วมเจรจาได้ แต่ปรากฏว่าเขาไปในทิศทางตรงกันข้ามกล่าวคือโจมตีเป้าหมายของสหรัฐและอาฟกานิสถานอย่างนองเลือดหลายครั้ง เมื่อเป็นดังนี้ประธานาธิบดีโอบามาจึงเปิดไฟเขียวให้สังหารนายมานซูร์ ปัจจุบันผู้นำตาลีบันคนใหม่ที่ขึ้นมาแทนคือ นายอาคุนด์ซาดา

การแก้แค้นตอบโต้กันไปของคู่สงครามอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่ายดังที่เรียกว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มิให้ทำให้ทั้งคู่ฟันหลอและตาบอดเท่านั้น หากทำให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไม่มีทั้งฟัน ตาและชีวิตไปด้วยอย่างน่าสมเพช

สถิติมีว่า 41 คนที่ถูกสังหารโดยโดรนของสหรัฐไปนั้น มีคนตายไปด้วย 1,147 คน กลุ่ม Reprieve ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลยืนยันว่าโดรนไม่มีความแม่นยำดังที่กล่าวอ้างกัน โดรนซึ่งเป็นอาวุธที่ประธานาธิบดีโอบามาเลือกใช้เป็นพิเศษเพราะเชื่อว่ามีผลต่อเป้าหมายเท่านั้นไม่เป็นความจริงเพราะการสำรวจความเสียหายระดับพื้นดินชี้ให้เห็นว่าเกิดสภาวะอัตรา 1 เป้าหมายต่อ 28 ศพ (1,147 หารด้วย 41)นับตั้งแต่ปี 2004 สหรัฐปล่อยโดรนเพื่อทำลายและสังหารถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 รวม 424 ครั้ง (ในช่วงโอบามา 373 ครั้ง) คนตายประมาณ 2,500-4,000 คน สำหรับอาฟกานิสถาน ตั้งแต่ 2015 สหรัฐใช้โดรนทำลายล้างประมาณ 300 ครั้ง มีคนตายประมาณ 1,500-2,000 คน

โดรนให้ทั้งคุณและโทษมหันต์ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้และวัตถุประสงค์ จำนวนศพของเป้าหมายไม่ควรเป็นผลงานของโดรน จำนวนสมาชิกของมนุษย์ชาติที่ได้รับประโยชน์ต่างหากที่ควรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโดรน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 มิ.ย. 2559